ใครชอบเที่ยวงานเทศกาลเหมือนฉันบ้าง เทศกาลในที่นี้ฉันหมายถึงงานที่ที่มีชิงช้าสวรรค์ รถบั๊ม ปาเป้า สายไหม มอเตอร์ไซค์วิบาก แข่งหมู ประกวดแพะ ที่ในอเมริกามักเรียกเทศกาลแบบนี้ว่า งานแฟร์ (Fair) ทั้งในระดับท้องถิ่น (County Fair) และระดับรัฐ (State Fair) แต่ถ้าจะเรียกแบบไทย คำว่า งานวัด น่าจะเหมาะที่สุด 

บันทึกอาสาสมัครเทศกาลประจำปีรัฐฟลอริดา ตั้งแต่เตรียมงาน สร้างคอกสัตว์ ยันเก็บขี้วัว

ด้วยความหลงใหลในบรรยากาศของงานวัด ทำให้วันหนึ่งเมื่อมีเวลาและโอกาส ฉันก็อาสาไปช่วยงานเทศกาลประจำปีของรัฐฟลอริดา (Florida State Fair) เสียเลย งานนี้จัดขึ้นเป็นเวลา 12 วันที่เมืองแทมป้า เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี หลังจากผ่านขั้นตอนการตรวจสอบประวัติบุคคลเรียบร้อยแล้ว ฉันได้รับข้อความจากผู้ประสานงานเทศกาลให้เข้าไปที่เว็บไซต์ของอาสาสมัครเพื่อเลือกชั่วโมงทำงาน ช่วงนั้นเป็นช่วงของการเตรียมงาน (Pre Fair) คือ 3 สัปดาห์ก่อนเทศกาลจะเริ่มต้น จึงมีงานให้เลือกคร่าว ๆ 3 สายงาน คือ เกษตรกรรม ศิลปหัตถกรรม และสำนักงานประสานงาน 

บันทึกอาสาสมัครเทศกาลประจำปีรัฐฟลอริดา ตั้งแต่เตรียมงาน สร้างคอกสัตว์ ยันเก็บขี้วัว

ฉันเลือกช่วยงานที่แผนกเกษตรกรรม เพราะอยากใกล้ชิดกับวัว แพะ ไก่ หมู ลามะ และอื่น ๆ อีกหลายสายพันธุ์ แต่ช่วง Pre Fair พวกมันยังไม่มา งานที่ได้รับมอบหมายให้ทำในวันแรกคือพับเสื้อ เพื่อแยกบรรจุลงกล่อง เสื้อที่ว่านี้เป็นเสื้อสกรีนลายเทศกาลประจำปีที่เกษตรกรกับหน่วยงานที่จะเข้ามาจัดนิทรรศการสั่งซื้อไว้กับแผนกเกษตรกรรม 

งานวัดผสมงานเกษตร

“สามีของฉันเป็นทหารผ่านศึกสงครามเวียดนาม เขาเคยไปประเทศไทยในช่วงนั้นด้วย” ดอนน่าบอกกับฉันด้วยความยินดีทันทีที่รู้ว่าฉันเป็นคนไทย เราสองคนใช้เวลาพับเสื้อหนึ่งพันกว่าตัวอยู่ด้วยกัน 2 วันเต็ม ๆ 

บันทึกอาสาสมัครเทศกาลประจำปีรัฐฟลอริดา ตั้งแต่เตรียมงาน สร้างคอกสัตว์ ยันเก็บขี้วัว

ดอนน่าเป็นหญิงสูงอายุ ท่าทางใจดี เป็นอาสาสมัครช่วยงานอยู่ที่แผนกเกษตรกรรมมานานกว่า 42 ปี ทำให้รู้ขั้นตอนการเตรียมงานทั้งหมดเป็นอย่างดี เธอจึงพ่วงหน้าที่ดูแลและแจกจ่ายงานให้กับอาสาสมัครคนอื่น ๆ ไปด้วย เธออธิบายโครงสร้างของงานพอให้ฉันเข้าใจภาพรวมว่า งานช่วง Pre Fair แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่แผนกเกษตรกรรมดำเนินการเอง มีทั้งงานเอกสารและการเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเสื้อ ข้อสอบ ถ้วยรางวัล กับส่วนที่แผนกเกษตรกรรมจัดจ้างคนมาดูแลโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการจัดเตรียมสถานที่ต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งาน เช่น โรงวัว โรงแพะ เต็นท์สุนัข เล้าไก่ ศูนย์การเรียนรู้เรื่องพืชเศรษฐกิจ หอประวัติศาสตร์ เป็นต้น อาสาสมัครที่เข้ามาทำงานในช่วงนี้จะดูว่ามีรายการใดบ้างที่ต้องทำในวันนั้น ก่อนเลือกไปช่วยงานในส่วนที่ตัวเองถนัดหรือสมัครใจทำ 

บันทึกอาสาสมัครเทศกาลประจำปีรัฐฟลอริดา ตั้งแต่เตรียมงาน สร้างคอกสัตว์ ยันเก็บขี้วัว

งานชิ้นต่อไปของฉันคือ ทำความสะอาดป้ายที่จะนำไปติดตามสถานที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นป้ายเตือน เช่น ห้ามเข้า ห้ามปีนป่าย ควรล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสกับสัตว์ กรุณาเดินทางเดียว ที่มีทั้งภาษาอังกฤษและสเปน ป้ายเหล่านี้นอนนิ่งรวมกันในกล่องใบใหญ่ ดูก็รู้ว่าเจ้าหน้าที่ที่เก็บงานคงจับโยนรวมกันไว้หลังจบเทศกาลเมื่อปีก่อน เพราะหลายแผ่นยังมีคราบโคลนหรือมูลสัตว์ติดอยู่ หลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้ว ฉันก็ถือโอกาสแยกเก็บเป็นหมวดหมู่ พร้อมทำดรรชนีกำกับไว้ด้วย จะได้ไม่ต้องไล่หาทีละใบตอนจะนำไปใช้ ทำเอาทุกคนที่ผ่านมาเห็นเป็นครั้งแรกอึ้งไปตาม ๆ กัน ก่อนจะออกตัวว่าที่อึ้งนี่เพราะประทับใจหรอกนะ จากนั้นมา เวลาที่ฉันแนะนำตัวกับใครเป็นครั้งแรก พวกเขามักจะแซวว่า 

อ้อ! เธอนี่เอง สาวไทยผู้ที่จัดระเบียบให้กับป้ายของเขา 

บันทึกอาสาสมัครเทศกาลประจำปีรัฐฟลอริดา ตั้งแต่เตรียมงาน สร้างคอกสัตว์ ยันเก็บขี้วัว

เมื่อเอ่ยถึง ‘ฟลอริดา’ รัฐที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา คงมีน้อยคนที่จะคิดถึงฟาร์มวัว ไร่อ้อย แปลงผัก เป็นอันดับแรก เพราะส่วนใหญ่มักมีภาพจำเป็นหาดทราย ชายทะเล สวนสนุกดิสนีย์เวิร์ล ศูนย์อวกาศเคนเนดี้ และไมอามี ทั้งที่ความเป็นจริงนั้น เกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ทำรายได้ให้กับรัฐสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการท่องเที่ยว แถมพื้นที่ 2 ใน 3 ของรัฐก็เป็นพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ เวลาขับรถไปตามเส้นทางที่ไม่ใช่ทางหลวง มักจะเห็นสวนผลไม้ ไร่ผัก และฟาร์มเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วไป 

จุดเริ่มต้นของเทศกาลประจำปีของรัฐต่าง ๆ ก็มีที่มาจากการนำผลิตผลทางการเกษตรมาจัดแสดงนี่เอง ก่อนจะต่อยอดมาเผยแพร่เทคโนโลยีและโฆษณาสินค้าใหม่ ๆ เช่น รถไถ เครื่องเอกซ์เรย์ เครื่องดื่ม จากนั้นจึงมีการนำเครื่องเล่นสวนสนุกและการแสดงดนตรีเข้ามาเพิ่ม สร้างสีสันให้กับงาน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นจุดเด่นของงานเทศกาลไปเลย รัฐอื่น ๆ ส่วนใหญ่มักจัดงานเทศกาลประจำปีในช่วงฤดูร้อน แต่ที่ฟลอริดา หน้าร้อนนั้นร้อนเกินไป จึงเลือกจัดงานในฤดูหนาว โดยเริ่มจัดมาตั้งแต่ ค.ศ. 1904 แล้ว

บันทึกอาสาสมัครเทศกาลประจำปีรัฐฟลอริดา ตั้งแต่เตรียมงาน สร้างคอกสัตว์ ยันเก็บขี้วัว

วัว แพะ แกะ หมู ลามะ และนกหนีหนาว

1 สัปดาห์ผ่านไป ฉันถูกส่งตัวไปช่วยงานแพตตี้ ผู้เป็นแม่งานเรื่องการจัดเตรียมสถานที่ที่มีรายละเอียดสารพัด ตั้งแต่เรื่องโครงสร้างไปจนถึงการประดับตกแต่ง เช่น การเตรียมโรงเรือนแพะที่จัดขึ้นในอาคารเปล่า เริ่มด้วยการใช้ผ้าใบล้อมรอบอาคารให้เป็นสถานที่ปิด จากนั้นจะกันเนื้อที่ส่วนหนึ่งไว้เป็นพื้นที่สำหรับการสาธิตและประกวด

ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะจัดทำเป็นคอกแพะ เริ่มด้วยการใช้แผงเหล็กกั้นแบ่งคอก ตามด้วยการปูพื้นคอกด้วยขี้เลื่อยและทับด้วยฟาง ด้านหน้าของคอกทำเป็นทางเดินสำหรับผู้มาเที่ยวงาน ส่วนด้านหลังกั้นให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเกษตรกร ที่มักมีสัมภาระมากมาย และส่วนใหญ่พักแรมอยู่ในงานด้วย หลังจากงานเชิงโครงสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว งานเก็บรายละเอียดจึงตามมา เช่น พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ติดโปสเตอร์และป้ายเตือน ติดตั้งขวดแอลกอฮอล์ตามจุดต่าง ๆ ติดตั้งบอร์ดรายการสาธิตในแต่ละวัน เตรียมอัฒจันทร์ โต๊ะวางถ้วยรางวัล และสุดท้าย ตกแต่งพื้นที่ด้วยไม้ประดับ

บันทึกอาสาสมัครเทศกาลประจำปีรัฐฟลอริดา ตั้งแต่เตรียมงาน สร้างคอกสัตว์ ยันเก็บขี้วัว

การเตรียมโรงเรือนสัตว์หลังอื่นก็จะคล้าย ๆ กัน ยกเว้นเต็นท์สุนัขที่ไม่ต้องกั้นคอก เพราะผู้ที่มาออกงานเป็นสมาคมสุนัขสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ สมาคมจึงนำอุปกรณ์มาจัดพื้นที่เองในรูปแบบของการจัดนิทรรศการ โรงม้าที่มีลักษณะเป็นคอกม้าถาวร และโรงเรือนสัตว์ปีกกับกระต่ายที่จัดให้อยู่ในกรงแทน

พวกงานโครงสร้างมักจะมีคนงานทำหน้าที่อยู่แล้ว งานของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจึงเป็นเรื่องปลีกย่อยมากกว่า การติดตั้งโรงเรือนทุกหลังจะเริ่มทำพร้อม ๆ กัน จึงทยอยเป็นรูปเป็นร่างตาม ๆ กันไป งานที่ฉันใช้เวลาคลุกคลีอยู่หลายวัน คือการเกลี่ยขี้เลื่อยให้เสมอกันเพื่อทำที่นอนให้สัตว์ เหมือนจะง่าย แต่จริง ๆ แล้วเหนื่อยน่าดูเชียวแหละ

อาจเป็นเพราะฉันไม่คุ้นเคยกับการทำงานใช้แรงก็เป็นได้ ตอนจับคราดวันแรกรู้สึกว่าทำไมมันหนักจัง กองขี้เลี่อยสูง ๆ ที่รถนำมากองไว้ ฉันต้องค่อย ๆ โกยออกมาทีละคราด ทีละคราด เพื่อให้กระจายไปทั่วพื้นที่ ก่อนจะเริ่มเกลี่ยให้อยู่ในระดับเดียวกัน แต่ทำไปสักพักก็เริ่มคล่องขึ้น ยิ่งพอน้ำหนักเริ่มลด และบอกกับตัวเองว่าฉันกำลังทำที่พักชั่วคราวให้สัตว์ตาดำ ๆ ได้อยู่สบาย ก็ยิ่งมีกำลังใจมากขึ้น

บันทึกอาสาสมัครเทศกาลประจำปีรัฐฟลอริดา ตั้งแต่เตรียมงาน สร้างคอกสัตว์ ยันเก็บขี้วัว

ฉันมองหางานชิ้นต่อไปที่ต้องใช้แรงงาน ซึ่งแพตตี้ก็จัดให้ไปช่วยเตรียมพื้นที่สำหรับสัตว์ใกล้คลอด เรียกกันว่า Moo-ternity ward มีจุดประสงค์ให้คนมาเที่ยวงานได้สังเกตการณ์การคลอดลูกของสัตว์โดยเฉพาะ ถ้าเป็นแพะกับแกะจะปล่อยให้คลอดเองตามธรรมชาติในคอกของแต่ละตัว แต่ถ้าเป็นแม่วัวจะมีเวทีที่เตรียมไว้ให้ เพราะมีคนช่วยทำคลอดพร้อมกับบรรยายให้ผู้ชมเข้าใจไปด้วย

ฉันไม่เคยเห็นวัวออกลูกมาก่อนเมื่อได้ยินก็ตื่นเต้นเล็กน้อย แพตตี้สัญญาว่าช่วงเทศกาลถ้ามีแม่วัวขึ้นเวทีเมื่อไร เธอจะตามตัวฉันมาดูให้ได้ ไม่ว่าฉันจะทำงานอยู่ที่ไหนก็ตาม ปีนี้เป็นปีที่ 37 แล้วที่แพตตี้รับเป็นแม่งานให้กับแผนกเกษตรกรรมของงานเทศกาล แม้จะอายุ 76 ปี แต่เธอคล่องแคล่วจนฉันอาย แค่เดินขึ้นบันไดสิบขั้นเพื่อไปเซ็นชื่อที่สำนักงานฉันยังหอบแฮ่กจนเธอขำ ก่อนจะบอกกับฉันว่าที่เธอยังแข็งแรงเพราะเดินวันละหลาย ๆ กิโลทุกวัน

แพตตี้เป็นเจ้าของฟาร์มโคนมขนาดย่อมอยู่ในรัฐนิวยอร์ก แต่ช่วงฤดูหนาว เธอกับสามีจะเดินทางมาอยู่รัฐฟลอริดากันทุกปี หนีจากอากาศที่หนาวเหน็บมาพักผ่อนและหาอะไรทำจนถึงฤดูใบไม้ผลิจึงเดินทางกลับ ที่อเมริกามีคำเรียกคนที่ใช้ชีวิตอย่างแพตตี้นี้ว่า Snowbird เปรียบว่าเป็นนกในฤดูหนาวที่อพยพลงใต้ เพื่อไปอยู่ในที่ที่มีอากาศอบอุ่นกว่า โดยฟลอริดาถือเป็นรัฐยอดนิยมที่ Snowbird เลือกมาอยู่กัน แต่ละปีมีมากเป็นเรือนแสน

บันทึกอาสาสมัครเทศกาลประจำปีรัฐฟลอริดา ตั้งแต่เตรียมงาน สร้างคอกสัตว์ ยันเก็บขี้วัว

ใกล้ถึงวันงาน ทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนภาพจิ๊กซอว์ที่ต่างคนต่างช่วยกันต่อจนเกือบจะเป็นภาพที่สมบูรณ์ ทุกวันที่มาทำงานฉันต้องหาโอกาสแวะไปดูส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะสวนสนุก ในแต่ละวันจะมีชิ้นส่วนใหม่ ๆ ต่อเติมลงไปที่เครื่องเล่นเพิ่มขึ้น ก่อนถึงวันงาน อาสาสมัครทุกคนต้องเข้าฟังปฐมนิเทศที่หน่วยงานส่วนกลางจัดขึ้น หลายคนเริ่มถามไถ่กันว่าใครจะทำงานอะไรบ้างในช่วงเทศกาล เพราะมีงานให้ทำหลากหลาย บ้างก็จะไปอยู่ที่ตู้ประชาสัมพันธ์ คอยช่วยเหลือผู้มาเที่ยวงาน บ้างก็บอกว่าวันไหนที่มีการประกวด ก็จะสมัครไปช่วยหยิบจับอยู่ตรงนั้น ส่วนวันที่ไม่มีก็จะไปช่วยจัดคิวให้กับผู้ที่อยากถ่ายรูปกับตัวการ์ตูนดังที่มาออกงาน บ้างก็อาสาไปทำกิจกรรมกับเด็ก ๆ ที่ซุ้มพืชเศรษฐกิจ 

“แล้วเธอล่ะ จะทำอะไรรู้หรือยัง” ซูซี่ถามฉัน เธอเป็นอาสาสมัครหน้าใหม่เช่นเดียวกับฉัน 

“ฉันรับปากกับดอนน่าไว้ ว่าจะไปช่วยงานที่โรงวัว” ฉันตอบ 

“ต้องกวาดขี้วัวนะ เธอไม่รังเกียจเหรอ” ซูซี่ถามต่ออย่างล้อ ๆ 

เธอไม่ใช่คนแรกหรอกที่ถามคำถามนี้กับฉัน อันที่จริง ฉันตกปากรับคำไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องทำอะไร 

12 วันของอาสาสมัครในเทศกาลประจำปีรัฐฟลอลิดาที่ได้ทั้งประสบการณ์และมิตรภาพ

สัปดาห์สุดท้ายของการเตรียมงาน ผู้จัดงาน หรือ Exhibitor มีทั้งเกษตรกรและหน่วยงานต่าง ๆ ก็เริ่มทยอยเข้ามาเตรียมงานในส่วนของใครของมัน โรงเรือนแต่ละหลังเริ่มเต็มไปด้วยคน สัตว์ และสิ่งของ เกษตรกรที่มาส่วนใหญ่คุ้นเคยกับสถานที่เป็นอย่างดี เพราะมาออกงานทุกปี หลายครอบครัวมากันตั้งแต่ลูกยังเดินเตาะแตะ จนตอนนี้ลูกกลายเป็นหัวเรือ หยิบจับทุกอย่างแทนพ่อแม่หมดแล้ว ที่ฉันรู้นี่เพราะดอนน่าเล่าให้ฟังหรอก เธอรู้จักคุ้นเคยกับคนกลุ่มนี้ดี 

วันงานที่หลายคนรอคอยก็มาถึง พร้อมกับรอยยิ้มและความคาดหวังที่ต่างกันไป กลุ่มวัยรุ่นเดินจ้ำอ้าวไปที่เครื่องเล่นสวนสนุกก่อนที่แถวจะเริ่มยาว ครอบครัวที่มีลูกเล็กมักเริ่มต้นวันด้วยการให้อาหารสัตว์ที่สวนสัตว์เปิด ก่อนจะต่อด้วยการดูโชว์หรือทำกิจกรรม ส่วนคุณตาคุณยายที่จูงมือกันเดินอย่างไม่รีบร้อนนั้น ฉันมักเห็นเดินชมงานฝีมือที่ได้รางวัลหรือสาธิตการทำอาหารอยู่บ่อย ๆ ครอบครัวที่มาพร้อมกันทีเดียวทั้ง 3 รุ่นก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย บรรยากาศรอบตัวเต็มไปด้วยแสง สี เสียง ทั้งคึกคักและเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา คล้าย ๆ กับฉากงานเทศกาลในหนังฝรั่งหลายเรื่องที่เคยดู

12 วันของอาสาสมัครในเทศกาลประจำปีรัฐฟลอลิดาที่ได้ทั้งประสบการณ์และมิตรภาพ
12 วันของอาสาสมัครในเทศกาลประจำปีรัฐฟลอลิดาที่ได้ทั้งประสบการณ์และมิตรภาพ

งานที่ฉันทำในโรงวัว มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย (Livestock Barn Safety Patroller) ความปลอดภัยของใครน่ะเหรอ ก็น่าจะทั้งคนและวัว

คืออย่างนี้ค่ะ ในบรรดาโรงเรือนสัตว์ทั้งหมด โรงวัวเป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่มาก มีคอกวัวประมาณ 50 คอก แต่ละคอกจุได้ประมาณ 3 – 4 ตัว มีทางเดิน 6 – 7 แถว กับทางแยกอีกหลายจุด จุดประสงค์หลักที่ฟาร์มต่าง ๆ นำวัวของพวกเขามาออกงาน ก็เพื่อประกวดเอารางวัลและเรียกความสนใจจากผู้ซื้อ วันทั้งวันมีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวจูงวัวไปอาบน้ำบ้าง เดี๋ยวจูงวัวไปรีดนมบ้าง เดี๋ยวจูงวัวไปประกวดในอาคารแสดงที่อยู่ติดกันบ้าง คนมาเที่ยวงานก็มีทั้งที่รอดูการประกวดอยู่ในอารีน่า และแวะมาชมอย่างใกล้ชิดที่คอก ทำให้ต้องมีการจัดระเบียบเพื่อให้การสัญจรราบรื่นและป้องกันอุบัติเหตุ จึงมีการแบ่งทางเดินแยกอย่างชัดเจน คือทางเดินสาธารณะ (Public Walkway) สำหรับทุกคน กับทางเดินของผู้จัดงาน (Exhibitor) ที่สงวนไว้สำหรับวัวกับเจ้าหน้าที่ฟาร์มเท่านั้น โดยมีเจ้าหน้าที่อาสาที่มีเครื่องแบบเป็นเสื้อกั๊กสีเหลืองกับไม้เท้าไว้คอยกันคนประจำตามจุดต่าง ๆ เพื่อคอยดูแลความปลอดภัย โดยเฉพาะจุดที่เป็นทางแยก ที่กันคนเพื่อให้วัวไปก่อนเสมอ เพราะพูดกับคนรู้เรื่องกว่า (แต่ก็ไม่เสมอไป) 

12 วันของอาสาสมัครในเทศกาลประจำปีรัฐฟลอลิดาที่ได้ทั้งประสบการณ์และมิตรภาพ

ช่วงแรก ๆ ฉันเตือนถูกคนบ้าง ผิดคนบ้าง เพราะแยกไม่ออกระหว่างผู้จัดงานกับผู้มาเที่ยวงาน จนเพื่อน ๆ อาสาสมัครหลายคนที่อยู่มาก่อนแนะว่า ให้สังเกตดูง่าย ๆ ว่าใครใส่รองเท้าบูตก็มีแนวโน้มว่าคนนั้นจะเป็นผู้จัดงาน ซึ่งก็ได้ผลอยู่บ้าง พวกเขายังแนะนำฉันด้วยว่า ถ้าเห็นว่าวัวนมทำท่าจะถ่าย ฉันควรขยับออกห่างเข้าไว้ เพราะวัวนมกินน้ำมากกว่าวัวเนื้อ ขี้ของมันจึงเหลวและกระเซ็น แต่เรื่องกวาดขี้วัวตามที่คนพูดกันนั้นไม่ต้องกลัว เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าของวัว แต่ไป ๆ มา ๆ ฉันสังเกตว่าอาสาสมัครส่วนใหญ่ก็ไม่รังเกียจที่จะทำนะ เพราะบางครั้งวัวทำหล่นที่กลางสี่แยก เราก็จับพลั่วมาตักออกให้มันจบ ๆ ไปก็บ่อย

เทียบกับงานช่วง Pre Fair ที่ฉันทำก่อนหน้านี้แล้ว งานในโรงวัวเป็นงานที่แสนจะง่ายและไม่ได้ใช้แรงเลย จึงมีผู้สูงอายุอาสามาทำกันมาก หลายคนเป็น Snowbird ที่มาจากรัฐโอไฮโอ เพนซิลเวเนีย คอนเนตทิคัต และนิวยอร์ก แต่ละคนมีอายุงานเป็น 10, 20, 30 ปีกันเลยทีเดียว   

FFA, 4-H เกษตรกรรุ่นเยาว์ อนาคตของชาติ

“เธอรู้ไหมว่า นมช็อกโกแลตน่ะ มาจากวัวสีน้ำตาล” รอยถามฉัน 

ฉันหันหน้าช้า ๆ เหมือนตุ๊กตาผีชัคกี้ไปแยกเขี้ยวใส่เขาแทนคำตอบ เขาระเบิดหัวเราะออกมา เพราะรู้ว่าฉันไม่เชื่อที่เขาพูด วันนี้ฉันกับรอยประจำอยู่ที่ทางแยกเดียวกัน เรามีโอกาสคุยกันหลายเรื่อง รอยเคยทำงานเป็นข้าราชการระดับสูงอยู่ที่รัฐโอไฮโอ ก่อนเกษียณอายุออกมาทำงานอาสาสมัครให้กับองค์กรต่าง ๆ หลายแห่ง เขาเล่าว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการทำโพลสำรวจความรู้ของคนอเมริกันในเรื่องนี้กัน ผลคือ 7 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ (American Adult) เชื่อว่านมรสช็อกโกแลตมาจากวัวสีน้ำตาล สร้างความฮือฮาและเป็นเรื่องเหลือเชื่อ บ้างก็คิดว่าเป็นเรื่องที่กุขึ้นมาเพื่อล้อกันเล่น 

12 วันของอาสาสมัครในเทศกาลประจำปีรัฐฟลอลิดาที่ได้ทั้งประสบการณ์และมิตรภาพ
12 วันของอาสาสมัครในเทศกาลประจำปีรัฐฟลอลิดาที่ได้ทั้งประสบการณ์และมิตรภาพ

การทำงานที่โรงวัวทำให้ฉันได้รู้จักวัวมากขึ้น ทั้งวัวเนื้อและวัวนมที่สับเปลี่ยนกันใช้โรงเรือนกลุ่มละ 6 วัน นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นการทำงานของกลุ่มเยาวชนในสังกัด FFA (Future Farmers of America) กับ 4-H (ย่อมาจาก Head, Heart, Hands, Health) อย่างใกล้ชิด องค์กรทั้งสองเน้นการเรียนรู้ด้านการเกษตร ลักษณะเหมือนชมรมที่ทำในโรงเรียน (FFA) หรือนอกหลักสูตร (4-H) โดยสมาชิกแต่ละคนจะเลือกเลี้ยงสัตว์ที่ตัวเองต้องการลงทุน จากนั้นจะดูแลรับผิดชอบชีวิตของสัตว์เหล่านั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อคะแนนเท่านั้น แต่ต้องมีแผนในระยะยาวด้วย

โดยเป้าหมายส่วนใหญ่คือขายให้กับผู้ซื้อเพื่อทำกำไร ระยะเวลาก็ขึ้นอยู่กับประเภทของสัตว์ หลายคนทำรายได้จากตรงนี้จนกลายเป็นทุนเล่าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ช่วงงานเทศกาลอย่างนี้ถือเป็นไฮไลต์ของเด็ก ๆ เลยทีเดียว เพราะมีโอกาสได้เจอผู้ซื้อ แต่ถ้ายังไม่ถึงเวลาที่ต้องการขาย ก็ใช้โอกาสนี้หาประสบการณ์จากการประกวดที่มีหลายประเภท โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่โบว์สีฟ้า 

12 วันของอาสาสมัครในเทศกาลประจำปีรัฐฟลอลิดาที่ได้ทั้งประสบการณ์และมิตรภาพ

ฉันเห็นเด็ก ๆ เหล่านี้ทำงานแล้วรู้สึกทึ่ง ไม่เฉพาะแต่ในโรงวัวเท่านั้นแต่ในทุกโรงเรือนสัตว์ แต่ละคนขยันขันแข็งทำเป็นทุกอย่าง ตั้งแต่ให้อาหาร ทำความสะอาดคอก แปรงขน พาไปประกวด หลายคนตัวยังสูงไม่เท่ากับสัตว์ของพวกเขาแต่ก็หาวิธีจัดการให้สัตว์เหล่านั้นทำตามความต้องการได้ เป็นการสร้างความมั่นใจไปในตัว การเป็นอาสาสมัครทำให้ฉันมีโอกาสพูดคุยกับเด็กกลุ่มนี้บ่อย ๆ จนหลายคนเริ่มคุ้นเคย ชวนไปเล่มเกมที่คอกวัวของพวกเขาที่มักจะตกแต่งอย่างสวยงามพร้อมลูกเล่นต่าง ๆ โดยคอกวัวเหล่านี้เป็นคอกที่สังกัดโรงเรียน เกมส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับวัว 

งานอาสาสมัครในช่วงเทศกาลแบ่งออกเป็นกะเช้า บ่าย และค่ำ โรงเรือนสัตว์ส่วนใหญ่ปิดประมาณ 6 โมงเย็นเพื่อให้สัตว์ได้พักผ่อน ตามปกติที่โรงวัวจะใช้อาสาสมัครกะละประมาณ 10 คน แต่หลายครั้งที่ส่วนอื่นของงานเกษตรต้องการคนช่วยงานขึ้นมากะทันหัน ฉันก็มักจะอาสาไปทำ เพราะดอนน่าหาคนมาช่วยเสริมที่โรงวัวได้ง่ายกว่า 

12 วันของอาสาสมัครในเทศกาลประจำปีรัฐฟลอลิดาที่ได้ทั้งประสบการณ์และมิตรภาพ

งานที่ฉันไปช่วยก็มีตั้งแต่งานคุมสอบที่เรียกกันว่า Skillathon ที่จัดขึ้นเพื่อวัดระดับความรู้เรื่องการเกษตรให้กับสมาชิก FFA และ 4-H งานสาธิตที่สถานีรีดนมวัว กับงานแนะแนวที่สถานีเพาะปลูกพืช 

ช่วงที่มีเวลานิด ๆ หน่อย ๆ ก่อนเข้างานหรือหลังเลิกงาน ฉันมักถือโอกาสเดินเล่นเพื่อถ่ายรูปและหาของกินอยู่บ่อย ๆ นอกจากตั๋วเข้างานเทศกาลที่ได้รับเพื่อใช้ผ่านประตูเข้ามาทำงานในวันต่อไปแล้ว อาสาสมัครทุกคนยังได้รับบัตรรับประทานอาหารที่ห้องอาหารที่จัดเตรียมไว้สำหรับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครด้วย แต่ฉันแทบไม่เคยใช้บริการ เลยเพราะมัวสนใจแต่จะเดินเล่นและหาของกินในงานมากกว่า พูดถึงของกิน ต้องถือว่าของกินเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของงานเทศกาล

นอกจากที่หาได้ทั่วไป อย่างสายไหม ไอศกรีม ฮอตด็อก ฯลฯ แล้ว ยังมีที่แต่ละรัฐสรรหามาเป็นพิเศษเพื่อให้เป็นที่โจษขานอีกด้วย เช่น แตงดองเคลือบช็อกโกแลตทอดของรัฐมินนิโซตา แอปเปิ้ลชุบหนอนไม้ไผ่เคลือบคาราเมลของรัฐแอริโซนา ราวิโอลีไส้เบียร์ของรัฐเท็กซัส เยลลี่รูปหมียักษ์ชุบวานิลาทอดของรัฐโอไฮโอ เคบับเนื้องูเหลือมของรัฐแคลิฟอร์เนีย

แต่ละอย่าง! แค่ได้ยินชื่อก็นึกเห็นภาพ ส่วนที่ฟลอริดา เรามีมักโรนี ชีสเนื้อจระเข้ กับข้าวพองราดนมข้น โรยน้ำตาล + ช็อกโกแลต + มาชเมลโลและคาราเมล ที่มีชื่อว่า Snap, Krackle & Fluff on a Stick ส่งเข้าประกวด 

12 วันของอาสาสมัครในเทศกาลประจำปีรัฐฟลอลิดาที่ได้ทั้งประสบการณ์และมิตรภาพ
12 วันของอาสาสมัครในเทศกาลประจำปีรัฐฟลอลิดาที่ได้ทั้งประสบการณ์และมิตรภาพ

12 วันผ่านไป งานเทศกาลประจำปีรัฐฟลอริดาก็จบลง พร้อมกับน้ำหนักของฉันที่กลับขึ้นมาเหมือนเดิม 2 สัปดาห์หลังจากนั้น ทางหน่วยงานก็จัดงานเลี้ยงเพื่อขอบคุณเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทุกคนที่มาช่วยงาน โดยมีของที่ระลึก เช่น แก้วน้ำ ร่ม และเข็มติดเสื้อที่มีตราเทศกาลประจำปีรัฐมอบให้ด้วย 

“แล้วพบกันใหม่ในปีหน้านะ” ซูซี่หันมาพูดกับฉัน

เธอกับสามีที่เป็นอดีตสัตวแพทย์และเป็นอาสาสมัครของงานเทศกาล และจะออกเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวกันทันทีหลังจากจบงานเลี้ยง คนอื่น ๆ เมื่อได้ยินซูซี่พูดกับฉันอย่างนั้นก็เริ่มหันมาเอ่ยคำร่ำลากับฉันไปด้วย 

“เธอต้องแวะไปหาฉันที่บ้านนะ ฉันจะทำพายไก่สูตรพิเศษที่เคยเล่าให้ฟังให้กิน” ดอนน่ากำชับกำชาด้วยสีหน้าจริงจัง 

“ใช่ ๆ เราต้องได้เจอเธออีกนะ รอยยังมีเรื่องขำขันเกี่ยวกับสัตว์มาโม้ให้ฟังอีกเยอะเลยล่ะ” เคทบอกกับฉัน ทำเอารอยผู้เป็นสามีและคนอื่น ๆ ในโต๊ะของเราหัวเราะกันครื้นเครง

นอกจากความภูมิใจที่ได้จากการเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ช่วยผลักดันให้งานสำเร็จ กับโอกาสที่ได้อยู่ในบรรยากาศของงานเทศกาลอย่างเต็มอิ่มแล้ว มิตรภาพ ก็เป็นความประทับใจอีกอย่างหนึ่งที่ฉันได้รับ จากการเป็นอาสาสมัครของงานเทศกาลประจำปีรัฐด้วยเช่นกัน

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

พิมพมาศ ยี

แม่เต็มเวลาที่สนุกกับงานขีดเขียนและค้นคว้า โดยเฉพาะกับเรื่องที่ตัวเองกำลังสนใจ รู้แล้วชอบบอกต่อจึงมักจะชอบเล่าเกร็ดความรู้ที่เพิ่งอ่านหรือดูมาให้คนใกล้ตัวฟังจนบางครั้งคนฟังบ่นว่าเมื่อยหู ทำให้เกิดกิจกรรมที่ทำแล้วชอบเพิ่มมาอีกหนึ่งคือทำหนังสือบันทึกเรื่องราวต่างๆ เก็บไว้ให้คนใกล้ตัวได้อ่านแทน