12 พฤศจิกายน 2021
3 K

ผู้บริโภคอย่างเราๆ เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมครัวซองต์ที่กินถึงทั้งกรอบ ทั้งนุ่มฟู หรือทำไมข้าวกล่องที่เรียงรายอยู่บนชั้นวางร้านสะดวกซื้อยังคงรสชาติอาหารไว้ได้ เบื้องหลังความนุ่มฟูของครัวซองต์หลากรสและข้าวกล่องที่อุ่นไม่กี่นาทีก็พร้อมทาน คือสิ่งที่เรียกว่า ‘นวัตกรรมอาหาร’ ฟังดูคล้ายเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากลองเดินไปในครัวตอนนี้ คุณอาจเจออาหารหลายอย่างที่ผ่านขั้นตอนการพัฒนาด้วยนวัตกรรมอาหาร 

นวัตกรรมอาหารซ่อนอยู่เบื้องหลังของอาหารหลากหลายประเภท และอยู่ในแทบทุกอณูตั้งแต่ กลิ่น รส เนื้อสัมผัส หรือแอบซ่อนอยู่ในวัตถุดิบอาหาร ทั้งเมนูอาหารธรรมดา อาหารเพื่อสุขภาพ หรืออาหารฟังก์ชันที่บริโภคกันในหมู่ผู้ที่มีความต้องการอาหารพิเศษ 

The Cloud นัดหมายพูดคุยกับ ดร.เอก-เอกอนงค์ จางบัว ผู้อำนวยการฝ่าย เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อพูดคุยถึงแพลตฟอร์มที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทย ในยุคที่ผู้บริโภคมองหาอาหารดี วัตถุดิบดี รสชาติดี และมีประโยชน์ดีๆ 

Food Innopolis แพลตฟอร์มพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมอาหาร เพื่อผู้ประกอบการอาหารชาวไทยทุกคน

เชื่อมต่อสิ่งดีๆ 

เทรนด์อาหารกำลังเติบโตไปตามความหลากหลายของความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้น ทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น นอกจากผลิตและคิดค้นกรรมวิธีปรุงอาหารแบบใหม่ๆ ก็เริ่มสนใจอาหารทางเลือกที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง อาทิ โปรตีนจากแมลง โปรตีนจากสาหร่าย การผลิตอาหารด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย การแปรรูปอาหารและการปรุงแต่งรูป รส กลิ่น สี รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อตอบสนองการบริโภคที่เปลี่ยนไป

หันหัวเรือกลับมาประเทศไทย ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเมืองแห่งสตรีทฟู้ด ไม่ว่าจะเดินไปมุมไหนของถนน ก็จะพบร้านหรือซุ้มขายอาหารพร้อมให้บริการแก่ผู้ที่ผ่านไปผ่านมา จนเกิดเป็นประโยคที่คนไทยเคยได้ยินว่า ‘เมืองไทยคือครัวโลก’ อาหารหรือร้านอาหารไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดนักชิมจากทั่วทุกมุมโลก

อาหารไทยมีทั้งที่เป็นสูตรดั้งเดิม สูตรใหม่ สูตรฟิวชัน สูตรที่กินกันในทุกครัวเรือน ไปจนถึงสูตรชาววังอันประณีตงดงาม และมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามภูมิภาค วัตถุดิบของไทยขึ้นชื่อว่าเป็นวัตถุดิบที่ดีไม่แพ้ชาติใดในโลก 

นอกจากอาหารและวัตถุดิบหลากหลาย ประเทศไทยยังมีเชฟฝีมือดีที่รังสรรค์เมนูไทยๆ ให้ทั่วโลกยอมรับ เบื้องหลังความรุ่มรวยทางอาหารของไทย คือความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบ ความหลากหลายของทรัพยากร และขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอาหารที่มักไม่ถูกพูดถึงบนโต๊ะอาหาร น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเมืองไทยนั้นมีขีดความสามารถในการพัฒนาอาหาร ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย

เมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis จึงอาสาเข้ามาเชื่อมต่อวัตถุดิบที่ดี นักวิจัยที่ดี และนวัตกรรมที่ดี เพื่อผลักดันผู้ประกอบการอาหารและอุตสาหกรรมอาหารของไทย ให้เกิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า 

“ผู้ประกอบการของไทยมีศักยภาพการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหารที่ดี”

เชื่อมั่น

เมื่อได้พูดคุยกับคุณเอก เราจึงได้รู้ว่าประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าครัวโลก มีทั้งวัตถุดิบที่ดี มีบริษัท Food Tech Startup สัญชาติไทยที่พร้อมสร้างสรรค์และขับเคลื่อนธุรกิจอาหาร มีทีมนักวิจัยและเทคโนโลยีอาหารที่ไม่เป็นสองรองใคร เพียงแต่สิ่งเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายกันไปตามที่ต่างๆ 

“เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพพัฒนาอาหารใหม่ๆ เยอะมาก เราเชื่อในศักยภาพของประเทศ ศักยภาพของผู้ประกอบการ อาจมีหลายอย่างประกอบกันอยู่ แต่เราไม่เคยเอามารวมกัน ไม่เคยประสานกันให้เป็นวงเดียว”

ย้อนไปเมื่อราว 5 ปีก่อน กระทรวง อว. หรือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis ขึ้น ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารแบบครบวงจร 

ไม่เพียงแค่ศักยภาพของผู้ประกอบการ นักวิจัย และนวัตกรรมอาหารที่พัฒนาต่อยอดได้ กระแสการบริโภคอาหารและความต้องการของผู้บริโภคก็กำลังเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งจากเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไปและการอุบัติขึ้นของโรคระบาด ทั้งหมดล้วนส่งให้ความต้องการอาหารเปลี่ยนไป

“เราไม่ได้มองแค่ผู้บริโภคภายในประเทศ เรามองทั้งโลก และตอบได้ว่าตอนนี้คนกินอะไร ผู้บริโภคต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่ต้องอร่อยด้วย ต่อให้ดีต่อสุขภาพแต่ไม่อร่อย คนก็ไม่กิน 

“สิ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คือความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยน ผู้ผลิตอาหารจึงต้องเริ่มปรับ”

One Stop Service

คุณเอกบอกกับเราว่า แพลตฟอร์มถือกำเนิดขึ้นในฐานะ Service Provider ที่ให้บริการแบบ One Stop Service ทั้งการบริการสนับสนุนการวิจัย พัฒนา ห้องปฏิบัติการอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณท์ เป็นดั่งตัวเชื่อมจิ๊กซอว์ที่กระจัดกระจาย ให้ต่อกันได้อย่างสมบูรณ์ 

 “เรา Connecting the Dots ให้กับผู้ประกอบการ มีโจทย์มา ไม่รู้จะหา Solution ที่ไหน มาหาเรา ให้เราช่วยหาให้ และไม่ได้แนะนำอย่างเดียว เราไปพูดคุยและหาทางให้เขาทำงานด้วยกัน”

นอกจากบริการให้คำปรึกษา การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาแบบครบวงจร รวมถึงแนะนำ เชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมอาหาร ยังมีการให้ความรู้เรื่องนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไป ผ่านรายการ Food Talk เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอาหารและนวัตกรรมอาหาร และ Frontier Food แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมอาหาร โทคโนโลยี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฯ จากนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญ 

ที่นี่ยังให้บริการผ่าน Service Platform อีกกว่า 10 รายการ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีพื้นที่พัฒนาไอเดีย ทดสอบไอเดีย พร้อมกับลงมือทำจริง ตัวอย่างเช่น

Food Maker Space หรือพื้นที่สร้างสรรค์ไอเดียพัฒนาอาหาร เปลี่ยนความคิดออกมาเป็นของจริง

Future Food Lab แล็บพร้อมเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พร้อมด้วย Research Coach คอยให้คำแนะนำการผลิตและพัฒนาอาหาร รวมถึงได้ทดลองทำจริง 

Food Pilot Plant โรงงานทดลองขนาดย่อม สำหรับทดสอบผลิตผลิตภัณท์หรืออาหารต้นแบบ

ผู้ประกอบการไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ สามารถใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกจาก Food Innopolis ได้ทั้งที่สำนักงานใหญ่ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี และจุดบริการอีกหลายแห่งที่กระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

นอกจาก Space & Facility ยังมีโครงการ Food Innopolis Innovation Contest เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มช่วยเร่งให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับอุตสาหกรรมอาหารของไทย โดยจัดในรูปแบบค่ายสร้างสรรค์นวัตกรรมอาหาร โดยเน้นไปที่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา รวมถึงบุคคลทั่วไป 

คุณเอกเล่าถึงภาพรวมของทุกแพลตฟอร์มที่ Food Innopolis ตั้งใจทำให้เกิดขึ้นโดยมีปลายทางคือ การส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมอาหารให้สมบูรณ์ว่า

“อย่างที่บอกว่าเราเป็น One Stop Service เดินมาหาเรา เรารู้ว่ามีใครอยู่ที่ไหน แล้วเราทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารได้ ด้วยระยะเวลาสั้นลง ด้วยต้นทุนน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งหมดคือการสร้าง Ecosystem ของการพัฒนานวัตกรรมอาหารของประเทศ”

ต้นกล้าของนวัตกรรมอาหาร

อุตสาหกรรมอาหารต้องพึ่งพาทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถ Food Innopolis เชื่อว่าศักยภาพของผู้ประกอบการไทยพัฒนาได้ และเห็นควรว่าการเร่งให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับอุตสาหกรรมอาหาร จะสร้างโอกาสให้คนที่อยู่นอกอุตสาหกรรมอาหาร เข้าถึงและเข้าใจอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น 

โครงการ Food Innopolis Innovation Contest ถือกำเนิดขึ้นตามนโยบายของเมืองนวัตกรรมอาหาร เริ่มโครงการครั้งแรกใน พ.ศ. 2561 โดยในปีแรกของโครงการฯ เปิดรับนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีเข้ามาลับสมองประลองไอเดียจนเป็นที่รู้จัก ต่อมาจึงขยายโครงการและเปิดรับประชาชนทั่วไปในปีถัดมา ปัจจุบันทางโครงการฯ เปิดโอกาสให้น้องระดับชั้นมัธยมเข้ามาร่วมประลองไอเดียพัฒนานวัตกรรมอาหาร ซึ่งแต่ละปีจะมีธีมหลักไม่เหมือนกัน อ้างอิงจากเทรนด์อาหารของโลกในปีนั้นๆ

คุณเอกพูดถึงโครงการนี้ด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ และหวังให้โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งแรงในการพัฒนา อีกทั้งผลักดันศักยภาพของผู้ที่สนใจด้านนวัตกรรมอาหาร 

“เราเชื่อว่าโครงการนี้เป็นการปลูกป่าสัก น้องๆ ที่เข้ามาในโครงการ เราอยากให้เขาเรียนรู้เรื่องการพัฒนานวัตกรรมอาหาร อยากให้มันมีคนที่เข้ามาอยู่ใน Value Chain ของอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้คน โดยเฉพาะคนที่เรียนในทางด้าน Food science และ Food Technology เข้ามาตรงนี้แล้วได้ลองเรียนรู้ไปพร้อมกับเรา”

อยู่เบื้องหลังการพัฒนานวัตกรรมอาหารและผู้ประกอบการ ด้วย One Stop Service ที่เชื่อเรื่องการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมอาหารที่ดี

โดยกลไกของการประกวดนี้ จะเริ่มจากการประกาศธีมหลักของปีนั้นๆ และมีการจัด Boot Camp เรียนรู้วิธีการสร้างนวัตกรรมอาหารผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบหรือ Design Thinking เรียนรู้การเปลี่ยนแนวคิดให้เป็นผลิตภัณฑ์ (Design Doing) และเรียนรู้เรื่องการทดสอบตลาด (Market Validation) 

เมื่อได้ทั้งเครื่องมือและไอเดียแล้ว จึงริเริ่มทำโครงการและส่งเข้าประกวด ไอเดียนับร้อยจะถูกคัดให้เหลือเพียงแค่หลักสิบ ทีมที่ผ่านเข้ารอบจะได้เรียนรู้พื้นฐานของโทคโนโลยีอาหาร เทคนิคการพัฒนาต้นแบบ การใช้บรรจุภัณฑ์ การตั้งราคาและกลยุทธ์ราคา รวมถึงการ Coaching จากผู้เชี่ยวชาญ 

ระยะเวลาของโครงการ 6 – 8 เดือน น้องๆ จะได้รับทั้งความรู้ ทักษะ ทดลอง และลงมือทำจริง จากนั้นทุกไอเดียที่ผ่านการพัฒนาแล้ว จะเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวัน Demo Days

อยู่เบื้องหลังการพัฒนานวัตกรรมอาหารและผู้ประกอบการ ด้วย One Stop Service ที่เชื่อเรื่องการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมอาหารที่ดี
อยู่เบื้องหลังการพัฒนานวัตกรรมอาหารและผู้ประกอบการ ด้วย One Stop Service ที่เชื่อเรื่องการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมอาหารที่ดี

การเติบโตของต้นกล้านวัตกรรม

“น้องๆ ที่เรียนสายนี้เขาได้ลองของจริง ถ้าจะลองทำอะไรสักอย่าง เขาได้ลองคิดว่าถ้าอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์สักอย่างหนึ่ง เขาต้องคิดอะไรบ้าง จากความคิดออกมาเป็นโปรดักต์ ทำได้ อร่อยด้วย ดีต่อสุขภาพ ขายได้ ได้ตลอดทั้ง Chain”

ตลอด 4 ปีของโครงการ Food Innopolis Innovation Contest ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมอาหารใหม่ๆ ผ่านการพัฒนาไอเดียสดใหม่ให้กลายเป็นอาหารที่กินได้จริง มีนวัตกรรมอาหารที่ถูกพัฒนาและนำไปผลิตเพื่อการค้าหลายต่อหลายชิ้น โดย 20 ไอเดียของรุ่นนิสิต นักศึกษา ได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชน และกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ที่มาจากไอเดียของผู้ประกอบการมีการขายจริง เกิดเป็นธุรกิจด้านอาหารที่ต่อยอดร่วมกับบริษัทเอกชน

ตัวอย่างเด่นๆ ซึ่งเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ได้แก่ ชีสจากถั่วพลู โดยทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำตัวต้นแบบไปทดลองผลิต อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นผลงานจากทีมสตาร์ทอัพ พัฒนาน้ำอัดลมผสมโปรตีนกับวิตามินบีรวม ได้รับการพัฒนาต่อยอดจนเป็นที่รู้จักจากนักลงทุน 

อยู่เบื้องหลังการพัฒนานวัตกรรมอาหารและผู้ประกอบการ ด้วย One Stop Service ที่เชื่อเรื่องการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมอาหารที่ดี

นอกจากไอเดียจะถูกต่อยอดและพัฒนาให้กลายเป็นของที่จับต้องได้จริงแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้รับโอกาสทางธุรกิจ ได้รับการมองเห็นจากนักลงทุนหรือบริษัทขนาดใหญ่ อันนำมาซึ่งโอกาสในการสร้างธุรกิจและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุด ต้นกล้าของอุตสาหกรรมอาหารเหล่านี้จะเข้าไปเติมเต็มระบบนิเวศนวัตกรรมอาหารให้สมบูรณ์พร้อมมากขึ้น

“ถ้าถอยกลับไปมองว่าโครงการนี้คือโครงการปลูกป่าสัก เราคิดว่าเราน่าจะได้ต้นกล้าดีๆ อยู่เยอะจากโครงการนี้ ถึงแม้ว่าน้องๆ มัธยมอาจจะไม่ได้มาเรียนสายวิทย์ แต่น้องมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneur อยู่ในตัว”

อยู่เบื้องหลังการพัฒนานวัตกรรมอาหารและผู้ประกอบการ ด้วย One Stop Service ที่เชื่อเรื่องการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมอาหารที่ดี
อยู่เบื้องหลังการพัฒนานวัตกรรมอาหารและผู้ประกอบการ ด้วย One Stop Service ที่เชื่อเรื่องการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมอาหารที่ดี

ไปต่อได้จริง

แม้วิกฤตจากโรคระบาดจะทำให้โครงการไม่สามารถจัดตามสถานที่ต่างๆ เช่นเดิม Food Innopolis จึงปรับตัวสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านรายการ Food Talk และ Frontier Food ขยับมาเป็นการสัมมนาออนไลน์และเผยแพร่ผ่าน Food Innopolis Fanpage และ YouTube Channel ซึ่งข้อดีคือ ผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจสามารถกลับมาดูซ้ำ และส่งต่อความรู้ให้กับผู้อื่นได้ด้วย

ในปีล่าสุด โครงการ Food Innopolis Innovation Contest ปรับจากค่ายออนไซต์มาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาที่เข้มข้น และได้รับการตอบรับจากผู้สนใจอย่างเนืองแน่น จากยอดผู้เข้าร่วมหลักร้อยขยับสู่หลักพันอย่างรวดเร็ว 

ธีมหรือหัวข้อการแข่งขันของปี 2021 ทั้ง 2 หัวข้อ คือ Food Heritage Innovation นวัตกรรมจากมรดกภูมิปัญญาอาหาร และ Future Lifestyle Food Innovation นวัตกรรมอาหารสำหรับการใช้ชีวิตแห่งอนาคต ได้รับการตอบรับด้วยดี และมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 คนจากทั่วประเทศ มีไอเดียส่งเข้ามาประกวดกว่า 480 ไอเดีย 

“ผู้ประกอบการรู้จักเราเยอะขึ้น หลายโครงการมีเสียงตอบรับที่ดีในหลายกลุ่ม น้องๆ ที่เข้ามาในโครงการก็เยอะขึ้น หรือแม้แต่เรื่องที่เราเล่าให้ฟัง Food Talk มีคนฟังเยอะขึ้น เรามีแฟนเพจ มีคนที่ตาม ทำงานมาสี่ถึงห้าปี ต้องบอกว่าเราเป็นที่รู้จักใน Food SME และบริษัทใหญ่ด้วย”

ความสำเร็จจากตัวเลข เป็นหนึ่งสิ่งที่ช่วยการันตีความสำเร็จ ขณะเดียวกันความมุ่งมั่นที่ไม่สิ้นสุดของทีมงาน Food Innopolis ก็ช่วยยืนยันว่า การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมอาหารนั้นเติบโตได้และไปต่อได้จริง

“Food Innopolis ให้บริการผ่าน OSS และ Service Platform มาสี่ถึงห้าปี เราค่อยๆ ปรับมันไปเรื่อยๆ อะไรที่ทำแล้วตอบโจทย์ก็ทำให้ลึกลงไปอีก อะไรที่ทำแล้วไม่ใช่ก็จะเปลี่ยน”

ความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ประกอบการกับความตั้งใจของ Food Innopolis ในการเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร เติมช่องว่างของการพัฒนานวัตกรรมอาหารของไทยให้สมบูรณ์ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์ม พัฒนาองค์ความรู้ จนมาสู่การพัฒนาคน บ่มเพาะต้นกล้าให้แก่แวดวงอุตสาหกรรมอาหาร ให้ค่อยๆ แข็งแรงและเติบโตไปด้วยกันทั้งระบบในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อระบบนิเวศนวัตกรรมอาหารของไทยได้ถูกเติมเต็มจนสมบูรณ์ เราอาจจะได้เห็นผลิตภัณท์อาหารใหม่ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างเราๆ มากขึ้น อาจได้เห็นนักวิจัย นักพัฒนาหน้าใหม่ที่จะก้าวเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร และอาจได้เห็นม้ายูนิคอร์นจาก Food Tech Startup สัญชาติไทยโลดแล่นในวงการอาหารโลกในไม่ช้า

ภาพ : Food Innopolis

เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เฟ้นหาไอเดียสร้างสรรค์จากเหล่าทีม Finalist กว่า 42 ทีม ในงาน Food Innopolis Innovation Contest 2021 : Demo Days Virtual Event ระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2564 ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.fiinnovationcontest.com

Writer

Avatar

แคทรียา มาลาศรี

คนทักผิดตลอดชีวิตว่าเป็นนักร้องดัง รักการกินผักและรักเนื้อพอๆ กับผัก เกิดที่อีสาน เรียนที่ภาคกลางและหลงทางที่เชียงใหม่

Photographer

Avatar

สิทธิพงษ์ ติยะวรากุล

ชอบถ่ายรูป แต่ชอบฟังนักเขียนขณะสัมภาษณ์มากกว่า