มีคำกล่าวกันว่า ‘ประวัติศาสตร์นั้นเขียนขึ้นโดยผู้ชนะ’ เราพบความจริงนี้ได้ในหลากหลายที่ ตั้งแต่ตำราเรียนของเด็ก ๆ จนถึงบันทึกประวัติศาสตร์เก่าแก่
เมื่อฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ บางชื่อจึงอาจถูกลบ บางเหตุการณ์จึงอาจไม่ถูกพูดถึง ‘ความจริง’ ที่เราเห็นจึงอาจเป็นเพียงด้านเดียวของอดีต
แล้วทำอย่างไร เราถึงจะได้รู้ เพื่อเรียนรู้ว่าในวันวานมีอะไรเกิดขึ้นจริง ๆ บ้าง
วันนี้ฉันจะมาเล่าให้คุณฟังถึงเคสหนึ่งที่ออกแบบให้ประวัติศาสตร์ได้ถูกบันทึกไว้ตามที่มันเป็น
ชื่อของเคสนี้คือ ‘Fortepan’ คลังภาพประวัติศาสตร์ออนไลน์ที่โด่งดังของประเทศฮังการีค่ะ

คลังภาพถ่ายธรรมดา จากคนธรรมดา
ในช่วงกลางยุค 80 Miklós Tamási ผู้ก่อตั้ง Fortepan คือเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่สนใจอยากคืนชีวิตให้ประวัติศาสตร์จากสายตาประชาชนฮังการี ซึ่งเขาเคยเห็นในหนังและภาพถ่าย
เพราะมีความฝันเช่นนี้ Tamási จึงมักแวะเวียนไปที่ถังขยะเพื่อเก็บภาพถ่ายเก่า ๆ ที่ผู้คนโละทิ้งมาสะสมไว้ และเข้าทำงานที่แกลเลอรี่ของมหาวิทยาลัย Central European ในขอบเขตงานที่เน้นเกี่ยวกับการจัดนิทรรศการประวัติศาสตร์
ฟังดูเหมือนงานในฝัน แต่ที่นั่น Tamási พบความจริงว่า ภาพที่นำมาจัดแสดงล้วนมาจากมุมมองที่ถูกออกแบบไว้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายเพื่อลงในสื่อต่าง ๆ ในที่สุดว่าที่ผู้ก่อตั้ง Fortepan ก็ทนไม่ไหว เขาตัดสินใจเปิดคลังภาพออนไลน์ของตัวเองในปี 2010 เพื่อบอกเล่าความจริงจากอีกฝั่งหนึ่งแทนที่ภาพถ่ายซึ่งคัดเลือกมาอย่างดีของนิทรรศการ คลังภาพนี้รวมภาพธรรมดาสามัญจากกล้องที่ถ่ายกันในครอบครัว
และนี่คือจุดเริ่มต้นของ Fortepan คลังภาพออนไลน์ซึ่งได้ชื่อมาจากโรงงานผลิตฟิล์มถ่ายภาพ Forte ของประเทศฮังการี


คลังภาพถ่ายที่ชวนประชาชนร่วมสร้างประวัติศาสตร์
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ Tamási ตั้งใจออกแบบให้คลังภาพของเขาเริ่มต้นในปี 1900 และสิ้นสุดในปี 1990
“ช่างภาพเริ่มออกไปเดินถ่ายภาพตามท้องถนนตั้งแต่ช่วงปี 1890 แต่เราหาภาพในช่วงนั้นไม่ค่อยได้ นั่นทำให้เราเลือกช่วงปี 1990 เป็นจุดเริ่มต้น” Tamási อธิบาย “จุดสิ้นสุดของคอลเลกชันภาพ Fortepan คือ ปี 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่ฮังการีเปลี่ยนจากยุคสังคมนิยมสู่ระบอบประชาธิปไตย”
ถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกหยุดที่ตรงนี้ คำตอบของผู้ก่อตั้ง Fortepan คือระบอบประชาธิปไตยมาพร้อมกับทุนนิยม ซึ่งส่งผลให้ภาพถ่ายไม่คลาสสิกเหมือนก่อน
แน่นอนว่าภาพถ่ายยุคศตวรรษที่ 20 ยังมีอะไรอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของชนชั้น เมื่อมีเพียงครอบครัวร่ำรวยเท่านั้นที่ได้ครอบครองกล้องถ่ายรูป ทำให้แม้จะไม่ใช่ภาพออกสื่อ แต่ภาพ Home Photography ใน Fortepan ก็มักจะดูสวยงามอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ ช่วงเวลานั้นยังมีเหตุการณ์สำคัญอย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ซึ่งมีภาพหลงเหลือมาน้อยนิด เพราะชาวยิวถูกห้ามไม่ให้มีกล้องถ่ายรูป


เพราะอย่างนี้ Tamási จึงออกแบบให้คลังภาพออนไลน์ของเขาเปิดรับภาพถ่ายจากคนทั่วไป เพื่อให้ประวัติศาสตร์ไม่เว้าแหว่งขาดหาย ซึ่งหมายรวมถึงชาวฮังการีที่ต้องอพยพออกนอกประเทศ มากกว่านั้น นโยบายของคลังภาพยังเขียนขึ้นแบบเน้นความเท่าเทียม โดยเปิดให้ทุกคนเข้าถึงและใช้ภาพเหล่านี้ได้ฟรี รวมถึงให้ผู้ใช้มาร่วมใส่แท็กใน Index ของคลังภาพได้
ด้วยความพยายามเช่นนี้ Fortepan จึงไม่ใช่เพียงคลังภาพเก่าทั่วไป แต่เป็นที่ซึ่งคนในฮังการีได้มาร่วมเติมเต็มประวัติศาสตร์ของประเทศ
เพราะความพยายามนี้ ในคลังภาพของ Tamási จึงมีภาพหลากหลายอย่างแท้จริง อาทิ ภาพหายากจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อย่างภาพโรงงานผลิตแก้วในกรุงบูดาเปสต์ของ Carl Lutz ชาวสวิส ซึ่งเปิดให้ชาวยิวเชื้อสายฮังกาเรียนเข้ามาหลบซ่อนตัว โดยทางคลังภาพใช้เวลาครึ่งปีติดต่อกับลูกสาวของ Lutz และ Swiss Federal Institute of Technology in Zürich เพื่อให้ได้ภาพเหล่านี้มา


เมื่อเปิดกว้างและบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่เคยเห็นที่ไหน Fortepan ที่มีจุดเริ่มต้นจากชุดภาพถ่ายที่ Tamási สะสมไว้ จึงกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ฮังการีที่ทรงพลังในที่สุด
คลังภาพที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2010 ด้วยไฟล์ภาพถ่ายประมาณ 5,000 ภาพ ในตอนนี้ Fortepan มีภาพมากกว่า 100,000 ภาพ และถูกใช้งานแพร่หลาย ไม่ว่าคุณจะเป็นคนหนึ่งที่ร่วมบริจาคภาพถ่ายหรือไม่ ถ้าอยู่ในฮังการี เป็นไปได้สูงที่คุณมีสิทธิ์จะได้เห็นภาพจากคลังภาพออนไลน์นี้ผ่านตา
แม้ Tamási จะตั้งใจทำโปรเจกต์นี้แบบไม่แสวงหารายได้ ประชาชนฮังการีก็มักเลือกบริจาคเงินให้ Fortepan แทนห้องสมุดแห่งชาติหรือพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสะท้อนชัดว่าพวกเขาเห็นคุณค่าคลังภาพนี้มากแค่ไหน
มีคำกล่าวกันว่า เราเรียนรู้จากอดีต และ Fortepan ก็คือเครื่องมือที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ทุกคนได้รู้จักและเข้าใจอดีตตามที่มันเป็น
ที่สำคัญ เครื่องมือนี้ไม่ใช่สิ่งสลับซับซ้อนเข้าใจยาก หากตั้งใจมากพอ เราสามารถเห็น Fortepan เกิดขึ้นได้ทุกหนแห่ง ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในฮังการีเท่านั้น
แน่นอนว่ารวมถึงเมืองไทย ประเทศที่เราต่างรู้ดีว่ายังมีประวัติศาสตร์อีกหลายส่วนที่ขาดหาย ลบเลือน และไม่ถูกพูดถึง
เราพบเศษเสี้ยวของมันได้ในภาพถ่ายเก่าที่แชร์กันตามกลุ่มเฟซบุ๊กหรือพิพิธภัณฑ์ออนไลน์อย่างพิพิธภัณฑ์สามัญชน แต่ฉันเชื่อว่าแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์จากพลังประชาชนยังงอกงามต่อไปได้ยิ่งกว่านี้
เพราะต่อเมื่อเราได้เห็นประวัติศาสตร์ตามจริงเท่านั้น ประวัติศาสตร์จึงจะไม่ซ้ำรอย

ข้อมูลอ้างอิง