The Cloud X สารคดีสัญชาติไทย

พ.ศ. 2561 เจ้าสัวไร้สติคนหนึ่งทำให้ชื่อ ‘ห้วยปะชิ’ ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว ด้วยการ ‘ฆาตกรรม’ เสือดำตัวหนึ่ง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกที่ป่าทุ่งใหญ่ฯ โด่งดังเป็นที่รู้จัก  

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 เฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งตกแถวอำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม อุบัติเหตุครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 6 คน นอกจากนี้ ในซากเฮลิคอปเตอร์ยังพบชิ้นส่วนสัตว์ป่าจำนวนมาก

ย้อนกลับไปราว 1 สัปดาห์ คนกลุ่มหนึ่งพักแรมอยู่ใกล้ลำห้วยสายเล็กๆ ที่ไหลคดเคี้ยวผ่านที่ราบในหุบเขาของป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พวกเขาเข้ามาตั้งแคมป์เพื่อล่าสัตว์ป่า การล่าสัตว์ แม้จะมีเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ นักข่าว และคนหลายคนรับรู้ พยายามเข้าไปเจรจาเพื่อจับกุม แต่ไม่สำเร็จ เพราะคนในคณะเป็นระดับผู้ใหญ่ มีอำนาจในประเทศ

อุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกทำให้คนทั้งประเทศรับรู้ ซากสัตว์ป่าที่ฆ่ามาจากป่าทุ่งใหญ่กระจัดกระจาย เหตุการณ์นี้คือจุดเริ่มต้น ขยายไปใหญ่โต ประชาชน นิสิต นักศึกษา นักเรียน ลุกฮือขึ้นเรียกร้องให้รัฐบาลลงโทษผู้กระทำผิด

2 เดือนต่อมา 13 มิถุนายน 2516  คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามีมติให้ดำเนินการประกาศตั้งป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

ลำห้วยสายเล็กๆ คดเคี้ยว ไหลผ่านที่ราบในหุบเขา ซึ่งคณะล่าสัตว์ตั้งแคมป์พักมีชื่อว่า ‘เซซาโว่’

ช่วงเวลานั้นเซซาโว่กลายเป็นชื่อยอดนิยมไปทั่วประเทศ คนนำมาตั้งเป็นชื่อร้านอาหาร ร้านตัดเสื้อผ้า และอีกมากมาย คนจำนวนมากรับรู้ว่าห้วยเซซาโว่อยู่ในผืนป่าซึ่งมีความเหมาะสมกับการเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า และที่นี่ได้รับการดูแลปกป้องอย่างจริงจัง

ถึงวันนี้เซซาโว่อยู่ในสถานภาพหน่วยพิทักษ์ป่าชั่วคราวของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ‘เซซาโว่’ เป็นภาษาถิ่นที่ชาวบ้านแถบนั้นใช้เรียกลำห้วยสายนี้ มีความหมายว่า ‘ลูกไม้แดง’ หน่วยเซซาโว่เรียกเป็นทางการว่า หน่วยลูกไม้แดง

มีบ้านสร้างด้วยไม้สังเคราะห์ใต้ถุนสูง 1 หลัง มีห้องน้ำ 2 ห้อง และโรงครัวเล็กๆ ฝาไม้ไผ่อยู่ริมห้วย ที่นี่ไม่เพียงเป็นที่พักของชุดลาดตระเวน แต่เป็นที่พักกลางทางระหว่างการเดินทางจากสำนักงานเขตถึงหน่วยพิทักษ์ป่าจะแก ซึ่งอยู่ใกล้ๆ หมู่บ้านจะแก หมู่บ้านใหญ่ขนาด 200 หลังคาเรือน ชาวบ้านใช้เส้นทางนี้เดินทางเข้า-ออกเมือง ด้วย ในฤดูแล้งคนเดินทางอาจแวะพักเพียงเพื่อกินข้าวหรือพักเหนื่อย ฤดูฝนที่นี่จะเป็นที่พักอันอบอุ่น

ระยะทาง 80 กิโลเมตรบนเส้นทางที่กำหนดไม่ได้ว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ถ้าเดินทางด้วยรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ การเดินเท้าคือวิธีดีที่สุด เพราะจะใช้เวลาแค่ 3 วัน ช่วงเวลานี้แหละที่คนเดินข้างทางจะปฏิเสธ เมื่อเราชวนขึ้นรถพวกเขาจะตอบว่า “กำลังรีบ”

ช่วงฤดูแล้งแหล่งน้ำที่เหลือมีสัตว์อย่างกวางและกระทิงแวะเวียนมาใช้ตลอด 

“ปีนี้ได้คนมาเพิ่มครับ” ชัยพร สังขโลก ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยลูกไม้แดงบอก

“ได้เดินป่าอีก 1 ชุด”

ทุกคนผ่านการอบรม การลาดตระเวนเชิงคุณภาพมาแล้ว มีทักษะการใช้เครื่องมือและสำรวจหา ปัจจัยคุกคาม การเดินลาดตระเวนเข้มข้นมากขึ้น

ชัยพรมาจากลำปาง เป็นชายไทยเชื้อชาติไทยเพียงคนเดียวในหน่วย เพื่อนร่วมงานทั้งหมดของเขาเป็นชายไทยเชื้อชาติกะเหรี่ยง เขาอยู่มานาน กระทั่งใช้ภาษาถิ่นสื่อสารกับเพื่อนๆ ได้

  ลูกไม้แดงอยู่บนที่ราบ สูงจากระดับน้ำทะเล 900 เมตร ล้อมรอบด้วยทิวเขา ไม่ไกลจากหน่วยมีที่ราบกว้างใหญ่ที่เรียกว่า ‘ทุ่งใหญ่’ หรือ ‘เวียพะดู’ ในภาษาถิ่น เวียพะดูเข้าถึงยาก ฤดูฝนดงหญ้ารกหนาทึบ แต่ในช่วงแล้ง หลังไฟไหม้ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่จะกลายเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศของเหล่าสัตว์กินพืช

หญ้าระบัดงอกปกคลุมพื้นดินเขียวขจี มองไปไกลสุดตา ในทุ่ง กระทิงฝูงละไม่ต่ำกว่า 50 ตัวเดินอ้อยอิ่งเลาะเล็มหญ้า สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่งเข้ามาวนเวียน

กระทิงหลายตัวตายเพราะคมเขี้ยว มีบางตัวตายเพราะคมกระสุน

“พวกล่ามันก็มาช่วงนี้แหละครับ” ชัยพรบอก พวกเขาเดินลาดตระเวนตลอด   

“เดิน 2 ชุดคงพอช่วยรักษาชีวิตกระทิงได้ดีกว่าปีก่อนๆ ครับ”  ชัยพรพูดแววตาจริงจัง

ผมรู้จักชัยพรหลายปีแล้ว

นานหลายปีแล้วที่ผมรู้ว่ามีคนในป่าจำนวนมากพยายามปกป้องชีวิตสัตว์ป่า โดยเอาชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพัน

ในช่วงฝนฝูงกระทิงจะวนเวียนอยู่แถวบริเวณที่มีหญ้าเขียวๆ

โดยปกติในหน่วยจะเงียบๆ คนส่วนใหญ่ออกลาดตระเวน เหลือเฝ้าหน่วย 2 คน

แต่วันนี้หน่วยคึกคัก ทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งโดยใช้กล้องดักถ่ายจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำออกจากป่ามาพักที่นี่หลายวัน

กลางคืนอุณหภูมิลดต่ำเหลือไม่ถึง 10 องศาเซลเซียส

“ลำปางหนาวมาก แต่ที่นี่หนาวกว่าว่ะ” ชัยพรคนลำปางพูดประโยคนี้บ่อยๆ

กองไฟข้างครัวริมห้วยไม่เคยดับ ชายหนุ่มหลายคนนั่งอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ข้างกองไฟ กลิ่นยาเส้นมวนด้วยใบกระโดนลอยคลุ้ง เสียงน้ำไหลเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ชายหนุ่มผิวขาวยกกาน้ำดำๆ รินน้ำสีแดงใส่กระบอกไม่ไผ่ยื่นให้ผม

“น้าชูต้มไม้ฝางครับ บอกว่าแก้เมื่อย”

“ขอบคุณครับ” ผมรับไว้ จอกไม้ไผ่อุ่นในมือ

จิ๊บ วัย 24 ปี จบจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดแพร่ เขาร่วมทีมมากับชุดสำรวจประชากรเสือโคร่งอยู่ในป่าเกือบ 2 เดือนแล้ว

“หนาวนะครับ”  เขาพูดเบาๆ

เมื่อวานเขาเล่าให้ฟังว่า ก่อนเข้าป่าเขาตัดสินใจบอกเลิกกับหญิงสาวคนรัก เพราะพ่อแม่ผู้หญิงไม่ชอบเขา

“พวกเขาว่าฐานะผมไม่ดีครับ กลัวลูกสาวจะลำบาก อยากให้แต่งงานกับคนมีฐานะ”

“มีแบบนี้จริงๆ เหรอ นึกว่ามีแต่ในละคร” ผมแหย่

เขายิ้มแห้งๆ “ผมยอมเลิกครับ ถ้าแฟนจะสบาย ผมยอม”

ข้างกองไฟ เรานั่งเงียบๆ ดวงจันทร์ครึ่งดวงส่องแสงนวล งดงามเกินกว่าจะกล้าเงยหน้าขึ้นมอง เปลวไฟไหววูบวาบ อุณหภูมิ 9 – 10 องศา อยู่ข้างกองไฟไม่หนาวนัก ผมมองข้ามกองไฟไปที่ชายหนุ่มผู้อยู่ในป่ามาเกือบ 2 เดือน อยู่เพื่อทำงานให้คนได้รับรู้ว่าทำไมต้องมีเสือ

เราไม่ได้พูดถึงเรื่องที่เขาเล่าให้ฟังอีก ข้างกองไฟอุ่น แต่ผมรับรู้ได้ว่าในความรู้สึกของชายหนุ่มที่นั่งอยู่เบื้องหน้า ‘ลูกไม้แดง’ ณ เวลานี้ ‘หนาวมาก’ เพียงไร…

Writer & Photographer

Avatar

ปริญญากร วรวรรณ

ถ่ายทอดเรื่องราวของสัตว์ป่าและดงลึกทั่วประเทศไทยผ่านเลนส์และปลายปากกามากว่า 30 ปี มล. ปริญญากร ถือเป็นแบบอย่างสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างเคารพธรรมชาติให้คนกิจกรรมกลางแจ้งและช่างภาพธรรมชาติรุ่นปัจจุบัน