บานประตูสีม่วงลาเวนเดอร์และกรอบสีทองรอบตาแมวของประตู อาจทำให้ใครหลายๆ คนคิดถึงเสียงหัวเราะ และความฮาของเหล่าเพื่อนร่วมห้องที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์จากซีรีส์ซิตคอมสุดคลาสสิกยุค 90 เรื่อง FRIENDS 

อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน ใน ค.ศ. 1994 วันที่ซีรีส์เรื่องนี้ออนแอร์บนจอแก้วเป็นครั้งแรก และฉายต่อเนื่องหลังจากนั้นมาตลอดทศวรรษ รวมทั้งหมด 236 ตอน การรับชมในสมัยนั้นผ่านสัญญาณโทรทัศน์แบบแอนะล็อก ไม่เหมือนการรับชมทีวีในยุคดิจิทัลและการสตรีมผ่านอินเทอร์เน็ต ถ้าพลาดแล้วพลาดเลย ซึ่งในสมัยนั้น FRIENDS คือซิตคอมสุดฮิตที่มีผู้ชมกว่า 25 – 30 ล้านคนต่อสัปดาห์ 

หากคุณเคยมีรูมเมตหรือแชร์ห้องอยู่กับเพื่อนในช่วงเวลาหนึ่ง เชื่อว่าซิตคอมเรื่องนี้จะทำให้คุณหวนคิดถึงวีรกรรมเก่าๆ เสียงหัวเราะ ความทุกข์ ความสุข ที่พวกคุณเคยแบ่งปันให้กันและกัน ทำให้คุณอดคิดถึงสภาพหน้าตาหรือบรรยากาศในห้องชุด อพาร์ตเมนต์ บ้านเช่า หรือโต๊ะในร้านประจำ ที่จะถูกเว้นไว้เสมอราวกับว่ามีป้ายจองวางเอาไว้ 

เพลงไตเติ้ลของซีรีส์ FRIENDS ร้องไว้ว่า “I’ll be there for you” บอกเล่ามิตรภาพและเรื่องราวของเพื่อน 6 คนในวัย 20 กลางๆ ที่โชคชะตาและเหตุผลต่างแตกต่างกัน พาพวกเขาให้มาใช้ชีวิตร่วมกัน

ความน่าสนใจของแนวคิดแบ่งปันที่อยู่อาศัยหรือที่เรียกกันว่า Co-living และ Collective Housing ในสมัยนั้นเกิดขึ้นจากสภาวะที่อาจเรียกได้ว่าจำยอม ตามบริบทของสังคมที่ผู้คนต้องเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ สภาวะเศรษฐกิจที่ค่าเช่าห้องและค่าแรงวิ่งสวนทางกัน จากสถาปัตยกรรมห้องชุดเดี่ยวสำหรับหนึ่งครอบครัว กลายเป็นห้องเช่าสำหรับคนสองคนที่มีพื้นที่ส่วนกลางไว้แบ่งปันกัน การเสียสละความเป็นส่วนตัวในการใช้พื้นที่ แลกมากับทำเลที่ตั้งของที่อยู่อาศัย เพื่อการเข้าถึงความสะดวกสบายและสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ป้ายรถเมล์ใหม่ สวนสาธารณะ คลอง และอื่นๆ 

เอาเข้าจริงๆ แล้ว หากวันหนึ่งเราสามารถลดเวลาในการเดินทางกลับบ้านเพียงวันละแค่เพียง 15 นาที ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะรู้สึกถึงคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างแน่นอน

อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่
อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่

ภายนอกอาคารนั้นถ่ายทำจากสถานที่จริง อยู่บนถนนเลขที่ 90 Bedford ในย่าน West Village เมืองนิวยอร์ก และความพิเศษของย่านนี้ คือการที่กริดเส้นแบ่งผังเมืองไม่ได้เป็นเส้นตรงเหมือนย่านอื่น แต่มีการตัดเอียงเป็นเส้นทแยงมุม โดยแต่ละบล็อกมีความออร์แกนิกเหมือนเมืองขนาดย่อมๆ ในยุโรป ส่วนฉากภายในของห้องพักทั้งสองเป็นฉากสมมติสร้างขึ้นและถ่ายทำในสตูดิโอของ Warner Bros ในเมืองแคลิฟอร์เนีย โดย จอห์น แชฟเนอร์ (John Shaffner) คือหนึ่งในผู้ออกแบบและวางแปลนฉากห้องพักรวมถึงการตกแต่งภายใน และเป็นผู้นําเทรนด์ผนังเฉดสีม่วงในห้องของมอนิกา ซึ่งยังเป็นที่จดจำของผู้ชมมาจนถึงทุกวันนี้

อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่

แปลนของอพาร์ตเมนต์ทั้งสอง แบ่งแยกโซนพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่ส่วนรวมของแต่ละห้องอย่างชัดเจน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก และห้องน้ำ คือจุดศูนย์กลางตรงด้านหน้าของตัวบ้าน ที่รูมเมตทุกคนจะเดินผ่านก่อนเข้าไปยังส่วนพื้นที่ส่วนตัวบริเวณด้านหลังของตัวห้อง และมี 2 ห้องนอนสำหรับการอยู่อาศัย 2 คน 

แต่ละห้องไม่มีห้องน้ำส่วนตัว ทำให้ทุกครั้งที่จะเข้าห้องน้ำ ตัวละครต้องเดินผ่านฉากของพื้นที่ส่วนร่วมทั้งหมด มากไปว่านั้น ประตูทุกบานถูกจัดวางให้เปิดมาเจอกันที่ห้องนั่งเล่นตรงกลาง ซึ่งการออกแบบในลักษณะนี้ เพิ่มโอกาสที่ผู้อยู่อาศัยนั้นจะพบปะและพูดคุยกัน เป็นส่วนในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการอยู่อาศัยร่วมกัน

อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่
อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่
ห้องมอนิกา-เรเชล

ห้องเลขที่ 20 ทางด้านขวาคือห้องของผู้หญิง เรเชลและมอนิกา เพื่อนสมัยเรียนที่กลายมาเป็นเพื่อนร่วมห้อง อพาร์ตเมนต์นี้มอนิการับช่วงต่อสัญญาเช่ามาจากคุณยาย ซึ่งมีการควบคุมค่าเช่า Landlord จึงไม่สามารถขึ้นค่าเช่าตามราคาตลาดที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ตราบใดที่สัญญาเช่ายังไม่หมด นั่นเป็นเหตุผลที่มอนิกา เชฟที่เคยตกงานมาก่อน และราเชล ที่เคยเป็นพนักงานร้านกาแฟอยู่พักใหญ่ สามารถเช่าอพาร์ตเมนต์ใน West Village นี้ได้

จุดเด่นสำคัญของห้องนี้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือรายละเอียดการตกแต่งภายในที่เผยให้เห็นถึงเสน่ห์ของยุค 90 อาจจะเรียกได้ว่าเป็นแนวผสมผสานของสไตล์ทั้งหลายเข้าด้วยกัน หรือในวงการสถาปัตยกรรมเรียกว่า ยุคแห่ง Eclecticism (คตินิยมสรรผสาน) 

ในห้องของมอนิก้าและเรเชล คือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงความมิกซ์และความแมตช์บ้างไม่แมตช์บ้างของเฟอร์นิเจอร์กับสีที่เลือกใช้ การบิลด์อินผนังแบบยุโรปคลาสสิกแล้วทาด้วยสีม่วงลาเวนเดอร์ รวมเข้ากับความดิบของอิฐ เหล็กกล้า กระจก กับตึกในยุคอุตสาหกรรมของเมืองนิวยอร์ก โคมไฟเวนิสสไตล์อิตาเลียนที่วางคู่กับโซฟานวมสีครีมออกแนวโมเดิร์นหน่อยๆ บนพรมลายดอกไม้ขนาดใหญ่ที่วางอยู่บนพื้นไม้ปาเก้ซึ่งเล่นแพตเทิร์นไปมา เคาน์เตอร์ไม้สีฟ้าอมเขียวโซนห้องครัว พร้อมกับเหล่าผลิตภัณฑ์โฆษณาจากยุคโมเดิร์นที่แอบจัดวางไว้อย่างเนียนๆ โต๊ะทานข้าวกับเก้าอี้ไม้พร้อมเบาะรองนั่งลายดอกไม้ที่แต่ละตัวไม่เหมือนกัน แอบให้ความรู้สึกถึงบ้านตากอากาศในชนบท ผ้าม่านลายดอกไม้สีเหลือง ให้กลิ่นอายของความเป็นยุโรปที่สร้างเฟรมให้กับหน้าต่างบานใหญ่ในห้องนั่งเล่น

เหล่านี้เองที่เป็นลักษณะพิเศษของฉากซิตคอมเรื่องนี้ และเมื่อมาคิดดีๆ แล้ว ก็ไม่แปลกเลยที่ในสมัยนั้น ของต่างๆ จะผสมกันเข้ามาในบ้านหนึ่งหลัง หากเรามองย้อนกลับไปในยุคที่ร้านค้าและผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์หลายใหญ่ยังไม่ถือกำเนิด เราอาจต้องเดินทางไปหลายร้าน เพื่อตามหาของให้ครบทุกรายการ ลองจินตนาการถึงตลาดนัดของมือสอง (Flea Market) ของฝรั่ง หรือในประเทศไทยอาจจะคล้ายตลาดนัดจตุจักร แต่ละร้านขายของเป็นประเภทๆ ไป ซึ่งแน่นอนว่าไม่เหมือนทุกวันนี้ ที่อุปกรณ์ตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ผ่านการคัดสรรมาจัดวางในที่เดียวกันอย่างเป็นระบบแบบแผนจากบริษัทเจ้าใหญ่ๆ เรียกได้ว่าไปที่เดียวได้ออกมาครบทุกอย่าง

อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่
อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่
ห้อง แชนด์เลอร์-โจอี

ต่อมาห้องหมายเลข 19 ทางด้านซ้ายคือห้องผู้ชาย โจอี นักแสดงตกอับผู้มีใจรักในงานของตัวเอง และแชนด์เลอร์ นักธุรกิจที่เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเขามีอาชีพอะไรกันแน่ รู้เพียงแต่ว่าพวกเขาทั้งสองสามารถดูทีวีอยู่บนโซฟาเลซีบอย โซฟานวมที่ปรับระดับการเอนถึง 3 ระดับได้ทั้งวัน 

ห้องของผู้ชายแตกต่างจากห้องของผู้หญิงโดยสิ้นเชิง ด้วยโทนสีที่เข้าและกลมกลืนกันจนไม่มีอะไรโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นสีของพื้นไม้ ตู้ และเคาน์เตอร์ครัวสีครีม กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็นสีขาว เหมือนแทบไม่ได้ตกแต่งอะไรเพิ่มเติม

ในตอนที่มอนิก้าและเรเชลแพ้เดิมพันจากการเล่นเกมวัดความรู้ใจ ทำให้ทั้งคู่ต้องสลับอพาร์ตเมนต์กับแชนด์เลอร์และโจอี ฝ่ายมอนิก้าเป็นคนเจ้าระเบียบมาก ชอบทำอาหารเช้าให้ทุกคนกิน และยังจัดปาร์ตี้เชิญเพื่อนๆ มาเสมอ ด้วยเหตุนี้ เธอพยายามจัดห้องเดิมของผู้ชาย ให้เป็นสไตล์เหมือนกับห้องเก่าของเธอ ด้วยสิ่งของและเฟอร์นิเจอร์ที่เธอมี ในทางกลับกัน แชนด์เลอร์กับโจอีไม่ได้ย้ายอะไรมาก มีเพียงโต๊ะฟุตบอลมือหมุนแทนโต๊ะทานข้าว และโซฟาปรับเอนเลซีบอยทั้งสองอันไปวางในห้อง ในฉากนี้สะท้อนความสำคัญของการแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาผ่านการตกแต่งภายใน ในบางครั้งการเลือกในสิ่งที่เราชอบ ที่บ่งบอกเอกลักษณ์ส่วนตัวนั้น ก็อาจจะสำคัญกว่าการเลือกไปตามกระแสหรือสไตล์การตกแต่งที่กำลังอยู่ในสมัยนิยม

อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่
อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่

ปัญหาของอพาร์ตเมนต์เก่าถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างน่ารักในหลายๆ ซีน อย่างฉากที่รอสส์ขนโซฟาขึ้นห้อง ต้องคอยตะโกนว่า “Pivot Pivot Pivot” สั่งให้เพื่อนค่อยยกและหมุนโซฟาเพื่อให้พ้นช่วงหักสอกของตัวบันได แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถ รวมถึงปัญหาเรื่องเสียงของผู้อยู่อาศัยชั้นบน ซึ่งเราก็ต้องไปถาม Mr.Hackles ผู้ล่วงลับถึงความน่ารำคาญนี้ ในหลายๆ ซีนเขาใช้ไม้กวาดกระทุ้งเพดาน หรือเดินขึ้นมาเคาะห้องของมอนิกา เพื่อบอกให้เธอและเพื่อนๆ ลดเสียงลง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องทัศนียภาพและความเป็นส่วนตัว เพื่อแลกกับแสงแดดและวิว หน้าต่างของห้องพักจำเป็นต้องเปิดไว้ จึงทำให้บ่อยครั้งที่เพื่อนๆ ทั้งหก เผลอไปเห็นหรือตั้งใจสอดแนมเพื่อนบ้านที่ชอบแก้ผ้าล่อนจ้อนในบ้านว่าเขาทำอะไรอยู่

อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่

ในช่วงปลายของซิตคอมเรื่องนี้ ก่อนทีวีซีรีส์เรื่องนี้จะลาจอไปใน ค.ศ. 2004 แชนด์เลอร์และมอนิกาตัดสินใจหันหลังให้การใช้ชีวิตในนิวยอกซิตี้ ละทิ้งห้องอพาร์ตเมนต์ที่พวกเขาอยู่ และมุ่งสู่เมืองเวสต์เชสเตอร์ เมืองชนบทที่อยู่ห่างจากแมนแฮตตันประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า เพราะต้องการให้ลูกเติบโตในชนบทห่างจากความวุ่นวาย ในบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน สนามหญ้าสีเขียว และชุดชิงช้า

ในต่างประเทศ เมื่อผู้คนย้ายออกไปแล้ว ก็มักที่ใช้เวลาช่วงวันหยุดพักผ่อนในละแวกใกล้ๆ มากกว่าจะขับรถไปกลับเป็นชั่วโมงเพื่อมาทำกิจกรรมในเมือง เพื่อนในกลุ่มพยายามหว่านล้อมไม่ให้พวกเขาย้ายออก และเรเชลพูดขึ้นมาว่า “เลี้ยงลูกในเมือง มันผิดตรงไหน” 

ความตลกร้ายอยู่ที่ครั้งหนึ่งผู้คนต่างแห่กันเข้ามาในเมืองเพื่อทำงานหาเงิน ใช้ชีวิตเร่งรีบ สู้กับมลพิษ โดยหวังจะพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่พอเริ่มมีเงินและตั้งตัวได้ กลับอยากออกไปมีบ้านนอกเมือง และกลับเข้ามาในตัวเมืองเป็นครั้งคราว ซึ่งนี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะยุโรปทางตอนเหนือหรือในเมืองนิวยอร์กเอง 

แน่นอนว่าภาพในหัวของคำว่า ชานเมือง หรือ ชนบท ของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนนึกถึงภาพของหมู่บ้านจัดสรรและคอมมูนิตี้มอล บางคนคิดถึงภาพความกันดาร การกลับสู่ธรรมชาติ ที่ที่ไฟฟ้าและน้ำประปาเข้าถึงยาก บางคนนึกภาพเทคโนโลยีสุดล้ำในงานเกษตรกรรมที่เกิดขึ้นในชนบท แต่หากเรามองให้ลึกไปกว่านั้น โดยเริ่มตั้งคำถามว่า ชนบทคืออะไร อะไรคือชนบท ชนบทต้องเป็นเมืองที่ไม่เจริญเสมอไปหรือไม่ ชนบทต้องเป็นเมืองที่รอคอยการพัฒนาให้เจริญหรือไม่ หรือแท้ที่จริงแล้วชนบทคือพื้นที่ที่ไม่มีเมือง ไม่มีผู้คน มีแต่ธรรมชาติ แล้วถ้าเมืองชนบทนั้นค่อยๆ เจริญขึ้น ผู้คนต่างต้องการที่จะเข้ามาอยู่อาศัย มีรถไฟฟ้าและถนนหนทางค่อยกระจายตัว ถึงตอนนั้นเรายังจะเรียกเมืองนั้นว่าเป็นชนบทได้อีกไหม 

อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่

คำถามเหล่านี้ต่อยอดมาจากงานนิทรรศการของ Rem Koolhaas และ Samir Bantal สถาปนิกและนักวิจัย เจ้าของบริษัทสถาปนิก OMA และ บริษัทวิจัย AMO ที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2020 เพื่อสะท้อนให้ผู้คนเห็นความสำคัญของชนบทที่ค่อยป้อนทรัพยากรให้กับตัวเมือง

ด้วยผลพวงของมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้คนในนิวยอร์กต้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การทำงานจากบ้านกลายเป็นกิจวัตรที่เคยชิน การหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น สิ่งเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้นิวยอร์กเกอร์เริ่มทยอยขายบ้าน และย้ายออกจากตัวเมืองไปอยู่อาศัยแถบชานเมืองแทน เพื่อที่พวกเขาจะได้มีพื้นที่ที่กว้างขวางมากพอสำหรับการทำงานและอยู่อาศัย ซึ่งหลายๆ สำนักข่าว รวมทั้งสำนักข่าว The New York Times รายงานถึงจำนวนประชากรที่ลดลงในตัวเมือง และจำนวนความต้องการบ้านชานเมืองที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สวนทางกับรายงานขององค์การสหประชาชาติที่คาดการณ์ไว้เมื่อ ค.ศ. 2018 ก่อนช่วงการระบาดของโรคว่า จำนวนประชากร 68 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกจะย้ายเข้าไปอยู่ในตัวเมือง 

อนาคตและคำนิยามของคำว่า ‘ตัวเมือง’ กับ ‘ชนบท’ นั้นจะเป็นอย่างไร เมื่อผู้คนเริ่มมีตัวเลือกและอิสระในการเลือกที่อยู่อาศัยกับสภาพแวดล้อมที่เขาอยากใช้ชีวิตและทำงาน

แม้ว่าการแยกจากกันจะเหมือนเป็นจุดจบของบางอย่าง แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่ยั่งยืน ดังซีรีส์ซิตคอมเรื่อง FRIENDS ที่กำลังจะกลับมารียูเนียนให้เหล่าแฟนๆ ให้หายคิดถึงกัน หลังจากที่ต้องรออย่างยาวนานมาถึง 17 ปี กับตอนพิเศษที่มีกำหนดฉายในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ในชื่อตอน “The One Where They Got Back Together” ซึ่งต้องมาลุ้นกันว่า สุดท้ายแล้วเราจะได้เห็นมอนิก้าจะกลับไปอยู่ที่ห้องอพาร์ตเมนต์หลังเก่า หรือฉากบ้านใหม่ในชนบทของซิตคอมเรื่องนี้กันแน่

*ขอบคุณข้อมูลจากน้องสาวของข้าพเจ้า กรกนก แซ่แต้ แฟนคลับผู้ดูซิตคอมเรื่องนี้วนไปวนมา และไม่รู้ว่าจะหยุดดูได้เมื่อไร

อพาร์ตเมนต์ซีรีส์ FRIENDS ความเป็นอยู่คนหนุ่มสาวยุค 90 ที่เข้ามาตามหาฝันในเมืองใหญ่

ข้อมูลอ้างอิง

www.refinery29.com

www.nytimes.com

www.nytimes.com

www.guggenheim.org

www.cnbc.com

www.un.org

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ