6 กุมภาพันธ์ 2019
29 K

“ดูก่อนได้นะคะ”

ประโยคคุ้นหูจากเหล่าพนักงานขายที่รอให้บริการ หลังเห็นลูกค้าคว้าจับเข้ากับเสื้อผ้าสักชิ้นในร้านแฟชั่นทั่วไป

แต่คำพูดนี้กลับไม่ปรากฏในร้าน FRANK! GARCON ไลฟ์สไตล์สโตร์แห่งใหม่กลางย่านสยามซอย 2 ที่อื้ออึงไปด้วยเสียงถามหาไซส์ขนาดเสื้อผ้าและสินค้าใหม่ที่เหล่าลูกค้าในร้านผลัดกันยิ่งคำถามใส่พนักงานจนแทบฟังไม่ทัน

อะไรที่ทำให้ร้านนี้ฮอตขนาดนั้นนะ

FRANK! GARCON

FRANK! GARCON

ผมถามตัวเองหลังจากถือถุงใบใหญ่ที่ข้างในมีหมวก 2 ใบออกมาจากร้าน

ผมกลับไปอีกครั้งเพื่อหาคำตอบนี้จากเหล่าสมาชิกเจ้าของร้านทั้งสี่คน ก่อนจะทราบว่าพวกเขาทุกคนมีร้านรองเท้าและร้านเสื้อผ้าเป็นของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว

โอกิ-ทัดสุระ อิวาชิตะ และ พร-ทวีพร หล่อเลิศรัตน์ ทั้งคู่เป็นเจ้าของรองเท้าแบรนด์ระดับท็อปอย่าง London Brown ลูกศร-ศรุติ ตันติวิทยากุล เป็นดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงสุดน่ารักชื่อ Daddy And The Muscle Academy และคนสุดท้ายที่ถึงจะไม่ได้มีกิจการสายแฟชั่นเป็นของตัวเองอย่าง อั้ม-บุญญนัน เรืองวงศ์ แต่ด้วยอาชีพอาร์ตไดเรกเตอร์สายเอเจนซี่โฆษณา ก็ไม่แปลกที่เขาจะต้องรู้จักเรื่องแฟชั่นเหล่านี้เป็นอย่างดี

FRANK! GARCON

“เพราะเราเป็นคนที่อยู่ที่นี่มานาน เราเลยเห็นว่าลูกค้าเขากำลังมองหาอะไรกัน บวกกับพวกเราทั้งสี่คนก็อยากให้มีร้านแบบนี้ตั้งนานแล้ว” คุณพรพูดด้วยรอยยิ้มเมื่อผมถามถึงที่มาในการร่วมกันเปิดร้านแห่งนี้ขึ้นมา

“ร้านแบบนี้คือร้านแบบไหนครับ” ผมถามต่อด้วยความสงสัยเผื่อจะได้ส่วนหนึ่งในคำตอบที่ตามหา

“เราอยากให้ร้านของเราเป็นที่แรกที่เหล่าเด็กๆ ที่เริ่มคิดจะแต่งตัว สามารถมาเลือกซื้อได้ในราคาสบายกระเป๋า และเปิดพื้นที่ให้กับแบรนด์ไทยที่เขามีสินค้าที่ดีได้นำเสนอด้วยค่ะ” รอบนี้เป็นลูกศรที่เฉลยคำตอบให้กับผม พร้อมด้วยการพยักหน้าเห็นด้วยจากเหล่าสมาชิกที่เหลือ

ผมฟังแล้วก็พยักหน้าตาม เพราะหากบทสัมภาษณ์นี้เป็นสินค้าสักชิ้น ผมก็อยากได้พื้นที่ในการขายที่ดีแบบนี้บ้าง เพื่อที่ผมจะได้ลองพูดประโยคนี้กับเขาสักครั้ง

“อ่านก่อนได้นะครับ”

FRANK! GARCON

สนใจในความสนใจ

“แต่ก่อนผมไม่เคยสนใจแฟชั่นเลยนะ” อั้ม อาร์ตไดฯ หนุ่มผมยาวพูดขึ้น และเขาคงสังเกตเห็นท่าทีไม่เชื่อถือของผม แน่ล่ะ ก็ถ้าดูจากชุดที่เขาใส่มาในวันนี้มันช่างดูดีจนผมต้องพิจารณารสนิยมแฟชั่นของตัวเองใหม่

“มันค่อยๆ มาเรื่อยๆ มากกว่า อย่างสมัยตอนที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมก็ได้เห็นรุ่นพี่เขาแต่งตัวเท่ๆ ที่ไม่ได้มีแค่เสื้อกับกางเกงเท่านั้น เขายังมีหมวก ผ้าพันคอ รองเท้า อื่นๆ อีกมากมายที่มันทำให้เราดูดีได้ จากนั้นพอเข้ามาทำงานก็ด้วยหน้าที่ทำให้ได้รู้จักและสัมผัสแฟชั่นมากขึ้น เพราะเราต้องกำหนดคาแรกเตอร์ของตัวละครต่างๆ ในโฆษณา”

FRANK! GARCON FRANK! GARCON

“แต่ที่พีกที่สุดคงเป็นครั้งหนึ่งตอนที่ผมไปเที่ยวญี่ปุ่นกับเพื่อน และได้เห็นกับพนักงานทำความสะอาดเขาแต่งตัวดีมากกว่าพวกผมที่เป็นนักท่องเที่ยวเสียอีก สิ่งนี้มันอธิบายได้หลายอย่างนะ นอกจากว่าเรามันแต่งตัวไม่ดีเอง มันก็บอกถึงคุณภาพชีวิตและความสนใจในเรื่องแฟชั่นของประชาชนในประเทศของเขาที่นู่น ผมก็เลยคิดว่าถ้าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นกับประเทศเราบ้างจะเป็นยังไงนะ” อั้มเล่าต่อถึงที่มาในความสนใจและมุมมองเรื่องแฟชั่นที่มากกว่าแฟชั่นของเขา

“ตอนที่พวกเราเริ่มต้นคิดโปรเจกต์ร้านนี้ขึ้นมา เราก็พบปัญหาหนึ่งว่าร้านเสื้อผ้าแฟชั่นของผู้ชายมีให้เลือกซื้อน้อยและส่วนใหญ่มีราคาแพงมาก สมมติว่าคุณเริ่มทำงานประจำมีเงินเดือนประมาณหนึ่ง และเกิดอยากมีเสื้อแจ็กเก็ตสวยๆ สักตัวไว้ออกงานแต่ถ้าราคามันอยู่ที่ 6,000 บาท คุณก็คิดหนักแล้วใช่ไหม เราเลยอยากสร้างทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ค่ะ”

FRANK! GARCON

ก็จริงตามที่ลูกศรว่า เพราะตัวผมเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องเดินถอนหายใจออกจากร้านเสื้อผ้าแบรนด์ดังอยู่หลายครั้งหลังเห็นป้ายราคา

“และอย่างที่บอกไปว่าพวกเราแต่ละคนก็มีร้านของตัวเองอยู่ที่สยามมานานหลายปี ทำให้เรารับรู้ว่าพวกเขากำลังมองหาอะไรกันอยู่ ราคาแบบไหน ดีไซน์ประมาณไหน ที่ลูกค้าพร้อมจะจ่ายเงินให้กับของเหล่านี้บ้าง” คุณโอกิขยายความต่อให้เราฟัง

“และนั่นก็เลยเป็นความโชคดีที่เราได้พื้นที่ตรงนี้พอดี ทำให้พวกเราเริ่มทำร้านนี้จริงจังเสียที ซึ่งถ้านับกันจริงๆ เราใช้เวลากันน้อยมากในการเริ่มโปรเจกต์นี้ ได้นอนกันน้อยมากๆ ด้วย แต่ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ FRANK! GARCON เป็นร้านที่ตรงกับความต้องการที่พวกเราตั้งใจไว้ให้มากที่สุดค่ะ” สิ้นเสียงคุณพร ผมก็เห็นรอยยิ้มของทุกคนที่ผลัดกันพูดถึงช่วงเวลาที่หนักหน่วงตรงนั้น แต่เต็มไปด้วยความสนุกที่จะได้เห็นร้านนี้เกิดขึ้นมา

FRANK! GARCON

ใส่ใจในความตั้งใจ

“ทำไมจึงตั้งชื่อร้านว่า FRANK! GARCON เหรอครับ” ผมถามถึงที่มาของชื่อร้าน

“Frank มาจากคำว่าตรงไปตรงมา จริงใจ คือเราสื่อถึงว่าของในร้านที่คุณเห็นว่ามันสวยมีดีไซน์ดีๆ แต่ก็มีราคามีทันสมเหตุสมผลนะ ส่วน Garcon เป็นภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายว่าเด็กผู้ชาย แต่เราแทนมันเป็นคาแรกเตอร์ความซนสนุกของเด็กผู้ชาย โดยสินค้าในร้านก็จะเป็นแบบ Unisex ที่ผู้หญิงก็สามารถแต่งตัวแบบผู้ชายก็ได้” สมาชิกทั้งสี่คนผลัดกันเล่าถึงที่มาของชื่อนี้อย่างออกรสออกชาติ

FRANK! GARCON FRANK! GARCON

“คอนเซปต์ของ FRANK! GARCON คือไลฟ์สไตล์สโตร์ในรูปแบบ Art Meets Fashion อย่างที่เราจะเห็นว่าในร้านจะไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าอย่างเดียว เรายังมีของอื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ ทั้งชาม แจกันเซรามิก ไฟแช็ก ที่คั่นหนังสือ เทียนหอม และของดีไซน์สวยๆ ที่ใช้งานจริง

“นอกจากนี้ เรายังเปิดโอกาสให้ศิลปินนำงานมาจัดแสดงและวางขายในแต่ละเดือน เพื่อช่วยส่งเสริมให้ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักและเข้าถึงคนมากขึ้นด้วย”

พอฟังที่คุณโอกิและคุณพรพูดแบบนี้ ผมก็หันไปมองผลงานของศิลปินที่กำลังส่งความสดใสตามมุมต่างๆ ในร้าน

FRANK! GARCON

ร้านที่คัดสรรสินค้าด้วยระบบไอดอล

ผมเลยเกิดคำถามต่อว่าแล้วใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกรับแบรนด์ต่างๆ

“เราจะดูจากความน่าสนใจของแบรนด์เขาก่อน เพราะเราอยากให้ร้านของเรามีขอที่สดใหม่และดูมีอะไรใหม่อยู่เสมอ จากนั้นก็เป็นการนัดคุยว่าความเห็นตรงกันกับเราหรือเปล่าก่อนจะเริ่มทำงานกันจริง เพราะพวกเราทุกคนมองว่าเขาคือพาร์ตเนอร์ของเรา” อั้มบอกถึงหลักในการเลือกพร้อมย้ำว่าพวกเขาทุกคนเอาใจใส่และคอยมองหาแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาในร้านอยู่เสมอ

“เราอยากให้ที่นี่เป็นเวทีคัดเลือกแบบระบบไอดอลน่ะค่ะ” ลูกสรพูดขึ้นพร้อมเรียงเสียงหัวเราะจากทั้งวงสนทนา

FRANK! GARCON FRANK! GARCON FRANK! GARCON

“คือไม่ใช่ว่าคุณเอาของเขามาวางขายในร้านเราได้แล้วคือจบนะ คุณต้องหมั่นพัฒนาและรักษาระดับคุณภาพของสินค้าอยู่เสมอด้วย รวมไปถึงการทำงานคุณต้องมีความเป็นมืออาชีพ เพราะเราก็อยากทำงานแบบมืออาชีพด้วย บกพร่องเมื่อไหร่ก็เปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาแทนที่ได้ทันที

“แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะให้ความสำคัญแต่เรื่องยอดขาย ความจริงแล้วเราจะคอยเช็กความนิยมของสินค้าของเขาและคอยให้คำแนะนำกลับไปด้วย เช่น สินค้าแบบนี้ไม่ลองทำให้ขนาดเล็กลงกว่านี้ดูล่ะ มีลูกค้าถามถึงสีแบบนี้อยู่เรื่อยๆ นะสนใจอยากทำบ้างไหม รวมไปถึงแนวทางในการโปรโมตต่างๆ เราก็พร้อมจะสนับสนุน

“เพราะอีกหนึ่งความตั้งใจจริงๆ ของเราอยากผลักดันให้แบรนด์ไทยได้พัฒนาขึ้นไปด้วย ถ้าเราช่วยเขาได้เราก็อยากช่วย” ทั้งสี่คนได้อธิบายถึงความตั้งใจและเหตุผลในการคัดเลือกแบรนด์ต่างๆ

FRANK! GARCON

FRANK! GARCON

จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 2 เดือนนิดๆ ที่ FRANK! GARCON เปิดให้บริการกับลูกค้าผู้สนใจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ มีเหล่าแฟนคลับตัวยงผู้คอยติดตามโซเชียลมีเดียของทางร้านถึงขนาดว่ารู้วันที่สินค้าใหม่จะมาวางขายด้วย

ทั้งหมดนี้เกิดจากความตั้งใจของสมาชิกเจ้าของร้านทั้งสี่คนที่เขาเล่าว่ารู้สึกประทับใจเสมอเวลาที่เห็นลูกค้าเดินเข้ามาในร้าน

“บางทีพวกเราก็ชอบมานั่งเดากันนะครับว่าคนที่เดินผ่านไปมาคนไหนจะหันเข้ามาในร้านเราบ้าง มีหลายครั้งเลยที่เราเห็นเขาแต่ไกลๆ ก็รู้เลยว่าต้องแวะร้านเราแน่นอน” อั้มพูดด้วยเสียงภูมิใจกับการทายผลของเขา

“มันดีใจมากเลยนะครับ เวลาที่เราคิดกันไว้ว่าลูกค้าของเราต้องลุคประมาณนี้แหละ และก็เป็นแบบนั้นจริงๆ มันเหมือนเป็นรางวัลของการทำงานหนัก เพราะของที่เราวางขายอยู่ในร้านก็รอให้คนเหล่านี้มาเลือกซื้อกลับไป ดังนั้น มันเลยเป็นความรู้สึกพิเศษ” คุณโอกิพูดเสริม

FRANK! GARCON

“ยังมีโอกาสอะไรอีกไหมที่ทางแบรนด์ไทยและคนไทยควรเข้าใจกันให้มากขึ้นกว่านี้” ผมเอ่ยถามขึ้น

“เราว่าแบรนด์ไทยอาจจะต้องเพิ่มความกล้าเข้าไปมากกว่านี้ กล้าคิดใหญ่ให้มากขึ้น ลองพาตัวเองไปสู่จุดที่ได้โชว์ศักยภาพ และสิ่งเหล่านั้นจะกลับมาพัฒนาตัวพวกเขาเอง เราเชื่อว่าคนไทยเก่งและมีความสามารถมากๆ หลายครั้งเลยที่เราไปต่างประเทศและไปเจอร้านมัลติแบรนด์หรือร้านดีไซน์สวยๆ แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าทำไมที่บ้านเราไม่มีอะไรแบบนี้บ้าง ทั้งที่จริงๆ คนไทยเก่งมาก บางครั้งการโทษว่าคุณไม่ได้รับการสนับสนุนอะไรแบบนั้นเราว่ามันไม่ได้แล้ว เราต้องออกมาทำอะไรด้วยตัวเอง และสิ่งนั้นมันก็จะตอบแทนเราเองในที่สุด” ลูกศรพูดด้วยเสียงสดใสแต่แฝงด้วยความตั้งใจ (ผมถึงกับต้องพับแขนเสื้อขึ้นด้วยความฮึกเหิม)

FRANK! GARCON

“สำหรับฝั่งคนไทยเองก็ต้องรู้ก่อนว่าสรีระของเราเป็นแบบไหน สภาพอากาศบ้านเราเป็นยังไง และเราจะใส่ชุดแบบนี้ไปในวาระอะไร ทั้งหมดนี้เกิดจากความเข้าใจที่เราเองต้องรู้ตัวเองก่อน จากนั้นก็ค่อยไปหาสิ่งที่เหมาะกับเงื่อนไขเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง” คุณพรกล่าวเสริมบ้างในส่วนของฝั่งผู้ซื้อ

“อย่างที่เราบอกไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่าเราอยากให้ร้านนี้เป็นพื้นที่ของแบรนด์ไทย ศิลปินไทย และเด็กไทยที่เริ่มอยากแต่งตัว ในร้านของเราคุณสามารถซื้อได้ตั้งแต่หมวกจนถึงรองเท้าในราคาที่ไม่แพงมาก” อั้มย้ำถึงความตั้งใจในการทำร้านอีกครั้ง

หลังจบการสัมภาษณ์ก็เป็นเวลาเปิดร้านพอดี ลูกค้ากลุ่มแรกของวันนี้คือวัยรุ่นชาย 5 คน พวกเขาเดินตรงไปที่โซนหมวกก่อนหยิบขึ้นสวมลองที่หน้ากระจก ผมหันไปเห็นสีหน้าของสมาชิกเจ้าของร้านที่ตอนนี้ผันตัวเป็นพนักงานขายไปเรียบร้อย แต่ไม่ทันที่จะได้เอ่ยประโยคคุ้นหู ก็ได้ยินเสียงดังจากเด็กคนนึงในกลุ่มนั้นขึ้นมา

“คิดเงินตรงไหนครับ”

FRANK! GARCON

Writer

Avatar

ทศพล เหลืองศุภภรณ์

นักทดลองตัวหนังสือและภาพถ่ายสมัครเล่น พบผลการทดลองของเขาทุกเดือนได้ที่ tossapol.com

Photographer

Avatar

ช่อไพลิน โคบายาชิ

ช่างภาพและแม่บ้านญี่ปุ่นฝึกหัด Facebook : สะใภ้โคบายาชิ Instagram : Chopailin