12 พฤศจิกายน 2021
3 K

หนึ่งมื้ออาหาร มีค่าแค่ไหนสำหรับคุณ

รับประทานเพื่อเติมพลังงานให้ร่างกาย ลิ้มรสความอร่อยที่สดใหม่และปลอดภัยของวัตถุดิบ เสริมภูมิคุ้มกัน รักษาสุขภาพให้แข็งแรง คุณค่าเหล่านี้คือสิ่งที่ 1 ใน 3 ของประชากรเด็กไทยอายุ 6 – 14 ปี หรือราว 2.9 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงอย่างเหมาะสม จนประสบภาวะทุพโภชนาการ หรือร่างกายได้รับสารอาหารไม่พอดีกับความต้องการของตัวเอง

อาจได้รับประทานอาหารน้อยไป ไม่หลากหลาย จนหิวโซ ไร้พละกำลังและสติจะจดจ่อกับอะไร หรือมากไปจนสะสมเป็นโรคร้าย ส่งผลกระทบไปถึงพัฒนาการ และการศึกษาในระยะยาว

แม้ทุกวันนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนเงินค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนระดับอนุบาลและประถมศึกษามื้อละ 20 บาทต่อคน (ปรับเป็น 21 บาทในปีการศึกษาหน้า) แต่เมื่อหักลบค่าใช้จ่ายจิปาถะ ประกอบกับไม่มีการเผยแพร่ความรู้ด้านโภชนาการอย่างจริงจัง คงไม่แปลกที่อาหารซึ่งปรุงจากงบ 10 กว่าบาท จะไม่ตอบโจทย์สุขภาพและการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่ยากจนหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล

นับเป็นปัญหาใหญ่เมื่อมองภาพระยะยาว แต่อาจฟังดูไม่สำคัญหรือเร่งด่วนสักเท่าไร

ด้วยเหตุนี้ ริน-ทิพย์ชยา พงศธร นักธุรกิจผู้คลุกคลีอยู่กับแวดวงอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม ลูกสาวของ วิเชียร พงศธร ที่มีหลักการบริหารธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนและสังคม จึงลุกขึ้นมาก่อตั้งโครงการ FOOD FOR GOOD (เดิมชื่อ Food4Good) ภายใต้มูลนิธิยุวพัฒน์ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของสังคม แก้ปัญหาเรื่องโภชนาการของเด็กไทยโดยเฉพาะ 

‘พี่อิ่มท้อง น้องอิ่มด้วย’ คือแนวคิดของแคมเปญการสื่อสารในช่วงแรก แต่เมื่อพบว่าวิธีการดังกล่าวไม่สร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง เป็นเพียงการส่งมอบปลามากกว่าจะสอนให้คนตกปลาเป็น รินและทีมงานจึงปรับโมเดลให้เป็น ‘การให้ที่ไม่จบแค่มื้ออาหาร’ 

ไม่เพียงแค่สนับสนุนเงินทุน แต่ส่งต่อความรู้ ความเข้าใจ ชวนหลากหลายฝ่ายในพื้นที่มาร่วมสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย และดูแลมื้ออาหารของนักเรียนอย่างใส่ใจ ดำเนินการต่อเนื่องได้ด้วยตนเอง จนปัจจุบัน FOOD FOR GOOD ตักอาหารดีมีคุณภาพให้เด็ก 11,300 คนไปแล้วมากกว่า 2,953,260 มื้อ 

ในปีที่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อนักเรียนและครอบครัวทั่วประเทศ ปัญหาความยากจนและเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น ภารกิจของพวกเขายิ่งทวีความสำคัญ เราจึงชวนรินและทีมงานมาร่วมพูดคุยถึงวิธีแก้ปัญหา และแคมเปญ ‘เติมฝันให้เต็มถาดหลุม’ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.​ 2564 

ด้วยความหวังว่าสังคมและภาครัฐจะตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และผู้คนร่วมกันนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ต่อในระดับประเทศ เพื่อให้เด็กไทยอิ่มท้อง สุขภาพดี มีกำลังเรียน และเติบโตอย่างงดงาม แบบที่พวกเขาควรได้รับในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

จากแคมเปญ สู่โมเดลเพื่อความยั่งยืน

“เราอยากทำกิจกรรมตอบแทนสังคมเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของธุรกิจเรา และมองว่าถ้าชวนโรงแรมและร้านอาหารที่ดูเป็นคู่แข่งกัน มาร่วมทำเพื่อสังคม น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี” รินเกริ่นถึงไอเดียของโครงการ

แคมเปญในช่วงแรกเริ่มจากการร่วมมือกับบรรดาร้านอาหารและโรงแรม เลือกเมนูอาหารที่เมื่อผู้บริโภคทานแล้ว จะแบ่งเงินจำนวน 10 บาทจากรายได้เข้ากองกลาง นำไปบริจาคเพื่อเป็นค่าอาหารของมูลนิธิที่ทำงานกับเด็ก เช่น มูลนิธิบ้านนกขมิ้น สหทัยมูลนิธิ และมูลนิธิเพื่อเด็กพิการ 

FOOD FOR GOOD เลือกระดมทุนผ่านอาหารโดยไม่เปิดรับบริจาคตรง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม คนและร้านอาหารตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เมื่อดำเนินการไปสักระยะ ทีมงานเรียนรู้ว่ากระบวนการแบบ ‘พี่อิ่มท้อง น้องอิ่มด้วย’ เป็นการทำมากแต่ได้น้อยและไม่ยั่งยืน  

กว่าจะตามหาร้านอาหารที่เข้าใจแนวคิดและพร้อมสนับสนุนได้แต่ละแห่งไม่ใช่เรื่องง่าย หลายบริษัทสับเปลี่ยนแคมเปญเมื่อเวลาผ่านไปเพื่อรองรับผู้บริโภคเป็นเรื่องปกติ หรือหันไปให้ความสนใจประเด็นสังคมอื่นแทน

ปลายทางของเงินบริจาคอาจทำให้เด็กมีอาหารรับประทานอิ่มขึ้นจริง แต่มักไม่ถูกหลักโภชนาการ สุดท้ายเด็กน้ำหนักเกินพอดี เพราะขาดการเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ต่อให้มีเงินมากกว่านี้ ปัญหาก็คงไม่ได้รับการแก้ไขให้ตรงจุด 

“คนอาจมีความสุขที่ได้ช่วยน้องในแต่ละมื้อ แต่เหมือนกับปัญหาอื่นในสังคม เราไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวด้วยเพียงการบริจาคเงิน เราเลี้ยงข้าวใครไปตลอดชีวิตไม่ได้ น่าจะต้องถ่ายทอดความรู้ สร้างเครื่องมือและโมเดลที่ทำให้เขาดูแลตัวเองได้” รินเล่าบทเรียนที่เธอได้รับ

จากความตระหนักนี้ ในช่วงปีที่ 4 โครงการเลือกทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ลงพื้นที่ไปสัมผัสและเข้าใจปัญหาจริงๆ ที่โรงเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดที่มีเด็กนักเรียนยากจนมากที่สุด เมื่อเห็นว่าจริงๆ บุคลากรมีศักยภาพและพร้อมจะแก้ไขปัญหาด้วยกัน ทีมงานจึงปรับโมเดลเพื่อทำงานร่วมกับโรงเรียนโดยตรง

“ตอนแรกเราไม่ได้ทำงานกับโรงเรียน เพราะคิดว่ามีเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวันอยู่แล้ว แต่พอดูจริงๆ มันถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายอย่างอื่นด้วย บางโรงเรียนเป็นแบบพักนอน ต้องดูแลอาหารทั้งสามมื้อ ไม่มีทางพอ ต้องทำอะไรสักอย่าง ทดลองทำมาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นแนวคิดเรื่องการให้ที่ไม่จบแค่มื้ออาหาร” ชมพู่-ประภาพรรณ บรรลุศิลป์ ผู้จัดการโครงการที่อยู่เคียงคู่รินตั้งแต่เริ่มต้น เสริมถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ร่วมกับโรงเรียน

โมเดลใหม่ของ FOOD FOR GOOD เป็นการทำงานร่วมกับโรงเรียนเป็นระยะเวลาราว 2 ปี​ โจทย์ที่ตั้งร่วมกันคือ เมื่อจบช่วงเวลานี้ โรงเรียนจะสามารถบริหารจัดการอาหารที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนด้วยตัวเอง

เนื่องจากจำนวนทีมงานมีราวหลักสิบชีวิตและเงินทุนสนับสนุนจำกัด โครงการจำเป็นต้องกำหนดเกณฑ์เพื่อคัดเลือกโรงเรียน ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในพื้นที่ใกล้เคียงกัน หนึ่งในเกณฑ์คือ ต้องมีนักเรียนในโรงเรียนมีภาวะทุพโภชนาการเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป โดยแบ่งออกเป็นโรงเรียน 3 ประเภท

หนึ่ง โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อย แม้พวกเขาจะได้รับงบประมาณค่าอาหารกลางวัน แต่รวมกันทั้งโรงเรียนแล้วก็ยังไม่ใช่เงินที่เพียงพอ ไม่สามารถซื้อวัตถุดิบหลากหลายในปริมาณมาก ต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่า และยังต้องนำไปจ่ายค่าแก๊ส น้ำ ไฟ แม่ครัว และค่าใช้จ่ายจิปาถะ

สอง โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลบนดอย

“โรงเรียนแบบนี้มักเข้าไม่ถึงไฟฟ้ากระแสหลัก นานๆ ทีถึงจะลงมาซื้อของจากตลาด เพราะค่าเดินทางและขนส่งแพง ซื้ออาหารสดมาแล้วก็เก็บไว้ได้ไม่นาน เคยขึ้นไปบนดอยแล้วเจอว่าโรงเรียนเต็มไปด้วยโปรตีนเกษตรและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จัดการเรื่องอาหารลำบากมาก” เอก-ไตรรงค์ บัวสุวรรณ เล่า เขาเคยทำงานที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กอยู่ราว 6 ปีจนช่ำชองพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนย้ายมาร่วมทีม เพราะเห็นพ้องต้องกันกับพันธกิจที่มุ่งพัฒนาอาหารเด็ก 

สาม โรงเรียนประถมขยายโอกาสที่ต้องรับเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาเข้าเรียนด้วย เพราะอยู่ห่างไกลจากตัวเมือง อาจมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษามากถึงครึ่งหนึ่งของทั้งหมด แต่พวกเขาไม่ได้รับงบประมาณ 20 บาทที่อุดหนุนให้เด็กระดับชั้นประถมศึกษาด้วย โรงเรียนต้องหารเฉลี่ยจากเงินทั้งหมด ถ้าเป็นโรงเรียนแบบพักนอนด้วยก็ต้องดูแลให้ครอบคลุม 3 มื้อ ตกแล้วได้ค่าอาหารมื้อละ 9 – 15 บาทต่อคนเท่านั้น

ในปีนี้ การทำงานร่วมกันขยายเข้าไปครอบคลุมทั้งหมด 40 โรงเรียนใน 8 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง ตาก สกลนคร กาฬสินธุ์ เพชรบูรณ์ และปัตตานี โดยแต่ละพื้นที่มีลักษณะปัญหาไม่เหมือนกัน เช่น โรงเรียนที่ทำงานด้วยในภาคเหนือ เด็กมักอยู่ใกล้ครอบครัว แต่ยากจนมาก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ที่ไปทำงานในเมือง วิธีการแก้ไขปัญหาจึงต้องปรับตามสถานการณ์

แต่จุดร่วมที่โรงเรียนเหล่านี้มีเหมือนกัน และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานสำเร็จคือ ความสมัครใจและตั้งใจจริงของบุคลากร เพราะพวกเขาจะต้องร่วมทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พัฒนาสู่การเป็นผู้สร้างความยั่งยืนทางอาหารให้แก่เด็กๆ และพื้นที่ในระยะยาว

“เราไม่อยากเอาความช่วยเหลือไปให้ โดยไม่รู้ว่าเขาอยากได้หรือเปล่า หรือไม่มีพวกเขาอยู่ในกระบวนการเลย มันจะเป็นเพียงการให้แล้วจบไป แต่หัวใจสำคัญจริงๆ คือการพัฒนาร่วมกัน” รินเน้นย้ำ

Food4Good

FOOD FOR GOOD แก้ไขปัญหาโภชนาการ ผ่านการทำงาน 4 เรื่องหลักให้ Good คือ Food, Knowledge, Health และ Farm 

เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนสมัครร่วมโครงการ เส้นทางที่โรงเรียนต้องผ่านคือการทำแบบประเมิน ตอบคำถามวัดทัศนคติ และคุณครูที่รับหน้าที่ 4 ส่วนคือ ครูอาหาร ครูเกษตร ครูอนามัย และผู้อำนวยการโรงเรียน ต้องเข้ารับการอบรมกับทีมงานเพื่อเสริมความรู้ (Knowledge) 

“เราสอนแบบชวนเขาทำด้วยกัน โดยมีนักโภชนาการคอยให้คำแนะนำอยู่ตลอด เขาจะได้ลองวางแผน จัดการมื้ออาหารในแต่ละสัปดาห์ ให้มีสัดส่วนอาหารเหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัยและไม่จำเจ ตามวัตถุดิบที่มีในพื้นที่ จับคู่เมนูอาหารถูก ลงลึกไปถึงตอนตักเสิร์ฟควรเป็นแบบไหน เพราะเด็กแต่ละคนต้องการสารอาหารต่างกัน แต่ที่ผ่านมากลับได้รับเหมือนกันหมดเลย

“เด็กที่อ้วน เราจะไม่ห้ามเขากินเยอะ เขาเติมได้ แต่ครูต้องรู้ว่าควรตักอะไรให้เขา หรือใครที่ผอม ขาดสารอาหาร ก็ต้องตักให้เขาเพิ่มขึ้นอย่างถูกต้อง” ชมพู่เล่ากระบวนการที่สอดแทรกความพิถีพิถันไปถึงแต่ละทัพพี

ระหว่างทาง ทีมงานและคุณครูจะพูดคุย ดูรายการอาหารและติดตามผลทุกเดือน วัดน้ำหนัก ส่วนสูง เก็บข้อมูลเข้าระบบ เพื่อวัดผลว่างานที่ทำส่งผลต่อสุขภาพ (Health) ของเด็กในทางที่ดีขึ้นจริงไหม

“เราพบว่าเมื่อก่อนการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ผิดพลาดเยอะมาก บางโรงเรียนมีตาชั่งไม่ได้มาตรฐาน ไม้วัดเอียง บางทีผลกลายเป็นเด็กไม่ดีขึ้น ก็ต้องสอนวิธีติดตามผลใหม่ ตอนแรกกังวลว่าจะเป็นภาระเพิ่มเติมของคุณครูหรือเปล่า แต่ปรากฏว่าคุณครูต่างยินดีทำ เพราะเขาได้เห็นพัฒนาการของนักเรียนที่อาจมองตาเปล่าไม่เห็นจริงๆ”

เมื่อเปิดดูผลการดำเนินงานใน พ.ศ. 2563 ก็ถือว่าน่าชื่นใจ เพราะจำนวนเด็กในโครงการที่มีภาวะโภชนาการขาด ลดลง 58 เปอร์เซ็นต์ และภาวะโภชนาการเกินหรืออ้วน ลดลง 50 เปอร์เซ็นต์

ส่วนการระดมทุนและทรัพยากรเพื่อจัดสรรเป็นวัตถุดิบและอาหาร (Food) ก็ยังคงดำเนินต่อไปเช่นเคย เมื่อปีที่แล้ว โครงการระดมทุนได้ทั้งหมด 1,939,670 บาท ทุกสตางค์แปรเปลี่ยนกลายเป็นมื้ออาหารของเด็กนักเรียน 2,113 คน ส่วนในปีนี้ พวกเขาเปิดรับการบริจาคเข้าโครงการโดยตรงเพื่อความสะดวกอีกช่องทางหนึ่ง 

สร้างกลไกการมีส่วนร่วม

แต่ภารกิจของพวกเขายังไม่จบเพียงเท่านี้ แทนที่จะรีรอความช่วยเหลือ ทางทีมคิดกันต่อว่าโรงเรียนจะสร้างแหล่งอาหาร (Farm) ของตัวเองไว้เป็นวัตถุดิบและสินค้าที่สร้างรายได้อย่างไร 

“หลายแห่งทำเกษตรกรรมบ้างอยู่แล้ว เราจะเข้าไปเสริมเรื่องการวางแผน ชวนผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่มาให้ความรู้เรื่องการเกษตรปลอดภัย และเชื่อมต่อกับตลาดให้เกิดการขายผลิตภัณฑ์ นำรายได้เข้ากองทุนหมุนเวียนไว้จับจ่ายใช้สอย วิธีนี้ยังได้ปลูกฝังเด็กให้ดูแลพื้นที่ของตัวเอง ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวและอัดฉีดสารเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย” เจี๊ยบ-สิรินาท ต่อวิริยะเลิศชัย อดีตทีมงานของแพลตฟอร์มระดมทุนเทใจดอทคอม ที่หันมาลงมือดูแลโครงการอธิบาย

แต่เมื่องานเต็มไปด้วยรายละเอียด การขยายผลสู่วงกว้างย่อมเป็นไปได้ยากหากทำเพียงคนเดียว ทางทีมงานจึงเริ่มทำงานกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ส่งต่อข้อมูลและความรู้เรื่องโภชนาการสำหรับเด็ก ให้พวกเขาช่วยดูแลแต่ละโรงเรียน เข้าถึงนักเรียนมากขึ้น ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว 

ถึงจะติดขัดบ้าง จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้นักเรียนต้องเรียนที่บ้าน แต่ในวิกฤตนี้ เป็นโอกาสใหม่ให้คุณครูได้พูดคุยเชื่อมสัมพันธ์กับผู้ปกครองผ่านมื้ออาหาร ขยายความร่วมมือสู่ชุมชน 

“เราฝากให้โรงเรียนช่วยแนะนำ ติดตามว่าพ่อแม่ทำอะไรให้เด็กทานที่บ้านบ้าง และจัดเตรียมวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร โดยโรงเรียนจะส่งตัวอย่างเมนูไปให้ที่บ้านเลือกหรือเสนอเพิ่ม พอมารับใบงานที่โรงเรียนเมื่อไรก็รับวัตถุดิบตามที่ต้องการกลับไปด้วยเลย ส่วนครอบครัวไหนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ครูก็บอกเราว่าไม่เป็นปัญหา มีไปเยี่ยมบ้านเด็กอยู่แล้ว

“ตอนแรกกังวลเหมือนเดิมว่าจะเป็นภาระของผู้ปกครองไหม แต่ปรากฏว่าเขาสนใจ คุยเลือกเมนูกับลูก และถ่ายรูปกันมาอัปเดตในกลุ่มตลอดว่าวันนี้ทำอาหารอะไร” ชมพู่เล่าภาพที่เธอเห็นช่วงปีที่ผ่านมา การลงมือปฏิบัติตามโมเดลนี้ช่วยสร้างกลไกทางสังคมที่เข้มแข็งภายในเวลา 2 ปี คนในพื้นที่มีส่วนร่วมและเรียนรู้ไปด้วยกัน ถึงคุณครูจะย้ายไปทำงานที่อื่น ระบบจะยังดำเนินการต่อไปได้ไม่ยาก

“จริงๆ เราแค่เข้าไปเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่ง เราไม่มีทางรู้เรื่องในพื้นที่ดีมากกว่าไปเขาหรอก แค่แนะนำเฉยๆ สุดท้าย พวกเขาเองเป็นคนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

เติมฝันให้เต็มถาดหลุม

ในปีนี้ เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องโภชนาการให้สังคมรับรู้ว่า ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับเด็กในชนบทห่างไกลเท่านั้น แต่เป็นสถานการณ์ที่เด็กทั้งประเทศกำลังเผชิญจากวิกฤตที่เกิดขึ้นช่วงปีที่ผ่านมาโครงการจึงจัดแคมเปญ ‘เติมฝันให้เต็มถาดหลุม’ 

แคมเปญนี้ พวกเจาจับมือกับร้านอาหารและอินฟลูเอนเซอร์ ชวนออกแบบหรือเลือกเมนูพิเศษที่เป็นไปตามเกณฑ์ทางโภชนาการของ FOOD FOR GOOD ซึ่งบางเมนูทำได้ง่ายๆ ภายใต้ข้อจำกัดที่โรงเรียนมักมี รายได้ส่วนหนึ่งจากการขายเมนูนี้จะแบ่งปันไปเป็นมื้ออาหารที่มีคุณภาพของน้องๆ

“ปีนี้เราอยากเน้นการมีส่วนร่วมของแบรนด์กับลูกค้ามากกว่าเรื่องเงิน อยากให้ร้านอาหารกลับมาทบทวนว่า เมนูของเขาดีต่อลูกค้าจริงหรือเปล่า และคนสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น ปัญหานี้อาจดูไม่ได้เร่งด่วน คนไม่เห็นว่าส่งผลกระทบต่อการศึกษายังไง แต่ถ้ากินไม่อิ่ม สารอาหารไม่ครบ คนจะพัฒนาไปไม่ถึงจุดที่ควรเป็นจริงๆ 

“เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเด็กในพื้นที่ห่างไกลเท่านั้น แต่เกี่ยวกับทุกคนเลย เราไปคุยกับเชฟท่านหนึ่ง เขายังสงสัยขึ้นมาว่า ทุกวันนี้ลูกได้ทานอาหารที่ดีจริงหรือเปล่านะ หลายคนก็ไม่รู้ว่าที่ตัวเองกินอยู่ทุกวันนี้ดีจริงไหม อาจเพราะไม่ค่อยมีอะไรที่สื่อสารองค์ความรู้นี้กับพวกเขาอย่างน่าสนใจ เราจึงอยากใช้แคมเปญนี้สื่อสารว่า ปัญหาเรื่องอาหารของเด็กเป็นสิ่งที่พวกเราเกี่ยวข้องและร่วมช่วยกันได้ทั้งหมด”

คุณสามารถชิมหรือลองทำเมนูอาหารถาดหลุมที่คุณค่าครบถ้วน จากร้านอาหารและอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ ช่วงปลายปีนี้

แล้วอย่าลืมสำรวจมื้ออาหารของตัวเองและคนที่คุณรักด้วยนะ

การให้ที่ไม่จบแค่มื้ออาหาร

หลังจากล้มลุกคลุกคลาน ปรับเปลี่ยนโมเดล วันนี้โครงการดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 7 แล้ว การขับเคลื่อนนี้ช่วยเปิดมุมมองให้นักธุรกิจอย่างรินเข้าใจความเป็นไปของชีวิตที่อาจดูห่างไกลจากตัวเองมากขึ้น

“เราชื่นชมคุณครูในพื้นที่มาก เขาไม่ได้ให้การศึกษาอย่างเดียว แต่เป็นเหมือนอีกครอบครัวหนึ่งของเด็กๆ ดูแลไปถึงความเป็นอยู่รายบุคคล หลายคนรักในสิ่งที่ทำและเป็นห่วงนักเรียนและพื้นที่จริงๆ” รินกล่าว 

ความคาดหวังของรินและทีมงานต่อจากนี้คือ โมเดลที่พวกเขาสร้างจะถูกนำไปปรับใช้ในสังคม โดยไม่จำเป็นต้องมีชื่อของโครงการพวกเขาก็ได้ 

“เราคุยกันว่าอยากให้โมเดลแบบนี้เข้าไปอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียนและการอบรมครูทั่วประเทศไทย มันเป็นทักษะชีวิตหนึ่งที่ควรสอนไม่แพ้วิชาอื่น เรายินดีส่งต่อองค์ความรู้และประสบการณ์ให้ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ต่างๆ ไม่เพียงแค่โรงเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงมูลนิธิ สถานสงเคราะห์ และศูนย์เด็กเล็กที่น่าจะได้ประโยชน์จากโมเดลการจัดการแบบนี้”

เพื่อให้ทุกมื้ออาหารมีคุณภาพ ถูกหลักโภชนาการ เพียงพอต่อความต้องการ ไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้และเติบโตของเด็กไทยอีกต่อไป

ติดตามรายละเอียด ร่วมบริจาค ระดมทุน หรือเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับโครงการ เพื่อการให้ที่ไม่จบแค่มื้ออาหารที่ FOOD FOR GOOD

โทรศัพท์ : 0 2301 1149

Facebook : FOOD FOR GOOD

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน