ในยุคที่มนุษย์พึ่งพาเรือเป็นพาหนะหลักในการเดินทางระยะไกล ผืนดินกว้างใหญ่ตอนบนของทวีปอเมริกาเหนือซึ่งมีชื่อว่า ‘แคนาดา’ ยังเป็นแดนสนธยาที่น้อยคนจะด้นดั้นไปถึง หากไม่ใช่ผู้อพยพที่ตั้งใจบ่ายหน้ามาตั้งหลักแหล่ง หรือข้าราชการจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งถูกส่งตัวมาด้วยภาระหน้าที่เสียอย่าง ก็ยากที่ใครสักคนจะสัญจรมาที่นี่เพื่อเที่ยวชมความงามของดินแดนแห่งต้นเมเปิล ทิวสน ธารน้ำแข็ง ตลอดจนทะเลสาบสีครามในอ้อมกอดของเทือกเขาหิมะ

ครั้นแล้วในปีคริสต์ศักราช 1931 ประวัติศาสตร์แคนาดาก็ต้องจารึกเรื่องราวบทใหม่ เมื่อเรือลำใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นนำชนชั้นสูงชาวเอเชียคู่หนึ่ง รอนแรมมาขึ้นฝั่ง ณ ท่าเรือเมืองวิกตอเรีย

แม้ทั้งสองจะเดินทางออกจากแคนาดาทันทีในเช้าวันพรุ่ง แต่มิช้าสองท่านนั้นก็หวนกลับมายังแดนไกลลิบนี้อีกครั้ง ก่อนตระเวนท่องเที่ยวพักผ่อนในแคนาดาเป็นเวลานานถึง 2 เดือน พร้อมกับสถาปนาพระองค์เป็นกษัตริย์และราชินีชาวตะวันออกไกลคู่แรกที่ได้เสด็จฯ เยือนประเทศแคนาดา

ทั้งสองพระองค์นั้นคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ตามรอยเสด็จประพาสดินแดนเมเปิลของ ร.7 จากภาพถ่ายนิทรรศการ ‘จากสยามสู่แคนาดา 1931’

เรื่องราวการเสด็จประพาสแคนาดาของรัชกาลที่ 7 แห่งจักรีวงศ์อาจถูกลืมเลือนไปจากความรับรู้ของประชาชนไทย ด้วยระยะเวลาที่ล่วงผ่านมานานกว่า 9 ทศวรรษ อีกทั้งรัชสมัยสั้น ๆ ของพระองค์เป็นที่จดจำมากกว่า ในเรื่องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในอีก 1 ปีให้หลัง

แต่มาวันนี้ การเสด็จฯ เยือนแคนาดาครั้งประวัติศาสตร์ได้ถูกนำมาเล่าขานกันใหม่ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรูปแบบนิทรรศการหมุนเวียนชื่อ ‘จาก ‘สยาม’ สู่ ‘แคนาดา’ 1931’

ตามรอยเสด็จประพาสดินแดนเมเปิลของ ร.7 จากภาพถ่ายนิทรรศการ ‘จากสยามสู่แคนาดา 1931’

“สาระสำคัญของนิทรรศการนี้ คือเรื่องราวเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศแคนาดาเมื่อ ค.ศ. 1931 ถ้านับแบบไทยก็จะตรงกับ พ.ศ. 2474 ค่ะ” รุ้ง-จิตสุภา หวังศิริสมบูรณ์ ภัณฑารักษ์ผู้ดูแลนิทรรศการบอกด้วยน้ำเสียงแจ่มใส

ตามรอยเสด็จประพาสดินแดนเมเปิลของ ร.7 จากภาพถ่ายนิทรรศการ ‘จากสยามสู่แคนาดา 1931’

ด้านหลังเธอคือต้นไม้ปลอมสูงเทียมเพดาน ซึ่งหากเยี่ยมสายตามองต่ำลงไปใต้เงาไม้พลาสติกนั้น ก็จะเห็นแม่เหล็กรูปใบเมเปิลอันเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติแคนาดาโรยรายอยู่บนพื้นหญ้าเทียม มุมหนึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์รัชกาลที่ 7 ประทับยืนในฉลองพระองค์อย่างชาวตะวันตก สวมพระมาลา (หมวก) รายรอบด้วยบรรดาชาวต่างชาติ มีกองดินที่เพิ่งถูกขุดอยู่เบื้องหน้าพระวรกาย

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการนี้ก็เกิดขึ้นได้จากดินกองนั้นเอง

ตามรอยเสด็จประพาสดินแดนเมเปิลของ ร.7 จากภาพถ่ายนิทรรศการ ‘จากสยามสู่แคนาดา 1931’

“ก่อนเริ่มทำนิทรรศการ ทางสถาบันพระปกเกล้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ของเรามีข้อตกลงระหว่างองค์กรกับมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย (University of Victoria) ที่แคนาดา ดร.วิกเตอร์ วี. รามราช (Dr.Victor V. Ramraj) อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นได้ส่งภาพต้นไม้ที่เขาไปพบมาให้ เป็นต้นโอ๊กที่สวนสาธารณะในเมืองวิกตอเรีย ตรงต้นไม้มีข้อความเขียนไว้ว่า ‘King Prajadhipok of Siam’ ระบุปี 1931 เขาไปค้นข้อมูลเพิ่มเติม ได้พบข้อมูลในหอจดหมายเหตุเมืองวิกตอเรียที่มีภาพพระองค์ท่านทรงปลูกต้นไม้ ทำให้เรารู้ว่าน่าจะเป็นครั้งเดียวกับที่เสด็จฯ ไปแคนาดาเมื่อ ค.ศ. 1931 เราก็เลยได้ร่วมงานกับสถานทูตแคนาดา”

ตามรอยเสด็จประพาสดินแดนเมเปิลของ ร.7 จากภาพถ่ายนิทรรศการ ‘จากสยามสู่แคนาดา 1931’

สวนสาธารณะดังกล่าวมีนามว่า สวนสาธารณะบีคอน ฮิลล์ (Beacon Hill Park) ฟากหนึ่งของสวนได้ชื่อว่า สวนของนายกเทศมนตรี หรือ เมเยอร์ส โกรฟ (Mayor’s Grove) ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันว่า คนใหญ่คนโตที่มาเยือนเมืองวิคตอเรียจะต้องมาปลูกต้นไม้ที่สวนแห่งนี้ ลอร์ดบาเดน พาวเวลล์ (Lord Baden-Powell) ผู้สถาปนากิจการลูกเสือโลก และเซอร์วินสตัน เชอร์ชิล (Sir Winston Churchill) อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษแห่งสหราชอาณาจักรล้วนเคยฝากผลงานการปลูกต้นไม้ของตนไว้ทั้งสิ้น

ซึ่งหากจะต้องเลือกสถานที่สำหรับจัดแสดงแง่มุมในพระชนม์ชีพของรัชกาลที่ 7 คงไม่มีที่ใดจะเหมาะสมไปกว่าพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้พระราชประวัติของพระองค์มาตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2545 ตรงกับวาระที่พิพิธภัณฑ์นี้มีอายุครบ 20 ปีพอดี

“สถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทยได้ช่วยติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งพิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ ห้องสมุดที่แคนาดา ฯลฯ เราจึงได้ภาพ ได้ข้อมูลมาค่อนข้างเยอะ เดิมเรามีภาพอยู่เป็นบางส่วน แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ใดแน่ เพราะว่าในการเสด็จฯ ครั้งนั้น รัชกาลที่ 7 ท่านเสด็จฯ ไปทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา พอได้ติดต่อกับหน่วยงานทางโน้นจึงได้ข้อมูลมากพอจนจัดนิทรรศการนี้ได้”

ตามรอยเสด็จประพาสดินแดนเมเปิลของ ร.7 จากภาพถ่ายนิทรรศการ ‘จากสยามสู่แคนาดา 1931’

การตระเตรียมงานทุกขั้นตอนเกิดขึ้น ดำเนินไป และแล้วเสร็จภายในเวลาประมาณ 3 เดือน ซึ่งนับว่าไวมาก โดยคุณรุ้งเปิดเผยว่าเธอและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้คิดหัวข้อเรื่องที่จะนำเสนอไว้เรื่อย ๆ ตามภาพที่รวบรวมมาได้ ก่อนจะทยอยทำการค้นคว้าพิสูจน์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ทีละส่วน

ที่ยากยิ่งกว่าคือนิทรรศการนี้นำเสนอข้อมูลทั้งหมดเป็น 3 ภาษาเสมอ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส โดย 2 ภาษาหลังคือภาษาราชการของประเทศแคนาดา คุณรุ้งจะต้องเขียนข้อมูลเป็นภาษาไทยก่อน จากนั้นจึงส่งให้สถานทูตแคนาดาตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงแปลข้อความเหล่านั้นเป็นอังกฤษและฝรั่งเศสต่อไปในชั้นหลัง

3 เดือนแห่งการเตรียมงานลุล่วงไปด้วยดี ทางพิพิธภัณฑ์ได้ทำพิธีเปิดนิทรรศการไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และเปิดให้ผู้สนใจทั้งไทยและเทศเข้าชมได้นับแต่นั้น

ตามรอยเสด็จประพาสดินแดนเมเปิลของ ร.7 จากภาพถ่ายนิทรรศการ ‘จากสยามสู่แคนาดา 1931’

ถ้าไม่นับต้นโอ๊กจำลองที่อยู่กลางห้อง ทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชมย่อมต้องรู้สึกลานตากับภาพขาวดำในกรอบ ทั้งขนาดเล็กและใหญ่นับสิบ ๆ ภาพ ซึ่งประดับอยู่ทั่วผนังทั้ง 3 ด้าน โดยมีคำบรรยาย 3 ภาษากำกับอยู่เพื่อให้ความรู้อย่างละเอียดแก่ผู้ร่วมนิทรรศการ

ภาพที่นำมาจัดแสดงทุกภาพเป็นสีขาวดำสมกับยุคทศวรรษ 1930 ที่กล้องสียังไม่ถูกประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งโดยมากถ่ายด้วยฟิล์มกระจก เหล่านี้มีทั้งภาพที่เป็นของพิพิธภัณฑ์เอง และภาพที่ไปพบตามพิพิธภัณฑ์กับหอจดหมายเหตุในประเทศแคนาดา สถานทูตแคนาดาแห่งประเทศไทยได้ช่วยประสานไปถึงสถาบันเหล่านั้น ซึ่งทั้งหมดก็ให้ความร่วมมือด้วยการส่งสำเนามาให้จัดแสดงด้วยดี

ตามรอยเสด็จประพาสดินแดนเมเปิลของ ร.7 จากภาพถ่ายนิทรรศการ ‘จากสยามสู่แคนาดา 1931’

หากจะชมตามลำดับเวลา ภาพแรกที่ควรชมคือภาพที่ในหลวง ร.7 กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จลงจากเรือพระที่นั่งเอมเพรส ออฟ เจแปน ตามหลัง กัปตันแซมมูเอล โรบินสัน ผู้ควบคุมเรือ

“ครั้งนั้นรัชกาลที่ 7 ท่านเสด็จฯ ไปสหรัฐอเมริกาเพื่อผ่าตัดพระเนตร เพราะท่านทรงเป็นต้อกระจก ตอนแรกทรงประทับนั่งบนเรือจากญี่ปุ่นไปขึ้นฝั่งที่แคนาดา” คุณรุ้งปูความเข้าใจคร่าว ๆ “จากนั้นท่านก็เสด็จฯ ไปอเมริกาทางรถไฟ ก็ประทับอยู่ที่อเมริกานานหลายเดือนเหมือนกัน เพราะทรงเข้ารับการผ่าตัดและพักฟื้น หลังจากนั้นท่านจึงเสด็จฯ ไปแคนาดาเพื่อพักฟื้นพระวรกายต่ออีก 2 เดือน”

ตามรอยเสด็จประพาสดินแดนเมเปิลของ ร.7 จากภาพถ่ายนิทรรศการ ‘จากสยามสู่แคนาดา 1931’

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ โดยรถไฟขบวนพิเศษ มุ่งหน้าไปยังสถานีสกาเบอโร รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ก่อนการเสด็จพระราชดำเนินจะเริ่มต้นขึ้น รัฐบาลสยามได้ติดต่อกับประเทศที่จะเสด็จฯ ผ่านและประทับ ในส่วนของแคนาดา ได้ปรากฏหลักฐานการโต้ตอบกันทางโทรเลขระหว่างหน่วยงานรัฐ ทั้งเรื่องนัดหมายการเตรียมความพร้อมเพื่อเฝ้าฯ รับเสด็จ แผนอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและเยือนสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงการเตรียมสิ่งของแลกเปลี่ยนระหว่างกัน

น่าสนใจว่าในบรรดาโทรเลขที่พบ มีโทรเลขจากกงสุลใหญ่แห่งสยามประจำดินแดนแคนาดา วิลเลียม วัตสัน อาร์มสตรอง ถึง ดร.ออสการ์ ดี สเกลตัน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศแคนาดาในขณะนั้น ว่าด้วยการจัดการกับพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐที่ตีพิมพ์ในสมัย ร.7 ซึ่งรัฐบาลสยามได้ส่งมอบแก่สถาบันการศึกษาในแคนาดารวมทั้งสิ้น 7 แห่งด้วย

ตามรอยเสด็จประพาสดินแดนเมเปิลของ ร.7 จากภาพถ่ายนิทรรศการ ‘จากสยามสู่แคนาดา 1931’

จากพระนครสยาม พระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระราชินีได้เสด็จฯ ขึ้นเรือไปยังดินแดนฮ่องกงของอังกฤษเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2474 เพื่อประทับเรือเอมเพรส ออฟ เจแปน ซึ่งแวะเทียบท่าที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีน ทรงเยือนประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 4 วัน จึงข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปขึ้นฝั่ง ณ ท่าเรือเมืองวิกตอเรีย มณฑลบริติชโคลัมเบีย ทางฝั่งตะวันตกของแคนาดา รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 7 วัน กับอีก 20 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าสั้นที่สุดเท่าที่เรือลำนี้เคยล่องผ่านเส้นทางนี้มา

ช่วงดึกของวันที่ 16 เมษายน เรือเอมเพรส ออฟ เจแปน ได้เทียบท่าที่สถานกักกันโรควิลเลียมส์ แต่เพราะรัชกาลที่ 7 กำลังประชวรด้วยไข้มาลาเรีย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีจึงทรงเป็นผู้พระราชทานพระวโรกาสให้ข้าราชการชั้นสูงของแคนาดาได้เข้าเฝ้าฯ แทน ก่อนที่เรือจะมุ่งสู่เมืองแวนคูเวอร์ต่อไป

“ในการเสด็จฯ ร.7 มีพระราชประสงค์จะไม่เปิดเผยพระองค์ ในเอกสารไม่ได้ระบุว่าท่านเสด็จฯ ในนาม King แต่จะเขียนว่า Prince of Sukhothai (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา) ซึ่งเป็นพระยศเดิมของท่านก่อนทรงขึ้นครองราชย์ แต่พอไปถึงแคนาดา ทางการแคนาดาก็ให้การต้อนรับแบบสมพระเกียรติ ยิ่งใหญ่ เป็นทางการอยู่ดีค่ะ” ผู้ดูแลนิทรรศการบรรยายพลางชี้ให้เห็นความสำคัญของแต่ละรูป

ชุดภาพการเสด็จฯ เยือนแคนาดาครั้งแรกของกษัตริย์เอเชีย ซึ่งลำเลียงมาให้คนไทยได้ชมชั่วคราวที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ

“แคนาดาอยู่ในเครือจักรภพของสหราชอาณาจักร ยังนับถือพระมหากษัตริย์อังกฤษเป็นประมุข คนที่มาแสดงการต้อนรับต่อพระองค์คือตัวแทนของนายกรัฐมนตรีและเหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นี่คือครั้งแรกที่ท่านเสด็จฯ มา หลังจากนั้นท่านก็ไปประทับรักษาพระองค์ที่สหรัฐฯ ตอนเสด็จฯ กลับมาที่แคนาดาอีกครั้ง ท่านได้เสด็จฯ ไปหลายที่ ไปเมืองหลวงของแคนาดาด้วย ได้พบผู้สำเร็จราชการแทน สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และได้พบกับนายกรัฐมนตรีด้วย”

คุณรุ้งเล่าว่าต้นโอ๊กขาวทรงปลูกในสวนนายกเทศมนตรีต้นนั้น ก็ถือกำเนิดขึ้นจากการเสด็จฯ เยือนแคนาดารอบสอง ซึ่งรอบนี้ไม่ใช่เพียงเสด็จฯ ผ่านแค่เพื่อโดยสารรถไฟไปสหรัฐอเมริกาเช่นครั้งแรก แต่เป็นการเสด็จประพาสเพื่อทรงพักผ่อน และประกอบพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์

“เดือนกรกฎาคม พระองค์ท่านเสด็จฯ ไปถึงควิเบก ซึ่งทรงโปรดมาก เพราะว่ามณฑลควิเบกเป็นมณฑลเดียวในแคนาดาที่พูดภาษาฝรั่งเศส ร.7 ท่านทรงเป็นนักเรียนเก่าฝรั่งเศส มีความรู้เรื่องฝรั่งเศส ก็เลยจะโปรดควิเบกและแคนาดาเป็นพิเศษ” 

ชุดภาพการเสด็จฯ เยือนแคนาดาครั้งแรกของกษัตริย์เอเชีย ซึ่งลำเลียงมาให้คนไทยได้ชมชั่วคราวที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ

หลังประทับที่ควิเบก (ฝรั่งเศสออกเสียงว่า ‘เกแบ็ก’) ได้ระยะหนึ่ง ทั้งสองพระองค์ได้ประทับเรือพระที่นั่งล่องไปเรื่อย ๆ จนถึงเมืองมอนทรีออล หรือ มงเทรอาล ในภาษาฝรั่งเศส ที่นั่น นาย จอห์น วิลสัน แมคคอนเนลล์ คหบดีท้องถิ่นได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายบ้านพักตากอากาศของเขาเป็นที่ประทับชั่วคราวแก่พระมหากษัตริย์ชาวไทย ในหลวง ร.7 ทรงโปรดปรานบ้านหลังนี้มาก ถึงกับทรงตั้งชื่อภาษาไทยให้บ้านนี้ว่า ‘บ้านสราญใจ’ ก่อนจะเสด็จฯ เยือนกรุงออตตาวา เมืองหลวงของแคนาดาต่อไป

นิทรรศการนี้ยังมีภาพถ่ายน่าชมอีกหลายภาพ อาทิ ภาพที่พระองค์ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับกลุ่มชาวแคนาดาเชื้อสายสกอตแลนด์ในเมืองแบนฟฟ์ (Banff)

ชุดภาพการเสด็จฯ เยือนแคนาดาครั้งแรกของกษัตริย์เอเชีย ซึ่งลำเลียงมาให้คนไทยได้ชมชั่วคราวที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ

“แบนฟฟ์เป็นเมืองที่มีธรรมชาติสวยงาม รัชกาลที่ 7 ทรงได้เปิดงานเทศกาลชุมนุมที่ราบสูง เป็นเหมือนงานกีฬาและดนตรีของชาวสกอต ปกติแล้วจะมีผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักรประจำมณฑลเป็นผู้เปิดงาน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีประมุขจากต่างประเทศเป็นผู้ทรงเปิดงาน และเข้าร่วมเป็นประธานในพิธีด้วย พระองค์ก็ได้ทอดพระเนตรการแข่งขันวงปี่สกอต เต้นรำพื้นเมือง การประกวดร้องเพลงสกอต รวมถึงกีฬาขว้างค้อน ขว้างจักร ทุ่มน้ำหนักด้วยค่ะ”

ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังได้เสด็จไปร่วมทรงม้ากับกลุ่มนักขี่ม้าแห่งเทือกเขาร็อกกี้ เป็นที่มาของพระบรมฉายาลักษณ์อีกจำนวนมากที่นำมาจัดแสดงไว้ในนิทรรศการนี้

“กลุ่มนักขี่ม้าแห่งเทือกเขาร็อกกี้ แคนาดา เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร คอยช่วยเหลือผู้ชื่นชอบธรรมชาติและการเดินทางไกล ปัจจุบันกลุ่มนี้ก็ยังมีอยู่ เป็นอาสาสมัครที่คอยพานักท่องเที่ยวไปเดินทางไกลบนเทือกเขาร็อกกี้ ยังมีการจัดทัวร์อยู่ ทางพิพิธภัณฑ์เราก็ได้ติดต่อกับเขาด้วย เขาส่งรูปมา ทำให้รู้ว่ารูปที่ท่านทรงม้า และรูปที่ท่านทรงฉลองพระองค์ทรงม้านั้น ฟากเราก็มีเหมือนกัน” คุณรุ้งกล่าวถึงเรื่องน่าทึ่งที่ได้พบระหว่างสืบค้นข้อมูล

ชุดภาพการเสด็จฯ เยือนแคนาดาครั้งแรกของกษัตริย์เอเชีย ซึ่งลำเลียงมาให้คนไทยได้ชมชั่วคราวที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ

กลุ่มนักขี่ม้าแห่งเทือกเขาร็อกกี้มีข้อกำหนดอยู่ว่า หากใครขี่ม้าเป็นระยะทางไกลได้ตามที่กำหนด พวกเขาจะมอบเหรียญที่ระลึกให้เป็นของขวัญ รัชกาลที่ 7 ทรงม้าได้ไกลถึง 100 ไมล์ จึงทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญเงิน ขณะที่สมเด็จพระราชินีคู่บุญทรงม้าได้ 50 ไมล์ จึงทรงได้รับเหรียญทองแดงจาก พันเอกฟิลิป เอ. มัวร์ ประธานกลุ่มนักขี่ม้า

“พระพลานามัยของ ร.7 ไม่ค่อยดี ท่านเลยต้องทรงกีฬา ส่วนสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรรณีก็ทรงเป็นสตรีที่ค่อนข้างหัวสมัยใหม่ ท่านจึงโปรดการทรงกีฬา กอล์ฟ เทนนิส ท่านได้หมดเลย”

นอกจากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีแล้ว รูปถ่ายบนเทือกเขาร็อกกี้ยังมีพระฉายาลักษณ์ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ซึ่งเป็นพระราชโอรสบุญธรรมในรัชกาลที่ 7 กับพระอัครมเหสีของพระองค์ด้วย

ชุดภาพการเสด็จฯ เยือนแคนาดาครั้งแรกของกษัตริย์เอเชีย ซึ่งลำเลียงมาให้คนไทยได้ชมชั่วคราวที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ

ชมเรื่องราวการเสด็จฯ เยือนแคนาดากันแล้ว หากว่าใครอยากรู้เรื่องพระราชประวัติของทั้งสองพระองค์มากยิ่งขึ้น พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าแห่งนี้ยังมีข้อมูลจัดแสดงให้รับชมกันได้อย่างเต็มอิ่มจุใจ ทั่วทั้งอาคาร 3 ชั้นที่บูรณะมาจากอาคารกรมโยธาธิการเดิมหลังนี้

ชุดภาพการเสด็จฯ เยือนแคนาดาครั้งแรกของกษัตริย์เอเชีย ซึ่งลำเลียงมาให้คนไทยได้ชมชั่วคราวที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ

“อยากให้คนรุ่นเราได้เห็นการเดินทางในสมัยก่อน รวมทั้งการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ว่ารัชกาลที่ 7 ท่านทอดพระเนตรเห็นอะไรมาบ้าง ทรงทำอะไรบ้าง เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ คนมาที่นี่ก็จะได้เห็นภาพของคนในสมัยก่อนเขาทำอะไร ชอบหรือสนใจอะไรกัน ที่อยู่ในนิทรรศการนี้อาจบอกเรื่องราวไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยากให้ชมภาพกันค่ะ” ผู้ดูแลนิทรรศการมอบรอยยิ้มจริงใจเป็นของกำนัลแด่ทุกคนที่มาร่วมยลชุดภาพถ่ายครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 91 ปีก่อน

ชุดภาพการเสด็จฯ เยือนแคนาดาครั้งแรกของกษัตริย์เอเชีย ซึ่งลำเลียงมาให้คนไทยได้ชมชั่วคราวที่พิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าฯ

ทั้งนี้ ‘จาก ‘สยาม’ สู่ ‘แคนาดา’ 1931’ จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 และเปิดให้เข้าชมได้ถึง 30 เมษายน พ.ศ. 2566 เปิดทุกวันอังคารถึงวันอาทิตย์ ในเวลา 09.00 – 16.00 น. ตามเวลาทำการของพิพิธภัณฑ์ โดยไม่มีค่าบัตรผ่านประตู นอกจากผู้เยี่ยมชมจะไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังได้รับของที่ระลึกเป็นแม่เหล็กรูปใบเมเปิล พร้อมตรานิทรรศการเป็นของที่ระลึกอีกด้วยนะ

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

วรินทร์ธร บุรธัชวัฒนสิริ

ชื่อเล่น มุกขลิน จบสถาปัตย์ลาดกระบัง สาขาถ่ายภาพ เป็นช่างภาพที่ร่าเริงสดใส รักในเสียงดนตรี แต่พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง เอ๋อๆงงๆ