คงไม่ต้องแนะนำอะไรมาก หากคุณเป็นแฟน FREITAG แบรนด์กระเป๋าเจ้าของสโลแกน From Truck Till Bag จากเมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

กระเป๋าสุดเท่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1993 โดยสองพี่น้องนามสกุลเดียวกับชื่อแบรนด์ หยิบผ้าใบคลุมรถบรรทุกซึ่งมองลอดหน้าต่างห้องครัว มาเป็นไอเดียดีไซน์กระเป๋าทนทาน กันน้ำ เป็นมิตรกับเหล่านักปั่น 

ไม่เพียงครองใจคนทั่วโลก ที่ไทยเองก็ฮอตฮิตจนมีสาขาที่ใหญ่สุดในเอเชีย ณ สยามสแควร์ ซอย 7 มาแล้ว 

โดยปกติร้าน FREITAG จะได้รับการออกแบบโดยดีไซเนอร์ของแบรนด์เอง แต่สาขาใหม่อย่าง FREITAG Store Silom by PRONTO ที่เพิ่งตัดริบบิ้นไป ร่วมมือกับสตูดิโอออกแบบไทยเป็นครั้งแรก และยังจับตึกแถวอายุ 30 ปีกับผับเก่า เปลี่ยนเป็น F-Store ที่เหมือนได้ไปบินเยือนซูริกเปี๊ยบ

เชิญจับจองที่นั่งโซนหน้าจอตามใจชอบ แต่ไม่ขอเสิร์ฟ Coffee or Tea เพราะ แจ็ค-ปิตุพงษ์​ เชาวกุล แห่ง Supermachine Studio รอเล่าเรื่องราวเบื้องหลังให้ฟังอยู่นี่แล้ว

FREITAG Store Silom by PRONTO เมื่อแบรนด์สวิตและสถาปนิกไทยแปลงโฉมผับและตึกแถวเก่า

Lost Location

FREITAG Store Silom by PRONTO เป็นสาขาที่ 2 ในกรุงเทพฯ ซึ่งแทนที่จะตั้งในย่านช้อปปิ้งหรือมีโอกาสที่คนจะเข้าถึงสินค้าได้ง่าย สาขานี้กลับเลือกปักหมุดที่สีลมซอย 8 ห่างจากบีทีเอสสถานีศาลาแดงราว 500 เมตร

และถ้าคุณเป็นแฟน FREITAG อีกนั่นแหละ ก็จะรู้ว่าเกือบทุกช็อปของเขาไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง เพราะโจทย์ใหญ่ในการตั้งสาขา คือต้องไม่ใช่ห้างและเป็นที่ที่จักรยานเข้าถึง

อาคารเก่าที่ตั้ง F-Store สาขาใหม่นี้เป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ลักษณะเป็นบล็อกคอนกรีตมีทั้งหมด 5 ชั้น แบ่งให้เช่าทำกิจการหลากหลาย ทั้งผับ บาร์ และออฟฟิศ รายล้อมด้วยตึกแถวอายุราว 20 – 30 ปี ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกันทั้งโซน ความเป็นสีลม ย่าน CBD รอบๆ จึงมีทั้งร้านนวด ร้านกาแฟ ร้านค้า สำนักงาน ธนาคาร ไปจนถึงสตรีทฟู้ดที่แวะเวียนมาจอดขาย

ผลงานออฟฟิศสถาปนิกไทย Supermachine Studio ร่วมกับ FREITAG ออกแบบ Flagship Store ให้แบรนด์กระเป๋าจากผ้าใบรถบรรทุก
ภาพ : FREITAG

อดีตหลักเดือนของตัวร้านเคยเป็น Whiteline บาร์และพื้นที่แสดงศิลปะ โลเคชันยอดฮิตของเหล่าคนในวงการครีเอทีฟอีเวนต์ หนึ่งในนั้นคือ Dudesweet 

“มันหลุดออกมาจากโซนพัฒน์พงศ์ที่คึกคัก แต่ก็ไม่เงียบซะทีเดียว ตึกแถวที่ต่อกันสองสามคูหาเป็นร้านนวด ก่อน COVID-19 มองจากกระจกใหญ่ๆ สามบานออกไป จะเห็นพี่ๆ น้องๆ ร้านนวดใส่เสื้อยืดสีขาว กางเกงผ้าม่วง นั่งมองกระเป๋าเพลินๆ แล้วเขาอยู่อย่างนั้นทั้งวัน” แจ็คเล่าภาพที่เขาเคยเห็นอย่างสนุก ก่อนเสริมว่า แต่ละโลเคชันของ FREITAG ไม่ได้ไปง่าย อย่างที่ซูริกก็ต้องออกจากเมืองไปสักพัก หรือที่ญี่ปุ่นอยู่ชิบูย่าก็จริง แต่อยู่แบบซ่อนๆ 

“คุยกับแฟน FREITAG ตัวยงเขาก็บอก เออ โลเคชันนี้แหละฟรายท้าก ฟรายทาก เพราะมันจะออฟโลเคชันนิดหนึ่ง คนที่มาก็เป็นสาวก ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปง่าย มัน Slightly Fucked Up ตั้งแต่ที่ตั้ง”

Slightly Fucked Up

มองจากด้านนอก ผ่านกระจก 3 บานขนาดใหญ่ ย้อนเข้าไปในร้านขนาด 100 ตารางเมตร สายตาปะทะกับกำแพงกล่องกระเป๋าสูงจรดเพดาน เชื้อเชิญให้ก้าวเข้าประตูไปเลือกสรร

ผลงานออฟฟิศสถาปนิกไทย Supermachine Studio ร่วมกับ FREITAG ออกแบบ Flagship Store ให้แบรนด์กระเป๋าจากผ้าใบรถบรรทุก

หลังแคชเชียร์จัดเป็นดิสเพลย์โชว์กระเป๋าสีจัดจ้าน ฝั่งตรงข้ามเป็นโซน Sweat Yourself ให้ลูกค้าเลือกออกแบบกระเป๋ารุ่น F719 MEL ด้วยตัวเอง แหงนหน้าขึ้นไปเป็น Display Shelf แขวนส่วนประกอบของกระเป๋า มีกลไกให้กดปุ่มเลื่อนขึ้นลงได้ ข้างใต้เป็นโต๊ะและจักรเย็บกระเป๋า ส่วนตรงกลางเป็นเคาน์เตอร์ใช้สอยทำหน้าที่เป็น Center Stage ด้านล่างเป็นชั้นวางของในตัว ถัดไปจากนั้นเป็นชั้นลอยสีเขียวอินดัส (Industrial Green) เช่นเดียวกับโทนสีในร้าน มีบันไดเพียงหนึ่งฝั่ง อีกฝั่งเป็นเสาสเตนเลสให้รูดลงมาแทน

ผลงานออฟฟิศสถาปนิกไทย Supermachine Studio ร่วมกับ FREITAG ออกแบบ Flagship Store ให้แบรนด์กระเป๋าจากผ้าใบรถบรรทุก
ผลงานออฟฟิศสถาปนิกไทย Supermachine Studio ร่วมกับ FREITAG ออกแบบ Flagship Store ให้แบรนด์กระเป๋าจากผ้าใบรถบรรทุก

“ในฐานะที่เราเป็นแฟนแบรนด์นี้ เราก็อยากให้ F-Store นี้เป็นของแท้” แจ็ครีบคลายข้อสงสัย เมื่อเราถามว่า ไหนๆ ก็ใช้ดีไซเนอร์ไทยในการออกแบบ ทำไมไม่ทำให้ต่างจากสาขาอื่นอย่างสิ้นเชิง

เขาบอกว่าโปรเจกต์นี้เป็นการร่วมมือกันมากกว่า ก่อนออกแบบทาง FREITAG ส่งแบรนด์บุ๊กมาให้เพื่อศึกษาปรัชญาและรายละเอียดของแบรนด์ พร้อมส่งสิ่งที่ต้องมีแน่ๆ ในร้าน คือ Swiss Pragmatic Design อย่างเช่น F-Rack System เป็นชั้นเหล็กที่ออกแบบระบบชั้นราง และผลิตเองมาโดยเฉพาะสำหรับทำดิสเพลย์ โต๊ะ ชั้นวางกล่อง และกระเป๋าซึ่งปรับเปลี่ยนฟังก์ชันได้ตามพื้นที่ คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะจัดการกับข้าวของพวกนี้อย่างไร แต่ละท้องถิ่นจะใส่เอกลักษณ์อะไรของตัวเองเข้าไป 

ที่สนุกไปกว่านั้น คือช่วงเสนอไอเดียว่าควรมีกิจกรรมอื่นในร้านด้วย เช่น เสิร์ฟกาแฟ นำกระเป๋ามาแลกกัน จนสุดท้ายมาลงตัวที่ Sweat Yourself ให้คนมาลงมือทำกระเป๋าของตัวเอง และกลายเป็นอีกโจทย์ในการออกแบบพื้นที่ ซึ่งนอกจาก FREITAG และ Supermachine Studio แล้ว ซันนี่-ชนาสิญจ์ สัจจเทพ Creative Director แห่ง PRONTO ก็มาร่วมวงด้วย

ผลงานออฟฟิศสถาปนิกไทย Supermachine Studio ร่วมกับ FREITAG ออกแบบ Flagship Store ให้แบรนด์กระเป๋าจากผ้าใบรถบรรทุก

การทำงานภายใต้แบรนด์คาแรกเตอร์ชัด แต่ไม่เคยปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ ตลอดกระบวนการที่คุยกันผ่าน Google Meet จึงมีทั้งการปรับเปลี่ยน ต่อยอด และสนับสนุน เห็นได้จากตัวอย่างความพยายามกลมกลืนกับท้องถิ่นที่สาขาไปตั้งอยู่ อันสะท้อนผ่านดีเทลการออกแบบภายในร้าน อย่างที่เกาะเชจู เกาหลีใต้ มีที่ฉายหนังอยู่ข้างบนดาดฟ้า มี Window Display ซึ่งเห็นได้ชัด เพราะชั้นล่างเป็นร้านซ่อมจักรยาน ที่อัมสเตอดัม มีแร็กแขวนจักรยานอยู่ด้านใน เพราะที่นั่นมีวัฒนธรรมการปั่นจักรยาน

 ใช่-คุณเดาไม่ผิด เสาสเตนเลสเพียงต้นเดียวในร้าน คือสิ่งที่หยิบยืมเอกลักษณ์ของพัฒน์พงศ์มาไว้ที่นี่

ผลงานออฟฟิศสถาปนิกไทย Supermachine Studio ร่วมกับ FREITAG ออกแบบ Flagship Store ให้แบรนด์กระเป๋าจากผ้าใบรถบรรทุก

“อันนี้เป็นการ Celebrate ว่าที่นี่คือถิ่นของเสาสเตนเลสนะ พอเราเสนอว่ามีเสาแล้วกระโดดลงมาข้างล่างได้ วิธีการทำงานของเขาคือไปคิดต่อ ไปหาวิธีทำ หาวัสดุ Crash Pad นวมรอบรับข้างล่างให้มันไปด้วยกันกับปรัชญาของแบรนด์ ทำเสร็จก็ส่งมา ซึ่งเป็นการทำงานที่ค้นหา เรียนรู้กระบวนการ และหาสิ่งเหมาะสมที่สุดกับสเปซนั้นๆ ร่วมกัน จากนั้นแต่ละคนก็แยกกันไปทำแล้วมาประกอบร่าง กลายเป็น Truely Collabration

ผลงานออฟฟิศสถาปนิกไทย Supermachine Studio ร่วมกับ FREITAG ออกแบบ Flagship Store ให้แบรนด์กระเป๋าจากผ้าใบรถบรรทุก

“ไอเดียมันเลยพัฒนาไปด้วยกันตลอด ตอนอ่านแบรนด์บุ๊กก็เข้าใจประมาณหนึ่ง แต่มาเข้าใจปรัชญาของเขาผ่านการทำงานมากกว่า ความ Swiss Pragmatic ที่เขาเขียนในหนังสือ คำว่า Slightly Fucked Up ที่เขาพูดบ่อยๆ มันออกมาในรูปแบบร้านดูที่ยุ่งเหยิงนิดหน่อยแต่ก็มีความเป็นระบบ กว่าเราจะเข้าใจและผ่านไปแต่ละจุด คือทำเปอร์สเปกทีฟเป็นร้อยรูป” แจ็คเล่าอย่างติดตลก พลางเปิดสไลด์ 200 หน้าให้ดูวิธีการทำงานผ่าน Cloud ที่ทุกอย่างอัปเดตเรียลไทม์บน Google Slide

From Pub Till Bag-Store

หลังใช้เวลาปรับแบบกว่า 3 เดือน ในที่สุดจึงได้รับการอนุมัติให้สร้างได้ 

ข้อดีที่ชั้นแรกของอาคารมีเพดานสูง 4.8 เมตร จึงไม่จำเป็นต้องทุบตัวโครงสร้างหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ เน้นงานปิดและเปิดช่องเล็กน้อย ปิดประตูทางเข้าฝั่งถนนใหญ่ เปลี่ยนมาเข้าทางข้างหน้าต่าง 3 บานซึ่งเป็นของเดิมที่มีอยู่แล้ว สำหรับหน้าต่างก็เอาเหล็กดัดออก จากนั้นเจาะช่องให้มีขนาดเท่ากัน และกรุกระจกใส

ผลงานออฟฟิศสถาปนิกไทย Supermachine Studio ร่วมกับ FREITAG ออกแบบ Flagship Store ให้แบรนด์กระเป๋าจากผ้าใบรถบรรทุก

ข้อสำคัญของการรีโนเวตตึกเก่า ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยและการรับน้ำหนักต่อตารางเมตร โดยทั่วไปจะมีตั้งแต่ 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร 400 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือ 800 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งข้อดีของตึกเก่าคือโครงสร้างแข็งแรงบึกบึนตามอายุ

ตรงนี้มีการปรึกษาวิศวกรโครงสร้าง โดยมุม Sweat Yourself ที่แขวนวัสดุทำกระเป๋าและชั้นลอยนั้นใส่คานใหม่เข้าไป 1 อัน เพื่อถ่ายน้ำหนักลงไปที่เสาสองต้นเดิม แน่นอนว่าเสากับฐานรากรับน้ำหนักได้อย่างไม่ต้องกังวล เพราะเป็นตึก 6 ชั้น

ผลงานออฟฟิศสถาปนิกไทย Supermachine Studio ร่วมกับ FREITAG ออกแบบ Flagship Store ให้แบรนด์กระเป๋าจากผ้าใบรถบรรทุก

และกลไกเลื่อนขึ้นลงของ Sweat Youself และเสาให้กระโดดลงมานี่เอง ที่ซ่อนความเป็น Supermachine Studio เอาไว้ 

“ถ้าถามว่าเห็นปุ๊บแล้วรู้ว่ามันคือซูเปอร์แมชชีนไหม ก็ไม่รู้นะ เพราะ FREITAG ก็แชร์ Pragmatic Design หรือความบ้าๆ บอๆ อยู่ในแบรนด์เขาเหมือนกัน แต่ที่เป็นความชอบของเราคือ เนิร์ดแมชชีน สนใจเครื่องจักรเก่าๆ (Primitive Machine) กดปุ่มแล้วมันเลื่อนแล้วเสียงดังอื้ดดดด แก่กๆๆ ตรงนั้นคือสะใจมากเลย เราโมดิฟายเอามอเตอร์ในประตูเหล็กม้วนบ้านๆ มาใช้ หรือตรงชั้นลอย ตอนแรกเราเสนอเป็นบันไดลิง ให้คนไต่ขึ้นแล้วเลื่อนไปเลื่อนมาได้ มีสองอันซ้ายขวา สลับกลไกไม่ให้ชนกัน ทำกล้องส่องแบบยิงเลเซอร์ เพื่อให้คนข้างล่างเลือกกระเป๋าได้ก่อนขึ้นไปดู แต่ในไทย ถ้าฮิตมากขนาดคนมารอต่อแถว และถ้าบางคนเลือกนานจะเป็นยังไง ไอเดียนี้ก็เลยต้องเปลี่ยน”

เมื่อแบรนด์สวิตและสถาปนิกไทยแปลงโฉมผับและตึกแถวเก่า
FREITAG Store Silom by PRONTO เมื่อแบรนด์สวิตและสถาปนิกไทยแปลงโฉมผับและตึกแถวเก่า

No Concept

ฟังกระบวนการแล้วบ้าดีไม่น้อย เลยขอลองถามชื่อเรียกชื่อคอนเซปต์เพื่อความเข้าใจตรงกัน คุณสถาปนิกตอบอย่างจริงใจเลยว่า ‘ไม่มี’ แต่จุดร่วมของการออกแบบ FREITAG Store ทุกสาขา คือแนวคิด Post-Industrial Warehouse ที่พยายาม Localized ไปตามที่ตั้ง

“หมัดเมาสุดๆ เลย ถามแบบนี้ก็สนุกดีนะ เพราะตอบไม่ได้ มันคือการค้นหา การระดมสมองตลอดเจ็ดแปดเดือน ซึ่งตอนก่อสร้างมันก็เป็นลักษณะเดียวกันนะ มีการส่งนู่นส่งนี่กลับไปกลับมา ป้าย FREITAG หน้าร้านก็ส่งมาเซอร์ไพรส์จากสวิตเซอร์แลนด์ บอกว่าเป็นของขวัญวันเปิดร้าน กรอบทำจากอะลูมิเนียม Upcycling ให้หาที่ติด อย่างที่บอกมันเป็นระบบนะ แต่ในขณะเดียวก็ยังเปิดให้เกิดความสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในกระบวนการ

“สิ่งสำคัญที่เราได้เรียนรู้ คือความสม่ำเสมอในคอนเซปต์ของโปรดักต์ ส่งต่อมายังสเปซ ไปจนถึงวิธีการพัฒนากราฟิก การพัฒนาการตลาด โฆษณา หรือสินค้าอื่นๆ ข้าวของ เสื้อผ้า เลยรู้สึกว่ามันมีความซื่อสัตย์กับปรัชญาดี วิธีการทำงานของเขาซื่อสัตย์นะ พูดคำว่า Honest Design ตลอดเวลา มันก็จะลิงก์ไปที่ไอเดียหลักของแบรนด์ที่ตั้งใจเป็น Circular Brand”

อธิบายอย่างรวบรัด การเป็น Circular Brand ของพวกเขาคือต้องเริ่มและจบในวงจร โดยไม่สร้างของเหลือหลังการผลิตเลยแม้แต่น้อย และหากเป็นของผลิตใหม่ก็ต้องไม่กลับมาทำร้ายโลก หรือ เวียนกลับมาอยู่ในกระบวนการอีกครั้งให้ได้ เช่น เสื้อผ้าที่ย่อยสลายกลายเป็นดินสำหรับเพาะปลูกเส้นใยนั้น วนไป

From Truck Till Bag-Store

FREITAG ก้าวข้ามคำว่าแบรนด์รักษ์โลกไปมากโข สิ่งนี้ยังห่างไกลการป่าวประกาศและทำการตลาดของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง

“มันคือการสร้างความมั่งคั่งนี่แหละ แต่เขาคิดความยั่งยืนเป็นเรื่องแรก โดยที่เห็น Value ของของบางอย่าง แล้วพัฒนาตามปรัชญานั้น ทั้งโปรดักต์และสเปซ พอย้อนกลับมาที่การออกแบบ มันคือการตีความแบรนด์ Value ของเขา ซึ่งแนวคิดสร้างมูลค่าจากของที่ผ่านการใช้งาน เราก็เอามาหาข้าวของใช้ในโปรเจกต์ให้มันสอดคล้อง อย่างการเลือกท็อปโต๊ะ เขาก็อยากให้เป็นวัสดุ Upcycling เราก็ไปศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนที่แมกโนเลีย เพื่อดูวัสดุ ก่อนมาเสนอเป็นกระดุมรีไซเคิล แต่ที่ซูริกก็บอกว่าหรูไป เสนอเป็นผ้าม่านรีไซเคิล ก็ยังไม่ใช่ พอดีที่เรารู้จักกับพี่อาร์ม ‘ทะเลจร’ (ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย) เขาทำพื้นห้องยิมจากเศษยางรถบรรทุก เราเลยถามว่าเอาตัวนี้มาทำท็อปของเคาน์เตอร์ได้ไหม แล้วก็ส่งตัวอย่างให้ทางสวิตเซอร์แลนด์ดู ที่นั่นชอบกันใหญ่เพราะมันตรงคอนเซปต์ของโปรดักต์ด้วย”

FREITAG Store Silom by PRONTO เมื่อแบรนด์สวิตและสถาปนิกไทยแปลงโฉมผับและตึกแถวเก่า

“เขาทำงานกับเรา ก็เคารพความเข้าใจเรื่องแบรนดิ้งของเรา จะไม่มาบอกว่า เฮ้ย แบรนด์ต้องรักษ์โลกนะ โลกที่หนึ่ง มันเกินเรื่องนี้ไปแล้ว ทุกคนในสังคมเข้าใจแล้วว่าต้องทำ เช่นเดียวกับการรีโนเวต ถ้าถามว่าเป็นการรักษ์โลกไหม ข้อเท็จจริงต้องตอบว่าแน่นอนอยู่แล้ว มันประหยัดทรัพยากร ปัจจุบันสถาปนิกต้องเรียนรู้การรีโนเวตตึกเก่าเท่ากับการสร้างตึกใหม่ เจ้าของโครงการก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ตรงนี้มี Value กลับคืนมา ดังนั้น มันจึงเลยจุดเรารีโนเวตตึกเพราะเรารักษ์โลก

“ถ้าให้มองเกี่ยวกับการรีโนเวต มันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ในที่นั้นๆ ด้วย ถ้าเราไม่ใช่ประเทศรายได้ปานกลางหรือสูง เราไม่มีทางไปรักหรือเป็นติ่ง FREITAG หรอก กระเป๋าอัปไซเคิลใบละหมื่นตอนนี้คือสินค้าจากโลกที่หนึ่งชัดๆ แต่เราพัฒนามาถึงขั้นหนึ่งแล้ว มีเงื่อนไขทางสังคมมาประมาณหนึ่ง คนเห็น Value ของมาบ้างแล้ว หรือเปิดให้เกิดการรีโนเวตในลักษณะนี้ได้ การรีโนเวตระดับนี้มันอาจจะไม่เกิดขึ้นที่พม่า เนปาล หรือบังกลาเทศ หรืออาจเป็นการรีโนเวตในโหมดอื่นๆ เช่น เอาล้อรถยนต์มาทำผนังบ้าน เอาป้ายหาเสียงมาทำเป็นหลังคา ไม่ใช่คุณเห็น Value ของสิ่งนี้ แล้วลงทุนไปกับมัน” 

FREITAG Store Silom by PRONTO เมื่อแบรนด์สวิตและสถาปนิกไทยแปลงโฉมผับและตึกแถวเก่า
FREITAG Store Silom by PRONTO เมื่อแบรนด์สวิตและสถาปนิกไทยแปลงโฉมผับและตึกแถวเก่า
FREITAG Store Silom by PRONTO เมื่อแบรนด์สวิตและสถาปนิกไทยแปลงโฉมผับและตึกแถวเก่า

แจ็คเล่ายาวหลังเราถกกันเรื่องที่ว่าไม่เคยเห็น FREITAG อยู่ในตึกสร้างใหม่ แม้สาขาแม่จะเอาตู้คอนเทนเนอร์มาเรียงซ้อนกัน แต่ก็เป็นการเอาของเก่ามาใช้อยู่ดี

แน่นอน คำตอบที่ได้ เราชูป้ายไฟเห็นด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน