FLYNOW เริ่มต้นโดยชายหนุ่มชื่อ ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา 

ในเวลานั้น เขาเป็นดีไซเนอร์ให้ห้องเสื้อแห่งหนึ่ง เสื้อผ้าที่เขาออกแบบไม่ประสบความสำเร็จจนขาดทุนหลักล้าน หลังจากช่วยกอบกู้เงินทุนนายจ้างกลับมาด้วยการดีไซน์เสื้อผ้าที่แปลกใหม่กว่าในท้องตลาด เขาก็ตัดสินใจก่อตั้งแบรนด์ตัวเองขึ้นมา

แบรนด์ของลิ้มอยู่คู่วงการแฟชั่นไทยมาเกือบ 4 ทศวรรษ สร้างชื่อในเวทีระดับโลก เจอผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ไปจนถึงการเปลี่ยนผ่านของเจเนอเรชัน

เสื้อผ้าที่เคยเป็นที่รู้จักถึงขั้นทุกครั้งที่เขาไปสยาม จะเห็นคนใส่เสื้อผ้าของตัวเอง ก็ค่อย ๆ ได้รับความนิยมน้อยลงในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่ถึงอย่างนั้น พนักงานทุกคนทั้งดีไซเนอร์และช่างเย็บในตึกแถว 2 คูหานี้ก็ยังตั้งใจทำผลงานที่ดีออกมา

เขาตั้งใจจะรีแบรนด์ FLYNOW ที่ตัวเองยอมรับว่าตายไปแล้ว เมื่อ 3 ปีก่อน 

วิกฤตโรคระบาดทำให้แผนการเลื่อนออกมาจนถึงวันนี้

3 ปีที่ผ่านมา ลิ้มไม่เคยหยุดงาน แม้ว่าบริษัทจะปิด เขาว่ามันเป็นช่องว่างของคนบ้างานที่ได้หยุดคิดเสียบ้าง จนในที่สุดแผนที่อยากชุบชีวิตแบรนด์อันเป็นที่รักก็ดำเนินการต่อ โดยมีหมายหมุดเริ่มต้นเป็นโชว์ในงาน Bangkok International Fashion Week 2022

การกลับมาของ FLYNOW แบรนด์ที่แม้แต่เจ้าของก็ยอมรับว่าตายไปแล้ว

ทีมงานกว่า 20 ชีวิตทุ่มสรรสร้างคอลเลกชันที่มีชื่อว่า Reincarnation อย่างสุดแรงใจและความสามารถ 

แม้จะออกตัวก่อนว่าไม่ใช่นักธุรกิจที่เก่ง สิ่งที่เราเรียนรู้จากชายคนนี้คือความซื่อสัตย์ ความกล้า กล้าที่จะยอมรับว่าล้มเหลว การให้เกียรติคนอื่นโดยเฉพาะคนที่ทำงานกับเขา และหัวใจนักสู้ที่พร้อมจะค่อย ๆ ลุกขึ้นมาอีกครั้ง เท่านี้ก็เพียงพอที่ทำให้เขาเป็นนักธุรกิจที่ดีแล้ว

เมื่อถามว่านี่คือการกลับมาของ FLYNOW อย่างเป็นทางการแล้วใช่ไหม เขาได้แต่ยิ้ม 

“ถ้าจะบอกว่ากลับมาได้แน่ ๆ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ขี้เกียจมาแก้ข่าวอีก” ลิ้มตอบทีเล่นทีจริง “แต่ขอลองสักตั้ง และยินดียอมรับถ้าสุดท้ายกลับมาไม่ได้จริง ๆ เราจะโทรหา The Cloud เพื่อบอกว่า มันกลับมาไม่ได้”

การกลับมาของ FLYNOW แบรนด์ที่แม้แต่เจ้าของก็ยอมรับว่าตายไปแล้ว

01

ในฐานะคนคนหนึ่ง ลิ้มเติบโตจากชายหนุ่มที่ใช้แต่ละวันอย่างเต็มที่ สนุกสุดเหวี่ยง มามองว่าการมีชีวิตคือการแวะมาเที่ยวที่สักวันก็ต้องกลับไป

ในฐานะเจ้าของแบรนด์ที่เคยขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดและต่ำสุดตามคำนิยามของเขาเอง ผ่านมาเกือบ 40 ปี เขาทำงานท่ามกลางทีมงานที่เก่งกาจ เมื่อถามว่าเก่งแค่ไหน เขาตอบว่า “เก่งกว่าผม” 

การกลับมาของ FLYNOW ในวันนี้จึงครบเครื่อง ทั้งมุมมองชีวิต ประสบการณ์ และกองกำลังเพียบพร้อมทั้งอาวุธและมันสมอง

“ผมพยายามพัฒนาทีมตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม จริง ๆ หยุดออกแบบมาได้ 30 กว่าปีแล้ว เพราะลูกน้องเก่ง อย่าง ปู-ชำนัญ ภักดีสุข ดีไซเนอร์ที่อยู่กับเราตั้งแต่ต้น วันนี้เจ๋งกว่าเราเยอะ เราต้องเรียกอาจารย์ปู การกลับมาทำโชว์ให้ Bangkok International Fashion Week 2022 ก็เพราะเขาชวน”

เขาว่า Life Cycle ของแบรนด์หนึ่งจะมาเป็นระลอก ระลอกละ 10 – 15 ปี ขึ้นจุดสูงสุดสลับลงจุดต่ำสุด นั่นแปลว่าแบรนด์ของเขาได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาอย่างน้อย ๆ ก็ 3 ครั้ง

การกลับมาของ FLYNOW แบรนด์ที่แม้แต่เจ้าของก็ยอมรับว่าตายไปแล้ว

02

ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2526 นั่นคือปีแรกที่ FLYNOW ของชายคนนี้ถือกำเนิดขึ้น ช่วง 10 ปีแรกนั้นคนไม่ค่อยทำเสื้อผ้าแฟชั่น ส่วนมากเป็นเสื้อยืดเสียหมด เสื้อยืดเรียบ ๆ เสื้อยืดพิมพ์ลาย ถ้าไม่ใช่เสื้อยืดก็เป็นเสื้อเชิ้ตสำหรับใส่ไปทำงาน เน้นเสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อคลุมหรือเสื้อดีไซน์แบบที่เราใส่กันทุกวันนี้มีน้อยมาก ถ้าใครอยากได้ต้องไปสั่งตัดที่ร้าน

“ลองกลับไปถามรุ่นแม่ ผู้หญิงอยากได้เสื้อเก๋ ๆ ก็ไปร้านตัด เสื้อแบบนั้นในรูปอุตสาหกรรมยังไม่มี ทีนี้จะทำเสื้อยืดยังไงให้สู้กับตลาดได้ หนึ่งคือสู้กันที่ลายพิมพ์ สองคือการเลือกเนื้อผ้า เราเลยประยุกต์เอาดีไซน์ไปใส่ตั้งแต่วันแรก”

ขาว ดำ ทอง คือสีหลักของแบรนด์นี้

“ยุคนั้นแม่ผมถึงกับเอ่ยปาก ‘ลื้อทำเสื้อสีแบบนี้ อั้วยังไม่ใส่เลยนะ อั้วถือ แล้วจะมีลูกค้าเหรอ’ ผมเลยบอกว่า เอาหน่า แบรนด์เราเล็ก ๆ ยังไงก็ต้องมีคนชอบเหมือนเรา 

“เจอกันที่ไหน กูก็ใส่สีดำตลอด” เขาหัวเราะ

จุดเปลี่ยนครั้งถัดมาเหนือคาดยิ่งกว่าเก่า

FLYNOW ในขวบปีที่ 10 ดังระเบิด จัดงานกี่ทีคนเต็มทุกที่นั่ง ครั้งหนึ่งเคยจัดแฟชั่นโชว์ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีนางแบบเดินโชว์เป็นร้อย พร้อมคนดูอีก 7,000 คน

ไม่มีคนดังคนไหนไม่ได้รับเชิญไปงานนั้น 

ความสำเร็จครั้งนี้เป็นสะพานเชื่อมไปยังจุดเปลี่ยนครั้งต่อมา แบรนด์ FLYNOW โกอินเตอร์ไปงานแฟชั่นโชว์ที่กรุงลอนดอนอยู่ประมาณ 7 ปี

“เป็นยุคเดียวกับ Alexander McQueen เรายกทีมไปทำงานที่นั่น ตอนนั้นอายุ 30 ปลาย ๆ บ้าพลังสุด ๆ ไม่ต้องนอนก็ได้ ไม่ต้องกินก็ได้ ขอแค่ให้ได้ทำ”

เขาเปรียบความสำเร็จกับการวิ่งโอลิมปิก

“เชื่อเถอะ เวลาคุณชนะ ใครก็สู้คุณไม่ได้ ไม่เหมือนวิ่งในโอลิมปิกที่ห่างกันแค่เสี้ยววิ 

“ในโลกธุรกิจไม่มีเบอร์ 1 เบอร์ 2 หรอก เพราะถ้าคุณชนะ คุณจะชนะขาด แต่สำคัญคือคุณจะครองแชมป์ได้นานแค่ไหน และการที่คุณจะชนะคนอื่นได้ แปลว่าคุณต้องทำงานหนักกว่าคู่แข่ง ไอเดียต้องเจ๋งกว่า มีทีมที่เก่งกว่า มีวิสัยทัศน์ที่ดีกว่า มีหัวใจที่ดีกว่า”

ชื่อเสียงของแบรนด์ดังขึ้นเรื่อย ๆ แบบหยุดไม่อยู่ จนกระทั่ง พ.ศ. 2540 จุดเปลี่ยนครั้งที่ 3

การกลับมาของ FLYNOW แบรนด์ที่แม้แต่เจ้าของก็ยอมรับว่าตายไปแล้ว

03

วิกฤตเศรษฐกิจทำให้สต็อกเสื้อผ้าจำนวนมากที่เตรียมพร้อมออกขายนอนแน่นิ่งอยู่ในโกดังแบบไม่เห็นอนาคต ลิ้มในวัย 38 กลายเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินหลายแห่ง

“มันมีทางออกไม่กี่ทาง ไม่เห็นแม้กระทั่งว่าตัวเองกำลังจะตกเหว”

เขาบอกว่าตัวเองรอดมาได้ด้วยความขยันและความอดทน ที่สำคัญ ต้องยอมรับความจริงก่อนว่ากำลังลำบาก

“ตอนนั้นผมบอกเจ้าหนี้เลยว่า ผมหนี้เยอะ เฮียไม่ต้องมาหาให้เสียเวลา เดี๋ยวผมไปให้ด่าถึงที่บ้านเอง ถ้าเฮียใจดีก็เลี้ยงข้าวผมหน่อย ตอนแรกเขาก็ไม่เลี้ยง ไปบ่อย ๆ เริ่มเลี้ยงแล้ว” ลิ้มเล่าพลางหัวเราะ “หนี้น้อยให้ด่าครึ่งชั่วโมง หนี้ปานกลางให้ชั่วโมงหนึ่ง ถ้าหนี้เยอะมากก็ Unlimit ไปเลย อยากด่าเมื่อไหร่ เรียกไปด่าได้เลย”

ชายผู้ที่ยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่นักธุรกิจเก่ง ได้รู้จักคนในโลกธุรกิจมากขึ้นจากวิกฤตนั้น

เขาบอกว่าเจ้าหนี้มี 3 แบบ

แบบแรกคือคนที่จะเอาทุกอย่างให้ได้เยอะที่สุด โดยไม่สนใจว่าอีกฝ่ายจะลำบากแค่ไหน

แบบที่สองคือคนอะลุ่มอล่วย ผ่อนปรน ยอมให้จ่ายเมื่อมีจะจ่าย

ซึ่ง 2 เปอร์เซ็นต์ในแบบหลังนอกจากจะไม่เร่งรัดให้จ่ายเงินแล้ว ยังช่วยหาเงินเพื่อกอบกู้ธุรกิจเขาด้วย

“วิกฤตทำให้เราเจอคนแบบนั้น มหัศจรรย์มาก ๆ เขากู้เงินมาให้ผมสั่งหนังมาทำสินค้า แล้ววันที่ผมลุกได้ เขาก็หายไปเลย ผมติดค้างเขา คนแบบนี้แหละที่จะสอนใจเรา”

การกลับมาของ FLYNOW แบรนด์ที่แม้แต่เจ้าของก็ยอมรับว่าตายไปแล้ว

04

ยุครุ่งเรืองของ FLYNOW มีพนักงานประมาณ 500 คน ปัจจุบันเหลือ 150 ส่วนหน้าร้านที่เคยมีจนนับไม่ไหว ในวันนี้เหลือน้อยจนเขาไม่อยากพูดถึง

สิ่งที่ลิ้มเสียใจและเสียดายที่สุดไม่ใช่ความโด่งดัง แต่เป็นการปล่อยพนักงานคุณภาพที่สร้างมากับมือออกไป

“มันเศร้านะ เหมือนเราปกป้องดูแลชีวิตเขาได้ไม่ดี แต่เราต้องทำ มันเป็นความทุกข์แบบหนึ่ง แต่ก็ทำให้รู้ว่า เวลาเราประสบความสำเร็จมาก ๆ เราจะประมาท เหมือนกับที่ชอบพูดกันว่าในวิกฤตมีโอกาส นั่นเท่ากับว่าเวลาคุณมีโอกาสเยอะ ๆ ก็อาจจะมีวิกฤตกำลังรออยู่ข้างหน้า”

โชว์ครั้งล่าสุดของลิ้มคือเมื่อ 6 – 7 ปีก่อนที่ตลาดสดในจังหวัดราชบุรี สร้างความฮือฮา ความสดใหม่ ใครเล่าจะคิดว่าจะมีดีไซเนอร์ที่เลือกโลเคชันนี้แทนแคทวอล์กในฮอลล์ใหญ่

“พี่ชายผม (ปรีชา ส่งวัฒนา) บอกว่า FLYNOW นี่อายุเทียบเท่า พิศมัย วิไลศักดิ์ ได้เลยนะ ผมบอกไม่ใช่ มันตายไปแล้วต่างหาก คุณต้องรับความจริงก่อนว่าแบรนด์มันตายไปแล้ว 

“เราหวังจะขายคนเจนวาย แต่ไม่มีคนเจนวายรู้จัก เจนเอ็กซ์ตอนปลายก็ไม่รู้ ต้องเจนเอ็กซ์ตอนต้น แล้วคุณจะขายใคร ถ้ายอมรับความจริงได้ จะไม่มีอะไรน่ากลัวเลย”

เดิมทีเขาตั้งใจจะรีแบรนด์ก่อนโควิด หลังอึมครึมอยู่ในวิกฤตโรคระบาดมา 3 ปี 

“สุดท้ายไม่ต้องรีแบรนด์แล้ว ปล่อยให้ตายแล้วมาเกิดใหม่เลยดีกว่า” เขาว่า “เกิดใหม่ง่ายกว่าเพราะไม่ต้องอาลัยอาวรณ์มาก ถ้าคุณยังอาลัยอยู่ แปลว่ายังมีตัวตนอยู่ เมื่อไม่มีตัวตนคุณจะกล้ามากกว่าเดิม เพราะไม่มีอะไรต้องกลัว เผลอ ๆ ทำโชว์เสร็จ ผมอาจจะไม่ขายก็ได้นะ”

เขาว่าดีไซเนอร์ที่ดีต้องเปิดใจ และต้องแปลงร่างได้หลายร่าง ต้องรู้จักทำลายกฎเกณฑ์ ขณะเดียวกันก็ต้องกล้าที่จะทำลายตัวเองได้ด้วย

การกลับมาของ FLYNOW แบรนด์ที่แม้แต่เจ้าของก็ยอมรับว่าตายไปแล้ว

05

Reincarnation คือชื่อที่สื่อถึงเรื่องราวในคอลเลกชันนี้ได้ดีที่สุด 

สีที่ใช้ยังเป็นขาว ดำ ทอง เหมือนกับวันแรก

ชุดบางชุดใช้เวลาตัดเย็บอย่างประณีตถึง 30 วัน

การกลับมาของ FLYNOW แบรนด์ที่แม้แต่เจ้าของก็ยอมรับว่าตายไปแล้ว

FLYNOW ในขวบปีนี้มีกลุ่มเป้าหมายที่เด็กลง ลิ้มจึงชวนหลานสาวมามาร่วมทีม

“ทุกวันนี้ผมต้องถามหลานว่าเทรนด์อะไรกำลังมา เราต้องเรียนรู้ ทีมงานวัย 15 มีความคิดแบบหนึ่ง 30 ก็แบบหนึ่ง 40 ก็อีกแบบหนึ่ง เราไม่ได้ออกคำสั่งคนเดียว แต่เป็นการทำงานแบบทีมเวิร์กที่ต้องแสดงความเห็นร่วมกัน ทุกครั้งที่จะเลือกทางไหน เราจะถามความเห็นทีม ถ้าบอกว่าดีก็จะไป ยกเว้นทุกคนบอกว่าเรื่องนี้ไม่ถนัด ยังไงคุณลิ้มต้องทำ

“เช่น เขาทำโชว์กันไม่เก่ง ผมทำมาทั้งชีวิต ผมรู้ว่าจะทำโชว์ให้ดีได้ยังไง หรืออย่างเรื่องเพลง เขาไม่สันทัด ผมก็นั่งฟังเพลงวันละ 3 ชั่วโมงเพื่อหาเพลงที่ใช่ ออกแบบท่าเดินให้ด้วย”

ทุกชุดบนแคทวอล์กจึงไม่ใช่แค่ตัวตนของลิ้ม แต่เป็นส่วนผสมระหว่างเขาในวัย 63 ดีไซเนอร์คู่ใจ ช่างเย็บที่อยู่กันมาเกิน 3 ทศวรรษ ไปจนถึงหลานสาวอายุ 15 ปี

“ช่างที่ทำคอลเลกชันนี้คือคนที่อยู่ด้วยกันมาโดยเฉลี่ยน่าจะ 30 ปี พนักงานที่อายุมากที่สุดของเราคือ 73 สมองของดีไซเนอร์ใช้มาก ๆ แล้วก็หมด แต่ช่างแพตเทิร์นกับช่างเย็บนี่ยิ่งแก่ยิ่งเก๋า เป็นผู้ชำนาญการ เราอยู่กันยาว จ้างกันจนตาย ไม่ผมตาย เขาก็ตาย ถ้าผมตายก่อนจะเขียนพินัยกรรมให้เขาอยู่กับแบรนด์ไปตลอดชั่วอายุขัย”

การกลับมาครั้งนี้ ลิ้มมองเห็นความเป็นไปได้ 2 ข้อ

ข้อแรก ถ้าดีไซน์ของเขาจะต่อยอดไปเป็นธุรกิจได้ ก็เป็นเรื่องน่ายินดี

ข้อสอง เขาอยากให้คอลเลกชันนี้เป็นความภาคภูมิใจในชีวิตของทีมงาน โดยตั้งใจว่าจะให้ช่างเย็บถ่ายรูปคู่กับชุดของตัวเอง

ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา การชุบชีวิต FLYNOW แบรนด์เสื้อผ้าไทยของ ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา กับแฟชั่นโชว์ในรอบหลายปีที่งาน BIFW22

06

แล้วถ้ามันไม่สำเร็จล่ะ – เราถาม

“ผมไม่ได้หวังว่าครั้งนี้มันจะสำเร็จ เพราะต้องยอมรับว่าเด็กสมัยนี้ก็เก่ง แบรนด์สมัยนี้ก็เจ๋ง มันอาจจะเวิร์ก หรือมันอาจจะตายอีกรอบ หรือสุดท้ายเราอาจจะต้องเปลี่ยนมือจริง ๆ ก็ได้ แต่เมื่อตัดสินใจลองแล้วก็ต้องลองสุดหัวใจ

“จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปยินดียินร้ายมากนัก จริง ๆ ถ้าคิดว่ามันจะไม่สำเร็จไปเรื่อย ๆ อาจจะดีกว่าก็ได้นะ จะได้ไม่ต้องเหลิง ไม่ต้องประมาท ไม่ต้องรอว่าวิกฤตจะมาเมื่อไหร่ คุณก็ทำของคุณไป

“แต่ถามว่ากดดันไหม กดดัน แต่เรามองแรงกดดันเป็นความสวยงาม ถ้าทำอะไรไม่มีแรงกดดันแต่แรก กูว่าแพ้แน่ ๆ ถ้าไม่แพ้ก็กำลังจะแพ้ แรงกดดันขับเคลื่อนให้มนุษย์ยกระดับตัวเองขึ้นมาได้ แต่กดก็เอาแต่พองามนะ ถ้าอันไหนที่ต้องตะเกียกตะกาย ต้องทรมาน ก็เปลี่ยนมันหน่อย

“ถ้าคำสั่งของเรามันตึงไปแล้ว เราจะบอกลูกน้องให้ผ่อน ผ่อนลงมา ถ้าเล่นท่ายากตอนไม่พร้อม เราอาจจะเหลือศูนย์ได้เลย เพราะฉะนั้น เล่นท่าที่ง่ายหน่อย ไม่เหมือนตอนหนุ่ม ๆ ที่บ้าดีเดือด ไม่มีอะไรที่คิดแล้วทำไม่ได้ ถ้าคนอื่นเล่น 10 FLYNOW ต้อง 100 เงินไม่อั้น โชว์ต้องดีสุด ๆ เสื้อไม่ต้องสนใจว่าจะขายได้ไม่ได้ ใครบอกว่าเป็นเสื้อในมิวเซียมก็จะถือเป็นข้อดี เชื่อไหมว่าตอนนี้เสื้อในสต็อกมีมูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท”

นอกจากคอลเลกชันแห่งการกลับมา เขาคิดไปถึงช่องทางการขายที่ต่อไปอาจจะไม่ต้องอยู่ในห้างสรรพสินค้า ไม่ต้องเป็นร้าน Stand Alone ในวันที่โลกเชื่อมกันหมดแล้ว ในอนาคตเราอาจจะเจอ FLYNOW อยู่ในช่องทางใหม่ ๆ ที่นึกไม่ถึง

ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา การชุบชีวิต FLYNOW แบรนด์เสื้อผ้าไทยของ ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา กับแฟชั่นโชว์ในรอบหลายปีที่งาน BIFW22

07

ครึ่งหนึ่งของลิ้มคือความละเอียดจากพ่อ อีกครึ่งคือความเมตตาจากแม่ หลอมหลวมเป็นตัวเขาที่ยังยึดมั่นกับแบรนด์นี้อย่างไม่ยอมแพ้

จะใช้คำว่า ยึดมั่น ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเขายอมรับความผิดพลาด น้อมรับความล้มเหลว และพร้อมจะลุกขึ้นใหม่โดยทิ้งอัตตาและความสำเร็จเดิมไว้ข้างหลัง

การทำธุรกิจของเขาแม้จะไม่ถูกต้องทุกข้อตามที่เขียนไว้ในตำรา แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ หัวใจและความเห็นอกเห็นใจ ที่ใช้เวลาหลายสิบปีในการก่อร่างสร้างตัวขึ้น 

นับจากวันที่ The Cloud ไปเยี่ยมเขาถึงออฟฟิศ ได้ขึ้นไปหาป้า ๆ น้า ๆ ช่างเย็บที่กำลังง่วนกับการเตรียมคอลเลกชันใหม่ ได้เห็นลิ้มคัดเลือกสุ่มสำหรับเสื้อผ้าชุดหนึ่ง เห็นมู้ดบอร์ด เห็นภาพสเก็ตช์ เห็นทีมงานกว่า 20 คนบรรจงสร้างสรรค์ผลงานอย่างสุดหัวใจ

ในคืนวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ความตั้งใจที่ทำกันมาหลายเดือนได้ปรากฏสู่สายตาสาธารณชน ท่ามกลางเสียงปรบมือและกำลังใจที่ผู้คนในวงการมีให้กับเขาและทีม FLYNOW ทุกชีวิต

คอลเลกชันนี้จึงไม่ใช่แค่ ‘การกลับมา’ แต่เป็นความน่ายินดีและการเอาใจช่วย

หลังโชว์จบลง ลิ้มก็เดินออกมา ตามด้วยดีไซเนอร์คู่ใจ และป้า ๆ น้า ๆ ทีมงานช่างเย็บของเขาที่เราขึ้นไปเยี่ยมเยียนในวันนั้น

ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา การชุบชีวิต FLYNOW แบรนด์เสื้อผ้าไทยของ ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา กับแฟชั่นโชว์ในรอบหลายปีที่งาน BIFW22

Lessons Learned

  • ซื่อสัตย์กับตัวเอง ซื่อสัตย์กับผู้อื่น
  • กล้าที่จะล้มเหลว น้อมรับความผิดพลาด เพื่อที่จะได้เห็นปัญหาแล้วแก้ไขได้ตรงจุด
  • ไม่หลงระเริงกับความสำเร็จ จนลืมเตรียมรับมือกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้น
  • ให้เกียรติคนทำงานเสมอ

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล