22 พฤษภาคม 2024
947

The Cloud เชื่อเรื่องการออกไปรู้จักวัตถุดิบถึงต้นทางและได้สัมผัสด้วยตัวเอง ประสบการณ์เหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่กินมากยิ่งขึ้น เราเลยอยากชวนทุกคนลองออกไปเจอวัตถุดิบอาหารถึงแหล่งที่มาจริง ๆ สักครั้ง เพราะเราคิดว่าการรู้จักที่มาของอาหารที่กินจะทำให้เข้าใจเรื่องความปลอดภัยของอาหารไปด้วย และเชื่ออีกว่าประสบการณ์เล็ก ๆ จากการได้กินอาหารที่ดีจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ ถูกต้องตามฤดูกาล ก็มีผลไปถึงความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม อีกทั้งอาจได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมเรื่องการกินแบบคนในพื้นที่จากการการออกเดินทาง 

The Cloud Journey : Foraging with Blackitch 02 – Organic Fishing เป็นทริปที่ 2 จาก 4 ทริปใน The Cloud Journey : Foraging with Blackitch ที่ The Cloud ทำร่วมกับ Blackitch Artisan Kitchen หนึ่งในร้านอาหารที่บุกเบิกการเดินทางตามหาวัตถุดิบท้องถิ่นในไทยมาทำเป็นอาหารด้วยความคิดสร้างสรรค์และทำมาต่อเนื่องตลอด 10 ปี 

ในทริปนี้นอกจากเรื่องวัตถุดิบและการทำอาหารแล้ว เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ ยังเล่าให้ฟังเรื่องการทำธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านอาหารให้เราได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุดที่นี่ด้วย

ด้วยความเป็นทริปที่ 2 ใน ซีรีส์นี้ เราเลยมีสมาชิกส่วนหนึ่งที่สนิทสนมกันมาจากบนดอยในทริปแรก The Cloud Journey : Foraging with Blackitch 01 – Wild Plum ก็ตามมาพบปะกันที่ชายฝั่งอันดามันต่อในทริปนี้ เป็นความสนุกของการจัดทริปแบบซีรีส์ที่พวกเราชาว The Cloud ชักจะติดใจ 

ปีนี้เรายังมีทริปที่จะสร้างประสบการณ์ด้วยการเดินทางไปในแหล่งกำเนิดจริง อีก 2 ทริป คือ The Cloud Journey : Foraging with Blackitch 03 – Isan Mushroom ทริปเดินป่าอีสาน เก็บเห็ดฤดูฝน จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 – 22 กรกฎาคมนี้ ที่จังหวัดขอนแก่น และ The Cloud Journey : Foraging with Blackitch 04 – Rice Harvesting ทริปชิมข้าวใหม่ในฤดูเก็บเกี่ยวจากนา จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้นะ รอติดตามกันได้ 

ก่อนจะชวนไปอ่านบทบันทึกจากทริปนี้ ขอเท้าความนิดหนึ่งว่าพวกเราโฆษณาทริปนี้ว่าจะพาทุกคนไปพักผ่อนที่ทะเลและเรียนรู้เรื่องที่มาของปลาที่ดี รู้จักอาหาร และกินอาหารที่ทั้งอร่อยและปลอดภัย ซึ่งเราว่าทริปนี้ทำถึง ทำถูกทุกข้อ ยกเว้นข้อที่บอกว่า ไปพักผ่อนที่ทะเล 

เราเปิดทริปด้วยการกิน และฟังเรื่องร้าน Catch and Co. จากเชฟแบล็ก

เราเริ่มต้นทริปที่ร้าน Catch and Co. ด้วยเหตุผลหลายข้อรวมกัน หนึ่ง ทุกคนจะได้รับประทานอาหารฝีมือเชฟแบล็กและทีม สอง ร้านตั้งอยู่ที่ท่าเรือทับละมุ หนึ่งในสถานที่สำคัญของอุตสาหกรรมประมงไทย และสาม ร้านนี้ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร แต่เป็นเหมือนเครื่องมือสื่อสารความเป็นไปได้ของการมีความมั่นคงทางอาหารให้เห็นแบบครบลูป ด้วยการทำธุรกิจที่เพิ่มมูลค่าและยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทริปนี้อยากสื่อสาร

อาหารมาเสิร์ฟแบบให้แบ่งกันกินเหมือนทริปก่อน แต่ความเกร็งความเขินของสมาชิกลดถอยไปมาก เนื่องจากเป็นทริปที่ 2 ของหลายคน สมาชิกในทริปบางคนมีความรู้เรื่องปลา แต่ส่วนใหญ่รวมทั้งเราด้วยนั้นรู้จักไม่เกินปลาเก๋าและปลากะพง อาหารมื้อพิเศษมื้อนี้เลยเต็มไปด้วยปลาชื่อแปลก เช่น ปลาขี้ตัง ปลาหัวเสี้ยม ปลาปากหมู ปลาสร้อยนกเขา ปลาตะมะ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เชฟก็บอกให้สบายใจว่า “มาทริปนี้ไม่ต้องรู้จักชื่อปลาก็ได้ แต่อยากให้เข้าใจทางเลือกในการจัดการปลา ตระหนักรู้วิธีตั้งคำถามกับปลาที่เราได้มา มันถูกจัดการมายังไง เก็บยังไง”

เมนูที่พวกเราได้กินกันเป็นเมนูที่เสิร์ฟอยู่แล้วในร้าน เช่น ซาชิมิ ฟิชแอนด์ชิปส์ สลัดซูกินี่ ไส้กรอกปลา แต่ละจานออกแบบมาให้คนกินได้สัมผัสวัตถุดิบที่แตกต่าง และรสชาติจากการปรุงที่ไม่เหมือนกัน 

และเรื่องราวที่ได้ฟังก็ชวนให้ตั้งคำถาม เช่น ทำไมเราถึงรู้สึกว่าปลาญี่ปุ่นดีกว่าปลาไทย การทำปลาให้สดต้องทำยังไงบ้าง วิธีการเก็บปลาที่ดีจะต้องทำยังไง ซึ่งเราจะได้ไปหาคำตอบกันในอีก 2 วันข้างหน้า

ตื่นแต่เช้าออกเรือตามไปดูการกู้ลอบ

เรานัดหมายทุกคนตอน 7 โมงเช้า แจกยาแก้เมาและออกจากโรงแรมไปขึ้นเรือที่ท่าหน้าร้าน Catch and Co. 

สมาชิกทริปของเราที่มาจากทั่วประเทศ หลากหลายภูมิหลัง แต่มีสิ่งที่ยึดโยงจิตใจคือกาแฟในยามเช้า ไต๋อ๊อฟ-เกรียงไกร วงษ์จันทร์ หุ้นส่วนของร้าน Catch and Co. เลยเปิดบาร์กาแฟรับหน้าที่ ‘บาริสไต๋’ ก่อนจะพาพวกเราไปลงเรือ

ไต๋อ๊อฟแนะนำตัวเองว่าชอบการออกทะเลหาปลามาก มองสิ่งนี้เป็นการพักผ่อนและงานอดิเรก นอกจากเป็นหุ้นส่วนของร้านแล้ว ไต๋ยังรับจ้างพาคนไปดูการหาปลาด้วย เขาเล่าว่า “ทริปหนึ่งก็ 2 – 3 คืน แล้วแต่จะเลือก ผมชอบพาคนไปทริปแบบนี้เพราะทุกคนจะได้ถอดหัวโขนที่มีออก บางคนผมรู้ว่าเขาเป็นคนใหญ่คนโตในบริษัท แต่พอมาขึ้นเรือด้วยกันแล้วก็ไม่มีตำแหน่งอะไรที่ต้องแบกอีกต่อไป”

พวกเราก็เช่นกันที่มาถอดรองเท้า ลงเรือลำเดียวกัน เรือที่เรานั่งเป็นเรือสปีดโบตขนาด 40 ที่นั่ง ยอมรับว่าผิดหวังนิดหน่อยที่ไม่ได้ไปกับเรือประมง แต่ผู้มีประสบการณ์หลายคนก็มาตบไหล่บอกว่า “เชื่อเหอะ แบบนี้ดีแล้ว” ไต๋บอกว่าระยะทางถึงที่หมายก็ 40 ไมล์ทะเล ซึ่งตีเป็นหน่วยวัดที่คุ้นเคยได้เป็น 1.30 ชั่วโมงด้วยสปีดโบต แต่ถ้าเป็นเรือประมงอย่างที่อยากนั่ง ก็ต้องออกเรือตั้งแต่เมื่อคืน เพราะต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 ชั่วโมง

ระหว่างทาง ทั้งเชฟแบล็กและไต๋อ๊อฟก็ไม่ปล่อยให้ใครหลับหรือนั่งเหงา คว้าไมค์บรรยายเรื่องท้องทะเลไทย การทำประมงอย่างยั่งยืน และการจัดการปลาให้ได้คุณภาพดี 

มีศัพท์ใหม่ 2 คำที่เราได้เรียนรู้จากบทสนทนานี้

ลอบ – อุปกรณ์ดักปลา เป็นกล่องตาข่ายที่ใส่เหยื่อไว้ข้างใน ออกแบบให้ปลาขนาด 15 เซนติเมตรที่ต้องการเข้าไปติดกับแล้วออกไม่ได้ ปลาที่ขนาดใหญ่กว่านั้นจะเข้าไม่ได้ตั้งแต่แรก และปลาที่เล็กเกินไปก็จะเข้านอกออกในได้แบบสบาย ๆ ลอบดักปลามีหลายขนาด แบบที่ใช้กับประมงลายฝั่งก็จะเล็กหน่อย แต่ลอบที่เราไปดูเป็นขนาดค่อนข้างใหญ่ ใช้ดักปลาน้ำลึก

หมาย – ใช้เรียกจุดวางลอบที่เรือจะเอาไปวางและบันทึก GPS ไว้เพื่อจะได้กลับมาเอาในอีก 1 สัปดาห์ การเลือกหมายก็จะขึ้นกับความเชี่ยวชาญของไต๋ ทั้งทางน้ำ ทางลม ไม่มีใครเป็นเจ้าของหมาย ตราบใดที่ไม่ได้อยู่ในอุทยานฯ แต่ก็เป็นมารยาทของวงการที่จะไม่ทับหมายหรือขโมยลอบกัน 

ออกเรือครั้งหนึ่งไต๋อ๊อฟเล่าว่าจะวางลอบกันประมาณ 40 – 50 หมาย แต่ละหมายห่างกัน 15 – 20 เมตร

งมลอบในมหาสมุทร

เมื่อไปถึงหมายแรก เรือก็กู้ลอบขึ้นมาสำเร็จแล้ว ไต๋เลยชวนให้ตามเรือลอบไปยังหมายถัดไป ซึ่งทำให้พวกเราได้เห็นกระบวนการกู้ลอบกันตั้งแต่ต้น เริ่มจากไปยังจุดที่ใช้ GPS บันทึกไว้ว่าวางลอบไว้ที่นี่ แล้วส่งตะขอลงไปซึ่งมักจะไม่เจอ และต้องวนเรือเพื่อควานหาลอบในมหาสมุทร 

ไต๋อ๊อฟอธิบายว่าข้างใต้ทะเลก็มีกระแสน้ำที่จะพัดลอบให้ลอยไปมา จุดที่บันทึกไว้จึงอาจไม่ใช่จุดที่ลอบจะอยู่แบบเป๊ะ ๆ เราวนกันอยู่ตรงนั้นหลายสิบนาที ทั้งคลื่น แดด ลม ทำให้หลายคนสัญญาว่าจะสงสัยปลาทะเลที่ราคาถูกและไม่ต่อราคาปลาที่จับอย่างรับผิดชอบมาอีกต่อไป

มีคนถามเชฟแบล็กเพิ่มเติมว่าการทำประมงอย่างยั่งยืนหมายถึงอย่างไร เชฟแบล็กบอกว่า “ผมเปิดร้าน Catch and Co. ไม่ใช่เพราะอยากทำร้านอาหารอีกร้าน แต่อยากเป็นพื้นที่ให้ชาวประมงไทยได้เห็นว่าการทำประมงแบบยั่งยืนมันดีกับทั้งเขา ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม การทำให้ยั่งยืนคือการสร้างมูลค่าให้กับสินค้า ผมชวนให้เรือประมงลำอื่น ๆ มาร่วมจับปลาแบบจับน้อยให้ได้มาก เอาเท่าที่ใช้ ไม่ต้องจับบ่อย ให้โอกาสปลาได้ขยายพันธุ์และเติบโต มีการจัดการที่ดีให้ได้ปลาคุณภาพดี แล้วผมรับซื้อ ผมมีเรือของตัวเอง มีระบบเก็บปลา ส่งปลา และแปรรูปเอง เพื่อลดต้นทุนและควบคุมคุณภาพ ณ วันนี้ ตลาดอาจจะยังเล็ก แต่ก็เป็นตลาดเล็กที่มูลค่าสูง ชาวประมงก็มีรายได้ดีขึ้นด้วย วงจรแบบนี้แหละที่ผมเรียกว่ายั่งยืน”

หลังจากลอยเรือกันอยู่พักใหญ่ ไต๋อ๊อฟก็ตะโกนบอกว่ากำลังจะกู้ลอบแล้ว ชาวทริปก็ยกกล้องหันไปยังเรือลอบกันโดยพร้อมเพรียง การกู้ลอบ จากความลึก 200 เมตร ถ้านึกไม่ออกว่ามันลึกแค่ไหน สมาชิกร่วมทริปผู้คุ้นเคยกับโลกใต้ทะเลผ่านกิจกรรมดำน้ำ ทั้งสกูบาและฟรีไดรฟ์เล่าว่าการดำน้ำปกติจะดำกันที่ระดับ 10 – 20 เมตร และแชมป์ดำน้ำลึกที่สุดยังไปแค่ 100 เมตรเท่านั้น ที่ความลึก 200 เมตรทะเลน่าจะทั้งมืดและเย็นมาก 

ปลาที่ขึ้นมากับลอบบอกเราไม่ได้ด้วยคำพูดว่ามันมืดและเย็นอย่างที่เราเข้าใจกันจริงไหม แต่ความบวมที่ตาและท้องจากความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็ทำให้เราพอจะจินตนาการได้

ดูวิธีปลิดชีพปลาอย่างเคารพ

และเราก็ได้เรียนรู้ศัพท์เพิ่มจากทริปนี้อีก 2 คำ คือ อิเคะจิเมะ (Ikejime) และ ชินเคะจิเมะ (Shinkeijime) 

อิเคะจิเมะ คือการปลิดชีวิตปลาแบบเฉียบพลันโดยการทำลายสมองทันที มีวิธีมากมาย ซึ่งไต๋อ๊อฟเลือกใช้เหล็กแหลมทิ่มไปที่หน้าผากปลาและตัดเส้นเลือดใหญ่บริเวณคอปลาให้เลือดไหลออก 

ส่วนชินเคจิเมะ คือการทำลายระบบประสาทของปลาโดยการสอดลวดเส้นเล็ก ๆ เข้าไปในกระดูกสันหลังของปลา ลวดจะทำลายเส้นประสาทเพื่อหยุดยั้งการส่งสัญญาณที่ยังหลงเหลืออยู่ในตัวปลา สัญญาณนี้จะส่งไปให้เลือดที่คั่งค้างในตัวปลาไหลไปอยู่ตามเนื้อเยื่อ ใครอยากทำความรู้จักวิธีการนี้โดยละเอียด อ่านเพิ่มได้จากที่นี่นะ

การได้เห็นวิธีนี้กับตา ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ตรงกันข้ามกลับทำให้รู้สึกถึงความเคารพ ด้วยการจัดการแบบประณีตประหนึ่งประกอบพิธีกรรมกับปลาทุกตัว ซึ่งก็ใช้เวลาไม่มากเลย

ปลาที่จับได้จากลอบนี้มีเพียง 1 ตัว เป็นปลาเหลืองอินเดีย ตอนแรกก็กลัวว่าเชฟและไต๋จะเสียใจไหม ออกเรือมาตั้งนาน ควานหาอยู่อีกตั้งหลายนาที ได้ปลามาแค่ 1 ตัว แต่ไต๋อ๊อฟก็บอกว่า “เป็นเรื่องธรรมดา”

หันเรือกลับฝั่ง และกินซาชิมิกลางทะเล

หลังจากโบกมือลาเรือลอบที่จะตามกลับเข้าฝั่งในอีก 4 วันข้างหน้า สปีดโบตก็พาพวกเรากลับเข้าฝั่ง ใช้เวลาอีก 1.30 ชั่วโมง

ระหว่างนี้เชฟแบล็กก็ชวนทุกคนมาล้อมวงเพื่อป้ายยาเรื่องคุณค่าของการทำประมงแบบยั่งยืนด้วยการแล่ปลาให้กินกันกลางทะเล

ก่อนหน้านี้เชฟเล่าว่าซาชิมิที่ดีเนื้อปลาจะต้องแน่นและไม่แฉะ ซึ่งควรจะผ่านการบ่มให้เนื้อปลาแห้งลงสักหน่อยก่อน เชฟเลยเอาเนื้อปลากะพงที่บ่มมาแล้ว 1 คืนมาแล่ให้กิน ขณะส่งจานปลากันไปทั่ววงเชฟก็เล่าว่าความ ‘สด’ ของปลาไม่ได้หมายถึงระยะเวลาตั้งแต่ตอนปลายังมีชีวิตมาถึงจานเท่านั้น แต่ยังต้องดูวิธีการเก็บด้วย

เพื่อให้เชื่อกันโดยถ้วนหน้า เชฟหยิบปลากะพงแดงหลังค่อมที่เพิ่งได้มาจากลอบเมื่อชั่วโมงก่อน เนื้อในของปลายังเย็นจากอุณภูมิน้ำทะเล 186 เมตรที่เพิ่งจากมา มาโรยเกลือแล้วแล่ให้กินกัน ถ้าวัดกันจากเวลา ปลาจานนี้ก็คือสดมาก แต่ด้วยการเก็บที่ดี ทำให้เนื้อปลาจานก่อนหน้าก็ไม่ได้ต่างจากจานนี้เท่าไหร่ เนื้อสัมผัสและรสชาติของปลาที่เพิ่งขึ้นจากทะเลมีความยังไม่เซตตัวดีเท่าชิ้นที่บ่มมาแล้วนิดหน่อยด้วย แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่เอากลับมาอวดคนที่บ้านได้ว่าได้กินปลาสด ๆ จากทะเลเลยนะ!

ตกเย็น พวกเรานำปลาที่ไม่ได้มีมากเท่าที่จินตนาการมาปิกนิกกันที่ Memory Beach เชฟชวนชาวทริปมาช่วยกันทำอาหาร ทริปนี้มีเชฟมาด้วยหลายคนก็จะโดนเชฟแบล็กเรียกให้ช่วยมากหน่อย ส่วนเราที่เหลือก็ช่วยกันประกอบชีสบอร์ดที่ประกอบไปด้วยซาชิมิ ชีส แครกเกอร์ ถั่ว และแยมต่าง ๆ เป็นตัวประกอบบทสนทนาตลอดคืนให้อร่อยยิ่งขึ้น

ไปรู้จักชาวมอแกลน

เป็นธรรมเนียมของซีรีส์ Foraging with Blackitch ที่เราจะไม่แค่พาไปรู้จักกับวัตถุดิบ แต่อยากพาทุกคนไปรู้จักกับชุมชนในท้องถิ่นของวัตถุดิบนั้นด้วย

รอบนี้เราไปทำความรู้จักกับชาว ‘มอแกลน’ 1 ใน 3 ชนพื้นเมืองที่อยู่บริเวณอันดามัน หญิง ตัวแทนคนรุ่นใหม่ชาวมอแกลนเล่าว่าชาวมอแกลนคือผู้บุกเบิกชุมชนแถบอันดามันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เรื่องเล่าที่ได้ฟังจากหญิงก็คล้าย ๆ กับที่ได้ยินจากชาวพื้นเมืองทั่วโลก เช่น การโดนยึดที่ดินทำกินด้วยการออกโฉนดแล้วเอาไปขาย เด็ก ๆ โดนเอาความเป็นชนพื้นเมืองมาล้อเลียนให้อับอาย รวมทั้งความเป็นคนตัวเล็ก ๆ ที่เข้มแข็งขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวเอง 

ยายลาภ ผู้อาวุโสในชุมชนที่หญิงชวนมาร่วมพาพวกเราเดินเที่ยวเล่าว่าชาวมอแกลนได้นามสกุลพระราชทานว่า ‘หาญทะเล’ มีความหมายว่าให้กล้าหาญและเข้มแข็ง ซึ่งเป็นความหมายสำคัญในโลกยุคนี้สำหรับชาวมอแกลนที่มีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาเป็นเดิมพัน

พื้นที่ทำกิน คือข้อพิพาทระหว่างผู้มีอำนาจและชาวมอแกลนที่หญิงเล่าว่า ในขณะที่ภูมิปัญญาของพวกเขาได้รับความสนใจจากนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ กฎหมายเกี่ยวกับโฉนดที่ดินกลับกลายมาเป็นตัวเบียดบังและกำลังจะทำให้ภูมิปัญญานี้หายไป

ยายลาภบอกว่า “ราคาที่ไร่ละ 20 ล้าน ยายไม่เอา เงินมันหมดได้ แต่เสาเอกกลางบ้านยังไงก็เป็นของเรา ชีวิตเราไม่สิ้น ที่ดินเราไม่หาย” แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่คิดแบบนั้น พื้นที่ชายหาดที่วันนี้เราเห็นว่ากว้างขวางและสวยมาก ยายลาภบอกว่ามันเคยสวยกว่านี้เพราะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยหอย สาหร่าย กุ้ง ปู และปลาที่หาจับได้ไม่ห่างจากชายฝั่ง เวลาสมาชิกของครอบครัวไปออกเรือ คนที่เหลือก็ก่อไฟตั้งเตารอที่ริมหาดได้ แต่ทุกวันนี้หาดเต็มไปด้วยบาร์เบียร์ ที่พัก ร้านอาหาร รวมไปถึงโรงงานอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ที่ผลักชาวมอแกลนให้ไปอยู่ในมุมเล็ก ๆ จนแทบไม่มีตัวตน

พวกเรามาเรียนรู้เรื่องการทำประมงที่ดี รับผิดชอบ และการได้รู้จักชาวมอแกลนก็ทำให้เราเห็นว่าอาหารที่หาง่ายและราคาถูกในทุกวันนี้อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด หญิงเล่าวัฒนธรรมอาหารของชาวมอแกลนว่า “อาหารทะเลแถวชายฝั่งและป่าชายเลน แม้จะเก็บได้ฟรี ๆ แต่ก็จะรู้กันว่าไม่ใช่จะกินเมื่อไหร่ก็มาเอาได้ ต้องเว้นช่วงให้เขาเติบโต อาหารการกินแต่ละฤดูกาลก็จะแตกต่างกัน”

ปิดทริปที่ริมหาดตอนกำลังลง และลมทะเลหอบฝนแรกมาทักทาย

เราใช้ชีวิตกันครึ่งวันกับพี่น้องชาวมอแกลน แม้เรื่องราวที่ได้ยินจะน่าโกรธ แต่พวกเราก็สนุกกับการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ลองร่อนแร่ ได้มีประสบการณ์การเดินริมหาดตอนน้ำขึ้น กระโดดหนีคลื่นที่ซัดมากกระทบขอนไม้ ลุยน้ำสูงเท่าเอวไปเก็บหอยที่ป่าชายเลน ช่วยกันก่อไฟทำอาหาร ยืนตัวเปียกคุยกัน ก่อนจะชวนกันวิ่งตากฝนไปขึ้นรถก่อนลาจาก

ทริปนี้พวกเราเจอสภาพอากาศที่ท้าทายความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันมาก และเราก็หวังว่าทุกคนจะได้ภูมิคุ้มกันเรื่องอาหารที่ดีติดตัวเพิ่มเติมไปไม่มากก็น้อย อาหารที่ดี ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ ราคาไม่ถูก มีไม่เยอะและหาไม่ง่าย เรารู้ดี แต่เพียงเราไม่ลืมเรื่องที่ได้เรียนรู้และใช้ทรัพยากรที่มีอย่างเห็นคุณค่ามากขึ้นก็ถือว่าโอเคแล้วนะ 

แล้วเมื่อเห็นทะเลใส ๆ ฟ้าสวย ๆ ก็อย่าลืมคิดถึงกันบ้างล่ะ

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2