29 กรกฎาคม 2021
2 K

หลายคนมีความฝันอยากออกเดินทางไปใช้ชีวิต สัมผัสวัฒนธรรมใหม่ๆ ในต่างประเทศ สำหรับบางคนอาจจะเป็นเรื่องง่ายที่คิดแล้วไปได้ทันที แต่หลายคน มันคือฝันที่ไกลเกินเอื้อม

โบ-อุมาภรณ์ สุขหวาน ก็เป็นอีกคนที่อยากลองไปใช้ชีวิตในต่างแดน แต่โดยฐานะทางการเงินของครอบครัว หากเธออยากไป ก็ต้องหาผู้สนับสนุนให้ได้ ในที่สุดเธอก็เจอโอกาสนั้น เลยได้ไปใช้ชีวิตเป็นอาสาสมัครสอนภาษาไทยที่เวียดนามอยู่ 1 ปีเต็ม จนถึงวันนี้ โอกาสครั้งนั้นก็เป็นเพียงโอกาสเดียวที่เธอได้เดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเติมเต็มความฝันในฐานะอาสาสมัครเพื่อนไทย

ประสบการณ์อาสาสมัครสอนภาษาไทยในเวียดนาม 1 ปีที่คุณก็ไปได้

โบเรียนจบปริญญาตรีจากภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) จากนั้นก็ทำงานประสานงานฝ่ายขายที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง จนเธอเริ่มเครียด มีปัญหาสุขภาพ และรู้สึกเหมือนสูญเสียอะไรบางอย่าง จนเมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาจากภาควิชาภาษาไทย มศว. ติดต่อมาชวนให้เธอสมัคร ‘โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends From Thailand – FFT)’ ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ

โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2546 เป็นการส่งเยาวชนไทยอายุไม่เกิน 35 ปี ไปเป็นอาสาสมัครในต่างแดน เช่น ประเทศเพื่อนบ้านแถบลุ่มน้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม และประเทศที่มีความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศไทยในภูมิภาคอื่นๆ อาทิ เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ภูฏาน ติมอร์-เลสเต ในแอฟริกา ได้แก่ เลโซโท โมซัมบิก เบนิน ปฏิบัติงานในสาขาต่างๆ เช่น สาธารณสุข การเกษตร การศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการพัฒนาชนบท มีงานที่หลากหลาย เช่น อาสาสมัครด้านศิลาวรรณา (ธรณีวิทยา) และอาสาสมัครสอนดนตรีพื้นเมืองและดนตรีสากลที่ สปป.ลาว อาสาสมัครด้านสาธารณสุขที่ภูฏาน อาสาสมัครนักพัฒนาชุมชนที่เวียดนาม อาสาสมัครนักพัฒนาการเกษตรที่เบนินหรือเลโซโท และมีอาสาสมัครสอนภาษาไทยจำนวนมากที่สุด

โบพบว่า นี่คือโอกาสอันดีที่จะพาเธอออกจากความเหนื่อยล้าของการทำงาน ไปสู่การใช้ชีวิตต่างแดนแบบที่เคยฝัน ค้นหาแรงบันดาลใจให้ชีวิต แม้ว่าจะเป็นการไปในฐานะอาสาสมัคร ซึ่งอาจจะไม่ได้สะดวกสบายนัก แต่การไปใช้ชีวิตในต่างแดนครั้งนี้โบจะไปในฐานะ ‘ผู้ให้’ ก็น่าจะทำให้เธอได้รับประสบการณ์ล้ำค่ากลับมา

“ถ้าหากไม่ใช้โอกาสนี้ เราจะเสียใจไปตลอดชีวิตแน่” โบพูดถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้

ซินจ่าวเวียดนาม

โบแพ็กกระเป๋าบินตรงถึงนครโฮจิมินห์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557 ภารกิจของเธอคือ เป็นผู้ช่วยสอนภาษาไทยที่ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ณ นครโฮจิมินห์ บทบาทคล้ายๆ อาจารย์สอนภาษาให้ชาวต่างชาติในมหาวิทยาลัยของไทย

ก่อนไปเธอกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะนี่คือการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก ทุกอย่างล้วนแปลกใหม่ แต่พอมาถึง เธอก็ปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ได้ด้วยความรวดเร็ว

เธอพักในบ้านเช่าร่วมกับอาสาสมัครร่วมโครงการอีกคนซึ่งต่อสัญญาอยู่เป็นปีที่สอง การมีพี่เลี้ยงเปี่ยมประสบการณ์ รวมถึงได้รับค่าตอบแทนรายเดือนจาก TICA แม้เป็นจำนวนเงินที่ไม่มากมาย แต่ก็เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้โบสนุกกับการใช้ชีวิตในนครโฮจิมินห์

ประสบการณ์อาสาสมัครสอนภาษาไทยในเวียดนาม 1 ปีที่คุณก็ไปได้

ครูอาสาในมหาวิทยาลัย

โบเล่าว่า งานสอนภาษาไทยด้วยภาษาไทยไม่ยากเลย เพราะนักศึกษาของเธอมีพื้นฐานภาษาไทยอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังชอบเมืองไทย ชอบอาหารไทย และอยากทำงานกับบริษัทไทยในเวียดนาม เนื้อหาที่โบต้องสอนคือ ภาษาไทยที่ใช้ในชีวิตประจำวันและระดับของภาษา หรือภาษาไทยเพื่อการสื่อสารนั่นเอง

ประสบการณ์อาสาสมัครสอนภาษาไทยในเวียดนาม 1 ปีที่คุณก็ไปได้

อาสาสมัครไม่ต้องทำงานเต็มรูปแบบเหมือนอาจารย์ประจำคนอื่น โบสอนหนังสือวันละ 1 – 2 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 – 4 วัน การสอนแต่ละคาบใช้เวลา 50 นาที มีพักเบรก 10 นาที

นอกจากสอนภาษาไทยแล้ว โบยังสอนวัฒนธรรมไทย ทั้งเรื่องอาหารไทยและสอนรำไทย ซึ่งนักศึกษาต่างก็ชื่นชอบ

ประสบการณ์อาสาสมัครสอนภาษาไทยในเวียดนาม 1 ปีที่คุณก็ไปได้

ส่วนการใช้ชีวิตนอกห้องเรียน เธอบอกว่าคนเวียดนามจำนวนมากพูดภาษาไทยได้ โดยเฉพาะกลุ่มแม่ค้า แต่เธอก็พยายามฝึกภาษาเวียดนาม และใช้ภาษาเวียดนามในการสื่อสารเป็นหลัก จนคนเวียดนามชมว่า เธอผัน 6 เสียงของภาษาเวียดนามได้ชัดเหมือนคนท้องถิ่น

ประสบการณ์อาสาสมัครสอนภาษาไทยในเวียดนาม 1 ปีที่คุณก็ไปได้

โกโบผู้เป็นที่รัก

โก (Cô) คือคำเรียกคุณครูผู้หญิงในภาษาเวียดนาม โกโบ เป็นชื่อที่นักศึกษาเวียดนามใช้เรียกเธอนอกห้องเรียน นักศึกษาก็สนิทสนมกับโกโบ ถึงขั้นกล้าแนะนำครูในบางเรื่อง “อย่างคำว่า ดุ ภาษาไทยแปลว่า บ่น แต่คำนี้ในภาษาเวียดนามเป็นคำสบถ เขาเตือนเราว่า อย่าพูดคำนี้ดังในที่สาธารณะ เดี๋ยวคนเวียดนามจะหันมามองกันหมด” โบเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

“บางทีเขาไปดูหนังหรือละครไทยที่กำลังดังในช่วงนั้น เช่น กวน มึน โฮ เขาก็มาถามเราว่า คนไทยพูดแบบนี้จริงหรือเปล่า แล้วต้องพูดอย่างไรให้เพราะขึ้น” โบเล่าต่อเรื่องความสนุกในการสอนภาษาไทยที่เวียดนาม อย่างเช่น คำหนึ่งที่ต้องตั้งใจอธิบายดีๆ คือคำว่า ‘ไป’ กับ ‘มา’ ซึ่งคนเวียดนามใช้สลับกับคนไทย

ประสบการณ์แสนสนุกของ อุมาภรณ์ สุขหวาน อาสาสมัครเพื่อนไทย กับงานสอนภาษาไทยให้นักศึกษาที่เวียดนาม
ประสบการณ์แสนสนุกของ อุมาภรณ์ สุขหวาน อาสาสมัครเพื่อนไทย กับงานสอนภาษาไทยให้นักศึกษาที่เวียดนาม

“โบมักจะทำตัวเป็นเหมือนพี่สาวพวกเขา มีเด็กหลายคนมาปรึกษาปัญหาเรื่องความรัก บางคนก็ปรึกษาว่าอยากไปเรียนต่อต่างประเทศแต่มีเงินน้อยควรทำอย่างไร เราพยายามเปิดทุกช่องทางให้เด็กได้เข้ามาพูดคุย โดยมีกุศโลบายว่า ถ้าปรึกษาปัญหากับครูเยอะๆ เขาจะได้ทั้งคำปรึกษาและได้ฝึกภาษาไทยด้วย เพราะเขาต้องพูดภาษาไทยกับเรา”

พอมีเวลาว่าง เธอก็มักจะชวนเด็กๆ ออกไปเที่ยวสำรวจเมือง ทั้งไปชมและไปชิม

“เราชอบให้เด็กที่สนิทกันสลับกันพาไปดูวัฒนธรรมการกินในนครโฮจิมินห์ค่ะ บางทีก็ถามว่า ใครว่างบ้าง พาครูไปร้านกาแฟหน่อย เดี๋ยวครูเลี้ยง รอบๆ ตัวเมืองมีร้านกาแฟเยอะ ช่วงหยุดยาวก็ได้ไปเที่ยวต่างเมือง ได้ไปเมืองเว้ ทะเลทรายหมุยเน้ (หรือ มุ่ยเน่) แล้วก็เมืองดาลัด”

ประสบการณ์แสนสนุกของ อุมาภรณ์ สุขหวาน อาสาสมัครเพื่อนไทย กับงานสอนภาษาไทยให้นักศึกษาที่เวียดนาม

เรียนรู้กันและกิน

“อาหารเวียดนามที่โบชอบมากที่สุดคือ บุ๊นเด่ามั๊มโตม บุ๊น คือขนมจีน เด่า คือ เต้าหู้ มั๊มโตม คือ ปลาร้า แปลรวมๆ คือ ชุดเมี่ยงที่มีขนมจีนและเต้าหู้เป็นส่วนประกอบ เวลากินต้องเอาเครื่องเคียงหลากชนิดจิ้มน้ำปลาร้ายัดเข้าปากแบบเต็มคำ แต่ปลาร้าเวียดนามรสชาติเหมือนเอากะปิของไทยมาละลายน้ำ” โบเล่าต่อว่า นอกจากจะมาเรียนรู้อาหารเวียดนามแล้ว เธอยังเอาอาหารไทยไปเผยแพร่ด้วย

“โบสอนนักศึกษาทำอาหารไทย เมนูโปรดที่เขาเรียกร้องให้ทำบ่อยๆ คือผัดไทยกับส้มตำ โบเป็นคนใต้ โบมีพริกแกงจากใต้ติดไปด้วย เด็กๆ ชอบความเผ็ดของอาหารใต้ด้วย โบก็เลยเป็นครูที่เด็กอยากกินอะไรก็จะทำให้กินค่ะ”

ประสบการณ์แสนสนุกของ อุมาภรณ์ สุขหวาน อาสาสมัครเพื่อนไทย กับงานสอนภาษาไทยให้นักศึกษาที่เวียดนาม

เราจะกลับมาพบกันใหม่

โบใช้เวลาปฏิบัติภารกิจอาสาสมัครอยู่ที่นครโฮจิมินห์ เวียดนาม 1 ปีเต็ม แล้วเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558 แม้จะผ่านมา 6 ปีแล้ว แต่ก็ยังเล่าถึงประสบการณ์ในช่วงนั้นได้อย่างตื่นเต้นเหมือนเพิ่งผ่านมาเมื่อวาน

โบเล่าว่า วันไหนที่เธอรู้สึกเครียดหรือเหนื่อยล้าจากการทำงาน เธอมักจะนึกถึงช่วงเวลาที่เป็นอาสาสมัครที่เวียดนาม เพราะได้ทำงานดีๆ แบบไม่มีแรงกดดัน ได้อยู่ท่ามกลางคนรอบข้างที่ใจดีและเอ็นดูเธอ คอยไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบอยู่ตลอด จนเธอมักจะพูดทีเล่นทีจริงกับทีมงาน TICA อยู่เสมอว่า ถ้าวันไหนอยากหนีชีวิตการทำงานที่เมืองไทย เธอจะขอไปเป็นอาสาสมัครที่เวียดนามอีกรอบ

ประสบการณ์แสนสนุกของ อุมาภรณ์ สุขหวาน อาสาสมัครเพื่อนไทย กับงานสอนภาษาไทยให้นักศึกษาที่เวียดนาม

หากใครอยากไปใช้ชีวิตเป็นอาสาสมัครที่เวียดนาม โดยเฉพาะที่นครโฮจิมินห์และนครดานัง โบยินดีแบ่งปันประสบการณ์การใช้ชีวิตในเวียดนาม ที่เธอกับเพื่อนช่วยกันทำตอนเป็นอาสาสมัคร

“การไปเป็นอาสาสมัคร โบไม่อยากให้คาดหวังว่า จะไปเอาอะไร แต่ต้องคิดว่า เราจะเอาอะไรไปให้คนอื่น แล้วเตรียมตัวเตรียมใจไปว่า เราต้องไม่ย่อท้อต่อปัญหาที่เข้ามา เพราะคำว่า ‘อาสาสมัคร’ มีความหมายชัดเจนอยู่แล้วว่า อาสาที่จะทำ และ สมัครใจที่จะไป”

โบไม่ได้การันตีว่าชีวิตอาสาสมัครที่แต่ละคนได้สัมผัสจะไม่เจอปัญหาหรือความยากลำบาก แต่เธอย้ำว่า งานอาสาสมัครจะทำให้ทุกคนได้พบคุณค่าในตัวเอง และได้รับประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมอย่างแน่นอน

ภาพ : อุมาภรณ์ สุขหวาน

โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends From Thailand – FFT)

โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย มีภารกิจส่งเยาวชนไทยไปเป็นอาสาสมัครในต่างประเทศ เพื่อทำงานด้านสาธารณสุข การเกษตร การศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน และการพัฒนาชนบท เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพคนหนุ่มสาวในระดับนานาชาติ ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อ พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบัน ส่งอาสาสมัครไปทั้งสิ้น 163 คน ในหลายประเทศ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ภูฏาน ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต และประเทศในแอฟริกา เช่น เลโซโท โมซัมบิก เบนิน ตอนนี้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นต่อไป ตั้งแต่วันนี้-วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 16.30 น. อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) หรือ คลิที่นี่

Writer

Avatar

ชลณิชา ทะภูมินทร์

นักเล่าเรื่องฝึกหัดกำลังตามหาความฝันที่หล่นหาย คนน่าน-เชียงใหม่ที่รักบ้านเกิดแต่ก็หลงรักการเดินทาง