13 สิงหาคม 2021
5 K

การทำงานเป็นอาสาสมัครในภูฏาน ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม เหมือนจะเป็นงานในฝันของใครหลายคน รวมถึง จิ๊บ-มัชฌิมาพร ส่องแสง เธอตั้งใจไปภูฏานด้วยเหตุผลนี้ แต่พอไปทำงานจริง โชคชะตากลับพาให้เธอไปพบกับความท้าทายที่ไม่คาดฝัน คำว่างานในฝันของเธอจึงมีความหมายที่เปลี่ยนไป

จิ๊บเห็นประกาศรับอาสาสมัครไปทำงานในต่างประเทศ ภายใต้ ‘โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends From Thailand – FFT)’ ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ จากโพสต์ในเฟซบุ๊กที่เพื่อนแชร์มา เธอส่งใบสมัครไปเมื่อ พ.ศ. 2559

ซึ่งเธอผ่านการคัดเลือก แต่ว่าในขณะนั้นยังไม่พร้อมที่จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ เธอจึงขอสละสิทธิ์ ด้วยความที่สนใจงานนี้จริงๆ เธอจึงติดตามโครงการเรื่อยมา จนกระทั่ง พ.ศ. 2562 โครงการเปิดรับอาสาสมัครตรงกับสาขาที่เธอเรียนจบมาพอดี เธอจึงรีบส่งใบสมัคร และผ่านการคัดเลือกได้เป็นอาสาสมัครในปีนั้น

อาสาสมัครสาวไทยกับงานด่านหน้าในแล็บตรวจโควิด-19 แห่งเดียวของภูฏาน

จิ๊บเรียนจบจากสาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เธอเป็นอาสาสมัครตำแหน่งนักเทคนิคห้องปฏิบัติการ (Laboratory Technologist) ที่กรุงทิมพู เมืองหลวงของภูฏาน ทำงานในแล็บของโครงการวิจัยสำรวจไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศ ทำงานวิจัยร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในภูฏาน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคนภูฏานที่ยังไม่ได้รับวัคซีน มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 10 – 20 และภูฏานเพิ่งมีการฉีดวัคซีนป้องกันเมื่อ พ.ศ. 2562 ที่จิ๊บเดินทางไปนี่เอง

“เราเอาความรู้ที่เรียนมาไปสนับสนุนให้แล็บเขาแข็งแรงขึ้น เขาต้องการพัฒนาเทคโนโลยีในการตรวจ ต้องการความรู้ใหม่ๆ จิ๊บมองว่าเราไปทำงาน เราต้องทำให้ดีที่สุดไปเลย คนในแล็บเขาก็ไม่คิดว่าเราเป็นแค่อาสาสมัคร แต่เราเป็นหนึ่งในทีมของเขา” จิ๊บเล่าถึงโจทย์ที่เธอได้รับ

แต่เมื่อเข้าสู่ พ.ศ. 2563 ทั่วโลกล้วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 รวมถึงภูฏาน การทำงานในแล็บผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ของจิ๊บจึงเปลี่ยนไป

เธอกลายเป็นทีมด่านหน้าของภูฏานอย่างเต็มตัว

อาสาสมัครสาวไทยกับงานด่านหน้าในแล็บตรวจโควิด-19 แห่งเดียวของภูฏาน

ออกเดินทางสู่ภูฏาน

ก่อนที่จิ๊บจะออกเดินทาง เธอต้องไปเข้าค่ายอบรมเตรียมความพร้อม ซึ่งจัดโดย TICA และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรุ่นพี่อาสาสมัครตั้งแต่รุ่นแรกมาให้คำแนะนำ และแบ่งปันประสบการณ์อาสาสมัครที่หลากหลายอรรถรสให้ฟัง

ภาพที่เธอนึกในหัวตอนนั้นคือ “ภูฏานเป็นประเทศที่อยู่บนเทือกเขา โดยธรรมชาติของคนภูฏานจะทำงานช้าๆ สบายๆ ไม่รีบร้อน พี่ๆ บอกว่า วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ พวกพี่ว่างจนไม่รู้จะทำอะไรกันเลย ก็เอาโต๊ะไปนั่งจิบชากัน”

อาสาสมัครสาวไทยกับงานด่านหน้าในแล็บตรวจโควิด-19 แห่งเดียวของภูฏาน

หน้าที่หลักที่จิ๊บต้องทำคือ การเก็บตัวอย่างเพาะเลี้ยงเซลล์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เพื่อศึกษาวิจัยเพิ่มเติมที่กรมควบคุมโรคของภูฏาน ที่นั่นมีเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศคอยเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยที่เข้าข่ายเป็นไข้หวัดใหญ่ แล้วก็ส่งตัวอย่างมาที่แล็บ เธอทดสอบตัวอย่าง สแกนหาไวรัสโดยนำเข้าไปในแล็บสกัด RNA แล้วใช้วิธีทางพันธุโมเลกุลวิทยาหรือ RT-PCR สแกนหาไวรัสไข้หวัดใหญ่ เมื่อพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ ทางทีมก็มาสแกนอีกรอบว่า เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ไหน

บางครั้งจิ๊บก็ลงพื้นที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด ให้ความรู้กับทีมเครือข่ายเรื่องการเก็บและส่งตัวอย่างให้แล็บ ข้อมูลจากการตรวจทั้งหมดจะถูกส่งรายเดือนให้องค์การอนามัยโลกและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของไทย (สังกัดกรมการแพทย์ทหารบก) เพื่อขอทุนสำหรับทำวิจัยต่อไป

แต่เมื่อทำงานได้เพียง 4 เดือน การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ทำให้จิ๊บต้องย้ายจากแล็บไข้หวัดใหญ่ สู่แล็บด่านหน้าที่สำคัญที่สุดของประเทศทันที

อาสาสมัครสาวไทยกับงานด่านหน้าในแล็บตรวจโควิด-19 แห่งเดียวของภูฏาน

อาสาด่านหน้าโควิด-19

เมื่อเข้าสู่เดือนมกราคม พ.ศ. 2563 โควิด-19 เริ่มแพร่กระจายเป็นวงกว้างในหลายประเทศ TICA รีบติดต่ออาสาสมัครเพื่อนไทยในภูฏานให้กลับมาทันที เนื่องจากไม่มีใครคาดเดาสถานการณ์ได้ แต่ช่วงนั้นสถานการณ์ในภูฏานยังไม่รุนแรง ทุกคนจึงตัดสินใจอยู่ทำงานต่อ เพราะงานที่แต่ละคนรับผิดชอบเป็นประโยชน์อย่างมากกับชาวภูฏาน

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ ทาง TICA เป็นห่วงอาสาสมัครทุกคนมาก จึงประเมินผลกระทบของสถานการณ์ต่อสวัสดิภาพ จิตใจ และข้อจำกัดในการทำงานของอาสาสมัคร โดยขอให้สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศที่ดูแลอาสาสมัครประเมินสถานการณ์ เพื่อประกอบการพิจารณาความจำเป็นในการส่งอาสาสมัครกลับประเทศไทย 

การทำงานที่ภูฏานนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา เป็นผูู้ประเมิน ประกอบกับรัฐบาลภูฏานมีหนังสือขอให้อาสาสมัครอยู่ปฏิบัติงานต่อ โดยรัฐบาลภูฏานจะดูแลอาสาสมัครไทยเป็นอย่างดี ดังนั้น จิ๊บและเพื่อนอาสาสมัครไทยอีก 2 คนที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นบุคลากรด่านหน้าที่มีส่วนสำคัญในการร่วมต่อสู้กับโรคระบาด จึงได้รับการอนุมัติจากทาง TICA ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อ และถือเป็นอาสาสมัครเพื่อนไทยกลุ่มเดียวที่ไม่ได้เดินทางกลับประเทศเมื่อเกิดโควิด-19

“ที่แล็บรู้ตัวล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าโควิด-19 เข้ามาในภูฏานเมื่อไหร่ พวกเราต้องรับบทหนักแน่นอน เพราะทั้งประเทศมีแค่แล็บเราแห่งเดียวที่ตรวจโควิดได้” จิ๊บเล่าถึงความท้าทายใหม่ที่ทำให้เธออยู่ต่อ

ระบบสาธารณสุขของภูฏานมีขนาดเล็ก ทั่วประเทศมีโรงพยาบาลใหญ่แค่ 3 แห่ง มีหมอประมาณ 370 คน จากประชากรกว่า 700,000 คน และที่สำคัญที่สุดคือ มีเครื่อง RT-PCR สำหรับใช้สแกนหาไวรัสเพียงที่เดียว คือที่ตึกที่จิ๊บทำงานอยู่นั่นเอง

สาธารณสุขภูฏานจัดทัพทีมแล็บโควิด (National Covid Testing Team) ใหม่ แบ่งเป็น 2 ทีม คือ ทีมตรวจและทีมข้อมูล จิ๊บได้อยู่ในทีมตรวจ เธอต้องนั่งทำงานในห้องแล็บตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืนเกือบทุกวัน

โควิด-19 เคสแรกของภูฏานพบเมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน การตรวจครั้งแรกๆ ทุกคนกดดันมาก ทางรัฐบาลก็รอผลอย่างใจจดใจจ่อ เพราะต้องการผลตรวจไปประเมินสถานการณ์และวางแผนมาตรการในประเทศ

“ทุกคนรอสายจากหัวหน้าแล็บเราว่าสรุปเขาติดเชื้อหรือเปล่า ตอนนั้นปล่อยผลประมาณตีสี่ ยังไม่ได้นอน ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำกันมาก”

อาสาสมัครสาวไทยกับงานด่านหน้าในแล็บตรวจโควิด-19 แห่งเดียวของภูฏาน
มัชฌิมาพร ส่องแสง อาสาสมัครเพื่อนไทย จากนักเทคนิคแล็บไวรัสไข้หวัดใหญ่ สู่ทีมด่านหน้าสู้โควิด-19 ของภูฏาน

เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 จะเป็นเรื่องที่ใหม่มาก แต่ทีมบริหารก็จัดการระบบสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เธอไว้ใจได้ว่า ตัวเองจะอยู่ช่วยคนที่นั่นอย่างปลอดภัย และพวกเขาก็ช่วยเหลือเธอด้วยเช่นกัน

“เขารู้ตัวว่าระบบสาธารณสุขของเขาเล็ก ถ้าเกิดการระบาดหรือคนติดเชื้อเยอะขึ้นมา เอาไม่อยู่แน่นอน เครื่องช่วยหายใจไม่พอ บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่พอ กลยุทธ์หลักของรัฐบาลภูฏานในการสู้กับโควิดคือ กันไว้ตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่ปล่อยให้หลุดเข้ามาแล้วจัดการทีหลัง” จิ๊บเล่านโยบายการจัดการในภาพรวมของประเทศ

ชายแดนทางตอนใต้ของภูฏานติดต่อกับอินเดีย ไม่มีด่านตรวจคนเข้า-ออกประเทศ ทุกคนจึงเดินข้ามไป-มาระหว่างประเทศได้อย่างง่ายดาย แต่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจำเป็นต้องปิดพื้นที่ไว้ก่อน

นอกจากนี้ แต่ละเมืองตั้งคลินิกตามสถานที่สาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา โรงเรียนใกล้โรงพยาบาล ให้ชาวภูฏานเข้าไปปรึกษาหมอ เพื่อประเมินอาการโดยไม่ต้องเข้าไปที่โรงพยาบาล ลดความแออัด คนที่จะเข้าไปในโรงพยาบาลต้องเป็นผู้ป่วยสีแดงเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและสีเขียวจะมีโรงแรมหรือที่พักที่จัดหาให้โดยรัฐบาล

“จิ๊บคิดว่าเราอยู่ด่านหน้า เขาไม่ทิ้งเราแน่นอน แม้กระทั่งประชาชนที่เดินตามท้องถนน เขาก็ยังเข้าถึงการตรวจ เข้าถึงการรักษาได้ เราก็ต้องได้รับสิ่งนั้นแน่นอน ก็เลยมั่นใจในระดับหนึ่ง”

ชีวิตส่วนใหญ่ของจิ๊บจึงเป็นการทำงานอยู่ในแล็บ และทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระยะแรกที่ยังไม่มีการจัดหาบุคลากรเพิ่มเติม ทีมของเธอมี 6 คน ต้องทำงานวันละ 16 – 18 ชั่วโมง ถือว่ายาวนานและหนักมาก

มัชฌิมาพร ส่องแสง อาสาสมัครเพื่อนไทย จากนักเทคนิคแล็บไวรัสไข้หวัดใหญ่ สู่ทีมด่านหน้าสู้โควิด-19 ของภูฏาน

ความเหนื่อยยากในแล็บตรวจ

เมื่อเวลาผ่านไป จิ๊บปฏิบัติภารกิจอาสาสมัครจนครบระยะเวลาตามสัญญา แต่ยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง เธอจึงขอต่อสัญญาอีก 6 เดือน เพื่ออยู่ช่วยชาวภูฏานในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และจัดการงานหลักที่ได้รับมอบหมายในตอนแรกให้เรียบร้อย

ปลาย พ.ศ. 2563 ภูฏานล็อกดาวน์รอบสอง ยาวนานถึง 45 วัน จิ๊บย้ายจากทีมตรวจหาเชื้อในแล็บ ไปทำงานทีมข้อมูล ที่เพิ่งเปลี่ยนระบบจากการบันทึกรายชื่อวันละพันกว่ารายชื่อด้วยปากกากระดาษ มาสู่การใช้แท็บเล็ต ทีมงานที่ไม่ชำนาญด้านเทคโนโลยีจึงต้องใช้เวลาเรียนรู้ระบบการทำงานรูปแบบใหม่อยูู่พักใหญ่

การทำงานในห้องแล็บยังคงดำเนินต่อไป ส่วนห้องแล็บอื่นๆ ในตึก ไม่ว่าจะเป็นห้องแล็บมาลาเรีย แล็บน้ำเหลือง แล็บภูมิคุ้มกันวิทยา ถูกเปลี่ยนเป็นห้องนอนให้ทีมงานได้พักผ่อน ทุกคนไม่ควรกลับบ้านเพราะมีความเสี่ยงที่จะนำเชื้อออกไปจากห้องแล็บ การใช้ชีวิตกินและนอนที่นั่นจึงเป็นทางเลือกที่รัดกุมมากกว่า พอตื่นขึ้นมาก็ทำงานต่อทันที นอนง่ายๆ กินง่ายๆ พร้อมทำงานตลอดเวลา จิ๊บเล่าว่า เธอได้กลับไปที่พักเพื่อไปหยิบข้าวของที่จำเป็นเพียงแค่ 2 ครั้งเท่านั้นในรอบ 45 วัน

“จิ๊บก็ไม่รู้ว่าตัวเองผ่านช่วงนั้นมาได้ยังไงเหมือนกัน มันเหนื่อยมากจริงๆ”

มัชฌิมาพร ส่องแสง อาสาสมัครเพื่อนไทย จากนักเทคนิคแล็บไวรัสไข้หวัดใหญ่ สู่ทีมด่านหน้าสู้โควิด-19 ของภูฏาน

กำลังใจระหว่างทาง

ถึงแม้การทำงานจะเหนื่อยยากแค่ไหน แต่จิ๊บไม่เคยรู้สึกโดดเดี่ยวเลยสักครั้ง ทุกคนรู้ว่าจิ๊บไม่คุ้นกับอาหารภูฏาน เมื่อทำงานอย่างหนักหน่วง น้ำหนักของเธอก็ลดลงถึง 6 กิโลกรัมในระยะเวลาสั้นๆ คนรอบข้างเลยช่วยดูแลเรื่องอาหารให้เธออย่างดี ราวกับเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว

“หลังกินข้าว เรามีช่วงเวลาพัก ห้านาที สิบนาที ทีมเราก็จะมานั่งคุยกัน หัวเราะกัน เล่นกีตาร์ ร้องเพลง เปิดเพลงเต้นกัน แล้วก็กลับเข้าไปทำแล็บต่อแบบนี้ทุกวัน เลยยังมีแรง มีกำลังใจทำต่อไป เรารู้สึกว่า เราไม่ได้สู้คนเดียว แต่สู้ไปด้วยกัน” จิ๊บเล่าถึงช่วงเวลาของความเหนื่อยยากด้วยรอยยิ้ม

มัชฌิมาพร ส่องแสง อาสาสมัครเพื่อนไทย จากนักเทคนิคแล็บไวรัสไข้หวัดใหญ่ สู่ทีมด่านหน้าสู้โควิด-19 ของภูฏาน

ช่วงที่จิ๊บทำงานในทีมข้อมูล เธอต้องพูดคุยกับคนหลายฝ่าย เธอไม่เคยเจอหน้าคนที่ต้องสื่อสารด้วยเลย โดยเฉพาะหมอบางคนที่อยู่ตามหน่วยเล็กๆ ในต่างจังหวัด แต่พอติดต่อกันทุกวัน ก็เริ่มสนิทกับหลายคน จนช่วงก่อนจิ๊บกลับไทยก็มีการนัดกินข้าวเลี้ยงส่งกัน

สิ่งที่จิ๊บประทับใจคือ ช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มดีขึ้น และเป็นช่วงที่จิ๊บใกล้จะกลับไทย เธอได้ไปพักผ่อนที่โรงแรมหนึ่ง เจ้าของโรงแรมจำได้ว่า เธอคืออาสาสมัครคนไทยที่มาช่วยภูฏาน เพราะได้อ่านบทสัมภาษณ์ของเธอในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในช่วงล็อกดาวน์ 45 วัน เจ้าของจึงขอตอบแทนเธอด้วยการไม่คิดค่าที่พัก 

และที่เธอรู้สึกภูมิใจอย่างมากคือ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขภูฏาน ก็ให้จิ๊บกับเพื่อนๆ คนไทยเข้าไปพบเพื่อแสดงความขอบคุณ และมอบของขวัญให้พวกเราที่ช่วยอยู่ปฏิบัติงานมาตลอด ของขวัญที่ได้รับคือ กระเช้าที่บรรจุผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการ One Gewog One Product หรือ OGOP โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่าง TICA กับสำนักงานโครงการสมเด็จพระราชินีเจตชุน เพมา วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนของภูฏาน โดยนำประสบการณ์ของไทยที่พัฒนาสินค้า OTOP ไปประยุกต์ใช้ จนทำให้ภูฏานสามารถผลิตสินค้า OGOP จากชุมชนต่างๆ ได้มากกว่า 100 ชนิด และมีร้านค้าจำหน่ายสินค้า OGOP ในภูฏาน ถึง 3 แห่งด้วยกัน

มัชฌิมาพร ส่องแสง อาสาสมัครเพื่อนไทย จากนักเทคนิคแล็บไวรัสไข้หวัดใหญ่ สู่ทีมด่านหน้าสู้โควิด-19 ของภูฏาน
มัชฌิมาพร ส่องแสง อาสาสมัครเพื่อนไทย จากนักเทคนิคแล็บไวรัสไข้หวัดใหญ่ สู่ทีมด่านหน้าสู้โควิด-19 ของภูฏาน

บทเรียนจากห้องแล็บที่ภูฏาน

ระยะเวลา 18 เดือนของการเป็นอาสาสมัครในภูฏาน จิ๊บได้เปลี่ยนแปลงตัวเองในหลายเรื่อง วันหนึ่ง มีรายชื่อจากการเก็บตัวอย่างตกหล่น เธอจึงบ่นคนที่ดูแลงานส่วนนี้ เขาก็ขอโทษและบอกว่า ตัวเองต้องวิ่งรวบรวมรายชื่อจากหลายพื้นที่และยังไม่ได้กินข้าวเลย

“มันทำให้เราคิดได้ว่า เราจะมองแค่มุมของเราไม่ได้ คนอื่นเขาก็ทำงานหนักเหมือนกัน เมื่อก่อน ถ้ามีอะไรผิดพลาด เราจะมุ่งหาต้นเหตุทันที โดยอาจจะไม่ได้มองว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้งานผิดพลาดได้”

มัชฌิมาพร ส่องแสง อาสาสมัครเพื่อนไทย จากนักเทคนิคแล็บไวรัสไข้หวัดใหญ่ สู่ทีมด่านหน้าสู้โควิด-19 ของภูฏาน

นอกจากความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นิสัยการกินของเธอก็เปลี่ยนไปด้วย

“เรื่องกินกลายเป็นเรื่องรองลงมาเลย คือกินแค่ให้อิ่มท้อง ไม่จำเป็นต้องกินทุกอย่างที่อยากกินก็ได้ ชีวิตเรียบง่ายขึ้นเยอะ ไม่จำเป็นต้องหวือหวา ไม่จำเป็นต้องไปห้าง ตื่นเช้ามานั่งดูภูเขา ดูหมอก จิบกาแฟหน้าบ้านก็พอแล้ว ชีวิตมันช้าลงมากๆ แล้วก็ทำให้เราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้นด้วย” จิ๊บหยุดทบทวนว่ามีอะไรที่เธอเปลี่ยนไปอีก

“เปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย เรามองโลกกว้างขึ้น ใจเย็นลง ไม่รู้ว่าเพราะเราต้องไปจัดการงานที่มันยุ่งเหยิงมากๆ หรือเปล่า”

เมื่อถามว่างานอาสาสมัครแบบนี้เหมาะกับใคร จิ๊บมองว่าทุกคน ไม่ว่าคุณจะเพิ่งเรียนจบ เริ่มทำงาน ต้องการค้นหาตัวเอง หรือกำลังหมดไฟในชีวิต การได้เปลี่ยนบรรยากาศมาทำงานอาสาสมัครในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย จะมอบประสบการณ์แสนพิเศษให้คุณแน่นอน และถ้าสมัคร โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย แล้วไม่ผ่านการคัดเลือกก็อย่าเพิ่งท้อ ถ้ายังไม่เลิกล้มความตั้งใจ ยังไงวันหนึ่งโอกาสก็จะมาถึงแบบเดียวกับเธอ

มัชฌิมาพร ส่องแสง อาสาสมัครเพื่อนไทย จากนักเทคนิคแล็บไวรัสไข้หวัดใหญ่ สู่ทีมด่านหน้าสู้โควิด-19 ของภูฏาน
มัชฌิมาพร ส่องแสง อาสาสมัครเพื่อนไทย จากนักเทคนิคแล็บไวรัสไข้หวัดใหญ่ สู่ทีมด่านหน้าสู้โควิด-19 ของภูฏาน

ภาพ : มัชฌิมาพร ส่องแสง

โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends From Thailand – FFT)

โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย มีภารกิจส่งเยาวชนไทยไปเป็นอาสาสมัครในต่างประเทศ เพื่อทำงานด้านสาธารณสุข การเกษตร การศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงานและการพัฒนาชนบท เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพคนหนุ่มสาวในระดับนานาชาติ ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อ พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบัน ส่งอาสาสมัครไปทั้งสิ้น 163 คน ในหลายประเทศ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ภูฏาน ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต และประเทศในแอฟริกา เช่น เลโซโท โมซัมบิก เบนิน ตอนนี้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นต่อไป ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 20 สิงหาคม 2564 16.30 น. อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) หรือ คลิกที่นี่

Writer

Avatar

ชลณิชา ทะภูมินทร์

นักเล่าเรื่องฝึกหัดกำลังตามหาความฝันที่หล่นหาย คนน่าน-เชียงใหม่ที่รักบ้านเกิดแต่ก็หลงรักการเดินทาง