ในภาวะที่โควิด-19 ยังระส่ำระส่าย จะเขยื้อนกายไปไหนมาไหนต้องคอยระวังเรื่องโรคภัยกันให้ดี หากเจ็บไข้ขึ้นมาทีก็อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพื้นที่เตียงและบริการต่าง ๆ ในโรงพยาบาลอาจต้องเผื่อไว้สำหรับผู้ป่วยโควิดเป็นส่วนมาก มนุษย์อินทรีย์ฉบับนี้จึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาเตรียมยาสามัญประจำบ้านแบบอินทรีย์ติดตู้ ติดบ้าน (และติดครัว) กันไว้ให้พร้อม ป่วยไข้เมื่อไหร่ก็หยิบใช้ได้ทันที ไม่ต้องวิ่งไปโรงพยาบาลหรือง้อยาเคมีให้ระคายตับไต

วิชารักษากายแบบชาวอินทรีย์ พร้อมสารพัดวิธีปรุงยาจากของใกล้ตัวและผักริมรั้วรอบบ้าน
ภาพ : สวนศิลป์หนองมน

หากลองแง้มเปิดตู้ยา เราเชื่อว่าแต่ละบ้านล้วนมียาสามัญต่าง ๆ ใส่ตู้ไว้ไม่ขาด บางชนิดรู้หน้าค่าตากันเป็นอย่างดี อย่างยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ ฯลฯ เพราะด้วยคุณสมบัติที่หลายคนเชื่อว่ากินปุ๊บ/ใช้ปุ๊บ หายปั๊บ ชะงัดอาการได้ทันใจ ไม่ต้องไปโรงพยาบาลทุกครั้งที่เจ็บป่วยให้เสียสตางค์ก้อนใหญ่ แต่น้อยคนจะรู้ว่าความรวดเร็วเหล่านี้ อาจแลกมาด้วยผลกระทบระยะยาวแบบไม่พึงประสงค์และการสะสมสารพิษในร่างกาย บางชนิดเป็นยาครอบจักรวาล กินแล้วหายขาดได้แทบทุกอาการ แต่ยาเจ้ากรรมดันไปออกฤทธิ์ทำงานกับอวัยวะส่วนใดบ้างก็ไม่อาจรู้ได้

วิชารักษากายแบบชาวอินทรีย์ พร้อมสารพัดวิธีปรุงยาจากของใกล้ตัวและผักริมรั้วรอบบ้าน
ภาพ : Little tree, house of learning

มนุษย์อินทรีย์อย่างเรามีหรือจะยอมแพ้ เพราะบรรดายาแก้พิษ แก้ไข แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ยังมีอีกหลายตำรับนอกจากยาเคมีเพียงอย่างเดียว วิธีง่ายแสนง่ายที่เหล่ากูรูด้านสุขภาพตามศาสตร์อินทรีย์ขอแนะนำ คือการเน้นย้ำให้เรารู้จักฟัง-ดูร่างกายของตนเองเป็นหลักและใช้ยาให้น้อยที่สุด (แถมยาที่ใช้ควรมาจากธรรมชาติล้วน ๆ ด้วยนะ)

อ่านร่างกายก่อนอ่านฉลาก

เพราะส่งเสียงเรียบเรียงเป็นคำพูดไม่ได้ ร่างกายจึงเลือกส่งสัญญาณผ่านอาการเจ็บป่วย ให้เรารับรู้ได้ถึงความผิดปกติภายในที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากเราลองสังเกต ทำความรู้จัก และใส่ใจร่างกายให้มาก ว่าสาเหตุของอาการเจ็บป่วยเหล่านั้นมีที่มาจากอะไร อาหาร อากาศ หรือสภาพร่างกายที่อ่อนแอ เราก็จะแก้ปัญหาได้จากต้นเหตุ และไม่จำเป็นต้องพึ่งยาสามัญประจำบ้านแบบเฉียบพลันอีกต่อไป

อย่างการแพทย์แผนมนุษยปรัชญา ที่บรรดากูรูอย่าง ครูนิตย์-ธรรมนนท์ กิจติเวชกุล โรงเรียนในสวนยาย, ครูจิ้ม-เฉลิมศรี บัตแลนด์ และ คุณปรินซ์-นคร ลิมปคุปตถาวร บ้านเจ้าชายผัก ต่างบอกต่อ ก็ให้ความสำคัญในเรื่องความสามารถของร่างกายที่ปรับสภาพและฟื้นฟูสมดุลได้ด้วยตัวเอง การปล่อยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ จนต่อสู้กับโรคต่าง ๆ ได้แบบหายขาด โดยไม่ได้เริ่มต้นจากการใช้ยาทันทีที่มีอาการ จึงเป็นการเยียวยารักษาที่ปลอดภัย ไม่ต้องกังวลใจเรื่องผลข้างเคียงร้ายแรง

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมหรือสารพิษเล็ดลอดเข้ามา สิ่งที่เจ้าของร่างกายอย่างเราจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยให้ทุเลาลงเร็วขึ้นได้ คือการทำให้ร่างกายทำงานขับสารพิษได้ง่ายขึ้น เช่น หากเรากินอาหารที่มีเชื้อโรคเข้าไป ร่างกายก็จะส่งการแจ้งเตือนผ่านอาการท้องเสียและเป็นไข้ หน้าที่ของเราคือดื่มน้ำให้มากขึ้น เติมเกลือแร่ให้ร่างกาย และปล่อยให้สารพิษเหล่านั้นถูกขับถ่ายออกมาให้หมด เพียงเท่านี้ก็หายขาดจากอาการท้องเสียได้โดยไม่ต้องกินยา ในทางกลับกัน หากเราเลือกที่จะกินยาหยุดถ่าย สารพิษที่ว่านี้ก็ไม่ได้ถูกขับออกหรืออันตรธานไปไหน หากแต่หมักบ่มสะสมไว้ในร่างกาย และอาจบานปลายกลายเป็นติดเชื้อในกระแสเลือด แค่ท้องเสียก็อันตรายถึงชีวิตได้เพราะยาเม็ดเดียว (น่ากลัวไหมล่ะ)

ความร้ายกาจของยาเคมียังมีอีกหลายตลบ ได้ยินแล้วอาจแทบลมจับ อย่างยาแก้ปวดลดไข้ หรือที่รู้จักกันดีในนามยาพาราฯ (Paracetamol) เชื่อว่าหลายคนอาจพกติดกระเป๋าไว้ไม่ขาด เจ็บปวดตรงไหนก็หายได้ทันทีแค่หยิบเข้าปาก ทำหน้าที่เป็นยารักษาทางใจไปในตัว 

แม้ในทางการแพทย์จะไม่ถือว่าพาราฯ เป็นยาอันตราย และไม่ทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร แต่หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานหรือใช้ยาเกินขนาด ก็อาจส่งผลต่อร่างกายเช่นเดียวกัน บางคนใช้ยาพร่ำเพรื่อจนติดเป็นนิสัย ปวดนิดปวดหน่อยก็ต้องใช้พาราฯ เข้าสู้ ผลข้างเคียงที่ตามมาอาจมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก ไปจนถึงอาการร้ายแรงอย่างการเกิดภาวะตับเป็นพิษ ทางที่ดีหากมีความจำเป็นต้องใช้ แนะนำว่าให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามน้ำหนักตัว และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ที่สำคัญ อย่าลืมอ่านฉลากก่อนใช้ยาทุกครั้ง

ส่วนขั้นกว่าของยาพาราฯ อย่างยาไอบูโพรเฟ่น (Ibuprofen) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่แรงกว่า ใช้รักษาอาการไข้ อาการอักเสบ ปวด บวมของกระดูกหรือกล้ามเนื้อ แต่ไม่ควรใช้ขณะท้องว่าง เพราะตัวยามีฤทธิ์กัดกระเพาะ ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินอาหารได้ ในทางการแพทย์ยังแนะนำว่าควรใช้ยาชนิดนี้ในปริมาณต่ำสุดที่สามารถรักษาอาการได้ เพราะอาจเกิดอาการข้างเคียงต่อร่างกายได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีอาการแพ้ ทั้งคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย หายใจลำบาก เกิดผื่นลมพิษ บวมแดง ไปจนถึงอาการร้ายแรงที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ฟังแล้วน่ากลัวเอามาก ๆ อย่างภาวะโลหิตจาง ไตวาย หรือตับอักเสบ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ทุกครั้ง หากซื้อเองกินเองพร่ำเพรื่ออาจป่วยหนักแบบไม่รู้ตัวได้

อีกหนึ่งยายอดฮิตติดท็อป อย่างยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ ช่วยแก้อาการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เจ็บคอ ทอนซิลอักเสบ ท้องเสีย หรือมีแผลอักเสบ เป็นที่รู้กันว่าต้องทานต่อเนื่องให้ครบโดส เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดและป้องกันไม่ให้เชื้อดื้อยา แต่ปัญหาอยู่ที่หลายคนดันดื้อกว่ายา เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็หยุดทานไปเองเสียอย่างนั้น คราวหน้าหากเกิดอาการแบบเดิม ก็อาจต้องใช้ยาชนิดที่ออกฤทธิ์แรงขึ้น (และแพงขึ้น) เพื่อฆ่าเชื้อโรคให้ทันใจ จนกระทั่งอาจไม่มียาชนิดใดที่ร่างกายตอบสนองและใช้ได้ผลอีกต่อไป และอย่าลืมว่ายาฆ่าเชื้อก็ฆ่าทั้งเชื้อดีและเชื้อร้าย ผลสุดท้ายเราจึงกลายเป็นคนปลอดเชื้อและปลอดภูมิคุ้มกันจนเหี้ยน คราวนี้แหละ อาการแพ้นู่นแพ้นี่จะต่อแถวมาเป็นพรวน เพราะไม่มีหน่วยรบมาช่วยสู้กับเชื้อโรคใด ๆ อีกแล้ว

ใช่จะมีแต่ยากินที่อันตราย ยาใช้ภายนอกอย่างยาทาก็น่ากลัวไม่เบา ใครที่มีปัญหาผื่นคันและเป็นลมพิษบ่อย ๆ น่าจะคุ้นเคยกับยาทาแก้แพ้ชนิดผสมสเตียรอยด์เป็นอย่างดี ไม่เถียงว่าทาปุ๊บผื่นหายปั๊บราวกับเสกได้ เพราะเจ้าสเตียรอยด์จะเข้าไปต้านอาการอักเสบ ทั้งอาการเจ็บปวดบวมแดงของเนื้อเยื้อภายใน แต่หากใช้ในปริมาณสูงหรือได้รับยานานเกินไป ภัยร้ายที่แฝงมาก็พร้อมแผลงฤทธิ์ทันที ทั้งผิวหนังบาง เกิดการอักเสบ แตกลาย และทำให้เรากลายเป็นคนผิวแพ้ง่าย ต่อจากนี้จะใช้สกินแคร์หรือครีมบำรุงผิวตัวใดก็ไม่ได้ เพราะดันแพ้ ๆๆๆ ไปเสียหมด จึงควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษา หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งหากจำเป็นต้องซื้อยาสเตียรอยด์สำหรับทาภายนอกใช้เอง

วิชารักษากายแบบชาวอินทรีย์ พร้อมสารพัดวิธีปรุงยาจากของใกล้ตัวและผักริมรั้วรอบบ้าน
ภาพ : Little tree, house of learning

ฟังก์ชันหน้าที่ของยา คือรักษาอาการเจ็บปวดหน้างานให้หายเป็นปลิดทิ้งจนเราเผลอวางใจว่าหายดี แต่ผลร้ายบั้นปลายก็ไม่ได้หนีหายตามอาการเหล่านั้น หากแต่วนเวียนสะสมอยู่ในร่างกาย กว่าจะขับออกไปได้ เราก็เผลอกินยาแก้ปวดเม็ดใหม่เข้าไปอีกรอบซะแล้ว 

เมื่อรู้อย่างนี้ว่ายาเคมีอันตรายกว่าที่คาดคิด มนุษย์อินทรีย์จึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาเคลียร์พื้นที่ในตู้ยา แล้วแทนที่ด้วยแนวทางการบำบัดรักษาจากธรรมชาติ ที่มีฟังก์ชันช่วยเสริมให้ร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล แก้อาการเจ็บป่วยจากต้นเหตุ แถมยังมีให้เลือกทำ เลือกกิน เลือกใช้กันหลายตำรับ เจ็บตรงไหน ปวดตรงไหน เชิญเลือกใช้ได้ตามอาการ

วิชารักษากายแบบชาวอินทรีย์ พร้อมสารพัดวิธีปรุงยาจากของใกล้ตัวและผักริมรั้วรอบบ้าน
ภาพ : The Living GIFT

แต่อย่าลืมว่ารายนามสูตรทั้งหลายด้านล่าง เป็นเพียงแนวทางการดูแลรักษาในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นยาเคมีหรือธรรมชาติ หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานและใช้ไม่ถูกวิธี ก็อาจส่งผลข้างเคียงได้ทั้งนั้น ที่สำคัญ หากใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้นก็อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ตามแนวทางที่เราเลือกรักษา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือแนวมนุษยปรัชญา จึงจะปลอดภัยที่สุด

  1. หมวดฆ่าเชื้อ ล้างแผล รักษาแผล

วัตถุดิบอย่างแรกที่อยากแนะนำและหาได้ง่ายใกล้ตัวเอามาก ๆ คือเกลือ เพียงนำมาละลายน้ำสะอาดแล้วใช้ล้างแผล รักษาแผล ฆ่าเชื้อ หรือใช้เกลือโปะแผลถลอก นอกจากนี้ยังใช้น้ำเกลือกลั้วคอเพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอ หรือผสมน้ำสำหรับเช็ดตัวลดไข้ได้ด้วย (สูตรยาของ ป้าจันทร์-ลภัสรดา ทศรัศมิ์ สวนศิลป์หนองมน) 

วิชารักษากายแบบชาวอินทรีย์ พร้อมสารพัดวิธีปรุงยาจากของใกล้ตัวและผักริมรั้วรอบบ้าน
ภาพ : สวนฮอมผญา

ถัดมาคือ น้ำผึ้ง หากโดนมีดบาด ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ แล้วเอาน้ำผึ้งป้ายลงบนแผลเพื่อฆ่าเชื้อ จะช่วยลดการอักเสบได้เป็นอย่างดี (สูตรยาของ พี่ปิ๋ม-ศิริลักษณ์ ริ้วบำรุง Whispering Land)

วิชารักษากายแบบชาวอินทรีย์ พร้อมสารพัดวิธีปรุงยาจากของใกล้ตัวและผักริมรั้วรอบบ้าน

หากใครปลูกต้นสาบเสือ ก็ห้ามเลือดได้ดีเช่นเดียวกัน เมื่อมีแผลสด ระหว่างที่ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ให้นำใบสาบเสือมาขยี้หรือตำให้พอละเอียด แล้วโปะลงไปที่บาดแผล จะช่วยห้ามเลือดให้หยุดไหลได้เร็วขึ้น แต่อย่าลืมล้างใบสาบเสือให้สะอาดก่อนนำมาใช้ อาจล้างด้วยด่างทับทิม เกลือ หรือน้ำส้มสายชูก็ได้ ไม่อย่างนั้นอาจมีเชื้อโรคปะปนมาด้วย ทำให้ติดเชื้อมากขึ้นไปอีก (สูตรยาของ พี่นก-พรนภา อนะหันลิไพบูลย์)

  1. หมวดบรรเทาอาการแสบร้อน ผื่นคัน แมลงกัดต่อย
วิชารักษากายแบบชาวอินทรีย์ พร้อมสารพัดวิธีปรุงยาจากของใกล้ตัวและผักริมรั้วรอบบ้าน
ภาพ : Little tree, house of learning

นอกจากนำมาปรุงอาหารอร่อยแล้ว หากโดนมดหรือแมลงกัดต่อย ลองเก็บใบตำลึงมาล้างให้สะอาด (อาจล้างด้วยด่างทับทิม เกลือ หรือน้ำส้มสายชู) แล้วขยี้ให้พอละเอียด โปะลงบนตุ่มเม็ดบนผิวหนัง ด้วยฤทธิ์เย็นภายในใบ จะช่วยบรรเทาอาการคันและอาการแสบร้อนได้ (สูตรยาของ พี่ปิ๋ม-ศิริลักษณ์ ริ้วบำรุง Whispering Land)

วิชารักษากายแบบชาวอินทรีย์ พร้อมสารพัดวิธีปรุงยาจากของใกล้ตัวและผักริมรั้วรอบบ้าน
ภาพ : Little tree, house of learning

อีกหนึ่งต้นพืชที่ขึ้นชื่อเรื่องฤทธิ์เย็น หนีไม่พ้นว่านหางจระเข้ หากโดนน้ำร้อนลวกหรือผิวไหม้แดด ให้นำว่านหางจระเข้มาปอกเปลือก ล้างยางออก แล้วนำเนื้อมาโปะหรือทาบริเวณที่มีอาการ นอกจากช่วยประโลมผิวจากอาการแสบร้อนแล้ว ยังช่วยเติมความชุ่มชื้นให้กับผิวกาย หรือจะใช้กับผิวหน้าก็ได้เช่นกัน (สูตรยาของ พี่ปิ๋ม-ศิริลักษณ์ ริ้วบำรุง Whispering Land)

วิชารักษากายแบบชาวอินทรีย์ พร้อมสารพัดวิธีปรุงยาจากของใกล้ตัวและผักริมรั้วรอบบ้าน
ภาพ : Little tree, house of learning

หากใช้โปะผิวแล้วเนื้อว่านหางจระเข้ยังเหลืออยู่ อย่าเพิ่งทิ้งเชียวนะ เพราะหากเอาเนื้อวุ้นไปแช่เย็นแล้วทานสด จะช่วยลดเรื่องอาการอักเสบภายในได้ด้วย ส่วนใครที่ติดหวานก็อย่าเผลอเติมน้ำตาลลงไป เพราะน้ำตาลจะไปเร่งการอักเสบให้รุนแรงขึ้นได้ (สูตรยาของ ครูจิ้ม-เฉลิมศรี​ บัต​แลนด์​)

  1. หมวดบรรเทาอาการปวดเมื่อย อ่อนเพลีย

พืชเหง้าสารพัดประโยชน์อย่างขิง นำมาใช้ต้มเป็นชาเพื่อบรรเทาอาการเมื่อยล้า เสริมร่างกายให้มีพลัง หรือใครอยากใช้วิธีประคบร้อนก็ตามสะดวก เพียงนำขิงแก่มาขูดหรือสับ แล้วห่อด้วยผ้าขาวบางหรือผ้าก๊อซเตรียมไว้ โดยก่อนประคบให้ลองเช็กก่อนว่าเท้าเย็นหรือไม่ หากเย็นให้ใช้ผ้าคลุมแล้ววางกระเป๋าน้ำร้อนทับเท้าให้อุ่น เพื่อให้ความร้อนคืนเข้าสู่ร่างกาย การฟื้นฟูต่าง ๆ ก็จะทำได้ดีขึ้น จากนั้นนำผ้าห่อขิงที่เตรียมไว้มาวางบริเวณแผ่นหลังตรงตำแหน่งไต ใช้ผ้าสะอาดวางทับและห่อตัวไว้ (หากหาได้ ให้ใช้ผ้าฝ้าย ผ้าเส้นใยออร์แกนิกหรือผ้าขนสัตว์) ตามด้วยวางกระเป๋าน้ำร้อน และห่อตัวด้วยผ้าขนหนูอีกชั้นหนึ่ง (สูตรยาของ ครูนิตย์-ธรรมนนท์ กิจติเวชกุล โรงเรียนในสวนยาย)

อีกหนึ่งวิธีประคบร้อน ที่ช่วยเสริมภูมิต้านทานและแก้อาการปวดเมื่อยได้อยู่หมัด วิธีการคือให้ประคบเรียงตามลำดับ ตั้งแต่ต่อมไทมัส ตับ ม้าม ลำไส้ (รอบสะดือ) ไตทั้ง 2 ข้าง ก้นกบ ไล่ลงไปจนถึงฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้าง เมื่อรู้สึกร้อนแล้วจึงเอากระเป๋าน้ำร้อนออกและใช้ฝ่ามือทาบไว้ให้ความอุ่นซึมลงไปใต้ผิวหนัง ทำแบบนี้จุดละประมาณ 5 นาที ก็จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนพลังชีวิต ปรับสมดุลให้ภูมิคุ้มกันและอวัยวะภายในได้ด้วย (สูตรยาของ คุณปรินซ์-นคร ลิมปคุปตถาวร บ้านเจ้าชายผัก) 

อ้อ คุณหมอฝากมาบอกว่า สำหรับผู้มีภาวะเบาหวานหรือกระดูกทับเส้นประสาทที่มีอาการชา อาจไม่เหมาะกับวิธีรักษาด้วยการประคบร้อนทั้งหลาย เพราะเจ้าตัวอาจไม่รู้สึกว่าร้อนเกินไปหรือไม่ และอาจเป็นอันตรายได้หากร่างกายสัมผัสกับความร้อนมากเกินไป

  1. หมวดบรรเทาอาการเวียนหัว เมารถ 

ใครที่เดินทางไกลบ่อย ๆ อาจประสบปัญหาเมารถ เมาเรือ หรือร่างกายปรับสภาพไม่ทันเพราะอากาศเปลี่ยนกะทันหัน ลองใช้ขิงซอย ข้าวเหนียวคั่ว น้ำผึ้ง และน้ำอุ่น ใส่ลงในเหยือกแก้วคนให้เข้ากัน ดื่มแล้วจะช่วยให้อาการเมารถ เมาเรือ รวมไปถึงอาการอ่อนเพลียเวียนหัวต่าง ๆ ดีขึ้นมากทีเดียว (สูตรยาของอาทู่ ศูนย์วัฒนธรรมอาข่า) 

  1. หมวดบรรเทาอาการปวดท้อง แน่นท้อง ปวดท้องประจำเดือน

พืชยอดฮิตที่มีติดริมรั้วแทบทุกครัวเรือนอย่างกะเพรา นำใบมาต้มในน้ำสะอาดเพื่อใช้ดื่มเป็นชาแก้อาการปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยเรื่องอาการไอ ลดไข้ ขับเหงื่อ หรือจะใช้เป็นสมุนไพรไล่ยุงแบบธรรมชาติก็ได้ด้วย ปลูกต้นเดียวใช้ได้ครอบจักรวาล (สูตรยาของเฟิร์น ศรีปุงวิวัฒน์)

 ต่อกันที่อีกหนึ่งปัญหาโลกแตกของผู้หญิงอย่างอาการปวดท้องประจำเดือน หลายคนจึงเลือกตัดปัญหาความทรมานด้วยการใช้ยาแก้ปวดให้รู้แล้วรู้รอดกันไป แต่จริง ๆ แล้วเราบรรเทาอาการปวดเหล่านี้ได้ด้วยการทานอาหารประเภทเต้าหู้ นมถั่วเหลือง หรือโยเกิร์ต โดยแนะนำว่าควรทานล่วงหน้าก่อนประจำเดือนมาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะให้ผลลัพธ์ดีที่สุด (สูตรยาของพรนภา อนะหันลิไพบูลย์)

  1. หมวดบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ รักษาเหงือก ดูแลสุขภาพช่องปาก
พืชสรรพคุณเป็นยา : สารพัดตำรับดูแลร่างกายด้วยตนเอง ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย บรรเทาได้แม้ไม่ใช้ยาเคมี พร้อมพิกัดแหล่งยาอินทรีย์ทั่วไทย
ภาพ : สวนศิลป์หนองมน

สูตรยาแก้เจ็บคอขวัญใจวัยเด็กวัยโต อย่างน้ำผึ้ง มะนาว เกลือ สามสหายนี้นอกจากให้รสอร่อย เปรี้ยวนิด หวานหน่อย ตัดเค็มอย่างลงตัว ยังช่วยเสริมสรรพคุณให้กันและกันอย่างไม่น่าเชื่อ โดยมะนาวที่มีฤทธิ์เป็นกรด จะทำหน้าที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำคอ ส่วนน้ำผึ้งจะช่วยสมานแผลจากการกัดกร่อนของน้ำมะนาวในช่องปาก แต่เพราะน้ำผึ้งมีฤทธิ์ร้อน หลังจากหายเจ็บคอจึงอาจเป็นร้อนในต่อได้ จึงต้องใช้เกลือที่มีฤทธิ์เย็นผสมเข้าไปทำให้สมดุล ส่วนจะผสมแต่ละอย่างมากน้อยเท่าไหร่ แค่ชิมให้ได้รสกลาง ๆ ไม่หวานไป ไม่เปรี้ยวไป ก็เป็นอันใช้ได้ (สูตรยาของเชฟแบล็ก-ภานุภน บุญสุวรรณ)

แม้ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าการประคบร้อนด้วยมันฝรั่ง จะช่วยเรื่องอาการไอ เจ็บคอ หรือมีเสมหะได้เหมือนกัน วิธีการใช้ให้หั่นมันฝรั่งเป็นแว่นหนาประมาณ 1 – 2 นิ้ว ต้มให้สุกจนนิ่ม จากนั้นห่อด้วยผ้าแล้วนำมาประคบบริเวณแผ่นหลัง ในตำแหน่งที่ตรงกับปอดประมาณ 2 รอบ แล้วจึงเปลี่ยนมาประคบด้านหน้าในตำแหน่งเดียวกัน โดยให้ประคบอย่างต่อเนื่องจนกว่ามันฝรั่งจะเย็น (สูตรยาของครูหมวย บ้านไม้หอม และ HEALTH FROM HOME)

พืชสรรพคุณเป็นยา : สารพัดตำรับดูแลร่างกายด้วยตนเอง ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย บรรเทาได้แม้ไม่ใช้ยาเคมี พร้อมพิกัดแหล่งยาอินทรีย์ทั่วไทย
ภาพ : AGRILIFE / อะกรีไลฟ์

อีกหนึ่งสูตรยาอย่างการใช้น้ำมันมะพร้าวบ้วนปาก หรือที่หลายคนรู้จักในนาม ออยล์ พูลลิ่ง ให้ใช้มันมะพร้าวบริสุทธิ์สกัดเย็นประมาณ 2 – 3 ช้อนชา กลั้วให้ทั่วช่องปากเป็นเวลา 15 – 20 นาที จากนั้นจึงบ้วนปากตามด้วยน้ำสะอาด 2 – 3 ครั้ง โดยผลจากการวิจัยยังช่วยยืนยันว่า การทำออยล์ พูลลิ่ง ด้วยน้ำมันมะพร้าว จะช่วยลดจุลินทรีย์ก่อโรคในช่องปาก และยังช่วยลดความเสี่ยง บรรเทาอาการจากโรคเหงือกได้อีกด้วย (สูตรของ พี่เยา-เยาวดี ชูคง) 

อ้างอิงผลการวิจัยจาก pubmed.ncbi.nlm.nih.gov

  1. หมวดระบายสารพิษ ช่วยเรื่องการขับถ่าย

ไม่ต้องพึ่งอาหารเสริมชนิดไฟเบอร์หรือยาดีท็อกซ์ที่ไหน เพียงเลือกทานอาหารให้ถูกประเภทและพยายามขับถ่ายให้ได้ทุกวัน ก็จะช่วยขจัดพิษในร่างกายออกไปได้อย่างหมดจด อย่างการทานผักและโพรไบโอติกจากอาหารหมักดอง เช่น โยเกิร์ต เทมเป้ แหนม ถั่วเน่า ข้าวแช่ ฯลฯ นอกจากนี้การดื่มน้ำมันมะพร้าววันละ 1 ช้อนโต๊ะ ก็ช่วยให้เราขับถ่ายได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องลำบากลำไส้ให้ทำงานหนัก (สูตรของพรนภา อนะหันลิไพบูลย์และพี่เยา) 

  1. หมวดลดไข้ยอดนิยม

นอกจากใช้ดื่มแก้อาการเจ็บคอ-กระหายน้ำแล้ว น้อยคนจะรู้ว่าน้ำมะนาว นำมาใช้เช็ดตัวไล่พิษไข้ได้ด้วย เพียงนำมะนาวผ่าครึ่งลูกตามขวาง แล้วบีบลงในน้ำอุ่นให้มีกลิ่นน้ำมันหอมระเหยของเปลือกมะนาวออกมา ใช้ผ้าชุบน้ำมะนาวที่ได้แล้วนำไปเช็ดตัวทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณต่อมน้ำเหลืองและตามข้อพับต่าง ๆ ที่สำคัญให้แบ่งไว้ส่วนหนึ่งสำหรับการแช่เท้า โดยควรแช่ให้พ้นระดับตาตุ่มขึ้นมา วิธีนี้จะช่วยลดไข้ แก้อาการตัวร้อน ปรับสมดุลอุณหภูมิ และทำให้ความร้อนไม่ไปกระจุกอยู่ที่ศีรษะ อาการปวดหัวก็จะทุเลาลงด้วยเช่นกัน (สูตรยาของเฉลิมศรี​ บัต​แลนด์​ และ คุณปรินซ์-นคร ลิมปคุปตถาวร บ้านเจ้าชายผัก) 

พืชสรรพคุณเป็นยา : สารพัดตำรับดูแลร่างกายด้วยตนเอง ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย บรรเทาได้แม้ไม่ใช้ยาเคมี พร้อมพิกัดแหล่งยาอินทรีย์ทั่วไทย

ส่วนใครปลูกต้นรางจืดก็ใช้ลดไข้ได้ดี แต่อาจต้องระวังเรื่องปริมาณและวิธีใช้กันเสียหน่อย เพราะรางจืดเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น จึงไม่เหมาะกับผู้หญิงในช่วงมีรอบเดือน เพราะจะทำให้ร่างกายอุณหภูมิต่ำลงอย่างรวดเร็วและอาจมีไข้เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ยังไม่เหมาะกับผู้ที่มีภาวะโรคตับ ไต เพราะอาจทำให้ไตวายเฉียบพลัน วิธีการใช้ให้นำใบรางจืด 5 – 7 ใบ ล้างให้สะอาดแล้วต้มในน้ำจนเดือด ทิ้งไว้ 15 – 20 นาที ใช้ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 4 – 5 ครั้ง (สูตรยาของเชฟแบล็ก)

แม้แต่การทานอาหารเป็นยาก็ช่วยรักษาอาการไข้ได้ อย่างใบมะรุม แนะนำให้ลองเอามาใส่ในแกงจืดหมูสับ แกงส้ม หรือใส่ในไข่เจียว หรือพืชผักชุดต้มยำ อย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว ผักเหล่านี้นอกจากทานอร่อยแล้ว สรรพคุณเรื่องลดไข้ก็ดีงามไม่น้อยเลยนะ! (สูตรยาของเฉลิมศรี​ บัต​แลนด์​)

ตบท้ายด้วยสูตรยาสุมโปงจากหอมแดง เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับใครที่มีอาการคัดจมูกหรือหายใจติดขัดจากเชื้อหวัด เพียงใช้หอมแดงต้มน้ำแล้วสุมโปงไว้จนอาการดีขึ้น หรือเอามาวางที่หมอนเวลานอน ก็จะช่วยให้หายใจโล่งขึ้นเยอะ (สูตรยาของเฟิร์น ศรีปุงวิวัฒน์)

อีกหนึ่งยาสามัญประจำบ้าน ที่จัดหมวดหมู่ให้อยู่ในกลุ่มอาการใดไม่ได้ เพราะช่วยป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นได้สารพัด นั่นคือการดื่มน้ำเปล่า ช่วยบรรเทาทั้งอาการร้อนใน ท้องผูก ท้องเสีย ล้างพิษ ปวดหัว เป็นไข้ ฯลฯ เจ็บป่วยตรงไหน เรียกใช้น้ำเปล่าก่อนได้ในเบื้องต้น

ตบท้ายด้วยร้านยาธรรมชาติสามัญประจำบ้านและสถานเยียวยากายใจแนวมนุษย์อินทรีย์ ที่ยินดีจ่ายยาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้อย่างดี แถมมีความสบายใจเป็นของแถมให้ เพราะไม่ต้องพึ่งสารเคมีใด ๆ เลยแม้แต่น้อย

แหล่งยาธรรมชาติสามัญประจำบ้าน

1. น้ำผึ้ง HIN LAD NAI

พืชสรรพคุณเป็นยา : สารพัดตำรับดูแลร่างกายด้วยตนเอง ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย บรรเทาได้แม้ไม่ใช้ยาเคมี พร้อมพิกัดแหล่งยาอินทรีย์ทั่วไทย
ภาพ : Tot Hinlad

มิตรรักแฟนน้ำผึ้งต้องถูกใจ เพราะน้ำผึ้ง HIN LAD NAI จากที่ราบสูงเชียงรายเจ้านี้ ผลิตจากน้ำผึ้งป่าออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ผ่านการแต่งกลิ่นหรือเติมสารให้ความหวานใด ๆ กลิ่นหอมและรสชาติที่ได้จึงมั่นใจว่ามาจากธรรมชาติส่งตรงจากผืนป่าของแท้ อัดแน่นด้วยวิตามินและแร่ธาตุ จะใช้ปรุงอาหารคาวหวาน หรือทานเป็นยารักษาอาการเจ็บป่วยแบบมนุษย์อินทรีย์ก็ดีงาม

Facebook : Tot Hinlad

2. น้ำผึ้งฮอมผญา 

พืชสรรพคุณเป็นยา : สารพัดตำรับดูแลร่างกายด้วยตนเอง ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย บรรเทาได้แม้ไม่ใช้ยาเคมี พร้อมพิกัดแหล่งยาอินทรีย์ทั่วไทย
ภาพ : สวนฮอมผญา

ใครอยากรู้ว่าหวานปานน้ำผึ้งเดือนห้าเป็นอย่างไร ต้องลองอุดหนุนน้ำผึ้งป่าเดือนห้า จากสวนฮอมผญา จังหวัดพะเยา ไปลองชิม นอกจากรสชาติดีเพราะเก็บด้วยกรรมวิธีธรรมชาติแล้ว ฮอมผญายังเป็นน้ำผึ้งที่ทานแล้วช่วยเสริมพลังชีวิตและสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง จะโรคภัยหน้าไหนก็ไม่กลัว

Facebook : สวนฮอมผญา

3. เกลือ เดอะมนต์รักแม่กลอง

พืชสรรพคุณเป็นยา : สารพัดตำรับดูแลร่างกายด้วยตนเอง ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย บรรเทาได้แม้ไม่ใช้ยาเคมี พร้อมพิกัดแหล่งยาอินทรีย์ทั่วไทย
ภาพ : เดอะมนต์รักแม่กลอง สมุทรสงคราม

เกลือเม็ดใหญ่ เกรดคัดพิเศษจากผืนนาเกลือสมุทรสงคราม ด้วยกระบวนวิธีนำน้ำทะเลมาตากแดดตากลม จนตกผลึกเป็นสีขาวบริสุทธิ์ ให้รสชาติเค็มอมหวาน และมีไอโอดีนธรรมชาติที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้งยังมีให้เลือกซื้อเลือกใช้ตามวัตถุประสงค์กันถึง 4 แบบ ทั้งแบบดอกเกลือ เกลือแก้ว เกลือขาว และเกลือกลาง จำหน่ายในราคาย่อมเยาสบายกระเป๋า แถมยังได้อุดหนุนเหล่าเกษตรกรชาวนาเกลือไปในตัว

Facebook : เดอะมนต์รักแม่กลอง สมุทรสงคราม

4. ดอกเกลือตัวผู้ สวนศิลป์หนองมน

พืชสรรพคุณเป็นยา : สารพัดตำรับดูแลร่างกายด้วยตนเอง ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย บรรเทาได้แม้ไม่ใช้ยาเคมี พร้อมพิกัดแหล่งยาอินทรีย์ทั่วไทย
ภาพ : สวนศิลป์หนองมน

ความพิเศษของเกลือจากที่นี่อยู่ที่ผลิตภัณฑ์เกลือตัวผู้คัดพิเศษ จากผืนนาเกลือคลองตำหรุผืนสุดท้ายของจังหวัดชลบุรี รูปทรงผลึกเรียวแหลมแปลกตา ใช้อมเป็นยาแก้อาการไอ เจ็บคอ ละลายเสมหะ เพราะมีสรรพคุณช่วยฆ่าเชื้อราและเเบคทีเรียได้อย่างเห็นผล ที่สำคัญกว่าจะได้เกลือแต่ละเม็ดไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นชนิดที่หายากและมีน้อย จึงต้องคอยนั่งคัดกันทีละตัวเลยทีเดียว

โทรศัพท์ : 08 9699 7179, 09 5585 8871

Facebook : สวนศิลป์หนองมน

5. มะนาว สวนมะนาวแป้นจงจิตร อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

พืชสรรพคุณเป็นยา : สารพัดตำรับดูแลร่างกายด้วยตนเอง ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย บรรเทาได้แม้ไม่ใช้ยาเคมี พร้อมพิกัดแหล่งยาอินทรีย์ทั่วไทย
ภาพ : The Living GIFT

มะนาวแป้นอินทรีย์ที่ปลูกและดูแลแบบวิถีธรรมชาติโดยครอบครัวของ จิ๊ก-สุณัฐลินี สินพรม ปราศจากสารเคมีทุกชนิด ด้วยความดูแลใส่ใจอย่างดี จึงทำให้มะนาวเปลือกบาง น้ำเยอะและหอมมาก จนได้รับความไว้วางใจจากสาวกชาวอินทรีย์มาอย่างยาวนาน อุดหนุนไปรับรองไม่มีผิดหวัง ส่งตรงจากผืนไร่ในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

โทรศัพท์ : 09 2956 3994

Facebook : The Living GIFT

6. น้ำมะพร้าว สวนป่ามะพร้าวลุงวิท

พืชสรรพคุณเป็นยา : สารพัดตำรับดูแลร่างกายด้วยตนเอง ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย บรรเทาได้แม้ไม่ใช้ยาเคมี พร้อมพิกัดแหล่งยาอินทรีย์ทั่วไทย
ภาพ : สวนป่ามะพร้าวลุงวิท

มะพร้าวน้ำหอม ผลผลิตจากสวนป่ามะพร้าวมาตรฐานออร์แกนิก เนื้อบางนุ่ม หอมหวาน ได้รับการรับรองมาตรฐาน IFOAM และปลูกด้วยกรรมวิธีรักษาสิ่งแวดล้อมแบบ Zero Waste สร้างสวนมะพร้าวให้เป็นผืนป่า ช่วยรักษาสมดุลและคืนความสมบูรณ์ให้สิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน

โทรศัพท์ : 08 1409 4964

Facebook : สวนป่ามะพร้าวลุงวิท

Line Official Account : cocowittaya

7. น้ำมันมะพร้าวสะกัดเย็น Agrilife

พืชสรรพคุณเป็นยา : สารพัดตำรับดูแลร่างกายด้วยตนเอง ปวดหัว ตัวร้อน ไม่สบาย บรรเทาได้แม้ไม่ใช้ยาเคมี พร้อมพิกัดแหล่งยาอินทรีย์ทั่วไทย
ภาพ : AGRILIFE / อะกรีไลฟ์

น้ำมันมะพร้าวอินทรีย์สกัดเย็นจากธรรมชาติ ปราศจากปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมนสังเคราะห์และการดัดแปลงพันธุกรรม การันตีด้วยมาตรฐานออร์แกนิกระดับสากลจากหลายเวที ให้กลิ่นหอมอ่อน ๆ เหมือนมะพร้าวสด เนื้อสัมผัสบางเบา ทานง่าย เก็บได้นาน ไม่มีกลิ่นเหม็นหืนหรือเหม็นเปรี้ยวมากวนใจ ทั้งยังมีสรรพคุณหลากหลายใช้ได้ตามชอบ ทั้งปรุงอาหาร ทานเป็นยา เสริมความงาม ไปจนถึงบำรุงผิวพรรณ 

โทรศัพท์ : 0 2714 1167

Facebook : AGRILIFE / อะกรีไลฟ์

เว็บไซต์ : www.agrilife.co.th/

8. คลังความรู้เสริมภูมิคุ้มกันและพลังชีวิต ครูนิตย์ โรงเรียนในสวนยาย

โรงเรียนแห่งนี้ไม่มีเนื้อหาวิชาการเคร่งเครียดให้นักเรียนแต่อย่างใด แต่กลับมอบพื้นที่ให้แก่การแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และเรียนรู้วิชาชีวิต ที่ช่วยปรับสมดุลและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทั้งกายใจให้แข็งแกร่ง โดยติดตามข่าวสารการเปิดคอร์สเสวนาและกิจกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้ทางหน้าเพจ รับรองว่าหลังจากจบคอร์สไป ลูกศิษย์ครูนิตย์ต้องได้พลังชีวิตใส่กระเป๋าเป้กลับบ้านกันจนตุงหลังอย่างแน่นอน

โทรศัพท์ : 08 3265 9951

Facebook : ครูนิตย์ โรงเรียนในสวนยาย

9. โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

นอกจากมีแผนกการรักษาเหมือนโรงพยาลทั่วไปแล้ว ความพิเศษไม่ซ้ำใครของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร คงต้องยกให้แผนกแพทย์แผนไทย ที่มีบริการการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม กดจุด นวดอบสมุนไพร และยังเป็นที่ตั้งของคลินิกฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยหลังโควิดด้วยแพทย์แผนไทยเป็นที่แรกอีกด้วย ใครกำลังมองหาแนวทางการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกที่ทั้งปลอดภัยและได้ผลดี รีบเก็บที่นี่เข้าลิสต์โดยด่วน

เว็บไซต์ : โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ขอบคุณเจ้าของสารพัดสูตรยาเยียวยากายใจ

ป้าจันทร์ สวนศิลป์หนองมน (ลภัสรดา ทศรัศมิ์ – ตลาดนัดธรรมชาตืคืนชีวิต life’s market)

ครูจิ้ม (เฉลิมศรี​ บัต​แลนด์​ – บ้านสวนริมคลองสามวา)

ครูนิตย์ (ธรรมนนท์ กิจติเวชกุล – โรงเรียนในสวนยาย)

พี่ปิ๋ม Whispering Land (ศิริลักษณ์ ริ้วบำรุง – ครูค่ายธรรมชาติ บ้านลิตเติ้ลทรี)

พี่นก (พรนภา อนะหันลิไพบูลย์ -โปรดิวเซอร์วิดีโอ The Cloud)

พี่เยา (เยาวดี ชูคง – นักสื่อสารด้านอาหาร ของ Slow food community food for change Chiangmai )

คุณปรินซ์ บ้านเจ้าชายผัก (นคร ลิมปคุปตถาวร – ศูนย์การเรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก)

อาทู่ ศูนย์วัฒนธรรมอาข่า (ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก – ผู้อำนวยการสมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชนเผ่าอาข่า จ.เชียงราย)

เฟิร์น (เฟิร์น ศรีปุงวิวัฒน์ – ศิลปินและโปรดิวเซอร์สารคดีเกี่ยวกับอาหาร)

เชฟแบล็ก (ภานุภน บุลสุวรรณ – เชฟแห่งร้านแบล็คคิช อาร์ติซาน คิชเช่น จ.เชียงใหม่)

ลุงวิท (วิทยา เลี้ยงรักษา – เจ้าของสวนมะพร้าวสวนป่ามะพร้าวลุงวิท จ.นครปฐม)

Writer

Avatar

นกอินทรีย์

เรื่องกินเรื่องใหญ่ ถ้าเลือกได้ขอปลอดภัยไว้ก่อน อยากรู้จักกัน แค่แบ่งของกินให้ อะไรก็ยอมได้ทุกอย่าง