กระติ๊บข้าวทรงอินฟินิตี้ เสื่อลาย ‘รอ คอย เธอ’ และ ‘Kiss Hot’ (คิดฮอด) ไปจนถึงหมอนขิดลาย ‘ยุพิน <3 จอห์น’ ของใช้ประจำวันในอีสานที่ถูกดีไซน์ใหม่จนจี๊ดจ๊าดเหล่านี้ อยู่ใน ‘อีสานทอรัก : Weaving Factory’ นิทรรศการสิ่งทอและงานจักสานภาคอีสานผ่านมุมมองและความรักในรูปแบบต่างๆ ในงาน Isan Creative Festival 2021 โดย TCDC จังหวัดขอนแก่น 

ไอเดียสิ่งทอกับความรัก มาจากลวดลายบนผ้าขิดผืนหนึ่งในจังหวัดอำนาจเจริญ ที่หญิงทอผ้าเล่าว่าเธอทอผ้าผืนนี้ตอนอายุ 18 ปี ระหว่างที่รอคนรักกลับมา แต่สุดท้ายเขาไม่เคยกลับมา และได้แต่งงานใหม่ไปแล้ว แม้ผ้าขิดผืนนี้จะไม่เคยถูกส่งมอบให้ชายคนรัก แต่หญิงทอผ้าบอกว่ามันเป็นความทรงจำที่สวยงามและมีความสุขทุกครั้งที่คิดถึง นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวสนุกๆ อย่าง ‘รักซ้อน’ (Love Overlapped) จากกลุ่มวัยรุ่น อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ต้องการหาเงินมาแต่งมอเตอร์ไซค์ จึงรวมตัวกันจับกลุ่มทอผ้าไหมขาย สร้างรายได้นับแสน ส่วนห้อง ‘รักและศรัทธา’ มีผ้าขาวไหมน้อยของ อ.เถ่า-มีชัย แต้สุจริยา แห่งบ้านคำปุน มาจัดแสดง สื่อถึงธรรมเนียมการทอผ้้าขาวไหมน้อยด้วยพลังศรัทธา เพื่อถวายพระที่เคารพนับถือ ซึ่งบ้านคำปุนปฏิบัติมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย

Foundisan กลุ่มดีไซเนอร์อุบลฯ-กรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนภาพจำงานคราฟต์อีสานให้สนุกและใกล้ตัว
Foundisan กลุ่มดีไซเนอร์อุบลฯ-กรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนภาพจำงานคราฟต์อีสานให้สนุกและใกล้ตัว
Foundisan กลุ่มดีไซเนอร์อุบลฯ-กรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนภาพจำงานคราฟต์อีสานให้สนุกและใกล้ตัว

ความสนุกเมามันที่ส่งผ่านนิทรรศการ ชวนให้เราเพลิดเพลินจนเราต้องขอพูดคุยกับกลุ่ม Foundisan ผู้อยู่เบื้องหลังนิทรรศการ การรวมตัวกันของคนทำงานด้านดีไซน์ไฟแรง 8 คนทั้งจากอุบลราชธานีและกรุงเทพมหานคร แกนนำคือ อีฟ-ณัฐธิดา พละศักดิ์ เสริมทัพด้วย วิน-อัยยวิน รัตนเพียร, ตั้ว-พุฒิพงษ์ พิจิตร, ไอซ์-ธนวัฒน์ คล่องวิชา, อั๋น-ชาตรี เทงฮะ, จอร์จ-ประพันธ์พงษ์ สุขแสวง, ฟาง-สุจินันท์ ใจแก้ว และอ้วนแลนด์-วัชราภรณ์​ สมบูรณ์​ และทำให้เราเห็นดีไซน์สนุกร่วมสมัยที่กลมกลืนกับงานคราฟต์ และเปิดมุมมองวิถีอีสานใหม่ที่น่าสนใจ เกินกว่าจะปล่อยผ่านไปเสียเฉยๆ 

มาทำความรู้จักกลุ่ม Foundisan ความเป็นอีสานคอนเทมโพรารี และค้นพบดีไซน์ไฉไลใหม่ปนเก่าได้จากตัวตนของพวกเขาที่นี่ 

Foundisan กลุ่มดีไซเนอร์อุบลฯ-กรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนภาพจำงานคราฟต์อีสานให้สนุกและใกล้ตัว

คุยกับนักออกแบบนิทรรศการอีสานทอรัก : Weaving Factory ถึงการค้นพบอีสาน และการสร้างสารพัดโปรดักต์จากวัฒนธรรมม่วนอีหลี

Foundisan คือใคร

ไอซ์ : Foundisan คือกลุ่มพี่น้องดีไซเนอร์ที่บังเอิญเจอกัน ไปเที่ยวด้วยกัน แล้วรู้สึกว่าอีสานสนุกมาก เริ่มจากพี่อีฟเป็นคนตั้งต้น ในมุมคนนอก จากตอนแรกเราก็แค่หาที่กินส้มตำ แต่พอไปถึงอุบลฯ จริงๆ พี่อีฟที่เป็นเจ้าบ้านก็พาไปหย่อนตามจุดต่างๆ ที่มีวัฒนธรรมน่าตื่นเต้นมากๆ อีสานมีความสนุกรอเราอยู่ให้เข้าไปเล่น 

พื้นเพพวกเราทุกคนต่างกัน แต่เรียนดีไซน์มาหมด พี่อีฟจบแฟชั่น จอร์จจบด้าน Exhibition ผมจบ Industrial Design วินเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ พอมารวมตัวกันก็อยากทำงานที่นำเสนออีสานในมุมมองร่วมสมัย 

แล้วมารวมตัวกันได้ยังไง

อีฟ : เริ่มต้นจากเราลงพื้นที่สอนกับน้องๆ ในพื้นที่อุบลฯ ศรีสะเกษ ได้เจอแม่ๆ ที่เก่งก็รู้สึกว่าอยากพัฒนาพวกเขาต่อ ไม่อยากให้งานเขาหายไป ในฐานะดีไซเนอร์ เราน่าจะทำอะไรได้บ้าง เพราะเป็นทั้งที่ปรึกษาและรับงานสอนจากรัฐ ไปพัฒนาโปรดักต์ตามหมู่บ้านต่างๆ ไปสอนเขาทำลายผ้านู่นนี่นั่น ทีมดีไซเนอร์เรามีหลายคนอยู่แล้ว ไหนๆ ลงพื้นที่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ก็อยากลุยต่อ แล้วเรามีเพื่อนเยอะ เวลาเพื่อนดีไซเนอร์จากกรุงเทพฯ มาเที่ยวอุบลฯ เราก็พาไปดูพื้นที่ ทุกคนสนใจงานคราฟต์ ก็ชวนมาทำต่อๆ กัน 

ส่วนใหญ่เราทำเสื่อและกระเป๋าผ้า ซึ่งเคยจัดแสดงที่ TCDC เชียงใหม่ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรต่อมาก พอได้จอร์จกับวินมาช่วยทำ Weaving Factory ก็ชัดขึ้น เราก็ใช้ทีมแม่ๆ ทีมเดิมที่ทำงานให้เรามาตลอด โปรดักต์ก็ทำให้สนุกขึ้น 

เป้าหมายของ Foundisan คืออะไร

อีฟ : หลักๆ คือสร้างงานใหม่ สร้างอาชีพ พัฒนาให้ยั่งยืน รวมไปถึงการสร้างความปวดหัวให้แม่ๆ ด้วย เวลาเจอแบบใหม่ๆ (หัวเราะ) เราตั้งใจทำงานคราฟต์ของอีสานทั้งหมด เวลาเข้าพื้นที่ไปเจอแม่เก่งๆ เขาเห็นเราเป็นลูกเป็นหลาน พูดภาษาเดียวกัน ก็ชวนเขามาทำงานร่วมกับดีไซน์ของเรา เป็นการทำงานร่วมกัน ไม่ว่างานผ้า งานจักสาน งานทองเหลืองที่เหลืออยู่ที่เดียวในอุบลฯ อย่างบ้านปะอาว เขาทำขี้ผึ้งปั้นเป็นแม่พิมพ์แบบดั้งเดิม ไม่ใช่แบบสมัยใหม่ เราก็คิดจะทำภาชนะใส่เทียนหอม ต่อไปเราก็อาจทำช้อนส้อมมีดแบบตะวันตก แต่ใช้วิธีทำแบบโบราณ หรือครกของกลุ่มเครื่องปั้นดินเผาปากห้วยวังนอง เขาปั้นจานชามให้ร้าน Zao ด้วย ก็จะร่วมทำงานที่ร่วมสมัย สร้างมูลค่ามากขึ้น แค่เติมดีไซน์เข้าไป 

ลึกๆ ในใจคืออยากเป็นแรงบันดาลใจและสารตั้งต้นที่ดีให้คนอื่นๆ ที่อยากทำงานคราฟต์ในอีสาน มาช่วยกันทำให้ Community นี้แข็งแรง ใครที่อยากจะมาสนุกด้วยกับ Foundisan เชิญเลยนะคะ ยินดีมากๆ มาช่วยกันทำและถ่ายทอดงานคราฟต์ของอีสานในอีกรูปแบบที่ม่วนๆ ป่วงๆ

ที่สำคัญคืออยากส่งต่องานนี้ไปให้เด็กรุ่นใหม่ หรือใครก็ตาม ให้เขารู้ว่าสิ่งที่เรามีมันมีค่า สร้างรายได้เลี้ยงชีพเราได้ และเป็นความภูมิใจที่เกิดมามีวัฒนธรรมแบบนี้ เราไม่ต้องไปดิ้นรนขนขวายจากที่ไหนเลย พัฒนาต่อยอดสิ่งที่เรามี ก็ดีแล้ว

Foundisan ต่างจากกลุ่มดีไซเนอร์รุ่นใหม่อื่นๆ ที่รัฐจ้างให้ทำงานร่วมกับชุมชนอย่างไร

อีฟ : เราก็รับงานรัฐเหมือนกัน เราก็ร้อนเงิน รับหมดถ้าจ้าง (หัวเราะ) Foundisan ก็เกิดจากรัฐจ้างเรานี่แหละค่ะ ทำให้เราได้มีโอกาสเจอเทพสาขาต่างๆ ตามที่ลึกๆ ไกลๆ ถ้าเราไปเองก็คงเจอแค่บางส่วน รุ่นหนึ่งเราสอนสามสี่ร้อยคน ปีหนึ่งก็พันสองพันคน ใครเก่งเราก็จิ้มออกมา มาทำงานด้วยกันมั้ยแม่ เรียนรู้อยู่ด้วยกันหลายวันหรือหลายเดือน เราก็ซื้อใจเขาได้ ในฐานะที่เราเป็นอาจารย์ เขาก็อยากทำงานกับอาจารย์เขา เขาเห็นทางที่เราจะพาเขาไปได้และอยากลองทำดู แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ สอนมาสามสี่ปี สอนไปราวสองพันคน ได้มาแค่ยี่สิบคนเองมั้งที่ไปด้วยกันได้ เพราะเขากล้าทำของที่แตกต่าง ถ้าเก่งแต่อยากทำแบบเดิมก็ไม่เอา เพราะมันไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้น

20 คนใน 2,000 คน ก็ 1 เปอร์เซ็นต์เองนะ 

อีฟ : ยี่สิบคนนี่ก็เยอะแล้ว ยังไม่มีใครหาได้เยอะเท่าเรา มันไม่ง่าย เราก็ต้องซื้อใจเขา เช่น เขาชอบทำงานที่เรารับซื้อเลย เราก็ตกลงกันก่อนว่าซื้อหมดแต่ต้องทำตามแบบของเรา การันตีว่าได้เงินแน่นอน แต่เขาต้องทำงานชิ้นใหม่นะ เช่น บ้านนี้เก่งเรื่องขิด เราก็ดีไซน์แบบขิดนี่แหละ แต่แทรกอะไรใหม่ๆ เข้าไป ไม่ต้องเปลี่ยนเขาทั้งหมด เอาของเก่าที่เขามีกับของใหม่มาบวกกัน เก่งเรื่องขิด เก่งจก เก่งสานไม้ไผ่ ก็ทำไป แต่เพิ่มดีไซน์ ใช้แบบใหม่ของเรา

ปัญหาเดิมของสิ่งทออีสานคืออะไร

อีฟ : การทำแบบซ้ำๆ เดิมๆ เพราะรัฐบาลเอาของไปแจกเขาฟรี ให้อุปกรณ์ย้อมผ้า ให้กี่ ให้ไหม ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องพัฒนา รอของแจกฟรีมาสามสิบ สี่สิบปีแล้ว มันก็มีข้อดี แต่ข้อเสียคือเขารับซื้อทุกผืนที่ทอ สวยก็ซื้อ ไม่สวยก็ซื้อ ดังนั้นชาวบ้านรู้ว่าแค่ทำงานแบบเดิมรอ เดี๋ยวถึงเวลารัฐก็มาซื้อไป แล้วพอปลายปีก็มากองเซลล์ขาย ทั้งที่เป็นไหม แต่กลับไม่มีราคา 

รัฐก็รู้ปัญหานี้ ถึงได้จ้างดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ เข้าไปทำงาน แต่มันยากที่จะเปลี่ยนแนวคิดของคนที่ทำงานแบบเดิมแล้วขายได้ เขาก็ไม่เห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยน แม่ก็ขายได้อยู่แล้ว

แล้วกลุ่มนี้ต่างจากพวกที่ได้ตรานกยูงฯ (เครื่องหมายรับรองคุณภาพผ้าไหมไทย) ยังไง

อีฟ : เหมือนนักเรียนในห้องเรียน มีทั้งเด็กเก่ง เด็กกลางๆ และไม่เก่ง คนที่ได้ตรานกยูงคือมีความตั้งใจที่จะไปต่อ ได้เข้าร่วมเวิร์กชอปบ่อยๆ ต้องการพัฒนาตัวเอง จากหนึ่งดาวทำยังไงให้ได้สามดาว ปกติอำเภอต่างๆ จะคัดเลือกคนที่มีกลุ่มทอผ้าให้มาเรียน งานชาวบ้านจะแบ่งเป็น A B C D แบบ A คือพร้อมส่งออก มีนิดเดียวไม่กี่ราย B คือผ้าตรานกยูงฯ ผ้าห้าดาว C กับ D คืองานของคนจำนวนมากมหาศาล ที่รอแค่ของแจกแล้วทอแบบเดิม 

ไอซ์ : งานตรานกยูงฯ เป็นรูปแบบอนุรักษ์นิยมที่คนในประเทศเห็นว่ารัฐต้องการ ซึ่งมันกดความครีเอทีฟไว้ ทำให้คนไม่กล้าเล่น ไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ อยู่ใน Comfort Zone แต่พอนักออกแบบที่เป็นคนท้องถิ่นเข้าไป ก็ช่วยกระตุ้นให้เขากล้าปล่อยของออกมา เอาเลย แม่ทำเลย 

คุยกับนักออกแบบนิทรรศการอีสานทอรัก : Weaving Factory ถึงการค้นพบอีสาน และการสร้างสารพัดโปรดักต์จากวัฒนธรรมม่วนอีหลี

กระบวนการทำงานกับชุมชนเป็นยังไง

อีฟ : ทีมดีไซน์จะคุยคอนเซ็ปต์กันว่าทิศทางจะไปทางไหน พอได้ทิศทางก็จะเข้าไปคุยกับชาวบ้านว่าเป็นไปได้มั้ย บางทีแบบที่เราคิดอาจจะไปไกลเกินอุปกรณ์หรือทักษะที่เขามี ถ้าทำไม่ได้ก็ปรับหน้างาน แล้วก็ขอคำแนะนำจากเขาด้วยว่าแบบนี้เป็นไปได้มั้ย หรือเราลองแบบไหนได้มั้ย ช่วยกันปั้นขึ้นมาเพราะมันเป็นงานที่ไม่เคยทำ มันจะจบยังไงก็ต้องช่วยกันคิด 

ฟาง : เราเป็นคนอุบลฯ ได้ลงพื้นที่ตลอด เห็นแม่ๆ ที่ทำงานกับเราก็กล้าเปิดใจออกจากกรอบ เขาว่า ลองเบิ่งก็ได้ แต่แม่ไม่ฮู้นะว่าแม่จะเฮ็ดได้บ่ แต่เขาก็กล้าลองทำ อย่างสีสันที่เราเรียนมาว่าไม่เข้ากัน แม่ๆ ทำแล้วก็ เอ๊ะ ก็ใส่ได้บ่ล่ะ มองแล้วรู้ว่าอีสาน รู้สึกว่าความอีสานไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ตาย คนอีสานไปอยู่ไหนก็ปรับตัว พาวิถีอีสานไปด้วย มันดิ้นได้ตลอด 

แล้วจะรู้ได้ไงว่าของที่ทำมาจะขายได้

อีฟ : ซื้อหวยค่ะ ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) เราก็ศึกษาเทรนด์โลก ด้วยความที่ทำแฟชั่น เราก็ต้องคาดเดาว่าคนต้องการอะไร ความต้องการของผู้บริโภคคืออะไร แต่ก็ต้องสอดคล้องกับของที่เรามีอยู่ เพราะของที่เรามีอยู่ไม่ใช่ของที่คนต้องการ ดังนั้นเราต้องคิดเยอะ โจทย์คือเราจะทำยังไงให้คนอยากได้ ทำยังไงให้ของมันเข้ากับปัจจุบัน

ไอซ์ : เราก็ตั้งโจทย์กันเองว่าของหน้าตาแบบไหนที่ชาวบ้านทำ แล้วเราอยากได้มาตั้งไว้ในบ้าน ถ้าทั้งทีมอยากได้ ก็น่าจะมีกลุ่มเป้าหมายวัยใกล้ๆ กับเราอยากได้เหมือนกัน 

คุยกับนักออกแบบนิทรรศการอีสานทอรัก : Weaving Factory ถึงการค้นพบอีสาน และการสร้างสารพัดโปรดักต์จากวัฒนธรรมม่วนอีหลี

ขอตัวอย่างของที่เรียกได้ว่า ซื้อหวยถูก

อีฟ : เสื่อคิดฮอด Kiss Hot เราตั้งใจขายเสื่อให้คนยุคนี้แหละ เห็นแล้วต้องอยากได้ บิดวิธีนำเสนอว่าคิดฮอด Kiss Hot ออนซอน On Souls คนก็ชอบ 

เราอยากให้มันสวยกว่านี้มากๆ เพราะเรียนแฟชั่นมา เรื่องเยอะ แต่แม่ๆ ทำได้เท่านี้ ในที่สุดเราก็แค่ยอมรับว่ามันสวยแบบนี้ และเราจะขายแบบนี้ ปรากฏในนิทรรศการ Weaving Factory ทุกคนก็ว่าสวยแล้วนี่หว่า อยากซื้อแล้ว เราเลยปล่อยวางขึ้น มันสวยในแบบของมัน คนมาดูงานห้าถึงหกร้อยคน ไม่มีใครมาติว่าขอบไม่ตรง ริมผ้าเบี้ยวเลย มีแต่เรานี่แหละที่ แม่ มันตรงกว่านี้ได้มั้ย 

วิน : ผมคิดว่าภาษามีส่วนมากๆ คนที่ชอบคำก็เข้าใจ มันไม่ใช่แค่ภาษาไทย แต่คือภาษาอีสานกับภาษาอังกฤษผสานกัน มันทำลายกำแพงว่านี่คือเสื่อเดิมๆ บวกกับโลกโซเชียลด้วย 

นิทรรศการ Weaving Factory เกิดมาได้ยังไง

อีฟ : เกิดจาก The Cloud ตอนทีม The Cloud มาสัมภาษณ์ที่อุบลราชธานีเพราะเห็นเสื่อเราในอินสตาแกรมแล้วทักมาว่าอยากคุยด้วย ตอนนั้นน้อยคนที่รู้จัก Foundisan เพราะเรารู้สึกว่าของยังไม่สวย ยังไม่พร้อม คนอื่นบอกสวยแล้ว เราก็ยังรู้สึกสวยไม่พอ เลยไม่ได้บอกใคร ทำเก็บไปเรื่อยๆ จนพอได้ลงคอลัมน์ ทาง TCDC ก็มาเจอต่อ เขามาดูงานจริง ได้เห็นของเยอะมาก ก็บอกว่านี่มันคือ Weaving Factory ของอีสานเลย มาทำนิทรรศการมั้ย เราก็เลยได้รวมทีมทำนิทรรศการกัน พาคนอุบลกับกรุงเทพฯ มาช่วยกันทำ 

จอร์จ : นี่เป็นครั้งแรกที่เราทำนิทรรศการทางไกลจากกรุงเทพฯ ยากมาก (ลากเสียง) ทุกคนก็เครียดว่าจะทำยังไง เราไม่กล้าเดินทาง เพราะเราอยู่ในพื้นที่สีแดงจนจะดำอยู่แล้ว จะเล่าเรื่องการทอแบบเดิมๆ เด็กก็เบือนหน้าหนีเพราะเบื่อ ก็คิดว่าต้องทำยังไงให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายอายุต่ำลง เข้าถึงวัยรุ่น Instagrammable ย่อยทุกอย่างให้เข้าใจง่าย เหมาะกับโลกไซเบอร์

คุยกับนักออกแบบนิทรรศการอีสานทอรัก : Weaving Factory ถึงการค้นพบอีสาน และการสร้างสารพัดโปรดักต์จากวัฒนธรรมม่วนอีหลี
คุยกับนักออกแบบนิทรรศการอีสานทอรัก : Weaving Factory ถึงการค้นพบอีสาน และการสร้างสารพัดโปรดักต์จากวัฒนธรรมม่วนอีหลี

งั้นทำอย่างไร 

ไอซ์ : เมืองมีความโมเดิร์น เราก็ทำวิชวลออกมามีสีสัน แต่ไม่ได้เหมือนแบบในหนัง แหยม ยโสธร ไม่ต้องตลกไปหมด มีมุมอื่นๆ มีความเศร้า มีความสนุก เพราะอีสานมีคลื่นของชีวิตมากมาย เราอยากสื่อสารว่าอีสานโมเดิร์นมากๆ แม้ว่าคุณอาจคาดไม่ถึง สีสันเขาก็เกินกว่าที่เราสเก็ตช์ไปอีก มันคืองานที่เกิดจากการฝึกฝน ทำผ่านตาเขาเลย

ตัวอย่างคือตอนแรกเราจะให้เขาทออีโมจิเข้าไปในเสื่อ แต่ทอแล้วเบี้ยวไปหมด ไม่ได้เบี้ยวดิจิทัล แต่เป็นเบี้ยวจริงๆ แต่น่ารัก มันสะท้อนว่าคน Gen X มองอีโมจิว่ายังไง งานคราฟต์พวกนี้เป็นงานของคนรุ่น Baby Boomer และ Gen X ซึ่งพวกเรา Gen Y เป็นสะพานว่าจะเชื่อมต่องานคราฟต์กับคนรุ่นเด็กกว่ายังไง เพราะเราก็กลัวว่ามันจะหายไปจริงๆ เหมือนภาษามันขาดหายไป แต่เราอยากทำให้เขารู้สึกว่าสนุก ไม่ได้ถูกยัดเยียดของที่เหมือนมีคำว่า Super Thai ติดมา 

วิน : งานนี้เราได้ผ้าของ จิมป์ ทอมป์สัน มาใช้ เขาก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่บอกว่าผ้าไทยไม่ได้เท่ากับดีไซน์เชยนะ เขาทำทุกอย่างเหมือนแบรนด์ฝรั่งเลย เราอยากให้เกิด Proud Factor ขึ้นมา ตอนนี้ถ้าอยากเป็นคนเก๋ ต้องชอบสไตล์สแกนดิเนเวีย ถ้าฉันชอบแฟชั่นต้องอยู่ยุโรป อยู่ปารีส แล้วของเราก็ไม่ถูกนับว่าโมเดิร์น ดังนั้นการสื่อสารสำคัญ เราอยากทำให้ดูร่วมสมัย แต่จะไม่ลบความเป็นอีสานออกไป นิทรรศการไม่ต้องขาวๆ คลีนๆ จะทำให้เหมือนเดินมิวเซียมที่ลอนดอนทำไม ความท้าทายคือทำยังไงให้ความเป็นอีสานและความภูมิใจมีอยู่ ได้เห็นความเก่งของแม่ๆ ทำให้รู้สึกว่าเราชอบอีสาน เราก็เก๋ได้นะ

การตอบรับของคนท้องถิ่นเป็นยังไงบ้าง

อีฟ : เขาก็ตื่นเต้นตกใจแหละ เพราะมันกลายเป็นหนึ่งในนิทรรศการหลักของงาน ผลตอบรับค่อนข้างดีมาก เป็นการเล่าเรื่องราวในวิธีที่ไม่มีใครเคยเล่า สีสันก็สดใสสวยงาม ไม่มีใครใช้สีแบบนี้ เขาชอบมาถ่ายรูปกัน ซึ่งเราตั้งใจอยู่แล้วว่าถ่ายมุมไหนก็สวย 

Foundisan กลุ่มดีไซเนอร์อุบลฯ-กรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนภาพจำงานคราฟต์อีสานให้สนุกและใกล้ตัว
Foundisan กลุ่มดีไซเนอร์อุบลฯ-กรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนภาพจำงานคราฟต์อีสานให้สนุกและใกล้ตัว

สำหรับคนนอกพื้นที่ ทุกคนได้ Found อะไรในอีสาน จากงานของ Foundisan 

จอร์จ : ความระห่ำ พูดตรงๆ คือแตกแตนมากๆ ทุกคนเต็มที่กับการใช้ชีวิต และเวลาช่วยเหลือกันก็เต็มที่มาก

อั๋น : ขอคนใต้พูดบ้างนะ ด้วยความที่เราเป็นคนบ้านๆ ชอบอะไรบ้านๆ อยู่แล้ว อีสานก็มีความบ้านๆ แต่มีความสนุก ความบ้า เป็นภาคที่เรารู้สึกว่ามีสีสันที่สุด อีฟเขาชวนพี่มาร่วมโปรเจกต์ตอนท้ายๆ แล้ว ก่อนหน้านี้เราเห็นงานที่ TCDC เชียงใหม่ เป็นการออกแบบเพื่อการค้า สีก็คุมโทน มีความเรียบร้อย 

แต่อันนี้เราว้าวมาก อีฟพาไปเจอแม่ๆ ที่อำนาจเจริญ เราได้เห็นกระบวนการทำงาน และเห็นความกล้าใช้สี ซึ่งเราไม่ใช่คนใช้สีแบบนั้นเลย มันท้าทาย ได้ออกแบบลายผ้าที่ล้อเลียนการทอ ได้เห็นการใช้คำแบบ ‘รอเธอเสมอ’ ซึ่งทำให้เราสนุกในการร่วมงานกับอีฟ ไม่มีพิธีรีตองอะไร เหมือนเราได้มาเล่นสนุกๆ 

วิน : ผมไม่เคยมาอีสานเลย จนได้รู้จักกับพี่อีฟแล้วได้เปิดโลก เริ่มจากทานปลาร้าเป็นที่อุบลฯ แล้วเริ่มเห็นวิถีชีวิตที่ไม่เหมือน Stereotype ห่างไกลจากความโมเดิร์นที่เคยรับรู้มา อีสานมีวัฒนธรรมที่มีคุณค่า ไม่ได้บอกว่าวัฒนธรรมไหนดีหรือด้อยกว่ากัน แต่วิถีชาวบ้านที่เก็บผักจับปลา เฮ้ย มันเหมือนสแกนดิเนเวียนี่หว่า เรื่องการกินน่าสนใจมาก เขาหมักปลาร้าด้วยสับปะรด นำมดมาทำอาหาร พวกนี้เป็นศาสตร์ชั้นสูง แต่ด้วยภาพจำที่มี ทำให้อาหารดูไม่มีพิธีรีตอง 

ไอซ์ : ดูจากสื่อเรามีภาพจำว่าอีสานแร้นแค้น ดูเศร้า แต่เราได้เจออีสานมุมอื่นที่เปิดโลก เมืองอุบลฯ นี่เท่เกินลิมิตมาก ไม่ได้มีความกรุงเทพฯ ด้วยนะ ด้วยคอนเนกชันพี่อีฟที่รู้จักชุมชนเชฟทำอาหาร เขาก็มีวัฒนธรรมว่าต้องใช้วัตถุดิบนี้เพื่อแบบนั้นแบบนี้ อย่างร้านส้มตำของพี่อีฟก็ผ่านการทดลองมา ไม่ใช่ใส่อะไรมาแล้วอร่อยเลย พริกมาจากจังหวัดนี้ หอมแดงจากตรงนั้น มีวิถีชีวิตที่ละเอียดอ่อน 

ในอนาคตเราจะได้เห็นงานอะไรใหม่ๆ ของ Foudisan อีกบ้าง

อีฟ : ต่อจากนี้นิทรรศการเราจะไปอยู่ที่ใหม่อีหลี เนื่องจากสเปซไม่ได้ใหญ่มาก เราเลือกเรื่องราวห้อง ‘รักต่างเชื้อชาติ’ ไปถ่ายทอดต่อ 

ไอซ์ : ห้องนี้เล่าเรื่องการแต่งงานกับฝรั่ง มีชื่อคีย์เวิร์ดคือยุพินกับจอห์น จินตหรากับซามูเอล มีโฟมตัดงานแต่งเป็นชื่อพวกนี้เต็มไปหมด คนเข้าใจง่ายว่าเราจะสื่ออะไร

คุยกับนักออกแบบนิทรรศการอีสานทอรัก : Weaving Factory ถึงการค้นพบอีสาน และการสร้างสารพัดโปรดักต์จากวัฒนธรรมม่วนอีหลี
Foundisan กลุ่มดีไซเนอร์อุบลฯ-กรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนภาพจำงานคราฟต์อีสานให้สนุกและใกล้ตัว
Foundisan กลุ่มดีไซเนอร์อุบลฯ-กรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนภาพจำงานคราฟต์อีสานให้สนุกและใกล้ตัว

อีฟ : แต่คราวนี้งานแสดงจะเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์คนดูได้ คืองานที่จัดแสดงทั้งหมดจะซื้อกลับบ้านได้หมด เราอยากทำงานที่เป็นเรื่องใกล้ตัว ทุกอย่างใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ได้ซื้อเพื่อเก็บ ไม่ว่าอาหาร กระเป๋า กระดาษ หรืออะไรก็ตาม เช่น อาหารตะวันออกกับตะวันตกยุคนั้นมาเจอกัน ไปจนถึง ของใช้ เฟอร์นิเจอร์ ไอเดียมาจากผู้หญิงอีสานยุคก่อนต้องทอผ้าเพื่อตัดชุดแต่งงาน แล้วต้องทอผ้าสำหรับทำปลอกหมอน ผ้าม่าน ที่นอน ของชำร่วยให้ผู้ใหญ่ที่มางาน เราเลยจะทำของชิ้นเล็กๆ ขึ้นมาให้คนซื้อกลับบ้านไปง่ายๆ ได้ด้วย 

นอกจากนั้น เราจะทำทำเว็บ E-Commerce ทำงานให้ครบ ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง เรื่องดนตรีคุยกับแป้ง รัศมี Isan Soul ไว้ว่าอยากให้ทำเพลง เขาเองก็อยากทำเพลงที่เกี่ยวกับอาหารอีสานด้วย 

ตัวอาหารอีสานมีเอกลักษณ์อยู่แล้ว Foundisan เล่าวิถีชีวิต เจออะไรมาก็หยิบมาเล่นได้ อะไรที่ส่งเดลิเวอรี่ได้ก็ทำ ให้คนเมืองกรุงเข้าใจรสชาติอาหารอีสานแท้ๆ เพราะปัจจุบันเข้าใจผิดไปเยอะมากเหมือนกัน อาหารช่วยสื่อสารได้ง่ายมากว่านี่คือรสชาติที่คนอีสานกิน นี่คือวิธีการที่เราใช้ 

จอร์จ : เครื่องดื่มก็ดีนะ ตอนพี่อีฟส่งเหล้าบ๊วยมาให้ ตอนแรกไม่กล้ากิน แต่กลิ่นเหมือนพอร์ตไวน์มาก แม่ยังบอกเลยว่าหอมกว่าเซี่ยงชุน ก็เลยกิน อร่อยมาก ทัดเทียมเมืองนอกได้เลย

ภาพ : Foundisan, Adit Sombunsa

ติดตาม Foundisan ได้ที่ 

foundisan.com/ 

www.instagram.com/isancf.weavingfactory/ 

ข้อมูลนิทรรศการจาก : isancreativefestival.com/program/78964 

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง