เดือนตุลาคมของทุกปีที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี จะมีงานมหกรรมหนังสือ ‘แฟรงก์เฟิร์ตบุ๊กแฟร์’ (Frankfurter Buchmesse หรือ Frankfurt Book Fair) ว่ากันว่าเป็นงานหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลกและจัดมากว่า 70 ปีแล้ว ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด มีสำนักพิมพ์กว่า 4,000 ราย จากเกือบร้อยประเทศเดินทางมาร่วมงาน มีผู้เข้าชมไม่ต่ำกว่า 300,000 คน ถือเป็นงานที่นักอ่านจากทุกประเทศพลาดไม่ได้
ต่อจากนี้คือประสบการณ์ 5 วัน ในงานแฟรงก์เฟิร์ตบุ๊กแฟร์ 2022 ของ ‘หย่งศรี’ ซึ่งรับหน้าที่เป็นทั้งล่าม แจกนามบัตร เฝ้าบูท ชงชา ชวนชาวต่างชาติสนทนา และฟังความเป็นไปของโลกหนังสือสากลว่าก้าวหน้ากันไปถึงขั้นไหนแล้ว


งานหนังสือที่ไม่เหมือนสัปดาห์หนังสือไทย
ท่ามกลางอากาศหนาวกลางเดือนตุลาคม ฉันนั่งรถไฟ S-Bahn ขบวนสีแดงแปร๊ดมาลงที่สถานี Messe ที่คุ้นชิน บันไดเลื่อนพาฉันและผู้โดยสารร่วมทางอีกหลายสิบชีวิตขึ้นมาสู่ทางเข้า เมื่อสแกนบัตรผ่าน ฉันพบกับป้ายประกาศใหญ่โตเขียนไว้ชัดว่า ‘Welcome to Frankfurt Book Fair 2022’
รู้สึกเหมือนมีลมเย็นปะทะใบหน้า ดีใจที่ได้กลับมาทำงานแสนรักอีกคำรบหนึ่งแล้ว
หากพูดถึง ‘งานหนังสือ’ เราน่าจะนึกถึงภาพของงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติอย่างบ้านเรา ที่เป็นงานขายปลีก สำนักพิมพ์ออกบูทเองขายเอง เพื่อเปิดตัวผลงานใหม่ พานักเขียนมาพบปะแฟนคลับ ให้เหล่านักอ่านเลือกซื้อหนังสือราคาพิเศษพร้อมสารพัดโปรโมชัน
นั่นคล้ายกับงานแฟรงก์เฟิร์ตบุ๊กแฟร์ แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด
หัวใจสำคัญของงานนี้ คือ ‘การซื้อขายลิขสิทธิ์การแปลเป็นภาษาต่างประเทศ’ โดย 3 วันแรกเป็นวันเจรจาธุรกิจ สำนักพิมพ์ทั้งหลายจากทั่วโลกพากันมาออกบูทเพื่อนำเสนอผลงานของตัวเอง
แน่นอนว่าเจ้าใหญ่ของโลกมักมาจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ พวกเขามาพร้อมบูทใหญ่โต มีเอเยนต์ดูแลงานแต่ละหมวดหลายสิบชีวิต ตั้งโต๊ะคุยกับตัวแทนจากทั่วโลกอย่างขะมักเขม้น

Literacy Agents คือเอเยนต์ตัวแทนนักเขียนชื่อดังทั้งหลายที่ไม่ได้สังกัดสำนักพิมพ์ (แต่สังกัดเอเยนต์) มาตั้งโต๊ะเจรจาด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องนัดมาล่วงหน้า การขอคุยหน้างานแทบจะเป็นไปไม่ได้
สำหรับสำนักพิมพ์เล็ก ๆ หากเดินผ่านบูทเขาแล้วเห็นหนังสือที่ถูกใจ สนใจอยากซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลก็สอบถามและนัดหมายเพื่อคุยระหว่างงานได้
ส่วนงาน 2 วันสุดท้ายจะจัดให้ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์เสมอ เพื่อเปิดให้สาธารณชนผู้สนใจเข้าชม ซึ่งโดยมากเป็นคนเยอรมัน ทีนี้ก็จะคล้ายกับงานบ้านเราที่มีการเปิดตัวหนังสือปกใหม่ มีนักเขียนชื่อดังมาแจกลายเซ็น บอกเลยว่าคนล้นหลามมาก แต่ที่เยอรมนี หนังสือออกใหม่ไม่มีการลดราคา (จนกว่าจะตีพิมพ์ไปแล้วอย่างน้อย 18 เดือน) เป็นกฎหมายบังคับไว้
นอกจากนั้น ใน 2 วันสุดท้าย เราจะได้เห็นกลุ่มนักแต่งตัวคอสเพลย์มารวมตัวกันด้วย ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกปี (จากที่สังเกต) จนในปัจจุบัน จัดเป็นงาน Frankfurt Cosplay อย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลยทีเดียว

ประเทศไทยอยู่ที่ไหนในงานนี้
โดยปกติประเทศไทยมีบูทไปออกกับเขาเหมือนกัน แถมยังจัดอย่างใหญ่โต เป็นความร่วมมือของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กว่า 2 ทศวรรษ
หลังจากไม่ได้เข้าร่วม 2 ปีด้วยเหตุโควิด-19 อาละวาด ปี 2022 เราก็กลับมาอีกครั้ง! แถมยังได้ทำเลทองที่ดีกว่าแต่ก่อนมาก อยู่กลางฮอลล์ 6 ซึ่งเต็มไปด้วยสำนักพิมพ์จากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ มีเพื่อนบ้านเป็นไต้หวันและนิวซีแลนด์ และมีบ้านต้นซอยเป็น HarperCollins!
ปีนี้เรามีสำนักพิมพ์เข้าร่วม 10 ราย แต่ละรายนำผลงานที่คาดว่าจะขายลิขสิทธิ์การแปลเป็นภาษาต่างประเทศได้มาจัดแสดง มีตั้งแต่หมวดเด็ก การ์ตูน และศิลปวัฒนธรรม
แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็อยากหาซื้อลิขสิทธิ์หนังสือดีมีคุณภาพและน่าจะทำยอดขายได้สูง เพื่อนำไปแปลเป็นภาษาไทยด้วย เรียกว่ามางานนี้มาทั้งซื้อและขาย
และเมื่อมีบูทประเทศไทย ก็ต้องมีล่ามประจำบูท
นั่นก็คืองานของหย่งศรีเอง!


ชีวิตประสาล่ามประจำบูท
ฉันมีหน้าที่ตั้งแต่เปิด-ปิดบูท ดูแลความเรียบร้อย ความสะอาด คอยระแวดระวังมิให้หนังสือหาย รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและสำนักพิมพ์ที่มาร่วมงาน ทั้งในแง่ข้อมูลและภาคปฏิบัติ เสิร์ฟน้ำและกาแฟให้กับผู้ที่มาเจรจาติดต่อ
นอกจากนั้น ต้องคอยเก็บคอนแทกของผู้ที่เข้ามาติดต่อ และตอบคำถามสารพัดรูปแบบ ตั้งแต่นักเขียนที่มองหาสำนักพิมพ์ที่อาจสนใจงานของตน ซึ่งพวกเขามาจากทุกมุมโลกตั้งแต่ชมพูทวีป เรื่อยไปจนถึงยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา
ที่เห็นชัดมากในปีนี้ คือนักเขียนชาวอิสราเอลทุกหมวด ไม่ว่าจะเป็น Self-help Spiritual นิทานเด็ก หรือนิยาย ขยันเดินมาเสนอผลงานและเตรียมตัวมาดีมาก มี Press Kit (เอกสาร) น้อย ๆ แนะนำตัวเองและบทคัดย่อของผลงานเสร็จสรรพ แค่นั้นยังไม่พอ ยังขยันตามงาน ขอพบกับตัวแทนสำนักพิมพ์ไทยให้จงได้ ตรงนี้ไม่รู้ว่ากระแสความโด่งดังของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (นักเขียนชาวอิสราเอล) ผู้เขียน Sapiens จะมีส่วนด้วยหรือเปล่า
ต่อมา ชายใส่สูทชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเดินมายื่นนามบัตรให้พร้อมพูดสวัสดีเป็นภาษาไทย เขากำลังมองหาลู่ทางในการมาร่วมงานสัปดาห์หนังสือของไทยอยู่ บอกเลยว่าวงการหนังสือไทยก็เป็นปลายทางที่ทั่วโลกสนใจเหมือนกัน

นอกจากนั้น ยังมีสำนักพิมพ์ต่างชาติที่สนใจใช้บริการโรงพิมพ์ไทย หน่วยงานภาครัฐของต่างประเทศที่อยากเชิญชวนสำนักพิมพ์ของเราไปออกงานที่ประเทศของตน ร้านหนังสือออนไลน์ใหญ่ยักษ์มองหาผู้จัดจำหน่าย (Distributors) ในประเทศไทย ฯลฯ
แต่สิ่งที่ฉันได้คุยมากขึ้นในปีนี้ คือการสนับสนุนด้านเงินทุนในรูปแบบต่าง ๆ จากสารพัดหน่วยงานของต่างประเทศ
การทำงานวันที่ 3 คนที่เดินเข้ามาบูทยังไม่ขาดสาย เจ้าหน้าที่จากผู้จัดงาน Bologna Children Book Fair ซึ่งเป็นงานหนังสือเด็กที่ใหญ่ที่สุดในโลกแจ้งว่ามีทุนให้กับสำนักพิมพ์หนังสือเด็กไทยที่ไม่เคยไปออกงานที่นั่นนำผลงานไปออกได้
เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่จากประเทศซาอุดีอาระเบียที่บอกฉันว่า มีเงินทุนให้กับสำนักพิมพ์ที่สนใจจะแปลงานจากภาษาอารบิกเป็นภาษาไทย ไหนจะศิลปินนักวาดชาวสเปนที่บอกว่า หน่วยงานของรัฐบาลสเปนมีเงินทุนสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือเด็กหากจ้างนักวาดจากประเทศสเปน
สำหรับประเทศเยอรมนีที่ฉันอาศัยมานับสิบปีก็มีห้องสมุดจากรัฐบาเยิร์น แจ้งว่าทำแคตตาล็อกนิทานและวรรณกรรมเยาวชนนานาชาติทุกปี แต่ยังไม่มีหนังสือไทยอยู่ในนั้นเลย รวมทั้งมีทุนวิจัยด้านหนังสือเด็กให้นักวิชาการที่สนใจด้วย

เมื่อหน้าปากซอยเป็น HarperCollins
เท่าที่ฉันเคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นล่ามในงานแฟรงก์เฟิร์ตบุ๊กแฟร์หลายปีก่อนหน้า บูทไทยมักถูกจัดให้อยู่ในฮอลล์เดียวกับประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน พลวัตของผู้คนไม่หนาแน่นมาก เพราะส่วนมากมุ่งหน้าไปยังฮอลล์ที่มีบูทสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ
ครั้งนี้ ฉันคาดว่าจะเป็นเช่นนั้นอีก ยิ่งมาจัดในปีที่เพิ่งเริ่มฟื้นจากโควิด-19 ด้วย ซึ่งจีนยังปิดประเทศอยู่ ทำให้แทบไม่มีสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์จากจีนมาร่วม รวมถึงอีกหลายแห่งจากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ คะเนด้วยสายตา จำนวนผู้คนที่มาร่วมงานหายไปในราว 30 เปอร์เซ็นต์ (ตัวเลขจากผู้จัดแจ้งว่า ปี 2022 มีผู้เข้าชมงานทั้งสิ้นเกือบ 200,000 ราย แบ่งเป็นนักธุรกิจ 93,000 คน และประชาชน 87,000 คน)
แต่มันไม่เป็นดังคาด
ด้วยความที่ฮอลล์จัดงานบางส่วนปิดปรับปรุง และจำนวนสำนักพิมพ์มาร่วมงานน้อยลง (เข้าใจว่าหลายบริษัทเป็นกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย) ทำให้การจัดผังของงานเปลี่ยนไปเกือบทั้งหมด บูทไทยได้มาอยู่ในฮอลล์ 6 อันเป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์ใหญ่ยักษ์ที่มีพลวัตสูงมาก แถมอยู่ในซอยเดียวกันกับ HarperCollins หนึ่งใน Big Five สำนักพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษของโลก อีก 4 แห่งที่เหลือได้แก่ Penguin Random House, Simon & Schuster, Hachette และ Macmillan
ผู้คนที่ผ่านมาทางนั้น จึงเดินผ่านบูทของเราด้วย

ประกอบกับบูทไทยปีนี้จัดในธีม Drawing Story นำผลงานของนักวาดการ์ตูน Illustrator และนักวาดนิยายกราฟิกไทย 20 ท่านที่มีผลงานโดดเด่นมานำเสนอ โดยเชื่อว่าภาพวาดเหล่านั้นไม่ต้องแปลก็เข้าใจได้
รวมทั้งมีส่วนของ Thai Book Archive นำงานวรรณกรรมที่ได้รับรางวัล ได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศ หรือนำไปทำในรูปแบบละครโทรทัศน์ ซีรีส์ การ์ตูน ฯลฯ มาจัดแสดง ซึ่งนิยายวายจำนวนไม่น้อยก็ได้รับเลือกให้มาออกในงานนี้ด้วย
เมื่อตั้งอยู่ในฮอลล์ที่คนมามหาศาล พร้อมกับเนื้อหาที่ใช่ เข้าถึงง่าย ฉันที่ยืนเฝ้าบูทอยู่จึงได้เห็นคนจากทั่วทุกมุมโลกหลั่งไหลกันมาชื่นชมผลงานของนักวาดไทย เรื่อยไปถึงผลงานอื่น บ้างพลิกเปิดดูด้านใน บ้างก็ยืนอมยิ้ม หัวเราะไปกับภาพที่ได้เห็น แม้ว่าจะอ่านไม่ออก แต่ความเป็นสากลของภาพก็ทะลุกำแพงภาษาไปเลย
ดีใจแทนนักวาด หากเจ้าของผลงานได้มาเห็นว่ามีคนต่างชาติสนใจผลงานของตัวเองมากขนาดไหน ต้องปลื้มใจมากแน่
จากที่คิดเอาเองก่อนเริ่มงานว่าน่าจะเงียบ กลายเป็นว่าบูทของเรามีสำนักพิมพ์และนักเขียนจากสารพัดประเทศ ‘เข้าคิว’ กันขอข้อมูล ฉันในฐานะเจ้าหน้าที่ล่ามที่อยู่ประจำบูท ตอบคำถามจนแทบไม่มีเวลาได้พักทานข้าวกลางวันเลยทีเดียว

นอกจากการเจรจาซื้อขาย ปีนี้ยังมีการจัดพื้นที่ให้สำนักพิมพ์จากประเทศยูเครนมาออกแสดงโดยเฉพาะ และในงานยังเวทีเสวนาอีกนับสิบเวทีนำเสนอแนวโน้มและประเด็นซึ่งกำลังเป็นที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแปลและนักแปล ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการเผยแพร่งานออกสู่วงนานาชาติ รวมไปถึงความร่วมมือกับสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok ซึ่งมาออกบูทโปรโมตแฮชแท็ก #Booktok แนะนำหนังสือที่น่าสนใจ เป็นการพากลุ่มคนออนไลน์และหนังสือมาเจอกัน
อ้อ! อีกหนึ่งไฮไลต์ของงานคือ Guest of Honor กล่าวคือ ทุกปีจะมีหนึ่งประเทศได้เป็น ‘แขกรับเชิญพิเศษ’ ประเทศนั้นจะได้จัดแสดงหนังสือของตนอย่างใหญ่โตในอาคาร Forum รอบงานมีการจัดอภิปราย อ่านหนังสือ แสดงวัฒนธรรม ฯลฯ สุดแล้วแต่ว่าอยากทำอะไรเพื่อให้เข้าถึงสาธารณชน ผู้จัดบอกว่า ที่จัดโปรแกรมแขกรับเชิญพิเศษนี้ขึ้นมาเพราะหวังว่าจะช่วยให้ประเทศแขกรับเชิญพิเศษขายงานลิขสิทธิ์ผลงานของประเทศตนได้มากขึ้น
Guest of Honor ปีนี้คือสเปน มาในธีม Spilling Creativity โดย King Felipe VI และ Queen Letizia เดินทางมาร่วมงานพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง รวมทั้งนักเขียนอีกกว่าร้อยชีวิตที่มาร่วมพูดคุยในงานตลอด 5 วัน


ปัจจุบัน ชาวโลกมองหาอะไร
ความที่ปีนี้เรานำผลงานของนักวาดมาจัดแสดง จึงได้เห็นว่ามีสำนักพิมพ์สนใจร่วมงานกับนักวาด หลายประเทศขอรายชื่อนักวาดไทยทั้งหมดที่มี เพื่อไปคัดสรรและติดต่อขอร่วมงาน
ในส่วนของหนังสือที่ฮอตฮิต มีคนมาสอบถามอยู่ตลอด คือ การ์ตูน (มังงะ) ที่มีเนื้อเรื่องเป็นออริจินัลของคนไทย นิทานเด็ก (หนังสือภาพ) และนวนิยาย ซึ่งมักได้รับอิทธิพลมาจากละคร
อย่างหลังนี้ ผู้มาสอบถามมักเป็นสำนักพิมพ์จากประเทศเพื่อนบ้าน กล่าวคือละครไทยเรื่องใดดังในประเทศของเขาก็จะมีคนตามมาหาซื้อลิขสิทธิ์นวนิยายต้นฉบับไปแปล และที่เห็นได้ชัดคือ มีผู้สนใจนิยายวายมากขึ้น แต่ในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ยังไม่อาจตีพิมพ์เรื่องเหล่านี้ได้
พูดถึงความสนใจของสำนักพิมพ์ไปเยอะแล้ว แต่ใน 2 วันสุดท้ายจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาเดินชมงาน มีผู้คนมากมายแวะเวียนมาที่บูทของเราเช่นเดิม

สิ่งที่คนเข้ามาถามไม่ขาดสายเลยคือ คู่มือเรียนภาษาไทยในระดับต่างกัน บ้างก็หาตำราเรียน บ้างก็หาหนังสืออ่านนอกเวลาอย่างง่าย รวมไปถึงเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นไทย
หลายคนรักและชอบเมืองไทย อยากไปเที่ยว จึงอยากหัดภาษาไว้
บางคนมีแฟนเป็นลูกครึ่งชาวไทย และอยากหัดภาษาเพื่อพูดกับว่าที่คุณแม่สามี (กรี๊ด)
บางคนอ่านภาษาไทยไม่ออก แต่เพราะหลงรักซีรีส์วายของไทย จึงกวาดนิยายที่ตัวเองเคยดูซีรีส์แล้วกลับบ้าน ประมาณว่าขอให้ได้มีไว้ในครอบครองก็ดีใจแล้ว และใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเรียนภาษาต่อไป
บางท่านเป็นเจ้าของร้านหนังสือเด็กสารพัดภาษาในเยอรมนี แม้อ่านไม่ออก แต่รู้ว่าจะเลือกซื้อเล่มไหน เพื่อให้ขายหมดไม่เหลือสต็อก
ไม่นับคนไทยในแวดวงนักอ่านในเยอรมนี อย่าง คุณหนึ่ง-อธิวดี วิศวกรกระดาษ ผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือป๊อปอัปมากมาย คุณติ๊ก บรรณาธิการสำนักพิมพ์ภาษาเยอรมันที่สืบทอดมากว่า 5 อายุคน เจสซี่ อินฟลูเอนเซอร์ นักรีวิวหนังสือ ที่มีผู้ติดตามใน Instagram และ TikTok หลักหมื่น
รวมไปถึงน้องคนไทยอีกนับสิบชีวิตจากทุกอาชีพการงาน ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา พนักงาน พยาบาล ฯลฯ รวมไปถึงลูกครึ่ง ลูกติด ที่มามองหาหนังสือเพื่อให้คลายความคิดถึงบ้าน
ถ้าไม่ได้มาเป็นล่ามประจำบูทประเทศไทยก็คงไม่ได้รู้เรื่องทั้งหมดนี้ ยิ่งในยุคที่สื่อโซเชียลครองโลก มีแต่เสียงบอกว่า ‘ไม่มีใครอ่านหนังสือกันแล้ว’
แต่เมื่อโชคชะตาชักพาให้มาร่วมงานอีกครั้ง เรากลับได้คำตอบที่ชัดเจน
นักอ่านยังมีเยอะมาก และคนทุกชาติทุกภาษายังคงมองหาหนังสือเนื้อหาดี น่าสนใจ ร่วมสมัยอยู่เสมอ
Can you see? Books never die!
ภาพ : Frankfurt Book Fair
Write on The Cloud
บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ