ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวไทยเรามีการติดต่อกับคนต่างชาติต่างภาษาอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นดินแดนใกล้เคียงหรือดินแดนอันห่างไกล โดยเราติดต่อกันมาเป็นพันๆ ปีแล้วนะครับ โดยคนโบราณได้ทิ้งหลักฐานไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษาในรูปแบบของสินค้านำเข้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ หรือเอกสารที่พูดถึงลักษณะหน้าตา เครื่องแต่งกายของคนเหล่านั้นเอาไว้ แต่ยังมีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ทั้งน่าสนใจและชัดเจนมากๆ เลย นั่นก็คืองานศิลปะในวัดยังไงล่ะครับ
พูดว่า ‘ในวัด’ อาจจะกว้างสักหน่อย ลองมาจำกัดพื้นที่กันดีกว่าครับ ว่าเราจะพบเห็นรูปชาวต่างชาติเหล่านี้ได้ที่ไหนกันบ้าง
อันดับหนึ่งเลยก็คือในภาพเล่าเรื่องครับ โดยมักจะอยู่ในรูปของ ‘ตัวกาก’ ตัวประกอบฉากที่แม้จะเป็นตัวรองๆ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับเนื้อเรื่องหลัก แต่ก็เป็นองค์ประกอบที่ช่วยเติมเต็มให้ฉากและพื้นที่นั้นมีความสมบูรณ์ ซึ่งชาวต่างชาติเหล่านี้มักจะแทรกอยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้น บ้างเป็นชาวบ้าน บ้างเป็นนักดนตรี บ้างเป็นทหาร แล้วแต่ฉากนั้นๆ ว่าเป็นฉากอะไร แบบไหนครับ

แต่ที่ดูเป็นเหมือนตลกร้ายนิดๆ ก็คือ เราพบเห็นภาพพวกเขาเหล่านี้ได้ในฉากมารผจญในฐานะกองทัพพญามารครับ แล้วทำไมช่างโบราณที่เอาพวกเขาไปอยู่ตรงนั้นกันล่ะ คำตอบง่ายนิดเดียวครับ เพราะสำหรับคนสมัยก่อน ชาวต่างชาติเหล่านี้ถือเป็น ‘มารศาสนา’ ครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรืออาหรับต่างก็นับถือศาสนาที่ต่างจากคนสมัยก่อนที่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้น เขาเหล่านี้จึงเป็นเหมือน ‘มารศาสนา’ ที่พยายามชักจูงชาวพุทธให้ออกห่างแล้วเปลี่ยนศาสนาครับ (แม้จะไม่ค่อยเกิดขึ้นก็ตาม) ดังนั้น เราจึงพบเห็นพวกเขาได้ในฉากนี้เช่นกัน โดยมักจะอยู่แถวล่างๆ ซะด้วย อย่างเช่น วัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร ครับผม

และไม่เพียงแค่เป็นมารในกองทัพมารเท่านั้น ยังมีภาพที่บันทึกรูปชาวตะวันตกแต่งตัวเลียนแบบพระสงฆ์ด้วยนะครับ เพราะในสมัยก่อน บาทหลวงมีความพยายามในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาโดยแต่งตัวเลียนแบบพระสงฆ์ครับ ปรากฏหลักฐานบนจิตรกรรมฝาผนัง วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรีเลยครับผม

นอกจากนี้เรายังพบเห็นพวกเขาบนบานประตูและหน้าต่างได้เช่นกัน โดยเมื่อพวกเขาอยู่ในตำแหน่งนี้ หน้าที่ของพวกเขาก็คือเป็น ‘ทวารบาล’ ไม่แตกต่างอะไรจากรูปเทวดา ยักษ์ หรือเซี่ยวกางที่เขียนกันบนบานประตูหรือบานหน้าต่างเลยครับ แต่กรณีแบบนี้จะพบได้ยากสักหน่อย มีแค่ไม่กี่วัดเท่านั้นที่ทำ แต่กลุ่มนี้จะเป็นส่วนที่มีชาวต่างชาติสัญชาติแปลกๆ มากที่สุดแล้วครับ

และเชื่อไหมครับ หลักฐานรูปชาวต่างชาติที่เก่าที่สุดที่ในประเทศไทยพบมาแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดีโน่นเลยครับ เป็นงานปูนปั้นบนผนังเจดีย์ครับ เป็นภาพคนสวมหมวกสูงที่ดูโหงวเฮ้งหน้าตาและเครื่องแต่งกายแล้ว ไม่น่าใช่คนทวารวดีแน่ๆ ก็เชื่อกันว่าเป็นรูปชาวต่างชาติ หลังจากนั้นก็ต้องเรียกว่าข้ามมาเจออีกทีก็คือสมัยอยุธยาเลยครับ แล้วก็เจอเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แม้แต่ในยุคปัจจุบันก็ยังมีนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวต่างชาติในฐานะภาพกากที่พบเจอได้บ่อยครั้งทีเดียว

ทีนี้ เราลองไปดูกันบ้างดีกว่าว่า ชาวต่างชาติที่เราเจอเป็นชนชาติไหนกันบ้าง
เริ่มจากบ้านใกล้เรือนเคียงกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านก่อนเลยครับ เรามีทั้งเมียนมา ลาว กัมพูชา ญวนหรือเวียดนาม รวมถึงชาวมอญ กะเหรี่ยง ไทลื้อก็มีนะครับ ซึ่งแต่ละชนชาติก็จะแต่งตัวตามแต่ละชาติเลยครับ เช่น สาวมอญนุ่งผ้าแหวก อย่างวัดบางแคใหญ่ สมุทรสงคราม หรือชาวพม่านุ่งโสร่งที่บานหน้าต่าง วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพมหานคร รวมถึงภาพที่มีชื่อเสียงอย่าง กระซิบรักเมืองน่านหรือปู่ม่านย่าม่าน ก็เป็นภาพหญิงชายชาวพม่าครับ บ่ใช่ชาวเหนือนา


มาต่อกันด้วยลูกพี่ใหญ่อย่างประเทศจีนกันบ้าง งานนี้มาทั้งทวารบาลแบบจีนที่เรียกว่า เซี่ยวกาง เป็นรูปนักรบจีนยืนอยู่บนสัตว์ อารมณ์เดียวกับทวารบาลในประเทศจีนเลยครับ นอกจากนั้นก็จะมีคนจีนในจุดต่างๆ ซึ่งสังเกตได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะไว้ผมทรงแมนจู ใส่กางเกงขาก๊วย อย่างวัดวัง จังหวัดพัทลุง หรือประกอบอาชีพที่คนจีนมักจะทำ เช่น เจ๊กลาก หรือคนจีนที่ทำหน้าที่เข็นรถให้คนนั่ง เช่น วัดตลิ่งชัน จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น


คราวนี้มาถึงชาวมุสลิมหรือที่เรานิยมเรียกว่า ‘แขก’ กันบ้าง ชาวมุสลิมที่เข้ามาในประเทศไทยมีหลายจำพวก ทั้งแขกอาหรับที่มาจากตะวันออกกลาง แขกหุ้ยหุยหรือมุสลิมจากประเทศจีน แขกมลายูหรือแขกมาเลเซีย แขกจุเหลี่ย หรือมุสลิมจากอินเดีย ศรีลังกา เป็นต้น ซึ่งชาวมุสลิมที่พบมากที่สุดบนฝาผนังก็คงจะหนีไม่พ้น แขกอาหรับ ที่เจอทั้งในฉากกองทัพอย่างที่วัดสุวรรณาราม กรุงเทพมหานคร ส่วนแขกกลุ่มแปลกๆ โดยมากจะพบบนทวารบาลซะมากกว่า เช่น วัดพระเชตุพนฯ หรือ วัดบางขุนเทียนนอก กรุงเทพมหานคร นะครับ

มาถึงชาวตะวันตก หรือ ‘ฝรั่ง’ กันบ้างครับ ซึ่งชาวตะวันตกที่เรารู้ๆ กันว่าเข้ามาในไทยก็จะมีชาวดัตช์หรือเนเธอร์แลนด์ ชาวฝรั่งเศส ชาวอังกฤษ หรือชาวโปรตุเกส เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้เจออยู่บนฝาผนังมานานและมีมากพอสมควรด้วยครับ แต่นอกจากนี้ก็ยังมีชาวตะวันตกที่อาจจะไม่เคยเข้ามาในไทย แล้วคนสมัยก่อนเขารู้จักได้ยังไงล่ะ เขาก็ได้ยินได้ฟังจากคนอื่นมาอีกทีก็เลยเอามาเขียนซะเลย เช่น หรูชปีตะสบาก หรือ ชาวรัสเซีย ซึ่ง ‘หรูชปีตะสบาก’ ก็คือคำว่า ‘เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก’ นั่นเอง ซึ่งมีวาดอยู่บนทวารบาล วัดพระเชตุพนฯ ด้วยนะเออ

นอกเหนือจากชนชาติหลักๆ แล้ว เชื่อไหมครับว่ายังมีชนชาติที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเจอในศิลปะไทยสมัยก่อนได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปหญิงชาวเกาหลีจากวัดบางขุนเทียนนอกที่ใส่ฮันบกอย่างชัดเจน หรือ ชาวญี่ปุ่น พบที่วัดเดียวกับชาวเกาหลีครับ ยังไม่พีกพอใช่ไหมครับ งั้นขอนำเสนอชาวแอฟริกา ผิวเข้ม เจาะหู ถือไม้ยาวก็ยังมีเลยนะครับ ซึ่งชนชาติเหล่านี้บางชาติก็ไม่เคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเลย ดังนั้น วิธีการเดียวที่คนสมัยนั้นจะรู้จักคนเหล่านี้ก็เป็นเช่นเดียวกับชาวหรูชปีตะสบากครับ ที่คนสมัยก่อนได้ยินคำบอกเล่ามาแล้วนำมาบันทึกเอาไว้บนฝาผนังด้วยนั่นเองครับ


เห็นไหมครับว่า มีชาวต่างชาติมากมายขนาดไหนที่เคยเข้ามาติดต่อกับประเทศเราในอดีต หรือแม้แต่ชนชาติที่เราไม่รู้จัก แต่แค่ได้ยินเรื่องเล่าก็ถึงกับต้องบันทึกเรื่องราวของคนเหล่านั้นลงบนทั้งบนกระดาษและในงานศิลปะกันเลยทีเดียว ซึ่งเหล่านี้ล้วนบอกเล่าถึงโลกทัศน์ของคนไทยในสมัยก่อนต่อโลก ต่อชาวต่างชาติ ต่อคนต่างวัฒนธรรมกับตัวเอง ว่าเขามีมุมมองอย่างไร หรือรับรู้ถึงคนเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน เลยกลายเป็นความโชคดีของคนในยุคเราที่คนโบราณได้ทิ้งเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ให้คนรุ่นเราได้อ่าน ได้ศึกษากันครับผม ใครไปวัดไหนแล้วเห็นคนเหล่านี้ก็ลองพินิจกันดูครับว่าเขาเหล่านั้นยังเหมือนเดิมกันรึเปล่า
เกร็ดแถมท้าย
- สำหรับคนที่สนใจเรื่องภาพกากนะครับ ผมได้เคยเขียนบทความลงใน The Cloud เอาไว้แล้วครับ สามารถไปอ่านเพิ่มเติมได้เลยครับผม
- หรือถ้าใครสนใจเรื่องเกี่ยวกับภาพชาวต่างชาติต่างภาษาในงานศิลปะไทย มีทั้งหนังสือ บทความ งานวิจัยเยอะเลยครับ ชิ้นหนึ่งที่แนะนำเป็นวิทยานิพนธ์ของคุณภานุพงษ์ ชงเชื้อ ที่ศึกษาเกี่ยวกับภาพสิบสองภาษาบนบานหน้าต่างวัดบางขุนเทียนนอกครับ ซึ่งศึกษาไว้อย่างหลากหลายและลึกซึ้งครับผม
- ส่วนถ้าใครอยากรู้ว่า คนสมัยก่อนบรรยายเรื่องราวของชนชาติเหล่านี้เอาไว้แบบไหนบ้าง สามารถไปอ่านได้ในโคลงสิบสองภาษา วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามนะครับ ในอินเทอร์เน็ตก็มี หรือเป็นหนังสือก็มีเช่นกันครับผ