เมื่อปีที่แล้ว แวดวงนักดนตรีพื้นเมืองเชียงใหม่พูดถึงเรื่องราวของชาวต่างชาติคนหนึ่งเป็นวงกว้าง ชาวต่างชาติคนนี้เพิ่งย้ายมาอยู่เชียงใหม่ได้ไม่ถึง 2 ปี แต่กลับอู้กำเมืองและพูด ฟัง ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว แถมยังเล่นดนตรีพื้นบ้านล้านนาได้เกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะปี่ ขลุ่ย สะล้อ ซอ ซึง กลอง แม้กระทั่งพิณเปี๊ยะที่ถือว่าเป็นเครื่องดนตรีโบราณของเชียงใหม่ที่หาคนเล่นเป็นได้ยาก 

ความสามารถทางด้านดนตรีนี้เกิดขึ้นจากการที่เขาไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์เรียนดนตรีกับ ครูแอ๊ด-ภานุทัต อภิชนาธง ศิลปินและครูเพลงดนตรีพื้นเมืองล้านนาชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งวงเดอะสะล้อ ที่หลายคนอาจคุ้นหน้าจากรายการ คุณพระช่วย ในฐานะกรรมการตัดสินช่วงคุณพระประชัน

ชาวต่างชาติที่คนในเชียงใหม่กำลังพูดถึงอยู่นี้มีชื่อว่า กาล อาร์พาลี (Gal Arpaly) ชายหนุ่มอายุ 24 ปีจากประเทศอิสราเอล ผู้เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่และตกหลุมรักเข้ากับดนตรีล้านนาอย่างจัง

กาล อาร์พาลี หนุ่มอิสราเอลผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่จนอู้กำเมือง สักขาลาย เล่นดนตรีล้านนา

ไม่นานมานี้ ผมโชคดีมีโอกาสได้เจอกับกาลที่ร้านสักขาลาย (การสักขาแบบล้านนาโบราณ) กลางเวียงเชียงใหม่ ขณะที่เขามาเป็นผู้ช่วยเพื่อนที่กำลังจะสัก ซึ่งกาลเองก็มีรอยสักขาลายนี้เช่นกัน และเป็นจริงอย่างที่ผู้คนเชียงใหม่ว่า กาลฟัง พูด ภาษาไทย และอู้กำเมืองได้อย่างคล่องแคล่ว ขณะที่ช่วยเพื่อนสักอยู่นั้น เขาก็ฮัมเพลงพื้นบ้านล้านนาที่ดังมาจากวิทยุภายในร้านไปด้วย นั่นแสดงให้เห็นถึงความรักในดนตรีล้านนาของกาลได้เป็นอย่างดี

ไม่นานมานี้ กาลเพิ่งส่งเครื่องดนตรีล้านนากลับบ้านของเขาที่อิสราเอล โดยตั้งใจว่าเมื่อมีโอกาสกลับบ้าน เขาจะเผยแพร่ดนตรีพื้นเมืองล้านนาที่เขาหลงรักให้คนอิสราเอลรวมถึงคนทั้งโลกรู้จัก เขายังทำช่องยูทูบของตัวเองชื่อ Snake fishfish เพื่อเผยแพร่ดนตรีพื้นเมือง ล่าสุดเขานำเพลง LALISA ผลงานเดี่ยวของ ลิซ่า BLACKPINK เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของประเทศเกาหลีมาคัฟเวอร์ โดยใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองเหนือผสมกับพิณอีสานให้ออกมาน่าสนใจเป็นอย่างมาก 

กาลเป็นคนง่ายๆ อารมณ์ดี เข้าใจและมีอารมณ์ขันแบบคนไทย เขายินดีเล่าเรื่องราวของเขาให้เราฟัง เพื่อให้เห็นมุมมองของต่างชาติที่มีต่อวัฒนธรรมล้านนาว่ามีคุณค่าอย่างไร ทำไมเขาถึงตกหลุมรักมันเป็นอย่างมาก

กาลชวนเราไปคุยกันที่ตูบหรือกระต๊อบเล็กๆ ของเขา ซึ่งเขากับเพื่อนช่วยกันสร้างไว้ท่ามกลางป่าในอำเภอแม่ริม 

“นี่เป็นตูบที่เรากับเพื่อนๆ ช่วยกันสร้าง เราให้เพื่อน ค่างานร้อย ค่าเลี้ยงเหล้าพัน” กาลหัวเราะอารมณ์ดี

วันที่เราไป กาลกับเพื่อนฝูงของเขากำลังนั่งเล่นดนตรีพื้นเมือง และอู้กำเมืองหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน

ไม่น่าเชื่อว่านี่คือชาวต่างชาติที่เพิ่งมาอยู่เชียงใหม่ได้ไม่ถึง 2 ปี

กาล อาร์พาลี หนุ่มอิสราเอลผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่จนอู้กำเมือง สักขาลาย เล่นดนตรีล้านนา

บทสัมภาษณ์ต่อจากนี้ ทุกประโยคที่กาลพูด ไม่ได้แปลจากภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย แต่เป็นการคงประโยคภาษาไทยบ้าง ปนคำเมืองบ้างที่เขาพูดออกมาจริงๆ และมีศัพท์ภาษาอังกฤษแทรกมาบ้างนิดหน่อย 

สำหรับคำหรือประโยคที่เขาไม่รู้จัก ผมจะใส่วงเล็บคำแปลไว้ด้านหลัง เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่า ผู้ชายคนนี้มีความเข้าใจในภาษาไทย รวมถึงวิถีและวัฒนธรรมของคนไทยลึกซึ้งขนาดไหน

“สวัสดีครับ ผมชื่อ กาล (Gal) เป็นคนเมืองหน้าฝรั่ง” เขาแนะนำตัวก่อนหัวเราะแซวตัวเองอย่างสนุก 

“จริงๆ ชื่อผมอ่านออกเสียงแบบอิสราเอลจะยากกว่านี้ มีความหมายว่า คลื่น ไหลไปมาเรื่อยๆ 

“ส่วน กาล ในภาษาไทย ก็มาจากกาลเวลา ผมชอบความหมายของชื่อนี้ทั้งคู่”

ตัวตนของกาลเหมือนความหมายของชื่อเขา เป็นดั่งคลื่นที่ไหลไปเรื่อยๆ เพราะเขาตั้งใจจะเดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ 

“ผมอยากดูโลกกว้างมากๆ เลย อยากจะเดินทางเที่ยวยาวๆ ก็เลยทำงานเก็บตังค์ เป็นนักดนตรี ครูสอนดนตรี เป็นช่างก่อสร้าง ทาสีบ้าน เป็นครูลูกเสือ ทำงานเก็บตังค์อยู่หลายปี จนพอแล้วก็ออกเดินทาง เริ่มจากไปเที่ยวเวียดนาม กัมพูชา แล้วก็มาไทย ขึ้นไปลาว ไปถึงจีนแถวสิบสองปันนา ตามแผนเรากะจะขึ้นไปจนถึงทิเบต เป็นที่ที่เราอยากไปมากๆ เพราะว่า I was interested in Buddhism. ผมสนใจเรื่องศาสนาพุทธมากๆ สนใจตั้งแต่วัยรุ่น อ่านหนังสือ ดูหนังต่างๆ และทิเบตกับอินเดียเป็นต้นฉบับของศาสนาพุทธ”

แต่การเดินทางต้องชะงักลงขณะที่เขาเดินทางไปประเทศจีน เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งแรก

“ผมติดอยู่ที่ประเทศจีนหนึ่งเดือน ตอนนั้นก็คิดว่าจะทำอะไรดี เพราะยังไม่อยากกลับบ้าน ยังไม่ทันเที่ยวอย่างที่ตั้งใจเลย และเริ่มรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย เนื่องจากตอนนั้นที่สิบสองปันนาเริ่มไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวแล้ว แล้วก็ Not Friendly ก็เลย Change My Plan เปลี่ยนกำหนด แล้วกลับมาอยู่ที่ไทยดีกว่า”

กาลเลือกจะมาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ช่วงนั้นการเดินทางระหว่างประเทศถูกห้ามหมดแล้ว

ด้วยความไม่รู้จะไปไหน กลับบ้านก็ไม่ได้ กาลเลยไปสมัครเรียนมวยไทยกับค่ายมวยที่นั่น

“ตอนนั้นผมอยู่ใกล้กับแม่น้ำปิงที่จังหวัดนครสวรรค์ หลังจากฝึกมวยเสร็จ ผมก็ไปวัดทุกวัน ไปนั่งดูพระ ดูแม่น้ำ แล้ววันหนึ่งก็มีเสียงดนตรีเข้ามา น่าจะเป็นลำโพงจากงานศพ เราไม่รู้ว่านี่คือเสียงของเครื่องดนตรีอะไร เราอยากเจอ อยากรู้จักมากๆ”

กาลเป็นนักดนตรี หลงรักดนตรีมาตั้งแต่เขายังเด็ก การเดินทางท่องเที่ยวไปในประเทศต่างๆ ด้วยหวังว่าจะได้พบกับดนตรีของประเทศต่างๆ แต่ก็ต้องผิดหวัง

กาล อาร์พาลี หนุ่มอิสราเอลผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่จนอู้กำเมือง สักขาลาย เล่นดนตรีล้านนา

“ตอนที่ไปเที่ยวประเทศต่างๆ เราไม่เจอดนตรีที่มัน Original (ของแท้) จริงๆ เลย Traditional Music (เพลงพื้นถิ่น) เป็นสิ่งที่หายาก ไม่ใช่ดนตรีสากล ไม่ใช่ดนตรี Popular สำหรับคนไทยดนตรีเมือง (ดนตรีล้านนา) เป็นสิ่งที่ธรรมดา เป็นสิ่งที่โบราณ น่าเบื่อ ผมคิดอย่างนั้นนะ แต่สำหรับเรามันเป็นสิ่งที่หายากมาก ไม่ใช่หายากแค่ที่ไทย แต่หายากทั่วทั้งโลก เพราะดนตรีแบบนี้มันมีความ Pure มันโบราณ มัน Original มาก แต่เดี๋ยวนี้มัน Mix Together ไปหมดแล้ว มันหาแบบดนตรีเมืองได้ยาก ผมเป็นนักดนตรี All my life ตลอดชีวิตเลย เวลาได้ยินดนตรีที่ Original มันรู้เลยว่าอันนี้ Original ไม่เหมือนที่เราเคยฟังจากที่ไหนมาก่อน”

กาลอธิบายให้ฟังว่า ที่อิสราเอล สถานการณ์ความไม่สงบทำให้ผู้คนต้องอพยพอยู่บ่อยครั้ง สงครามทำให้รากวัฒนธรรมดั้งเดิมของอิสราเอลหายไปจำนวนมาก ไม่ว่าจะอาหาร ดนตรี วัฒนธรรมจำนวนมากของบ้านเขาหายไป ไม่เหมือนประเทศที่อยู่ที่ใดที่หนึ่งมายาวนาน ที่นั่นจะมีวัฒนธรรมหยั่งรากลึกและคงอยู่ให้เห็น ทำให้เขาสนใจออกตามหาดนตรีพื้นถิ่นและวัฒนธรรมตามที่ต่างๆ เพราะเขารับรู้ว่ามันมีคุณค่าที่ควรรักษา

กาลผิดหวังตลอดการเดินทางของเขา กระทั่งได้ยินเพลงที่ลอยมาจากลำโพงขณะนั่งเล่นอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังหาคนที่จะช่วยพาไปรู้จักกับดนตรีพื้นเมืองเหล่านี้ไม่ได้

“ตอนนั้นผมยังพูดภาษาไทยไม่ได้ การจะถามหาดนตรีพื้นถิ่นเลยเป็นเรื่องยากมากๆ”

หลังจากนั้นกาลตัดสินใจเดินทางมาที่จังหวัดเชียงใหม่ เขาเดินเที่ยวเล่นอยู่ในเมืองเชียงใหม่ โดยยังคงเก็บความต้องการจะรู้จักดนตรีพื้นถิ่นเอาไว้ในใจ โชคดีที่ตลอดการเดินทาง เขาเลือกจะไม่ตัดใจ แต่เลือกจะไปตัดผม

“วันนั้นเพราะอะไรก็ไม่รู้ ตอนเดินเที่ยวอยู่ ผมตัดสินใจจะไปตัดผม เป็นร้านเล็กๆ ชื่อ Don’s Barber อยู่กลางเวียงเชียงใหม่ ระหว่างที่นั่งตัดผมอยู่ เจ้าของร้านก็เปิดเพลงหนึ่งขึ้นมา มีเสียงขลุ่ย มีเสียงสะล้อ มันถึงใจมาก 

“เราถึงกับนั่งน้ำตาไหล…” 

เพลงที่กาลได้ยินในวันนั้นคือบทเพลงของ จรัล มโนเพ็ชร ราชาโฟล์กซองคำเมืองของเชียงใหม่ ผู้นำคำเมืองและดนตรีเมืองล้านนามาผสมกับดนตรีสากลจนโด่งดังไปทั่วประเทศ 

“เจ้าของร้านเขาคงตกใจ ทำไมไอ้ฝรั่งคนนี้จู่ๆ มันก็ร้องไห้ เป็นบ้ารึเปล่า” กาลหัวเราะ “โชคดีที่เจ้าของร้านพูดภาษาอังกฤษเก่ง เราถามเขาว่าอยากเจอ อยากรู้จักสักคน Do you know someone who play these instruments? (คุณรู้จักใครสักคนที่เล่นเครื่องดนตรีเหล่านี้เป็นบ้างไหม) อ้ายนัด เจ้าของร้านตัดผมที่กลายมาเป็นเพื่อนผมถึงวันนี้ ตอบกลับมาว่ารู้จัก แล้วก็โทรหาเพื่อนของเขา บอกว่ามีฝรั่งคนหนึ่งอยากเรียนดนตรีเมือง วันต่อมาเพื่อนของอ้ายนัดก็เอาสะล้อมาให้ที่ร้านตัดผม สอนผมเล่น

“เรารู้สึกโชคดีมาก เพราะตอนนั้นเราอยู่ไทยเกือบครึ่งปีแล้ว ยังไม่เจออะไรเลย แล้วการสื่อสารมันยาก เขาพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง เราเองก็พูดภาษาไทยไม่ได้ ถามเฉยๆ มันไม่ได้ Where can I find traditional music. (ผมจะหาดนตรีพื้นเมืองได้ที่ไหน) มันไม่ได้ ไม่เข้าใจ เราเองก็ไม่เข้าใจเขา แต่วันที่เราเจออ้ายนัดที่ร้านตัดผม ได้ยินเพลงที่อ้ายนัดเปิด มันเหมือนเป็น Destiny เพราะหลังจากนั้น Everything comes to me. (ทุกอย่างก็เข้ามาหาผม) 

“หลังจากตัดผม แล้วโทรคุยกับเพื่อนอ้ายนัดที่จะเอาสะล้อมาให้ อ้ายนัดแนะนำเราว่า ถ้าอยากจะเห็นดนตรีเมืองให้ลองไปดูที่กาดเมืองใหม่ จะมีคนเฒ่าเล่น แต่ไปแล้วไม่มี เราก็รู้สึกผิดหวัง เลยไปนั่งเล่นอยู่ริมแม่น้ำปิง นั่งเล่นเครื่องดนตรีเล็กๆ ของตุรกี ชื่อ บักลามา (Bağlama) เราเอาไปด้วยทุกที่เวลาไปเที่ยวเพราะมีขนาดเล็ก เราเป็นนักดนตรี ก็ต้องมีอาวุธประจำตัว เวลาท่องเที่ยวเรามีกระเป๋าใหญ่เป็น Backpacking กีตาร์มันขนาดใหญ่ไป พกไม่สะดวก 

“เราก็นั่งเล่นบักลามาข้างแม่น้ำปิง แล้วก็มีนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มานั่งพูดคุยกับเรา สนใจเรื่องราวของเรา แล้วเขาก็บอกว่าที่บ้านมีสะล้อ เดี๋ยวเอามาให้ นี่คือคนแรกที่เอาเครื่องดนตรีให้เรา แล้วเราก็เล่นดนตรีด้วยกันที่ริมน้ำปิง เขาเอากีตาร์ เอาซึงมาเล่นด้วยกัน ในที่สุดเราก็เจอดนตรีที่ตามหา มันจะมา มันก็มาพร้อมกันหมดเลย” กาลเล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

กาล อาร์พาลี หนุ่มอิสราเอลผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่จนอู้กำเมือง สักขาลาย เล่นดนตรีล้านนา
กาล อาร์พาลี หนุ่มอิสราเอลผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่จนอู้กำเมือง สักขาลาย เล่นดนตรีล้านนา

วันต่อมาเพื่อนของเจ้าของร้านตัดผมก็เอาสะล้อมาให้กาลตามที่นัดกันไว้ ด้วยเห็นถึงความตั้งใจจริงของกาล หลังจากนั้นเขาจึงพากาลไปขอเป็นลูกศิษย์กับครูแอ๊ดผู้เป็นอาจารย์ของเขาอีกที

“ตอนไปบ้านครูแอ๊ดครั้งแรก แก Welcome มากๆ ชวนเราไปงาน ไปดู ไปเจอดนตรีกับวัฒนธรรมล้านนาเยอะมาก มีหลายชนิด มีสะล้อ ซอ ซึง มีงานแห่ งานศพ งานวัด งานผีมด มีซอ ปี่ ดนตรีอีกหลายชนิดที่เราสนใจมากๆ เราได้รู้จักจากครูแอ๊ด เราได้รู้จักกับนักดนตรีเมืองต่างๆ เยอะมาก ทีนี้ดนตรีของแต่ละคนก็มีทางของเขา ไปเจออีกคนก็เป็นดนตรีอีกแบบ เราดีใจที่มีโอกาสไปหาคนอื่น เพราะว่าดนตรีเมืองมีหลายแบบมาก คนนี้เล่นไม่เหมือนคนนั้น คนนั้นเล่นไม่เหมือนคนนี้ ผมเชื่อว่าดนตรีไม่ได้มีทางเดียว เรามีทางของตัวเอง มันไม่เหมือนใคร แต่น่าจะไปด้วยกันได้ แต่บางคนก็เชื่อว่าทางของเขาคือทางที่ถูกต้องสำหรับทุกคน This is the right way. (นี่คือทางที่ถูกต้อง) เราว่าไม่ใช่”

สนทนาในกระต๊อบกลางป่ากับหนุ่มอิสราเอลผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่ และตั้งใจพาดนตรีล้านนาไปให้ทั่วโลกรู้จัก

กาลย้ายไปอยู่กับครูแอ๊ด ระหว่างเรียนดนตรีเมือง กาลก็ช่วยครูแอ๊ดทำเครื่องดนตรีเมืองต่างๆ ไปด้วย

“การสอนของครูแอ๊ด ไม่ลึกแต่ลึก คือไม่ต้องพูดทุกอย่าง Learning by Doing ก็คือดูเขาทำแล้วพยายามทำตาม อันไหนไม่ถูกเขาก็จะบอกว่าอันนี้ไม่ถูกนะ ต้องทำแบบนี้นะ ก็ลองใหม่เรื่อยๆ อันไหนที่เราสนใจก็ถามเอา

“การเรียนแบบนี้มันไม่มีแบบแผน วันนี้ได้เรียนสะล้อ เพราะมีสะล้อว่างอยู่ก็จับเล่น แล้วเราก็ได้ไปแสดงที่งานต่างๆ เยอะมาก นั่งท้ายรถกระบะไปด้วยกันกับเพื่อนๆ ไปเล่นงานศพ ไปเชียงราย ไปน่าน ไปหลายที่มาก แต่ละที่ดนตรีก็ไม่เหมือนกัน เพลงไม่เหมือนกัน สไตล์ไม่เหมือนกัน ไปน่านก็อีกสไตล์หนึ่ง ไปลำปางก็อีกสำเนียงหนึ่ง

“สำหรับเรา เราชอบวิธีการเรียนแบบนี้ เราไม่เคยคิดว่าจะเล่นเครื่องดนตรีเมืองได้หลายชนิด วิธีการนี้ทำให้เราได้ลองเล่น ได้เรียนทั้งหมด เพื่อนที่เล่นดนตรีด้วยกันก็เป็นอาจารย์ของเรา สงสัยตรงไหนที่เขาเล่นอยู่ก็ถามได้”

สนทนาในกระต๊อบกลางป่ากับหนุ่มอิสราเอลผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่ และตั้งใจพาดนตรีล้านนาไปให้ทั่วโลกรู้จัก

ก่อนที่จะออกเดินทาง กาลเอาจริงเอาจังกับการเล่นดนตรีถึงขนาดเดินทางไปอเมริกา และเข้าเรียนดนตรีแจ๊สที่เบิร์กเลย์ (Berklee College of Music) โรงเรียนทางดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกา

“เราจริงจังกับดนตรีมาก ไปเรียนถึงสหรัฐอเมริกา ไปเรียนที่เบิร์กเลย์ เรียนได้หนึ่งเทอม แล้วก็ขอสอบ Scholarship เอาทุนการศึกษา ทางโรงเรียนก็ให้ทุนเราเต็มที่เลย แต่ตอนนั้นเราไม่อยากเรียนต่อระดับปริญญาแล้ว เพราะการเรียนดนตรีที่นั่น ผมรู้สึกว่ามันไม่ถูก มันต้องไม่ใช่แบบนี้ มันไม่ต้องนั่งใน Classroom มันไม่ต้องทฤษฎีเยอะ มันห่างจากดนตรีจริง ตอนนั้นเราคิดแบบนั้นนะ เราว่ามันไม่ถูกต้อง แล้วมันมีการแข่งขันเยอะมาก ไม่สนุกเลย การเล่นดนตรีต้องสนุกสิ ก็เลยลาออกแล้วไปทำงาน ไปเป็นครูดนตรี ครูลูกเสือ พาเด็กไปเดินป่า เดินดอย ธรรมชาติต่างๆ หาประสบการณ์ เก็บตังค์ออกเดินทาง

“ถ้าเป็นนักดนตรี เราต้องรู้ว่าเราเล่นดนตรีไปทำไม ตอนนั้นเราถามตัวเองแต่ไม่มีคำตอบ พอไม่มีคำตอบเราก็ไม่อยากเล่น แต่ที่เชียงใหม่ งานเล่นดนตรีเมืองมันอยู่ร่วมกับวิถีชีวิต ดนตรีเมืองไม่ได้เล่นตามร้านเหล้าหรือคอนเสิร์ต คนซื้อตั๋วเข้ามาดู แบบดั้งเดิมเขาเล่นตามงานประเพณี เล่นงานศพ เป็นงานชีวิต เป็นวัฒนธรรม ทุกอย่างมัน Connect (เชื่อม) กับชีวิต เรารู้ว่าเราเล่นดนตรีไปทำไม มันอธิบายยากนะ มันเป็นความรู้สึกตอนที่ได้เล่น แล้วเล่นเป็นวง เราไม่ได้เล่นคนเดียว มันมีความรู้สึกเป็นครอบครัว เล่นแล้วมีความสุข เวลาไปเล่นงานศพก็มีเพลงสำหรับงานศพ งานฟ้อนผีเวลาผีเข้าก็จะมีเพลงของมัน เรารู้สึกว่าการเล่นดนตรีเมือง What we do is bigger than us. ก็คือสิ่งที่เราทำมันยิ่งใหญ่กว่าตัวเรามาก เราเล่นเพื่อผู้คนในพิธี เพื่อประเพณี ดนตรีเมืองมีความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนมาก ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม”

สนทนาในกระต๊อบกลางป่ากับหนุ่มอิสราเอลผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่ และตั้งใจพาดนตรีล้านนาไปให้ทั่วโลกรู้จัก

การใช้ชีวิตกับเพื่อนๆ สมาชิกวงดนตรีที่อยู่กันแบบครอบครัว ทำให้กาลมีเพื่อนที่รักในดนตรีเมืองเหมือนกับเขาจำนวนมาก นอกจากทำให้เขาได้เรียนรู้ดนตรีเมืองเยอะขึ้น ในแง่ของวิถีชีวิต กาลก็ได้เรียนรู้เช่นกัน

“มีคนถามผมหลายคนว่าทำไมถึงพูดภาษาไทย อู้กำเมืองได้เก่ง เราว่ามันอยู่ที่ Mindset (ทัศนคติ) เรามาที่เมืองไทย ไม่ได้มาสนุกๆ อย่างเดียว เราอยากเรียนอะไรใหม่ๆ สิ่งที่เป็นคนไทยหรือคนเมืองว่าคืออะไร วิถีชีวิตทั่วๆ ไปเขาเป็นยังไง กินข้าวแบบไหน นอนยังไง อันนี้แพง ลดราคาให้หน่อยได้ไหม” กาลหัวเราะ 

“เราได้เรียนรู้ทุกอย่างเลย เพราะเราโชคดี เราเจอเพื่อนที่ดี ซึ่งเขาก็เป็นครูของเราหมดเลย เพราะเขาสอนเรา เราพูดไม่ถูก พูดไม่ชัด ยังไม่เข้าใจทุกอย่าง แต่เขาก็รู้ เขามีน้ำใจและใจเย็นอธิบายให้เรา การได้ใช้เวลานานกับคนไทย มีเพื่อนเป็นคนเมือง ได้พูดคุยรับฟังกับคนไทย มันทำให้เราได้เรียนรู้เอง… ส่วนใหญ่ก็เรียนในวงเหล้า” 

คำในภาษาไทยที่กาลชอบเป็นพิเศษคือคำว่า ใจเย็น

“ตอนมาแรกๆ เรางงกับคำว่า ใจเย็น มาก เพราะว่าที่บ้าน ฝรั่งเขาจะพูด Warm Heart กับ Cold Heart ถ้า Warm ก็คือเป็นคนที่อบอุ่น เป็นคนที่เป็นมิตร แต่ถ้าเป็น Cold Heart คือไม่เป็นมิตรเลย พอมาที่นี่เขาพูดกัน ใจเย็นๆ เราก็รู้ว่าใจก็คือหัวใจ เย็นก็คือเย็น มันก็คือ Cold Heart สิ ก็เลยงงว่าทำไมอะ เราทำอะไรผิดรึเปล่า 

“แต่พอผ่านไปก็เริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า ใจเย็น เราชอบมาก เพราะเราเป็นคนชอบความสงบ ไม่วุ่นวาย เราไม่ชอบความวุ่นวายที่อิสราเอล ไม่ชอบกรุงเทพฯ ด้วย อยู่แล้วไม่ม่วน รถติด ของแพง ที่เชียงใหม่สงบกว่า มาที่นี่เหมือน I find something I look for. เราได้เจอสิ่งที่หามานาน เราเป็นคนชอบความสงบ ความเงียบ ชอบความโบราณ แต่ที่นู่นมันหาไม่เจอ เราอาจจะหาไม่เป็นก็ได้นะ แต่มาที่นี่เราเจอเต็มที่เลย มีเยอะแยะมาก เราไปหาคนที่เก่งเรื่องต่างๆ ก็แลกกัน เรื่องภาษา เรื่องดนตรี และมีธรรมชาติด้วย”

ในฐานะที่กาลได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนไทยเป็นอย่างดี เราสนใจว่าในมุมของกาล ถ้าให้เขาแนะนำวิถีของชาวอิสราเอลให้คนเชียงใหม่ และแนะนำวิถีของคนเชียงใหม่ให้ชาวอิสราเอล เขาจะแนะนำอะไรบ้าง

“สิ่งที่เราอยากแนะนำคนอิสราเอล คือ วิถีการกินข้าว ที่ไทยคนชอบถามกันว่า กินข้าวหรือยัง ถ้ายังก็มากินข้าวด้วยกันสิ ที่อิสราเอลสมัยก่อนก็เป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้ชีวิตใครชีวิตมัน ที่ไทยยังมีการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว เป็นครอบครัวที่อยู่ร่วมกัน ลูกอยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่อยู่กับผู้เฒ่า อันนี้คือสิ่งที่อยากแนะนำให้คนอิสราเอลที่บ้านเรา เพราะตอนนี้ทุกคนกำลังใช้ชีวิตแบบเหงา… มันง่อมขนาด” กาลหัวเราะหลังปิดท้ายด้วยคำเมือง ก่อนเล่าต่อ

“สำหรับคนเชียงใหม่หรือคนไทย เราอยากแนะนำว่า จะไปเชื่อเขา (อย่าเชื่อเขา) จะไปเชื่อคนอื่นมาก คือ คนไทยหรือล้านนาจะมีความนับถือผู้ใหญ่ ถ้าเป็นพี่ มีอายุมากกว่า หรือเป็นครู เราจะต้องนับถือ ต้องเคารพ เหมือนเราไม่ต้องมีความคิดของตัวเอง แต่ที่อิสราเอล เขาจะสนับสนุนให้คุณต้องมีความคิดของตัวเองตั้งแต่เด็กๆ เลย คุณต้องหาทางของตัวเองนะ จะไปเชื่อเขาง่ายๆ ใช่ เขามีประสบการณ์ เราต้องฟัง ต้อง Respect แต่เราก็ต้องใช้ความความคิดของเราด้วย ไม่ใช่ฟังอย่างเดียวแล้วก็ครับๆ ถ้าเราคิดว่าอันนี้ผิด ต้องมั่นใจในตัวเอง อันนี้คือสิ่งที่จะแนะนำคนไทย”

สนทนาในกระต๊อบกลางป่ากับหนุ่มอิสราเอลผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่ และตั้งใจพาดนตรีล้านนาไปให้ทั่วโลกรู้จัก

ปัจจุบันกาลกับเพื่อนๆ ได้ตั้งวงดนตรีชื่อ Relanna ขึ้นมา โดยตั้งใจจะนำดนตรีล้านนามาประยุกต์กับความเป็นสากล นำเสนอให้คนได้รู้จักดนตรีล้านนามากขึ้น เขาทดลองโดยการนำเครื่องดนตรีล้านนามาเล่นคัฟเวอร์เพลง LALISA ของ ลิซ่า หนึ่งในสมาชิกวง BLACKPINK เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากประเทศเกาหลี และเขาตั้งใจจะใช้ยูทูบ Snake fishfish ของเขา เป็นช่องทางการเผยแพร่โปรเจกต์เกี่ยวกับดนตรีล้านนาที่เขาทำให้ชาวอิสราเอลและทั้งโลกได้เห็น

“เราชอบชื่อนี้ เพราะเราก็เข้ามาอยู่ที่นี่แบบงูๆ ปลาๆ จากไม่รู้อะไรเลย ก็ค่อยๆ เรียนรู้เพิ่มขึ้น อีกอย่างเราชอบตัวพญานาคมาก ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีทั้งความเป็นงูและปลาอยู่ด้วย

“การที่เราลองนำเครื่องดนตรีล้านนามาเล่นเพลงสากล ไม่ใช่ว่าเราทำลายความดั้งเดิมของดนตรีล้านนานะ ทางโบราณที่มีอยู่มันดีแล้ว เพลงเมืองเพราะมากอยู่แล้ว และเป็นเอกลักษณ์ ถ้าทุกคนจะยะไปเรื่อย (ทำมั่วๆ) ไม่มีความลึกก็คงไม่ใช่ มันต้องมีความ Balance (สมดุล) เราต้องเรียนรู้จากครูบาอาจารย์ก่อน รู้ในสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดี และเราก็ต้องดูปัจจุบันด้วย ต้อง Adapt (ประยุกต์) และนี่คือทางของตัวเราที่กำลังหาต่อไป ดูปัจจุบันแล้วนำโบราณมาพัฒนาต่อให้เกิดทางใหม่ โดยที่ทางเก่าก็ยังมีอยู่ ตอนนี้มีเพื่อนกำลังสอนพิณอีสานให้เรา ถ้านำมาเล่นด้วยกันกับดนตรีล้านนาได้ก็น่าสนใจ”

นอกจากการทำวงกับเพื่อนๆ และแชนแนลของตัวเอง ช่วงที่ผ่านมากาลเพิ่งรวบรวมเครื่องดนตรีล้านนาส่งไปที่อิสราเอล

“เราเพิ่งส่งเครื่องดนตรีเมืองชุดหนึ่งไปบ้านที่อิสราเอล มีสะล้อ ขลุ่ย ซึง กลอง และจะส่งเพิ่มอีก เราอยากให้คนอิสราเอลได้รู้จักกับดนตรีเมือง เมื่อมีโอกาส เราจะกลับบ้านไปดู เพราะมันต้องประกอบ แต่ตอนนี้ยังเดินทางไม่ได้ เราก็ใช้วิธีโปรโมตผ่านเฟซบุ๊ก ผ่านยูทูบไปก่อน ให้เพื่อนๆ ที่บ้านได้เห็น 

“ที่อิสราเอลเขาไม่เคยรู้จักดนตรีเมืองหรือดนตรีไทย เขาสนใจดนตรีทั่วโลกนะ มีโรงเรียนสำหรับ World Music โดยเฉพาะเลย เขาสนดนตรีอินเดีย ดนตรีอเมริกาใต้ ดนตรีแอฟริกา แต่ดนตรีไทยไม่มีเลย เราจะเป็นคนแรก You know my dream is to bring my friends, our band to Israel to teach, to show, to play. (ความฝันของผมคือพาเพื่อนๆ วงของเรา ไปสอน ไปโชว์ ไปเล่น ที่อิสราเอลได้)

“ผู้คนอิสราเอลหรือทั้งโลกก็จะรู้จักกับดนตรีล้านนามากขึ้น รวมคนไทยและคนเชียงใหม่ด้วย เราอยากทำให้ทุกคนเห็นว่าดนตรีนี้มันมีคุณค่า นี่คือความ Original ของเชียงใหม่ ของประเทศไทย ไม่มีที่ไหนมีหรือเหมือน และมันม่วนเน้อ” กาลจบบทสนทนาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

สนทนาในกระต๊อบกลางป่ากับหนุ่มอิสราเอลผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่ และตั้งใจพาดนตรีล้านนาไปให้ทั่วโลกรู้จัก
สนทนาในกระต๊อบกลางป่ากับหนุ่มอิสราเอลผู้ตกหลุมรักเชียงใหม่ และตั้งใจพาดนตรีล้านนาไปให้ทั่วโลกรู้จัก

สำหรับคนที่สนใจอยากเรียนดนตรีกับกาล ติดต่อเขาได้ที่ช่องทางเพจเฟซบุ๊ก Lilawadi 

ติดตามผลงานของเขาและเพื่อนๆ ได้ที่เพจ Relanna และยูทูบ Snake fishfish

Writer

Avatar

อนิรุทร์ เอื้อวิทยา

นักเขียน และ ช่างภาพอิสระ ปัจจุบันชนแก้วอยู่ท่ามกลางเพื่อนฝูงที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

A.W.Y

ช่างภาพจากเชียงใหม่ที่ชอบของโบราณ ยุค 1900 - 1990