ผมเจอ พี่อุ้ม-คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ ครั้งแรกในงาน Taste Makers งานทอล์กเรื่องอาหารที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ พี่อุ้มขึ้นพูดเรื่องอาหารญอนญ่า อาหารจากความทรงจำของรสมือแม่ที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่น แกงตูมีสปลาจ๊งม้งหรือปลากระเบนตัวเล็กๆ กับอาจั๊ด หรือผักดองที่ทำมาล่วงหน้าเพราะต้องใช้เวลาทำถึง 4 วัน ถูกเสิร์ฟมาในจานเล็กๆ เพื่อให้ชิม

คณพร จันทร์เจิดศักดิ์

แกงปริมาณสองสามช้อนในวันนั้นอัดแน่นไปด้วยความซับซ้อนของรสชาติที่ผมต้องคิดว่าสิ่งที่ถูกผสมลงไปในแกงนั้นคืออะไรบ้าง

ผมเคยกินอาหารเปอรานากันมาบ้าง แต่รสแกงของพี่อุ้มทำให้ผมหันมาสนใจเรื่องราวของอาหารวัฒนธรรมลูกผสมนี้อย่างจริงจัง

เปอรานากัน คือคำเรียกผู้ที่สืบเชื้อสายมาชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเดินทางมาตั้งรกรากและแต่งงานกับคนพื้นถิ่นชาติหรือศาสนาใดก็ได้ ถ้าแปลตรงตัว เปอรานากันแปลว่า ‘เกิดที่นี่’ เป็นลูกครึ่งที่ผสมทั้งสองเชื้อชาติเข้าไว้ด้วยกัน แถบภูมิภาคบ้านเราวัฒนธรรมเปอรานากันจะเฟื่องฟูมากแถวๆ เกาะปีนัง ประเทศมาเลเซีย

ไม่ใช่แค่เชื้อสายเท่านั้นที่ผสมผสานกัน อาหารเปอรานากันก็ยังแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานวัฒนธรรมการกินได้ชัดเจน วิถีการกินแบบจีนผสมกับวิถีการกินของคนท้องถิ่น เกิดเป็นเมนูที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองจำนวนมาก จะเรียกว่านี่เป็นอาหารฟิวชันที่มีมากว่า 200 ปีแล้วก็ว่าได้

อาหารของพี่อุ้มเป็นเปอรานากันแบบฮกเกี้ยน สืบเชื้อสายมาจากทางบ้านของแม่ที่เป็นจีนฮกเกี้ยนมาตั้งรกรากที่ไทย แต่งงานกับคนไทย พี่อุ้มจะเรียกอาหารของตัวเองว่า ‘ญอนญ่า’ หรืออาหารจากแม่ หรือยาย เป็นอาหารเปอรานากันที่สืบทอดมาจากครัวบ้านของตัวเอง เป็นรสของอาหารจากความทรงจำ

ครัว อาหารเปอรานากัน

อาหารเปอรานากันมีความเป็นลูกผสมระหว่างอาหารจีนและอาหารแบบแขก มีสีสันจัด แต่รสกลับไม่จัดเหมือนอย่างที่เห็น ความเผ็ดเกิดจากเครื่องเทศมากกว่าเผ็ดแสบร้อนจากพริก มีส่วนผสมของวัตถุดิบจากทะเล เพราะส่วนใหญ่ชาวเปอรานากันจะตั้งรกรากอยู่แถบชายฝั่งที่อยู่ในเส้นทางการเดินเรือ อาหารเปอรานากันมีความพิถีพิถันกับอาหารในทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่การหั่น การซอย และการเคารพสูตรแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ใช้ในการทำเมนูนั้นไปก็จะไม่ทำเลย

ใช่ว่าอาหารของเปอรานากันจะไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้เลย ความน่าสนใจในอาหารของพี่อุ้มคือการพลิกแพลงวิธีการในการทำ ปรับเปลี่ยนหน้าตาให้ดูสวยงาม แต่จะยึดถือความถูกต้องตามสูตร และที่สำคัญที่สุดคือรสชาติแบบญอนญ่า หรือรสอาหารของแม่ในความทรงจำ

ตำราอาหาร ตำราอาหาร ตำราอาหาร

ผมเห็นกองตำราอาหารโบราณที่พี่อุ้มสะสมเอาไว้บนชั้นสองของบ้าน จะเรียกสะสมก็ไม่ถูก เพราะแทบทุกเล่มผ่านการใช้งานจริง พี่อุ้มบอกว่าต้องหาข้อมูลจากตำราเก่าที่บันทึกไว้ เพื่อให้รู้วิธีการแล้วลองทำตาม ยึดเอารสจากความทรงจำที่เคยกินอาหารของแม่ ให้น้าซึ่งทำอาหารกับแม่มาตลอดเป็นคนช่วยตัดสินรสจากความทรงจำนั้นให้ พี่อุ้มต้องศึกษาประวัติศาสตร์และที่มาที่ไปจากตำราหลายเล่ม และชิมรสชาติจนแน่ใจว่าเหมือนที่เคยกินรสมือแม่มา ถึงจะขายเมนูนั้นในร้านได้

 

โลบะ

โลบะ

โลบะ

ผมขอเข้าไปดูในครัว เห็นพี่อุ้มกำลังห่อแผ่นฟองเต้าหู้กับหมูหมักรวมกับเครื่องเทศและซีอิ๊วแล้วหั่นเป็นเส้น ห่อเตรียมไว้นึ่งก่อนหนึ่งรอบแล้วเอาไปทอดอีกครั้ง  แล้วหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ เนื้อรัดตัวกันแน่นกับฟองเต้าหู้ ตกแต่งด้วยแตงกวา มะเขือเทศ กับฟองเต้าหู้ทอดกรอบแผ่นบางเฉียบที่พี่อุ้มค่อยๆ หย่อนลงในน้ำมันทีละชิ้น ก่อนจะตักขึ้นแบบถูกจังหวะ ปล่อยให้โดนอากาศและกรอบได้พอดิบพอดี โรยด้วยเกสรดอกกระโดนที่ผมกับพี่อุ้มเพิ่งไปเดินไปเจอจากตลาดเมื่อตอนเช้า จิ้มกับอาจั๊ดที่เป็นน้ำจิ้มรสเปรี้ยวหวานจากน้ำส้มสายชูที่หมักจากสับปะรด ใส่พริกบด ถั่วลิสงบด และงาขาวคั่ว เนื้อแน่นแต่นุ่ม หอมกลิ่นเครื่องเทศ เป็นจานทานเล่นแบบแป๊บเดียวก็หมด

 

หมูฮ่อง

หมูฮ่อง

พี่อุ้มเรียกหมูฮ่อง แต่ผมจะคุ้นกับหมูฮ้องมากกว่า อาหารที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี แต่หมูฮ่องของพี่อุ้มหน้าตาแปลกไปจากเดิม ปกติเราจะจำภาพหมูฮ้องว่าเป็นหมูต้มซีอิ๊วและเครื่องเทศคล้ายพะโล้ แต่พี่อุ้มใช้หมูสันในมาซูวีด์จนได้เนื้อนุ่ม แล้วแยกทำน้ำราดจากเครื่องเทศและความเข้มข้นจากมันฝรั่งแยกต่างหากแบบน้ำเกรวี่ ทำให้รู้สึกได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการกินหมูฮ่องขึ้นมาเลยครับ

 

ละก์ซา

ละก์ซา

ถ้าจะถามว่าเมนูไหนสะท้อนความเป็นเปอรานากันได้อย่างชัดเจนที่สุด คงไม่พ้นละก์ซา การกินเส้นแบบจีน ในน้ำแกงกะทิแบบแขก และใส่อาหารทะเลเพราะเปอรานากันจะตั้งรกรากอยู่ตามแถบชายฝั่งทะเล แต่ละก์ซามีหลายแบบครับ เมนูที่พี่อุ้มทำวันนี้คืออัสสัม ละก์ซา หรือละก์ซาแบบเปรี้ยว อัสสัมคือส้มแขก ดังนั้นส่วนประกอบที่สำคัญคือส้มแขก ใช้เส้นละก์ซาแต่เป็นซุปใส ที่โดยปกติจะใช้ปลาทูต้มเพื่อทำเป็นน้ำซุป แต่พี่อุ้มใช้หัวปลากะพงต้มแทนเพื่อลดความคาว

และที่สำคัญไม่แพ้ส้มแขกคือบุหงากันตัน หรือดอกขิงป่า เราจะคุ้นกันในชื่อดอกดาหลามากกว่า กับผักแพว สิ่งเหล่านี้ใช้ใส่ลงไปในซุปเพื่อดับคาวและใช้โรยหน้าอีกที ก่อนทานก็บีบส้มจี๊ดเพิ่มความหอมเปรี้ยวลงไปครับ ผมเพิ่งรู้จากพี่อุ้มนี่แหละครับว่าอาหารเปอรานากันเขาไม่นิยมใช้มะนาวให้ความเปรี้ยวกัน เพราะเขาใช้ความเปรี้ยวจากพืชพื้นถิ่นที่ให้รสเปรี้ยวแทน รสเปรี้ยวก็เป็นรสสำคัญสำหรับอาหารคนใต้นะครับ นอกจากช่วยให้ร่างกายสดชื่นในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น ความเปรี้ยวยังมีประโยชน์ในการถนอมอาหารไปในตัวอีกด้วย

 

แกงตูมีสปลาจ๊งม้ง กับข้าวเนยกี

แกงตูมีสปลาจ๊งม้ง

นี่คือแกงที่ผมต้องยอมลงทุนบินมากินเพื่อให้หายคาใจ หลังจากที่ได้ชิมแบบเรียกน้ำย่อยในงาน ปลาจ๊งม้งคือปลากระเบนตัวเล็ก สาเหตุที่ใช้เพราะปลาจ๊งม้งเป็นปลาเนื้อแน่นหนังหนา เหมาะกับนำมาทำแกงตูมีส เพราะเป็นแกงที่ต้องเคี่ยวเนื้อปลาเป็นเวลานาน และเป็นแกงที่ใส่เครื่องเทศและใช้ มะเยาหิน หรือ Candlenut พืชตระกูลถั่วรสเผ็ดซ่าคล้ายขิงให้ความข้น มะเยาหินเป็นวัตถุดิบพิเศษในการทำให้น้ำแกงทุกๆ เมนูของเปอรานากันมีความข้น

แกงตูมีสเสิร์ฟคู่กับข้าวเนยกีและเบือทอด ‘เบือ’ ที่พูดถึงคือผักอะไรก็ได้ชุบแป้งแล้วปรุงรสทอด มีความใกล้เคียงกับเทมปุระมาก ที่เรียกว่าเบือน่าจะเพี้ยนเสียงจาก Bhajias ที่ใช้เรียกการเอาผักชุบแป้งเปียกๆ แล้วทอดตามแบบวัฒนธรรมชาวตะวันออกกลางที่พบได้ตามเส้นทางการเดินเรือ

 

โอ๊ะเอ๋ว

โอ๊ะเอ๋ว

ขนมหวานของจีนฮกเกี้ยนที่ทำจากเมือกเมล็ดโอ๊ะเอ๋วพืชตระกูลมะเดื่อมาทำเป็นวุ้น ผมเคยกินโอ๊ะเอ๋วครั้งแรกที่จังหวัดภูเก็ต เป็นวุ้นใส่น้ำแข็งไสน้ำแดงและถั่วแดง แต่ของพี่อุ้มจะต่างกันออกไป เนื้อวุ้นโอ้ะเอ๋วทำจากเมือกของฟิกส์ ใส่น้ำแข็งที่ทำจากน้ำอัญชัน เวลากินให้ราดน้ำผึ้งมะนาวลงไป รสจะชุ่มคอ เป็นการจบท้ายมื้อที่ดีเลยครับ

 

ร้านตรัง โคอิ

ดูเมนู และวันเปิด-ปิด ก่อนจองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่
FB : Trang Koe
Tel. : 088-768-6068

Writer & Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2