ในช่วงฤดูฝนเข้าหนาว นอกจากข้าวในแปลงนาสีทองที่กำลังรอถูกเก็บเกี่ยว ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ดาวบนดินที่กำลังผลิบานคือ ‘ฝ้าย’ 

ตอนแรกที่ตัดสินใจเข้าร่วมทริปตามรอยฝ้ายทุกขั้นตอนกับแบรนด์เสื้อผ้าฝ้ายอินทรีย์อย่าง Folkcharm ที่พาไปเรียนรู้กระบวนการก่อนจะออกมาเป็นผ้าทอหนึ่งผืน และการทำธุรกิจที่เป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อมและคนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้รับแจ้งข่าวจาก แก้ว-ภัสสร์วี โคะดากะ เจ้าของแบรนด์ว่า “ฝ้ายยังเป็นดอกตูมๆ อยู่อาจจะแตกไม่ทัน” ทำให้อาจไม่มีโปรแกรมเก็บฝ้าย เนื่องจากตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าถ้าไม่ไปตอนนี้จะได้ไปตอนไหนอีก เลยตัดสินใจยืนยันที่จะไป แต่เหมือนเจ้าต้นฝ้ายเห็นใจ เมื่อใกล้ถึงวันเดินทาง พี่แก้วก็มาบอกข่าวดีว่า “ฝ้ายแตกแล้ว!” 

ทริปเรียนรู้ ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ตั้งแต่ปลูก เก็บฝ้าย ย้อม จนทอเป็นผืนที่จังหวัดเลย
ทริปเรียนรู้ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ตั้งแต่ปลูก เก็บฝ้าย ย้อม จนทอเป็นผืนที่จังหวัดเลย

การทำความรู้จักผ้าฝ้ายและผู้คนที่อยู่เบื้องหลัง ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนสุดท้าย มีดังนี้

ฅนปลูกฝ้าย 

ฅนปลูกฝ้าย 2 ท่านแรกที่เราเจอคือพ่ออ๊อดและแม่เปลี่ยน อายุราวๆ 70 ปี ทั้งคู่พาเราเดินไปที่แปลงปลูกฝ้าย ซึ่งอยู่ไม่ห่างออกไปนักจากที่ประชุม อันเป็นสถานที่นัดพบระหว่างแม่ๆ ผู้ทอและพี่แก้ว พื้นที่ขนาดใหญ่แบ่งเอาไว้ปลูกฝ้าย 2 แปลงเล็กขนาดย่อมสำหรับฝ้าย 2 แบบ คือฝ้ายขาวและฝ้ายตุ่น หรือฝ้ายสีน้ำตาล รอบๆ แปลงฝ้ายเป็นต้นมะละกอสูงใหญ่ ลูกดกและพืชพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกเอาไว้รับประทาน

ฝ้ายเป็นพืชเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่การผลิตภายในประเทศน้อยลงทุกปี เนื่องจากต้นทุนสูงและต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาก แต่ฝ้ายที่นี่ได้รับการดูแลอย่างดีตามวิถีธรรมชาติด้วยสองมือของผู้เฒ่า 2 ท่านนี้ สังเกตได้ว่าช่องว่างระหว่างต้นฝ้ายนั้นแทบไม่มีวัชพืชปกคลุมอยู่เลย 

ทริปเรียนรู้ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ตั้งแต่ปลูก เก็บฝ้าย ย้อม จนทอเป็นผืนที่จังหวัดเลย
ทริปเรียนรู้ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ตั้งแต่ปลูก เก็บฝ้าย ย้อม จนทอเป็นผืนที่จังหวัดเลย

พ่ออ๊อดลงมาจากมอเตอร์ไซค์คู่ใจพร้อมมีดพร้า พาเราเดินมาหน้าแปลงก่อนจะหยุดเดินและมองฝ้ายสีขาวที่บางต้นก็ยังไม่แตกดีนักด้วยสีหน้าเรียบๆ แล้วใช้มีดพร้าตัดวัชพืชรอบต้นฝ้ายออก ในขณะที่แม่เปลี่ยนอธิบายถึงวิธีการเก็บพร้อมกับบ่นอย่างเสียดายว่า ก่อนที่เราจะมานั้นฝนตก ทำให้ฝ้ายที่แตกแล้วยังชื้นและไม่ขาวปุกปุยอย่างที่ควรเป็น พลางใช้มือค่อยๆ ดึงปุยฝ้ายขาวฟูออกจากสมอ 

ทริปเรียนรู้ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ตั้งแต่ปลูก เก็บฝ้าย ย้อม จนทอเป็นผืนที่จังหวัดเลย

ฝ้ายที่จะเก็บได้ต้องแห้งสนิท เพื่อให้เศษฝุ่นติดน้อยที่สุด หากฝ้ายสกปรกเกินไปก็ใช้ไม่ได้ ถ้าฝ้ายที่เก็บไปยังชื้นอยู่ จะนำไปตากแดดจนกว่าจะแห้งและนำเข้าสู่กระบวนการต่อไป

แม่เปลี่ยนเล่าให้ฟังอีกว่า ปกติแล้วพ่ออ๊อดเป็นคนลงมือปลูก ส่วนแม่เปลี่ยนเอง ว่างๆ จะมาถอนวัชพืชในแปลง น่าเสียดายที่ด้วยอายุที่มากขึ้นจึงโดนหมอสั่งห้ามไม่ให้นั่งนานๆ หรือลุกนั่งเยอะ เพราะมีผลต่อหลัง เลยคิดว่าปีหน้านี้อาจไม่ได้ปลูกฝ้ายแล้ว 

ฅนเข็นฝ้าย

ทุกกระบวนการแปรรูปฝ้ายที่ดูเหมือนง่ายนั้นไม่มีอะไรง่ายเลยแม้แต่น้อย มีเพียงการล้อมฝ้ายที่ดูจะง่ายที่สุด ส่วนที่ยากที่สุดคือการเข็นฝ้าย เป็นการกรอเส้นใยฝ้ายให้กลายเป็นเส้นด้าย ก่อนนำไปย้อมและนำไปทอออกมาให้เป็นผืน 

ทริปเรียนรู้ ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ตั้งแต่ปลูก เก็บฝ้าย ย้อม จนทอเป็นผืนที่จังหวัดเลย

ด้ายจะใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับน้ำหนักมือของผู้ทำ หากดึงเยอะไปฝ้ายจะขาด ดังนั้นเส้นด้ายที่มาจากการเข็นด้วยมือจึงแตกต่างกันไปตามแต่ละฅนทำ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ และความไม่สมบูรณ์นี้เองที่ทำให้ผ้าผืนหนึ่งมีเอกลักษณ์

ยายใหม่ อายุกว่า 80 ปี นำผ้าทอผืนหนึ่งม้วนมาให้พี่แก้ว เส้นด้ายทุกเส้นนั้นเรียกได้ว่าแทบเท่ากันหมด จนชวนให้เข้าใจผิดว่าเป็นด้ายโรงงาน ต้องสังเกตดีมากๆ จึงจะเห็นความไม่เท่ากันในบางช่วงบางตอน เรียกว่างานเนี้ยบมากจนไม่คิดว่าเข็นมือเอง แม่ๆ ที่เราไปเจอปล่อยให้ได้ลอง เราเข็นดูทำไปก็เกรงใจไป เพราะไปทำของเขาที่ทำมาดีๆ เสียหมด ท่าทางจะต้องไปอยู่สักหนึ่งเดือน กว่าจะทำออกมาได้สักไจหนึ่ง (ที่เอาไปใช้ได้…มั้ง ฮ่าๆ) 

 ฅนย้อมฝ้าย 

เราชอบกระบวนการนี้ที่สุด เหมือนได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ 1 วัน เจ๊ยอ ยายแต่ม ยายอ่อน เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวบ้าน 3 ท่านที่เราได้ไปเจอ ในขั้นตอนนี้สาธิตให้การย้อม 2 แบบ คือย้อมด้วยยางไม้ประดู่และผลมะเกลือ ซึ่งซับซ้อนมาก แม้กระทั่งการย้อมด้วยยางไม้ประดู่เพียงอย่างเดียวก็มีสัดส่วนใส่ปูนแดงที่แตกต่างกันไป ลำดับขั้นตอนที่แตกต่างก็ทำให้สีออกมาต่างเช่นเดียวกัน 

ในขั้นตอนนี้ ฝ้ายที่เข็นออกมาจนเป็นเส้นด้าย เปียให้เป็นไจ จะนำมาย้อมล้างด้วยน้ำข้าวและตากให้แห้งสนิทก่อนนำไปทอ 

ทริปเรียนรู้ ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ตั้งแต่ปลูก เก็บฝ้าย ย้อม จนทอเป็นผืนที่จังหวัดเลย

ฅนทอผ้า 

เส้นด้ายที่มาจากการเข็นมือยังไม่แข็งแรงพอที่จะนำมาใช้เป็น ‘เส้นยืน’ เส้นด้ายแนวตั้งซึ่งเป็นแกนหลักให้ ‘เส้นพุ่ง’ เส้นด้ายที่ทอตามแนวขวางได้เกาะ 

ดังนั้น ก่อนเริ่มทอต้องขึ้นเส้นยืนให้เหนียวแน่นเสียก่อน การทอด้วยมือก่อให้เกิดลวดลายของผ้าตามน้ำหนักมือของผู้ทอ คล้ายกับการเข็นฝ้ายให้เป็นด้าย เมื่อต่างมือคนทำก็ต่างลาย 

“จะดูว่าเป็นทอมือหรือไม่นั้น ให้สังเกตจุดบกพร่องของลายผ้า หากเกิดซ้ำๆ เป็นแพตเทิร์น นั่นคือใช้เครื่องจักร หากเกิดไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่ตรงจุดเดิม แสดงว่าเป็นการทอมือ” 

แม่ๆ ช่างทออธิบาย นี่กระมัง ข้อแตกต่างระหว่างงานที่ทำด้วยมือคนกับเครื่องจักร 

ทริปเรียนรู้ ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ตั้งแต่ปลูก เก็บฝ้าย ย้อม จนทอเป็นผืนที่จังหวัดเลย

เมื่อทอออกมาเป็นผืนแล้ว แม่ๆ ก็จะมาช่วยกันนั่งดู ตรงไหนทอผิดก็ช่วยกันซ่อมลาย ทีละจุด ทีละจุด ทั้งผืน นั่งซ่อมไปก็คุยกันไปพลาง เมื่อได้เห็นกระบวนการทั้งหมดกว่าจะเป็นผืนผ้าฝ้ายสักผืนต้องใช้เวลา ใช้ความอดทนเพราะเกิดจาก ‘สองมือ’ สองมือเท่านั้นจริงๆ

ทริปเรียนรู้ ผ้าฝ้ายออร์แกนิก ตั้งแต่ปลูก เก็บฝ้าย ย้อม จนทอเป็นผืนที่จังหวัดเลย

“ของแบบนี้หากใช้เวลาสามสิบนาทีเพื่อผลิตหนึ่งชิ้น ก็ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงเพื่อผลิตสองชิ้น เวลาในการทำไม่ได้ลดลงตามจำนวนชิ้น” 

ทำไมต้อง ‘มือ’

เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจ ทั้งที่การใช้มือทำทุกๆ ขั้นตอนนั้นแพงกว่า จริงอยู่ที่ว่าการใช้มือทำทำให้ของชิ้นนั้นมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ทอมือยังพอว่า แต่ทำไมต้องไปถึงขนาดเข็นมือ ในเมื่อการทอนั้นใช้ด้ายปั่นโรงงานแล้วนำมาย้อมธรรมชาติก็ย่อมได้ ทั้งการเข็นนั้นก็ยากและใช้เวลานานมาก ทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นไปด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากของทำมือเหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าของที่มาจากเครื่องจักรทั่วไป 

คำตอบของคำถามนี้ได้รับการตอกย้ำในหลายเดือนถัดมา 

เมื่อผู้เขียนได้ไปเจอเสื้อกั๊กของอีกแบรนด์หนึ่งจากจังหวัดสกลนคร ซึ่งใช้ผ้าเข็นและทอมือของชาวบ้านในชุมชน เส้นด้ายที่ใช้ทอเสื้อกั๊กตัวนั้นเส้นแทบจะเท่ากันหมดจนชวนให้เข้าใจผิดว่าเป็นด้ายโรงงาน กระทั่งต้องไล่ดูเป็นแถวๆ ไป จึงเห็นว่าบางช่วงบางและบางช่วงหนา ภาพม้วนผ้าของคุณยายอายุ 80 ที่เจอกันในทริปที่จังหวัดเลยก็ผุดขึ้นมา 

คำถามแรกที่ถามผู้ขายคือ “คนเข็นฝ้ายคนนี้เป็นคนมีอายุแล้วใช่หรือไม่?”

คำตอบคือ “ใช่ เป็นยายอายุแปดสิบกว่าแล้ว”

ถึงตรงจุดนี้จึงได้เข้าใจเป็นครั้งแรกว่า ‘ผ้าพูดได้’ และผ้าที่ใช้มือทำในทุกขั้นตอนนั้นจะเสียงดังกว่าผ้าใดๆ เป็นเสียงแนะนำตัวอย่างสุภาพนุ่มนวลว่า ฉันมาจากไหน ใครสร้างฉันขึ้นมา และคนที่สร้างฉันขึ้นมากำลังรู้สึกอย่างไร 

นั่นจึงเกิดเป็นความเชื่อมโยงระหว่าง ‘ผู้ผลิต’ กับ ‘ผู้บริโภค’ ที่แม้ยังไม่เคยเห็นหน้าค่าตา แต่ก็ได้รู้จักกันผ่านผืนผ้าที่ทำด้วยมือ 


*หมายเหตุ เรื่องที่ได้เรียนรู้ระหว่างทางคือ เพิ่งรู้ว่าฝ้ายทานได้ด้วย! สมอฝ้ายที่ยังอ่อนนั้นนำมาทานได้ รสชาติจะคล้ายๆ กับฝักบัว คือมีรสหวานอ่อนๆ มันๆ มีรสฝาดนิดหน่อย

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

วริษา สี่หิรัญวงศ์

Imperfectionist ชอบผ้าทอ เวลาเครียดชอบทำขนมปังหรือดื่มของร้อน เชื่อว่าการพัฒนากับสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันได้