การตกหลุมรักดอกไม้สักดอกเป็นเรื่องง่าย การดูแลให้ดอกไม้อยู่ตลอดไปเป็นเรื่องยาก

การตกหลุมรักใครสักคนเป็นเรื่องง่าย แต่การรักษาความรักให้คงอยู่เป็นเรื่องยาก 

การเริ่มธุรกิจว่ายากแล้ว การทำให้ธุรกิจเติบโตทั้งในช่วงโรยราและเบ่งบานนั้นยากกว่า 
เดือนแห่งความรักนี้ The Cloud ชวนมาฟังเรื่องราวการสานต่อธุรกิจที่โรแมนติกที่สุดเรื่องหนึ่งของคู่รักที่เพิ่งครบรอบแต่งงาน 2 ปีในช่วงต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เมื่อสะใภ้สาวชาวไทยที่ชอบขายดอกไม้เป็นงานอดิเรก ตกหลุมรักกับหนุ่มญี่ปุ่น ผู้เป็นทายาทร้านดอกไม้ที่อิวาเตะ ทั้งคู่พลิกฟื้นธุรกิจร้านดอกไม้ที่เคยขายให้ลูกค้าในละแวกบ้าน
มาเป็นร้านขายดอกไม้ครบวงจรที่ขายดอกไม้ได้ทุกฤดู ทั้งขายส่งขายปลีก ขายดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง ดอกไม้อบแห้ง รวมทั้งยังขยายจากการขายแค่ญี่ปุ่นมาที่ไทยด้วย
เมื่อโจทย์ของการสานต่อธุรกิจไม่ใช่แค่การพิสูจน์ตัวเองให้ที่บ้านเห็น แต่เป็นการพิสูจน์ความรักระหว่างกันและกัน 

นี่คือเรื่องราวการทำร้านดอกไม้ของทายาทรุ่นสองที่อยากพิสูจน์ให้เห็นว่ารักจริง

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

(ญี่ปุ่น ค.ศ. 1992) 

ความรักเริ่มเบ่งบานจากดอกไม้กระถาง 

เรื่องเริ่มที่จังหวัดอิวาเตะ เมืองคิตะคามิ ภูมิภาคโทโฮกุ ประเทศญี่ปุ่น
จังหวัดที่มีภูเขาหิมะแต่ติดทะเล
คุณนายทาคาฮาชิ (Takahashi) เป็นครูอนุบาล มีลูก 5 คน ช่วงที่กำลังตั้งท้องลูกคนสุดท้อง เธอลาออกจากการเป็นครูโรงเรียนอนุบาล เรียนรู้วิธีการปลูกดอกไม้ด้วยตัวเอง และลงแข่งปลูกดอกไม้กระถางเพราะชื่นชอบดอกไม้ 

หลังจากลงแข่งแล้วชนะได้ที่หนึ่ง เธอก็เริ่มขับรถขายดอกไม้กระถางส่งให้เพื่อนบ้านและคนรู้จัก
จากนั้นก็ขยับขยายจากขายแค่ดอกไม้กระถางมาเป็นขายทั้งดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง
และเปิดหน้าร้านจนมีทั้งหมด 5 สาขาในอิวาเตะ โดยมีสาขาหนึ่งอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต

เธอตั้งชื่อร้านเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า ‘Flower Studio Parterre’ แปลว่า ชั้นวางดอกไม้ และหวังมอบร้านให้ลูกชายคนสุดท้อง ทาคาฮาชิ โชเฮ (Takahashi Shohei) สืบทอดต่อ

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

(กรุงเทพ ค.ศ. 2015)

ขายดอกไม้ในงานรับปริญญา 

โน-โนโซมิ พัชรดา เนตรประไพ สาวลูกครึ่งญี่ปุ่นผู้เรียนคณะอักษรศาสตร์ เอกญี่ปุ่น ฝันอยากทำธุรกิจร้านดอกไม้ของตัวเอง
ช่วงงานรับปริญญาที่คนนิยมให้ดอกไม้กัน โนโซมิเปิดร้านขายดอกไม้ออนไลน์เป็นงานอดิเรก เธอใช้ดอกไม้ไทยที่เก็บได้นาน เช่น สแตติส สุ่ย และดอกไม้แห้งอื่นๆ มาขาย พร้อมตั้งชื่อร้านเป็นภาษาเยอรมันว่า ‘The Craft Haus’

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

ดอกไม้บันดาลชักพา 

ในตอนนั้น ทั้งโนโซมิและโชเฮต่างเป็นพนักงานบริษัทที่ชอบดอกไม้เหมือนกัน
ทั้งคู่อยู่คนละประเทศ แต่บังเอิญมีเพื่อนชาวญี่ปุ่นคนเดียวกัน เพื่อนเห็นว่าชอบดอกไม้ทั้งคู่ เลยแนะนำให้รู้จักกัน
ทั้งสองคนเริ่มปรึกษากันเรื่องร้านดอกไม้ และจากเรื่องดอกไม้ก็นำไปสู่เรื่องอื่นๆ
อีกมากมายที่ทั้งคู่ชอบคล้ายกัน
หลังจากเขียนจดหมายและคุยไลน์ข้ามประเทศไปมาอยู่หลายเดือน
โชเฮก็เล่าสถานการณ์ร้านดอกไม้ให้โนโซมิฟัง 

“ตอนนี้ยอดขายร้านดอกไม้ต่ำลง จะกลับไปช่วยธุรกิจที่บ้านก่อน
ถ้าฟื้นฟูธุรกิจได้เมื่อไหร่ จะมาขอแต่งงาน”
โนโซมิที่ชอบดอกไม้อยู่แล้ว ไม่อยากปล่อยให้โชเฮลำบากคนเดียว 

“ถ้าจะลำบาก ก็ลำบากด้วยกันเลยดีกว่า” 

ฉากที่ตามมา คือการขอแต่งงาน งานแต่งงานที่เต็มไปด้วยดอกไม้
ตามมาด้วยการย้ายไปอยู่ญี่ปุ่นที่ดูแสนโรแมนติก 

แต่ชีวิตจริงกำลังจะเริ่มนับจากนี้ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเริ่มสร้างดินแดนแสนดอกไม้ ที่เป็นทั้งเรื่องราวการสานต่อธุรกิจและนิยายรักของโนโซมิและโชเฮ

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

ธุรกิจ : Flower Studio Parterre

ประเภทธุรกิจ : ขายดอกไม้ครบวงจร 

อายุ : 28 ปี

ผู้ก่อตั้ง : คุณแม่ทาคาฮาชิ โชโค (Takahashi Shoko) และคุณพ่อทาคาฮาชิ โยชิคาสึ (Takahashi Yoshikazu) 

ทายาทรุ่นสอง : ทาคาฮาชิ โชเฮ (Takahashi Shohei) และทาคาฮาชิ โนโซมิ (Takahashi Nozomi) หรือพัชรดา เนตรประไพ 

สถานการณ์ธุรกิจร้านดอกไม้และการแก้โจทย์ดอกไม้ที่สูญเสียไป 

แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ธุรกิจดอกไม้เฟื่องฟู แต่ความจริงแล้วร้านดอกไม้ไม่ได้ขายดีตลอดทั้งปี 

ฤดูหนาว คนซื้อดอกไม้น้อยเพราะอากาศหนาวทำให้ดอกไม้อยู่ได้นาน ไม่ต้องซื้อบ่อย 

ส่วนฤดูร้อน คนญี่ปุ่นก็นิยมปลูกดอกไม้ในสวนเองที่บ้านทำให้ไม่ค่อยมีคนมาซื้อ
ฤดูที่ดอกไม้ขายดีมีแค่ฤดูใบไม้ผลิ ทำให้โดยรวมแล้วร้านดอกไม้ขายดีแค่ครึ่งปี ส่วนอีกครึ่งปีจะเงียบ

ด้วยสาเหตุนี้ เมื่อเวลาผ่านไป ร้านดอกไม้ในอิวาเตะที่เคยเปิดถึง 5 สาขา จึงปิดเหลือ 2 สาขา 

โชเฮเริ่มเข้ามาช่วยกิจการที่สาขาในซูเปอร์มาร์เก็ตเริ่มสังเกตเห็นว่า มักจะมีดอกไม้บางส่วนที่ขายไม่ได้และเหลืออยู่เสมอ

โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ให้ได้ คือปัญหาเรื่องการสูญเสียดอกไม้

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ
Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

เปลี่ยนดอกไม้เหลือเป็นงาน DIY ขายส่งห้างฯ

เพื่อแก้ปัญหาดอกไม้เหลือ โชเฮที่ก่อนหน้านี้ทำงานบริษัทจัดจำหน่ายสินค้า
แผนกค้าส่งกับห้างสรรพสินค้า ก็เห็นโอกาสเพิ่มมูลค่าจากดอกไม้เหลือด้วยการนำดอกไม้มาทำ Herbarium หรือขวดดอกไม้ในน้ำมันและขายส่งห้างสรรพสินค้า 

Herbarium เป็นสินค้า DIY ซึ่งในช่วงนั้นงานศิลปะทำมือเริ่มได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น 

ในขณะที่สะใภ้บ้านอื่นอาจต้องทำอาหารให้อร่อยเพื่อเอาใจแม่สามี โนโซมิเล่าว่า เธอต้องพิสูจน์ความสามารถในการจัด Herbarium ให้สวยเพื่อชนะใจคุณแม่ 

“เราเริ่มจากทำ Herbarium แล้วก็ปิ๊งไอเดียทำข้าวของเครื่องใช้เรซิ่นจากดอกไม้ 

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ
Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

ทั้งเครื่องประดับ ปากกา นาฬิกา กล่องเก็บของ เครื่องคิดเลข กลายเป็นว่าสามีเรายังไม่เห็นภาพด้วยซ้ำว่าสินค้ากุ๊กกิ๊กหลายอย่างจะขายได้ยังไง แต่คุณแม่สามีที่เป็นผู้หญิงเหมือนกันจะเข้าใจว่าคนน่าจะอยากใช้และขายได้ พอทำออกมาทั้งคนญี่ปุ่นและคนไทยก็ชอบ” โนโซมิเล่าความเป็นมากว่าจะขายส่งให้ห้างสรรพสินค้ามากมายในญี่ปุ่นทั้ง Takashimaya, Ito Yokado, Loft ได้ “เคล็ดลับ คือเราไม่ได้ใช้แค่ดอกไม้ที่ดี แต่ใช้เรซิ่นคุณภาพดีด้วย ซึ่งทำให้เก็บได้นาน สีไม่เหลือง” 

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ
Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกคุณพ่อของโชเฮยังไม่ค่อยเห็นด้วยนัก 

การขายส่งหมายถึงต้องขายให้ได้ปริมาณมากและต้องลดต้นทุนให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย 

วิธีหนึ่งที่โนโซมิและโชเฮเห็นว่าช่วยในการลดต้นทุนได้ คือการจ้างแรงงานที่สนับสนุนกลุ่มคนพิการ แม่บ้าน และคนชรา 

“ค่าแรงงานที่ญี่ปุ่นแพง ประมาณแปดร้อยถึงหนึ่งพันเยน เราเลยเลือกเข้าไปสอนการจัดดอกไม้ให้กลุ่มคนเหล่านี้ นอกจากช่วยให้พวกเขามีรายได้แล้ว ยังเป็นศิลปะบำบัดไปในตัวด้วย” 

 ดังนั้นแทนที่จะมีดอกไม้เหลือทิ้งขว้าง ดอกไม้ที่เหลือเหล่านั้นก็กลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นของใช้ในบ้านได้ และทำให้คนทำเบิกบาน มีงานอดิเรกจากดอกไม้ด้วย 

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

สะใภ้ผู้เป็นทูตระหว่างประเทศของครอบครัว

อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนและสร้างความแตกต่าง คือการนำดอกไม้ไทยมาขายที่ญี่ปุ่นและนำดอกไม้ญี่ปุ่นมาขายที่ไทย

“เรามีแหล่งซื้อดอกไม้ญี่ปุ่นในราคาถูก สามารถเอามาขายไทยในราคาไม่แพงเกินไป ในทางกลับกันพอเอาดอกไม้ไทยมาขายที่ญี่ปุ่น ดอกไม้ของเราก็แตกต่างและไม่เหมือนร้านดอกไม้ที่ญี่ปุ่นร้านไหน” โนโซมิเล่า 

ด้วยเทรนด์การจัดดอกไม้ไทยที่มักช้ากว่าญี่ปุ่น ทำให้ร้านนำเสนอสินค้าที่มีความทันสมัยเทียบเท่าเทรนด์ดอกไม้ที่ญี่ปุ่นแต่ราคาจับต้องได้ Herbarium ที่ตอนแรกได้รับความนิยมก่อนในญี่ปุ่น สุดท้ายก็มีเทรนด์ความนิยมในไทยตามมา 

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

“การมีต้นทุนแหล่งซื้อดอกไม้ไม่แพงทำให้เราขายแบบไม่งกดอกไม้ เวลาจัดดอกไม้และทำสินค้า เราใส่ดอกไม้เยอะได้ ไม่เหมือนที่อื่นที่ให้ดอกไม้นิดเดียว” โนโซมิยังบอกอีกด้วยว่าเพราะงานอดิเรกของเธอที่ชอบเล่าเรื่องทำให้มีลูกเพจที่ตามมาเป็นลูกค้าพอสมควร 

“เราเปิดเพจ เมื่อฉันมาอยู่อิวาเตะ เพราะชอบเล่าเรื่องที่สนใจให้คนไทยฟัง ไม่ได้เล่าแค่ดอกไม้ แต่เล่าชีวิตสะใภ้ญี่ปุ่น ทั้งเรื่องอาหารการกิน วัฒนธรรมที่แตกต่าง”

แม้ไม่ได้ตั้งใจเปิดเพจเพื่อโฆษณาร้านดอกไม้โดยตรง แต่สิ่งที่เธอได้ คือการติดต่อไปขายที่ห้างญี่ปุ่นในไทยอย่าง Isetan รวมทั้งการออกคอลเลกชันร่วมกับผู้ประกอบการไทยรายย่อยที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง เช่น แบรนด์เสื้อผ้าที่อยากทำชุดเดรสติดกระดุมดอกไม้แห้ง 

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

นิตยสารญี่ปุ่นในไทยอย่าง DACO ก็ให้โนโซมิเขียนคอลัมน์ Blooming Day เล่าเรื่องสนุกๆ ในญี่ปุ่น 

บทบาทการเป็นสะใภ้ไทยในแดนปลาดิบของเธอจึงไม่ใช่แค่มาช่วยร้านดอกไม้เท่านั้น แต่ยังเป็นทูตระหว่างประเทศที่ทำให้คนญี่ปุ่นสนใจดอกไม้ไทย และคนไทยสนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น

ดอกไม้จำนวนมากในงานสำคัญของคนสำคัญ

ฝั่งโชเฮก็เข้ามาบริหารระบบการจัดเก็บดอกไม้ให้เป็นระบบมากขึ้น 

“แต่ก่อนเราคาดเดาไม่ได้ว่าจะมีออเดอร์งานที่ต้องใช้ดอกไม้เยอะเมื่อไหร่ เช่น งานศพมักเป็นออเดอร์กะทันหัน ทำให้ต้องตุนดอกไม้ไว้เยอะและมีดอกไม้เหลือ” 

โชเฮบอกว่า สิ่งสำคัญคือต้องคาดการณ์ได้ว่า ช่วงไหนเป็นช่วงเบ่งบานของธุรกิจที่ขายดี ส่วนช่วงที่ขายได้น้อยก็หาช่องทางเพิ่มเติม 

ช่วงที่ดอกไม้สดขายดีในญี่ปุ่นนั้นต่างจากไทย ไม่ใช่ช่วงวาเลนไทน์หรือรับปริญญา แต่เป็นช่วงวันแม่ในเดือนพฤษภาคมและเทศกาลวันไหว้บรรพบุรุษในเดือนสิงหาคม

“วันไหว้บรรพบุรุษที่สุสานในอิวาเตะมีความพิเศษ ไม่เหมือนที่ไหน คือนอกจากไหว้สุสานของญาติตัวเองแล้ว คนอิวาเตะยังไหว้สุสานของเพื่อนบ้านรอบๆทั้งสี่ทิศด้วย ทำให้ต้องใช้ดอกไม้เยอะมาก ไหว้หนึ่งครั้งใช้ดอกไม้สิบช่อ”

เมื่อพ้นจากช่วงเทศกาลเหล่านี้ ทางร้านก็เพิ่มช่องทางการขายอื่นๆ ที่ใช้ดอกไม้ปริมาณมากเหมือนกัน เช่น งานแต่งงาน 

“แต่ก่อนไม่ทำเพราะเรื่องเยอะ ต้องไปคุยกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวหลายรอบ แต่เราเห็นว่ามันเป็นโอกาส” 

โชเฮบอกว่าทางร้านยังมีตัวเลือกดอกไม้พิเศษให้ลูกค้าอีกด้วย เช่น ดอกไม้มงคล รวมถึงดอกไม้ไทยที่ทำให้งานแต่งงานของบ่าวสาวชาวญี่ปุ่นแตกต่างจากงานอื่นๆ 

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

Spread the Love ด้วยเครือข่ายคนรักดอกไม้  

ทั้งคู่ยังริเริ่มช่องทางการขายใหม่ๆ เช่น การขายออนไลน์ ในญี่ปุ่นมีเว็บไซต์ที่รวบรวมร้านดอกไม้จากทั่วประเทศ แพลตฟอร์มเหล่านี้ช่วยให้ร้านดอกไม้กับลูกค้าได้เจอกัน เช่น สมมติถ้าเราอยู่โตเกียว แต่อยากส่งดอกไม้ให้คุณยายที่จังหวัดอิวาเตะ ก็เข้ามาดูในเว็บไซต์ว่าที่อิวาเตะมีร้านดอกไม้อะไรบ้างแล้วสั่งดอกไม้ผ่านทางเว็บได้เลย 

“ร้านเราอยู่ในสองเว็บไซต์ คือ Hana Cupid และ E-Flora เพราะดีคนละแบบ

Hana Cupid ขึ้นชื่อว่าเป็นเครือข่ายร้านดอกไม้ที่เก่าแก่ ส่วน E-Flora จะเน้นผลงานมากกว่า” 

โชเฮบอกว่าสิ่งที่ทางร้านพัฒนา คือระบบจัดส่ง ที่ช่วยส่งดอกไม้ให้ลูกค้าทั่วญี่ปุ่นได้สะดวก “ร้านเราเพิ่งเข้าเป็นสมาชิกกับ E-Flora เมื่อหกเดือนที่แล้ว และตอนนี้ก็ขึ้นเป็นร้านอันดับหนึ่งในเครือข่ายร้านดอกไม้จังหวัดอิวาเตะ” 

แม้มีช่องทางเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น แต่ทั้งคู่ยังไม่ลืมความพิเศษที่คนรักดอกไม้ได้มานั่งเรียนจัดดอกไม้ด้วยกัน 

ทางร้านมีจัดสอนเวิร์กช็อปการจัดดอกไม้ทั้งในไทยและญี่ปุ่น โดยใส่ใจในความชอบที่แตกต่างของลูกค้าต่างวัฒนธรรม เช่น คนญี่ปุ่นชอบจัดดอกไม้โทนสีพาสเทล ส่วนคนไทยชอบดอกไม้สีสด

โนโซมิยังมองว่า ในอนาคตเธออยากจัดกิจกรรมให้คนที่มีอาการซึมเศร้าได้จัดดอกไม้เป็นงานอดิเรกอีกด้วย

ที่แน่ๆ จุดแข็งที่ Flower Studio Parterre มีเพิ่มขึ้นมา คือการมีเครือข่ายคนรักดอกไม้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

ในทุกความรักมีทั้งศาสตร์และศิลป์ 

นั่งฟังมานานก็สงสัยว่าคู่รักที่ทำธุรกิจดอกไม้ด้วยกัน มีมุมมองการจัดดอกไม้เหมือนหรือแตกต่างกันแค่ไหน 

โชเฮบอกว่า “ผมมองการจัดดอกไม้เหมือนคิดเลข มีสูตรของมัน” 

เช่น การจัดดอกไม้แบบอเมริกานิยมจัดดอกไม้เข้าหาศูนย์กลางของตัวกระถาง ดอกใหญ่และสีเข้มอยู่ข้างล่าง ใบที่หนาอยู่ข้างบน และไม่ควรมีดอกไม้เกิน 3 โทนสี ส่วนแบบยุโรป จัดเป็นรูปต่างๆ เช่น รูปพระจันทร์เสี้ยว ในขณะที่จัดแบบญี่ปุ่นจะมีความมินิมอลมากกว่า เช่น ดอกไม้หนึ่งดอกปักตรงๆ ในหนามเตยทรงกลมหรือกระถางเหล็ก 

โชเฮเห็นความจำเป็นของการเรียนจัดดอกไม้แบบฝรั่ง นอกเหนือจากการจัดแบบญี่ปุ่นด้วยว่า บ้านสไตล์ญี่ปุ่นสมัยก่อนบ้านมีเสื่อทาทามิ มีที่วางดอกไม้ แต่บ้านสมัยนี้เป็นแบบโมเดิร์นสไตล์ฝรั่งมากขึ้น วิธีการจัดดอกไม้จึงต้องปรับให้ทันยุคสมัยและหลากหลายจะได้ตรงความต้องการลูกค้า 

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

ขณะที่โนโซมิมองการจัดดอกไม้เป็นศิลปะบำบัด ซึ่งงานศิลปะจะสนุกได้ต้องเริ่มจากความสุขและความชอบเป็นสำคัญ

และไม่ใช่แค่อิเคบานะที่เป็นศาสตร์การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น ซึ่งช่วยบำบัดความเครียด

แต่การจัดแบบ Herbarium ก็ช่วยให้มีสมาธิขึ้นเหมือนกัน

“การใช้คีมวางดอกไม้ผ่านคอขวดเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเวลาขาย Herbarium ส่งห้างจะเข้มงวดเรื่องคุณภาพสินค้ามาก อาจดูเหมือนว่าวางตำแหน่งปลา ดอกไม้มั่วๆ ได้ตามใจ แต่ความจริงแล้ว สินค้าแต่ละชิ้น เราต้องกำหนดให้ละเอียดมาตั้งแต่แรกว่า ดอกไม้และปลาแต่ละอย่างจะอยู่ตำแหน่งตรงไหน” โนโซมิยิ้มรับ

เคล็ดลับสำหรับคู่รักที่ทำงานด้วยกัน คือการแบ่งหน้าที่ ทั้งขอบเขตและเวลาการทำงานให้ชัดเจน และเป็นเรื่องโชคดีที่ทั้งคู่มีความถนัดที่แตกต่างแต่เข้ากันได้ดี 

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

โชเฮถนัดด้านหาช่องทางการขายและขายส่ง มองการจัดดอกไม้เป็นสูตร
โนโซมิถนัดด้านสร้างสรรค์คิดค้นสินค้าใหม่ มองดอกไม้เป็นศิลปะ 

“การทำธุรกิจกับคนรักมีทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ เราเคารพข้อดีของกันและกัน อีกฝ่ายไม่ถนัดอะไร ก็ไม่ต้องให้ทำตรงนั้น เอาสิ่งที่ถนัด” มุมมองของโชเฮทำให้รู้สึกว่า ความรักที่ยืนยาวอาจเป็นเรื่องของการบริหารศาสตร์และศิลป์ให้ลงตัว

หากมีแต่ใจที่รักดอกไม้ แต่ไม่รู้ศาสตร์วิธีจัด ร้านดอกไม้ก็ไม่อาจอยู่ยืนยาวได้ 

หากรักใครแล้ว อิงแต่ทฤษฎีความรัก ไม่มีความเข้าใจในกันและกัน ความรักก็ไม่อาจยืดยาวเช่นกัน 

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

อย่าปลูกดอกไม้ในกระถางใบเดียว

ร้าน Flower Studio Parterre ในรุ่นที่โชเฮและโนโซมิมารับช่วงต่อ จึงกลายเป็นร้านที่ขายสินค้าจากดอกไม้แบบครบวงจร ไม่ได้ขายแค่ดอกไม้กระถาง ดอกไม้สด และดอกไม้แห้งเหมือนรุ่นคุณแม่ 

ธุรกิจมีสินค้าและกลุ่มลูกค้าหลากหลาย

Herbarium และของใช้จากดอกไม้เน้นขายส่งให้ห้าง 

ดอกไม้แห้งขายให้แม่บ้านเอาไปประดิษฐ์ 

ดอกไม้สดขายให้คนหลายกลุ่ม ทั้งลูกหลานที่ไปไหว้บรรพบุรุษ ซื้อพวงหรีดไปงานศพ บ่าวสาวที่กำลังแต่งงานหรือคนที่อยากมอบดอกไม้เป็นของขวัญให้กัน 

เพราะขายดอกไม้ได้หลายแบบ จากที่ร้านเคยขายดีแค่บางฤดู ก็กลายเป็นขายดอกไม้ได้ทุกฤดู ช่วงที่ดอกไม้สดขายไม่ค่อยดีก็กลายเป็นช่วงที่ห้างอยากได้สินค้ามาขายพอดี 

หากเคยได้ยินสำนวน ‘อย่าวางไข่ในตะกร้าใบเดียว’ เพราะคนเราควรกระจายความเสี่ยง 

กลยุทธ์ที่โชเฮและโนโซมิใช้ก็คงคล้ายกัน คือการไม่ปลูกดอกไม้ในกระถางใบเดียว ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นพร้อมความรักและความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เริ่มเบ่งบานตามไปด้วย แม้ครอบครัวโชเฮจะมีข้อกังขาหลายอย่างอยู่บ้างในตอนแรก 

แต่เมื่อลงมือทำแล้วพิสูจน์ว่าขายได้จริง ทางบ้านก็เริ่มยอมรับและตัดสินใจวางมือ ส่งมอบธุรกิจให้โชเฮและโนโซมิอย่างเต็มตัวในต้นปีนี้ 

เรื่องราวความรักและการทำธุรกิจของทั้งคู่สอนให้รู้ว่า แม้จะตกหลุมรักดอกไม้สดแค่ไหน อย่าเพียรขายแต่ดอกไม้สด 

เมื่อความรักและธุรกิจต้องเติบโตขึ้นทุกวัน รักนิรันดร์อาจเป็นดอกไม้แห้งที่แช่ในน้ำมันก็ได้

Flower Studio Parterre การต่อยอดธุรกิจของสะใภ้คนไทยที่ชอบขายดอกไม้กับหนุ่มญี่ปุ่นทายาทธุรกิจ ร้านดอกไม้ แห่งอิวาเตะ

If Love is Flower 

โชเฮ : ความรักเหมือนดอกกล้วยไม้ Phalaenopsis ดอกไม้กระถางส่วนใหญ่เลี้ยงง่าย แต่พันธ์ุนี้ต้องหมั่นใส่ใจ ทั้งรดน้ำและดูแลให้ได้รับแสงและอาหารที่เพียงพอ
ความรักเหมือนดอกไม้กระถางที่ต้องดูแล

โนโซมิ : ความรักเหมือนดอกแอปเปิ้ลญี่ปุ่น ถ้าเราไม่ดูแลดอกให้ดีจะไม่มีผล ถ้าปล่อยให้โตเอง แอปเปิ้ลอาจไม่มีทั้งดอกและผลให้เรา 

ความรักคือ การเอาใจใส่และตอบแทนกันและกัน 

Flower Studio Parterre : www.flowerstudioparterre.com

Facebook เพจของโนโซมิ : เมื่อฉันมาอยู่อิวาเตะ  

Facebook เพจของโชเฮ : พ่อบ้านญี่ปุ่นรีวิว

Writer

Avatar

รตา มนตรีวัต

อดีตสาวอักษรผู้โตมาในร้านขายหวายอายุ 100 กว่าปีย่านเมืองเก่า เป็นคนสดใสเหมือนดอกทานตะวัน สะสมแรงบันดาลใจไว้ในบล็อคชื่อ My Sunflower Thought ขับรถสีแดงชื่อ Cherry Tomato ระหว่างวันทำงานในโลกธุรกิจ เวลาว่างซาบซึ้งในศิลปะ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ