27 กรกฎาคม 2020
3 K

ภาพผู้หญิงใบหน้าเข้ม คิ้วดำยาวที่หัวคิ้วเชื่อมติดกันเป็นเส้นเดียวนั้น ไม่ว่าใครเห็นเพียงครั้งเดียวก็ไม่อาจลืม ตาที่จ้องมองมาประหนึ่งจะทะลุเข้าไปในหัวใจ ดอกไม้ยักษ์ที่ประดับบนผมเกล้าเด่นจนไม่อาจถอนสายตา และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสีสันจัดจ้านหลากสีหลากชิ้นซ้อนทับกัน กระโปรงยาวคลุมตาตุ่ม ผ้าผวยห่มไหล่ เครื่องประดับชิ้นเป้งๆ ปะวะหล่ำกำไลเต็มแขนเต็มนิ้ว เป็นภาพที่ชวนให้สงสัยอยากรู้จักอย่างมากว่าเธอคือใคร และนั่นคือครั้งแรกเมื่อหลายปีมากๆ มาแล้ว ที่ทำให้ฉันถูกดึงดูดเข้าไปทำความรู้จักกับเธอ ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo)

และฉันก็ได้รู้ว่าเธอคือจิตรกรหญิงผู้มีชื่อเสียงที่สุดของเม็กซิโก นอกจากผลงานมากมายอันเป็นที่ยอมรับแล้ว เธอยังมีเรื่องราวชีวิตอันเข้มข้นจริงๆ ฟรีดาเป็นโปลิโอตั้งแต่เด็ก ทำให้ขาสองข้างไม่เท่ากัน ยังไม่เท่านั้น พออายุ 18 ก็ประสบอุบัติเหตุรถชน ในขณะที่เธอกำลังนั่งอยู่บนรถโดยสารกลับจากโรงเรียน ราวเหล็กของรถเมล์ที่พิงนั่งทะลุช่องท้องเธอ ผ่านมดลูก เธอจึงมีลูกไม่ได้ตลอดชีวิต กระดูกสันหลังหัก ต้องนอนนิ่งๆ บนเตียงเป็นเดือนๆ นึกว่าจะพิการทั้งตัวเดินไม่ได้ตลอดชีวิตแล้ว แต่เธอไม่ท้อ ตอนที่นอนขยับไม่ได้อยู่บนเตียงนั่นเองที่เธอเริ่มวาดรูป จนค้นพบพรสวรรค์ที่ไม่เคยรู้ และเธอได้ใช้การวาดรูปเป็นสื่อในการแสดงออกทางความคิดและอารมณ์ แทนการเคลื่อนไหวด้วยขา จนกลายมาเป็นศิลปินผลงานดีๆ มากมายตั้งแต่อายุ 20 นิดๆ ต่อมาเธอแต่งงานกับ ดิเอโก ริเวรา (Diego Viera) ศิลปินชื่อดังที่เป็นเสือผู้หญิง เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน เข้มข้น รักมากแต่ก็ยุ่งยากมาก ตามประสาศิลปินสุดโต่งสองคนที่มาอยู่ด้วยกัน

 ในที่สุดเธอหย่ากับดิเอโกเมื่อจับได้ว่าเขามีสัมพันธ์กับน้องสาวแท้ๆ ของเธอ แต่ปีถัดมาก็กลับมาแต่งงานกันอีก ฟรีดาเองก็ใช่จะซื่อสัตย์ต่อดิเอโก ต่อมาภายหลังทั้งคู่หย่ากันอีก และแยกกันอยู่โดยคงความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อน จนเธอเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่ 50 ศิลปินดังคู่นี้มีชีวิตที่มีชื่อเสียง และมีบทบาททางสังคมและการเมืองของเม็กซิโกในช่วงนั้นอย่างมาก แต่ถึงแม้ดูเผินๆ จะเหมือนว่าฟรีดามีทั้งชื่อเสียง เงินทอง สังคม คู่แท้ (ที่แม้จะทำให้เธอปวดร้าวเรื่อยๆ) แต่ข้างในเธอน่าจะอ่อนล้าและไม่มั่นคงอยู่พอสมควร อุบัติเหตุรถยนต์ครั้งนั้นทำให้ร่างกายเธออ่อนแอมาตลอด เธอต้องใส่คอร์เซ็ตดามลำตัวให้ตรง ใช้ไม้เท้า นั่งรถเข็น เธอเคยพูดว่ามีความเจ็บปวดเป็นเพื่อนตลอดเวลา สุดท้ายถึงกับต้องตัดเท้าออกข้างหนึ่งก่อนเสียชีวิต 1 ปี 

สำหรับฉัน ฟรีดาเป็นผู้หญิงที่ไม่เหมือนใครจริงๆ ในร่างกายที่แหลกร้าวและเปราะบางนั้น ฉันว่าเธอเป็นนักสู้ เก่ง ติสต์แตก และแกร่งมาก ดังนั้นเมื่อวางแผนไปเยือน เม็กซิโกซิตี้ (Mexico City) เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หนึ่งในพันธกิจสำคัญของฉันจึงเป็นการไปเยี่ยมชมบ้าน สตูดิโอ และพิพิธภัณฑ์ของฟรีดา คาห์โล นั่นเอง

ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum
ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum
ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum

The Blue House เป็นบ้านที่ฟรีดาและดิเอโกเคยอยู่ด้วยกัน และเป็นสตูดิโอวาดรูปของทั้งสองด้วย เห็นแล้วต้องบอกเลยว่าดีไซน์ล้ำมากถ้าคิดย้อนไปในสมัยนั้น ดูก็รู้ว่าเป็นบ้านศิลปินแน่ๆ เพราะมันมีความเรขาคณิตและความแปลกไม่เหมือนบ้านอื่นในยุคนั้น น่าอยู่มาก เป็นอาคาร 2 หลังซึ่งเชื่อมกันด้วยสะพานที่ชั้นดาดฟ้า หลังหนึ่งของเขา หลังหนึ่งของเธอ ชั้นบนเป็นสตูดิโอวาดรูปของทั้งสองคน สะพานเล็กแคบที่เชื่อมทั้งสองตึกนั้นคือทางที่ฟรีดาเดินนำอาหารที่เธอทำมาเสิร์ฟให้ดิเอโกในสตูดิโอเขาทุกวัน ในบ้านจัดให้เห็นห้องหับแบบที่ทั้งคู่เคยอยู่ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ห้องน้ำ ห้องนอน ครัว ฯลฯ และห้องที่เด็ดสุด ก็คือสตูดิโอที่ดิเอโกใช้วาดรูปนั่นเอง ด้วยหลังคาสูง หน้าต่างกระจกโล่งรับแสงธรรมชาติ จัดวางอุปกรณ์วาดภาพต่างๆ เหมือนเจ้าของยังคงอาศัยอยู่ดังเดิม ในบริเวณยังมีบ้านอีกหลัง เป็นตึกที่พ่อของฟรีดาใช้เป็นสตูดิโอถ่ายรูปของเขา ทุกตึกซื้อตั๋วเข้าไปชมได้ แนะนำให้เข้าไปชมทุกส่วน อย่าพลาดทีเดียว

ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum
ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum

ส่วน Frida Museum นั้น เป็นบ้านเดิมที่เธออยู่และโตมาตอนเด็ก และในบั้นปลายก็ยังย้ายกลับมาอยู่ที่นี่จนเสียชีวิตอีกด้วย เป็นสถานที่ที่น่าจะบอกเล่าเรื่องราวของฟรีดาได้ดีที่สุด ทั้งบ้านทาสีจัดจ้านเข้มข้นไม่แพ้ชีวิตและตัวตนของฟรีดาเอง ตัวบ้านสวยงามน่าสนใจ มีสวนร่มรื่นกว้างขวางมาก เข้าไปแล้วได้เดินชมรูปถ่ายเก่าๆ สมัยฟรีดาเป็นเด็ก ทำให้จินตนาการได้ว่า เธอเติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่นและมีฐานะใช้ได้ทีเดียว เห็นห้องหับที่ครอบครัวอยู่อาศัย และได้เห็นเตียงนอนที่เธอนอนรักษาตัวตอนรถชนอยู่เป็นปี เตียงที่เธอเริ่มวาดภาพโดยที่ขยับตัวไม่ได้ ทำให้ค้นพบพรสวรรค์ที่ต่อลมหายใจให้เธอ และเปลี่ยนชีวิตเธอในเวลาต่อมานั่นเอง

ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum
ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum
ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum

ตอนหลังฟรีดาปรับปรุงบ้านและย้ายกลับเข้ามาอยู่ที่นี่ มีครัวสีเหลืองแสบสดที่สลักชื่อ Frida Diego ไว้บนผนัง มีห้องวาดรูปที่จัดวางทุกอย่างราวกับเธอยังมีชีวิตอยู่ เช่น รถเข็นที่จอดอยู่หน้าผืนผ้าใบวาดรูป บนระเบียงด้านนอกติดสวนที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยบ่อน้ำและต้นไม้นั้นมีการจัดนิทรรศการศิลปะ จัดวางโดยศิลปินปัจจุบันเพื่อระลึกถึงฟรีดาอีกด้วย

ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum
ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum

ยังไม่หมด อาคารในสวนก่อนทางออกยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับแฟชั่นของฟรีดา ที่นอกจากจัดแสดงเสื้อผ้าของเธออันมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครแล้ว ยังเล่าเรื่องต่างๆ ที่สะท้อนถึงความเปราะบางภายใต้ความแข็งแกร่งของเธอ เช่น ฉันได้เรียนรู้ว่า การที่ฟรีดาใส่กระโปรงสุ่มเสมอ และใส่สายสร้อยกำไลโตๆ พร้อมมีดอกไม้ยักษ์ประดับผม ดูเยอะเว่อร์มากมาย สะดุดตาทุกคนจนเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวนั้น มันไม่ใช่แค่แฟชั่นที่นำเสนอความเพียงแตกต่าง แต่จริงๆ เป็นเพราะฟรีดาต้องการดึงความสนใจของคนให้ไกลออกไปจากความพิการของขาและเท้าที่ไม่เท่ากัน โดยให้สายตาคนจ้องตะลึงไปที่ท่อนบนของเธอแทนท่อนล่างต่างหาก

ฟรีดาเสียชีวิตก่อนดิเอโก ซึ่งหลังจากที่เขาเสียชีวิตตามไป บ้านที่เป็นพิพิธภัณฑ์นี้ก็ได้มอบเป็นสมบัติของชาติเม็กซิโกตามพินัยกรรมของดิเอโก้ โดยเขาระบุความประสงค์ให้ปิดตายห้องหลายห้องเอาไว้อยู่สิบกว่าปี ภายหลังเมื่อครบเวลาและเปิดห้องเหล่านี้ออกมา จึงได้พบของส่วนตัวของฟรีดาที่เก็บไว้อีกหลายอย่าง เช่น คอร์เซ็ตที่สวมรัดตัวเพื่อให้กระดูกสันหลังตรงตลอดชีวิตเธอ เสื้อผ้า จดหมาย เอกสารสำคัญ นับเป็นเรื่องราวที่เข้มข้นและมีความสำคัญกับเม็กซิโก ปัจจุบันนี้ฟรีดาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเม็กซิโกซิตี้ไปแล้วก็ว่าได้ ไปไหนๆ ก็เห็นข้าวของเครื่องใช้ ตุ๊กตุ่นตุ๊กตาฟรีดาเต็มไปหมด

แม้จะได้ไปเยี่ยมชมบ้านของฟรีดาทั้งสองแห่งแล้ว ฉันก็ยังได้ชมผลงานของฟรีดาไม่มาก คนที่เม็กซิโกบอกฉันว่า รูปวาดส่วนมากของเธอกลับไปจัดแสดงอยู่ที่ Museo Dolores Olmedo พิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งโดย โดโลเรส โอลเมโด (Dolores Olmedo) นักธุรกิจเพื่อนสนิทของฟรีดา ผู้ที่สะสมภาพวาดและงานศิลปะเอาไว้มากมาย รวมทั้งงานส่วนมากของฟรีดาและดิเอโก้ด้วย พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ไกลออกไปนอกตัวเมืองเม็กซิโกซิตี้ ด้วยเวลาไม่พอ ฉันจึงต้องตัดใจตัดรายการนี้ออกไปก่อน บอกตัวเองว่า ถึงอย่างไรฉันก็จะได้ไปชมภาพวาดชิ้นหนึ่งของฟรีดา ที่ฉันอยากเห็นมากๆ ยิ่งกว่าชิ้นอื่นใดอยู่แล้ว 

ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum
ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum

นั่นก็คือรูป The Two Fridas ที่วาดเมื่อเธอเพิ่งหย่าขาดจากดิเอโก เป็นภาพเหมือนขนาดใหญ่เกือบเท่าตัวจริงของตัวฟรีดาเอง 2 คนใน 2 ภาค คือภาคยุโรปและภาคเม็กซิกันนั่งอยู่คู่กัน จับมือกัน โดยมีเส้นเลือดเชื่อมหัวใจของฟรีดาทั้งสองอยู่ด้วยกัน ในมือของฟรีดาเม็กซิกันมีรูปดิเอโก้อยู่ ส่วนในมือของฟรีดายุโรปมีกรรไกรที่ตัดเส้นเลือดขาด กระโปรงขาวของภาคยุโรปมีเลือดหยดเปื้อน มีการตีความภาพนี้ต่างกันไป บ้างว่ามันคือการสะท้อนตัวตน 2 ภาคของเธอ จากทางพ่อที่เป็นชาวเยอรมนีและแม่ที่เป็นชาวเม็กซิกัน บ้างก็ว่าภาคยุโรปคือฟรีดาที่ดิเอโก้ไม่รัก แต่ภาคเม็กซิกันคือภาคที่เขารัก 

ตามรอยบ้านของ Frida Kahlo และ Diego Rivera ที่เม็กซิโกซิตี้, The Blue House, Museo Dolores Olmedo, Frida Museum

ไม่ว่าจะตีความอย่างไร ที่เห็นได้ชัดก็คือความเจ็บปวดของฟรีดาในรูปนี้ ไม่ว่าจะเป็นฟรีดาภาคใด หรือไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดทางกายหรือทางใจ และความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง ย้อนแย้ง เข้มข้น ระหว่างฟรีดาและดิเอโก้ ภาพ The Two Fridas นี้แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Museo de Arte Moderno ใจกลางกรุงเม็กซิโกซิตี้ คนไม่เยอะ ไปสะดวก เป็นประสบการณ์เล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของฉัน ที่ทำให้การไปย้อนอดีตเยือนชีวิตของฟรีดาในครั้งนี้สมบูรณ์ ไม่ว่าใครจะชอบฟรีดาหรือไม่ก็ตาม ฉันเชื่อว่าหากได้ไปสัมผัสเรียนรู้ความเข้มข้นของชีวิตฟรีดาแล้ว จะต้องจากเม็กซิโกซิตี้มาอย่างไม่อาจลืมเธอได้เลย

ฟัง The Cloud Podcast ศิลปะการต่อสู้ EP. 05 : Frida Kahlo ศิลปินหญิงที่ยอมเจ็บปวดมาตลอดชีวิต ที่นี่

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

ฟ้า บุณยะรัตเวช

นักการตลาด นักเดินทาง นักเล่าเรื่อง นักเขียน ที่อาศัยอยู่มาแล้ว 4 ประเทศ และเดินทางไปมาแล้ว 82 ประเทศ พำนักอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ไปๆ มาๆ กรุงเทพบ่อยๆ มีบล็อกและเพจท่องเที่ยว ‘เที่ยวเหนือฟ้า’ ที่เน้น ‘เจาะลึก-อาหารอร่อย-โรงแรมเก๋-ประสบการณ์แปลก’ ตามคำจำกัดความของ ‘เที่ยวแบบเหนือฟ้า’