จะมีพื้นที่สักกี่แห่งบนโลกนี้ ที่ผู้คนในวัยที่อายุขึ้นต้นด้วยเลข 2 เลข 3 หรือแม้แต่เลข 4 มีโอกาสได้เล่นแปะแข็ง โดดยาง บอลลูนด่าน ซ่อนแอบ เหมือนในสมัยเด็ก ๆ อีกครั้ง
จะมีพื้นที่สักกี่แห่งบนโลกนี้ ที่เราจะเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย คนแปลกหน้าจะได้มาเป็นเพื่อนกันอย่างเรียบง่ายและจริงใจ เป็นพื้นที่ที่เราพูดคุยเรื่องราวความรู้สึกลึก ๆ ในจิตใจแบบตรงไปตรงมา พื้นที่มีเสียงหัวเราะ เสียงดนตรี ศิลปะ ไปจนถึงบอร์ดเกมและเพลย์สเตชันให้ผู้มาเยือนได้เล่น
อีกทั้งพื้นที่นี้ยังเป็นพื้นที่ซึ่งโอบล้อมด้วยธรรมชาติ ต้นไม้ใหญ่ มีวิวทุ่งนาและภูเขา มีฝูงค้างคาวยามเย็นที่บินออกจากถ้ำมาให้ชมนับพันตัว มีบ้านดินที่เหล่าทีมงานและอาสาสร้างขึ้นมากับมือ มีการใช้ชีวิตที่ใส่ใจและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มีการแยกขยะอย่างละเอียด ใช้ใยบวบล้างจานแทนสก็อตไบรต์ ทำน้ำยาล้างจานเอง หรือแม้กระทั่งบ้านดินที่พวกเขาสร้างก็สอดไส้ด้วย Eco-Brick หรือขวดพลาสติกที่อัดแน่นไปด้วยขยะที่รีไซเคิลไม่ได้กว่า 2,000 ขวด ช่วยลดขยะที่จะต้องไปบ่อขยะได้มหาศาล

“ก่อนมาที่นี่ ผมมีช่วงที่มองมนุษย์ค่อนข้างแย่ แต่การมาอยู่ที่นี่ทำให้ผมได้เจอด้านดีของมนุษย์ รู้สึกขอบคุณตัวเองที่ตัดสินใจมาที่นี่” – อาร์ท
“ต้องขอยกสถานที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่ฮีลทุกคนจริง ๆ” – เตย
“ฟีลคือตามชื่อจริง ๆ ไปที่นี่เพื่ออยู่กับเพื่อน ๆ และธรรมชาติ เป็นพื้นที่ที่ผู้คนดูจะเป็นตัวเองในแบบที่อยู่กับเพื่อนในหลากหลายสภาวะได้ จะเป็นจังหวะเล่น เกรียน ฮา จังหวะเปราะบาง ฮีล ดูแลใจ แลกเปลี่ยน จังหวะชมนกชมไม้ จังหวะปล่อยของ หรือพากันทำพากันลอง ใช้แรงกายแรงใจแรงสมองด้วยกัน” – กิ๊ฟ
นี่คือบางส่วนจากหลากหลายความรู้สึกของเหล่าอาสาสมัครและผู้มาเยือนที่มีต่อพื้นที่ที่ชื่อว่า ‘Friends & forest‘
ที่นี่คือพื้นที่ 28 ไร่ กลางสวนไม้ล้อมเก่า ณ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ที่ ป๊อบ-กิตติพงษ์ หาญเจริญ มาลงทุนซื้อไว้ เพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งการสร้างฝันร่วมกันของคนหลายคน หากใครคุ้นชื่อของป๊อบ ใช่แล้ว เขาคือคนเดียวกับผู้ก่อตั้ง ‘มหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ’ และ ‘Gap Year Program’ อีกทั้งเป็นคนทำหนังสือ ‘Home Made Seed Saving คู่มือเก็บเมล็ดพันธุ์ประจำบ้าน’
หากให้นิยาม Friends & forest แบบสั้น ๆ ป๊อบบอกว่า อยากให้ที่นี่เป็นเหมือน ‘บ้านเพื่อน’ ที่ผู้มาเยือนรู้สึกสนุก สบายใจ ให้ประสบการณ์เหมือนเวลาเราไปเที่ยวบ้านเพื่อนในสมัยเด็ก ๆ ที่เรามักจะชวนกันทำนั่นทำนี่มากมาย
ถ้าอธิบายให้เห็นภาพกว่านั้น ก็ให้นึกถึงฟาร์มสเตย์บ้านดินที่ไม่ได้มีแค่ที่พัก แต่ยังมีกิจกรรมหลากหลาย แต่ละคนเลือกก่อนมาได้ว่าอยากได้รับประสบการณ์แนวไหนในบ้านเพื่อนแห่งนี้ รวมทั้งเป็นพื้นที่จัดค่าย จัดเวิร์กชอป ทั้งแนวเข้าใจตัวเอง สังคม สิ่งแวดล้อม พืชผัก ไปจนถึงจิตใจ
บางคนที่มาที่นี่ก็กลับมาเจอกันใหม่ จนพูดเล่นกันว่า… โพธารามก็แค่หน้าปากซอย

Play – Learn – เพลิน – ฮีล
จุดเด่นอย่างหนึ่งของที่นี่คือมีกิจกรรมให้เลือกทำหลากหลาย
คำว่า ‘หลากหลาย’ ในที่นี้ หมายถึงหลากหลายแบบสุด ๆ โดยแบ่งออกเป็น 4 หมวดหมู่ คือ Play – Learn – เพลิน – ฮีล
สำหรับหมวดหมู่แรกคือ ‘การเล่น’ ที่นี่มีทั้งบอร์ดเกม ยิงธนู ไปจนถึงเพลย์สเตชัน 4 แต่ที่เราประทับใจที่สุดก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘การเล่น Retro’ หรือการเล่นย้อนวัย ไม่ว่าจะเป็นการโดดยาง แปะแข็ง บอลลูนด่าน ซ่อนแอบ ซึ่งทีมงานพร้อมมากที่จะเป็นเพื่อนเล่นให้ หรือถ้าอยากได้เกมอื่น ๆ ใด ๆ ก็ขอแค่บอกมา ถ้าไม่เกินสังขารจะรับไหว ทีมงานก็พร้อมจัดให้
“สมัยเด็ก ๆ เราชอบเล่นกับเพื่อนแถวบ้าน ช่วงปิดเทอมใหญ่จะเล่นแบบนี้กันทุกบ่ายตลอด 12 เดือน เล่นกันสนุกมาก แต่พอรู้ตัวอีกที เฮ้ย! สิ่งเหล่านี้กำลังจะหายไปแล้ว เด็กรุ่นนี้เล่นมือถือกันอย่างเดียวแล้ว จนอยู่มาวันหนึ่งก็มีเพื่อนพูดเรื่องนี้ขึ้นมา บอก ป๊อบ เราจัดเล่นพวกนี้ไหม เอาจริงจังเลย ทัวร์นาเมนต์ดีดลูกแก้ว บอลลูนด่าน ใครว่าแน่มาแข่งกัน ตั้งถ้วยเองเลย หาแชมป์ประเทศไทย เพื่อนก็ยุ”

แม้ป๊อบจะไม่ได้คิดไกลขนาดจัดทัวร์นาเมนต์ทั่วประเทศตามที่เพื่อนเสนอ แต่เขาก็มองว่ากิจกรรมเหล่านี้น่าสนใจมาก และเมื่อมีเพื่อนกลุ่มหนึ่งแวะมาที่บ้าน เขาก็เลยลองชวนมาเล่นซ่อนแอบกัน ซึ่งก็พบว่าสนุกมาก จนทำให้ ‘การเล่น Retro’ ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมวันเปิดบ้าน และกิจกรรมในรายการที่ผู้มาเยือนเลือกทำได้
“ในวันเปิดบ้าน แต่ละคนที่มามีภูมิหลังต่างกันมาก แต่พอเริ่มเล่น ก็ไม่มีใครสนใจว่าคนไหนเจ๋งมาจากไหน ทุกคนเข้าโหมดเดียวกันคือวิ่งหนียังไงไม่ให้โดนแปะ แม้มันจะเหนื่อยและเล่นได้ไม่นานเท่าตอนเด็ก ๆ แต่ความสนุกมันไม่ต่างกันเลย เราว่าสังคมทุกวันนี้ที่มันผันผวน ยุ่งเหยิง และการแข่งขันสูง ถ้าเราไม่เก่ง ไม่มีทักษะชีวิต เราก็อาจไม่รอด ผลจากความจริงข้อนี้ทำให้เราแทบไม่มีโอกาสได้เล่นแปะแข็งกันแล้ว สิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจของเราในยุคนี้ บางทีก็อาจเป็นการเล่นสมัยก่อนก็ได้ จริง ๆ เราอาจแค่มองหาแค่อะไรอย่างนี้โดยที่ไม่รู้ตัว คือไม่ต้องคิดอะไร ไม่มีเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนแค่เป็นส่วนหนึ่งของเกม แล้วเล่นให้สุด วิ่งให้เต็มที่”
หากใครได้เห็นรอยยิ้มของผู้คนที่มาเล่นกิจกรรมนี้ในวันเปิดบ้าน ก็คงรู้สึกได้ว่ามันเป็นจริงอย่างที่ป๊อบพูด

ต่อจากหมวดหมู่การเล่นก็คือ ‘การเรียนรู้’ ซึ่งที่นี่ก็มีให้เลือกสรรหลากหลายตามความสนใจ ตั้งแต่การสำรวจต้นไม้ ปลูกผัก ทำสวน ทำอาหาร ทำขนม ทำโยเกิร์ต ทำของหมักดอง ทำศิลปะจากธรรมชาติ ทำผ้ามัดย้อมจากสีดิน และอีกสารพัด
ส่วนกิจกรรมแนว ‘เพลิน’ ก็มีตั้งแต่ปั่นจักรยาน วิ่ง เดินชมนกชมไม้ เดินไปปากซอยยามเย็นเพื่อรอชมฝูงค้างคาวออกจากถ้ำ เย็บปักถักร้อย ร้องรำทำเพลง ที่นี่มีทั้งเปียโนไฟฟ้าที่ตั้งอยู่กลางห้อง มีกีตาร์ เมาท์ออร์แกน เมโลเดียน และเครื่องตีเล็ก ๆ ส่วนอีกมุมหนึ่งของห้องก็มีชั้นหนังสือและอุปกรณ์ศิลปะหลากหลาย ทั้งสีไม้ สีน้ำ สีชอล์ก สีซอฟต์พาสเทล ซึ่งหยิบยืมไปสร้างผลงานศิลปะตามชอบใจ

และสุดท้ายที่อาจถือเป็นจุดเด่นและเอกลักษณ์ของที่นี่ ก็คือกิจกรรม ‘ฮีลกายฮีลใจ’ ที่มีตั้งแต่การนวดกดจุด กัวซา ฤาษีดัดตน โยคะ รวมถึงมีพื้นที่พูดคุยและรับฟัง ซึ่งผู้เข้าร่วมก็เลือกได้ว่าอยากพูดคุยแบบต้องการคำปรึกษาหรือแค่อยากบ่น ระบาย แบบไม่ต้องการคำแนะนำใด ๆ รวมทั้งยังเลือกได้ว่าอยากพูดให้คนเดียวฟังและเก็บเป็นความลับ หรือล้อมวงคุยแบบ Deep Talk หรือถ้าใครไม่อยากคุย แต่อยากให้ไพ่ทาโรต์ทำนายกันก็ย่อมได้
“ที่นี่เราให้คุณค่ากับความจริงใจตรงไปตรงมา มิตรภาพที่ไม่มาติดเรื่อง เพศ วัย หรือสถานภาพทางสังคม เรื่องจิตใจ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้ากิจกรรมไหนที่เข้าธีมเหล่านี้ก็ได้หมดเลย ล่าสุดก็มีเพื่อนอยากจัดงานแต่งที่อีโค แบบนี้เราโอเคนะ ถ้าให้จัดงานแต่งแบบที่เกิดขยะเยอะ ๆ เราก็ไม่อยากจัด แต่ครั้งนี้จะเป็นงานแต่งที่เล็ก ๆ น่ารัก อบอุ่นเป็นกันเอง เป็นงานแต่งที่ไม่ได้มีขยะเศษอาหารเหลือมาก และอาจเป็นงานแต่งที่คนจะได้มาเรียนรู้เรื่องการแยกขยะในงานก็ได้ แล้วน้องเขายังชวนว่า ถ้าตอนบ่ายพี่ป๊อบอยากจัดกระบวนการก็ได้นะ เราก็เลยกะว่าจะจัดเรื่อง 5 ภาษารัก เป็นงานแต่งที่มีเวิร์กชอปด้วย”

ส่วนอีกคุณค่าหนึ่งที่ Friends & forest ให้ความสำคัญ ก็คือความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ราคาค่าที่พัก ค่าจัดกิจกรรมหรือการใช้พื้นที่ต่าง ๆ แบ่งเป็น 2 หมวดหมู่คือ ราคาปกติ กับราคาสำหรับองค์กรหรือกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสังคมหรือคนที่มีรายได้น้อย
ส่วนเวิร์กชอป ที่นี่ออกแบบกิจกรรมให้ได้ตามโจทย์เลย แต่ถ้าหากสถาบัน ชมรม หรือองค์กรไหนอยากจัดกิจกรรมการเรียนรู้แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะเป็นหัวข้ออะไรดี ที่นี่ก็มีนำเสนอ 5 เวิร์กชอปนั่นคือ ‘Who Am I ?’ ที่ชวนมารู้จักตัวเองว่าเราเป็นคนแบบไหน มีจุดแข็งจุดอ่อนอะไร ต้องการอะไรกันแน่ในชีวิต และของขวัญที่เราอยากมอบให้โลกนี้คืออะไร
‘Love & Relation: เพราะความรักเป็นมากกว่าเรื่องของคนรัก’ ชวนมาสำรวจมุมมอง ธรรมชาติ และจิตวิทยาของความรัก เรียนรู้ได้ทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่
‘We as a team’ ชวนมาเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์และการอยู่กับผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย การทำงานกับความขัดแย้งและทีมเวิร์ก
‘From Farm to Table’ ชวนมารู้จักเส้นทางอาหารจากแปลงผักสู่จาน แถมทดลองทำอาหารให้เป็นซิกเนเจอร์ของแต่ละคน
หรือ ‘We are World’ ชวนมาเรียนรู้ธรรมชาติ การดูแลสิ่งแวดล้อม การแยกขยะ การทำบ้านดิน และอื่น ๆ อีกมากมาย
หนึ่งในตัวอย่างกิจกรรมที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ก็คือกิจกรรม ‘Hello! คนโสด’ ที่ร่วมกับเพจ Datesuka ชวนหนุ่มสาวที่ยังไม่มีคู่มารู้จักคนใหม่ ๆ แบบช้า ๆ ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ พร้อมเวิร์กชอปที่จะช่วยให้เข้าใจว่า เราต้องการอะไรจากความรักกันแน่
”ถ้าแค่กิจกรรม Dating เพื่อหาแฟนอย่างเดียวคงไม่จัด แต่ถ้าเป็นกิจกรรมที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ความต้องการของตัวเอง รวมถึงความต้องการของอีกฝ่าย เออ แบบนี้อยากจัด หรือในอนาคตเราก็อยากเห็นเทศกาลดนตรีที่นี่สักครั้งเหมือนกันนะ อาจจะเป็นเทศกาลศิลปะ หรืออาจจะเป็นการรวมตัวของคนทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรืออาจเป็นฮีลลิงเฟสติวัลก็ยังได้” เขาเล่าถึงความเป็นไปได้อันหลากหลายของพื้นที่แห่งนี้
“เราอยากให้คนที่มาได้รับมิตรภาพที่ดีในระยะยาว และได้เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เหมือนในชื่อ Friends & forest มากกว่านั้นก็คงอยากให้เกิดการเรียนรู้อะไรบางอย่างที่ซึมเข้าไปในเนื้อในตัวเขา”

มิตรภาพ บาดแผล และการเยียวยา
หากเปรียบ Friends & forest เป็นองค์กร ขั้นตอนการวางแผนงานของที่นี่ก็เรียกได้ว่ากลับด้านกับองค์กรทั่วไป
หากอิงตำราธุรกิจ การก่อตั้งบริษัทหรือองค์กรอะไรสักอย่างก็ต้องเริ่มจากการวางวิสัยทัศน์ พันธกิจ Business Model แล้วค่อยก่อตั้งองค์กร จากนั้นจึงค่อยหาคนที่เหมาะสมกับงาน แต่สำหรับที่นี่ ป๊อบเลือกซื้อที่ดิน บุกเบิกพื้นที่ ปลูกต้นไม้ และสร้างบ้านดินก่อน จากนั้นจึงค่อยหาคนที่จะมาสร้างความฝันด้วยกัน แล้วการวาง Business Model ค่อยมาเป็นลำดับสุดท้าย
“หนึ่งในเหตุผลที่มาทำตรงนี้ คือเราไม่ได้อยากทำโปรเจกต์ที่ตอบสนองความฝันของตัวเองคนเดียวอีกต่อไปแล้ว เพราะในช่วงท้าย ๆ ของการบุกเบิกมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติที่ปากช่อง เราชวนทีมมาคุยกัน ถามว่าเขามาทำที่นี่เพราะอะไร หลายคนบอกว่า เห็นว่าสิ่งที่เราทำมันดีและอยากมาช่วยทำให้สำเร็จ แต่ใจเราอยากให้โปรเจกต์ยั่งยืนกว่านั้น เพราะถ้ามันถูกปักธงว่าเป็นโจทย์ของเรา ถ้าวันหนึ่งเราไม่อยู่ มันก็อาจไปต่อยาก เราก็เลยอยากให้โปรเจกต์นี้เกิดจากความฝันร่วมกันของหลาย ๆ คน ที่ไม่ใช่เขามาทำเพื่อช่วยเรา แต่มาทำเพื่อตอบสนองความฝันของตัวเองด้วย”

นั่นก็เลยทำให้ที่นี่เริ่มจากการหาคนที่มีใจก่อน แล้วค่อยชวนล้อมวงคุยว่า เราจะหารายได้จากสิ่งนี้ได้อย่างไร สิ่งไหนคือความฝันที่แต่ละคนอยากทำและรู้สึกว่าทำได้ทุกวันโดยไม่รู้สึกว่าเป็นงาน
“ตอนเริ่มบุกเบิกพื้นที่ เรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่นี่จะมีโครงการอะไรบ้าง แต่เราสร้างสาธารณูปโภคก่อน ให้มันเปิด ๆ เอาไว้ เผื่อจะทำโครงการอะไรจะได้ทำได้ เริ่มจากห้องน้ำ 8 ห้องก่อนเลย ถ้ามีงานที่คนมาเยอะก็น่าจะใช้พอ ที่นอนต้องมี ครัวต้องมี แล้วก็ต้องมีพื้นที่กลางทำกิจกรรม แล้วเราก็อยากให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ร่มรื่น ก็ปลูกต้นไม้ เมื่อทุกอย่างเสร็จ ซึ่งก็แค่เดือนที่แล้วเองนะ ที่มาคุยกันว่าใครจะอยู่ต่อและทำด้วยกันบ้าง อยากทำอะไรกันบ้างที่จะตอบสนองความฝันของเขาที่จะทำให้รู้สึกว่า เป็นโครงการของเขา ไม่ใช่แค่มาช่วยเรา”

ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งที่ป๊อบตัดสินใจซื้อที่ก็คือภาวะโลกร้อนที่ทำให้อนาคตกรุงเทพฯ น้ำจะท่วม อาจไม่ใช่น้ำมาครั้งเดียวมิดหลังคา แต่อาจเป็นการที่น้ำท่วมบ่อยจนใช้ชีวิตอยู่ได้ยาก
“ถึงตอนนั้นมันจะวุ่นวาย การหาที่ดินจะลำบาก แล้วตอนนั้นเราก็อาจอายุเยอะและไม่มีแรงมาบุกเบิกทำบ้านดินแบบนี้แล้ว วันนี้มีแรงก็อยากทำเลย แล้วเมื่อถึงวันนั้น เราก็อยากให้ที่นี่เป็นโอเอซิสสำหรับเพื่อน ๆ และคนที่เรารัก คนที่เราไม่อยากให้เขาแย่ ที่เขาจะมาอยู่ด้วยกันได้”
ส่วนเหตุผลสุดท้าย ก็คือเขาอยากต่อยอดให้เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่กว้างขึ้นกว่าแค่การเป็นมหาลัย แต่เป็นพื้นที่ของคนทุกเพศทุกวัย
อย่างไรก็ตาม กว่าที่จะมาเป็น Friends & forest ที่สวยงามในวันนี้ เส้นทางของเขาไม่เคยง่าย
จากไร่ข้าวโพดเก่าที่ถูกทิ้งร้าง บ่อบาดาลที่ผุพัง ป๊อบและเพื่อน ๆ หลายชีวิตได้เข้ามาเริ่มบุกเบิกพื้นที่ กลางคืนนอนวัด กลางวันเข้าไปสร้างบ้านดิน จน 1 ปีกว่า ๆ ผ่านไป ทั้งทีมงานและอาสาช่วยกันสร้างอาคารดินใหญ่และบ้าน 2 หลังจนเสร็จ ปลูกต้นไม้ไปแล้วนับร้อย ๆ ต้น เจาะบ่อบาดาลใหม่ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ จนทุกอย่างแทบจะพร้อมแล้ว ยกเว้นความเห็นที่เริ่มไม่ตรงกับเจ้าของที่ดินมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สุดท้ายพวกเขาเลือกไม่ไปต่อกับที่ดินผืนนี้ สิ่งที่ลงแรงสร้างไว้ทั้งหมดจะกลายเป็นเพียงความหลัง
แม้เขาจะปรับรูปแบบเป็น Gap Year Program ที่เป็นคล้าย ๆ มหาลัยเคลื่อนที่ พาผู้ใหญ่และวัยรุ่น เรียนรู้นอกห้องเรียนตามศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ จากเหนือจรดใต้ จากวิถีชาวนาสู่วิถีชาวประมง และโครงการก็ดำเนินต่อไปได้จนจบ แต่ก็มีหลายอย่างที่ยังไม่ง่ายและไม่ลงตัว
ความผิดหวังที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นความเจ็บปวดไม่น้อย เราจินตนาการว่า ถ้าตกอยู่ในสถานการณ์แบบเขา เราก็คงไม่รู้จะเอาพลังและเรี่ยวแรงใจจากไหนมาเริ่มต้นก่ออิฐก้อนใหม่กับโปรเจกต์ Friends & forest ในแบบที่เขาทำ
“มีเพื่อนคนหนึ่งแวะมาแล้วบอกว่า เออ คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เป็นของมึงแบบสุด ๆ คือ อึดว่ะ มึงลุกขึ้นมาใหม่ได้เรื่อย ๆ แต่อะไรที่ทำให้อึดเหรอ…” เขานิ่งคิดอยู่ครู่ใหญ่ ก่อนจะตอบว่า
“เราว่าส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตเพื่อน ตอนที่เราล้มแต่ละครั้ง เรามีเพื่อนดี ๆ ช่วยเยียวยาเรา ไม่ว่าจะเป็นเพราะเขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำหรือเขาแค่รักเรา แต่สิ่งนี้ก็ค่อย ๆ เยียวยาเรากลับมา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็เป็นเพราะสิ่งนี้มันยังไม่ค่อยมีในสังคม และถ้าเราไม่ทำ ก็อาจไม่มีใครทำในแนวนี้เลยก็ได้ คือถ้ามีคนทำแบบนี้แล้ว เราก็คงไปช่วยเขาทำแหละ เพราะการริเริ่มอะไรสักอย่างมันยาก และอีกอย่างคือเราไม่หลอกตัวเอง ไม่ตีเนียนว่าสักวันอะไร ๆ จะดีขึ้น ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หรือหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่าสักวันจะมีคนทำ ก็ในเมื่อมันยังไม่มีคนทำ เราก็เลยต้องทำ” ป๊อบเล่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขามีแรงลุกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

หากใครที่รู้จักป๊อบ จะรู้ว่าเขาเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความรักและมิตรภาพมาก และเป็นมนุษย์ที่มีพลังบวกอยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็ทำให้เราสงสัยว่า กว่าที่ชีวิตจะดำเนินมาถึงจุดนี้ เขาก็น่าจะต้องเจอคนที่ทำให้ผิดหวังและเสียใจมาไม่น้อย แต่อะไรที่ทำให้เขายังคงมีศรัทธาในเพื่อนมนุษย์และยังมีแรงพลังในการทำสิ่งดี ๆ เพื่อคนอื่น
“มีช่วงเขว ๆ เหมือนกันนะ มีช่วงหนึ่งที่แตะไปถึงโซนแบบ โลกนี้มันก็อย่างนี้แหละ หรือความรู้สึกแบบ เราไม่ต้องมีชีวิตอยู่ต่อแล้วก็ได้ เช่น เรื่องโลกร้อนที่จะต้องไม่ให้เพิ่มถึง 2 องศา เราก็คิดว่าต่อให้เราอยู่ก็ไม่ได้ช่วยยับยั้งอะไรได้ ทุกคนมีมุมเห็นแก่ตัว เราก็มี เราไม่ได้โทษว่าใครผิดด้วย ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตคือดิ้นรนเพื่ออยู่รอด ทำให้ต้องเบียดเบียดกัน แล้วก็เกิดโศกนาฏกรรมและเรื่องน่าเศร้ามากมาย คือมันทะลุการรู้สึกไม่ดีกับตัวบุคคลไปแล้ว แต่มันไปถึงการรู้สึกไม่ดีกับแก่นธรรมชาติบางอย่างของจักรวาล และรู้สึกว่าการมีอยู่ของเราอาจไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ได้”
ส่วนสาเหตุของความรู้สึกนั้น เขาบอกว่ามาจากหลายอย่างประกอบกัน และนั่นก็เป็นอีกครั้งที่เขาได้รับการเยียวยาทางจิตใจจากเพื่อน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือจิตแพทย์ที่สนิทกันตั้งแต่สมัยมัธยม

“เพื่อนบอกว่า สิ่งที่แกพูดมันจริงหมดเลย ไม่มีอะไรที่เราปฏิเสธได้เลย แต่เราแค่อยากให้แกมีพื้นที่ในจิตใจที่เปิดให้กับความ Doom”
คำว่า Doom ในที่นี้ ป๊อบอธิบายว่า มันไม่ใช่ Death แบบความตาย แต่คือสถานการณ์ที่ตอนนี้ยังไม่ตาย แต่จะตายแน่ ๆ ในอนาคต หรือพูดง่าย ๆ ว่าไม่มีความหวังอะไรแล้ว ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เขามองว่าเกิดขึ้นกับโลก
“เพื่อนก็บอกว่า ตอนนี้แกเห็นความ Doom ของมนุษยชาติ ที่ผ่านมาแกพยายามเต็มที่เพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น แต่พอมาถึงจุดที่รู้สึกว่าทำไม่สำเร็จ แกก็เลยรู้สึกว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม แต่เราอยากชวนให้แกมองอีกมุมหนึ่ง คือไม่ต้องบิดเบือนอะไรเลยนะ คือยอมรับไปเลยว่ามันจะ Doom นั่นแหละ พอแกมีพื้นที่ยอมรับความวิบัตินี้ในใจแกแล้ว แกก็อาจจะไม่ต้องรีบจากไปก็ได้ เพราะถ้าแกจากไป ผลลัพธ์ก็เหมือนเดิม ก็ยอมรับไปเลยว่าสุดท้ายจะเป็นแบบนี้ แล้วในระหว่างนี้อะไรดี ๆ ที่แกทำได้ก็ถือว่าเป็นกำไร ซึ่งพอเราคุยกับเพื่อนคนนี้จบ เราก็รู้สึกดีขึ้นเลยนะ”
เขาบอกว่าตอนนี้เขามองตัวเองเหมือนคนที่ยังสร้างอะไรที่มีความงามในฉากที่โลกกำลังเข้าสู่ความหายนะ ซึ่งนั่นก็ทำให้เรานึกถึงคนที่เล่นดนตรีในฉากที่เรือไททานิคกำลังล่ม
“บทบาทของเราก็อาจเป็นคนวาดรูป ที่ทำให้ภาพวันหายนะโกลาหลที่มันโหดร้าย พอมองไปแล้วมันสะดุดตาสักนิดว่า มันมีมุมเล็ก ๆ ของภาพที่มันสวยมาก ๆ เลยนะ เรารู้สึกว่าเราอาจมีหน้าที่แค่นี้ก็ได้ แล้วนั่นมันก็อาจดีพอแล้ว ก็เลยทำที่นี่ต่อด้วยความรู้สึกนี้ เป็นความรู้สึกที่อยากชวนให้เห็นว่า ในโลกที่โหดร้ายก็ยังมีมุมหนึ่งที่มีอะไรดีอยู่”

Friends & forest ไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คือผู้คน
ตลอดระยะเวลาปีกว่า ๆ แห่งการก่อร่างสร้างบ้านดินของ Friends & forest สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นอยู่เสมอจากเฟซบุ๊กของป๊อบ ก็คือภาพบรรยากาศความสนุกสนานในช่วงเวลาหลังเลิกงาน ที่แต่ละคืนก็มีกิจกรรมต่างกันไป บางคืนมีล้อมวงเล่นดนตรี บางคืนมีปาร์ตี้ปิ้งย่าง บางคืนล้อมวงเล่นบอร์ดเกม ส่วนบางคืนก็เป็นการล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกแบบ Deep Talk บางคืนก็ฉายสารคดีดูกัน หรือคืนที่พิเศษคืนหนึ่งเป็น Music Night ที่มาแชร์ความรู้สึกของตนเองผ่านบทเพลง และอีกหลายกิจกรรมที่ทำให้ช่วงเวลาสั้น ๆ ของเหล่าอาสาที่นี่เปลี่ยนจากคนแปลกหน้ากลายมาเป็นเพื่อนกัน – เราถามป๊อบว่า เขามีเทคนิคอย่างไร
“อย่างหนึ่งเลยที่เราว่ามันช่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่โจนฟันธง แล้วมันจริงอย่างไม่น่าเชื่อ แกบอกว่าสิ่งเดียวที่ทำให้คนหลาย ๆ พื้นเพมาอยู่ร่วมกันได้ง่ายที่สุด คือการทำงานใช้แรง เพราะถ้านั่งประชุมพูดคุย คนที่พื้นเพบ้าน ๆ กับนักวิชาการ มันยากมากที่จะรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ต่อให้มีความปรารถนาดีต่อกันมากแค่ไหนก็ตาม ยิ่งคุยก็จะยิ่งเห็นช่องว่างห่างกันเรื่อย ๆ แต่ถ้ามาทำบ้านดินด้วยกัน มาเข้าโหมดถึกด้วยกัน มันจะเหมือนออกค่าย ที่มีจุดยึดโยงบางอย่างที่ทำให้เห็นอกเห็นใจกัน ถึงจะรู้ว่าเราก็ต่างกันจริง ๆ นั่นแหละ แต่อย่างน้อยเราก็แบกของหนัก ๆ เหมือนกัน เราว่าสิ่งนี้มันหลอมคนเข้าด้วยกันจริงอย่างที่พี่โจนว่า”

ส่วนอีกอย่างที่ป๊อบบอกว่าเพิ่งมารู้ภายหลังว่าสำคัญ ก็คือการมีกฎของกลุ่มที่ทุกคนช่วยกันร่างขึ้นมา เพราะช่วงแรก ๆ ที่ไม่มีกฎ ทำให้ป๊อบต้องคอยไปบอกคนนั้นคนนี้ว่าสิ่งนั้นไม่ควรทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขารู้สึกลำบากใจ
“แต่ละคนถูกปลูกฝังต่างกัน ให้ความสำคัญกับสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน คำว่า Common Sense จึงไม่มีอยู่จริง เราว่าข้อดีของกฎไม่ใช่การบังคับ แต่คือความชัดเจน เป็นบรรทัดฐานที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน เช่น การเก็บแก้ว ก็ให้ล้างแล้วเก็บทันที ไม่เอาแบบวางไว้ก่อน เพราะมดจะขึ้น เราว่าถ้าเป็นกฎที่ไม่ได้ออกมาเพื่อผลประโยชน์ของใครคนหนึ่ง แต่เพื่อประโยชน์ของทุกคน เราพบว่ามันดี มันทำให้อะไร ๆ ชัดเจนและไม่ปวดหัว”
ว่ากันว่าความสวยงามของการเดินขึ้นภูเขาไม่ได้อยู่แค่ที่จุดหมายปลายทาง แต่ยังอยู่ที่สองข้างทางระหว่างเดินขึ้นด้วย ซึ่งการสร้างบ้านดิน ณ Friends & forest ก็ไม่ต่างกัน
“เหตุการณ์ประทับใจมีหลายอย่างมาก สำหรับเราจะเป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น จังหวะเลิกงาน เรานั่งเก็บงานแล้วมองลงไปจากระเบียง เห็นเขาเอาถังมาล้างด้วยกัน เอาน้ำมาฉีด ๆ แกล้งกัน อะไรแบบนี้ทำให้เรารู้สึกว่า แม้จะลงทุนและมีอุปสรรคมากมาย เราก็รู้สึกว่ามันคุ้มนะที่ตัดสินใจทำสิ่งนี้ อย่างน้อยมันก็เกิดโมเมนต์แบบนี้ตรงหน้า หรือเมื่อก่อนที่เราต้องเป็นคนไปบอกว่าทำเสร็จแล้วให้ล้างถังและคว่ำไว้นะ แต่น้องอาสาบางชุดจริงจังกับเรื่องนี้มาก จนเราเองที่ต้องบอกว่า อันนี้แช่น้ำไว้ก็ได้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ใช้ต่อ แต่น้องเขาบอกว่า ไม่ได้ค่ะ อยากให้มันเรียบร้อยค่ะพี่ เราก็โอ้ โอเค” ป๊อบเล่าพร้อมหัวเราะ

“หรือเวลาที่เลื่อนอ่านเฟซบุ๊กแล้วเห็นคนที่มาเจอกันที่นี่คอมเมนต์โต้ตอบกัน เราก็ดีใจ รู้สึกเหมือนภารกิจที่วางไว้สำเร็จ หรืออย่างในงานเปิดบ้าน มีคืนหนึ่งที่น้องสองคนที่จบโฮมสคูลมาเล่นดนตรีด้วยกัน แล้วมีอยู่บางเพลงที่เขาร้องแล้วเราน้ำตาไหล มันเป็นความรู้สึกที่ว่า ในที่สุดพื้นที่นี้ก็ได้มีโมเมนต์ที่ตราตรึงขนาดนี้ให้กับคนได้ ก็ทำให้รู้สึกว่ามันมีความหมายที่ได้สร้างพื้นที่นี้ขึ้นมา หรือว่าทุกครั้งที่ได้ฟังคนแชร์ว่าเขาได้เรียนรู้หรือประทับใจอะไรจากที่นี่ เราก็ดีใจที่ได้รู้ว่าเรื่องนี้มีความหมายกับเขาขนาดนั้น การมาที่นี่ของเขามันเปลี่ยนเขาในมุมนี้ขนาดนั้นเลยนะ”
เราขอให้เขายกตัวอย่างบางความคิดเห็นที่โดนใจเขาเป็นพิเศษ เขานิ่งคิดอยู่พักหนึ่งแล้วเล่าว่า
“มีน้องคนหนึ่งที่ตอนมาเราก็เถียง ๆ แหย่กัน กวนตีนกันไปมา แต่เราก็มีประเด็นจริงจังบางอย่างที่อยากบอกกับเขา แล้วเราก็ไม่รู้จะถึงไม่ถึง ได้ไม่ได้ แต่สุดท้ายเขาบอกว่า เราเป็นไม่กี่คนในชีวิตที่เขาสัมผัสได้ว่าปรารถนาดีกับเขาจริง ๆ และเขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราพยายามจะบอก และเขาเองก็เวิร์กเรื่องนี้อยู่จริง ๆ นะ และถือว่าเราเป็นพี่ชายคนหนึ่ง ซึ่งเราก็รู้สึกว่า โอ้ มึงอินกว่าที่กูคิด โอเค กูก็นึกว่ามึงอินบ้างไม่อินบ้าง กูก็ดีใจที่การมีอยู่ของกูมันมีประโยชน์กับมึงขนาดนี้ กูก็กลัวมึงไม่อินเหมือนกัน”
ทีมงาน
แม้ทีมงาน Friends & forest อาจมีการเปลี่ยนไปตามกาลเวลา และกิจกรรมก็อาจเปลี่ยนไปตามตัวบุคคล แต่หัวใจสำคัญของที่นี่ – ความจริงใจ มิตรภาพ การรับฟัง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และความเป็นธรรม ก็ยังจะเป็นหัวใจหลักของที่นี่เสมอ โดยในวันนี้ ทีมงานของที่นี่มีทั้งหมด 9 ชีวิต หลายคนก็เริ่มจากการเป็นอาสาทำบ้านดินและอยู่ยาวต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
“ช่วงแรก ๆ ที่มาคือพูดกับพี่ป๊อบเลยว่า มาอยู่ที่นี่ 2 วัน หัวเราะมากกว่าอยู่ที่บ้านทั้งอาทิตย์อีก เราชอบตรงที่ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้เจอผู้คน ได้คุยกับคนที่มีความคิดหลายแบบ ได้เห็นว่าในสิ่งเดียวกันแต่ละคนก็คิดไม่เหมือนกัน เคยบอกพี่ป๊อบว่า คนที่มาที่นี่เป็นคนบ้าทุกคน ใครไม่บ้าไม่มาหรอก ที่นี่มีคนแปลกเยอะ แต่เป็นความแปลกที่อยู่ด้วยกันได้ มีความหลากหลายเยอะมาก แต่ไม่ตัดสินกัน มันเจ๋งดีนะถ้ามีพื้นที่แบบนี้เยอะ ๆ ไม่ใช่แค่พื้นที่ของเรา” โซฟา-ปัญฑารีย์ ขันชะลีย์ดำรงกุล หญิงสาวที่มาสมัครงานเพราะเบื่อเมืองและคิดถึงการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ บอกเล่าความประทับใจตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ได้มาอยู่ที่นี่

“ชอบไลฟ์สไตล์รักษ์โลก เช่น การแยกขยะที่ทำละเอียดและเต็มที่มาก ซึ่งผลักดันให้เราอยากทำมากขึ้นกว่าที่เคยทำมา แล้วก็ชอบมิติของผู้คนที่ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเอง ชอบการตั้งวงพูดคุยที่แชร์ความรู้สึกลึก ๆ ข้างในอย่างตรงไปตรงมา” มิ้น-ณัฐธินี อัมพุช หญิงสาวที่สนใจชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง บอกเล่าความรู้สึกกับงานแรกหลังเรียนจบของเธอ
“ก่อนหน้านี้เราสนใจแต่เงิน แต่งาน แต่การมาอยู่ที่นี่ทำให้ได้เห็นว่า เงินไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกอย่าง แต่ความสัมพันธ์ ความรู้ใหม่ ๆ และหลายสิ่งในโลกนี้ที่มันสวยงามให้อะไรเราได้มากกว่าเงิน และเราก็ประทับใจในอุดมการณ์ของที่นี่” แอล-อัลลิค ครอมตัน หนึ่งในพ่อครัวหัวป่าก์ของ Friends & forest เล่าความรู้สึกที่ไม่คาดฝันว่าจะได้รับหลังจากมาที่นี่เพราะมิ้นชวนมา
“ชอบความเป็นธรรมชาติ เราเบื่อชีวิตในเมือง เบื่อรถติด เบื่อความอึดอัด แต่อยู่ที่นี่มันโปร่งสบายกว่า และชอบที่มีเพื่อนคุยแบบจริงใจ เช่น เวลาให้คำแนะนำกัน ทุกคนจะพูดแบบตรงไปตรงมาโดยไม่ต้องกลัวผิดใจกัน ซึ่งเราก็จะรู้ว่าเขาแนะนำเพื่อต่อยอด ไม่ใช่เพื่อตำหนิ” มด-นิติภูมิ สินธุสนธิชาติ เล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตที่นี่
“ผมว่าจุดเด่นอย่างหนึ่งของผู้คนที่นี่คือความเปิดกว้าง ไม่แบ่งแยก อย่างตัวเราเองก็อาจมีบางสิ่งที่ต่างจากกระแสหลัก ซึ่งหากไปอยู่ที่อื่นบางที่อาจรู้สึกแปลกแยก แต่ไม่ใช่กับที่นี่ เพราะที่นี่ความแตกต่างไม่ได้ถูกกีดกันออกไป” อาร์ม-ศิวา จันทรักษา หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามของพื้นที่แห่งนี้ ยืนยันถึงจุดเด่นของที่นี่
“ที่นี่เป็นสถานที่ให้ผู้คนหลากหลายมาใช้เวลาร่วมกันโดยมีจุดร่วมบางอย่าง แม้จะมีความแตกต่างทางความคิด แต่ทุกคนก็ปรับตัวเข้าหากันได้ ทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการสื่อสารความคิดตัวเอง” ปลื้ม-ธรรมสรณ์ ศรีสวัสดิ์ หนุ่มนักศึกษาบอกเล่าเหตุผลที่ทำให้จากตอนแรกที่วางแผนจะอยู่แค่เดือนเดียว กลับอยู่ยาวจนกลายเป็นทีมงาน
“ผมอายุมากที่สุด ตอนแรกก็หนักใจว่าจะอยู่ได้ไหม แต่ก็มีกิจกรรมหลายอย่างที่ทำให้ผมได้เห็นถึงความคิดของคนรุ่นใหม่ ได้เห็นความตั้งใจของพวกเขาที่จะทำอะไรดี ๆ ก็ประทับใจสิ่งเหล่านี้” ณุ-พิษณุ สีอุดมธีรกุล เล่าถึงความรู้สึกของการมาที่นี่หลังจากหยุดธุรกิจส่วนตัวไปพักหนึ่งเพราะสถานการณ์โควิด-19
“เราชอบตรงที่มีต้นไม้เยอะและหลากหลายมาก แล้วก็ประทับใจผู้คน ทั้งอาสาที่มาและทีมงาน เราไม่ได้เรียนรู้แค่การทำบ้านดิน แต่ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันด้วย การมาอยู่ที่นี่ทำให้รู้สึกว่าเราใจเย็นลง และเปิดรับความคิดที่หลากหลายของคนมากขึ้น” ส้มโอ-วันทนีย์ จันทรมี หญิงสาวที่อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เดือนมกราคมเล่าถึงความประทับใจและสิ่งที่ได้เรียนรู้
แม้ว่าเราจะนิยามตัวเองว่าเป็นมนุษย์ Introvert ที่มีโลกส่วนตัวสูงและสนิทกับคนยาก แต่ระยะเวลาเพียง 2 วัน 1 คืนที่เราได้มาเยือนที่นี่ เรากลับรู้สึกอบอุ่นและสนิทใจกับผู้คนที่นี่อย่างประหลาด มันเป็นความสบายใจเหมือนสายน้ำที่ไหลไปตามธรรมชาติ และมันก็เป็นจริงอย่างที่ป๊อบว่าไว้ – มุมเล็ก ๆ ที่สวยงามท่ามกลางโลกที่โหดร้ายยังมีอยู่จริง

ภาพ : Friends & forest และ Jay Takachote