‘ลมเรื่อยเรื่อยเฉื่อยฉิวต้องผิวเนื้อ’ บ่อยครั้งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รับกับเลขอุณหภูมิองศาเซลเซียสที่ค่อย ๆ ลดต่ำลง แม้ไม่เฉียบขาดจน ‘ความหนาวเหลือทานทนกมลหมอง’ แต่ก็นับเป็นสัญญาณการเข้าสู่หน้าหนาวที่ดี
ถ้ายังไม่มีแพลนดีแผนเด็ด เราขอชวนไปเสพศิลป์ บินล่อง ท่องราตรี ดื่มด่ำย่ำเท้าในงาน Galleries’ Nights 2021 เทศกาลวัฒนธรรมที่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยจัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี คราวนี้มาในธีม ‘Art Is the Resolution’ ศิลปะคือทางออก ร่วมฝ่าความมืดมิด ท้าทายความยากลำบากในสถานการณ์โรคระบาด จุดไฟเติมฝันให้แวดวงศิลปะไทยได้กลับมาเฉิดฉายไปอีกครั้ง ในวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2564
เราประจงคัดสรรเส้นทางพิเศษมาเพื่อคุณผู้อ่าน The Cloud โดยเฉพาะ เลือกเฟ้น 12 แกลเลอรี่ชวนชมจาก 70 กว่าแห่งมาฝาก แบ่งเป็น 2 รูตสุดยืดหยุ่น ได้แก่ ฝั่งสีลม บางรัก สาทร และฝั่งปทุมวัน สุขุมวิท บางแห่งเปิดให้เข้าชมงานแล้วตั้งแต่วันนี้ บางที่ก็จัดขึ้นพิเศษเฉพาะค่ำคืน Galleries’ Nights โดยเฉพาะ
มีตั้งแต่ภาพคอลลาจจาก นักรบ มูลมานัส ที่สมาคมฝรั่งเศสไทย นิทรรศการเดี่ยวของ ก้องกาน ในแกลเลอรี่สไตล์จีนย่านเจริญกรุง เล่าเรื่องประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อยโดย เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ป๊อปอาร์ตยุค 70 ฝีแปรง ตะวัน วัตุยา ภาพวาดจาก Juli Baker and Summer จนถึงผลงานจากหลากหลายศิลปินคนเก่งทั้งไทยเทศ
หน้ากากอนามัยพร้อม! เจลแอลกอฮอล์พร้อม!
จะตามรอยเส้นทางที่เราดีไซน์ไว้ด้วยรถตุ๊กตุ๊กบริการรับ-ส่งฟรี ฮอปไปย่านโน้นมาย่านนี้ตามความสนใจ หรือเริ่มต้นจากแกลเลอรี่ใกล้บ้านแล้วเวียนแวะวนไปตามสะดวกก็ได้ทั้งสิ้น ไหน ๆ อากาศก็เริ่มเย็นลงแล้ว ออกมาปะทะลมหนาวไม่ให้หย่อมความกดอากาศสูงที่เดินทางมาจากจีนผิดหวังกันเถอะ!
วันที่ 26 พฤศจิกายน : เส้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยา สีลม บางรัก สาทร
01
ภาพคอลลาจเล่นแร่แปรธาตุโดย นักรบ มูลมานัส
ก้าวเท้าจากทางออก 3 รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีลุมพินี เดินเลาะถนนวิทยุแล้วเลี้ยวเข้าซอยมาไม่ไกลเกินเหงื่อออก ตึกทรงโมเดิร์นโอ่งโถงตั้งตระหง่าน ฟาซาดสวยเก๋มีลายฉลุใหญ่น้อยพร้อมตัวอักษร ‘af’ บอกว่าเรามาไม่ผิดแน่ เพราะนี่คือที่ตั้งของ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance Française Bangkok)
นิทรรศการ ‘Photo Alchemy’ ผลิตผลจากการไปเป็นศิลปินพำนักที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กว่า 11 เดือน ของศิลปินคอลลาจชื่อดังอย่าง นักรบ มูลมานัส เจ้าของคอลัมน์ จด *หมายเหตุ ใน The Cloud ซุกซ่อนตัวอยู่ในอาคารหลังนี้
ภาพคอลลาจฟิล์มกระจกเกือบ 20 ภาพ เกิดขึ้นจากการตีความคำว่า ‘Alchemy’ หรือการเล่นแร่แปรธาตุ โดยอิงกับบริบททางประวัติศาสตร์ไทย คือการเข้ามาของ 2 นวัตกรรมแห่งการเล่นแร่แปรธาตุในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้แก่ภาพถ่าย หรือ ‘Photo’ และกล้องถ่ายรูป-อุปกรณ์ที่นิยามคำว่าเล่นแร่แปรธาตุในอดีตได้ดีที่สุด
กล้องถ่ายรูปเป็นประดิษฐกรรมจากตะวันตกที่ทำให้ชาวสยามอกสั่นขวัญผวา เพราะคนไทยมีความเชื่อเรื่องวิญญาณและไสยศาสตร์มนตร์ดำ นักรบไม่เพียงแต่พาไปสำรวจปฏิกิริยาชาวไทยที่มีต่อนวัตกรรมชิ้นนี้ แต่ยังชวนย้อนถอยออกมามองปรากฏการณ์นี้ในภาพรวม และสำรวจความรู้สึกนึกคิดในหน่วยย่อยต่าง ๆ ของสังคม จนถึงความนิยมกล้องถ่ายรูปและวิชาดาราศาสตร์ของเจ้านาย ผ่านภาพคอลลาจกึ่งนามธรรมอันทับซ้อนขุ่นมัว
เขายังเชื้อเชิญให้ปรับเปลี่ยนมุมมองในการสัมผัสประวัติศาสตร์ ผ่านการกอบรวมบรรดาเศษเสี้ยวแห่งความทรงจำในรูปแบบฟิล์มกระจกจำลอง เพื่อชี้ให้เห็นความพร่าเลือนว่า นี่คือผลอันสุกงอมของอดีต ปัจจุบัน หรือร่วมสมัยกันแน่
ภาพ : นักรบ มูลมานัส
นิทรรศการจัดแสดงครั้งแรกในค่ำคืน Galleries’ Nights 2021 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ยาวไปถึง 31 มกราคม 2565
ที่ตั้ง : สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) เลขที่ 179 ซอยสมาคมฝรั่งเศส ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 (แผนที่)
Facebook : Alliance Française de Bangkok
02
‘ถึงไม่ผิวดำก็รับไม่ได้’ ชุดภาพถ่ายขาว-ดำที่ Kathmandu Photo Gallery
ตึกแถวสีมินต์สดใกล้วัดพระศรีมหาอุมาเทวี หรือ วัดแขก บนถนนปั้น ย่านสีลม คือที่ตั้งของแกลเลอรี่ภาพถ่ายชื่อเก๋ ‘Kathmandu Photo Gallery’ ซึ่งกำลังจัดแสดงนิทรรศการ ‘You Don’t Have To Be Black To Be Outraged’ ถึงผิวไม่ดำก็รับไม่ได้ ชุดภาพถ่ายมอนทาจที่ชวนตั้งคำถามถึงความเสมอภาคและความหลากหลายของมนุษย์อยู่
ผลงานภาพถ่ายซ้อนสุดแสนร้ายกาจเฉียบคมคือฝีมือของ จัสติน มิลล์ส์ (Justin Mills) ศิลปินอิสระชาวอังกฤษที่แม้ยักย้ายถิ่นพำนักมาอาศัยอยู่กรุงเทพฯ ห่างไกลบ้านเกิดนานหลายปี แต่ยังมีจิตสำนึกหวนคิดถึงความเสมอภาคของมนุษย์ แรงบันดาลใจจากการดูภาพยนตร์เหยียดสีผิวเรื่องดัง 4 เรื่อง ได้แก่ Do The Right Thing, Selma, Moonlight, และ I Am Not Your Negro ซึ่งล้วนกระตุ้นให้เขาเห็นชะตากรรมอันน่าสงสารของคนผิวสีและความเลวร้ายของความอยุติธรรม
ยิ่งมีเหตุการณ์การเสียชีวิตของชายผิวดำ จอร์จ ฟลอยด์ ด้วยน้ำมือของตำรวจผิวชาวแห่งเมืองมินนีแอโพลิส (Minneapolis) ซึ่งปลุกกระแส ‘Black Lives Matter’ อีกครั้ง ก็ยิ่งกระตุ้นเร้าให้เขาตั้งใจสร้างสรรค์ชุดภาพนี้ขึ้นมา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์
จัสตินกดหยุดพักภาพเคลื่อนไหวของหนังตรงจังหวะคมคาย มีใบหน้านักแสดงผิวสีเปี่ยมอารมณ์ คู่กับคำบรรยายความหมายกินใจ ก่อนแปลงเป็นภาพเป็นขาว-ดำ ซึ่งไม่เพียงแต่ตรงกับสีผิวสัญลักษณ์แห่งความกดขี่ไม่เท่าเทียมเท่านั้น ภาพถ่ายยังถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งมีค่าสีเป็นโพซิทีฟและเนกาทีฟตรงข้ามกัน เพื่อขับเน้นความเป็นขั้วตรงข้ามอันสัมพัทธ์กัน จะเห็นขาวก็เพราะมีดำ จะเห็นดำก็เพราะมีขาว
นิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำในห้องแถวช้อปเฮาส์สีสดช่างเป็นภาพขัดแย้งอันงดงาม ควรค่าแก่การแวะชมเป็นอย่างยิ่ง
ภาพ : Kathmandu Photo Gallery
นิทรรศการ ‘ถึงผิวไม่ดำก็รับไม่ได้’ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ใครแวะไปวันที่ 26 พฤศจิกายน ในคืน Galleries’ Nights พบปะพูดคุยกับศิลปินได้เวลา 19.00 – 20.00 น.
ที่ตั้ง : Kathmandu Photo Gallery 87 ถนนปั้น แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 (แผนที่)
Facebook : Kathmandu Photo Gallery
Website : www.kathmanduphotobkk.com
03
Gongkan พาวาร์ปไปสำรวจภายในจิตใจที่ Tang Contemporary Art
การวาร์ปทะลุประตูมิติพิศวงคือลายเซ็นของศิลปินรุ่นใหม่อย่าง ‘Gongkan’ หรือ ก้อง-กันตภณ เมธีกุล ผู้กำลังมีนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองครั้งแรกชื่อ ‘Introspection’ จัดแสดงอยู่ที่ Tang Contemporary Art แกลเลอรี่สัญชาติจีนใน River City Bangkok สเปซศิลปะริมน้ำเจ้าพระยา
งานนี้อยู่ภายใต้โปรเจกต์ Souleport ซึ่งเป็นการสำรวจจิตใจมนุษย์แล้วนำมาสร้างงานศิลปะ แต่ยังคงสอดแทรกเอกลักษณ์ของก้องกานคือการเทเลพอร์ต เข้ามาไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของงาน ทั้งภาพเขียนและประติมากรรม เพียงชายตามองก็รู้ว่าเป็นฝีมือของใคร
ความน่าสนใจคือก้องท้าทายตัวเองในฐานะศิลปิน โดยการเปิดเผยด้านเปราะบางให้ผู้ชมได้เห็นความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความกลัว และความหวาดระแวง ที่ซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกของใจ ควบคู่กับความทรงจำอันมีค่าและความไร้เดียงสาอันน่ารื่นรมย์ในวัยเด็ก ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อเชื้อชวนผู้ชมย้อนกลับมาทำความเข้าใจตัวเอง มองตัวเอง-อัตมโนทัศน์ (Self-concept) และวิเคราะห์ตัวเอง (Self-analysis) อย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง
ยิ่งได้ Interactive Digital Platform ที่เจ้าตัวตั้งใจทำและนำมาใช้ที่นี่เป็นงานแรก ยิ่งสนุกสนานน่าค้นหา อยากเทเลพอร์ตทะลุมิติเข้าไปในใจตัวเอง แล้วสำรวจดูเรื่องราวทั้งหมดอีกครั้งสมชื่อนิทรรศการ
จะนั่งเรือข้ามมาจากไอคอนสยามไปลงท่าสี่พระยา ย่ำเท้าลัดเลาะมาจากแกลเลอรี่เพื่อนบ้านในย่านเจริญกรุง หรือเทเลพอร์ตตัวเองไปชั้น 2 ของ River City ก็ได้ตามสะดวก แอบป้องปากพูดเบา ๆ ข้างหูคุณผู้ฟังว่า ‘เทเลบอย’ ประติมากรรมเด็กชายที่กลางห้อง นั้นน่าฉงนสนเท่ห์ที่สุด ใครแวะไปชมอย่าพลาดนะ
ภาพ : Tang Contemporary Art
นิทรรศการ Introspection จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2564
ที่ตั้ง : Tang Contemporary Art ห้อง 201-206 River City Bangkok 23 ซอยเจริญกรุง 24 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100 (แผนที่)
Facebook : Tang Contemporary Art
Website : www.tangcontemporary.com
04
นิทรรศการเรื่องขยะสุดแสบทรวงที่ Warin Lab Centemporary
ไม่ไกลจาก River City Bangkok ติดกับ TCDC อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก มีนิทรรศการสีสันเจ็บจี๊ดว่าด้วยเรื่องขยะ ‘The Message Is the Message’ ฝีมือศิลปินระดับโลกสัญชาติแอฟริกาใต้อย่าง คาเมรอน แพลตเตอร์ (Cameron Platter) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานศิลปะออกมาแดกดันสังคมอย่างเหนือชั้น
งวดนี้แพลตเตอร์ยังคงทำงานศิลปะได้ชัดเจนเด็ดขาดเหมือนเดิม เขาหยิบเอาประเด็นใหญ่ในสังคมอย่าง ‘ขยะ’ ต้นตอของสารพัดปัญหา มาปัดฝุ่นและเปลี่ยนแปลงรูปร่างเป็นศิลปะจัดวาง ทั้งประติมากรรมและจิตรกรรม เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ชมตื่นขึ้นจากความเฉื่อยชาเมินเฉย ผ่านภาพวาดที่ไม่ได้นำเสนอภาพอันสงบนิ่งสวยงาม แต่สร้างอารมณ์โกลาหลวุ่นวาย
กุ้งสารพัดสีนีออนเคลื่อนไหวไปมาเคล้าแก้วมาร์ตินี่ ป้ายคาสิโนตัดกับผนังเขียวสด ดูเป็นพิษต่อสายตาจนรู้สึกคลื่นเหียนเวียนไส้ราวกับเสพน้ำเมา คือกลเม็ดการสื่อสารให้เห็นต้นตอปัญหาขยะอย่างแยบคายของศิลปินที่เรายอมรับว่าร้ายกาจไม่น้อย
ส่วนเก้าอี้ไม้แกะสลักที่หากมองผิวเผินอาจคิดว่าเป็นพลาสติก วางกระจายตัวอยู่ทั่วบริเวณอย่างมีนัยยะ ภาพวาดถูกแขวนไว้บนผนังประหนึ่งฉากหลังของแท่นบูชาในโบสถ์ และให้อารมณ์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอยู่ในที รู้ตัวอีกที เราก็เอาตัวเองมาอยู่กลางวิหารแห่งการบริโภคตามที่ศิลปินตั้งใจไว้ นิทรรศการนี้จึงไม่ได้เรียกร้องแค่ความสนใจในรายละเอียดของภาพ แต่ยังสร้างการมีส่วนร่วม (โดยไม่รู้ตัว) ของผู้ชมอีกด้วย
Warin Lab Contemporary ยังคงเลือกกงานมาจัดแสดงได้ไร้ที่ติอย่างเคย สมดังพันธกิจในการเป็นพื้นที่สื่อสารปัญหาสังคมผ่านศิลปะ ใครผ่านไปผ่านมาย่านบางรักแล้วไม่แวะ รับรองว่าเสียใจ!
ภาพ : Warin Lab Contemporary
นิทรรศการ The Message Is the Message จัดแสดงแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ในค่ำคืน Galleries’ Nights 2021 อำลาเป็นวันสุดท้าย
ที่ตั้ง : O.P. Garden, ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 (แผนที่)
Facebook : WarinLab
Website : warinlab.com
05
ย้อนสำรวจยุค 70 กับ ตะวัน วัตุยา ที่ Central : The Original Store
ยุค 70 คือต้นกำเนิดของป๊อปคัลเจอร์ ต้นธารวัฒนธรรมสุดจ๊าบในยุค 80 และ 90 ต่อมา
ตะวัน วัตุยา จิตรกรร่วมสมัยชาวไทยที่ดูจะดังในระดับโลกมากกว่า จึงหยิบเอาความทรงจำส่วนตัวจากวัยเด็กใน ค.ศ. 1973 ที่เขาเกิด ตั้งแต่การ์ตูน ซูเปอร์ฮีโร่ สงคราม สัตว์ประหลาด เครื่องยนต์ และดนตรี มาวาดเป็นโปสเตอร์ด้วยสีอะคริลิก ภายใต้นิทรรศการชื่อว่า ‘1973’ ศิลปะจากความทรงจำ ที่ชั้น 4 Central : The Original Store สถานที่ที่พ่อแม่เขาพบรักกัน
ภาพฝีแปรงของตะวันนั้นหาชมได้ไม่ยาก เพราะเขามีงานแสดงอยู่เนือง ๆ แต่งานคราวนี้เป็นฝีแปรงอันเกิดจากการปะติดและปะต่อ ของความทรงจำในรูปแบบภาพแทน ด้วยเทคนิคคอลลาจภาพสีเข้ากับภาพขาวดำ โยงเรื่องโน้นเข้ากับเรื่องนี้ ทิ้งจังหวะที่ว่างคู่ขนานกับการทับซ้อนของร่องรอยแห่งกาลเวลา ตั้งแต่ West World ภาพยนตร์ใน ค.ศ. 1973 ต้นเค้าซีรีส์ชื่อเดียวกัน บรูซลี จนถึงก็อตซิล่าและเจ้าหนูอะตอม
สีสันจัดจ้านยั่วเร้าให้เรามองภาพจิตรกรรมลึกซึ้งลงไปถึงเบื้องหลังผืนผ้าใบว่าศิลปินตั้งใจจะสื่ออะไร นอกเหนือจากประวัติศาสตร์วัฒนธรรมป๊อปอันแสนหอมหวาน ที่แม้เกิดไม่ทัน หากได้เห็นก็ต้องตกหลุมรักและอยากทวนเข็มนาฬิกาไปสัมผัสกลิ่นอายในอดีตด้วยตนเอง ยังแฝงประเด็นด้านสงครามกับสันติภาพ ความฝันถึงอนาคต ซึ่งล้วนเป็นประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติที่อยู่ในความทรงจำของศิลปินคนเก่ง
ตะวันผสมผสานเรื่องราวและวาดภาพขึ้นใหม่ถึง 12 ชิ้นเพื่องานนี้โดยเฉพาะ เปิดให้ทั้งเข้าชมและจับจองเป็นเจ้าของได้ตามอัธยาศัย
บนถนนเจริญกรุงมีหลากหลายแกลเลอรี่น่าแวะชมที่รวบเก็บได้ในคราวเดียว หากผ่านไปผ่านมา ลองหยุดพักที่ปากซอยเจริญกรุง 38 สักนิด กดลิฟต์ขึ้นไปที่ชั้น 4 แล้วจะรู้ว่ามีงานสนุก ๆ รอให้ชม
ภาพ : Central : The Original Store
นิทรรศการ 1973 จัดแสดงแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2564
ที่ตั้ง : Central : The Original Store 1266 ถ. เจริญกรุง แขวง บางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500 (แผนที่)
Facebook : Central : The Original Store
06
2 นิทรรศการเก๋ชวนขบคิดที่ VS Gallery เวิ้งศิลปะ N22
N22 แห่งซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 22 คือเวิ้งศิลปะสร้างสรรค์ที่น่าจับตามอง
ยิ่งในงาน Galleries’ Nights 2021 ปีนี้ VS Gallery หนึ่งในแกลเลอรี่ประจำโกดังแห่งศิลปะแห่งนี้ จัดแสดงนิทรรศการแสนสนุกจาก 2 ศิลปินรุ่นใหม่ ประกิต กอบกิจวัฒนา ศิลปนป๊อปอาร์ตเจ้าของผลงานเสียดสีการเมือง และ ป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรือที่ทุกคนรู้จักในนาม Juli Baker and Summer เจ้าของลายเส้นสดใส เราก็ตัดสินใจออกนอกเส้นทาง BTS ไปยังซอยนี้ได้ไม่ยาก
‘บ้านเกิดเมืองนอนของใคร?’ เป็นทั้งคำถามชวนสงสัยและชื่อนิทรรศการของ ประกิต กอบกิจวัฒนา ที่เผยเบื้องหน้าของความจริงที่เกิดขึ้นในประเทศต่อผู้ชมอย่างตรงไปตรงมาสุด ๆ ตั้งแต่ภาพโรแมนติก โฆษณาชวนเชื่อจากรัฐที่มอมเมาสังคมมายาวนาน ความย้อนแย้งลักลั่นและพฤติกรรมมือถือสากปากถือศีลของรัฐ จนถึงกระบวนการใช้ภาษีประชาชนอย่างสิ้นเปลืองตามสำนวนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
ไม่ว่าคุณจะตั้งธงในใจไปว่าอย่างไร เราขอสะกิดเตือนว่าอย่าเพิ่งเชื่อทุกอย่างที่ศิลปินกำลังจะบอก แต่ขอให้ชมงานอย่างมีวิจารณญาณและใจเป็นกลาง เพื่อตอบคำถามกับตัวเองว่า จริง ๆ แล้ว บ้านเกิดเมืองนอนนี้เป็นของใคร?
ป่าน ชนารดี เคยตีพิมพ์หนังสือภาพบันทึกการเดินทางในต่างแดนของเธอชื่อ Nowhere Girl แต่คราวนี้เธอกลับมาเขียนไดอารี่ชีวิตตัวเองอีกครั้งในรูปแบบเพนติ้ง ในรูปแบบนิทรรศการชื่อ ‘Nowhere Woman’ ซึ่งเป็นเหมือนบันทึกการเติบโตในช่วงเปลี่ยนผ่านเชิงความรู้สึกนึกคิดจาก ‘Girl’ สู่ ‘Woman’
แม้นิทรรศการนี้เป็นภาพสะท้อนและผลพวงจากสังคมไทยในขณะที่แสนมืดมิดและโกลาหล แต่ป่านยังคงลายเส้นสีสันของเธออย่างเคย งดงามและเปี่ยมล้นไปด้วยความรู้สึก
ภาพ : VS Gallery
ทั้งสองนิทรรศการเริ่มต้นจัดแสดงในวันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ค่ำคืน Galleries’ Nights 2021
ที่ตั้ง : 10 ซอย นราธิวาสราชนครินทร์ 22 แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร 10120 (แผนที่)
Facebook : VS Gallery
07
Over the Influence แกลเลอรี่ป้ายแดงย่านวงเวียนโอเดียน
ที่หัวมุมถนนตรีมิตร วงเวียนโอเดียน ย่านตลาดน้อย-เยาวราช มีตึกสีเทาทรงเรียบเก๋ป้ายแดง ที่ตั้งของแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัยชื่อ Over the Influence Bangkok สาขาที่ 3 ต่อจากฮ่องกง ที่เปิดไปเมื่อ พ.ศ. 2558 และลอสแอนเจลิส ที่ขยายไปเมื่อ พ.ศ. 2561
Over the Influence คือแกลเลอรี่ที่มุ่งมั่นท้าทายวิถีปฏิบัติทางศิลปะในสตูดิโอแบบเดิม ๆ นำเสนอโปรแกรมแบบไดนามิกที่มุ่งสำรวจจุดตัดของศิลปะร่วมสมัยแขนงต่าง ๆ ทั้งสถาปัตยกรรม การออกแบบ แฟชั่น ดนตรี และหลากรูปแบบของการแสดงออกทางสายตา (Visual)
แม้เป็นแกลเลอรี่น้องใหม่ แต่ก็ขอเข้าร่วมโปรเจกต์ Galleries’ Nights 2021 ด้วยนิทรรศการภาพวาดชุด Clean Jellybean ของ ท็อด เจมส์ (Todd James) ศิลปินสัญชาติอเมริกันผู้เริ่มต้นอาชีพด้านศิลปะจากงานกราฟฟิตี้ สร้างสรรค์งาน Street Market ซึ่งเป็นมูฟเมนต์สำคัญในยุคกลังกราฟฟิตี้ (Post-graffiti) และได้รับเลือกให้ร่วมงาน Venice Biennale ปี 2554 เขายังเคยร่วมงานกับศิลปินนักร้องมากมาย อาทิ Iggy Pop, The Beastie Boys และ U2
ส่วนภาพวาดชุดนี้ เจมส์ได้วาดขึ้นมาใหม่ ส่งตรงจากสตูดิโอของเขาที่นิวยอร์ก ภาพการตกแต่งภายในแบบเหนือจริง ฉากภูมิรัฐศาสตร์ และภาพแคนดิดผู้หญิง บอกเล่าเรื่องราวของสงครามที่ไม่มีสิ้นสุดผ่านสีสันสดใสสะดุดตา เคลือบผิวด้วยสีลูกกวาดบนผืนผ้าใบ กระตุ้นอารมณ์ให้กระชุ่มกระชวย ขัดกับผิวผนังแกลเลอรี่สีขาวสะอาด เพื่อจุดไฟความหวังในช่วงเวลาอันแสนมืดมน
ภาพ : Over the Influence
นิทรรศการ Clean Jellybean เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 10 มกราคม 2565
ที่ตั้ง : Over the Influence 79, 81 ถนนตรีมิตร แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100 (แผนที่)
วันที่ 27 พฤศจิกายน : เส้นทางปทุมวัน สุขุมวิท
08
‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ ของ เจ้ย อภิชาติพงศ์ ที่มูลนิธิ 100 ต้นสน
วินาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักผู้กำกับมือรองรางวัล Jury Price จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปีล่าสุด อย่าง เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล
หากใครคิดถึงฝีมือการกำกับของเขา เราขอชวนมาชมวิดีโอจัดตั้ง (Video Installation) ในนิทรรศการชื่อ ‘A Minor History’ หรือ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ ที่มูลนิธิ 100 ต้นสน (100 Tonson Foundation) แกลเลอรี่ที่เก๋ที่สุดในซอยต้นสน
หลังจากเคี่ยวกรำถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่าง Memoria มาอย่างยาวนาน เจ้ยพักผ่อนด้วยการออกเดินทางลัดเลาะริมโขงเมื่อช่วงล็อกดาวน์ปลายปีก่อน และใช้ประสบการณ์ตรงที่เขาได้ประสบพบเจอมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการทำนิทรรศการครั้งนี้ เขารวบรวมทั้งบทสัมภาษณ์และภาพถ่าย ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงอันก้าวหน้าในเชิงมุมมองทางการเมืองของคนอีสานรุ่นใหม่ผู้เปี่ยมไปด้วยความคิดเสรี ต่างจากคนรุ่นก่อนอย่างมีนัยยะ
การได้พบนักกู้ภัยชาวมุกดาหารที่กู้ร่างศพในแม่น้ำโขง (หนึ่งในนั้นอาจเป็นร่างผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หายตัวไป) มานักต่อนัก สะท้อนภาพการเมืองอันคลุมเครือเคลือบแคลง ซึ่งกระทบใจจนทำให้เขาอยากสื่อสารมันนี้ออกมาผ่านงานนี้
วิดีโอจัดตั้งจำนวน 3 จอ มีเบื้องหลังเป็นฉากหมอลำ วนฉายเรื่องราวจากแดนอีสาน ภาพโรงภาพยนตร์รุ่นเดอะคร่ำครึที่กลายสถานะเป็นรังนอนของหมู่นกพิราบ ตัดสลับกับทิวทัศน์น้ำโขงยามค่ำคืน
ได้ อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร มาช่วยมิกซ์เสียง และ เมฆ’ครึ่งฟ้า กวีอีสานรุ่นใหม่ มาช่วยแต่งเรื่องและพากย์เสียงด้วยเทคนิคภาพยนตร์และละครวิทยุยุคเก่า วนฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อ ‘ไว้อาลัยความไร้เดียวสาจากอดีต’ ของเจ้ย ก็ยิ่งน่าเข้าไปหาคำตอบว่า ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ ที่ว่านั้น กำลังจะบอกอะไร
ภาพ : มูลนิธิ 100 ต้นสน
นิทรรศการ A Minor History ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ภาคแรก จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 26 ธันวาคม 2564 ส่วนภาคที่สองจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม – 10 เมษายน 2565
ที่ตั้ง : มูลนิธิ 100 ต้นสน ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 (แผนที่)
Facebook : 100 Tonson Foundation
Website : 100tonsonfoundation.org
09
‘ทัศนศิลป์แห่งชีวิต’ นิทรรศการแด่ ดำรง วงอุปราช ที่ BACC
หอศิลป์ชื่อดังกลางเมืองอย่างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ก็ไม่พลาดร่วมงาน Galleries’ Nights กับเขาด้วย!
ไม่ต้องอธิบายให้ยืดเยื้อว่าถ้าจะไปต้องจับรถสายไหน เพราะเชื่อว่าทุกคนคุ้นเคย เราเลยขอพาไปสำรวจความน่าสนใจของนิทรรศการ ‘ดำรง วงอุปราช : ทัศนศิลป์แห่งชีวิต’ ทันที
นิทรรศการนี้ BACC จับมือกับ MoNWIC จัดขึ้นเพื่อนำเสนอตัวตน ความเก่งกล้า และความทุ่มเทแก่วงการศิลปะไทยตลอด 40 ปี ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรง วงศ์อุปราช ทั้งในฐานะศิลปิน อาจารย์ นักเขียน นักวิชาการด้านศิลปะ ภัณฑารักษ์ ผู้บริหารจัดการหอศิลป์ และนักอนุรักษ์ศิลปะ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน ‘ทัศนศิลป์’ สู่สาธารณชนวงกว้าง
งานนี้จัดแสดงผลงานจิตรกรรมและภาพพิมพ์กว่า 70 ชิ้น รวมถึงงานวิชาการและบทสัมภาษณ์บุคคลใกล้ชิด โดยแบ่งเป็น 4 ช่วงชีวิต ตั้งแต่ช่วงการแสวงหาตัวตนท่ามกลางกระแสศิลปะไทยสมัยใหม่ ช่วงตระหนักรู้ในความหลากหลาย การหาสมดุลแห่งชีวิต และการตกผลึกเป็นความมุ่งมั่นค้นหาจิตวิญญาณอันนิ่งสงบ ผ่านอัตตชีวประวัติและจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ๆ ในชีวิต
มาร่วมทำความรู้จักศิลปินไทยผู้ยิ่งใหญ่อีกคนได้ในนิทรรศการนี้ แอบกระซิบว่าร้านเกี๊ยวน้ำในหอศิลป์ฯ เด็ดอย่าบอกใคร เดินดูงานเสร็จแวะไปเติมพลังได้นะ
ภาพ : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
นิทรรศการ ‘ดำรง วงอุปราช : ทัศนศิลป์แห่งชีวิต’ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2564
ที่ตั้ง : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) 939 ถนน พระรามที่ 1 แขวง วังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 (แผนที่)
Facebook : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
Website : www.bacc.or.th
10
WTF Gallery ชวนตั้งคำถามถึงความเป็น ‘ชายไทย’
บวชพระให้พ่อแม่เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ เกณฑ์ทหารรับใช้ชาติ แต่งเมียมีลูกหลานสืบสกุล
นอกจาก 3 สิ่งนี้ ในสังคมไทยอันแสนรุ่มรวยไปด้วยชุดความเชื่อนานา และยังมีสารพัดสิ่งที่ใช้นิยามความเป็นชายอันบิดเบี้ยว
ที่ชั้นบนของ WTF Cafe ตึกแถวสีขาวมอมขนาดกว้าง 1 คูหาสูง 3 ชั้น คือแกลเลอรี่ซึ่งกำลังจัดแสดงภาพวาดแสนเจ็บแสบ ในนิทรรศการแสนสนุกที่ชวนตั้งคำถามถึงความเป็นชายไทย ชื่อ ‘Thai Men : Expectations of Manliness’
ผลงานจากการคอลแลบกันระหว่าง 2 อาร์ทิสต์รุ่นใหม่ อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ศิลปินชาวปัตตานีผู้วาดภาพสะท้อนความกดขี่ กดทับ และความไม่เท่าเทียมของหลากหลายประเด็นในสังคมไทย และ Baphoboy หรือ เคน-สิปปกร เขียวสันเทียะ เจ้าของภาพวาดเสียดสีสังคม ตลกร้ายสะเทือนอารมณ์
ทั้งคู่จัดแสดงผลงานสอดประสานกันอย่างลงตัว ผืนผนังสีขาวสดถูกแต่งแต้มด้วยภาพโจ่งครึ่มชวนคิด ทั้งประดาคนเปลือยกายหลายสิบสวมชฎา-ลายเซ็นของอนุวัฒน์ บนผืนผ้ากาสาวพัสตร์สีเหลืองกร่ำ ชายร่างอวบนั่งยองปิดหู ปิดตา ปิดปาก สามภาพแขวนเรียงกันเลียนแบบภาพปริศนาธรรมยอดฮิต ตาลปัตรเขียนอักษร L G B T ติดผนังเรียงกันตามลำดับ คู่กันกับภาพศิลปะกึ่งนามธรรมพร้อมอีโมจิหน้ายิ้มของ Baphoboy
เดินผ่านไปผ่านมาคงคิดไม่ถึงว่าที่ชั้นสองของร้านคาเฟ่จะมีนิทรรศการสุดเจ๋งชิ้นนี้จัดแสดงอยู่
ไม่ว่าจะนิยามตัวเองเป็นผู้ชายหรือไม่ เราขอชวนมาสำรวจตรวจสอบความหมายของความเป็นชายไทยอีกครั้งผ่านนิทรรศการนี้
ภาพ : WTF Gallery
นิทรรศการ ‘Thai Men : Expectations of Manliness’ จัดแสดงแล้วถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 Galleries’ Nights 2021 คราวนี้เป็นคืนสุดท้าย
ที่ตั้ง : WTF Gallery and Café 7 ซอย สุขุมวิท 51 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 (แผนที่)
Facebook : WTF Gallery and Café
Website : www.wtfbangkok.com
11
รวมมิตรนิทรรศการและ Live Performance ที่ Palette Artspace
Palette Artspace คือพื้นที่ทางศิลปะติดรถไฟฟ้า BTS สถานีทองหล่อ ใจกลางย่านสำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
นอกจากมีชัยภูมิเหมาะสม สิ่งที่ทำให้แขกไปใครมาตัดสินใจแวะเยี่ยมเยียนในเทศกาล Galleries’ Nights ประจำปีนี้ง่ายดายขึ้น คือความคุ้มค่าที่รวบรวมเอานิทรรศการหลากหลายและไลฟ์เพอร์ฟอร์แมนซ์ไว้ในที่เดียวกัน!
เพื่อให้เข้าใจง่าย เราขออนุญาตไล่เรียงไปตามลำดับชั้น เว้นชั้นแรกซึ่งเป็นส่วนคาเฟ่เอาไว้
ชั้น 4 คือนิทรรศการ Depression นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ โด้-ปวเรศวร์ โชคแสน ที่ได้ ตะวัน วัตุยา มาช่วยคิวเรต สื่อสารความซึมเศร้าจากการต้องละทิ้งศิลปะไปทำงานหาเลี้ยงชีพจนรู้สึกชีวิตเหี่ยวแห้ง ขาดความอิ่มเอมใจ เขาใช้ความสันโดษของตัวเองสำรวจหาแรงบันดาลใจจากสื่อออนไลน์ ก่อนนำเสนอในรูปแบบภาพวาดแบบนิรนามสีสด
นิทรรศการว่าด้วย Metaverse และ NFT จากหลากหลายศิลปิน เช่น อัฐพร นิมมาลัยแก้ว, คามิน เลิศชัยประเสริฐ และ วรวุฒิ อินทร นำเสนอทั้งในรูปแบบ Traditional Art จับต้องได้ และรับชมได้ในโลกเสมือนคู่กันไปที่ชั้น 3
ส่วนชั้น 2 เป็นพื้นที่จัดการแสดงสดเวลา 6 โมงเย็นวันที่ 27 พฤศจิายน ชื่อ ‘หมดเวลาแล้วดาหวัน’ ที่ผสานศาสตร์ Performance Art และ Theatre เอาไว้ด้วยกัน โดยจะเปลี่ยนเรื่องราวและจุดจบไปตามผู้ชม มี เมมนอน และ ภาสกร นุชชาวนา เป็นนักแสดง กำกับโดย ชาลี ธารานิรันดร์ ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการขออุบไว้ก่อน ติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก Memnon
ภาพ : Palette Art Space
ที่ตั้ง : Palette Artspace 1057 ซอยสุขุมวิท 55 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 (แผนที่)
Facebook : Palette Artspace
Website : www.palettebkk.com
12
‘Oblivion’ นิทรรศการล่าสุดของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ที่ Nova Contemporary
อริญชย์ รุ่งแจ้ง คือศิลปินร่วมสมัยที่ทำงานศิลปะได้มีชั้นเชิงชนิดน่าจับตามองคนหนึ่ง การได้เป็นส่วนหนึ่งของ Venice Biennale นั้นยืนยันถึงฝีมือของเขาได้อย่างไรข้อกังขา
และ Oblivion คือผลงานเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขา ที่ผสานเอาผลงานจัดวางทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และวิดีโอ กับสารพัดสื่อเพื่อยึดโยงเรื่องส่วนตัวเข้ากับประวัติศาสตร์และประสบการณ์ร่วมในสังคมอย่างเหนือชั้น
สายแกรนด์เปียโนถูกโหนร้อยขึ้นไปบนเพดาน ก่อนทอดตัวระโยงระยางลงมาสู่พื้นราวกับสายไฟ มีห่วงโลหะทรงไม่สู้กลมดีนักห้อยอยู่ใกล้กัน รับกับภาพถ่ายทางอากาศของเหมือนแร่เหล็กในจังหวัดเลยที่ฉายอยู่บนผนังด้านข้าง บนแกรนด์เปียโนตัวเดิมมีสำเนาพระราชสาส์นลายพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องการเตรียมงานพระบรมศพของพระองค์ ฝาเปียโนถูกยกออกไปตั้งพิงผนัง วางพาดด้วยเสื้อคลุมตัวเก่าของพี่สาวของเจ้าตัว ที่จากกันโดยไม่ได้ร่ำลา
สิ่งเหล่านี้กำลังกระซิบสื่อสารสารัตถะเดียวกัน คือความปรารถนาของมนุษย์ แต่อริญชย์นำเสนอความปรารถนาของคนแต่ละชนชั้น จากหมุดหมายในประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน อดีต-ปัจจุบัน, กษัตริย์-นายทุน-สามัญชน, เรื่องส่วนตัว-ประสบการณ์ร่วมในสังคม
นอกเหนือจากประเด็นหนักหน่วงชวนคิด ความสงบตะลึงงันอันสง่างดงามของศิลปะจัดวางทั้งหมดยังดูเพลินตาหย่อนใจในคราวเดียวกัน เส้นสาย สีสัน แสงเงา เหนือชั้นจนต้องซูฮก
ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ไม่รู้จะบรรยายอย่างไรให้ครบถ้วนกระบวนความ เอาเป็นว่าขอเรียนเชิญคุณผู้อ่านไปทอดทัศนาการได้ที่ Nova Contemporary แกลเลอรี่ร่วมสมัยย่านราชดำริ ด้วยตัวเอง
ภาพ : Nova Contemporary
นิทรรศการ Oblivion โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง จัดแสดงแล้วตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565
ที่ตั้ง : Nova Contemporary ซอยมหาดเล็กหลวง 3 ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 (แผนที่)
Facebook : Nova Contemporary
Instagram : novacontemporary
Website : www.novacontemporary.com
12 แกลเลอรี่ หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์ที่คัดมาฝากข้างต้นนี้เป็นเพียงน้ำจิ้มเท่านั้น! ถ้าไม่อยากให้ค่ำคืนแห่งศิลปะผ่านไปอย่างไร้ค่ากับการก้มหน้าก้มตาเงอะงะหาข้อมูลหน้างาน เราแนะนำให้วางแผนการเดินทางไว้เสียแต่เนิน ๆ ค้นหานิทรรศการเจ๋ง ๆ และแกลเลอรี่ในดวงใจเพิ่มเติมได้ที่ www.galleriesnights.com