ไม่ว่าจะเป็นใต้คอนโดฯ หน้าร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งตามท้องถนน โลโก้รูปหมีแพนด้าสีชมพูน่ารัก คงเป็นภาพคุ้นตาของหลายๆ คน โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่หลายร้านจำต้องงดให้บริการทานที่ร้าน เหลือเพียงการซื้ออาหารกลับบ้าน จึงทำให้บริการเดลิเวอรี่ผสานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนอย่างเลี่ยงไม่ได้

เป็นเวลาเกือบ 10 ปีที่ ‘foodpanda’ แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่จากเยอรมนีเปิดให้บริการในไทย จนตอนนี้กลายเป็นบริการเดลิเวอรี่อาหารเจ้าแรกที่ให้บริการครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดของประเทศ

foodpanda แพลตฟอร์มส่งอาหารจากเยอรมนีที่ใช้ Data เพื่อสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าไทย

อุตสาหกรรมธุรกิจเดลิเวอรี่อาหารเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่มีการแข่งขันดุเดือดที่สุด โดยมีทั้งผู้เล่นรายใหญ่ระดับโลก ไปจนถึงสตาร์ทอัพหน้าใหม่เจ้าเล็กๆ การอยู่ให้รอดแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ง่ายแล้ว แต่การอยู่ให้ได้เป็นระยะเวลาเกือบ 1 ทศวรรษนั้น คือสิ่งที่ยากยิ่งกว่า

วันนี้ The Cloud มีนัดหมายพิเศษกับ แชมป์-อุรุรัตน์ ผลชีวิน และ อาย-ณิชาภัทร คงไพศาลนที สอง Senior Product Specialist ประจำ foodpanda ประเทศไทย เพื่อชวนผู้อ่านทุกท่านมาค้นหาหัวใจเบื้องหลังความสำเร็จ ว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มรายหนึ่ง อยู่ในสมรภูมิที่ดุเดือดนี้มากว่า 9 ปี อีกทั้งยังตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ตรงใจ แม้ว่าทุกสิ่งในโลกธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

foodpanda แพลตฟอร์มส่งอาหารจากเยอรมนีที่ใช้ Data เพื่อสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าไทย

กำเนิดแพนด้า

หากย้อนเวลาไปเมื่อราว 10 ปีก่อน ขณะนั้นบริการส่งอาหารในประเทศไทยมีค่อนข้างน้อย ที่เราคุ้นตาก็จะเป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดไม่กี่เจ้าที่มีบริการเดลิเวอรี่ และร้านอาหารในยุคนั้นก็ยังไม่มีแพลตฟอร์มให้สั่งซื้ออาหารผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างครบครัน

ทว่า ณ ขณะนั้นเอง ด้วยเทคโนโลยีที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้น ไลฟ์สไตล์การกินดื่มของคนไทยก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป เริ่มเคยชินกับการพึ่งพิงเทคโนโลยี เพื่อความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากขึ้น 

นี่คือโอกาสที่ foodpanda เห็นว่าในอนาคต ธุรกิจบริการส่งอาหารจะกลายเป็นบริการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองอย่างแน่นอน

foodpanda จึงถือกำเนิดใน พ.ศ. 2555 ด้วยความตั้งใจแก้ปัญหาของลูกค้าที่พบเจอในตอนนั้น เช่น ความไม่สะดวกที่ต้องออกไปซื้อของเอง การเสียเวลานานเพื่อรออาหาร หรือแม้กระทั่งปัญหาสภาพอากาศ ที่จอดรถ และการจราจร ซึ่งล้วนมีผลต่อการเดินทางไปทานอาหารที่ร้าน เพื่ออำนวยความสะดวกและมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทั้งเรื่องความรวดเร็วและสะดวกสบาย เปิดตัวพร้อมโลโก้รูปหมีแพนด้าสีส้มหน้าตาน่ารัก ช่วยสร้างภาพจำให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ก่อนจะรีแบรนด์เปลี่ยนเป็นสีชมพู ให้ความรู้สึกสนุกสนาน สดใส และเข้าถึงง่ายในเวลาต่อมา

ขณะนั้น foodpanda ได้ก้าวเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับร้านอาหาร เพื่อเป็นช่องทางออนไลน์ในการสั่งซื้อให้กับลูกค้า และจัดส่งอาหารให้ถึงหน้าบ้าน มากไปกว่านั้น ยังทำลายความจำเจ สร้างตัวเลือกที่หลากหลายให้โดนใจลูกค้า โดยการมอบประสบการณ์การสั่งอาหารเดลิเวอรี่แบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารไทย อาหารฝรั่ง อาหารญี่ปุ่น ขนมหวาน ชาไข่มุก รวมถึงเพิ่มประเภทอาหารตามความนิยมของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมอาหารและการกินของคนไทยที่หลากหลายเป็นอย่างมาก

นอกจากการบริการแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญมาตลอดนับตั้งแต่วันแรกคือเทคโนโลยี ทำให้เห็นโอกาสว่า ไลฟ์สไตล์แบบดิจิทัลจะไม่จำกัดอยู่แค่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองต่างๆ 

foodpanda จึงลงทุนขยายการเติบโตเรื่อยมา พร้อมกับความเชี่ยวชาญด้วยข้อมูลที่สั่งสมมาตลอด 9 ปี จนให้บริการได้ครบทั้ง 77 จังหวัด และครอบคลุมการให้บริการไปถึงสินค้าของกิน ของใช้อื่นๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าในทุกพื้นที่

foodpanda แพลตฟอร์มส่งอาหารจากเยอรมนีที่ใช้ Data เพื่อสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าไทย

แพนด้ารู้ใจ

สิ่งสำคัญที่สุดที่นำพาให้ foodpanda ประสบความสำเร็จเช่นในทุกวันนี้ได้ คงหนีไม่พ้นข้อมูลหรือ Data
สำหรับธุรกิจเดลิเวอรี่อาหาร เวลาเป็นปัจจัยสำคัญ Data ที่ดีและแม่นยำจะทำให้ธุรกิจบริหารจัดการเวลาได้อย่างลงตัว

“ด้วยบริการแบบ On-demand ทำให้ปัจจัยในการส่งอาหารมีเยอะมาก อาจจะเป็นสภาพอากาศ หรือรถพี่ไรเดอร์ยางแตก มีหลายสถานการณ์ที่เราต้องรู้ เพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน อาหารก็ยังไปถึงมือโดยคุณภาพเหมือนกับไปทานที่ร้าน”

มากไปกว่านั้น ตั้งแต่คราวที่เริ่มต้นธุรกิจจนถึงปัจจุบัน foodpanda ไม่ได้ทำตลาดแค่ในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีธุรกิจใน 12 ตลาดทั่วเอเชียแปซิฟิก คือ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทย มาเลเซีย ปากีสถาน ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ บังคลาเทศ ลาว กัมพูชา เมียนมา และญี่ปุ่น

Data จึงเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เปรียบเสมือนภาษากลางในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้า ทำให้ทีมในแต่ละประเทศเข้าใจลูกค้าตรงกัน จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้อีกด้วย

“foodpanda มีทุกจังหวัด เพราะฉะนั้น Data สำคัญในการเข้าใจคนท้องถิ่น พอเราเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าว่า แต่ละภูมิภาคชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ก็จะทำให้เราสามารถ Personalize การบริการให้เหมาะกับคนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ไม่อย่างนั้นเราจะมองทุกอย่างด้วยมุมมองของกรุงเทพฯ”

foodpanda แพลตฟอร์มส่งอาหารจากเยอรมนีที่ใช้ Data เพื่อสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าไทย

เมื่อสร้างบริการที่รู้ใจลูกค้าได้ การใช้ Data ยังเป็นประโยชน์กับพาร์ทเนอร์อีกกลุ่มก็คือเหล่าไรเดอร์

“ในแต่ละภูมิภาค พี่ไรเดอร์ก็มีคอมมูนิตี้ของตัวเอง อย่างเช่นที่เชียงใหม่ ร้านค้ารู้จักพี่ไรเดอร์ของเราแทบทุกคน คุยสนิทสนมกันเลย เป็นสังคมที่น่ารักมาก”

การสร้างสังคมที่อบอุ่นระหว่างไรเดอร์กับร้านค้าก็เกี่ยวข้องกับการนำ Data มาใช้ โดยจะช่วยให้แอปพลิเคชันรู้เทรนด์ว่าลูกค้าชอบสั่งอะไร บริษัทจะเพิ่มร้านค้าเหล่านั้นเข้าไปบนแพลตฟอร์ม วันถัดไปพอมีลูกค้ามาใช้เยอะขึ้น ไรเดอร์มีงานมากขึ้น และร้านค้าก็ได้รับออเดอร์เพิ่มขึ้น

ในช่วงโควิด-19 มีการเพิ่มฟีเจอร์ Contactless อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสื่อสารกับไรเดอร์ได้ดีขึ้น ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

“ผู้ใช้ในเมืองไทยส่วนใหญ่ใช้จ่ายเป็นเงินสด แต่ในช่วงโควิด-19 เราเริ่มเห็นว่าคนหันมาใช้ Digital Payment มากขึ้น เราเลยตั้งคำถามว่า หรือจริงๆ ลูกค้าไม่อยากเจอกับพี่ไรเดอร์แล้ว เกิดเป็นฟังก์ชัน Contactless เช่น ใช้ Online Payment ไปพร้อมๆ กับสื่อสารให้พี่ไรเดอร์เข้าใจว่า ไม่ต้องเจอกัน วางอาหารไว้ได้เลย”

foodpanda แพลตฟอร์มส่งอาหารจากเยอรมนีที่ใช้ Data เพื่อสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าไทย

คนเลี้ยงแพนด้า

สำหรับคนส่วนใหญ่ เมื่อได้ยินคำว่า Data อาจคิดว่าเรื่องนี้เป็นทักษะที่ยากจะเรียนรู้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดกลับไม่ใช่ทักษะ แต่เป็น Mindset

“หนึ่งคือ โฟกัสว่าลูกค้ามี Pain Point อะไร ไม่ใช่คิดแค่ว่าฉันจะทำให้ธุรกิจโตแบบนี้ เพราะฉะนั้น ก่อนจะไปดู Data ต้องเข้าใจก่อนว่าเป้าหมายของเราคือต้องการให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดี ไม่อย่างนั้นถ้ามี Data เยอะ จะรู้ได้ยังไงว่าต้องดูอันไหนก่อน หรืออันไหนสำคัญกว่า

“สองคือ เป็นคนเปิดกว้าง เพราะบางทีเรามอง Data แล้วมันไม่เป็นไปตามที่คิด เราจึงต้องเปิดกว้างว่า บางอย่างเราทำผิดได้”

สำหรับทั้งแชมป์และอาย การเข้ามาในสายงานด้าน Product ก็เริ่มมาจากความสนใจในพฤติกรรมของผู้บริโภคและประสบการณ์ของลูกค้า ทำให้สามารถเข้าถึงปัญหา และแก้ไขออกมาได้ด้วยมือของทั้งคู่เอง

foodpanda แพลตฟอร์มส่งอาหารจากเยอรมนีที่ใช้ Data เพื่อสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าไทย

ครอบครัวแพนด้า

ธุรกิจจะโตได้ นอกจากข้อมูลแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ทีมผู้อยู่เบื้องหลัง

foodpanda เปิดกว้างต่อความหลากหลายหรือ Diversity

“องค์กรเรามีในหลายประเทศ เนื่องจากแต่ละคนมาจากหลายแบกกราวนด์ จึงมีความคิดหรือมุมมองไม่เหมือนกัน การที่เราเปิดกว้าง ทำให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ราบรื่น เพราะเรายอมรับในความคิดเห็นของคนอื่น” อายว่า

“พอวัฒนธรรมเป็นอย่างนี้ มันเลยไม่มีกรอบ เช่น ถ้าเราอยากคุยกับ MD ก็เข้าไปคุยได้เลย ที่นี่ทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนมีความพิเศษ ทุกคนให้เกียรติความคิดเห็นกันและกัน” แชมป์เสริม

ด้วยวัฒนธรรมแบบนี้ ทำให้ที่ foodpanda สามารถสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

“บางทีเราอาจจะคลุกคลีกับธุรกิจ Food Delivery จนลืมไปว่า บางอย่างสามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นๆ การที่เราเปิดกว้างทางความคิด ทำให้ได้ไอเดียหรือมุมมองของปัญหาใหม่ๆ ถ้าไม่มีตรงนี้ เราก็จะหยุดอยู่ที่เดิม แล้วก็แก้ปัญหาด้วยด้วยวิธีเดิมๆ และการเปิดกว้างยังทำให้พนักงานรู้สึกดี พร้อมทำงานต่อไปอีกด้วย

“สิ่งหนึ่งที่เราชอบมาก เป็นประโยคที่ว่า Feeling welcome is different from being invited. ซึ่งที่นี่ทำให้รู้สึกว่าได้รับการต้อนรับจริงๆ

“ช่วง Work from Home เราก็มี Diversity Series ซึ่งเป็น Live Session เราเชิญพนักงานมาไลฟ์ในมุมมองของตัวเองว่า Diversity มีอะไรบ้าง เช่น เรื่องเพศ องค์กรไม่ได้ปิดกั้นหรือตัดสินใครที่ตรงนั้น แต่ดูกันที่ความสามารถ เราเชิญพนักงานในแต่ละแผนกมาพูดในมุมมองของตัวเองว่า เขาได้รับโอกาสยังไง เขาได้พัฒนาตัวเองยังไง”

นอกจากนี้ ที่ foodpanda ยังให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดี โดยมี Wellness Day ช่วยส่งเสริมให้พนักงานไปทำสิ่งที่ตัวเองสนใจได้ 

แพนด้าในอนาคต

แม้จะอยู่ในธุรกิจมาเกือบ 10 ปี แต่ก็ยังเจอความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงทุกๆ วัน รูปแบบการทำธุรกิจแบบนี้ทำให้พนักงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

อายบอกว่า มันเป็นความท้าทายที่ทำให้ตัวเองได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงาน เพราะไม่อยากทำอะไรจำเจ
เช่นเดียวกับแชมป์ที่พบว่างานนี้คือความสุข เพราะพื้นฐานเป็นนักเรียนรู้ การเจอคนที่หลากหลายทำให้รู้เรื่องใหม่ๆ กว้างขึ้นไปอีก และที่สำคัญ เขาชื่นชอบอาหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ตลอดเส้นทางการเติบโตของ foodpanda สิ่งหนึ่งที่พวกเขายึดมั่นมาตลอด คือการมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า และการรักษาสมดุลของระบบนิเวศธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ก้าวต่อไปนี้คือการสนับสนุนร้านค้าขนาดกลาง ขนาดเล็ก และร้านค้าท้องถิ่น โดยนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญที่มีมาช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจชุมชน ในขณะที่จะยังคงจุดยืนที่ ‘อาหาร’ ซึ่งพวกเขาเชี่ยวชาญไว้เหมือนเดิม

ภาพ : foodpanda

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน