“ฟรังคิดว่าคนส่วนมากจำภาพตัวเองแบบไหน” 

หมอ ไอดอลด้านการเรียน” ฟรังตอบเราแทบจะทันที ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ฟรังเป็นที่รู้จักและโดดเด่นกว่านิสิตแพทย์คนอื่นๆ นั่นเพราะว่า เมื่ออยู่นอกชั้นเรียน เธอยังมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญ คือการเป็นนักแสดงวัยรุ่นแถวหน้าอีกด้วย

ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2557 ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร แจ้งเกิดในบทบาท ออย จากซีรีส์วัยรุ่นเรื่องดัง Hormones วัยว้าวุ่น ซีซั่น 2 และ 3 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เธอกำลังขะมักเขม้นในการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายคือคณะแพทยศาสตร์ 

ภาพของเด็กสาวตากลมผมม้า นั่งก้มหน้าทำโจทย์ข้อสอบในระหว่างรอเข้าฉาก จากคลิปเบื้องหลังการถ่ายทำซีรีส์นั้นได้กลายเป็นภาพจำของฟรังในใจใครหลายคน เราเองก็เช่นกัน

5 ปีผ่านไป ฟรังในตอนนี้กลายเป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 แห่งรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้นเธอก็ยังคงรับงานในวงการบันเทิงอย่างสม่ำเสมอ ผลงานล่าสุดคือบทบาท โรส จากซีรีส์ Great Men Academy สุภาพบุรุษสุดที่เลิฟ

ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร

บนโลกออนไลน์ ฟรังคือเจ้าของชาแนลยูทูบใหม่เอี่ยมชื่อว่า laohaiFrung (เล่าให้ฟรัง) ที่นำเสนอแง่มุมสุดไฮเปอร์ อย่างคลิปเดินเท้าจากสยามไปไอคอนสยาม! และล่าสุดก็ได้ปล่อยคลิปพาเที่ยวปราก เมืองหลวงของสาธารณรัฐเช็ก ที่เธอไปทำหน้าที่ครูอาสาสมัครมาเป็นเวลาเดือนเศษ

สำหรับครอบครัวและคนใกล้ชิด ฟรังคือลูกสาวที่พ่อแม่ไว้วางใจ และพี่สาวที่คอยเป็นห่วงน้องๆ เสมอ

“ฟรังคิดว่าตัวเองเป็น Perfectionist ไหม”

“ม่าย” เธอลากเสียงยาวเป็นคำตอบ แม้นั่นจะฟังดูไม่น่าเชื่อเท่าไรนัก

ตารางชีวิตในวันนี้ของฟรังเริ่มจากคาบเรียนตอนเช้าที่มหาวิทยาลัย ก่อนจะเดินทางมาพบกับเราในตอนเย็น และดูเหมือนว่าหลังจากที่แยกกันแล้ว เธอจะต้องกลับไปอ่านหนังสืออีก 2 – 3 บท เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบที่กำลังจะมาถึงในสัปดาห์ถัดไป

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจเถียงในใจว่า ดูยังไงนี่มันก็เป็นชีวิตของคนเพอร์เฟกต์ชัดๆ

แต่ฟรังก็ยังคงยืนยันกับเราว่าตัวเองไม่ใช่เทพแห่งการจัดการเวลาอย่างที่ใครหลายคนขนานนามให้ เพราะเธอเองก็มีมุมที่รู้สึกเหนื่อยหรือขี้เกียจเหมือนคนทั่วไป อย่างวันนี้ฟรังก็มีช่วงเวลาที่แอบหนีไปงีบก่อนจะมาให้สัมภาษณ์เช่นกัน

ฟรังที่เราได้พบในวันนี้ ยังเป็นเพียงเด็กสาววัย 22 ปีแสนธรรมดา ที่มีทั้งความรู้สึกไม่มั่นใจ อารมณ์เหนื่อยล้า และช่วงเวลาอันยุ่งเหยิง และเธอเองก็กำลังอยู่ในระหว่างการเติบโต เพื่อข้ามผ่านสิ่งเหล่านี้ไปให้ได้เช่นกัน

บทสนทนาต่อไปนี้คือตัวตนของฟรังในฐานะเด็กสาวที่อาจไม่เพอร์เฟกต์ แต่เราอยากจะเล่าให้คุณฟัง

ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร

5 สัปดาห์ คือจำนวนวันหยุดยาวที่สุด ที่นิสิตแพทย์อย่างฟรังพึงมี 

ถ้าใครได้ติดตามชีวิตของเธอในโซเชียลมีเดีย คงพอเห็นผ่านตาว่าปิดเทอมที่ผ่านมา ฟรังตัดสินใจไปเป็นครูอาสาสมัครที่สาธารณรัฐเช็ก 

“นี่คือปิดเทอมที่ยาวที่สุดของนิสิตแพทย์แล้ว เราก็เลยคิดว่าจะทำอะไรดี รู้สึกอยากทำอะไรที่ไม่เคยทำ อะไรที่จะคุ้มค่ากับช่วงเวลาที่เรามี ก็เลยจบลงที่ AIESEC” 

ฟรังเล่าถึงการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพัฒนาความเป็นผู้นำผ่านการทำงานอาสาสมัครในต่างประเทศ

“สุดท้ายแล้วมันคุ้มค่าอย่างที่เราตั้งใจไหม ฟรังเติบโตขึ้นในแง่ไหนบ้าง” เราสงสัย

“เรามีความเป็นผู้นำมากขึ้น” ฟรังตอบด้วยน้ำเสียงมั่นใจ “ก่อนไปเราก็ตั้งเป้าหมายว่าอยากมีความเป็นผู้นำมากกว่านี้ เพราะเราชอบคิดว่าตัวเองดีไม่พอ ไม่ค่อยกล้านำใคร ความจริงแล้วลึกๆ เราเป็นคนแบบนั้น ซึ่งเราอยากแก้ตรงนี้มานานแล้ว การไปครั้งนี้มันก็ค่อนข้างช่วยได้เพราะว่าพอไปถึงแล้วเราต้องจัดการเองทุกอย่างหมดเลย ต้องเตรียมสไลด์เอง เตรียมสอนเด็กเอง”

อันที่จริง โครงการนี้ไม่ได้รับสมัครเพียงแค่ครูอาสาเท่านั้น แต่ยังมีตำแหน่งงานอื่นๆ ให้เลือกอีกมากมาย ทั้งงานด้านบัญชี การตลาด ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ตลอดจนงานด้านการแพทย์ 

“ตอนแรกก็หาโครงการที่เป็น Medical แหละ แต่มันไม่มีโครงการในช่วงเวลาที่เราว่าง ซึ่งในอีกทางหนึ่งเราก็รู้สึกว่า โครงการนี้ก็ดี เพราะไหนๆ เราก็ต้องอยู่กับ Medical ไปอีกทั้งชีวิตแล้ว 

“สุดท้ายเราก็เลยเลือกไปเป็นครู เพราะเรารู้สึกว่ามันก็เป็นสิ่งที่เราเคยทำมานิดหนึ่ง เราเคยสอนพิเศษตอน ม.6 ก่อนขึ้นปีหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่เราน่าจะทำได้” ฟรังเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอตัดสินใจเอาวันหยุด 5 สัปดาห์อันแสนมีค่า เพื่อไปเป็นครูอาสา ณ โรงเรียน 5 แห่งในสาธารณรัฐเช็ก

“พอไปสอนในห้องเรียนจริงๆ เป็นยังไงบ้าง เหมือนภาพที่คิดไว้ไหม” เราถาม

“ส่วนใหญ่มันจะดีกว่าที่คิด คือตอนแรกคิดว่าเด็กจะต้องไม่ฟังเราแน่ๆ แต่พอไปถึงปรากฏว่าเด็กเขาตื่นเต้นกับการมาของเรามากๆ เลยนะ ยิ่งเด็กเล็กๆ เขาจะเข้ามาขอถ่ายรูปคู่ ขอลายเซ็น วาดรูปให้เรา ขอบคุณเรา เหมือนเราเป็นซูเปอร์สตาร์” ฟรังตอบด้วยสายตาเป็นประกาย นี่คงเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าไม่น้อยสำหรับเธอ แม้มันจะแลกมาด้วยโอกาสในการนอนตื่นสายอย่างที่ทำไม่ได้บ่อยๆ ซึ่งเราเองก็สงสัยว่า ฟรังไม่เสียดายเวลาว่างของตัวเองบ้างหรือ

“เราไม่ชอบพักผ่อนมากเกินไป รู้สึกว่า 1 วันหรือ 2 วันนี่ก็เต็มที่แล้ว ปิดเทอม 5 สัปดาห์นี่เราไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้ คืออย่างวันที่สอบเสร็จ เรานอนเลยนะ นอนเต็มที่มากๆ แล้วก็นัดเจอเพื่อน เจอทุกคนที่อยากเจอใน 2 – 3 วัน แต่สุดท้ายมันก็จะว่างเกินไป มันไม่ได้” ฟรังจบประโยคด้วยเสียงหัวเราะสดใส

ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร

4 ปีการศึกษา คือเวลาที่ฟรังได้ร่ำเรียนในคณะแพทยศาสตร์

เมื่อช่วงเวลาของคุณครูฟรังสิ้นสุดลง เธอก็ต้องบินกลับมาเตรียมพร้อมเปิดเทอม ซึ่งตอนนี้ฟรังได้เดินทางมาถึงครึ่งทางของชีวิตการเรียนหมอ หนึ่งในสาขาวิชาที่ขึ้นชื่อเรื่องความเคร่งเครียดและการแข่งขัน

“อะไรคือแรงฮึดของฟรังตลอด 3 ปีที่ผ่านมา” เราถาม 

“เป้าหมายมั้ง” ฟรังตอบก่อนจะนิ่งไปเพื่อนึกทบทวนตัวเอง “เพราะเราไม่ได้เป็นคนที่กลัวความเหนื่อยนะ เป็นคนที่ค่อนข้างชินกับความเหนื่อย เวลาว่างเกินไปก็จะรู้สึกหงุดหงิด เพราะว่าชอบเหนื่อยๆ” ว่าแล้วฟรังก็หัวเราะออกมาอย่างสดใส เพราะรู้ตัวดีว่าใครๆ ต่างก็ยกให้เธอเป็นนางสาวไฮเปอร์ทั้งนั้น

“มันก็จะมีบ้างที่รู้สึกท้อ แต่ก็คงเป็นเพราะเป้าหมายแหละ คือเราเลือกมาแล้ว เราก็อยากทำให้สำเร็จ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่เราคนเดียวที่ต้องเผชิญเส้นทางนี้ คือทุกคน ไม่ว่าอาชีพไหนๆ มันก็ต้องมีความเหนื่อย มีอุปสรรคอยู่แล้วในแบบของมัน ถ้ามันไม่เหนื่อยเลยมันก็คงว่างเกินไป นี่มันก็เป็นหนึ่งในเส้นทาง เดี๋ยวพอมันผ่านไปได้มันก็คงเป็นแค่ช่วงเวลาเล็กๆ”

“แปลว่าฟรังเป็นคนที่ยึดมั่นใจเป้าหมายของตัวเองค่อนข้างมากใช่ไหม เป็นแบบนี้กับทุกเรื่องหรือเปล่า” เราถามต่อ

“ส่วนใหญ่ เท่าที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ อย่างตอน ม.6 ตอนที่สอบหมอก็เหมือนกัน คือเราก็อยากจะสอบให้ติด ไม่ว่ายังไงก็จะพยายามทำให้สำเร็จ เพราะเราอยากทำให้ได้” 

ย้อนไปในช่วงมัธยมปลาย ฟรังบอกกับเราว่าเธอเองมีคณะแพทย์เป็นหนึ่งในตัวเลือกการเรียนต่อมานาน ก่อนที่จะตัดสินใจได้อย่างแน่นอนในช่วง ม.5 เราจึงถามเธอต่อไปว่า อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจเลือกเดินทางนี้ ทั้งที่พื้นเพครอบครัวของฟรังก็ไม่ได้มีใครทำอาชีพหมอมาก่อน

“อย่างแรกมันก็คงเป็นความรู้สึกของเราเองที่รู้สึกว่า มันต้องเลือกได้แล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือช่วงนั้นมันมีเหตุการณ์ระเบิดแถวพระพรหม แล้วก็รู้สึกว่าอยากช่วยจังเลย เราสัมผัสได้ว่าตัวเองเป็นคนขี้สงสาร ถ้าเราช่วยเหลือคนได้ก็คงดี ซึ่งหมอก็คงเป็นหนึ่งในอาชีพที่จะได้ช่วยคน” ฟรังตอบด้วยท่าทางจริงจัง

จนถึงตอนนี้ ในฐานะนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ฟรังอาจยังไม่มีโอกาสได้ช่วยคนมากนัก แต่เราเชื่อว่าเวลา 3 ปีที่ผ่านมา การเรียนหมอย่อมช่วยให้ฟรังได้เติบโตขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย

“ถ้าถามว่าเราเติบโตในแง่ไหนบ้าง ก็คงเติบโตในเรื่องของ การปลง” พูดมาถึงตรงนี้ เธอก็ระเบิดเสียงหัวเราะออกมาอีกครั้ง

“จริง!” ฟรังย้ำกับเราเพื่อบอกว่าเธอหมายความเช่นนั้นจริงๆ “เรารู้สึกว่าสิ่งที่ได้มากที่สุดนอกจากความรู้ ก็คือการจัดการกับความเครียด จัดการกับความยุ่ง แล้วก็ปลง สำหรับเราตอนนี้ความสุขมันหาง่ายมาก เราได้รู้ว่าความสุขมันหาง่ายนิดเดียวแค่คุณวางหนังสือ ถามนิสิตแพทย์ทุกคนจะรู้สึกอย่างนี้ พอหลังสอบเสร็จ การไปร้านกาแฟโดยไม่ต้องหยิบไอแพดขึ้นมา นี่คือความสุขสูงสุดในชีวิต” ฟรังเล่าติดตลกพร้อมแจกยิ้มสดใส

ฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร

3 เดือนก่อน ฟรังตัดสินใจเปิดชาแนลยูทูบของตัวเองที่มีชื่อว่า laohaiFrung (เล่าให้ฟรัง)

ทั้ง 11 คลิปที่ถูกปล่อยออกมาก็เผยให้เราได้เห็นตัวตนสุดไฮเปอร์ของฟรัง ผู้ทำทุกอย่างด้วยพลังอันล้นเหลือ จนกลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากบนโลกโซเชียล แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังยากที่จะเข้าใจว่า เหตุใดฟรังจึงตัดสินใจสละเวลาพักผ่อนอันมีค่าของตนเพื่อมาทำคลิปเหล่านี้ 

“เรารู้สึกสนุก” คำตอบที่ได้กลับมานั้นเรียบง่ายจนไม่น่าเชื่อ 

“นี่คือสิ่งที่ตอบโจทย์เรามาก เพราะเป็นคนที่ชอบทำอะไรที่เราจัดการเองได้ทั้งหมด ถ่ายก็ถ่ายช่วงที่เราว่าง ตัดต่อในแบบที่เราอยากทำ เลือกช่วงที่เราอยากนำเสนอ คือเหมือนเราได้จัดการทุกอย่าง ควบคุมเองทุกอย่าง ได้ฝึกความครีเอต ซึ่งมันสนุกมาก” ฟรังเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย จนทำให้เราเชื่ออย่างสนิทใจว่า นี่คือความสุขของเธอจริงๆ

“อาจจะเป็นเพราะว่าก่อนหน้านี้เราเคยทำงานแสดง แล้วมันก็มีปัจจัยทำนองนี้เยอะมาก อย่างเรื่องเวลา คือเรามีเวลาน้อยใช่ไหม แต่มันไม่ใช่เวลาของเราคนเดียว มันก็จะมีเวลาของทางกองถ่าย เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้เลย พอมาทำตรงนี้ซึ่งเราควบคุมเองได้หมด ก็รู้สึกว่ามันดี แฮปปี้

“แล้วก็รู้สึกว่าอยากให้คนรู้จักตัวตนเรามากขึ้นด้วย” 

นอกเหนือจากบทบาทการเป็นนิสิตแพทย์ ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการเรียนของใครหลายคน ฟรังตั้งใจใช้ชาแนลนี้เป็นสื่อกลางเพื่อบอกทุกคนว่า เธอยังมีไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่น่าสนใจ ทั้งเรื่องเรียน เรื่องเล่น เรื่องกิน เรื่องเที่ยว 

“ตอนเริ่มทำคลิปแรกสุด ฟรังรู้สึกยังไงบ้าง” เราถามเพราะอยากรู้ว่า ในฐานะนักแสดงที่คุ้นเคยกับกล้องและกองถ่าย เมื่อผันตัวเองมาเป็นยูทูเบอร์ บทบาทใหม่นี้ท้าทายเธอมากน้อยแค่ไหน

“ตอนถ่ายเขิน เขินมาก คือตอนอยู่ที่บ้านยังไม่เท่าไหร่ แต่พออยู่ข้างนอกนี่มันไม่ได้จริงๆ” 

“มันไม่เหมือนเวลาเราถ่ายซีรีส์หรือถ่ายหนังเหรอ” เราถามต่อ

“มันไม่เหมือน!” ฟรังตอบในทันที 

“คืออันนั้นเขารู้ว่ามันเป็นงาน แต่อันนี้เราต้องเดินถ่ายคนเดียว ต้องไปยืนอยู่คนเดียวในห้าง พูดกับกล้อง สวัสดีค่า ตอนที่มีคนเดินผ่านไปผ่านมา มันอายมาก ก็เลยต้องรอให้คนเดินผ่านไปให้หมดก่อน หามุมที่ไม่ค่อยมีคนแล้วถึงค่อยยกกล้อง” ฟรังเล่าถึงเทคนิคในการถ่ายคลิปนอกบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากที่สุดอย่างหนึ่งในระหว่างการทำคลิป 

ในฐานะคนหัวอกเดียวกัน เรารู้ดีว่ายอดวิวย่อมเป็นสิ่งสำคัญต่อใจคนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ฟรังยอมรับว่าเธอก็คอยติดตามเสียงตอบรับของแต่ละคลิปอยู่ตลอด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอจะยึดติดกับตัวเลขเหล่านั้นจนเสียจุดยืนของตัวเองไป

“เพราะมันเริ่มมาจากการที่เราอยาก เราทำเพราะมันคือความชอบ เราก็อยากให้มันเป็นความชอบของเราไปเรื่อยๆ ก็เลยไม่อยากให้สิ่งนี้ทำให้เราเกิดทุกข์ในอนาคต ถ้าวันไหนเหนื่อยๆ วันไหนมีสอบ เราก็เอาไว้ก่อน เพราะไม่งั้นก็อาจจะเครียด” 

“จากโจทย์แรกที่เราแค่อยากทำคลิปสนุกๆ มาถึงตอนนี้โจทย์ของเราเปลี่ยนไปบ้างไหม” เราถาม

“ก็คงเป็นเรื่องคนดูแหละมั้ง นอกจากความสนุกของเราเองแล้ว ก็อยากให้คนดูสนุกไปด้วย ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะมีคนดูเยอะขนาดนี้ ตอนนี้เลยกลายเป็นว่าอยากให้คนดูได้อะไรจากการดูคลิปเรา” ฟรังตอบด้วยสายตามุ่งมั่น

ฟรัง
ฟรัง

2 ล้าน คือจำนวนผู้ติดตามของฟรังในอินสตาแกรม ซึ่งเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เธอก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง

ว่ากันตามจริง ฟรังใช้เวลาในการเป็นนักแสดงมานานกว่าการเรียนหมอด้วยซ้ำ ทั้งที่ความจริงแล้วเธอจะตัดสินใจพักงานแสดงไปก่อนก็ไม่มีใครว่า นักแสดงหลายคนก็เลือกทำเช่นนั้น เราจึงชวนฟรังคุยว่า อะไรคือสิ่งที่เหนี่ยวรั้งให้เธอยังโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง

“เพราะงานแสดงก็เป็นอาชีพที่เราชอบ ยังรู้สึกสนุกทุกครั้ง เพราะพื้นฐานเราคือคนชอบทำอะไรใหม่ๆ แหละ แล้วงานแสดงมันก็คือสิ่งนั้น มันตอบสนองเรา บทแต่ละเรื่องก็จะต่างออกไป เล่นกับคนที่ต่างออกไป ถ่ายในที่ที่ต่างออกไป เราก็เลยอยากทำไปเรื่อยๆ ถ้ายังมีโอกาส” ฟรังอธิบายพร้อมออกตัวว่า ถึงจะตั้งใจรับงานแสดงอย่างสม่ำเสมอ แต่ผลงานของเธอก็ไม่ได้มีมากเท่ากับนักแสดงคนอื่นอยู่ดี ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาของเธอนั่นเอง

“ทุกวันนี้ก็มีนักแสดงหน้าใหม่เดินเข้าวงการมาเยอะแยะ ในแง่หนึ่งเขาอาจจะเป็นคู่แข่งของเรา การที่เรามีเวลาไม่มากเท่าคนอื่น เป็นอุปสรรคของเราไหม” เราตั้งคำถาม

“ก็ไม่นะ ไม่เคยมองว่าการที่มีนักแสดงใหม่ๆ เข้ามาจะเป็นคู่แข่งหรือเขาจะมาแย่งงานเรา เพราะแต่ละคนก็มีคาแรกเตอร์ต่างกันออกไป แต่เราก็รู้สึกว่าถ้าเราอยากอยู่ตรงนี้ เราก็ต้องพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ เพราะถึงจะมีคนใหม่ๆ เข้ามา แต่ถ้าเราทำหน้าที่ของเราได้ดี เขาก็คงจะยังเลือกเรา” ฟรังตอบคำถามของเรา ผ่านมุมมองของนักแสดงวัยรุ่นมากประสบการณ์คนหนึ่ง

แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกแปลกใจในบทสนทนาครั้งนี้ก็คือ ฟรังไม่เคยวางแผนชีวิตในวงการบันเทิงของตัวเอง

“ไม่ได้คิดเลย คือถ้านึกภาพในอนาคตก็พอจะนึกได้คร่าวๆ แต่ไม่ได้วางแผนอย่างชัดเจน เพราะเรารู้สึกว่าชีวิตเราที่ผ่านมาก็ค่อนข้างพลิกผันเยอะ มีหลายเรื่องที่เราไม่ได้คิดว่ามันจะเกิดกับเราแต่มันก็เกิด ก็เลยรู้สึกว่าเราแค่ต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุด แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามทางของมัน”

การเป็นนักแสดงกับนิสิตแพทย์ อาจเป็นบทบาทที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่มีเรื่องหนึ่งที่ฟรังบอกกับเราว่า เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากสำหรับเธอไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนก็ตาม

“ความเป็นคน” ฟรังตอบด้วยท่าทีสุขุม พร้อมขยายความให้เราฟัง

“คือทั้งคู่มันต้องมีความเป็นคน อย่างอาชีพหมอ คนอาจจะคิดว่าต้องอ่านหนังสือเยอะ แต่สุดท้ายเราก็ต้องไปทรีตกับคนไข้ เราต้องมีเซนส์ของความเป็นคนอยู่แล้ว เช่น ความเห็นอกเห็นใจ 

“อาจารย์หมอหลายคนก็บอกว่า หมอบางคนอาจจะเน้นแค่การรักษาโรค แต่ไม่ได้มองว่าคนไข้ก็เป็นคนคนหนึ่ง มองข้ามจิตวิญญาณของเขาไป แค่ทรีตโรคให้จบ สนใจแค่ความจริง แต่ไม่ได้สนใจเรื่องจิตใจ

“ซึ่งฟรังมองว่าการเป็นนักแสดงมันมีส่วนช่วยตรงนี้นะ เพราะการแสดงมันก็ใช้ความเป็นคนเยอะ ในการจะเล่นเป็นคนสักคน เราต้องเข้าใจจิตใจของตัวละครว่าเขารู้สึกยังไง ซึ่งเราก็สามารถเอาตรงนี้มาประยุกต์ได้”

 ฟรัง

1 ปี คือความห่างระหว่างฟรังกับปอนด์ น้องชายคนกลาง ที่ล่าสุดก็เดินตามพี่สาวเข้าวงการมาติดๆ

“กับปอนด์นี่เราห่างกันไม่เยอะ จะเป็นคนที่ตอนเด็กๆ ก็ทะเลาะกันบ่อย เหมือนเป็นเพื่อนกัน ฟรังเป็นคนที่ไม่ค่อยสนใจปอนด์ เพราะว่าเราก็โตแล้ว แล้วก็เป็นคนที่ดูแลตัวเองได้ ต่างคนต่างก็ดูกันอยู่ห่างๆ มากกว่า

“แต่กับยูโร น้องคนเล็ก อายุห่างกัน 8 ปีครึ่ง เรารู้สึกว่าเราผูกพันกับน้องมากๆ เพราะเห็นมาตั้งแต่เกิด จำวันที่น้องคลอดได้ เลยรู้สึกรักยูโรมากๆ ทุกวันนี้ถึงน้องจะดื้อแต่ว่าเราก็ค่อนข้างสปอยล์น้องนิดหนึ่ง พาไปนู่นไปนี่ ด้วยความที่ห่างกันเยอะ รู้สึกว่าเรามีความเป็นแม่ในคราบพี่ อยากให้เขาโตมาดี ยิ่งช่วงนี้เขาอยู่ ม.3 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเบาๆ เราค่อนข้างเป็นห่วง อยากให้เขาโตขึ้นมาเป็นผู้ชายที่ดี” 

“แล้วในบทบาทลูกสาวของพ่อกับแม่ ฟรังเป็นเด็กแบบไหน” เราถามต่อ

“เราว่าเราดื้อ” ฟรังตอบในสิ่งที่ยากจะเชื่อ เพราะมันช่างขัดแย้งกับภาพลักษณ์เด็กดีของเธอโดยสิ้นเชิง

“พื้นฐานเราเป็นคนดื้อมาตั้งแต่เด็ก แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นการดื้อที่ค่อนข้างอยู่ในกรอบ เพราะฉะนั้น พ่อแม่จึงไว้ใจเรามากในทุกเรื่อง ถ้าเราอยากทำอะไรเขาก็จะปล่อยให้ทำ คือเขาค่อนข้างซัพพอร์ต เราอยากเรียนอะไรเขาก็ให้เรียน ตอน ม.ปลายที่เราไปเรียนพิเศษ คือเราก็อยากเรียนเอง ทุกอย่างจัดการเอง แต่ช่วงนั้นยังไม่มีรายได้ พอไปขอตังค์เขาก็โอเค คือเขาไว้ใจเรามากจริงๆ” ฟรังอธิบายถึงความดื้อในรูปแบบของเธอ

“แล้วทุกวันนี้คิดว่าตัวเองยังดื้ออยู่ไหม” เราถามต่อ 

“ดื้อ รู้สึกว่ายังมีมุมที่ดื้ออยู่แหละ เถียงนู่นเถียงนี่ทั่วไป” 

ความดื้อที่ฟรังหมายถึง อาจเรียกได้ว่าเป็นนิสัยของเด็กที่มีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่เปิดโอกาสให้เธอได้รับผิดชอบชีวิตตัวเองตั้งแต่เด็ก โดยที่พ่อกับแม่ไม่เข้าไปกะเกณฑ์ แต่มีหน้าที่เพียงสนับสนุนลูกเท่านั้น ไม้เว้นแม้แต่เรื่องธุรกิจครอบครัวซึ่งพ่อแม่ส่วนมากมักคาดหวังให้ลูกกลับมารับช่วงต่อ

“ตั้งแต่เด็กพ่อจะบอกเราเสมอเลยว่า โตขึ้นก็แล้วแต่เราเลย ชอบอะไรก็ทำเลย แม้กระทั่งกับปอนด์ที่เป็นลูกชาย เขาก็บอกว่าไม่จำเป็น เพราะรู้ว่าลูกมีความคิดเป็นของตัวเอง และเขาก็คงเชื่อในตัวเราประมาณหนึ่ง ว่าเราจะสามารถดูแลตัวเองได้ในอนาคต โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปตามเส้นทางของพ่อ เขาบอกว่าลูกมีเส้นทางที่ดีในแบบของลูกซึ่งอาจจะดีกว่าพ่อก็ได้ 

“คนชอบบอกว่าเราบริหารเวลาเก่ง แต่เราก็ไม่ได้อยากจะพูดแบบนั้น เพราะความจริงชีวิตเราก็มีความยุ่งเหยิงประมาณหนึ่งเหมือนกัน” นี่คือสิ่งที่อยู่ในใจของฟรัง ในวันที่ผู้คนต่างยกย่องให้เธอเป็นเทพแห่งการจัดการเวลา

“ถ้าอย่างนั้นฟรังมีอะไรที่คิดว่าเราต้องปรับปรุงต่อไปไหม” 

“มี คือมันอาจจะค้านๆ นิดหนึ่ง แต่ฟรังรู้สึกว่าชีวิตเรามันเดินเร็วไปนิดหนึ่ง เวลาของเรามันสำคัญเกินไป จนบางทีเราก็มีความรู้สึกว่าอยากใช้เวลากับเพื่อนมากกว่านี้ อยากใช้เวลากับครอบครัวมากกว่านี้ เพราะปกติเลิกเรียนเราก็ต้องมาทำงาน หรืออย่างวันนี้มาสัมภาษณ์แทนที่จะได้ออกไปสยามกับเพื่อน แต่สุดท้ายเราก็คิดว่า เพราะเราเลือกตรงนี้แล้ว

“อีกอย่างที่ต้องปรับปรุงก็น่าจะเป็นเรื่องความเครียด การกดดันตัวเอง หลายอย่างที่เราตั้งใจเกินไป เราอยากทำให้มันดี ซึ่งพอสุดท้ายมันไม่ได้ดีอย่างที่คิด เราก็ยังคิดมากอยู่บ้าง” 

โชคดีที่ฟรังไม่ได้คิดมากจนเกินไปนัก แม้ว่าเธอจะเคยเล่าในชาแนลยูทูบของตัวเองว่า ฟรังมักจะเขียน Bucket List สำหรับตัวเองในทุกปี แต่เมื่อเราถามถึงความตั้งใจในปีนี้ คำตอบที่ได้กลับไม่ได้จริงจังหรือเป็นเรื่องใหญ่โตอย่างที่เราคิด

“ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของชีวิต เราอยากใช้ชีวิตแฮปปี้ ซึ่งตอนนี้ก็แฮปปี้อยู่ กับเรื่องการเรียน ที่อยากเรียนให้จบตามปี ก็จบปี 3 ไปแล้ว เหลือปี 4 เทอมหนึ่ง แล้วก็มีเรื่องการเก็บเงิน ซึ่งเราก็ค่อนข้างเก็บได้นะ” ฟรังตอบพร้อมรอยยิ้มภาคภูมิใจ

“แล้วมีอะไรที่ยังไม่สำเร็จบ้าง” เราถามต่อ

“ลดน้ำหนัก” ฟรังตอบพร้อมเสียงหัวเราะขัดเขิน “เป็น Bucket List หลายปีมาแล้ว คือมันเหมือนจะมีช่วงหนึ่งที่ฟิตออกกำลังกาย แต่พอหลังกลับมาจากต่างประเทศก็ยังไม่ได้ออกเลย แต่ชีวิตเรายังแฮปปี้ได้อยู่ เป็น Bucket List เหมือนกัน ก็โอเคแหละ (หัวเราะ)”

ฟรัง

Writer

Avatar

สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

เด็กนิเทศ เอกวารสารฯ กำลังอยู่ในช่วงหัดเขียนอย่างจริงจัง แต่บางครั้งก็ชอบหนีไปวาดรูปเล่น มีไอศครีมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามอ่อนล้า

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ