ในช่วง 6 – 7 เดือนที่ผ่านมา คนที่แวะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป อาจสังเกตเห็นความเคลื่อนไหวบางอย่างในห้องจิตรกรรมไทยประเพณี ซึ่งถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นห้องแล็บชั่วคราวของกลุ่มงานวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร

คงมีน้อยคนจะทราบว่าใต้กระดาษสีขาวที่คลุมไว้กลางห้อง คือชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซขนาดยักษ์ใหญ่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และเป็นกุญแจสำคัญที่จะเผยข้อมูลและเทคนิคต่างๆ ของ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ศิลปินชาวอิตาลีเจ้าของผลงานภาพวาดบนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม

ชวนดูการซ่อมภาพครั้งใหญ่ที่สุดในไทย ภาพร่างขนาด 1:1 ของภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตฯ ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า
ชวนดูการซ่อมภาพครั้งใหญ่ที่สุดในไทย ภาพร่างขนาด 1:1 ของภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตฯ ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า

การค้นพบภาพวาดชิ้นประวัติศาสตร์ด้วยความบังเอิญ

กาลิเลโอ คินี ได้รับการว่าจ้างจากราชสำนักสยามให้เขียนภาพพระราชกรณียกิจและเหตุการณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีตั้งแต่รัชกาลที่ 1 – 5 บนเพดานโดมของพระที่นั่งอนันตสมาคม ทว่าระหว่างที่คินีเดินทางออกจากอิตาลี แผ่นดินสยามได้เปลี่ยนเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงได้มีการเพิ่มภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ลงไปในงานจิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

จากโครงการปรับปรุงคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว ท่ามกลางศิลปะวัตถุกว่าหมื่นชิ้นในคลังที่กรมศิลปากรทำการสำรวจ มีการค้นพบภาพวาดม้วนยักษ์ที่บันทึกเหตุการณ์เสด็จออกมหาสมาคม เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช รัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2454 ณ มุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท คล้ายคลึงกับภาพวาดที่ผนังใต้โดมพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นอย่างมาก

ภาพร่างสีฝุ่นบนผืนผ้าใบชิ้นนี้มีลักษณะครึ่งวงกลม กว้าง 9.34 เมตร สูง 5.80 เมตร เมื่อเทียบกับภาพร่างขนาดเล็กที่ค้นพบก่อนหน้านี้ ถือว่าชิ้นนี้มีขนาดใกล้เคียงกับภาพจริงบนเพดานโดมมากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา คาดว่าเป็นภาพที่กาลิเลโอ คินีวาดขึ้นมาด้วยสีฝุ่นเพื่อเป็นแบบร่างก่อนลงมือจริง ตามขนบของจิตรกรอิตาลีที่จะต้องร่างภาพในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ก่อนเริ่มทำงานทุกครั้ง

ชวนดูการซ่อมภาพครั้งใหญ่ที่สุดในไทย ภาพร่างขนาด 1:1 ของภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตฯ ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า

ภาพนี้ยังมีความพิเศษตรงเป็นภาพที่มาจากประสบการณ์ตรงของศิลปิน ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในพระราชพิธีด้วยตาตัวเอง แตกต่างจากภาพอื่นๆ ที่คินีวาดขึ้นมาจากการตีความผ่านเอกสาร จดหมายเหตุ และคำบอกเล่า ทั้งยังเป็นภาพเดียวที่พบว่ามีการเขียนภาพเหมือนบุคคลสำคัญที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์เข้ามาเพื่อเล่าเรื่องและบันทึกเหตุการณ์ตามธรรมเนียมตะวันตก

ชวนดูการซ่อมภาพครั้งใหญ่ที่สุดในไทย ภาพร่างขนาด 1:1 ของภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตฯ ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า
ภาพบุคคลสำคัญของไทยที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. 2454 เป็นครั้งแรกที่มีการเชิญพระราชอาคันตุกะและทูตานุทูตจากต่างประเทศเข้าร่วมในพระราชพิธี สังเกตได้จากบริเวณด้านขวาของภาพที่ปรากฏภาพพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชอาคันตุกะ ทูตานุทูต ที่ระบุตัวตนได้อย่างชัดเจน เช่น สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) แกรนด์ ดยุค โบริส วลาดิมีโรวิช แห่งรัสเซีย ( Grand Duke Boris Vladimirovich of Russia) ผู้แทนองค์พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งราชวงศ์โรมานอฟ รัสเซีย เจ้าชายวาลเดอมาร์แห่งเดนมาร์ก (Prince Valdemar of Denmark) และพระอนุชาของพระเฟรเดอลิกที่ 8 (Frederik VIII, King of Denmark)

ชวนดูการซ่อมภาพครั้งใหญ่ที่สุดในไทย ภาพร่างขนาด 1:1 ของภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตฯ ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า
ภาพพระราชอาคันตุกะและทูตานุทูตจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งหลายที่ปรากฏในภาพร่าง กลับไม่ปรากฏในภาพจริงที่วาดอยู่บนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม สันนิษฐานว่าเพื่อให้สอดคล้องกับขนบไทยที่ความสำคัญของภาพจะอยู่ที่พระมหากษัตริย์เท่านั้น

บูรณะภาพวาดด้วยนักวิทยาศาสตร์และศิลปิน

การศึกษาผลงานและเทคนิคของคินีในช่วงที่ผ่านมาลงลึกไม่ได้มากนัก ด้วยข้อจำกัดเรื่องตำแหน่งความสูงของภาพวาดใต้โดมพระที่นั่งอนันตสมาคม การปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งของภาพร่างสีฝุ่นฝีมือคินีชิ้นนี้ จึงเป็นโอกาสทองของผู้เชี่ยวชาญไทยที่จะได้วิเคราะห์เจาะลึกทุกรายละเอียดบนชิ้นงานของจิตรกรคนสำคัญคนนี้อย่างใกล้ชิด

การดำเนินงานอนุรักษ์ในครั้งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร แม้ว่าจะเป็นทีมอนุรักษ์งานศิลปะที่แข็งแกร่งที่สุดในไทยและดูแลงานบูรณะศิลปะสำคัญของประเทศมาแล้วมากมาย แต่ คุณโสภิต ปัญญาขัน นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ หัวหน้าทีมดูแลงานบูรณะภาพร่างของกาลิเลโอ คินี ก็ยอมรับว่านี่คืองานหินที่ท้าทายมากที่สุดเลยทีเดียว

ชวนดูการซ่อมภาพครั้งใหญ่ที่สุดในไทย ภาพร่างขนาด 1:1 ของภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตฯ ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า

“ตอนได้งานชิ้นนี้มาตกใจมากเลยค่ะ มันใหญ่มาก พี่ทำงานมายี่สิบสามปี นี่เป็นงานศิลปะบนผืนผ้าใบชิ้นที่ใหญ่ที่สุดในการทำงานของตัวเอง แล้วก็น่าจะใหญ่ที่สุดของกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ที่เขาทำงานด้านนี้มา ถ้าไม่นับจิตรกรรมฝาผนังนะคะ

“เราตัดสินใจนำมาอนุรักษ์ด้วยความตั้งใจแรกว่าอยากนำมาจัดแสดงให้ทันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่เปิดงานออกมาก็ตกใจ เนื่องจากชิ้นงานเก็บอยู่ในลักษณะม้วน และเสื่อมสภาพค่อนข้างมาก งานทุกประเภทถ้าอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ เราถือว่าไม่เหมาะสมที่จะนำมาจัดแสดง เลยปรึกษากันว่าเราจะทำช้าหน่อยเพื่อรักษาชิ้นงานให้อยู่ในสภาพดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ กระบวนการทำงานต่างๆ เราเลยพยายามทำให้ชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำ เหมาะสม จะได้ไม่เกิดความเสียหายภายหลัง”

แม้จะชื่อกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ แต่ทีมงานก็ไม่ได้มีแต่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะการอนุรักษ์งานศิลปะหนึ่งชิ้นต้องใช้ความรู้ทั้งทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลป์ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกัน

“ไม่ใช่งานมาถึงแล้วเราจะเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ได้เลย ต้องคำนึงถึงเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ด้วยว่างานชิ้นนี้เป็นงานของใคร นิสัยของเจ้าของงานเป็นอย่างไร เทคนิคที่ใช้วาดเป็นอย่างไร ทำให้ในกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่องานอนุรักษ์มีสมาชิกในทีมที่ประกอบไปด้วยคนที่จบด้านวิทยาศาสตร์และคนที่จบประวัติศาสตร์ศิลป์มาทำงานร่วมกัน” คุณโสภิตเล่า

ชวนดูการซ่อมภาพครั้งใหญ่ที่สุดในไทย ภาพร่างขนาด 1:1 ของภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตฯ ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า

หลังจากม้วนภาพถูกคลี่ออก สิ่งแรกที่ต้องทำคือเก็บข้อมูลชิ้นงานอย่างละเอียด ทีมอนุรักษ์จะตีตารางด้วยด้ายไร้กรดจากฝ้ายธรรมชาติซึ่งจะไม่ทำปฏิกิริยากับชิ้นงาน และบันทึกภาพไว้ทุกตารางเซนติเมตร พร้อมกับจดบันทึกรอยฉีกถลอกทุกจุดอย่างละเอียดเพื่อเป็นหลักฐานและข้อมูลเริ่มต้นการทำงาน

“ขั้นตอนเก็บข้อมูลสำคัญมากในการอนุรักษ์ ซึ่งกลุ่มวิทย์ฯ จะไม่มองข้าม แม้จะต้องใช้เวลามากขึ้นสักนิดหนึ่งเราก็ยอม เพราะมันเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากๆ ก่อนหน้านี้เราไม่มีโอกาสได้จับชิ้นงานที่จะทำให้รู้ข้อมูลของศิลปินคนนี้เลย การได้รับโอกาสให้วิเคราะห์งานชิ้นนี้จึงเป็นเหมือนตามรอยเขา ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญมากกับการเก็บข้อมูล เพราะถ้าเราเริ่มงานอนุรักษ์ไปแล้วเราจะกลับมาเก็บข้อมูลย้อนหลังไม่ได้อีกแล้ว” คุณโสภิตอธิบาย

แกะรอยเรื่องราวจากสีด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์

หัวใจของงานอนุรักษ์มีอยู่สองเรื่อง หนึ่ง เทคนิค สอง วัสดุ ไม่ว่าจะอนุรักษ์วัตถุประเภทใดก็ตาม การเก็บข้อมูลสองปัจจัยนี้ให้ละเอียดจะช่วยให้นักอนุรักษ์วิเคราะห์และวางแผนได้แม่นยำมากขึ้นว่าจะทำการอนุรักษ์ต่อไปอย่างไร

“เนื่องจากภาพนี้เป็นภาพสีฝุ่นบนผืนผ้าใบ เพราะฉะนั้น เริ่มแรกเราต้องรู้ให้ได้ว่าสมัยโน้นเขาใช้สีฝุ่นอะไร ต้องรู้ประเภทของสี เช่น สีฝุ่นสีแดงทำจากวัตถุดิบหลากหลาย มีสีแดงเป็นสิบๆ อย่าง ถ้าเราวิเคราะห์ไม่ได้ว่าสีแดงที่ปรากฏในชิ้นงานเป็นสีแดงของธาตุอะไร เราก็ต้องใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์มาช่วย โดยเราจะนำตัวอย่างสีแต่ละสีออกมาส่งวิเคราะห์ธาตุในแล็บ

ชวนดูการซ่อมภาพครั้งใหญ่ที่สุดในไทย ภาพร่างขนาด 1:1 ของภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตฯ ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า

“เมื่อเราตรวจสอบสีผ่านเครื่อง XRF เราเห็นถึงชนิดของธาตุและเปอร์เซ็นต์ของธาตุ ทำให้เรารู้ว่าสีแดงที่เราเห็นเกิดจากแคดเมียม ตะกั่ว หรือโลหะเหล็ก กันแน่ สีที่เราส่งไปวิเคราะห์มีสีน้ำเงิน ซึ่งเรารู้แล้วว่าตรงกับสีปรัสเซียนบลู แล้วก็มี สีดำ สีแดง สีส้ม สีขาว ซึ่งสีขาวคาดว่าจะเป็นสังกะสี”

คุณโสภิตเล่าต่อว่า “เราโชคดีที่รู้ว่าใครวาด เราต้องหาข้อมูลด้วยการย้อนกลับไปถึงคนคนนั้น ณ เวลานั้น แล้วหาว่าวัสดุประเภทไหนผลิตในยุคนั้น เราคิดว่าตัวรองพื้นของงานชิ้นนี้น่าจะเป็นเกสโซ่ ซึ่งเป็นตัวรองพื้นสมัยโบราณของยุโรป พอนำไปตรวจด้วยเครื่อง XRF ก็เห็นเลยว่าเป็นแคลเซียมซัลเฟต หากเราไม่แน่ใจว่าตัวนี้เป็นเกสโซ่จริงๆ หรือเปล่า ก็นำค่าที่ได้ไปเปรียบเทียบกับตัวอ้างอิง ถ้ามีค่าใกล้กัน ก็จะถือว่าเป็นการยืนยันผลได้ค่ะ”

ชวนดูการซ่อมภาพครั้งใหญ่ที่สุดในไทย ภาพร่างขนาด 1:1 ของภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตฯ ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า
ชวนดูการซ่อมภาพครั้งใหญ่ที่สุดในไทย ภาพร่างขนาด 1:1 ของภาพใต้โดมพระที่นั่งอนันตฯ ที่หอศิลป์เจ้าฟ้า

ใช่ว่าวัสดุทุกอย่างที่คินีใช้จะอยู่รอดผ่านกาลเวลาจนมาถึงมือนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่สแกนอดีตไม่ได้เสมอไป ความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลป์จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างตรงส่วนนี้แทน

“ตอนนี้เรากำลังกังวลเรื่อง Binder หรือตัวประสานผงสี เราสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกาวหนังสัตว์หรือที่เรียกว่ากาวกระต่าย ยุโรปนิยมใช้มาก แต่ ณ เวลานี้วิเคราะห์ยาก เนื่องจากเป็นอินทรียสารที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลากว่าร้อยปี ไม่เหมือนการวิเคราะห์สีซึ่งเป็นกลุ่มธาตุที่ยังคงอยู่ แต่จากการวิเคราะห์เราก็สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกาวหนังสัตว์นี่แหละค่ะ เหตุผลเพราะเป็นงานที่ฝรั่งเขียน ไม่น่าจะนำเทคนิคตะวันออกมาใช้ เขาน่าจะเลือกทำทางถนัดของเขามากที่สุด เพราะงานชิ้นนี้เป็นการถวายงานพระมหากษัตริย์ด้วย”

การสร้างภาพวาดจำลองขึ้นมาซ้อมก่อนซ่อม

เก็บข้อมูลมาจนถึงขั้นนี้แล้ว ก็ยังลงมือซ่อมแซมไม่ได้เสียที นักอนุรักษ์ต้องสร้างชิ้นงานจำลองขึ้นมาใหม่เพื่อทดสอบแผนการทำงานที่ออกแบบไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนที่ต้องสัมผัสกับชิ้นงานโดยตรง เพราะนี่คืองานที่เมื่อเริ่มลงมือไปแล้ว กดปุ่ม Undo ไม่ได้เหมือน Photoshop

“ถ้าดูที่ขอบชิ้นงานจะเห็นว่าเคยผ่านการตรึงบนกรอบแล้ว ไม่แน่ใจว่าเข้ากรอบเพื่อจัดแสดงหรือเปล่า ความเสียหายเลยกระจายอยู่รอบข้าง ตอนนี้ผ้าใบผืนนี้อ่อนแอมาก ไม่ว่าหลังจากนี้จะจัดแสดงหรือจัดเก็บ เราจะต้องทำผ้าซัพพอร์ตด้านหลัง เวลาจัดแสดงจะต้องดึงเฉพาะผ้าซัพพอร์ตเท่านั้น เพื่อที่ชิ้นงานจะได้ไม่ถูกรบกวนเลย เป็นการป้องกันงาน

นักวิทยาศาสตร์และศิลปินจับมือกัน การบูรณะภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ร.6 ฝีมือ กาลิเลโอ คีนี

“แม้แต่การติดสินใจเลือกวัสดุมาใช้ซัพพอร์ตก็ต้องคิดให้รอบคอบ ผ้าประเภทไหน สีอะไร กลมกลืนกับผ้าเดิมหรือไม่ และมีความยืดหยุ่นแค่ไหน กาวที่ใช้ผนึกผ้าซัพพอร์ตควรจะเป็นกาวประเภทไหน คิดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องลงมือทดลองด้วย เราจะสร้างงานสีฝุ่นบนผ้าใบแบบนี้จำลองขึ้นมา แล้วลองนำมาผนึกบนผ้าใบอีกชิ้น เพื่อดูว่าจะมีผลกับชิ้นงานยังไง ติดแน่นไหม แน่นเกินไปก็ไม่ดี ไม่แน่นก็จะหลุด” คุณโสภิตให้รายละเอียด

ขั้นตอนการผนึกผ้าซัพพอร์ตด้านหลังทำให้นักอนุรักษ์จำเป็นต้องพลิกชิ้นงาน แต่ด้วยความบอบบางของภาพเขียนสีฝุ่น ทีมงานจึงต้องคิดหาเทคนิคป้องกันความเสียหายอย่างรอบคอบ

นักวิทยาศาสตร์และศิลปินจับมือกัน การบูรณะภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ร.6 ฝีมือ กาลิเลโอ คีนี
นักวิทยาศาสตร์และศิลปินจับมือกัน การบูรณะภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ร.6 ฝีมือ กาลิเลโอ คีนี

“ปัญหาคือตัวชิ้นงานอายุเยอะแล้ว สีฝุ่นหลุดเป็นผงออกมาตลอดเวลา เราจึงต้องผนึกเม็ดสีให้ติดกับตัวชิ้นงานโดยการทำเทคนิคเฟสซิ่ง เหมือนเรามาส์กหน้า เราจะวางกระดาษสาลงไปบนพื้นผิวแล้วทากาวบนเยื่อกระดาษสาให้กาวซึมลงไปเพื่อผนึกสีให้ติดกับชิ้นงาน

“การทำเฟสซิ่งมีประโยชน์สองอย่าง หนึ่ง ทำให้สีแข็งแรงมากขึ้น สองคือ ป้องกันไม่ให้ผิวของภาพเกิดความเสียหายขณะทำงานหรือขณะเคลื่อนย้าย เมื่อเสร็จงานแล้วก็ลอกกระดาษสาออกทีหลังได้ กาวที่ทำเฟสซิ่งต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม คือต้องไม่ทำปฏิกิริยาเคมีจนทำให้สีเปลี่ยนไป เราต้องไปทำการทดลองกับตัวชิ้นงานที่เราจำลองขึ้นมาก่อนว่าจะเป็นกาวตัวไหน ความเข้มข้นเท่าไหร่ เสร็จแล้วก็ต้องมาทดลองกับของจริงด้วย โดยเริ่มที่มุมๆ ที่เราคิดว่ามันเสี่ยงที่จะเสียหายน้อยที่สุด”

ภาพนี้จะซ่อมให้น้อยที่สุด เพื่อคงฝีแปรงของกาลิเลโอ คินี ไว้ให้มากที่สุด

ถึงแม้ว่าทีมอนุรักษ์จะเก็บข้อมูลสีและวัสดุที่ใช้อย่างละเอียดขนาดนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้เห็นภาพสีฝุ่นที่เลือนรางภาพนี้กลับมาสดใสอีกครั้ง เพราะทีมงานวิเคราะห์แล้วว่า เป้าหมายที่เหมาะสมที่สุดในการบูรณะภาพนี้อาจไม่ใช่การทำให้ภาพกลับมาสวยเหมือนใหม่ แต่เป็นการทำให้ทุกอณูที่เป็นฝีมือของคินียังคงอยู่ในสภาพเดิมต่อไปได้อีกหลายสิบปี

นักวิทยาศาสตร์และศิลปินจับมือกัน การบูรณะภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ร.6 ฝีมือ กาลิเลโอ คีนี

“โดยปกติในการทำงานอนุรักษ์เราจะตัดสินใจเติมสีใหม่เข้าไปเฉพาะจุดที่สำคัญมากๆ เช่น จุดที่ทำให้ข้อมูลนั้นหายไป แต่สำหรับชิ้นนี้ เราตัดสินใจไม่เติมสีใหม่เข้าไปเลย เพราะความเสียหายอยู่แค่เฉพาะขอบภาพ ข้อมูลหลักๆ ไม่ได้หายไป นอกจากนี้เราสังเกตว่างานที่ชำรุดในระยะหลังๆ เกิดความเสียหายจากการซ่อม เนื่องจากใช้วัสดุที่ไม่สัมพันธ์กับของเดิม โอกาสที่ของใหม่จะไปทำให้ของเก่าเสียหายมีสูง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เราจะไม่เติมแต่งชิ้นงานเลย จะเน้นแค่ทำให้แข็งแรงขึ้นเท่านั้น ทำยังไงก็ได้ค่ะให้งานออกมาเหมาะสมที่สุด ลดความเสี่ยงที่สุด ไม่ทำมาก ทำแค่พอประคับประคองให้ชิ้นงานอยู่ได้

“ไม่ใช่ว่าซ่อมเสร็จแล้วจะปล่อยได้เลยนะคะ เทคนิคการดูแลก็สำคัญ คนที่จะรับไม้ต่อจากนักอนุรักษ์ก็ต้องมีหลักในการดูแล เราคาดหวังให้การซ่อมครั้งนี้อยู่ไปได้สักสามสิบสี่สิบปี ถ้าได้รับการเก็บรักษาในสภาวะที่เหมาะสมทั้งอุณหภูมิและความชื้น และมีการดูแลการจัดแสดงดีจริงๆ อาจจะอยู่ได้ถึงห้าถึงหกสิบปีเลยค่ะ”

นักวิทยาศาสตร์และศิลปินจับมือกัน การบูรณะภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ร.6 ฝีมือ กาลิเลโอ คีนี

แม้จะไม่มีการเติมสีใหม่ แต่ข้อมูลสีและวัสดุทุกอย่างที่ทีมอนุรักษ์ได้ทุ่มเทเวลาไปกับการศึกษาและวิเคราะห์อย่างละเอียดจะกลายมาเป็นคัมภีร์สำคัญที่ช่วยไขความลับให้กับการอนุรักษ์งานชิ้นต่อๆ ไปของกาลิเลโอ คินี และศิลปินท่านอื่นๆ ที่อยู่ร่วมยุคกันได้

“งานทุกชิ้นที่เข้ามาที่กรมศิลป์ เราให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลและการทำวิจัยคู่กัน เพราะข้อมูลที่เราเก็บไว้อย่างละเอียดจะเป็นองค์ความรู้ให้คนอื่นได้ศึกษา บางครั้งงานของเราก็กลายเป็นงานครูให้คนอื่นมาเรียนรู้เทคนิคได้ด้วย คลังข้อมูลเกี่ยวกับศิลปินคนนี้ รวมไปถึงศิลปินในยุคใกล้เคียงกับเขา จะกลายเป็นข้อมูลหนึ่งที่ช่วยเราได้ หากเราเจองานของศิลปินที่ใกล้เคียงกันอีก มีประโยชน์ในการอนุรักษ์ในรอบถัดๆ ไปด้วย เป็นแนวทางในการอนุรักษ์ให้งานชิ้นอื่นๆ ที่จะเจอต่อมาได้

นักวิทยาศาสตร์และศิลปินจับมือกัน การบูรณะภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ร.6 ฝีมือ กาลิเลโอ คีนี

“ผู้อำนวยการหอศิลป์เจ้าฟ้าท่านเล็งเห็นว่างานชิ้นนี้มีความสำคัญมาก อีกทั้งกระบวนการบูรณะและเทคนิคในการทำงานเองก็มีความสำคัญน่าเรียนรู้ จึงน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะให้ประชาชนทั่วไปได้มาเห็นจริงๆ งานชิ้นนี้กว่าจะอนุรักษ์เสร็จก็ต้องใช้เวลาอีกปีหนึ่ง ทุกคนถึงจะได้เห็นค่ะ”

การทำงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่หาชมได้ยากที่ทุกคนต้องห้ามพลาด หากใครอยากสัมผัสกระบวนการอนุรักษ์งานศิลปะอย่างใกล้ชิด สามารถติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ได้ทุกวันพุธ พฤหัส และศุกร์ ที่บริเวณชั้นสอง ห้องจิตรกรรมไทยประเพณี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า) โดยผู้เข้าชมเดินชมได้รอบห้อง แต่เข้าไปรบกวนในส่วนปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ไม่ได้

นักวิทยาศาสตร์และศิลปินจับมือกัน การบูรณะภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของ ร.6 ฝีมือ กาลิเลโอ คีนี

Writer

Avatar

แก้วขวัญ เรืองเดชา

โปรดิวเซอร์สารคดีโทรทัศน์ นักเขียน และนักออกแบบนิทรรศการ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan