20 สิงหาคม 2021
6 K

“ผมไม่รู้มาก่อนเลยว่า งานอาสาสมัครเป็นยังไง ภาพที่ผมมักจะนึกถึงคือ การขึ้นดอยไปแจกของ สร้างฝาย พอได้เห็นโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends From Thailand – FFT) เปิดรับอาสาสมัครครูสอนดนตรีที่ลาว ผมก็เลยสนใจครับ” แม็กนั่ม-นิติศาสตร์ คล้ายสมจิตร์ บัณฑิตสาขากีตาร์คลาสสิก คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้เดินทางตามไปสมทบกับเพื่อนอีกคนเพื่อทำหน้าที่อาสาสมัครที่วิทยาลัยศิลปศึกษา ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว

ชีวิตสองอาสาสมัครที่เดินทางไปสอนดนตรีไทยและสากลในวิทยาลัยที่ สปป.ลาว

เบียร์-วิชัยยันต์ จันทะเอียด เป็นอาสาสมัครที่ประจำการมาก่อนแม็กนั่ม เนื่องจากเบียร์เรียนจบด้านดนตรีพื้นบ้าน จากวิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด เขาจึงเชี่ยวชาญเรื่องดนตรีพื้นบ้านและคุ้นเคยกับอาจารย์ที่วิทยาลัยศิลปศึกษา ผ่านโครงการพัฒนาวิทยาลัยศิลปศึกษา สปป.ลาว หนึ่งในโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย-ลาว ในสาขาการศึกษา ที่ TICA เข้าไปสนับสนุนด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน การพัฒนาบุคลากร และส่งอาสาสมัครจากโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยไปช่วย เขาจึงได้รับการชักชวนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ให้มาเป็นอาสาสมััครเพื่อนไทย

ทั้งคู่เตรียมตัวเดินทางแบบสบายๆ เบียร์คุ้นเคยกับ สปป.ลาว อยู่แล้ว ต่างจากแม็กนั่มที่ไปลาวเป็นครั้งแรกจึงกังวลเรื่องภาษา ถึงเขาจะเข้าใจภาษาอีสานอยู่บ้างเพราะพ่อเป็นคนอีสาน

แต่พอเริ่มใช้ภาษาลาวจริงๆ ก็พบความแตกต่าง จึงต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอยู่ดี

ชีวิตสองอาสาสมัครที่เดินทางไปสอนดนตรีไทยและสากลในวิทยาลัยที่ สปป.ลาว
ชีวิตสองอาสาสมัครที่เดินทางไปสอนดนตรีไทยและสากลในวิทยาลัยที่ สปป.ลาว

อาสาสอนดนตรี

เบียร์และแม็กนั่มไปทำงานที่วิทยาลัยศิลปศึกษา ณ นครหลวงเวียงจันทน์ เป็นวิทยาลัยที่ผลิตครูสอนด้านดนตรีและศิลปะแห่งเดียวใน สปป.ลาว ที่รัฐบาลไทยโดย TICA เข้าไปช่วยพัฒนาการเรียนการสอน

แต่ละวันชีวิตอาสาสมัครสอนดนตรีของทั้งคู่เริ่มต้นด้วยการใช้เวลา 5 นาที เดินจากบ้านพักไปที่วิทยาลัย

“พอถึงชั่วโมงสอนก็เข้าสอน ระบบการสอนที่นั่นไม่เหมือนที่ไทย พวกเราทำงานเหมือนอาจารย์ปกติ เพียงแต่ไม่ต้องทำเรื่องเอกสารการสอนแบบครูที่ไทย” แม็กนั่มเล่า

ชีวิตสองอาสาสมัครที่เดินทางไปสอนดนตรีไทยและสากลในวิทยาลัยที่ สปป.ลาว
ชีวิตสองอาสาสมัครที่เดินทางไปสอนดนตรีไทยและสากลในวิทยาลัยที่ สปป.ลาว

เบียร์รับหน้าที่สอนดนตรีพื้นบ้าน ทั้งระนาด ซอ ขิม แคน และเครื่องประกอบจังหวะ ซึ่งแทบไม่แตกต่างจากเครื่องดนตรีของไทย ส่วนแม็กนั่มสอนดนตรีสากล เน้นเปียโนกับกีตาร์ รวมทั้งสอนไวโอลิน แซกโซโฟน และทรัมเป็ตบ้าง ตามความต้องการของอาจารย์ที่มาเรียนด้วย

ทั้งคู่ต้องสอนทั้งนักศึกษาและอาจารย์ สอนนักศึกษาวันละประมาณ 4 ชั่วโมง สัปดาห์ละประมาณ 3 – 4 วิชา ส่วนอาจารย์จะสอนทุกวันช่วงเย็น วันละประมาณ 2 ชั่วโมง

เซินม่วน นอกห้องเรียน

นอกจากงานสอนในวิทยาลัย เบียร์และแม็กนั่มมักได้รับเชิญให้ไปร่วมเล่นดนตรีนอกรั้ววิทยาลัยอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเบียร์ที่ได้ไปเล่นดนตรีพื้นบ้านตามงานเทศกาลเข้าพรรษา-ออกพรรษา งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ และงานแต่งงาน

นอกเวลางาน แม็กนั่มชอบไปเดินเล่นทั่วนครหลวงเวียงจันทน์ บางทีก็ออกไปปั่นจักรยาน ดูวัดวาอาราม สัมผัสบรรยากาศของเมือง โดยต้องมีสติตลอดเวลา เพราะถนนของลาวขับรถสลับฝั่งกับไทย ส่วนเบียร์ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ออกกำลังกาย โดยเฉพาะการเล่นฟุตบอลที่เพื่อนอาจารย์ชาวลาวชื่นชอบ และมักชวนทั้งสองคนไปเตะฟุตบอลด้วยกันอยู่เสมอ

เรื่องอาหารการกิน หลายคนเข้าใจว่าคงคล้ายคลึงกับชาวไทยอีสาน แต่เบียร์ปฏิเสธ เพราะรสชาติอาหารของสองฝั่งโขงแตกต่างกัน รวมถึงวิธีการปรุงด้วย

“ผมเคยไปซื้อลาบที่ร้านอาหารในตลาดเย็นแถวบึงธาตุหลวงครับ พอไปซื้อก็ตกใจ เพราะเขาใส่ถั่วงอกด้วย ถ้าอยากกินลาบเหมือนบ้านเรา ต้องสั่งลาบมะนาว บางร้านก็ปรุงรสลาบด้วยพริกขี้หนูแทนที่จะใช้พริกป่นเหมือนฝั่งไทย พวกเฝอหรือข้าวเปียก มีคนบอกผมว่าเหมือนกวยจั๊บญวน แต่ผมว่าไม่เหมือนนะ แค่คล้าย” แม็กนั่มอธิบายรายละเอียดความแตกต่างของอาหารให้เราฟังเพิ่มเติม

ทั้งคู่เพลิดเพลินกับการลิ้มรสอาหารลาว แม็กนั่มชอบกินข้าวเปียกปลาปากเซเจ้าดังหน้าวิทยาลัยฯ ส่วนเบียร์ชอบกินสารพัดตำ ไม่ว่าจะเป็นตำมาม่า ตำก๋วยเตี๋ยว และตำต่อนที่เต็มไปด้วยสารพัดวัตถุดิบ ผักลวก ลูกชิ้น มักกะโรนี ตามใจคนปรุง

มักหลาย เสี่ยวคนลาว

การใช้ชีวิตที่รอบตัวเต็มไปด้วยเพื่อน ไม่ได้สร้างความอึดอัดใจให้อาสาสมัครชาวไทยทั้งสอง กลับยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขาสนิทสนมกันมากขึ้นกว่าเดิม

“บางครั้งผมกับนักศึกษาจะมาร้องเพลง ฟ้อนรำ ตั้งวงนั่งเล่นดนตรีหน้าห้องเรียน บางทีมีเด็กที่เขามีความสามารถด้านร้องเพลงท้องถิ่น ออกมาร้องขับลำซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละแขวง ทำให้ผมได้ฟังสำเนียงการร้องที่หลากหลาย พอมีคนเริ่ม ผมก็จะเป่าแคน มีคนตีกลองและเล่นเครื่องดนตรีอื่นๆ ประกอบตามมา เป็นอีกกิจกรรมผ่อนคลายเล็กๆ น้อยๆ ครับ” เบียร์บอกเล่าความประทับใจในเสน่ห์ของการร้องขับลำ

“เราเคยได้ยินคำพูดที่ว่า เพื่อนที่ดีที่สุดคือเพื่อนตอนเรียนมัธยม คนที่นี่จะเป็นเพื่อนคล้ายๆ กันแบบนั้น คนลาวใจดีมาก เวลาเขามีอะไรเขาก็จะเอามาแบ่งปันตลอด ผมจำได้ว่ามีวันหนึ่งนักศึกษากลับบ้านที่ต่างจังหวัดแล้วเอาหมี่จีนมาให้ อาจารย์ทุกคนก็ไปรวมตัวทำหมี่กินกัน หรือเวลามีงานที่วิทยาลัยฯ เขาจะเชิญผู้อำนวยการวิทยาลัยมานั่งกินข้าวด้วยกัน ไม่มีการแยกโต๊ะผู้บริหารออกไป เขามานั่งกินข้าวกับทุกคน ทำให้ผมรู้สึกเหมือนเราเป็นครอบครัวเดียวกัน” แม็กนั่มบอกเล่าด้วยความประทับใจที่มีต่อคนรอบตัวที่วิทยาลัย

“ที่นี่เขาเรียกการนั่งกินข้าวแบบนี้ว่า ข้าวสามัคคี” เบียร์เสริม

ทั้งคู่ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า คนลาวเป็นกันเองและให้เกียรติคนอื่นมากๆ การใช้ชีวิตอาสาสมัครของพวกเขาจึงไม่ค่อยมีคำว่าเหงาสักเท่าไหร่

กลับก่อนกำหนด

เมื่อทุกอย่างกำลังเข้าที่เข้าทาง อาสาสมัครทั้งสองคนเริ่มวางแผนจะทำโครงการหลายๆ อย่างเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้ไปไกลกว่าเดิม

แม็กนั่มตั้งใจอยากสร้างวงขับร้องประสานเสียงขึ้น เป็นการเล่นดนตรีโดยใช้แค่เสียงของแต่ละคน ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมืออะไร เพื่อฝึกทักษะการอ่านโน้ต ทักษะการฟังเสียง (Ear Training) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของเหล่านักดนตรี

ส่วนเบียร์อยากผลิตเครื่องดนตรี โดยเฉพาะแคน ซึ่งองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกให้ ‘เสียงแคน’ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของ สปป.ลาว

แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ถูกพับเก็บเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทาง TICA เป็นห่วงอาสาสมัครไทยที่ไปทำงานในแต่ละประเทศ จึงให้อาสาสมัครกลับไทยทันที เบียร์กับแม็กนั่มจึงไม่ได้อยู่ครบจบตามแผนของโครงการฯ

ถึงแม้พวกเขายังไม่ได้ลงมือทำสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้ แต่ทั้งคู่ก็รู้สึกดีที่ได้พาตัวเองออกไปเปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ประเทศเพื่อนบ้านในครั้งนี้

บทเรียนชีวิต ‘อาสาสมัคร

ชีวิตอาสาสมัครเพื่อนไทย 1 ปี 6 เดือนของเบียร์ และ 6 เดือนของแม็กนั่ม ทำให้ทั้งคู่ได้รับมุมมองและมิตรภาพใหม่ๆ อยู่เสมอ แม็กนั่มเล่าว่าตัวเขาเองและเพื่อนๆ ที่ไปเป็นอาสาสมัครในประเทศอื่นต่างอยากกลับไปที่ประเทศนั้น พวกเขาเฝ้าคิดถึงมิตรภาพดีๆ ที่หาได้น้อยลงจากการทำงานในไทย

“สิ่งที่ผมได้รับกลับมาส่วนใหญ่คือมิตรภาพ ผมสัมผัสได้ถึงความจริงใจเหล่านั้น เพื่อนที่ลาว ถ้าเขารักใคร สนิทกับใคร เขาจะให้เกียรติเสมอ มีอะไรก็พูดคุยกันได้ตลอด” เบียร์ยังคงติดต่อคนที่ สปป.ลาว เพื่อสานต่องานทำเครื่องดนตรีในอนาคต

“การเป็นอาสาสมัครทำให้เราอยากเป็นผู้ให้มากกว่าเดิม มุมมองการใช้ชีวิต การมองประเทศอื่น การมองคนด้วยกันเปลี่ยนไปเยอะ เมื่อก่อนผมไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือเรื่องอะไรเลย แต่พออยู่ไปเรื่อยๆ ผมได้มองหลายมุม คนที่ลาวมองเรายังไง เรามองเขายังไง มันเปลี่ยนไปเยอะครับ อย่างน้องเจ้าของบ้านพักที่ผมไปเช่าอยู่ เขาก็บอกว่าเขาเคยมองเรายังไง มาเจอเราแล้วเขามองเปลี่ยนไปยังไง” แม็กนั่มเสริมสิ่งที่เขาได้ตกตะกอนหลังจากที่กลับไทยมาแล้ว

งานอาสาสมัครเป็นงานที่ทำให้คนมากมายได้ออกไปสำรวจ เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในอีกรูปแบบหนึ่ง ไม่เพียงแต่ได้ลองทำงานตามความถนัดของตัวเอง แต่พวกเขายังได้รับบทเรียนบทพิเศษที่อาจจะไม่ได้เจอในการทำงานรูปแบบปกติ ทั้งได้พบเจอมิตรภาพที่ดี มุมมองความคิดที่กว้างขึ้น ตามโลกใบใหม่ที่พวกเขาได้ออกไปผจญ

เบียร์ แม็กนั่ม และเราทุกคนต่างหวังว่า อาสาสมัครรุ่นต่อไปจะได้ออกไปเจอคนใหม่ๆ และได้เล่นดนตรี แบ่งปันเสียงเพลงให้กันและกันได้เหมือนอย่างที่เคย และพวกเขาจะได้เปิดประสบการณ์ ทั้งการสำรวจตัวเอง และสำรวจโลกใบใหม่ในไม่ช้านี้

ภาพ : วิชัยยันต์ จันทะเอียด และ นิติศาสตร์ คล้ายสมจิตร์

โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends From Thailand – FFT)

โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย มีภารกิจส่งเยาวชนไทยไปเป็นอาสาสมัครในต่างประเทศ เพื่อทำงานด้านสาธารณสุข การเกษตร การศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงานและการพัฒนาชนบท เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพคนหนุ่มสาวในระดับนานาชาติ ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อ พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบัน ส่งอาสาสมัครไปทั้งสิ้น 163 คน ในหลายประเทศ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ภูฏาน ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต และประเทศในแอฟริกา เช่น เลโซโท โมซัมบิก เบนิน

ตอนนี้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นต่อไป ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 20 สิงหาคม 2564 16.30 น. อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) หรือคลิกที่นี่

Writer

Avatar

ชลณิชา ทะภูมินทร์

นักเล่าเรื่องฝึกหัดกำลังตามหาความฝันที่หล่นหาย คนน่าน-เชียงใหม่ที่รักบ้านเกิดแต่ก็หลงรักการเดินทาง