29 มิถุนายน 2021
3 K

“ปี๊ดดดด… กรรมการเป่านกหวีดหมดเวลา จบเกมเฉือนชนะไปสองประตูต่อหนึ่ง” 

แม้ไม่ใช่แฟนบอลตัวยง แต่ได้ยินเสียงพากย์ลุ้นระทึก เห็นทุกคนเฝ้าหน้าจอรอเชียร์ทีมในดวงใจเวลามีแมตช์สำคัญ ก็เข้าใจขึ้นมาทันทีเลยว่าฟุตบอลไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็นศาสนาที่หลายคนนับถือ 

แล้วถ้าให้ถามคอลูกหนังทั้งหลาย ร้อยทั้งร้อยคงอยากไปยืนเชียร์อย่างบ้าคลั่งถึงขอบสนามเสียมากกว่า 

Forest Green Rovers Eco Park Stadium สนามกีฬาเพื่อโลกที่คนไม่เล่นบอลก็ใช้ได้ทุกวัน

ในขณะเดียวกัน การก้าวเท้าเข้าสเตเดียมอย่างถ้วนทั่วของแฟนบอลเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจชั้นดี ถึงขนาดมีทัวร์ยุโรปเมื่อถึงคราวหน้าบอลโดยเฉพาะ จะว่าไปกีฬาฟุตบอลนี่ก็สนับสนุนการท่องเที่ยว ไล่ยาวไปจนถึงการพัฒนาประเทศได้เลย 

แต่น่าเสียดายที่สนามฟุตบอลกลายเป็นสิ่งเฉพาะกาล อนุญาตให้ตีตั๋วเข้าไปแค่เฉพาะกิจ ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะเปิดฟรีให้ใครต่อใครเข้าไปใช้งานเมื่อไหร่ก็ได้

ถึงกระนั้นสโมสรเจ้าถิ่นแห่งหนึ่งในอังกฤษ อย่าง Forest Green Rovers F.C. (FGR) ผนวกไอเดียกับ ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) เจ้าแม่แห่งวงการสถาปัตยกรรม สร้างสนามฟุตบอลสาธารณะ ‘Forest Green Rovers Eco Park Stadium’ แถมยังคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมโลกแบบสุดๆ เปิดให้เข้าได้ทุกวัน ไปดูกันว่าแมตช์นี้จะมันแค่ไหน

  ป.ล. แฟนบอลทีมอื่นโปรดเปิดใจให้ทีมนี้สักครั้ง

0 – 1 ฟุตบอลกระชับมิตร

ดูบอลเพื่อความสนุกมาก็นาน เพิ่งรู้ว่าวงการดวลแข้งเองสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายไม่แพ้อุตสาหกรรมอื่นบนโลก 

Forest Green Rovers Eco Park Stadium สนามกีฬาเพื่อโลกที่คนไม่เล่นบอลก็ใช้ได้ทุกวัน

เชื่อไหมว่า 3 ใน 4 ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกในโลกนี้ มาจากคอนกรีตแบบที่ใช้สร้างสนามฟุตบอล การดูแลรักษาสนามและหญ้าเขียวชอุ่มต้องใช้พลังงานแสงและน้ำปริมาณมหาศาล ยิ่งในประเทศอังกฤษ ซึ่งจัดอยู่ในโซนอากาศค่อนข้างหนาว ยิ่งต้องใช้พลังงานความร้อนมากเพื่อให้นักเตะและผู้ชมสบายกาย ไหนจะจอบอกคะแนน สปอตไลต์ หรือป้ายไฟที่ขอบสนาม ก็ใช้พลังงานทั้งนั้น ส่วนการขนส่งทั้งคนดูและอุปกรณ์ทั้งหลายมายังสเตเดียม ล้วนเตรียมปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้น

เดล วินซ์ (Dale Vince) ประธานสโมสรฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส เห็นเช่นนั้นก็อดรนทนไม่ไหว ในฐานะที่เป็นผู้ก่อตั้ง Ecotricity บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว เลยขอใช้วิธีนี้มาแก้ปัญหาสนามบอลที่รัก

ล้ำตั้งแต่เริ่มคิดติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อลดการใช้พลังงาน แปลงน้ำฝนและน้ำมันเหลือใช้ให้เป็นพลังงานหมุนเวียนในสนาม 

Forest Green Rovers Eco Park Stadium สนามกีฬาเพื่อโลกที่คนไม่เล่นบอลก็ใช้ได้ทุกวัน
ภาพ : The Sun.co.uk

พอเหมาะพอเจาะเมื่อต้องเปลี่ยนไปอยู่ที่ The New Lawn ใน ค.ศ. 2006 ก็ใช้หุ่นยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ตัดหญ้าให้ (เป็นเครื่องแรกที่ใช้ในวงการฟุตบอลของอังกฤษด้วย) สร้างที่จอดรถให้มีที่ชาร์จไฟ เพราะคนจะได้หันไปใช้รถไฟฟ้ามาดูฟุตบอล แต่ถ้าเท่านี้ยังไม่พอ เขาขอบริการอาหารมังสวิรัติซึ่งเน้น Plant-based เป็นหลัก ให้นักเตะ พนักงาน และแฟนบอล ในวันแข่งขัน 

เลยไม่แปลกใจถ้า FIFA (สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ) จะยกให้สโมสรท้องถิ่นลีค 2 เมืองกลอสเตอร์เชอร์ (Gloucestershire) แห่งนี้ เป็นสโมสรสีเขียวและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น ยังติด 1 ใน 15 องค์กรที่ได้รางวัล UN ‘Momentum for Change’​ Climate Action Award ค.ศ. 2018 จนถูกขนานนามว่าสนามฟุตบอลออร์แกนิกแห่งแรกของโลก 

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ คลับเล็กบนเขาขอคิดการใหญ่ อยากรักษ์โลกให้สุด จนไปหยุดที่การสร้างสนามฟุตบอล

0 – 2 สโมสรสีเขียว เอฟซี

ผู้ช่วยวางแผนออกแบบ Eco Park Stadium ใหม่ให้สโมสรแห่งนี้ คือตำนานสถาปนิกลายเส้นคดโค้ง อย่าง Zaha Hadid (ZHA) ที่นี่กลายเป็นสนามฟุตบอลแห่งแรกในโลกที่ทำจากไม้ทั้งหมด เพื่อตอบโจทย์พลังงานยั่งยืนกันแบบครบองค์ และคงคอนเซปต์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Forest Green Rovers Eco Park Stadium สนามกีฬาเพื่อโลกที่คนไม่เล่นบอลก็ใช้ได้ทุกวัน

การใช้ไม้ทั้งหมด เป็นข้อดีหลักในการช่วยแก้ปัญหา Carbon Footprint จากคอนกรีตที่ใช้สร้างสนามฟุตบอล วัสดุจากธรรมชาตินี้ แข็งแรงทนทาน มีปริมาณคาร์บอนต่ำ หรือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก และนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ แถมยังใช้ได้ทั้งโครงสร้าง คานบนหลังคา แม้แต่แผ่นพื้นและลานนั่งเล่นที่ปกติทำจากคอนกรีตหรือเหล็ก

เมื่อออกแบบ Eco Park Stadium ด้วยความโปร่งโล่ง เป็นรูปทรงชามโค้งมนเหมือนโครงกระดูกไม้ ทำให้ไม่บดบังทัศนียภาพโดยรอบ ส่วนผู้ชมก็มองเห็นสนามได้ชัดเจน และที่สำคัญ ผนวกกับการก่อสร้างโดยคำนึงถึงเรื่อง Carbon Footprint ด้วยแล้ว สนามแห่งนี้จึงมีปริมาณคาร์บอนต่ำกว่าสนามฟุตบอลอื่นๆ ในโลก

Forest Green Rovers Eco Park Stadium สนามกีฬาเพื่อโลกที่คนไม่เล่นบอลก็ใช้ได้ทุกวัน

ส่วนปัญหาการดูแลรักษาสนามที่ต้องใช้ปริมาณพลังงานมหาศาล พวกเขาใช้การหุ้มหลังคาสนามกีฬาให้ปลอดโปร่ง สว่างด้วยแสงธรรมชาติ เพื่อให้หญ้าในสนามเติบโตได้ ขณะเดียวกันก็ลดการเกิดเงาดำสำหรับผู้เล่นและแฟนบอล การทำหลังคาเช่นนี้ จึงเป็นข้อดีที่ไม่ต้องใช้สปอตไลต์หรือพลังแสงเกินจำเป็น 

และปัญหาการเข้าชมของคนที่แวะเวียนมาด้วยรถส่วนตัว แก้ด้วยการทำอาคาร Park & Ride ใช้การขนส่งแบบปลอดควันเพื่อเข้าไปยังตัวสนาม แถมยังได้ฟื้นคืนคลองในละแวกนั้นด้วย

เมื่อสนามฟุตบอลสโมสรฟอเรสต์กรีนโรเวอร์สเอฟซี เมืองผู้ดี ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และแบ่งพื้นที่ให้เป็นสาธารณะเพื่อคนรักกีฬา

ดูไปดูมาก็เข้าท่าดี แต่ในระยะแรกก็เป็นอันต้องถูกปัดตกไป เพราะชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ของเขตสเตเดียมใหม่อย่างเนลสเวิร์ธ (Nailsworth) มีข้อกังวลใจหลายเรื่อง อาทิ ความแออัดที่เพิ่มขึ้น ความสูงของสนามถึง 20 เมตร อาจทำลายความงามของหมู่บ้านเล็กๆ โดยรอบซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เสียงดังรบกวนจากการก่อสร้างไปจนถึงการต่อเติม รวมถึงการจราจรติดขัด เพราะคนอาจเลือกจอดรถข้างทางแทนในอาคารที่มีการเก็บค่าบริการ 

0 – 3 สนามแห่งอนาคต

เมื่อเกิดข้อกังขามากมาย ทางทีมดีไซเนอร์จึงปรับเปลี่ยนแบบ เพื่อไขทุกข้อกังวลใจและ Pitching ใหม่อีกครั้ง หลังเกิดความล่าช้าไปหลายปี การก่อสร้างสนามกีฬา Eco Park ได้รับการอนุมัติจากสภาเขตสเตราท์ (Stroud) เมื่อปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 และล่าสุดได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมยั่งยืนจาก AR Future Project Awards 2021 

กลายเป็นสเตเดียมขนาด 5,000 ที่นั่งในระยะแรก เมื่อสโมสรเติบโตขึ้นระยะที่ 2 ก็เพิ่มที่นั่งได้อีกโดยไม่ต้องทำการก่อสร้างใหญ่ๆ และเมื่อใหญ่ขึ้นก็ขยายเรื่องการใช้งานอย่างยั่งยืนได้มากตาม 

เมื่อสนามฟุตบอลสโมสรฟอเรสต์กรีนโรเวอร์สเอฟซี เมืองผู้ดี ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และแบ่งพื้นที่ให้เป็นสาธารณะเพื่อคนรักกีฬา
ภาพการพัฒนาโมเดล Forest Green Rovers Eco Park จาก Hewitt Studio 

นอกจากตัวสเตเดียมแล้ว การออกแบบสวนและสนามหญ้า มีลักษณะแตกต่างกันตามบริเวณ แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพื่อคงสนามให้อยู่ได้ในทุกสภาพอากาศ และลดการสูญเสียพื้นที่สีเขียวโดยไม่จำเป็น รวมถึงปลูกต้นไม้เพิ่มเข้าไปอีก 500 ต้น และพวกเขาพยายามลดผลกระทบของสนามกีฬาจากภูมิทัศน์โดยรอบ เพื่อไม่ให้ทำลายประวัติศาสตร์ในละแวกประยุกต์การใช้งานในหลายรูปแบบ เพื่อให้ชุมชนรอบข้างได้เข้ามาใช้ทำกิจกรรมสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่สาธารณะอีกหนึ่งแห่งของเมือง

ด้วยเหตุนี้ สเตเดียมจึงไม่ได้เปิดหรือมีประโยชน์แค่เฉพาะฤดูกาลกีฬา แต่ยังตั้งใจชวนให้คนมาใช้งานได้ทุกวัน และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับประเทศ โดยแบ่งส่วนหนึ่งทำเป็นสถานที่อำนวยความสะดวกสำหรับวิชาชีพต่างๆ อย่างสาธารณะ และจะเป็นฮับทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา อีกครึ่งหนึ่งจะกลายเป็นออฟฟิศ สร้างงานให้คนมากกว่า 4,000 คน 

เมื่อสนามฟุตบอลสโมสรฟอเรสต์กรีนโรเวอร์สเอฟซี เมืองผู้ดี ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และแบ่งพื้นที่ให้เป็นสาธารณะเพื่อคนรักกีฬา

เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า ในอีก 3 – 4 ปีข้างหน้า หากสนามสีเขียวของ Forest Green Rovers F.C. สร้างเสร็จ จะตอบโจทย์เรื่องสนามฟุตบอลกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับยึดโยงชุมชนโดยรอบได้อย่างคาดหวังมากน้อยเพียงใด
ขึ้นไปอยู่บนตารางให้ได้นะ

เอาไว้นัดหน้ามาลุ้นกันใหม่! 

ภาพ : Forest Green Rovers และ Zaha Hadid Architects

ข้อมูลอ้างอิง

www.dezeen.com

www.fgr.co.uk

www.zaha-hadid.com

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง