ในฐานะคนทำงานออกแบบแนวคิด เราคิดว่าตัวเองสร้างคอนเซปต์เพื่อสินค้าบริการใดๆ ในแต่ละโปรเจกต์ที่ผ่านมาได้เป๊ะมาก โดยให้ความสำคัญกับการสร้างแกนที่ยั่งยืน ขอสารภาพว่าคิดแบบหลงตนว่า มีใครสร้างคอนเซปต์ได้แน่นกว่าฉันอีกไหมนี่

จนวันหนึ่งเพื่อนรัก อินทุกานต์ คชเสนี สิริสันต์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Martha Stewart แนะนำให้เรารู้จักเพื่อนเก่าของเธอ ซึ่งบังเอิญมาบูรณะปรับเปลี่ยนอาคารเก่าบนถนนทรงวาดให้เป็นพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ใหม่ในเวลาเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมาย

เมื่อเราได้พบเพื่อนเก่าของอินครั้งแรก นั่งคุยกันไป 6 ชั่วโมง ครั้งต่อมาอีก 2 ชั่วโมงครึ่ง ทำให้พบว่าที่ตนเคยคิดว่าสร้างคอนเซปต์ได้โคตรแน่นนั้น มีคนแน่นกว่า

02

F.V ย่อมาจาก Fruit และ Vegetable

F.V เป็นพื้นที่ประหลาด เต็มไปด้วยรายละเอียดซ่อนกลซ้อนอยู่หลายชั้นที่ดึงไปโยงแนวคิดหลักคือ ‘ไม่มีใครเอา’ ‘ไม่เป็นที่ต้องการ’

ดูผ่านๆ เอฟวีคือร้านที่มีบรรยากาศแนวร้านน้ำชาแบบดั้งเดิมในย่านเยาวราช ถ้าคุณกำลังมองหากาแฟ ชาต่างชาติ น้ำผลไม้อินเตอร์โคลด์เพรสสกัดเย็น หรือเกล็ดน้ำแข็งไสใส่ความหวานตามความนิยม คุณจะไม่พบเครื่องดื่มของหวานยอดฮิตเหล่านี้ แต่จะได้เจอเครื่องดื่มซึ่งทางเอฟวีตั้งใจคิดขึ้นมาใหม่ เป็นเครื่องดื่มของว่างสัญชาติไทย บ้านๆ พื้นๆ สมคำว่า ‘พื้นบ้าน’ ขนานแท้ก็ว่าได้ ใช้วัตถุดิบที่เก็บจากพื้นดินท้องถิ่นทั่วไทยเท่านั้น แถมยังเป็นพืชที่ขึ้นรกอยู่หลังบ้านชาวบ้านผู้ทำการเกษตร แถบคันนา ร่องสวน และพืชที่เกิดมาเพื่อถูกกำจัด-วัชพืช

วันแรกที่เรานัดกับ โอภาส จันทร์คำ ผู้ออกแบบแนวคิดและสร้างเอฟวี เราได้จิบชาหอมรสดีมากที่ไม่อยากเชื่อว่าทำจากต้นไมยราบ วัชพืชแสนคุ้นเคย พลางนั่งมองไปรอบๆ อย่างเพลิน ดูงานศิลปะหลากแนวบนผนังทั้งของศิลปินต่างชาติและไทย แหงนขึ้นไปยิ่งตื่นเต้นเมื่อเห็นเรือนชาวบ้านแบบอีสานสะท้อนอยู่บนเพดานกรุวัสดุส่องเงา

F.V คาเฟ่

ด้านหน้าร้าน ผนังด้านหนึ่งเต็มไปด้วยภาพเขียนกลิ่นอายจีนและญี่ปุ่น ผลงานของ อาจารย์ประสงค์ ลือเมือง บริเวณประตูทางเข้ามีรูปปั้นสัมฤทธิ์นูนต่ำท่านพุทธทาสและพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9

วัตถุแต่ละชิ้นที่คนแต่ละคนเลือกมาไว้ในชีวิตย่อมมีความสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของเขา สิ่งที่เราเห็นในเอฟวีย่อมแสดงส่วนหนึ่งของความเป็นโอภาสเช่นกัน

“ผมสนใจเกษตรกรรม ผมชอบธรรมชาติตั้งแต่เด็ก” โอภาสใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนมานาน มุมมองของคนไกลมองกลับมาเมืองไทยน่าสนใจอยู่ “ผมคิดง่ายๆ มองง่ายๆ อย่างเรื่องกล้วย ผมว่ากล้วยไทยอร่อยสุด ข้าวก็อร่อย อยู่ลอนดอน ถ้าคุณไม่มีตังค์ก็ไม่มีกิน ไม่เหมือนเมืองไทย อุดมสมบูรณ์มาก ต่อให้ไม่มีตังค์ก็นอนหลับยิ้มได้ ของกินอร่อย มีคุณภาพ เก็บยอดกระถินริมรั้ว คุณภาพที่ไม่เกี่ยวกับเงินมันแยะไปหมด”

เอฟวี เยาวราช

โอภาสตั้งคำถามว่า “คนที่อยู่ในพื้นที่หลงลืมสิ่งเหล่านี้ไปหรือเปล่า หรือเกิดจากค่านิยม คนเราชอบกินผลไม้ที่มีผิวสวย และคิดว่าถ้ารสไม่หวาน คือไม่ดี” รสธรรมชาติของผลไม้ในท้องถิ่นหลายชนิดเริ่มสูญหายไปเพราะเป็นรสที่คนไม่นิยม

“แตงไทยหายากกว่าเมล่อนญี่ปุ่น ถั่วแระไทยสีเหลือง คิดอยากทานก็หายากขึ้นทุกวัน ชาวสวนเลิกปลูกเพราะไม่ได้ราคา หันมาปลูกถั่วแระเขียวตามตลาดต้องการ เราถูกแทรกแซงด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่นเกินไปหรือเปล่า วันหนึ่งผมควรเอาถั่วแระเหลืองไปบุกญี่ปุ่นไหมครับ” โอภาสหัวเราะ

เขาสนใจพืชผลไทยที่เข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์ พืชเดิมๆ ดีๆ ที่เคยมีอยู่ แต่หายไปเพราะคนหันไปหลงรักและเห่อของใหม่อย่างผลไม้ต่างแดนหรือที่เกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรม ผลไม้ใหม่ๆ ตามความนิยมใหม่ๆ รสหวานดังใจ กินสะดวก องุ่นไม่มีเมล็ด สตรอว์เบอร์รี่เผือก

เอฟวี เยาวราช

โอภาสไม่สนใจผลไม้ต่างชาติหรือพืชผักพันธุ์ดัดแปลง ไม่สนใจของป่าหายาก แต่ใจเต้นแรงกับพืชผลไทยท้องถิ่นที่ขึ้นเองง่ายๆ ตามธรรมชาติ ตามฤดูกาล รสชาติอาจไม่หวานแหลม หรือหอมฟุ้งจัดจ้านตามความนิยม คนเลิกปลูก รวมทั้งวัชพืชที่งอกงามให้ผู้ต้องกำจัดปวดหัว

ด้วยความสนใจอย่างจริงจังนี้ โอภาสจึงตั้งทีมค้นคว้าวิจัยขึ้นมา มอบหมายให้น้องๆ พนักงานประจำของบริษัท OBK Studio ลงพื้นที่ไปคลุกคลีวงการเกษตร 3 สาว 1 หนุ่ม ใหม่ กิ่ง สิ และวง คือ 4 แรงหลักในทีม

ใหม่เป็นตัวแทนเล่าให้เราฟังว่า โอภาสสนใจเรื่องวิถีความเป็นอยู่ของไทยแบบพื้นบ้าน รวมถึงพืชในท้องถิ่นที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงส่งทีมไปพูดคุย ศึกษา แลกเปลี่ยนคำแนะนำกับเกษตรกรรายย่อยในแต่ละพื้นที่ เพื่อนำพืชผลเหล่านั้นมาต่อยอดและรักษามันไว้

เอฟวี เยาวราช

“เราเสาะหาอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อติดต่อไปขอข้อมูลความรู้ โชคดีได้พบพี่ใหญ่ที่เกษียณแล้วจากกรมวิชาการเกษตร เชี่ยวชาญเรื่องวัชพืช งานหลักที่พี่ใหญ่ทำมาตลอดคืออยู่ในกรม ทำลายวัชพืชที่รบกวนพืชผลของเกษตรกร แต่พี่ใหญ่กลับชอบวัชพืชหลายตัว และเห็นว่ามีประโยชน์ เอามาปลูกไว้ในบ้าน” 

ทีมเอฟวีใช้เวลาศึกษาเรื่องนี้นาน 2 ปี พร้อมกับลงพื้นที่ไปทำความรู้จักกับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ได้ปลูกเฉพาะพืชเศรษฐกิจตามตลาดนิยม และใส่ใจผูกมิตรกับเครือข่ายชุมชน ผู้คนที่ปลูกพืชผักอยู่หลังบ้าน

“เราไปเยี่ยมดูหลังบ้านแต่ละหลัง คุณป้าคะ นี่ขายได้นะคะ หนูอยากได้ ขณะเดียวกันเราก็ได้ความรู้จากคุณป้าที่มาแนะนำว่าที่บ้านป้ามีใบนี้ เอาไปทำอะไรได้บ้าง ต้มกินได้นะ เราก็หยิบกลับมาศึกษาทดลอง

“โชคดีได้ไปเจอคุณป้าที่ทำเกษตรกรรมตามแนวทางรัชกาลที่ 9 เดิมป้าเคยใช้ยาฆ่าแมลง ใช้สารเคมี วันหนึ่งสามีคุณป้าตาเกือบบอดเพราะฤทธิ์ยาสะสม คุณป้าเลยหันมาทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางพระราชดำริเกษตรพอเพียงจนปลดหนี้ได้ คุณป้าศรัทธามาก เลยคิดว่าจะช่วยชาวบ้านโดยผันตัวเองเป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องนี้ สร้างเครือข่ายในชุมชน

เอฟวี เยาวราช
เอฟวี เยาวราช

“ตอนเราติดต่อไปทีแรก คุณป้าก็อารมณ์กลัวว่าเราจะมาแบบนายทุนกว้านซื้อ ต้องค่อยๆ คุยจนสนิทใจกัน เป็นเพื่อนกัน จนคุณป้าชวนเราไปที่สวนและชวนให้ไปพบเครือข่าย ให้ใหม่พูดออกไมค์สวัสดีทุกคนและแจ้งว่าเราสนใจวัชพืชหรือพืชที่ขึ้นหลังบ้านอะไรบ้าง ไมยราบขอให้เก็บแบบนี้ ทางคุณป้าก็สอนเราด้วย เราเดินไปดูตามบ้านว่าคุณป้าแต่ละคนปลูกอะไร” มะยม ส้มจี๊ด ไมยราบ ต้อยติ่ง คือพืชหลักที่ทีมเอฟวีได้จากเครือข่ายคุณป่าแถบนครปฐมไม่ไกลจากกรุงเทพฯ

“เราใช้เวลากับการวิจัยในห้องแล็บเยอะ และให้อาจารย์ที่บางมดมาทำเครื่องโอโซนล้างสารเคมีในผัก วัชพืช พืชต่างๆ ที่เก็บมาต้องส่งตรวจก่อน จากนั้นก็ลองคั้นชิมสดๆ ดูว่าตัวไหนเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเป็นเครื่องดื่มต่อ รีเสิร์ชมา 50 กว่าตัว กินได้จริงไม่กี่ตัว ที่เหลือยังดื่มไม่ได้ รสชาติแปลกเกินสำหรับผู้บริโภค ต้องทดลองอีก และยังมีอีกหลายร้อยกว่าสายพันธุ์ที่ต้องค้นคว้า”

ทีมเอฟวีและเหล่าคณาจารย์ใช้ความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และโภชนาการ ศึกษาว่าพืชแต่ละชนิดมีคุณประโยชน์อย่างไร สามารถผสมกับผลไม้ใดแล้วยิ่งให้ผลดี ช่วยขับรส ตัดรสกัน เติมน้ำผึ้งสัดส่วนเท่าไรจึงได้รสอร่อย ดื่มปริมาณเท่าใดจึงจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย สัดส่วนการดื่มกินควรมากน้อยแค่ไหนเราจึงจะรับวิตามินได้พอดี ดื่มแล้วควรช่วยให้ร่างกายสดชื่นพอเหมาะและปริมาณน้ำตาลไม่แยะไปจนทำร้ายร่างกาย มุ่งสร้างเครื่องดื่มที่ใช้ผักผลไม้ที่ไม่มีใครต้องการ ทั้งที่มันมากคุณค่าทางธรรมชาติ ปลอดภัยไร้สารเคมี ราคาไม่เวอร์ สามารถดื่มได้ในชีวิตประจำวันปกติ โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุน

เอฟวี เยาวราช

ฤดูกาลต้นฝนนี้ ที่เอฟวีมีน้ำลองกอง น้ำมังคุด เสิร์ฟมาอย่างสดชื่นเย็นเจี๊ยบ น้ำผลไม้และน้ำวัชพืชแต่ละชนิดถูกแช่ในตู้เย็น ตั้งอุณหภูมิต่างกัน เรายังได้ชิมผลไม้พันธุ์ไทยชื่อไม่คุ้นเพราะไม่ปรากฏโฉมมานานอย่างมะม่วงมันขุนศรี ที่กินอร่อยแบบสด ทางเอฟวีก็จะเสิร์ฟสด น้ำตะขบจากลูกตะขบสุกคาต้นที่เก็บยากเพราะกิ่งก้านอ่อน เวลาสุกต้องแย่งกับนกและกระรอก

ส้มจุกจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ทีมเอฟวีไปเจอคุณลุงผู้ปลูกส้มจุกอินทรีย์มาหลายสิบปี ส้มพันธุ์นี้ปลูกยาก กว่าจะออกลูกยิ่งยากกว่า เพราะคุณลุงไม่ใช้สารเคมีเร่ง เวลาผ่านไป 1 ปีหลังจากที่พบปะพูดคุยกัน คุณลุงถึงโทรมาแจ้งข่าวว่าส้มจุกออกลูกแล้วและเก็บมาให้ชิมได้เพียง 5 กิโล

ทีมงานยังไปเจอเกษตรกรปลูกลางสาดที่อุตรดิตถ์ เดิมลางสาดเป็นพืชท้องถิ่น ต่อมาคนบริโภคน้อยลงเพราะมียาง ลางสาดเริ่มสูญหายไปอย่างน่าเสียดายทั้งที่มันเหมาะกับดินที่อุตรดิตถ์มาก ลางสาดอินทรีย์ขึ้นเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา ปลอดสาร แต่คนในพื้นที่หันไปปลูกทุเรียนหลงลับแลแทนเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดและได้ราคากว่า ทีมเอฟวีเข้าไปช่วยสนับสนุนการนำลางสาดมาขาย

เอฟวี เยาวราช
F.V เยาวราช

โอภาสเล่าว่า นอกจากวัชพืช ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของการทำนมจากเมล็ดธัญพืชและถั่วพื้นถิ่นไทยใกล้สูญพันธุ์ตระกูลถั่วแระและถั่วมะแฮะ ส่วนกล้วยหักมุก มะละกอ ถูกนำมาใช้ทำขนมไทยที่หายหน้าไปนานอย่างขนมมะละกอสานรังแตน (ใช้มะละกอห่าม)

ทีมครัวที่นี่ถูกส่งไปเรียนกับ อาจารย์ศรีสมร คงพันธุ์ ขนมโสมนัสหรือเมอแรงก์แบบไทยสูตรเอฟวีอร่อยถูกปากจนเราต้องซื้อกลับบ้าน ยังมีสำปันนี ข้าวตู กล้วยกวน ขนมผิง ขนมโสมนัส ตะลิงปลิงแช่อิ่ม มะกรูดเชื่อม ข้าวแต๋นกรอบกินกับแยมมะเฟือง และของว่างอร่อยหลากหลาย ข้าวเกรียบถั่วดำทานคู่กับน้ำพริกผัดแบบโบราณ ยำหัวปลี ยำส้มโอ กระทงทอง เมี่ยงคำ แกล้มชาไมยราบร้อนๆ ไปกันได้ดีมาก

ถ้าอยากชิมผลไม้สดและเครื่องดื่มเย็น น่าลองน้ำส้มโชกุน น้ำขมิ้นอ้อย น้ำฝรั่งบ้าน ฯลฯ ทุกอย่างมีรสชาติสดชื่นตามธรรมชาติ กินแล้วเรารู้สึกถึงความสะอ้านในรสที่ไม่มีหวานเจี๊ยบหรือหวานแหลมเด้งเด่นขึ้นมา นึกถึงผลไม้ที่เคยเก็บกินจากต้นในบ้านปู่ย่าสมัยเด็ก

02

เพื่ออนาคตที่แข็งแรง : Healthy Future

โอภาสสร้างเอฟวีจากแนวคิดหลักคือ การศึกษาหาประโยชน์และหยิบของหมดความนิยม สิ่งที่กำลังสูญพันธุ์ สูญหาย ถูกทอดทิ้ง ที่ส่วนหนึ่งเกิดเพราะค่านิยมเกี่ยวกับรสชาติ วัฒนธรรมการอยู่กิน และยังมีเรื่องราวของเจเนอเรชันมาเกี่ยวข้องด้วย เราคิดว่าโอภาสสนใจเรื่องอนาคตที่แข็งแรง (Healthy Future) ด้วยการหลอมรวมเรื่องราวของธรรมชาติ พืชพันธุ์ ของประจำท้องถิ่นที่ใกล้สูญหาย สิ่งดีมีคุณค่าเคยเกิดขึ้นในวันเก่าก่อนเข้าด้วยกัน

เขาวิเคราะห์ให้เราฟังว่าผู้คนสมัยนี้ส่วนใหญ่อยู่ในวัฒนธรรม What’s Next? ให้ความสนใจแต่สิ่งใหม่ๆ โลกที่มีแต่การอัพเดตวัตถุรุ่นล่าสุดมาเรื่อยๆ ทำให้มีของเก่าตกรุ่นถูกโยนทิ้งกลายเป็นขยะมากมาย วัฒนธรรมที่ทำให้คนไม่สนใจย้อนกลับไปดู เรียนรู้ สิ่งดีมีคุณค่าที่มีอยู่และเคยเกิดขึ้น ทั้งที่สิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานทางวัฒนธรรมที่สร้างความแตกต่างให้แต่ละชุมชนที่รวมกันเป็นชาติ

“แอนะล็อกกลายเป็นดิจิทัล การสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลง โลกแคบลง ทุกอย่างถูกอีดิตทิ้งง่ายมาก ยุคนี้มี 4 เจเนอเรชัน หนึ่ง รุ่นคุณยายผมยังมีชีวิตอยู่อายุใกล้ 100 ปีแล้ว สอง รุ่นคุณแม่ผม สาม รุ่นผม และสี่ รุ่นหลานผม เจเนอเรชันที่ 3 – 4 บางทีไม่สนใจอะไรที่มีคุณค่ามีประโยชน์มากมายในเจเนอเรชันที่ 1 – 2 เลย สนใจของใหม่เท่านั้น ถ้าเป็นแบบนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น

“เงินกลายเป็นเป้าหมายสูงสุด ทุกคนโตมาเพื่อสิ่งนี้สิ่งเดียว คนเชื่อมต่อเงินกับความสุข ของหลายอย่างที่มีคุณค่า เกิดความเสื่อมในอัตราสูงและอาจจะตายไปพร้อมกับเจเนอเรชัน 1 – 2 ผมสนใจสิ่งที่จะสูญหายไปนี้ วัฒนธรรมขณะนี้คือ What’s next? และการอัพเกรด โลกต้องการแต่อะไรใหม่ๆ ค่านิยมและกระแสทำให้หลายสิ่งหลายอย่างสูญพันธุ์” โอภาสมองว่าอนาคตที่สุขภาพดีน่าจะเป็นส่วนผสมวัฒนธรรมในอดีตคู่ไปกับธรรมชาติ และนวัตกรรมใหม่ๆ ของอนาคต

03

การสมรสของสองเรือน : The Unwanted Building & The Discarded House

ในเอฟวี ไม่มีใครรู้ว่าเรานั่งอยู่ในบรรยากาศการแต่งงานของชายเยาวราชอายุ 90 กับหญิงอีสานอายุ 60 

กระทั่งการออกแบบจัดวางสถาปัตยกรรมจากถิ่นไทยแดนไกลที่เข้ามาเป็นโครงสร้างหนึ่งในร้านเอฟวี อาคารปูนเก่าแบบดั้งเดิมอายุใกล้ร้อยปี โอภาสก็ยังเกาะยึดคอนเซปต์หลัก ‘ไม่มีใครเอา’ อย่างแน่น แรง และลึกมาก

โอภาสบอกว่าเขาเป็นคนประเภท ‘Jack of all trades’ (ถ้าเต็มๆ คือต้องต่อด้วย ‘Master of None’) 

“ผมสนใจทุกอย่างแต่ไม่เก่งสักอย่าง ถ่ายภาพ จิตรกรรม” เขาจบศิลปกรรม Graphic Communication และการกำกับภาพยนตร์ เคยทำงานที่นิวยอร์ก เคยเป็นช่างภาพให้กับนิตยสารไทยหลายฉบับ มีธุรกิจอยู่ที่ประเทศอังกฤษ OUK Studio (Opas in UK) เกี่ยวข้องกับศิลปะ ความคิด ภาพยนตร์ มาเกือบ 30 ปีแล้ว และมีสาขาที่กรุงเทพฯ OBK Studio (Opas in Bangkok) มาประมาณ 8 ปี ดูแลคอนเซปต์แบรนดิ้ง เนื้อหาสื่อต่างๆ สร้างงานภาพลักษณ์องค์กรให้ลูกค้าในไทย

หลังจบปริญญาโท ก่อนเริ่มทำงาน โอภาสได้บวชที่วัดชลประทานฯ 

“เด็กๆ คุณแม่ส่งหนังสือท่านพุทธทาสภิกขุเป็นภาษาอังกฤษให้อ่าน คุณพ่อบอกว่าทุกศาสนาดีหมด ศึกษาให้หมด การบวชตอนอายุ 25 ทำให้ผมเรียนรู้หลายอย่าง เปลี่ยนชีวิต เข้าใจอะไรหลายอย่างหลายเรื่อง คำสอนท่านพุทธทาสสอนผมเรื่องความสมดุล รัชกาลที่ 9 ทรงสอนเรื่องการอยู่อย่างมีความสุข”

F.V เยาวราช

เราคิดว่าความสนใจหลากหลาย ซับซ้อน ลงลึก ของโอภาสถูกดึงมาใช้ได้อย่างกลมกลืน น่าจะเป็นเพราะแนวคิดหลักในการดำเนินชีวิตผนวกกับอาชีพการงานที่ต้องรู้เท่าทันกระแส แนวโน้มความนิยมต่างๆ ในโลก เพื่อประมวลรวม วิเคราะห์ ปรับใช้ให้กับลูกค้าธุรกิจต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและเกิดประสิทธิผลสูงสุด หนึ่งในความสนใจและการทำงานที่หลากหลาย ทำให้โอภาสได้ไปถ่ายหนังสารคดีเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทยอีสานและลงพื้นที่ไปมุกดาหาร

“ช่วงทำพล็อตหนังผมได้ออกต่างจังหวัด ศึกษาสถาปัตยกรรมไทย ทำไมมันตายหายไป อย่างบ้านเรือนอีสาน ผมสนใจบ้านชาวบ้าน การคิดองศาจั่วเพื่อให้น้ำไหล ไม่รั่ว มันน่าสนใจ” แต่น่าเสียดายที่เรือนแบบดั้งเดิมที่สร้างขึ้นด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นฝีมือช่างในชุมชนกลับตายหายไปพร้อมคนสร้างซึ่งเป็นคนในรุ่นหนึ่งและรุ่นสอง 

“ผมทำ Road Trip ไปอีสาน จังหวัดมุกดาหาร ริมโขง มีหมู่บ้านอยู่ร้อยกว่าครัวเรือน ไปเจอคุณลุงแสงเพชร เป็นช่างไม้สร้างบ้านในชุมชนมาตั้งแต่อายุ 16 บ้านหลังแรกแกสร้างด้วยขวานเล่มเดียว ตะปูไม่มีเลย พอสร้างได้สัก 30 หลัง ลุงแสงเพชรเริ่มมีสตางค์ซื้อสิ่ว ค้อน เครื่องไสไม้”

ถ้าคุณเปิดประตูเข้าไปในร้านเอฟวี จะเจอเรือนแบบอีสานนี้ตระหง่านอยู่ด้านบน ด้านหน้าบริเวณทางเข้า เรือนนี้เป็นหนึ่งใน 20 หลังแรกที่คุณลุงแสงเพชรสร้าง ไม่มีตะปู ใช้เทคนิคขัดยึดแบบดั้งเดิม ประกอบด้วยเสา 14 ต้น ตอนที่โอภาสไปเจอ เรือนอยู่ในสภาพทรุดโทรมมากเพราะเจ้าของเสียชีวิตไปแล้ว 8 ปี บ้านถูกปล่อยพังทิ้งร้างอยู่ คุณลุงแสงเพชรถามว่าอยากซื้อไหม เดี๋ยวจะไปถามญาติเจ้าของบ้านให้ เพราะไม่มีใครอยู่แล้ว

F.V เยาวราช
F.V คาเฟ่

“ผมเลยซื้อมา ก็ขอธูปคุณลุงมาจุดเพื่อไหว้บ้าน บอกกล่าวว่าวันนี้เป็นวันพิเศษ มีการเปลี่ยนมือเจ้าของ ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเราไม่ได้จะซื้อเพื่อรื้อขายเป็นเศษไม้ แต่เราจะบูรณะและคงให้สวยเหมือนเดิม ให้ปลอดภัยจากสภาพอากาศที่ทำให้บ้านทรุดโทรมลง

“เขาบอกขาย 10,000 บาท ผมจำได้ว่ามีเงินติดตัว 7,000 บาท ก็ไปขอยืมเงินทีมงานมาจนครบ” คุณลุงแสงเพชรช่วยจัดการเรื่องรื้อถอนให้อย่างมีความสุขที่มีคนเห็นค่าเรือนที่แกสร้าง แต่คุณลุงอายุมากแล้ว ไม่สามารถเดินทางมาประกอบใหม่ให้ที่กรุงเทพฯ ได้ คุณลุงแนะนำช่างรุ่นหนุ่มมากฝีมือที่คุ้นเคยกับแกดีมาประกอบให้แทน

“ผมได้เรือนนี้มา ก็คิดว่าเป็นผู้หญิงไทยอีสานจากมุกดาหาร อายุราว 60 ปี ผมเลยทำหนังเรื่องงานแต่งงานของเรือนนี้ ทำไมมาอยู่ในตึกปูนนี้-ที่ผมมองว่าเป็นชาวไทยจีนเยาวราชอายุราว 80 – 90 ปี”

โอภาสนำเรือนอีสานมาตั้งคร่อมช่องโค้งปูน ซุ้มโค้งที่สูงขึ้นไปชั้นสอง ถ้าเราเดินไปด้านในสุดของร้านเอฟวี จะพบบันไดไม้เดินนำพาไปสู่ชั้นบน เจอเรือนไม้มุกดาหาร มีจุดที่สาวอีสานวางตัวคร่อมลงบนส่วนโค้งของปูนพอดี ตรงนี้โอภาสบอกว่านี่เป็นอวัยวะเพศชายของหนุ่มเจ้าของตึก เจ้าบ่าวเยาวราช ส่วนเรือนอีสานของเจ้าสาวผนังพังหมดแล้ว ต้องทำผนังขึ้นมาใหม่ โอภาสตั้งใจให้เป็นผนังแบบขัดแตะลายขุบแบบดั้งเดิม ฝีมือคุณลุงสุดยอดช่างอีกท่านในมุกดาหารเช่นกัน

F.V คาเฟ่

“ผมถามลุงแสงเพชรว่าใครทำผนังขัดแตะลายขุบเก่งสุด ก็ตามไปจนเจอคุณลุงคนนี้ อายุเกือบ 80 แกบอกว่าไม่ได้ทำมา 30 ปีแล้ว ไม่มีใครจ้าง ลุงดูดีใจมาก แต่ผมต้องรอแกอยู่นาน 7 เดือน มันเป็นงานฝีมือ คุณลุงต้องเข้าไปตัดไผ่ที่เหมาะสม แช่ไว้ในแม่น้ำ ตากแดด ก่อนเอามาสาน รมควันกันมอดกันปลวก” ทุกคนที่ขึ้นมาบนเรือนนี้แวบแรกน่าจะรู้สึกชวนฝันเหมือนเราเพราะมันมีแสงเรืองรองนุ่มตาสวยฟุ้งๆ ราวกับแสงธรรมชาติทะลุลอดผนังขัดแตะออกมา

F.V คาเฟ่

“ผมเอาผนังสานมาประกบเป็นแซนด์วิช ใส่ไฟ LED เข้าไปข้างใน ทำให้เหมือนแดดลอดเข้ามาในเรือน” ด้านหนึ่งของผนังปูนที่โอภาสปล่อยไว้แบบเดิมกรุด้วยวัสดุสะท้อนเงา ถ้ามองจากข้างล่างแหงนขึ้นมาจะเห็นเรือนนี้และภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่เกี่ยวกับบรรยากาศวันสงกรานต์ที่มุกดาหาร ผลงานของศิลปินอีสาน ไมตรี ภาระหอม

เรือนมุกดาหารที่ถูกปล่อยทิ้งร้างพังโทรม มาแต่งงานอย่างมีสุขกับหนุ่มใหญ่ไทย-จีนเยาวราชซึ่งไม่มีใครเอาเช่นกัน โอภาสเดินหาพื้นที่สำหรับเอฟวีอยู่นานหลายเดือน 

“ผมต้องการอยู่ในเมืองเก่า ทรงวาดเป็นถนนอายุ 110 ปี รัชกาลที่ 5 ทรงวาดถนนนี้ขึ้น คู่ขนานกับเยาวราช เจริญกรุง ทรงให้ตัดถนนยาว 1.1 กิโลเมตร ในอดีตถนนนี้ขายผลไม้สด แห้ง ยาจีน เมล็ดพืชการเกษตร ส่งออกไปที่ฝั่งโน้นของแม่น้ำ ถนนติดแม่น้ำ ตึกฝั่งแม่น้ำสูง 3 ชั้น ฝั่งนี้ (ที่ตั้งร้านเอฟวี) 2 ชั้น มีปูนปั้นแบบอิตาเลียนให้เห็นตามด้านหน้าตึก ถ้าลองสังเกตดูเป็นรูปผลไม้เต็มไปหมด ผมปักหลักว่าจะเอาตรงนี้ก็เดินมาเจอร้านปิดอยู่ มีป้ายขาย เดินเข้ามาเน่ามาก ถ้าอยู่ชั่วโมงหนึ่งคงเป็นโรคอะไรสักอย่าง มีนกพิราบ หนูตาย เพดานไฟไหม้ น้ำรั่ว”

F.V คาเฟ่
F.V คาเฟ่

แต่ข้าวของงานศิลปะที่จัดวางอยู่ในโครงสร้างการสมรสของสองคู่รัก Unwanted นั้น เป็นของซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้คนโดยเฉพาะคนรักศิลปะและงานออกแบบ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนเครื่องใช้ต่างๆ เป็นงานมีดีไซน์มาสเตอร์พีซจากหลากหลายยุค 

“มันช่วยให้เห็นความ Unwanted ชัดขึ้นด้วย เป็นของที่ผมมีอยู่แล้ว แทนที่จะเก็บไว้ในโกดัง อยากให้คนสนใจว่าทำไมเอาของ Wanted มาไว้ที่นี่ Unwanted อย่างเดียวอาจจะไปไม่รอด ของที่อยู่ในโกดังของผมมาเป็นสิบๆ ปีมันก็เป็นความรู้ เดี๋ยวจะเขียนความเป็นมาของงานดีไซน์แต่ละชิ้นไว้ให้คนอ่าน ของพวกนี้เป็นของนอกกาย พังได้ หายได้ แชร์ได้ เป็นของที่ได้มาในช่วงชีวิตที่ชอบของแบบนี้”

F.V คาเฟ่

สำหรับชีวิตช่วงนี้ เราว่าโอภาสสนใจงานฝีมือที่ใกล้สูญหายไปเป็นพิเศษ อย่างตี่จู้เอี๊ยะ ศาลจีนแบบเก่า ที่เอฟวีก็เป็นฝีมือช่างที่ทำตี่จู้เอี๊ยะในเยาวราชเจ้าแรกในประเทศไทย ป้ายร้าน F.V ก็เช่นกัน ฝีมือช่างเก่าแก่ในชุมชน ทำจากไม้สัก แกะมือลงทองนานกว่า 3 เดือน

“งานฝีมือที่ทำกันมา 70 – 80 ปี ผมไม่ต่อราคาเลย บอกเขาว่าอยากได้ไม้สัก ช่างแกะอยู่ 3 เดือน คนทำบอกนานๆ ได้แกะไม้ที สมัยนี้ปกติทำแต่ป้ายเรซิ่น” โอภาสจึงมีโครงการจะทำหนังเรื่องงานฝีมือของนายช่างแบบดั้งเดิม เกิดการสานต่อไปอีก

นอกจากเป็นสถานที่บริการเครื่องดื่ม ของว่างแล้ว ทางเอฟวีจะจัดให้มีกิจกรรมเดือนละครั้ง 

“เชิญคนมาพูด ชาวสวน ศิลปิน ว่าจะเชิญ อาจารย์ประสงค์ ลือเมือง มีดนตรี คุณพ่อของน้องพนักงานบริษัทชื่อ คุณบิ๋ม อังศวานนท์ คุณพ่อเขาเล่นเบส สุดยอดมาก ก็จะเชิญมาเล่น กิจกรรมอะไรที่เราคิดว่ามีประโยชน์ เปิดตัวหนังสือ ฯลฯ” และแน่นอนจะมีการฉายหนังเกี่ยวกับบ้านว่าด้วยการแต่งงานของเรือนอีสานและตึกปูนทรงวาดที่โอภาสกำลังจะตัดให้เสร็จ

ภายในร้านยังมีผลิตภัณฑ์คัดสรรของรุ่นน้อง (เจเนอเรชัน 4) ผู้มีฝีมือในการทำเครื่องหนัง กระเป๋าหนัง นวมชกมวย เบาะมอเตอร์ไซค์ เสื้อเชิ้ต มาวางจำหน่ายในร้านด้วย

6 ชั่วโมงที่พูดคุยกันเราเห็นมีทั้งศิลปินหนุ่มวัยรุ่น 20s เจ้าของภาพวาดเท่เร้าใจ และเชฟมาแรงเจ้าของร้านซูชิมีเอกลักษณ์ในย่านตลาดน้อย แวะเวียนมาพบปะพูดคุยเยี่ยมเยือนโอภาสไม่ขาดสาย บางทีนั่งคุยกันอยู่ดีๆ เขาก็โดดผลุงออกไปหาโต๊ะใกล้ๆ ที่มีแขกวัยรุ่นอายุราว 20 ต้นๆ นั่งอยู่ 3 คน ส่งขนมอร่อยที่ทำจากผลไม้กวนให้ชิม และชวนให้แขกเจเนอเรชัน 4 ชมภาพเขียนบนผนัง “นี่ รู้มั้ย ภาพวาดนี่คือฉากอัญเชิญพระแก้วมรกตเข้ากรุงรัตนโกสินทร์…”

เพื่อนรักของเราคือ อินทุกานต์ และ คุณโอ๊ต-อาทิตย์ สิริสันต์ สามีมัณฑนากรมือหนึ่ง ตามมาสมทบในชั่วโมงท้ายๆ ของการสนทนา (แน่นอนว่าเราจะพาไปเที่ยวบ้านที่ทั้งคู่เข้ามาบูรณะตึกถัดไปไม่ไกลจากเอฟวีแน่นอน ให้อินพาไปรู้จักกับทรงวาด ภาค Wanted มุมน่าเดินเล่น ของดีซุกซ่อนในตรอก และคุยเรื่องที่ทั้งคู่ลงมือปรับแปลงตึกเก่าให้เป็นที่พักแรม) เรายังขอให้อินช่วยกล่อมเพื่อนเก่าเผยโฉมด้วย

“ผมว่าร้านนี้มีประโยชน์ เจ้าของไม่มีประโยชน์ ไหนขอเหตุผลที่มันเข้าท่าหน่อยว่าทำไมต้องมีรูปผมลงด้วย ถ้าคุณกูเกิล จะไม่เจอข้อมูลและรูปผม”

ข้อนี้เรายืนยันว่าจริง ภาพที่ปรากฏในบทสัมภาษณ์ตามสื่อต่างๆ คือน้องชายของโอภาส เขามีน้องชาย 2 คน ทำงานด้านการออกแบบ หนึ่งในนั้นเป็นคนออกแบบแก้วเครื่องดื่มที่ใช้ที่ร้าน มันมีหน้าตาแปลก ไม่เคยพบที่ไหน ฐานที่เราจับแก้วมาจากขวดใช้แล้วเหลือทิ้ง เอามาตัดและหลอมรวมเป็นส่วนฐานแก้ว เรากับอินช่วยกันกล่อมโอภาสกันไปเรื่อยๆ

“ผมไม่ชอบ งานที่บริษัทผมก็ไม่เอาลงในเว็บไซต์ ใครเขาอยากให้ผมไปทำงานให้ เขาก็ตามหาตัวผมจนเจอเองแหละ ผมทำงานก็เพื่อให้งานมันสำเร็จ ผมไม่ออกสื่อ ผมใช้หลักการนี้ดำเนินชีวิต”

แต่คอลัมน์บ้านเพื่อน ปกติทุกครั้งต้องมีรูปเจ้าของบ้านที่เราไปคุยนะคะ นี่คือเหตุผลที่เราได้ภาพชายผู้ที่บอกว่าตนเข้าข่ายส่วนต้นของสำนวนที่ว่า Jack of all Trades ขณะยืนตั้งเสาเอกร้านเอฟวีมา สำหรับเรา คำต่อท้ายปกติของสำนวนนี้ ใช้กับโอภาส จันทร์คำไม่ได้ เขาไม่ใช่ Master of None แต่คือ Master of Concept

F.V คาเฟ่

เอฟวี F.V

เลขที่ 827 ถนนทรงวาด เยาวราช

โทร : 0818660533

เปิด-ปิด : วันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 19.00 น.

IG : @FV_BKK

Writer

Avatar

พลอย จริยะเวช

เจ้าแม่ไลฟ์สไตล์และ Concept Designer มากความสามารถชื่อดัง ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน Artist Writer นักแปล คอลัมนิสต์ และนักวาดมืออาชีพ ผู้มีผลงานออกแบบวางจำหน่ายในงานแฟร์ของตกแต่งที่ดีที่สุดในโลก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล