6 สิงหาคม 2021
11 K

การออกเดินทางตามหาชีวิตในฝัน ไม่ได้เป็นเรื่องของคนวัยต้น 20 เท่านั้น

หลังเรียนจบปริญญาโท สาขาวิศวกรรมและระบบการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ปิ๊ก-พุทธิภูมิ อาษานอก บังเอิญเลื่อนหน้าฟีดเฟซบุ๊กไปเจอรายละเอียด ‘โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends From Thailand – FFT)’ ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ เขาจึงอยากลองทำตามสิ่งที่ตัวเองฝันผ่านการเป็นอาสาสมัครในวัย 34 ปี 

ชีวิตของเขาเปลี่ยนจากวิศวกรเครื่องกลธรรมดาๆ ที่ทำงานในไซต์ก่อสร้าง สู่การเป็นอาสาสมัครนักพัฒนาการเกษตร นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาประยุกต์ใช้กับปัญหาที่เจอ และมีอิสระในการจัดสรรเวลา เพื่อใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมและระบบการเกษตร ตามหาความต้องการของตัวเองในต่างแดน

หนุ่ม ป.โทวิศวะ กับชีวิตอาสาสมัครจากเมืองไทย ไปแก้ปัญหานานาชนิดให้เกษตรกรในแอฟริกา
หนุ่ม ป.โทวิศวะ กับชีวิตอาสาสมัครจากเมืองไทย ไปแก้ปัญหานานาชนิดให้เกษตรกรในแอฟริกา

ปิ๊กเดินทางไปเป็นอาสาสมัครที่เมืองจาโกโตเม่ (Djakotomey) สาธารณรัฐเบนิน ซึ่งน้อยคนนักจะรู้จัก เบนินเป็นประเทศในแอฟริกาตะวันตก มีพรมแดนติดต่อประเทศโตโกทางตะวันตก ประเทศไนจีเรียทางตะวันออก และประเทศบูร์กินาฟาโซกับประเทศไนเจอร์ทางเหนือ และเป็นประเทศที่ 3 ในแอฟริกาที่ TICA ส่งอาสาสมัครไปปฏิบัติงาน 

เป้าหมายคือ ตั้งศูนย์เรียนรู้การเกษตร เพื่อพัฒนาชุมชนยั่งยืนสำหรับเกษตรกรในท้องถิ่น งานอาสาสมัครของปิ๊กจึงเริ่มต้นจากศูนย์ เขาต้องลงพื้นที่ไปใช้ชีวิตคลุกคลีกับเกษตรกร เพื่อหาข้อมูลว่าท้องถิ่นมีทรัพยากรอะไร ปัญหาของชุมชนคืออะไร และต้องการความช่วยเหลือด้านไหน ให้สอดคล้องกับการพัฒนาชุมชนตามหลักการ ‘ระเบิดจากข้างใน’

เบนินมีประชากรประมาณ 10 ล้านคน ส่วนใหญ่ทำการเกษตร แต่เนื่องจากระบบชลประทานไม่ดีนัก และปริมาณน้ำฝนต่อปีก็น้อย จึงนิยมปลูกพืชไร่ที่ชอบน้ำน้อย เช่น ข้าวโพดและมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นอาหารหลักของเขาด้วย

เมืองที่ปิ๊กไปอยู่เป็นพื้นที่ราบสูง หาแหล่งน้ำได้ยากกว่าเมืองอื่นๆ ผลผลิตทางการเกษตรที่ออกมาก็ขายไม่ดี เกษตรกรมีรายได้น้อย

นี่คือความท้าทายที่ปิ๊กและเพื่อนๆ อยากอาสาพัฒนาให้สำเร็จ

หนุ่ม ป.โทวิศวะ กับชีวิตอาสาสมัครจากเมืองไทย ไปแก้ปัญหานานาชนิดให้เกษตรกรในแอฟริกา

สร้างศูนย์ จากศูนย์

TICA ไม่เคยส่งอาสาสมัครไปที่เบนินมาก่อน และไม่มีศูนย์เรียนรู้การเกษตรอยู่เลย อาสาสมัครจึงต้องศึกษาเพิ่มเติมและเรียนรู้จากการไปปฏิบัติงานเอง นี่คือความท้าทายอย่างแรกๆ ที่เจอ แต่ถึงอย่างนั้น ปิ๊กและเพื่อนอาสาสมัครรุ่นเดียวกัน คือ ปภังกร โพธารส เป็นอาสาสมัครไทยรุ่นแรก ต้องร่วมกันทำงานตั้งแต่การวางแผนงาน กางแผนที่ศึกษาภูมิประเทศอย่างจริงจัง หาคนในท้องถิ่นมาเป็นเครือข่ายช่วยสนับสนุนการทำงาน และผูกมิตรกับผู้คนในชุมชน ความท้าทายอีกอย่างของทั้งคู่คือภาษา เพราะเบนินใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ แต่คนส่วนใหญ่ใช้ภาษาท้องถิ่น จึงต้องมีคนมาช่วยสื่อสาร

ปิ๊กเลยเปรียบว่า ถ้าไม่ผูกมิตรกับคนในท้องถิ่น เขากับเพื่อนก็คงเหมือนลอยคออยู่ในทะเล ไม่รู้จะไปทางไหน

เมื่อมีมิตรและเครือข่ายในพื้นที่แล้ว งานต่อไปคือสร้างความคุ้นเคย เข้าใจภูมิสังคมและภูมิประเทศของเมืองจาโกโตเม่ (Djakotomey) ก่อน

ปิ๊กเตรียมตัวมาสอนเต็มที่ แต่เขาก็ต้องอิงการทำงานมวลชนสัมพันธ์ คอยถามไถ่ถึงปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ อยู่ดี

“เราไม่เอาเทคนิคสูงๆ ไปเลย หัวใจหลักคือ เอาสิ่งที่เขามีในท้องถิ่นนี่แหละไปประยุกต์ให้เขาทำได้ เห็นแล้วทำตามได้ ถ้าเขาเอาไปทำต่อ นั่นก็คือโครงการสำเร็จ”

ปิ๊กได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพื้นที่การเกษตร จากศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง (ศปร.) กองบัญชาการกองทัพไทย ว่า หลักในการเลือกพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้ต้องหาพื้นที่ของเกษตรกรเอง เพราะถ้าใช้พื้นที่ของรัฐบาล ต้องมีคนดูแล มีค่าใช้จ่ายตามมามากมาย และไม่เกิดการส่งต่อความรู้ระหว่างเกษตรกรกันเองเท่าที่ควร รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่ปิ๊กสรรค์สร้างและประดิษฐ์ขึ้นอาจสูญหายได้ การเข้าหาเกษตรกรโดยตรงจึงเป็นวิธีให้ความรู้เพื่อสร้างความยั่งยืนแท้จริง

เกษตรกรในท้องถิ่นคือคนที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ต่อไป ปิ๊กจึงต้องหาเกษตรกรตัวอย่าง รับหน้าที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งต่อความรู้ให้คนในชุมชนต่อไปได้ แล้วเขาก็เจอสองเกษตรกรหัวไวใจสู้อย่าง ไลออน กับ มาคุนา

เมื่ออาสาสมัครเพื่อนไทยได้พื้นที่ที่เหมาะสมและเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นแล้ว ปิ๊กกับเพื่อนก็เข้าไปสอบถามถึงสิ่งที่เขายังขาด เพื่อนำความรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้

คนแอฟริกันส่วนใหญ่อาศัยรวมกันเป็นหมู่บ้าน มากกว่าแยกไปอยู่ในพื้นที่ทำเกษตรแบบครอบครัวเดี่ยว แต่พื้นที่ทำการเกษตรของไลออน เป็นทั้งบ้านและสวนส้มในพื้นที่เดียวกันเขาจึงใช้ชีวิตอยู่กับสวนส้มตลอดเวลา ซึ่งตรงตามโจทย์ที่ต้องการ แต่ด้วยพื้นที่ขาดแคลนแหล่งน้ำ ทาง TICA จึงเข้าไปช่วยขุดบ่อน้ำบาดาลให้

ส่วนพื้นที่ของมาคุนาต่างออกไป เขาเลี้ยงสัตว์ มีความรู้เรื่องเลี้ยงและผสมพันธุ์แพะเป็นอย่างดี เขามีบ่อน้ำบาดาลลึก 50 เมตร แต่ไม่มีระบบน้ำที่ดี การให้น้ำแพะและไก่หลายๆ ตัวจึงต้องใช้ปั๊มน้ำ ซึ่งมีราคาแพงและต้องใช้น้ำมันที่ต้องซื้อหา หากวันไหนเครื่องเสีย มาคุนาก็ซ่อมเองไม่ได้ ทาง TICA จึงสนับสนุนระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ช่วยปั๊มน้ำอัตโนมัติ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำต้นแบบพื้นที่ตามความต้องการจริงๆ

“ถ้าเราเอารถแทรกเตอร์ไปให้ เขาไม่ใช้หรอก เพราะน้ำมันมันแพง ใช้ได้ประมาณเดือนสองเดือนก็คงจอดทิ้งไว้ เราต้องลงพื้นที่ก่อนว่าเขาต้องการอะไร ไม่ยัดเยียดสิ่งที่เขาไม่ต้องการให้ นี่คือสิ่งที่ท้าทาย งานอาสาสมัครของผมเป็นแบบนี้แหละ”

ลองผิดลองถูกที่จาโกโตเม่

เมื่อปิ๊กเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์และภูมิสังคม รู้จักนิสัยใจคอ ธรรมชาติของคนท้องถิ่นในเมืองจาโกโตเม่แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการสำรวจว่า นอกจากปัญหาเรื่องน้ำแล้ว พวกเขาขาดและต้องการอะไรอีก ปัญหามีอยู่ตรงไหน แล้วอะไรเป็นปัญหาเร่งด่วน จึงลงมือแก้ไขปัญหานั้นทันที

ในตอนแรก เขาตั้งใจจะมาสอนการทำปุ๋ยชีวภาพสูตรต่างๆ ที่ได้เรียนรู้จากยูทูเบอร์เกษตรกรไทย เพื่อให้เกษตรกรเบนินได้ผลผลิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น แทนที่จะใช้ยาฆ่าแมลงราคาแพง ต้องลงเงินทุนซื้ออีกไม่น้อย ควรจะใช้สิ่งที่เกษตรกรมีอยู่แล้วมาทดแทนเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง

เมืองจาโกโตเม่เป็นแหล่งปลูกส้มเปลือกหนา ไม่หวาน ราคาไม่ดี แทนที่จะปล่อยทิ้งอย่างเปล่าประโยชน์ ปิ๊กนำของเสียทางการเกษตรนี้มาผนวกกับการเผาถ่านจำนวนมากในเบนิน เกิดเป็นไอเดียทำ ‘น้ำส้มควันไม้’

“ผมก็เพิ่งเคยทำน้ำส้มควันไม้ที่เบนินนี่แหละ ลองผิดลองถูกจนสำเร็จ”

พอเกิดเตาน้ำส้มควันไม้ขึ้นหนึ่งเตา เกษตรกรก็พากันมาดูงานและนำไปทดลองใช้ บอกต่อกันปากต่อปาก จนกลายเป็นยาป้องกันศัตรูพืชชีวภาพที่แพร่หลายทั่วจาโกโตเม่ในเวลาต่อมา

เมื่อปิ๊กอยู่ได้ประมาณ 8 เดือน ทางทีม TICA และผู้เชี่ยวชาญจาก ศปร. ก็เดินทางมาติดตามผลงาน มีการจัดกิจกรรมสอนทำปุ๋ยชีวภาพให้เกษตรกรมาเข้าร่วม มีเกษตรกรและคนที่แจ้งความสนใจมาร่วมประมาณ 40 คน แต่มาจริงกว่าร้อยคน พอคนในท้องถิ่นรู้จักและไว้ใจนวัตกรรมของอาสาสมัครเพื่อนไทยมากขึ้น ปิ๊กกับเพื่อนจึงเดินหน้าแก้ไขปัญหาอื่นๆ ต่อทันที

แก้ปัญหาด้วยเครื่องมือจากอดีตวิศวกร

พอได้รับกระแสตอบรับจากเกษตรกรอย่างล้นหลาม ปิ๊กเดินหน้าผลิตเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตรทันที

เมืองจาโกโตเม่เป็นที่ราบสูง จึงขาดแคลนแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค ในขณะที่เมืองรอบข้างเป็นพื้นที่น้ำไหลทั้งหมด เมื่อคนในหมู่บ้านต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค จึงต้องเข็นรถไปขนน้ำนอกหมู่บ้านที่ห่างออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร เนื่องจากแหล่งน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของทุกครัวเรือน

“วันหนึ่ง บังเอิญผมลงพื้นที่ไปเจอแหล่งน้ำพอดี ผมเห็นว่าน้ำตรงนี้ไหลแรงดี ก็คิดว่าจะดึงน้ำขึ้นมาใช้ยังไง เพราะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอะไรทั้งสิ้น” ปิ๊กเล่าถึงโจทย์ใหม่

ปิ๊กเจอวิธีทำเครื่องตะบันน้ำ (Ram Pump) โดยบังเอิญในโลกออนไลน์ เขารีบไปซื้ออุปกรณ์สำหรับการทำเครื่องตะบันน้ำที่มีกลไกอย่างง่าย ไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันราคาแพง เมื่อทำสำเร็จ ชาวบ้านก็ไม่ต้องเดินเข้าออกหมู่บ้านไปขนน้ำ ใช้น้ำจากก๊อกน้ำที่บ้านซึ่งเปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมงได้เลย

เรื่องต่อมาที่ต้องจัดการคือ การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่มีมากเกินความต้องการ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้เพิ่ม วิธีง่ายที่สุดและเหมาะกับเมืองร้อนอย่างจาโกโตเม่คือการตากแห้ง โดยปกติคนในพื้นที่ตากแห้งพริกและมะเขือเทศกันอยู่แล้ว แต่ความร้อนอาจยังไม่มากพอ ปิ๊กจึงชวนเกษตรกรสร้างเตาอบพลังงานแสงอาทิตย์จากไม้และกระจก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การแปรรูป

“มันร้อนแน่นอน ร้อนกว่าข้างนอกประมาณสิบห้าองศาเซลเซียส ถ้าข้างนอกอุณหภูมิสามสิบห้าองศาเซลเซียส ข้างในก็ประมาณห้าสิบองศาเซลเซียส ฝนตกหรือแดดออกก็ไม่กลัว เพราะผลผลิตอยู่ข้างใน มีไม้ปิดรอบด้านอยู่แล้ว” ปิ๊กบรรยายคุณสมบัติเตาอบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประดิษฐ์ได้โดยใช้วัสดุในท้องถิ่น

เครื่องมือชิ้นสุดท้าย ปิ๊กบอกว่าเป็นเหมือนงานอดิเรกมากกว่าการทำงาน โจทย์มาจากความหงุดหงิดของปิ๊กที่เห็นเกษตรกรที่นั่นถือแค่ ‘จอบ’ จัดการพื้นที่ไร่นาที่กว้างใหญ่ เขาจึงอยากหาวิธีทุ่นแรงแบบอื่น 

ทีแรกเขานึกถึงการใช้ควายไถนาแบบไทย แต่แทนที่จะใช้ควายเป็นต้นกำลังในการลาก เขาเลือกใช้มอเตอร์ไซค์ และจำเป็นต้องมีเหล็กเป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องมือสำคัญในการไถพรวนอย่างผานไถนา แต่ในแอฟริกาเหล็กราคาแพงมาก ปิ๊กจึงมองหาบางอย่างมาทดแทน นั่นคือแหนบรถยนต์จากร้านขายของเก่า

“นี่แหละ จุดที่ทำให้ผมเข้าไปยุ่งกับเหล็ก” ปิ๊กเล่าถึงงานใหม่ “ผมปวดหัวมากเพราะมันค่อนข้างยุ่งยาก หลายขั้นตอน พอเอาไปให้ช่างตีให้ก็ไม่ได้ตามแบบที่ต้องการ ต้องแก้หลายรอบ สุดท้ายก็สำเร็จ ตอนนี้เขาก็ยังใช้กันอยู่ครับ”

ตามหาชีวิตในฝันจากงานอาสาสมัคร

ด้วยเสน่ห์ของเมืองจาโกโตเม่ ผู้คนที่ปิ๊กไปใช้ชีวิตอยู่ด้วย และความชอบงานอาสาสมัคร ทำให้เขาใช้เวลาอยู่กับโครงการที่เบนินเกือบ 2 ปีก่อนเดินทางกลับมาประเทศไทย ถ้าเป็นคนอื่น คงเริ่มทำงานตามสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมา แต่ปิ๊กยังคงหลงรักงานอาสาสมัคร จึงหาโครงการใหม่ และได้ไปเป็นอาสาสมัครอีกครั้งที่ภูฏาน เขาเล่าให้เราฟังว่า การเป็นอาสาสมัครแบบนี้ทำให้เขาได้เจอคนหลากหลายแบบ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และบทเรียนชีวิตที่มีคุณค่ากลับมามากมาย

นอกจากนี้ หลังจากที่ปิ๊กกลับจากการปฏิบัติงานแล้ว TICA ได้ให้โอกาสปิ๊กร่วมนำเสนอบทบาทของอาสาสมัครเพื่อนไทย ที่ไปปฏิบัติงานภายใต้โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่เบนิน ในงานวันสหประชาชาติเพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (UN Day for South-South Cooperation) เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563 และการเปิดตัวหนังสือ South-South in Action (SSiA) ภายใต้หัวข้อ “South-South Volunteering as a driving force for development: Experiences from Asia and the Pacific” ซึ่ง TICA จัดร่วมกับสำนักงานสหประชาชาติ เพื่อความร่วมมือใต้-ใต้ (UNOSSC) และโครงการอาสาสมัครของสหประชาชาติ (UNV) จัดงานดังกล่าวขึ้นที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการยอมรับและชื่นชมจากผู้เข้าร่วมงานอย่างมาก

พุทธิภูมิ อาษานอก อาสาสมัครเพื่อนไทย เดินทางไปแก้ปัญหาสารพัด ตั้งแต่เรื่องน้ำ เครื่องมือเกษตร และการแปรรูปผลผลิตให้ชาวเบนิน
พุทธิภูมิ อาษานอก อาสาสมัครเพื่อนไทย เดินทางไปแก้ปัญหาสารพัด ตั้งแต่เรื่องน้ำ เครื่องมือเกษตร และการแปรรูปผลผลิตให้ชาวเบนิน

ปิ๊กพูดถึงข้อดีของการเป็นอาสาสมัครว่า “หนึ่ง คุณจะสร้างความเป็นผู้นำในตัวเองได้ เพราะคุณอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่บ้านพ่อเมืองแม่ ต้องอยู่ตัวคนเดียว ดูแลเรื่องความปลอดภัย การกินอยู่เอง สอง มีเวลากับตัวเอง ถ้าอยู่ในการทำงานปกติ ผมคงเรียนนอกตำราไม่ได้เลย แต่ตอนที่ผมอยู่แอฟริกา ผมชอบมากเลย เพราะมีเวลาว่าง เนื่องจากไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีที่ให้ไป ไม่มีที่ให้ใช้เงินด้วย ผมเลยเรียนออนไลน์ เรื่องระบบอัตโนมัติ ระบบคอมพิวเตอร์อุตสาหกรรม (PLC) ได้ จนผมทำเป็นหมดเลย เพื่อปรับใช้ในการแก้ปัญหาในท้องถิ่น”

แต่การทำงานอาสาสมัครก็ไม่ง่าย ปิ๊กย้ำว่า ให้คิดไว้ก่อนเลยว่ากำลังจะเจอปัญหาบางอย่างแน่ๆ แต่ต้องไม่เก็บปัญหาเอาไว้ในหัวอย่างเดียว ต้องหาทางร่วมกันแก้ไข เมื่อพวกเขาได้ทดลองและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง พวกเขาจะสนุกกับงาน สนุกกับสิ่งต่างๆ รอบตัว สร้างความภูมิใจให้กับตัวเองที่ได้ช่วยเหลือและแบ่งปันความรู้ให้กันและกัน เมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและรายจ่ายลดลง ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาก็จะค่อยๆ ดีขึ้น

ถ้าคุณเป็นคนที่ ‘หัวไวใจสู้’ เหมือนกัน ก็น่าลองสมัครและเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทยดูสักครั้ง

ภาพ : พุทธิภูมิ อาษานอก

โครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends From Thailand – FFT)

โครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไทย มีภารกิจส่งเยาวชนไทยไปเป็นอาสาสมัครในต่างประเทศ เพื่อทำงานด้านสาธารณสุข การเกษตร การศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงานและการพัฒนาชนบท เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและเป็นโอกาสในการพัฒนาศักยภาพคนหนุ่มสาวในระดับนานาชาติ ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อ พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบัน ส่งอาสาสมัครไปทั้งสิ้น 163 คน ในหลายประเทศ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ภูฏาน ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต และประเทศในแอฟริกา เช่น เลโซโท โมซัมบิก เบนิน

ตอนนี้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการรุ่นต่อไป ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 20 สิงหาคม 2564 16.30 น. อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) หรือคลิกที่นี่

Writer

Avatar

ชลณิชา ทะภูมินทร์

นักเล่าเรื่องฝึกหัดกำลังตามหาความฝันที่หล่นหาย คนน่าน-เชียงใหม่ที่รักบ้านเกิดแต่ก็หลงรักการเดินทาง