ถ้าถามว่า ใครไม่เคยกินอาหารฝรั่งบ้าง ก็อาจจะพอมีบ้าง อย่างน้อยก็ต้องรู้จักหรือเคยกินพิซซ่า พอเข้าร้านพิซซ่าต้องรู้จักสปาเกตตี้คาโบนาร่า หรือแม้กระทั่งเข้าปั๊มน้ำมันก็เห็นร้านแฮมเบอร์เกอร์ ยังไงก็ต้องเคยลองกินบ้างล่ะ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วก็คงรู้จักกินอาหารฝรั่งกันทั้งนั้น หรือจะคิดแบบง่ายๆ ว่า จำนวนพลเมืองในกรุงเทพฯ ที่เฉียด 10 ล้านคน ตัดที่ไม่กินจริงๆ เลยมีไม่กี่เปอร์เซนต์ ที่เหลือก็มหาศาลที่รู้จักและเคยกินอาหารฝรั่งทั้งนั้น

แต่ถ้ามองว่า อาหารฝรั่งคือสเต๊กก็มีให้เลือกเยอะแยะ ร้านเป็นเพิงเหมือนอาหารตามสั่งก็มี คนมีรายได้มากหรือมากจนเหลือ จะกินในร้านหรูๆ ตรงไหนก็มี ผมว่าถ้าเอาแผนที่แถบสุขุมวิท เอกมัย ทองหล่อ มากางแล้วเอาเข็มหมุดจิ้มลงตรงไหน ตรงนั้นก็มีร้านอาหารฝรั่ง อาหารอิตาเลียนจากทุกแคว้นของอิตาลี มาเมืองไทยครบหมด แถมแคว้นเดียวยังมีเป็น 100 ร้าน และไม่ใช่แค่อาหารอิตาเลียนเท่านั้น ฝรั่งเศส เยอรมนี โปรตุเกส ออสเตรเลีย เม็กซิกัน มีเป็นเทือก แถมพ่อครัวยังเป็นฝรั่งตัวเป็นๆ อีกต่างหาก

เชื่อหรือไม่ เมืองไทยย้อนกลับไป 50 – 60 ปีที่แล้ว คนไทยรู้จักและกินอาหารฝรั่ง ไม่ใช่ร้านฝรั่งและไม่ใช่พ่อครัวที่เป็นฝรั่ง แต่เป็นร้านคนจีนไหหลำ เป็นอาหารฝรั่งสไตล์ไหหลำ

ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร เช่น สลัดเนื้อสัน สตูว์ลิ้นวัว สตูว์ลิ้นหมู ซี่โครงหมูชุบแป้งทอดราดด้วยน้ำเกรวี่ แกงกระหรี่ไก่ กินกับขนมปังและเนย ถ้านึกไม่ออกว่ามีร้านไหนบ้าง เมื่อก่อนที่เห็นชัดๆ ก็มี ‘สีลมภัตตาคาร’ ‘ฟูมุ่ยกี่’ และ ‘คาร์ลตันภัตตาคาร’

กุ๊กช็อป, ฟูมุ่ยกี่, อาหารฝรั่ง, ไหหลำ กุ๊กช็อป, ฟูมุ่ยกี่, อาหารฝรั่ง, ไหหลำ

แล้วอาหารฝรั่งแท้ๆ ไม่มีหรือไง มีครับ แต่น้อยมาก ส่วนใหญ่อยู่ตามโรงแรมหรูที่มีห้องอาหารฝรั่งนับโรงได้ ลูกค้าที่เข้าไปกินเป็นลูกค้าโรงแรมบ้างเป็นทูต เป็นนักธุรกิจ เป็นเสนาบดีไทยบ้าง ส่วนร้านอาหารฝรั่งที่โด่งดังมากๆ ที่เคยได้ยินมี คอสโมโปริแต๊นท์ อาหารฝรั่งเศส แต่ที่เคยเห็นจริงๆ มี Nick’s No.1 อยู่ที่หัวมุมถนนสาทรใต้ กับถนนพระราม 4 เป็นอาหารฮังกาเรียนที่ชื่อ No.1 เพราะเลขที่บ้านของร้านนี้ คือ บ้านเลขที่ 1 ถนนสาทรใต้ครับ

ทีนี้ก็มาถึงที่ว่า ทำไมอาหารฝรั่งต้องเป็นสไตล์ไหหลำ ก็ต้องย้อนกลับไปนานมาก ตั้งแต่ที่ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ ถูกฝรั่งยึดครองใหม่ๆ ฝรั่งเต็มไปหมดจนกลายเป็นปารีสตะวันออก และเป็นแหล่งขุดทองของชาวจีนที่ไปหางานทำ กลุ่มภาษาไหนทำอะไรถนัดก็ยึดครองเป็นอาชีพของตัวเองไม่ให้ใครแย่ง ชาวเซี่ยงไฮ้ ถนัดงานช่างก็เอาไปหมด ชาวไหหลำข้ามจากเกาะไหหลำไปบ้าง อะไรๆ คนอื่นก็เอาไปแล้ว เลยเป็นลูกจ้างในร้านอาหารฝรั่งบ้าง เป็นลูกจ้างร้านซักรีดเสื้อผ้าบ้าง พออยู่นานเข้าก็คุ้นเคยอาหารฝรั่ง รู้จักฝรั่งที่เข้าไปกิน เขยิบจากทำพอเป็นก็ชำนาญขึ้น หนักเข้าขึ้นขั้นเก่ง แต่ความที่ลิ้นยังติดแบบจีนๆ ไม่เลี่ยนเวอร์ บวกกับสิ่งของที่เอามาใช้ก็ไม่ใช่ของฝรั่งแท้ๆ ทำให้รสเพี้ยนไปบ้าง แต่ฝรั่งเองก็ยอมรับ

มีฝรั่งมากมายที่เป็นทูตบ้าง เป็นพ่อค้าบ้าง ต้องย้ายไปประจำประเทศอื่นๆ บ้าง เมืองไทยก็มากันเยอะ พอจะมาก็ได้ยินว่า เมืองไทยยังขี่ควาย กินเผือกเผามันเผา ซักผ้าในคลองอยู่ อดตายแน่ จึงพาชาวไหหลำที่ถนัดงานครัวและซักรีดเสื้อผ้าตามมาด้วย เพื่อเป็นคนในบังคับของตัวเอง

กุ๊กช็อป, ฟูมุ่ยกี่, อาหารฝรั่ง, ไหหลำ กุ๊กช็อป, ฟูมุ่ยกี่, อาหารฝรั่ง, ไหหลำ

สถานทูตอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ โปรตุเกส เยอรมนี ที่ทั้งทูตทั้งอุปทูตต้องมีบ้านพักตัวเอง เมื่อมีบ้านพักก็ต้องมีครัว มีพ่อครัวไหหลำ แม้กระทั่งคนคุมงานคอยจัดการงานบ้านที่เรียกว่า Butler ยังเป็นคนไหหลำ ผมเคยเห็นพ่อครัวไหหลำรุ่นเก๋าจริงๆ เขาจะเขียนรายการอาหารประจำวันบนกระดานดำในห้องครัวเป็นภาษาอังกฤษครับ

มีหลายคนคิดก้าวหน้า ออกมาทำร้านอาหารฝรั่งข้างนอก ผมว่าร้านดังๆ ที่ผมเอ่ยชื่อไปนั้น ก็มาจากกลุ่มนี้ครับ แล้วพ่อครัวไหหลำนี่สังเกตง่ายคือ ตอนเช้าๆ จะใส่เสื้อยืดขาวกางเกงขาสั้น ขี่จักรยานคันใหญ่ๆ สูงๆ ที่สมัยก่อนเรียกว่าจักรยานส่งน้ำแข็ง มีตะกร้าหวายใบมหึมา เป็นธรรมดาที่พวกหมู ปลา ไก่ อยู่ข้างล่าง ผักหญ้าต้องไว้ข้างบนปากตะกร้า ตอนผมเด็กๆ ไปโรงเรียนต้องนั่งรถเมล์ที่เรียกว่ารถนักเรียน ให้เด็กนักเรียนโดยเฉพาะ ไม่ให้คนอื่นขึ้น เมื่อจอดป้ายหนึ่ง พ่อครัวไหหลำกระโดดขึ้นมานั่งพร้อมตะกร้า กระเป๋ารถเมล์ปาดเข้ามาบอกว่าขึ้นไม่ได้ สำหรับนักเรียน แต่คนขับใจดีบอกว่าไม่เป็นไร เขาเป็นนักเรียนเกษตร

เป็นธรรมดาครับ อยู่เมืองไทย เป็นคนไทย มีลูกมีหลาน คนไหนมีหัวก็เรียนหนังสือ ไม่ชอบเรียนก็ไปทำงาน ดีที่สุดคือร้านอาหารไหหลำสไตล์ฝรั่งนี่แหละ เพราะคนไหหลำเขาช่วยเหลือกัน และเป็นงานมาตั้งแต่รุ่นพ่อแล้ว

เมื่อคนมาก ร้านอาหารก็แตกกระจายไปทั่ว สีลมภัตตาคาร ฟูมุ่ยกี่ นั่นร้านใหญ่ไฮเอนด์ นอกจากนี้ยังมี ครัวสาธร อยู่ตรงห้องแถวใกล้โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ร้านโกตุ้น ในซอยสวนพลู ร้านเล็กๆ ไม่มีชื่ออยู่ตรงปากซอยศาลาแดง 1 ด้านถนนพระราม 4 และอีกร้านใกล้สี่แยกเดโช ถนนสุริยวงศ์

ทำไมจะต้องอยู่แถวละแวกนี้ ก็เพราะแถวนี้บริษัทฝรั่งเยอะ คนทำงานบริษัทฝรั่งเงินเดือนสูง กลางวันกินดีหน่อยและชอบอาหารฝรั่ง ถึงแม้จะเป็นฝรั่งแบบไหหลำก็ตามแต่ก็อร่อย แล้วจะไปนั่งในโรงแรมในห้องอาหารหรูๆ นั่นก็มีน้อยหรือมีไม่กี่แห่งอย่างที่บอกไว้ตั้งแต่แรก และก็แพงเกินเหตุ

แม้กระทั่ง ‘ร้านมิ่งหลี’ ที่ถนนหน้าพระลานติดกับรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร ลูกค้าที่กินก็เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เมื่อก่อนตึกในพระบรมมหาราชวังนั้นเป็นกระทรวงการคลังครับ

ไม่ว่าจะร้านเล็ก ร้านใหญ่ สูตรอาหารต่างๆ เหมือนเป็นพิมพ์เดียวกันหมด สลัดเนื้อสันต้องทอดมาผิวเกรียมๆ ข้างในยังแดงอยู่บ้าง น้ำมันทอดราดเจิ่งมาด้วย รองก้นจานด้วยผักกาดหอม แตงกวา มะเขือเทศ อาจจะมีบางร้านที่เอาน้ำตาลทรายโรยตรงผัก เพื่อตัดเค็มน้ำทอดเนื้อมาบ้าง แล้วต้องมีขนมปังกะโหลกนิ่มๆ พร้อมเนย ใครอย่าได้สั่งข้าวสวยมากิน จะผิดกฎหมายมาตรา 5 วรรค 1 ว่าด้วยการกินอาหารฝรั่ง

ความนิยมร้านอาหารฝรั่งแบบไหหลำนี้มีมานานมาก เรียกได้ว่า เมื่อก่อนพ่อแม่ต้องพาลูกๆ มากิน ต่อมาลูกทำงานทำการก็พาพ่อแม่มากิน

เป็นธรรมดาของกฎธรรมชาติ รุ่งแล้วก็ต้องมีเลิก ร้านอาหารฝรั่งแบบไหหลำหลุดหายไปทีละร้าน ยังมีที่เหลืออยู่บ้างอย่างร้านตรงเสาชิงช้า ที่ไม่มีแกงกะหรี่ไก่กินกับขนมปังเนยแล้ว แต่ดันทะลึ่งมีผัดเผ็ดปลาดุก ต้มยำปลาช่อน มีหอยแครงลวก

คาร์ลตัน ภัตตาคารตรงสีลมไปก่อน สีลมภัตตาคารก็ตามไป ล่าสุดเมื่อ 3 ปีก่อน ฟูมุ่ยกี่ก็ไป มิ่งหลี ที่ถนนหน้าพระลานยังอยู่ แต่ก็เหนื่อยล้าเต็มที โต้-เจ้าของร้านไม่อยากขายแล้ว ติดแต่ว่าเป็นร้านที่ผูกพัน คุ้นเคยกับเหล่าศิลปินศิลปากรที่ขอร้องให้ขายอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ ศิลปินขาประจำหลายพระองค์นั้นก็ไม่ค่อยนั่งแล้ว เพราะมีกฎหมายใหม่ที่ร้านอาหารอยู่ใกล้สถานศึกษา ห้ามขายแอลกอฮอล์ อีกไม่นานโต้ก็คงเลิก

ผมว่าไปแล้วไปเลยครับ แล้วร้านอย่างนี้ก็มีอยู่ที่เมืองไทยเท่านั้น ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ไม่มีอาหารฝรั่งแบบไหหลำ ในเมื่อเมืองไทยบ๊ายบายอำลาไปแล้วก็ไปเลยไม่กลับมา นี่เองที่ว่า ‘มีครั้งแรกแล้ว ก็กลายเป็นครั้งสุดท้าย’ นั่นเองครับ

Writer & Photographer

Avatar

สุธน สุขพิศิษฐ์

ศิลปะ-ดนตรี-อาหาร ที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีพรมแดน ไม่มีภาษา ไม่มีการเมือง ไม่มีการกีดกัน ไม่มีรวยหรือจน เข้าถึงง่าย มีความสุขเท่าเทียมกัน เอาสามอย่างเท่านี้ก็พอ