The Cabin in the Woods ไม่ใช่แค่ชื่อหนังสยองขวัญที่ออกฉายในปี 2011 ทว่ามันคือคำจำกัดความของคาเฟ่ ซึ่งเปรียบเสมือนกระท่อมหลังเล็กในป่าใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ ชื่อว่า ‘Forest Bake’

หนึ่งในร้านที่มีความเป็นออริจินัลโฮมเมดของตัวเอง อีกทั้งยังอัดแน่นด้วยประวัติศาสตร์ของร้านกว่า 6 ปี บวกเข้ากับประวัติศาสตร์ของพื้นที่สีเขียว อันเป็นทำเลที่ตั้งอีกกว่า 200 ปี

Forest Bake คาเฟ่ขนมอบในพื้นที่บ้านอายุมากกว่า 200 ปีที่เป็นออฟฟิศบริษัทป่าไม้ จ.เชียงใหม่

ขณะที่กำลังลิ้มรสชาติขนมปัง เค้ก หรือทาร์ต ก็ได้รับทราบถึงเรื่องราวของคาเฟ่ที่นำพื้นที่สีเขียวมาดำเนินเดินขนานไปด้วยกันอย่างไม่ฉาบฉวย เพราะ ลิน-นลิน เชิดจารีวัฒนานันท์ เจ้าของคาเฟ่ผู้มีชื่อซิกเนเจอร์ของตัวเองว่า Forest Wanderer ได้เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสถานที่แห่งนี้โดยสมบูรณ์ พร้อมบอกเล่าถึงร้านด้วยประโยคสรุปใจความสั้น ๆ ว่า 

“ถ้าเรียกสถานที่นี้ว่าคาเฟ่ เรารู้สึกมันไม่ใช่ตัวเอง มันเป็นแค่ช่วงชีวิตหนึ่งของเราที่ได้รู้จักคน เพื่อจะทำในสิ่งที่เรารัก”

ก่อนทำความรู้จักกับร้าน Forest Bake ผ่านคำบอกเล่าของลิน คงต้องพาย้อนกลับไปเป็นระยะเวลา 200 ปีโดยประมาณ ผ่านคำบอกเล่าของ คุณแม่นิ่ว-ประณีต เชิดจารีวัฒนานันท์ คุณแม่ของลิน ผู้จะมาเล่าประวัติศาสตร์หลังใหญ่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระท่อมหลังน้อยแห่งนี้

Forest Bake คาเฟ่ขนมอบในพื้นที่บ้านอายุมากกว่า 200 ปีที่เป็นออฟฟิศบริษัทป่าไม้ จ.เชียงใหม่

The Bain & The Forest

อาจต้องย้อนกลับไปไกลถึงช่วงศตวรรษที่ 18 คุณแม่เล่าให้ฟังอย่างรวบรัดว่า ในตอนนั้น William Bain (คุณทวดของลิน) นั่งเรือข้ามฟากโลกมาจากประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น

“คนอังกฤษถ้ามีฐานะหน่อย เขาต้องไปอินเดีย ไปทำงานร่วมกับกองทัพ คุณปู่ไปอยู่อินเดียตั้งแต่อายุ 17 จนถึงอายุ 21 เขาก็มาเข้าร่วมกับบริษัทค้าไม้ จังหวัดลำปาง จากนั้นย้ายมาประจำอยู่ที่สาขาในจังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็มาแต่งงานกับคนเหนือ” สาขาเชียงใหม่ที่ว่าก็คือบ้านหลังปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับร้าน และเป็นบ้านของครอบครัวลินในเวลาต่อมา

Forest Bake คาเฟ่ขนมอบในพื้นที่บ้านอายุมากกว่า 200 ปีที่เป็นออฟฟิศบริษัทป่าไม้ จ.เชียงใหม่
Forest Bake คาเฟ่ขนมอบในพื้นที่บ้านอายุมากกว่า 200 ปีที่เป็นออฟฟิศบริษัทป่าไม้ จ.เชียงใหม่

บ้านสีขาวดำหลังนี้แต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นออฟฟิศของบริษัทป่าไม้ส่งออกจากประเทศอังกฤษ The Borneo Company Limited ในจังหวัดเชียงใหม่ ลินอธิบายถึงที่มาที่ไปของบ้านหลังนี้ว่า ออกแบบและสร้างโดย หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ (Louis Thomas Gunnis Leonowens) ลูกชายคนเดียวของ แอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) ที่เดินทางเข้ามายังสยามเพื่อสอนภาษาอังกฤษให้กับพระราชโอรส พระราชธิดา เจ้าจอม หม่อมห้าม ตามพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ ค.ศ. 1862

William Bain คุณทวดของลินได้รับตำแหน่งเป็นผู้จัดการใหญ่และประจำการอยู่ที่นี่ ทว่าในเวลาต่อมาบริษัทบอร์เนียวถูกซื้อโดยบริษัท Inchcape (บริษัทจัดจำหน่ายยานยนต์ข้ามชาติของอังกฤษ) หลังบริษัทบอร์เนียวยุติ บ้านพักผู้จัดการหลังนี้จึงตกทอดมาเป็นมรดกของตระกูล Bain สาเหตุหลัก ๆ ที่บ้านหลังใหญ่นี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของร้าน Forest Bake เป็นเพราะว่า

“ร้านกับบ้านอยู่ในพื้นที่เดียวกัน” ลินตอบ ก่อนคุณแม่เสริมว่า “เมื่อก่อนตรงนี้ไม่มีอะไรเลย เป็นลานกว้าง มีต้นไม้ใหญ่เยอะ ต้นไม้อายุ 100 กว่าปีหมดเลยค่ะ เพราะเขาเอาไว้ผูกช้าง ของบริษัทบอร์เนียวเองก็มีช้างอยู่ 30 กว่าเชือก ไว้ลากซุง เขาเลยเรียกท่าช้างไงคะ เพราะเคยเป็นที่อาบน้ำช้าง”

หลังจากหมดบทบาทออฟฟิศของบริษัทป่าไม้ บ้านเก่าอายุกว่า 200 ปีหลังนี้เคยถูกปล่อยให้ฝรั่งเช่า คุณแม่เล่าว่าเคยมีกลุ่มนักดนตรีมาเช่า สวมคอร์เซ็ตเต้นรำกันบนโต๊ะอย่างสนุกสนาน และบ้านหลังนี้ก็เคยเป็นที่ตั้งของสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ ตลอดจนโรงเรียนสอนบัลเลต์

Forest Bake คาเฟ่ขนมอบในพื้นที่บ้านอายุมากกว่า 200 ปีที่เป็นออฟฟิศบริษัทป่าไม้ จ.เชียงใหม่

คุณทวด William Bain ส่งอิทธิพลสำคัญถึงลูกหลาน คุณแม่นิ่วเล่าถึงความรักธรรมชาติของคุณปู่ของเธอ “คุณปู่รักป่าไม้มาก ทุกครั้งที่เขาตัดต้นไม้ 1 ต้น ต้องปลูกคืน 5 ต้น พอเกษียณ เขาก็ยังขอทำงาน จนวันสุดท้ายแกเข้าป่าไปจ่ายเงินเดือนให้ลูกหาบ คุณพ่อเล่าให้ฟังว่า พอคุณปู่ออกจากป่า นั่งรถผ่านบ้านไปโรงพยาบาลแมคคอร์มิค แกก็ไปเสียที่นั่นเลย”

ชื่อ Forest Bake จึงเชื่อมโยงกับสถานที่เก่าแก่และสิ่งที่คุณทวดเคยทำมา

ในวันที่ Forest Bake ถูกปลูกขึ้น

แต่เดิมคาเฟ่แห่งนี้เป็นเพียงบล็อกในอินเทอร์เน็ตของลิน เธอเขียนถึงสูตรเบเกอรี่ของคุณแม่และคุณป้า แม้ว่าจริง ๆ แล้วเธอเรียนแฟชั่น และไม่ใช่สายขนมหวานเลยก็ตาม แต่ก็หยิบจับสิ่งละอันพันละน้อยมาเสริมเติมแต่งเบเกอรี่เหล่านั้น แล้วเรียกมันว่า ‘การสไตลิ่ง’ โดยลินถ่ายกระบวนการสไตลิ่งลงในบล็อก ก่อนที่ในเวลาต่อมา บล็อกของเธอจะค่อย ๆ ก่อร่างขึ้นมาเป็นร้านเล็ก ๆ แห่งนี้

ลินได้รับวิถีชีวิตฉบับเมืองพอร์ตแลนด์กลับมาค่อนข้างสูง จากการหาแรงบันดาลใจหลังเรียนจบ ยังมีเมืองเกียวโตกับเมืองนารา ประเทศญี่ปุ่น ล้อกันไปกับความเป็นล้านนาของเชียงใหม่ตามความตั้งใจของเธอ ควบกับการนำดอกไม้มาตกแต่งอาหาร ที่ขณะนั้นยังไม่เป็นที่นิยมในไทยสักเท่าไหร่

Forest Bake คาเฟ่ขนมอบในพื้นที่บ้านอายุมากกว่า 200 ปีที่เป็นออฟฟิศบริษัทป่าไม้ จ.เชียงใหม่
Forest Bake คาเฟ่ขนมอบในพื้นที่บ้านอายุมากกว่า 200 ปีที่เป็นออฟฟิศบริษัทป่าไม้ จ.เชียงใหม่

นั่นคือปีแรกของร้านที่ค่อย ๆ ขยับขยายขึ้นเมื่อมีลูกค้าประจำและกลายเป็นที่รู้จัก ความคิดที่ว่าเราควรมีที่นั่งให้ลูกค้าจึงถูกเติมเข้ามาในร้าน พร้อมการเวิร์กชอปโดยเพื่อนต่างชาติ เช่น สอนเขียนปากกาคอแร้งโดยเพื่อนชาวฮ่องกง สอนวาดภาพดอกไม้โดยเพื่อนชาวสิงคโปร์

ลินเล่าให้ฟังว่า ทีแรกร้านอัดแน่นไปด้วยความเป็นตัวเองที่ค่อนข้างสูงเกินพอดี ทั้งรูป รส กลิ่น เสียง การเปลี่ยนแปลงอะไรหลาย ๆ อย่างในทุก ๆ เดือน การวางแผน จัดร้านอย่างไร จัดจานอย่างไร ทุกอย่างเต็มไปด้วยความจริงจัง ขนาดว่าหากไม่มีดอกไม้สำหรับตกแต่งขนม ก็เลือกไม่ทำเมนูนั้น ลูกค้าที่เคยมากินเมื่อ 2 วันก่อนอาจสงสัยว่า “อ้าว 2 วันที่แล้วยังมากินอยู่เลย ทำไมวันนี้ไม่มีซะแล้ว” เธอเรียกว่าเป็นการทำตามใจตัวเอง แต่ท้ายที่สุดเธอก็ยอมหรี่ไฟแรงของตัวเองลงและเริ่มเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ตัดความจริงจังออกทีละหน่อย จนเจอความพอดีในฉบับของเธอ

The Bain’s Recipes

สูตรขนมของร้านรับผิดชอบโดยคุณแม่และคุณป้าที่ดัดแปลงจากขนมคลาสสิกของยุโรป และเรียนเสริมอีกนิดหน่อยให้รสชาติเข้าปากคนเอเชียมากขึ้น โดยลินดูแลเรื่องผลไม้หรือดอกไม้ตามฤดูกาลต่าง ๆ พร้อมขัดเกลาหน้าตาของเบเกอรี่นั้น ๆ ให้สวยงาม น่าทาน ส่วนคุณพ่อเป็นคนคัดสรรกาแฟ

Forest Bake คาเฟ่ขนมอบในพื้นที่บ้านอายุมากกว่า 200 ปีที่เป็นออฟฟิศบริษัทป่าไม้ จ.เชียงใหม่

คุณแม่เป็นคนทำขนมปังโลฟ โรล และทาร์ต ทั้งเมนูทั่วไปอย่าง Bread Loaf และเมนูพิเศษอย่าง Whole Wheat Bread, Multigrain Bread, Cinnamon Raisin Bread, Cranberry Walnut Bread, Challah Bread, Milk Bread และ Snow Fox Signature Bread ที่เป็นซิกเนเจอร์ของทางร้านในสไตล์โชกุปัง ขณะเดียวกันก็มีเมนูพิเศษตามฤดูกาล อย่างมันม่วง ฟักทอง แครอท และ Chocolate Babka

ฝั่งของทาร์ต ลินบอกว่าเป็นทาร์ตกรอบสไตล์ยุโรป ไม่ใช่ทาร์ตนิ่มแบบญี่ปุ่น ซึ่งเมนูต่างจากขนมปังตรงที่ขึ้นอยู่กับคุณแม่ว่าอยากทำอะไร วันดีคืนดีอาจมี Custard Tart หรืออะไรต่าง ๆ นานา แต่โดยหลักแล้วประกอบด้วย Classic Lemon Tart, Chocolate Tart และ Banoffee Tart

คาเฟ่-เบเกอรี่โฮมเมด ในพื้นที่สีเขียวและประวัติศาสตร์บริษัทค้าไม้ ย่านวัดเกต เชียงใหม่

เมนูเค้กเองก็เช่นกัน ด้วยความที่คุณป้าเป็นคนฟรีสไตล์ ร้านนี้จึงเป็นร้านที่ไม่มีเมนูเค้กให้เลือกล่วงหน้า (ยกเว้นเมนูประจำ) เพราะคุณป้ารังสรรค์เค้กตามหัวใจ อารมณ์ และความรู้สึก

เดินหน้า ถอยหลัง ตั้งหลัก

ปีที่ 3 และ 4 เห็นจะเป็นช่วงที่ร้านเริ่มเดินหน้า ด้วยการก้าวเท้าให้ระยะทางไกลขึ้นกว่า 2 ปีแรกพอสมควร ทั้งเริ่มมีพนักงานเข้ามาช่วยดูแลร้านในปีที่ 3 ส่งผลให้ลินกลับไปเดินทางหาแรงบันดาลใจของตัวเองได้อีกครั้ง เริ่มจากในเชียงใหม่ ค่อย ๆ ไปไกลถึงสิงคโปร์ จนถึงญี่ปุ่น

สุดท้ายก็มาถึงจุดที่เรียกว่า ‘ทิ้งร้าน’

“เราคิดว่าการเดินทางจะหาแรงบันดาลใจได้ แต่จริง ๆ ไม่ได้ เพราะเมื่อเราไป จิตวิญญาณก็หายไป เคยมีเพื่อนมาร้าน เขาบอกว่าตอนเราไม่อยู่มันแห้งแล้ง เราก็เลยคิดว่าเราจะทิ้งร้านไม่ได้”

ต่อมาในปีที่ 4 ร้านเลือกเดินทางก้าวที่ค่อนข้างใหญ่ ด้วยการขยายสาขาไปยังกรุงเทพฯ พ่วงมาด้วยความคิดแบบนักธุรกิจที่ค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ความเป็นศิลปินเหมือนตอนแรกเริ่ม

คาเฟ่-เบเกอรี่โฮมเมด ในพื้นที่สีเขียวและประวัติศาสตร์บริษัทค้าไม้ ย่านวัดเกต เชียงใหม่

โดยที่กรุงเทพฯ มี 2 สาขา ได้แก่ สุขุมวิท 22 และเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งในแต่ละที่ก็จะมีธีมแตกต่างกันไป ทว่าจนแล้วจนรอด ลินก็ต่อสู้กับความวุ่นวายในเมืองใหญ่ไม่ได้ ทุกอย่างเริ่มเกินมือของคน 2 – 3 คนในการดำเนินงาน ความรู้สึกและจิตวิญญาณที่เคยอยู่กับร้านค่อย ๆ จางหายไป การต้องบริหารร้าน 2 ที่ในเวลาเดียวกัน กลายเป็นการแยกร่างทำงานโดยสมบูรณ์ การทำงานเริ่มกลายเป็นการวิ่งเต้นไปทั่ว ท้ายที่สุดลินก็เริ่มรู้สึกว่า “นี่ไม่ใช่ชีวิตที่เราต้องการ มันต้องหยุดแล้ว” เธอยอมรับกับเรา

จนเข้าปีที่ 5 อุกกาบาตลูกใหญ่อย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทิ้งลงมาสู่โลก ผนวกกับความรู้สึกที่ต้องหยุดการขยายครั้งนี้แล้ว ลินจึงตัดสินใจปิดสาขาเซ็นทรัลเวิลด์และสาขาสุขุมวิท 22 ตามลำดับ แล้วจึงถอยมาตั้งหลักยังจุดแรกเริ่มที่เชียงใหม่เพื่อรีเฟรชตัวเองอีกครั้ง ผ่านการกลับมาขายในรูปแบบ Take Away ตามสถานการณ์ พร้อมกับกดข้ามปีที่ 5 อย่างฉับพลัน

Celebrate 6th Years Anniversary

ในตอนนี้ร้านคาเฟ่เบเกอรี่โฮมเมดแห่งนี้ กำลังก้าวเข้าสู่การครบรอบปีที่ 6 ขึ้นปีที่ 7

สิ่งที่ลินทำคือการกลับมาให้ความสำคัญกับร้านที่เชียงใหม่และรีโนเวตสถานที่อีกครั้ง

“เรากลับมา เพราะเริ่มรู้แล้วว่า อะไรที่ไม่สำคัญ ต้องตัดออกให้หมด แล้วเราจะบาลานซ์มันยังไง เพื่อให้ก้าวต่อไปมีความสุขกว่าที่ผ่านมา โดยไม่เอาใจตัวเองมากเกินไปเหมือนตอนนั้น”

ด้วยประสบการณ์ที่สูงขึ้นตามอายุของร้านและบทเรียนจากกรุงเทพฯ ส่งผลให้ลินเริ่มนิ่งขึ้นเมื่อกลับมายังจุดเริ่มต้นของตัวเอง ร้านเริ่มมีทิศทางชัดเจนขึ้น อยู่ในขนาดที่พอใจ และกลับมามีความสุขอีกครั้ง ซึ่งในเดือนหน้า ทางร้านจะเริ่มเสิร์ฟเมนู Brunch ที่สั่งได้ตลอดทั้งวัน โดยเชื่อมเข้ากับแกงฮินเล (แกงนานาชาติ มีทั้งอินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และไทย) โดยมีคุณพ่อเป็นคนทำ (ภายใต้ชื่อร้าน Hinlay Curry) อย่างการเอาแกงฮินเลไปใส่ในบัน (Bun) ทำเป็นแซนด์วิชต่าง ๆ

ในอนาคตอาจจะมีการเปิด Forest Stay บ้านเช่าสไตล์โคโลเนียล (ศิลปะแบบตะวันตกที่เข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 – 6) ให้เช่าเป็นรายเดือน โดยเธอพยายามเล่าเรื่องกระท่อมหลังน้อยนี้ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งในรูปแบบ ‘หนังสือ’ ซึ่งเป็นใจความสำคัญของ Forest Bake ในปีที่ 6

คาเฟ่-เบเกอรี่โฮมเมด ในพื้นที่สีเขียวและประวัติศาสตร์บริษัทค้าไม้ ย่านวัดเกต เชียงใหม่

ลินตั้งใจจะออกหนังสือ Forest Bake Recipes ซึ่งกำลังเขียนอยู่ในตอนนี้ด้วยแนวคิดที่ว่า “เราไปหาทุกคนที่บ้านได้ด้วยหนังสือ” เพราะลินตัดสินใจไม่ขยายร้านไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ หนังสือเล่มนี้จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของร้าน สำหรับการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ นอกเมืองเชียงใหม่

โดยตัวหนังสือ ลินตั้งใจให้ออกมาในรูปแบบหนังสือ Cookbook มีภาพเล่าเรื่องร้อยเรียงกันอย่างสวยงาม ควบคู่ไปกับ Introduction เรื่องราวน่าสนุกของร้าน

เป็นการเล่าถึงจุดเริ่มต้นของสถานที่แห่งนี้ พื้นที่ประวัติศาสตร์ ณ ตรงนี้ ที่มาที่ไปของร้าน แล้วค่อย ๆ ลงลึกถึง The Bain’s Recipes เมนูพิเศษ 12 เมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน ทั้งเค้ก ขนมปัง และสโคน ภายในหนังสือจะบอกวิธีทำทุกเมนู รวมถึงเครื่องดื่มและอาหารคาว นอกจากนี้ ยังเสริมเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ เทคนิคพิเศษต่าง ๆ ด้านหลังจะมีการเขียนถึงสไตลิ่งสำหรับการนำไปประกอบธุรกิจ พร้อมเพลย์ลิสต์ สำหรับเปิดฟังเวลาทำเบเกอรี่ เพื่อความรื่นรมย์ระหว่างเข้าครัว

หลายครั้งหลายคราวที่มีนักศึกษาหรือคนทั่วไปมาถามถึงพื้นที่ตรงนี้ ลินจึงหวังว่าผู้อ่านหนังสือในอนาคตของเธอ จะไม่ได้จำเพาะเจาะกลุ่มอยู่แค่เหล่าคนทำเบเกอรี่หรือผู้ที่อยากเปิดร้านกาแฟ แต่ยังกว้างขวางไปถึงเหล่าคนที่สนใจแง่มุมประวัติศาสตร์ของพื้นที่สีเขียวตรงนี้ด้วย

“เอาความเป็นเรา สถานที่ และร้าน เข้าไปอยู่ในหนังสือ” คือความตั้งใจของลินในการทำหนังสือเล่มนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองแด่ปีที่ 6 ของ Forest Bake ฮูเร่! ยินดีกับกระท่อมเล็ก ๆ หลังนี้ด้วย

คาเฟ่-เบเกอรี่โฮมเมด ในพื้นที่สีเขียวและประวัติศาสตร์บริษัทค้าไม้ ย่านวัดเกต เชียงใหม่

ในวันที่ความสุขคือการกลับมายังจุดเริ่มต้น

ผู้ใหญ่มักบอกเราว่า จงเรียนรู้จากประสบการณ์ สำหรับลินแล้ว สิ่งนั้นจริงจนปฏิเสธไม่ได้ การไปกรุงเทพฯ ถือเป็นก้าวหนึ่งที่ทำให้เธอถอยมาตั้งหลัก แล้วเดินต่ออีกก้าวหนึ่งที่ไม่กว้างและยาวเท่าคราวที่แล้ว แม้เป็นก้าวที่ไม่สวยงาม แต่การถอยกลับมาก็ทำให้เธอเห็นเส้นทางต่อไปชัดเจนขึ้น

ในวันที่ทุกอย่างกลับมายังจุดเริ่มต้น “เราไม่ได้คิดว่าเราพิเศษ แต่ทุกอย่างที่ทำมาจากความเป็นเรา” นี่คือประโยคจำกัดความของลินที่มีต่อความพิเศษของร้านของเธอในวันนี้

ความพิเศษเหล่านั้น แท้จริงแล้วคือประสบการณ์ที่ลูกค้าผู้มาเยือนจะได้ซึมซับจากตัวร้าน นั่นต่างหากคือความภาคภูมิใจที่เธอสื่อสารถึงสิ่งที่ตัวเองรักออกมา Forest Bake ไม่ใช่แค่คาเฟ่เบเกอรี่โฮมเมดที่เสิร์ฟคู่บรรยากาศรื่นรมย์ แต่สถานที่แห่งนี้เสิร์ฟ ‘แรงบันดาลใจ’ ให้กับผู้คนเป็นอาหารจานหลัก

“เรามีความสุขที่สุดที่มีการตอบรับที่ดีพอสมควร ไม่ได้พูดถึงขายของนะคะ พูดถึงการที่มีคนเข้ามาสอบถามเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับขนม มันเกี่ยวกับรูปลักษณ์ การวางแผน หรือไอเดียต่าง ๆ มันทำให้เรามีความสุขตรงที่เราคิดอยากจะเป็นแรงบันดาลใจให้คน ตอนนี้ก็มาถึงจุดนั้นแล้ว”

ลินทิ้งท้ายโดยสรุปกับเราว่า ความยิ่งใหญ่ของขนาดร้าน จำนวนสาขา หรือชื่อเสียงของอาณาจักรที่ปกครอง อาจไม่ใช่บรรทัดฐานความสำเร็จเสมอไป เพราะสุดท้ายแล้ว ความพอใจในสิ่งที่ตัวเองรักที่จะทำ พร้อมกับส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้คนต่างหาก คือทิศทางที่ชัดเจนที่สุดของ Forest Bake

คาเฟ่-เบเกอรี่โฮมเมด ในพื้นที่สีเขียวและประวัติศาสตร์บริษัทค้าไม้ ย่านวัดเกต เชียงใหม่

Forest Bake
ที่ตั้ง : 8/1 ถนนหน้าวัดเกต ซอย 1 ตำบลช้างม่อย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : เปิดบริการทุกวัน (ยกเว้นวันพุธ) เวลา 09.00 – 17.00 น.

โทรศัพท์ : 09 1928 8436

Facebook : Forest Bake และ Nalinna Li

Instagram : forestbake และ nalinnali

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย