เป็นเช้าวันศุกร์ที่พิเศษมาก เมื่อ ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ หอบกาแฟสดใหม่จากดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มาเยี่ยมถึงออฟฟิศของ The Cloud 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทำความเข้าใจการเมืองและสังคมไทยผ่านบทบาทนักพัฒนากาแฟ, พรรคประชาธิปัตย์

เขาเริ่มดริปกาแฟอย่างคล่องแคล่ว พร้อมเล่าถึงชีวิตบนดอยในฐานะนักพัฒนากาแฟ บทเรียนจากเกษตรกรที่ทำให้เขาเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่กำลังทำอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และการเป็น Pre-Doctoral Fellow อยู่ที่สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

หลายคนยกให้เขาเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่สังคมไทยฝากความหวัง ด้วยดีกรีปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในด้านนโยบายสาธารณะ รวมถึงความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ทางการทหารและการศึกษา จากประสบการณ์ทำงานในบริษัทที่ปรึกษาด้านการทหารอย่าง The Cohen Group และเป็นที่ปรึกษาให้กับมูลนิธิด้านการศึกษา Teach For Thailand 

ด้วยความเป็นลูกชายคนโตของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงเรียกได้ว่า ฟูอาดี้เติบโตมาในบ้านของพรรคการเมืองจดทะเบียนที่เก่าแก่ที่สุดของไทย แต่เมื่อปีกลาย เขาและคนรุ่นใหม่หลายคนเลือกที่จะลาออกจากพรรค เมื่ออุดมการณ์ทางประชาธิปไตยไปด้วยกันไม่ได้อีกต่อไป 

นั่นทำให้ฟูอาดี้ยิ่งเป็นที่น่าจับตามอง ว่าอนาคตต่อจากนี้ เขากำลังจะก้าวไปทางไหน

เขาบอกว่า จะลงเล่นการเมืองก็ต่อเมื่อรู้สึกว่ารู้จักประเทศตัวเองดีกว่านี้เสียก่อน ซึ่งวิธีทำความเข้าใจในแบบของเขา คือการเดินทางไปสัมผัสและลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง แบบเดียวกับที่ทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาในฐานะนักพัฒนากาแฟ 

เขาเชื่อในการเปลี่ยนแปลง และหวังว่าเราจะสามารถสร้างฉันทามติใหม่ในสังคมที่ทุกคนจะยังอยู่ร่วมกันได้

และนี่คือบทสนทนาเรื่องโลกกาแฟ โลกรอบตัว และโลกภายในตัวเองของฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ณ วันนี้

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทำความเข้าใจการเมืองและสังคมไทยผ่านบทบาทนักพัฒนากาแฟ, พรรคประชาธิปัตย์
ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทำความเข้าใจการเมืองและสังคมไทยผ่านบทบาทนักพัฒนากาแฟ, พรรคประชาธิปัตย์

ให้สัมภาษณ์วันที่ 2 ตุลาคม 2563

01

 โลกกาแฟ

เหตุผลที่ทำให้นักเรียนนอกอย่างคุณสนใจเรื่องกาแฟไทย ขนาดขึ้นดอยไปใช้ชีวิตอยู่กับเกษตรกรคืออะไร

เอาจริงๆ เมื่อก่อนผมดื่มกาแฟเพราะช่วยให้ตื่นตอนทำงานอย่างเดียวเลย (หัวเราะ) ไม่ได้ดื่มเพราะความสุนทรีย์อื่นๆ พอได้มาเรียนปริญญาโทที่เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ไปร้านกาแฟหลายๆ ร้าน ก็เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ทั้งที่เราได้ยินเรื่องกาแฟไทยเยอะ แต่ทำไมเวลาไปร้านกาแฟที่ต่างประเทศ ถึงไม่เคยเห็นกาแฟจากบ้านเราเลย

แถวๆ ที่ผมเรียนอยู่ มันมีเรื่องราวเกี่ยวกับคนไทยเยอะพอสมควร โดยเฉพาะ King Bhumibol Adulyadej of Thailand Square ที่อยู่หน้ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเลย และอย่างที่เราทราบกันดีว่ารัชกาลที่ 9 ทรงทำเรื่องกาแฟบนดอยมาตลอดหลายสิบปี ผมมองว่าในเมื่อบ้านเรามีต้นทุน มีทรัพยากรเรื่องกาแฟมาแล้วระดับหนึ่ง เราไปได้ไกลกว่านี้ เราผลักดันให้มันไปในระดับสากลได้ 

ความคิดนี้ไดรฟ์ผมไปสู่การเดินทางไปทำความเข้าใจ ศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง เพราะอยากทำกาแฟที่มีความหมายต่อประเทศไทย และเมื่อได้เข้ามาสู่โลกของกาแฟจริงๆ ก็เริ่มผูกพันและคำตอบที่อยากค้นหาต่อไปอีกเรื่อยๆ 

นักพัฒนากาแฟอย่างคุณ อยู่ตรงไหนในอุตสาหกรรมกาแฟ

ผมเป็นรอยต่อระหว่างผู้ผลิตกาแฟกับผู้รับซื้อ อธิบายง่ายๆ คือเป็นผู้ส่งออกกาแฟนั่นแหละครับ โดยเรารับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวไร่มาสี แล้วคัดเกรดส่งออก ด้วยความที่ผมถนัดด้านทฤษฎี ได้อ่านองค์ความรู้จากต่างประเทศมาพอสมควร ได้คุยกับโรสเตอร์ต่างชาติถึงกาแฟแบบที่เขาต้องการ 

ผมก็เอาข้อมูลเหล่านั้นไปถ่ายทอดต่อให้เกษตรกร เพราะการแปรรูปกาแฟก็มีหลายรูปแบบ แต่ละแบบก็ให้รสชาติไม่เหมือนกัน ซึ่งบางทีผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่า ชุดข้อมูลผมโดนตีกลับ (หัวเราะ) ชาวบ้านอยู่ตรงนั้น เขารู้ว่าอะไรทำแล้วเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ก็เป็นการทำงานแบบแลกเปลี่ยนกันไปมา ชนกันทางความคิด เราเอาความรู้ทฤษฎีไปให้เขาเยอะ เขาเองก็ให้ความรู้ภาคปฏิบัติกับเราเยอะไม่แพ้กัน สนุกครับ

ปลายทางการพัฒนากาแฟไทยของคุณคืออะไร

ก่อนหน้านี้เราพยายามพัฒนาคุณภาพกาแฟไทยไปสู่การเป็นกาแฟพรีเมี่ยมหรือ Specialty Coffee ที่จะมีทั้งมิติด้าน Fair Trade การให้ราคาที่เป็นธรรม การยกระดับคุณภาพเกษตรกร ไปจนถึงมีการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่บอกได้ไปถึงไร่เลยว่าเกษตรกรคนไหนเป็นคนปลูก ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าไปในตัว

มาตรฐานของกาแฟ วัดคุณภาพด้วยการชิมรสชาติเหมือนไวน์ เต็มร้อยคะแนน ถ้าเป็น Specialty Coffee คะแนนก็จะแปดสิบขึ้น รสชาติแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่ Specialty ก็จะประมาณเจ็ดสิบแปดถึงเจ็ดสิบห้า 

ช่วงห้าปีที่ผ่านมากาแฟไทยพัฒนาขึ้นเยอะ กาแฟไทยแปดสิบสามถึงแปดสิบห้าหาไม่ยากเลย เราไปถึงแปดสิบหก แปดสิบเจ็ด ซึ่งมีแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ในโลกแล้วด้วย เหมือนจะดี แต่ปัญหาที่ตามมาคือ พอเราเริ่มส่งออกกาแฟแปดสิบหกถึงแปดสิบเจ็ดไปต่างประเทศ ตอนนี้คนเริ่มรู้ศักยภาพของเราแล้ว ว่ากาแฟไทยมีคุณภาพและความน่าตื่นเต้น ทำให้เขาไม่ค่อยอยากซื้อกาแฟแปดสิบสามถึงแปดสิบห้าของเรา เพราะไปหาที่อื่นได้ถูกกว่า 

การทำกาแฟแปดสิบหกถึงแปดสิบเจ็ดไม่ง่าย กระบวนการมีความเสี่ยงมาก ดังนั้น ในแง่ความยั่งยืน เกษตรกรต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการทำกาแฟแปดสิบสามถึงแปดสิบห้าที่มีเสถียรภาพที่สุดเป็นหลักขายให้ได้ แล้วทำกาแฟ แปดสิบหกถึงแปดสิบเจ็ดล็อตเล็กๆ ในที่สุดแล้วผมคิดว่ามันต้องพัฒนาไปถึงเรื่องแบรนดิ้ง

ผมพูดตลอดว่าเราผ่านจุดที่ว่าคุณดีหรือไม่ดีไปแล้ว คุณภาพกาแฟไทยผ่านแล้ว สู้กับต่างชาติได้อย่างไม่อาย ความท้าทายตอนนี้คือคำว่าชอบหรือไม่ชอบต่างหาก ซึ่งเราต้องสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง ให้คนเลือกดื่มเพราะรู้ว่าเป็นกาแฟไทย

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทำความเข้าใจการเมืองและสังคมไทยผ่านบทบาทนักพัฒนากาแฟ, พรรคประชาธิปัตย์

คุณใช้กลยุทธ์อะไรในการสร้างแบรนด์ให้กาแฟไทยไประดับโลก

นอกจากเรื่องคุณภาพและราคาแล้ว เราต้องเอาสตอรี่เข้ามาจับด้วย จากประสบการณ์ช่วงแรกของการเอากาแฟไทยไปเมืองนอก คนที่ซื้อส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความผูกพันอย่างอื่นกับเมืองไทย 

อย่าง Whole Foods Market ลูกค้าเจ้าแรกสัญชาติอเมริกา เหตุผลที่เขาตัดสินใจซื้อ เพราะสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเขาเคยมาแลกเปลี่ยนที่เชียงใหม่ หรืออีกเจ้า Cloud Picker Coffee Roasters โรงคั่วที่ไอร์แลนด์ ซื้อเพราะสมัยมาเที่ยวเมืองไทย เขามีโอกาสขึ้นดอยไปเห็นเมฆ ประทับใจมากเลยกลับบ้านไปตั้งโรงคั่วชื่อนั้น นั่นคือเหตุผลที่เขาอยากได้กาแฟไทย (หัวเราะ) เหล่านี้คือสตอรี่ส่วนบุคคล

เราต้องทำสตอรี่ที่เป็นจุดขายให้ทุกคนรับรู้ได้จากกาแฟไทย เช่นขายเรื่องความยั่งยืนของเศรษฐกิจท้องถิ่น บ้านเราเป็นประเทศที่เกือบพัฒนาแล้ว เราไม่สามารถทำราคาให้ต่ำอย่างกัวเตมาลาหรือโคลอมเบีย แต่การซื้อกาแฟคุณภาพดีในราคานี้ เกษตรกรจะส่งลูกไปเรียนหนังสือได้ ทำให้เราได้ชาวสวนอายุน้อยกลับมาพัฒนากาแฟต่อ

จริงๆ นี่เป็นปรากฏการณ์แปลกมากที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและชาวต่างชาติทึ่งกันนะ คือประเทศส่วนใหญ่ในโลกเกษตรกรไม่มีทางเลือกอื่น ต้องปลูกกาแฟเพราะความยากจน ปลูกกันจนแก่เฒ่า แต่บ้านเราคนจำนวนไม่น้อยปลูกเพราะอยากปลูก แถมลูกหลานเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ถูกส่งมาเรียนหนังสือในเมือง เรียนจบแล้วเต็มใจกลับขึ้นดอยไปปลูกกาแฟกันอย่างคึกคัก เพราะเขาเห็นไงว่ามีตลาดรองรับ

สตอรี่เหล่านี้คือคุณค่าและมูลค่าของกาแฟไทย

จริงๆ การปลูกกาแฟในเมืองไทยไม่ได้มีแค่บนดอย ภาคใต้ที่บ้านคุณก็มีเหมือนกัน

ต้องอธิบายก่อนว่า ภาคเหนือกับภาคใต้ของไทยปลูกกาแฟคนละสายพันธุ์กัน บนดอยจะปลูกอาราบิก้า ข้อดีคือเป็นสายพันธุ์ที่มีรสชาติซับซ้อน ไม่ได้มีแค่ขม แต่กลมกล่อมทั้งหวานและเปรี้ยว ข้อเสียคือบอบบาง ไม่ค่อยทน ในขณะที่ทางใต้ปลูกโรบัสต้า ซึ่งทนกว่าและรสชาติเข้มขม ดังนั้นตลาดกาแฟของภาคเหนือและใต้จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

เปรียบกาแฟอาราบิก้าเป็นรถยนต์ซีดาน ที่มีตั้งแต่เฟอร์รารี่ไปจนถึงฮอนด้า โตโยต้า สิ่งที่เราพยายามทำบนดอย คือพัฒนากาแฟให้คุณภาพไปถึงจุดที่เป็นเฟอร์รารี่ กับกาแฟโรบัสต้าก็เช่นกัน สมมติผมเปรียบกาแฟโรบัสต้าเป็นรถบรรทุก ซึ่งก็มีตั้งแต่รถอีแต๋นไปจนถึงสิบล้อ สิ่งที่เรากำลังพยายามผลักดัน ก็คือพัฒนาให้กาแฟเป็นรถบรรทุกหัววอลโว่ให้ได้ ทั้งเฟอร์รารี่และรถบรรทุกหัววอลโว่ก็มีตลอดและการแข่งขันของตัวเอง มันพรีเมี่ยมได้ในรูปแบบของตัวเอง

ที่สำคัญ ผมมองว่าในอนาคต ด้วยสถานการณ์โลกร้อนที่อาจทำให้ปลูกกาแฟอาราบิก้าไม่ได้ กาแฟโรบัสต้าอาจจะเป็นคำตอบ ด้วยความทนทานและหลากหลายมากของสายพันธุ์ ก็เป็นอีกโลกของกาแฟที่น่าสนใจ

ทุกวันนี้ภาครัฐมีส่วนใน Ecosystem ของอุตสาหกรรมกาแฟไทยยังไงบ้าง

บ้านเราภาษีกาแฟสูงเป็นอันดับสองของโลก กาแฟนำเข้าต้องเสียภาษีเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ ทำให้การนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศอย่างเคนยา โคลอมเบีย ทำได้ยากมาก ส่งผลให้การเจริญเติบโตของความหลากหลายในการใช้เมล็ดกาแฟต่ำ คนแย่งกันซื้อกาแฟไทย ทำให้ราคากาแฟแพงกว่ากำลังซื้อของคนทั่วไปพอสมควร ผมคิดว่ากาแฟไทยมาถึงจุดนี้ได้ส่วนหนึ่งเพราะภาษีเลยนะ

แต่ผมคิดว่าถึงจุดหนึ่ง ภาครัฐน่าจะลดภาษีตรงนั้นลงมาเหลือสักสี่สิบเปอร์เซ็นต์ไหม ถ้าทำได้ ควร Launch Study ขึ้นมาเลยว่าภาษีกาแฟควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อปกป้องชาวสวน ในขณะเดียวกันโรงคั่วในไทยจะได้มีเมล็ดกาแฟที่หลากหลายขึ้น และนักดื่มจะได้พัฒนาศักยภาพรวมถึงรสนิยมให้หลากหลายไปด้วย ซึ่งนี่แหละ คือตัวกระตุ้นการพัฒนากาแฟไทยให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก เพราะถ้าไม่มีการแข่งขันอยู่ใน Ecosystem เลย เราก็จะชิลล์

ตอนนี้ภาครัฐปิดตาข้างหนึ่งอยู่ เพราะมีกาแฟลาวเข้ามาเยอะ โดยที่นำเข้ามาอาจถูกกฎหมายบ้าง ผิดกฎหมายบ้าง ซึ่งมันแข่งกับกาแฟไทยอยู่แล้วล่ะ เพราะราคาถูกกว่าเยอะ จุดนี้ภาครัฐควรออกมาตรการให้ชัดเจนไปเลย เปิดให้สามารถควบคุมไปเลยดีกว่าไหม ไม่ใช่พยายามปกป้องแต่ก็ไม่ปกป้อง เพราะก็ยังมีการลักลอบเข้ามาอยู่เรื่อยๆ แบบนี้มันย้อนแย้ง

เราทุกคนอยากปกป้องกาแฟไทยอยู่แล้ว

ทางไปต่อของกาแฟไทยต้องส่งออกต่างชาติเท่านั้นหรือเปล่า

ตอนแรกผมตั้งเป้าเป็นโจทย์ต่างชาติ เพราะคิดว่าเขาจะให้ราคาสูงกว่า แต่พอทำงานด้านกาแฟมาได้สามสี่ปี ผมพูดตลอดว่าอนาคตกาแฟไทยอยู่ในเมืองไทยนี่แหละ อารมณ์ประมาณว่า อยากไปบอลโลก แต่พอไปจริงๆ แล้ว เออ บอลไทยดีกว่าว่ะ อะไรประมาณนี้ (หัวเราะ)

คือตลาดเมืองนอก เขาหากาแฟที่ราคาถูกกว่า ในขณะที่คุณภาพดีเทียบเท่าหรือดีกว่าเราได้ กลไกที่เกิดขึ้นในบ้านเรา คือเรากินดื่มกาแฟกันในประเทศมากกว่าส่งออก เพราะเรามีคนชั้นกลางที่มีรายได้พอจะซื้อกาแฟในราคานี้ได้เยอะพอ แถมพื้นที่ปลูกของเราก็ใกล้สุดๆ ปลูกที่ภาคเหนือ ก็ดื่มกันที่ภาคเหนือ อาจส่งมากรุงเทพฯ หรือจังหวัดอื่นๆ ด้วย แต่เดินทางไปใช้เวลาไม่เกินสามถึงสี่ชั่วโมงเท่านั้นแบบสบายๆ 

แต่เอาจริงๆ มันก็ควรจะไประดับโลกนั่นแหละครับ เพื่อการพัฒนาและความหลากหลาย เราส่งบางส่วนไปโลดแล่น เพื่อสร้างแบรนด์ให้แข็งแรงขึ้นในเมืองนอกบ้าง นอกจากคนไทยแล้ว เวลาชาวต่างชาติมาเมืองไทย จะได้อยากกินกาแฟไทย แต่โจทย์หลักๆ ผมว่ามันก็จะวนกลับมาที่ตลาดเมืองไทย

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทำความเข้าใจการเมืองและสังคมไทยผ่านบทบาทนักพัฒนากาแฟ, พรรคประชาธิปัตย์

02 

โลกรอบตัว

อะไรคือบทเรียนสำคัญจากการทำงานกับเกษตรกรตลอดหลายปีมานี้

พอเรียนที่ต่างประเทศนานๆ ในสถาบันที่เต็มไปด้วยคนเก่งระดับโลก ทำให้เหมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง จับต้องได้แต่ทฤษฎี ชีวิตในส่วนการทำกาแฟ มอบความเข้าใจในภาคปฏิบัติให้ผม 

ผมเคยอยู่แต่ในโลกของตัวเอง ไม่ได้เดินทางออกไปเสาะหา ทำความเข้าใจคนที่ต่างจังหวัด ตอนนี้ผมเข้าใจมากขึ้นเยอะ ได้เรียนรู้ว่า Mutual Respect นั้นสำคัญ คนกรุงเทพฯ บางกลุ่ม บางทีก็คิดเอาเองว่าคนต่างจังหวัดต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ คนที่มีอำนาจในกรุงเทพฯ หลายๆ ครั้งคิดว่าคนต่างจังหวัดไม่เข้าใจประชาธิปไตย ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย 

หรือคิดว่าคนบนดอยต้องการความช่วยเหลือตลอด อันนี้ก็ไม่จริง อย่างการแจกผ้าห่มหน้าหนาวเนี่ย ผมไม่ปฏิเสธว่าพื้นที่ที่ยังกันดารจริงๆ อาจจะยังต้องการสิ่งนี้ แต่ดอยมากมายในเมืองไทยผ่านจุดนั้นมาตั้งนานแล้ว เขาพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และอยากทำธุรกิจที่สร้างความภาคภูมิใจในผลผลิตของตัวเอง 

ดังนั้นถ้าจะสนับสนุนกันและกันอย่างยั่งยืน ก็ควรไปศึกษาให้ลึกซึ้ง เพราะบางทีเขาอาจจะอยากได้เครื่องสีกาแฟมาพัฒนาผลผลิต มากกว่าของแจก CSR ที่ให้ฉุกละหุกแบบนั้น เขาเก่งกว่าที่เราคิดเยอะ 

การทำกาแฟช่วยให้คุณเข้าใจประเทศไทยมากขึ้นยังไงบ้าง

ผมได้เห็นว่า ระยะห่างของความเหลื่อมล้ำในประเทศเรานั้นสูงมาก ขนาดที่ยังนึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะร่นช่องว่างลงมายังไง คนดื่มกาแฟในเมืองไม่เคยรับรู้หรือรู้แค่ผิวเผินว่าความยากลำบากในการใช้ชีวิตของชาวบ้านเป็นยังไง คนที่ต่างจังหวัดต้องการอะไร มันตัดขาดกันมาก ต่อกันไม่ติด สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง

เมืองไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ชุดความคิดที่ว่าคนจนจนเพราะขี้เกียจ โห น่าเจ็บใจ มันไม่ควรมีการคิดอย่างนั้นแล้ว เพราะการที่คนคนหนึ่งจะเปลี่ยนสถานะทางสังคม ก้าวพ้นความจนขึ้นมาได้ มันประกอบไปด้วยหลายปัจจัยมาก ไม่ใช่แค่นั้น

กาแฟทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนๆ บนดอย คนที่เคยอยู่แต่บนหอคอยงาช้างต้องไปอยู่ไปทำอะไรแบบนี้บ้าง แล้วคุณจะเข้าใจเขามากขึ้น ถ้าคนเป็นดอยได้รับโอกาส เขาอาจจะไปได้ไกลกว่าพวกเรามากก็ได้

ไปได้ไกลในแง่ไหน

ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวของผมกับเพื่อนๆ เกษตรกร คือความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ เป็นภาษากาแฟที่เทียบเท่ากับคนซื้อและโรสเตอร์ต่างชาติสามารถถกเถียงชนกัน ทำให้เขาเคารพและฟังเรา นอกเหนือจากเรื่องภาษา เรื่องการเทสต์กาแฟเอย อะไรเอย พี่ๆ น้องๆ ที่ไร่กาแฟเก่งและเชี่ยวชาญกว่าแน่ๆ 

ผมจึงเป็นสะพานที่ทำให้เขาได้พบกันแบบแฟร์ๆ ซึ่งมันเกิดจากโอกาสทางการศึกษาที่เราได้รับ ความโชคดี การมีคนช่วยเหลือระหว่างทาง เพราะถ้าถามจริงๆ ผมคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพหมด โอกาสคือประตูที่เป็นตัวบล็อกว่าเราจะเติบโตไปได้ถึงไหน และมันคือปัญหาโครงสร้าง 

คุณพ่อ (ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ) จะพูดเสมอถึงเรื่องความถ่อมตนทางปัญญา (Intellectual Humility) ซึ่งเป็นการยอมรับว่าเราไม่ได้รู้ดีไปเสียทุกอย่าง การได้โอกาสทางการศึกษา ได้ทุนเรียนที่ฮาร์วาร์ด ได้ทุนเรียนที่ออกซ์ฟอร์ด ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเราโชคดีกว่าคนอื่นๆ ถ้าคนบนดอย คนที่ต่างจังหวัด ได้รับโอกาสเหมือนกัน เขาอาจจะไปได้ไกลกว่าเราก็ได้ 

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผู้มีความโชคดีทั้งหลายต้องมีความถ่อมตนทางปัญญาและมีความโอหังทางความสำเร็จของตัวเองที่ต่ำหน่อย อย่างที่นักปรัชญา ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) กล่าวไว้ว่า ความโอหังกับความมั่นใจ มันมีเส้นบางๆ กั้นอยู่

ตัวผมเองโดนเทรนมาแบบนี้ มีความมั่นใจในความคิดของตัวเอง สื่อสารได้อย่างชัดเจนว่ามีความคิดแบบนี้ แต่ก็พร้อมจะยอมรับว่ามีคนที่เก่งกว่า พอมีความรู้ใหม่ๆ เราต้องพร้อมที่จะผิดเสมอ หลายครั้งเวลามีคนทักท้วงอะไร ผมจะแบบ เออ ขอกลับไปอ่านก่อนนะ (หัวเราะ) ในทางการเมืองก็ควรจะเป็นแบบนี้เหมือนกัน 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทำความเข้าใจการเมืองและสังคมไทยผ่านบทบาทนักพัฒนากาแฟ, พรรคประชาธิปัตย์
ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทำความเข้าใจการเมืองและสังคมไทยผ่านบทบาทนักพัฒนากาแฟ, พรรคประชาธิปัตย์

คุณศึกษาด้านความมั่นคงมาโดยตลอด วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของคุณไปถึงไหนแล้ว

คงจะเสร็จปีหน้าครับ ผมทำวิจัยเรื่องอัตลักษณ์กับความสัมพันธ์ทางการทหารของแต่ละประเทศ โดยศึกษาย้อนกลับไปตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีว่า สนธิสัญญาทางด้านการทหารของกลุ่มประเทศที่มีอัตลักษณ์เดียวกัน อย่างพูดภาษาเดียวกัน ชาติพันธุ์เดียวกัน รวมถึงที่มีศาสนาเดียวกัน จะออกมาในลักษณะที่ไม่ซับซ้อนเท่าประเทศที่มีความแตกต่างทางอัตลักษณ์หรือเปล่า

ยากจัง

(หัวเราะ) อธิบายง่ายๆ เวลาคุณยืมเงินแม่ คุณไม่ต้องเซ็นสัญญาอะไรถูกไหม ในขณะที่ถ้าไปยืมจากธนาคาร คุณกลับต้องเซ็นเอกสารอะไรมากมาย เพื่อการันตีว่าคุณจะคืนเงินแน่ๆ เพราะคุณและธนาคารไม่มีอัตลักษณ์ร่วมกันอย่างคุณและแม่ 

ทฤษฎีของผมต้องการพิสูจน์ว่า การที่เราไม่มีอัตลักษณ์ร่วมกัน มันมีผลต่อความเชื่อใจ และเข้าใจว่าอีกฝ่ายมีชุดความคิดอย่างไรหรือเปล่า ทำให้การทำสนธิสัญญาทางการทหารไม่จำเป็นต้องซับซ้อน เหตุผลที่ต้องศึกษา ยิ่งสนธิสัญญามีความซับซ้อน ราคาต้นทุนที่ต้องจ่ายก็สูงขึ้นตามไปด้วย

ฟังดูเหมือนไกลตัว จริงๆ แล้วความสัมพันธ์ทางการทหารอยู่ตรงไหนในชีวิตประจำวันพวกเรา

จริงๆ มันอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราในทุกวันอยู่แล้ว เพียงแต่เราอาจไม่รู้ มองไม่เห็น การที่ไทยมีเสถียรภาพทางความมั่นคงและทางการทหารที่ดี มีกองทัพที่แข็งแกร่งในระดับหนึ่งถือเป็นด้านบวก เพราะมันคือกลไกป้องปรามจากประเทศใดๆ ที่คิดจะมาคุกคามความมั่นคงของเรา

แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โลกในปัจจุบัน ภัยคุกคามความมั่นคงไม่ได้มีแค่ประเทศอื่นๆ เท่านั้น วิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกก็ถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญมาก การลงทุนในอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพของไทยต้องเริ่มเปลี่ยนมุมมองได้แล้ว 

อย่างการซื้อเรือดำน้ำ ไม่ปฏิเสธว่าเป็นเครื่องมือสำหรับป้องปราม แต่ต้องคิดด้วยว่าสถานการณ์ปัจจุบัน ภัยคุกคามมาในรูปแบบภัยพิบัติเสียมากกว่าหรือเปล่า เราอาจจะต้องมองหาเรือที่ทั้งใช้รบและใช้บรรเทาทุกข์ก่อน หรือบางทีเครื่องบินรบก็อาจไม่จำเป็นเท่าเครื่องบินทิ้งระเบิดน้ำที่จะเอามาช่วยดับไฟป่า ในชั่วโมงนี้ เวลานี้ ที่เรายังอยู่ในวิกฤต COVID-19 

เห็นภาพชัดเลย

สัจธรรมทางการทหารอีกอย่างหนึ่งที่ต้องตระหนัก คือกองทัพที่ดี กองทัพที่มีประสิทธิภาพ ต้องแข็งแกร่งพอที่จะไม่ต้องใช้มัน 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทำความเข้าใจการเมืองและสังคมไทยผ่านบทบาทนักพัฒนากาแฟ, พรรคประชาธิปัตย์

03 

โลกภายในตัวเอง

การเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวมุสลิม ต้องรับแรงกดดันอะไรบ้าง

บ้านผมเป็นโรงเรียนปอเนาะ (โรงเรียนที่เปิดสอนศาสนาอิสลามควบคู่กับวิชาสามัญ) แม้ตอนนี้บริหารงานโดยรุ่นที่สอง คือคุณอา น้องๆ ของคุณพ่อ แต่ในที่สุด วันหนึ่งก็น่าจะส่งต่อมายังรุ่นที่สามซึ่งก็คือรุ่นผม ในบรรดาพี่ๆ น้องๆ ไม่คนใดคนหนึ่งก็ต้องมาช่วยกัน 

พอผมเป็นลูกคนโต แน่นอนว่ามีแรงกดดันบางอย่างอัตโนมัติ ในแง่การทำงานงานเพื่อสังคมอะไรบางอย่าง เพราะผมเกิดมาในครอบครัวที่ทำงาน Public Service โดยเฉพาะการเป็นครูอยู่แล้ว

คุณเติบโตมาในครอบครัวแบบไหน

จริงๆ พื้นเพของครอบครัวเป็นคนนครศรีธรรมราช ผมเองพูดใต้มาตลอดและมีความผูกพันกับภาคใต้มาก แต่เพราะคุณพ่อทำงานที่กรุงเทพฯ ผมเลยขึ้นมาเรียนหนังสือที่นี่ตั้งแต่เล็ก เวลาใครถามว่าเป็นคนที่ไหน ก็ตอบไม่ค่อยถูก เพราะเราก็ไปๆ มาๆ 

คุณพ่อให้ความสำคัญกับการศึกษามากและทุ่มเทให้ลูกๆ ในเรื่องนี้มาตลอด ผมและพี่น้องก็รู้ตัวนะว่าเราเป็นคนโชคดี โชคดีกว่าคุณพ่อและคนอื่นๆ อีกมากมายที่เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างเต็มที่ บ้านเราไม่ค่อยพูดเรื่องเงินทอง แต่ไม่รู้ว่าที่คิดแบบนั้นเพราะคุณแม่ (อลิสา พิศสุวรรณ) ทำธุรกิจหรือเปล่า คุณพ่อเลยไม่ห่วงเรื่องนี้มาก เวลาคุยกับคุณพ่อ ส่วนใหญ่เลยเป็นเรื่องปรัชญา สังคม

ทำไมถึงสนใจและเลือกศึกษาเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศ

ผมเติบโตมากับการเห็นคุณพ่อทำงานด้านการต่างประเทศมาตลอด แล้วก็ซึมซับมาตั้งแต่เด็กถึงเหตุผลว่าทำไมท่านถึงโฟกัสเรื่องนี้ เพราะเราเป็นชาวมุสลิม เป็นชนกลุ่มน้อย หลังทำงานการเมืองระยะหนึ่ง ในที่สุดคุณพ่อเห็นว่าสายการต่างประเทศ ไปทำงาน International น่าจะมีโอกาสเติบโตและได้ผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากกว่า เพราะเราเป็น Representative ของชนกลุ่มน้อย การตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ต้องคิดเยอะ คิดให้ลึกซึ้ง เพราะมันส่งผลต่อพื้นที่ของคนกลุ่มน้อยที่โดนจับจ้องอยู่แล้ว 

ผมเองได้เห็นสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก ไม่เคยไขว้เขวในเส้นทางชีวิตว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างที่มีความหมายกับผู้คนและสังคมในภาพรวม นั่นคืออีกหนึ่งเหตุผลที่มาจับเรื่องการพัฒนากาแฟ คือผมอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยมานาน เรียนตรี โทมาจนถึงเอก ก็เป็นเรื่องความมั่นคงระหว่างประเทศมาตลอด พอเราอยู่กับประเด็นอะไรนานๆ หัวข้อเดิมๆ บางครั้งก็ทำให้ไขว้เขวได้เหมือนกันนะ โชคดีได้กาแฟมาเติมตรงนี้ (ยิ้ม)

คุณไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก การเติบโตมาใน Liberal Condition ที่ต่างประเทศมีผลต่อตัวคุณยังไงบ้าง

เอาจริงๆ มันมีผลกับผมไม่ใช่แค่ทางการเมืองนะ ผมไปเรียนต่างประเทศ เติบโตมาในสภาพแวดล้อมและชุดความคิดที่เป็น Liberal แต่ที่บ้านผมเป็นมุสลิม Conservative โอ้โห คือมันยากและท้าทายมากว่าเราจะคงไว้ซึ่งความเป็นตัวตนยังไง ให้คนที่คิดต่างจากเราไม่โกรธเกลียด ยังอยากคุยด้วย ยังเคารพและยอมรับในความเป็นตัวเรา เรียกว่าเป็นศิลปะชั้นสูงเลย

ในทางการเมือง แม้ผมจะสนิทกับเพื่อนๆ ที่มีแนวคิดก้าวหน้า เพราะคุยกันรู้เรื่องและสบายใจกว่าและคิดไปในทางเดียวกัน มีความอึดอัดเหมือนๆ กัน แต่ในทางสังคม เน็ตเวิร์กของผมเป็นกลุ่มคนที่คิดคนละขั้วเลย

ดังนั้นจะวางตัวแบบไหน เมื่อไหร่จะพาเขามาเจอกัน หรือเมื่อไหร่ที่ผมเองจะต้องแสดงจุดยืนเพื่อหลักการและความถูกต้อง ก็ต้องพูดสิ่งที่ควรจะพูดออกไป ซึ่งหลายครั้งก็เป็นการพูดกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล ซึ่งเขาก็เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทำความเข้าใจการเมืองและสังคมไทยผ่านบทบาทนักพัฒนากาแฟ, พรรคประชาธิปัตย์

สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของคุณด้วยหรือเปล่า

คือต้องอธิบายก่อนว่า ในอดีตอย่างช่วง พ.ศ. 2535 พฤษภาทมิฬ ถ้าคุณเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากเล่นการเมือง พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากในช่วงนั้นของประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะหากเป็นคนใต้อีก คนเก่งๆ ไปอยู่ที่นั่น ตอนนี้ถ้าคุณเป็น Liberal Progressive เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีไฟอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง พรรคประชาธิปัตย์อาจไม่ใช่คำตอบอีกแล้ว

พวกเราเคยคิดว่าจะเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อน แต่พรรคก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะ แล้วมันก็ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ที่เป็นความหวังอย่างยุคคุณพ่อแล้ว ถ้าคุณพ่ออยู่ คุณพ่อจะเข้าใจทุกอย่างเลย เพราะเขาก็ถอยออกมาจากพรรค ไปทำงานเมืองนอก ทำงานระหว่างประเทศนานแล้ว

คำถามต่อมาคือ ถ้าคุณอยากสร้างความเปลี่ยนแปลง คุณจะไปทางไหน ในมุมมองของผม มีสองทางคืออนาคตใหม่-ก้าวไกล หรือไม่ก็ตั้งพรรคใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจจะมีวิธีการ Frame Issues ต่างไปหน่อยในบางเรื่อง แต่แนวความคิดจะเป็นไปในทางนี้

เมื่อกี้คุณพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราไม่ค่อยได้ยินประเด็นนี้ในเวทีการเมืองไทยเท่าไหร่เลย ทั้งที่เป็นประเด็นที่อิงอนาคตสุดๆ

ใช่ นี่เป็นประเด็นใหญ่ระดับโลกที่เราไม่พูดถึงกันเลย เลือกตั้งกรุงเทพฯ ครั้งที่จะถึง ประเด็นเหล่านี้ควรได้รับการหยิบขึ้นมาหามุมมองแก้ไขได้แล้ว ไม่ต้องไปไกลถึงสภาพภูมิอากาศ เอาแค่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ จะจมน้ำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว คนส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้เรื่องนี้กันเลย

ผมคิดว่า Pain Point คือคนที่ผลักดันแต่ละประเด็นในสังคมเรา ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาทำงานโดยไม่มีการสอดประสาน แลกเปลี่ยนมุมมองข้ามประเด็นกันเท่าที่ควร คนที่ผลักดันเรื่องการศึกษาก็ทำแต่เรื่องการศึกษา ไม่แตะสิ่งแวดล้อมเลย 

อย่างผมเองทำเรื่องกาแฟ บางทีต้องหันกลับมามองเหมือนกันนะ ว่าระหว่างกระบวนการ เราสร้างมลพิษหรือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปมากเท่าไหร่ เราสามารถใช้พลังงานทดแทนหรือวัสดุทางเลือกอะไรที่ไม่ใช่แค่ผลักดันให้การพัฒนากาแฟสำเร็จอย่างเดียว แต่ต้องเป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อมในหลายมิติที่สุด

จริงๆ คนที่ควรนำแต่ละประเด็นมาบูรณาการกันคือสภาฯ นะ มันคือหน้าที่ของเขา ซึ่งเขาก็ไม่ทำ ผมได้คุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่องศึกษานโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง แม้แต่พรรคที่หัวก้าวหน้าที่สุดก็ยังไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้เท่าที่ควร เรื่องความยั่งยืนเป็นประเด็นที่สำคัญมาก 

ในเวทีการเมืองโลก นี่คือประเด็นสำคัญที่ชี้ทิศทางเศรษฐกิจ ชี้ทิศทางการพัฒนาประเทศ เราอาจต้องเริ่มตั้งคำถามแล้วว่า การพัฒนาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือการพัฒนาที่นำไปสู่ความยั่งยืนหรือเปล่า 

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นเรื่องของความยั่งยืน

ใช่ครับ คือในมุมมองผม เราต้อง Spin Off หลักเศรษฐกิจพอเพียงออกจากภาคเกษตรกรรมให้ได้ ขาข้างหนึ่งคือการปรับเข้ากับภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางแล้ว ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าความท้าทายคือการประยุกต์ปรัชญานี้เข้ากับวิถีคนเมือง

ความเปลี่ยนแปลงจริงๆ จะเกิดขึ้นเมื่อ Big Business Takes it to Heart. ความยากคือมันอาจจะขัดต่อการสร้างผลกำไร ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของธุรกิจส่วนใหญ่ ทำอย่างไรให้มันไปด้วยกันได้ คือมันอาจจะต้องปรับกันตั้งแต่ Business Model ขององค์กรและบริษัทเลย 

คุณอายุ 35 ถือเป็นวัยที่กำลังดี เรียนรู้ชีวิตมาพอสมควร ในขณะเดียวกันก็ยังมีพลัง ชีวิตของคุณจากนี้จะเดินไปทางไหนต่อ

คงจะทำกาแฟไปเรื่อยๆ ส่วนนี้น่าจะเป็นพาร์ตไทม์ของตัวเอง ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกจบ ผมอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อยากสอนหนังสือ ในขณะเดียวกันก็อยากสร้างเน็ตเวิร์ก

ตอนนี้จึงอยากจะเข้าใจปัญหา อยากไปเจอคนเยอะๆ อยากไปอยู่ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ จนรู้สึกว่าเราพร้อมด้วยความรู้ความเข้าใจ และที่สำคัญคือความมั่นใจว่าจะทำอะไรได้มากกว่าเพื่อนๆ ที่ไปโลดแล่นอยู่ในสนามการเมืองอยู่แล้วในตอนนี้ แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะมาเล่นการเมืองหรือไม่

ผมคิดว่าคนที่อยู่รอบตัวมีความสำคัญมาก ถ้าเรามีเพื่อนหลากหลายแวดวง นักวิชาการ นักข่าว ไปจนถึงเกษตรกร เพื่อนที่ด่าเราได้โดยไม่โกรธกัน จะเป็นคนที่คอยเน้นย้ำต่อการกระทำและคอยเตือนให้เรารู้ตัวเองว่าอยู่ตรงไหน แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ครับ (หัวเราะ) 

ตอนนี้นอกจากกาแฟและงานวิจัยแล้ว เวลาส่วนใหญ่ ผมทุ่มเทให้กับการสร้างมูลนิธิ เพื่อสานต่อสิ่งที่คุณพ่อได้ทำมาให้คงอยู่ต่อไป นั่นคือเพื่อการทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงคนกลุ่มต่างๆ เข้าหากัน ทั้งด้านการศึกษา ความมั่นคงของมนุษย์ และด้านการทูตการต่างประเทศ

โดยตั้งใจให้เป็นโมเดลกองทุนพัฒนา (Endowment Fund) แบบมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation) มูลนิธิคาร์นากี้ (Carnegie Endowment) หรืออย่างกองทุนของมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศก็มีลักษณะแบบนั้น

คำถามสุดท้าย คุณทำหลายอย่างมาก เอาเวลาที่ไหนไปอ่านหนังสือ

ผมฟัง Audio Book เยอะ เพราะว่ามันไม่เสียเวลา เวลาเดินไปไหนสั้นๆ ก็ฟังพอดแคสต์ เอาจริงๆ ผมว่าตลาด Audio Book ในเมืองไทยน่าสนใจนะ เพราะยังไม่เห็นใครทำจริงจัง ทั้งที่ดูเหมาะมาก เพราะเดินทางนาน รถติดทีเป็นชั่วโมง พูดๆ ไป ถ้ามีเวลา ผมก็อยากทำสตาร์ทอัพขาย Audio Book นะ (หัวเราะ) 

ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ ทำความเข้าใจการเมืองและสังคมไทยผ่านบทบาทนักพัฒนากาแฟ

Audio Book เล่มล่าสุดที่ฟัง

The Monarchy of Fear : A philosopher looks at our political crisis.

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย มาร์ธา นุสบาม (Martha Nussbaum) นักปรัชญาหญิงจากมหาวิทยาลัยชิคาโกในสหรัฐฯ เขาพยายามเขียนอธิบายปรากฏการณ์การเมืองในสหรัฐฯ ที่ทั้งผู้มีอำนาจและผู้ถูกปกครองต่างตกอยู่ในสภาวะ ‘ความกลัว’ 

แต่นุสบามก็ได้กล่าวเตือนไว้ว่า เราจะตอบโต้ความกลัวดังกล่าวด้วยความโกรธและความเกลียดชังไม่ได้ ความหวังและความเข้าใจต่างหากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราก้าวพ้นความขัดแย้งในปัจจุบันไปได้ ผมมีความเชื่อเหมือนกับนุสบามถึงความสำคัญต่อการมีความหวัง และการไม่จำนนต่อความกลัวด้วยบันดาลโทสะ 

เพื่อที่เราจะได้สร้างฉันทามติใหม่ของการอยู่ร่วมกันในสถานการณ์บ้านเมืองที่มีความขัดแย้ง แนวคิดของนุสบามเช่นนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยของเราเองในปัจจุบันอีกด้วย

หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน

ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี

หนังสือเล่มนี้พี่ปุ๊ (ธนาพล อิ๋วสกุล) บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเป็นคนมอบให้ผม ผมชอบหนังสือที่มีแนวทางการวิจัยแบบนี้มาก ทำให้นึกถึงงานวิจัยเชิงคุณภาพชั้นนำในต่างประเทศ ที่ผมเชื่อว่าจะเข้าถึงคนและมีอิมแพคมากกว่า 

ถึงแม้ว่าแนวทางงานวิจัยของผมเองในตอนนี้จะออกมาเชิงปริมาณเสียมากกว่า ผมเริ่มสร้างโครงการไทยคดีศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดร่วมกับอาจารย์ไมเคิล เฮอร์ซเฟลด์ (Michael Herzfeld) ผู้เสนอแนวคิดเรื่อง Crypto-Colonialism และให้ข้อเสนอที่ว่า แม้ในทางนิตินัยประเทศของเราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใครก็ตาม แต่ในทางพฤตินัยมีหลายมิติที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศนักล่าอาณานิคม 

หนังสือเล่มนี้ของคุณณัฐพล ใจจริง ทำให้ผมนึกถึงงานของอาจารย์เฮอร์ซเฟลด์ และน่าจะมีอิทธิพลต่องานของคุณณัฐพล ใจจริง มากอยู่พอควร ซึ่งคุณณัฐพลก็อ้างอิงถึงงานดังกล่าวของอาจารย์เฮอร์ซเฟลด์ด้วย

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดงานของคุณณัฐพลนั้น ผมคิดว่าสร้างความสมดุลทางด้านวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการต่างประเทศและการเมืองภายในในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้มาก ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งสวยงามของวงการวิชาการ และความรู้ใหม่ๆ เช่นนี้ ทำให้ผมต้องตั้งคำถามกับความเชื่อของตัวเองพอสมควรเลยทีเดียว

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ