เมื่อ PM 2.5 รุมเร้า แล้วเราใส่หน้ากากออกซิเจนเหมือนในรูปภาพที่มีคนเคยวาดไว้เพื่อทำนายอนาคตของโลกใบนี้ไม่ได้ เมื่อภาวะมลพิษทางอากาศสูงมากขึ้น จนแม้แต่อากาศบริสุทธิ์ก็มีไม่มากพอให้เข้าถึงได้โดยใช้สิทธิพื้นฐานของมนุษย์ อย่างที่เกิดขึ้นหลายจังหวัดในประเทศไทย และทำให้เราต้องจำนนต่อการใช้ชีวิตอย่างไร้ทางเลือก 

จนกระทั่งนักการตลาดออกแคมเปญ ‘ซื้ออากาศบริสุทธิ์ให้คนที่คุณรัก’ และถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มคนมากหน้าหลายตาจากหลากหลายอาชีพที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ระดับคนธรรมดาเปลี่ยนพฤติกรรมปัจเจกบุคคล ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ให้ฟ้ากลายเป็นสีฟ้าเช่นที่เป็นมา ให้อากาศบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ 

แต่ฟ้าก็ยังเป็นสีเหลืองหม่น ๆ เทา ๆ งง ๆ แสงอาทิตย์แปลกตาที่สาดส่องผ่านมวล PM 2.5 ก็เป็นปรากฏการณ์จากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งไม่มีทีท่าจะยุติหรือผ่อนคลาย 

แจกสูตรสลัดเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายจาก PM 2.5 ด้วยวัตถุดิบที่ไม่สนับสนุนวงจรสร้างฝุ่น

  เมื่อการเผายังเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่ใช่แค่ว่าไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และเผาได้แบบไม่เกรงใจเพื่อนร่วมโลกเลยทั้งคนและสัตว์ เมื่อการคมนาคมยังต้องดำเนินต่อไปด้วยเชื้อเพลิงที่สร้างฝุ่น และการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจที่หยุดไม่ได้จากโรงงานหลากหลาย 

การใส่หน้ากากเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือแก้ที่ปลายเหตุมาก ๆ และการใช้หน้ากากแบบใช้แล้วทิ้งยังเพิ่มภาระให้กับโลกใบนี้กับการกำจัดขยะ ส่วนเครื่องฟอกอากาศ นอกจากราคาสูงแล้ว ไส้กรองก็ใช่ว่าจะหาได้ง่าย เหมือนตอนโควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ ที่แทบจะหาไม่ได้เลย กลายเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคมกับสิทธิพื้นฐานของมนุษย์  

อุตสาหกรรมทางเลือก ทางรอด และหนึ่งในทางออกของคนธรรมดา ๆ คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของตัวเอง เพื่อให้ร่างกายรับมือกับฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ได้

แน่นอนล่ะ ไม่ว่าอาหารที่นำเสนอในบทความนี้ควรมาจากระบบอาหารที่ไม่รบกวนคนอื่นที่ใช้พื้นที่สังคมร่วมกัน  

แจกสูตรสลัดเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายจาก PM 2.5 ด้วยวัตถุดิบที่ไม่สนับสนุนวงจรสร้างฝุ่น

อย่างแรกเราต้องเข้าใจว่าเจ้า PM 2.5 ที่ทำให้เราแสบตา ผื่นแดงขึ้น คัดจมูก ปวดหัว ไอ เจ็บคอ สร้างความระคายเคืองให้ทางเดินหายใจ ซึ่งก็แย่มาก ๆ แล้ว แต่ PM 2.5 เป็นฝุ่นเล็ก ๆ มาก ๆ เล็กจนบางส่วนของมันเล็ดลอดผ่านผนังถุงลม ซึมผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสเลือด และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ ฝุ่นเหล่านี้เป็นได้ทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ โอโซน ไนโตรเจนออกไซด์ และโลหะหนัก อย่างปรอท สารหนู แคดเมียม ฯลฯ อีกมากมาย เมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นเป็นเวลานาน อย่างปีละ 4 – 5 เดือนในประเทศไทย ก็ส่งผลกระทบระยะยาว เพราะกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (Free Radical) ภายในร่างกาย ซึ่งทำลายเซลล์ในร่างกาย กระตุ้นการอักเสบตามจุดต่าง ๆ สร้างของเสียในร่างกาย ร่างกายจึงต้องทำงานหนักขึ้นในการจัดการ 

การอักเสบของอนุมูลอิสระและของเสียเหล่านี้ หากร่างกายจัดการไม่ได้ก็จะนำไปสู่โรคหลอดเลือด หัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง การดูแลตัวให้เองให้แข็งแรง คือมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี มีประสิทธิภาพ จึงเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีในการรับมือกับการใช้ชีวิตอยู่กับฝุ่น 

อาหารที่เราเลือกกินเพื่อเข้าไปจัดการกับสารอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายจึงควรมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ๆ สารต้านการอักเสบ และสารที่ช่วยให้ตับขับสารพิษได้ดี เพราะสุดท้ายแล้วของเสียและสารพิษส่วนใหญ่จะถูกนำไปกำจัดที่ตับ  

แจกสูตรสลัดเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายจาก PM 2.5 ด้วยวัตถุดิบที่ไม่สนับสนุนวงจรสร้างฝุ่น
แจกสูตรสลัดเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายจาก PM 2.5 ด้วยวัตถุดิบที่ไม่สนับสนุนวงจรสร้างฝุ่น

สารต้านอนุมูลอิสระอย่างดีก็เป็นวิตามินที่เรารู้จักมักคุ้น อย่างวิตามินเอ ซี และอี คุ้นหน้าคุ้นตากันดีว่าอุดมในผักใบเขียว ผลไม้ ธัญพืช และปลาทะเล ซึ่งหาได้ในบ้านเรา หรือเคอร์คูมิน สารที่พบได้ในขมิ้นสีเหลืองเข้มอย่างขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย พบได้ในอาหารใต้ที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านอักเสบได้เป็นอย่างดีด้วยเพราะมีวิตามินซีสูงมาก

รวมถึงซีสเตอีน (Cysteine) ช่วยสร้างหนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในร่างกาย อย่างกลูตาไทโอน เมื่อร่างกายเรามีระดับกลูตาไทโอนสูง ตับก็จะขับสารพิษได้ดี ซีสเตอีนเป็นกรดอะมิดโน พบได้ในอาหารที่มีโปรตีนสูงอย่างอกไก่ ไข่ โยเกิร์ต เนยแข็ง เมล็ดทานตะวัน  

และอีกหนึ่งหมวดหมู่อาหารที่ต้านการอักเสบได้ดี คือพวกผักที่อยู่ในตระกูล Cruciferous หรือเรียกว่าผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด อย่างกะหล่ำปลี ผักกาดขาว แต่ก็รวมไปถึงรอกเก็ต หัวไชเท้า วาซาบิ ฮอร์สแรดิช และซูเปอร์ฟู้ดอย่างเคล  

แจกสูตรสลัดเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายจาก PM 2.5 ด้วยวัตถุดิบที่ไม่สนับสนุนวงจรสร้างฝุ่น

ความยากไม่ได้อยู่ที่การรู้ว่าต้องกินสารอะไรและหาได้ที่ไหน แต่ความยากอยู่ที่เราจะหาอาหารเหล่านั้นที่ดี มีคุณภาพได้ไหม เพราะถ้าเรายังกินอาหารจากระบบผลิตอาหารแบบเดิม ๆ ก็ได้รับสารพิษที่ตกค้างหรือปนเปื้อนในอาหาร และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวงจรของการเกิด PM 2.5 ต่อไป 

จะกินเป็นเม็ดก็ไม่แน่ใจผลข้างเคียงหรือประสิทธิภาพในการดูดซึม และอาจจะมากับราคาที่จับต้องไม่ได้  

อาหารที่จะแนะนำจะเป็นอาหารที่ไม่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม อย่างเมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน เมล็ดงาขี้ม้อน ที่หาได้ในไทย มันเทศหลายสี อย่างมันไข่ มันส้ม มันม่วง กินเมล็ดฟักทองแทนขนมขบเคี้ยว แทนของว่าง กินมันต้มแทนเครื่องดื่มรสหวาน ฟังแล้วดูยาก แต่จริง ๆ ไม่ยาก แค่ขึ้นอยู่ว่าอยากทำแค่ไหน   

ขมิ้นชัน อยู่ในอาหารที่เราคุ้นเคยมากมาย และแม้ว่าทางฝั่งอินโดนีเซียจะมีเครื่องดื่มเลื่องชื่อ อย่างจามู นำขมิ้นและขิงมาผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ เรียกได้ว่าเป็น Super Drink แต่รสชาติก็แปลกเอาการอยู่ กว่าจะคุ้นเคยกันได้คงอีกนาน กินเป็นอาหารง่ายกว่าเยอะ อร่อยลิ้นด้วย  

ข้าวหมกปลา ข้าวหมกไก่ สะเต๊ะไก่ แกงใต้บ้านเราที่เน้น ๆ ขมิ้นในเครื่องแกง ทั้งแกงทิ แกงเผ็ด แกงคั่ว อร่อยหมด ถ้าไม่อยากกินเผ็ดนัก ก็ปลาทอดขมิ้น หมึกทอดขมิ้น แม้แต่แกงกะหรี่ญี่ปุ่นก็มีขมิ้นเป็นส่วนผสม กะหล่ำปลีบ้านเราถ้าไม่ผัดน้ำปลาง่าย ๆ ก็เอามาทำโคลสลอว์แบบฝรั่ง หรือโอโกโนมิยากิแบบพิซซ่าญี่ปุ่นก็ดี แต่ต้องเลือกกินตามฤดู ควรกินฤดูหนาว เพราะฤดูอื่นเขาอัดแต่ยากัน กลัวหนอนเป็นที่สุด 

ผลไม้ไม่หวานมากแต่วิตามินซีสูง คือฝรั่ง มะขามป้อม ลูกหม่อน กินนิด ๆ หน่อย ๆ กินเยอะก็ฉี่ออกมาหมด เพราะละลายน้ำได้ดี 

ประเด็นที่เขียนมาทั้งหมด ไม่ได้เน้นความสำคัญของสารอาหาร แต่เน้นที่มาของการผลิตอาหารมากกว่า 

ถ้าเราอยากสุขภาพดี อายุยืนยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกช่วงอายุ ต้องเริ่มจากการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ดินดี น้ำดี อากาศดี และอย่าให้การกินของเราบั่นทอนสุขภาพของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เราได้มีของดี ๆ กินไปนาน ๆ

ถ้าพอมีเวลา ชวนเข้าครัวทำสลัดง่าย ๆ เป็นสลัดมันหลากสีที่โรยธัญพืชอย่างที่กล่าวมา เป็นหนึ่งในรายการอาหารที่เพิ่มภูมิให้เราได้  

วัตถุดิบ

  1. ฟักทอง มันไข่ มันม่วง มันส้ม รวมกันประมาณ 120 – 150 กรัม 
  2. เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวันคั่วแล้ว สัก 2 หยิบมือ  
  3. มะเขือเทศราชินี สักครึ่งถ้วย ร็อกเก็ต พอชอบ เคลหรือแรดิช  
  4. ปลาอินทรีจี่กระทะ  
  5. เกลือและพริกไทย 
  6. หัวหอมใหญ่สับ 1 ช้อนโต๊ะ และกระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ  
  7. มะนาวสัก 1 ลูก 
  8. น้ำส้มผลไม้หมัก อย่างหม่อน สับปะรด ลิ้นจี่ 2 ช้อนโต๊ะ  
  9. น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันเมล็ดชา ¼ ถ้วย  
  10. มัสตาร์ดสัก 1 ช้อนชา 

วิธีทำ

  1. นึ่งมันและฟักทองให้พอสุก 
  2. นำเมล็ดไปคั่วให้สุก กรอบแล้วพักไว้ 
  3. นำกระเทียมและหอมลงในชามผสม ใส่น้ำส้มสายชูหมัก เกลือ พริกไทย คนให้เข้ากัน ใส่มัสตาร์ด ถ้าต้องการหวานก็เติมน้ำผึ้งได้  
  4. ใส่น้ำมันลงไป ผสมให้เข้ากันพอมีเปรี้ยวมีหวาน เค็มปะแล่ม 
  5. จัดใส่จาน วางฟักทองและมันลง โรยมะเขือเทศและร็อกเก็ต ราดน้ำสลัด โรยเมล็ดฟักทองและทานตะวัน 

แค่จานนี้จานเดียวก็ได้ทั้งวิตามินซี เอ และอี พร้อมด้วยซีสเตอีนและผักในตระกูลกะหล่ำ โอเมก้า 3 และสารต้านอนุมูลอิสระอีกเพียบ

ข้อมูลอ้างอิง
  • www.bangkokhearthospital.com/content
  • www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/101

Writer

Avatar

ดวงพร ทรงวิศวะ

ดวงพร ทรงวิศวะ เกิดและโตที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาทางด้านโภชนศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย อาหาร ประวัติศาสตร์ นโยบายการเมือง วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเกษตร และเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เชฟโบสนใจและนำมาประยุกต์ใช้กับการปรุงอาหารที่โบ.ลาน เชฟโบได้รับเกียรติเป็นเชฟหญิงที่ดีที่สุดของเอเชีย เมื่อปีพุทธศักราช 2556 หลังจากเปิดโบ.ลานได้ 4 ปี ทุกวันนี้เชฟยังมีความสุขกับการค้นหาสูตรอาหารที่คนหลงลืม ชิมรสชาติของพืชผักพื้นบ้าน และตีความอาหารไทยไปในทิศทางต่างกันตามแต่ละกรณี

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ