จะยุคไหน ๆ ภัยพิบัติก็เป็นสิ่งที่ยากจะต่อกรเสมอ ไม่ว่าภัยพิบัตินั้นจะมีสาเหตุมาจากธรรมชาติ อย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ หรือจากการกระทำของมนุษย์ในปัจจุบันก็ตาม
ดังเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในภาคเหนือตอนนี้ ก็นำมาซึ่งความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านจนต้องภาวนารายวันให้ฝันร้ายนี้ผ่านพ้นไปไว ๆ
เมื่อน้ำมา ปัญหามากมายก็พัดมากับน้ำ ซึ่งปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกมองว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากน้ำท่วม ก็คือ ‘ความไม่มั่นคงทางอาหาร’ (Food Insecurity)
คอลัมน์เมียงเมืองในวันนี้ จะพาไปรู้จักกับ ‘Floating Urban Farm’ หรือ ‘ฟาร์มลอยน้ำ’ ที่แม้น้ำจะท่วมแค่ไหน แต่กระบวนการผลิตอาหารก็ไม่หยุดชะงัก โดยฟาร์มนี้เกิดขึ้นครั้งแรกที่เนเธอร์แลนด์ ประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเลที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมตลอดเวลา แต่ชาวดัตช์ก็อยู่กับวิกฤตนั้นมาได้จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำในเมือง
หากนับจากวันที่ฟาร์มแรกถือกำเนิดครั้งแรกในรอตเตอร์ดัมก็เป็นเวลา 4 ปีแล้ว แต่หัวข้อนี้ก็กลับมาเป็นที่พูดถึงอยู่ตลอด โดยเฉพาะปี 2024 ซึ่งหลายที่มองว่าความนิยมของฟาร์มลอยน้ำกำลังพุ่งสูงในมุมต่าง ๆ ของโลก
ไม่แน่ว่าอนาคต ฟาร์มลอยน้ำ (แบบไฮเทค) อาจจะเกิดขึ้นในประเทศเราด้วยก็ได้
แม้ว่าขั้นตอนแรกในการก่อสร้างฟาร์มจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 แต่จุดเริ่มต้นของแนวคิดมีมาตั้งแต่ปี 2012 เมื่อพายุเฮอริเคนเข้าถล่มนิวยอร์กซิตี้ และทั้งเมืองต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารสดอย่างรุนแรง เพราะทุก ๆ วันเมืองต้องพึ่งพารถบรรทุกวันละหลายพันคันที่เข้ามาส่งเสบียง เมื่อน้ำท่วม อาหารก็มาไม่ถึง
Beladon บริษัทดัตช์ที่เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมที่ใช้น้ำ จึงออกแบบโมเดลฟาร์มลอยน้ำนี้ขึ้นมา เพื่อลดระยะห่างระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคในรอตเตอร์ดัม ซึ่งเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่ไวต่อน้ำท่วม
ในเมื่อท่วมง่าย ก็ทำฟาร์มลอยน้ำกันไปเลย
จริง ๆ แล้วแนวคิดฟาร์มลอยน้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ ในเอเชียเองก็มีฟาร์มเลี้ยงปลาลอยน้ำมานานหลายสิบปี แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เป็นฟาร์มลอยน้ำสมัยใหม่ นำเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามาช่วยให้ฟาร์มนี้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ ทำงานโดยอัตโนมัติ และมีการแทรกแซงของมนุษย์น้อยที่สุด
ฟังดูยั่งยืนมากทีเดียว
ฟาร์มแห่งแรกนี้ประกอบด้วย 3 ชั้นซ้อนกัน ชั้นล่างเป็นคอนกรีตหนักที่จมอยู่ใต้น้ำ ขึ้นมาเป็นโพลีคาร์บอเนตโปร่งแสง ส่วนบนสุดเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ซึ่งวัสดุของฟาร์มนี้ก็เอื้อต่อการลอยตัวและความแข็งแรงเป็นอย่างดี
การผลิตอาหารใกล้กับจุดบริโภค ทำให้ไม่ต้องขนส่งไกล ๆ นอกจากช่วยเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ว่ามาแล้ว ยังมีประโยชน์ในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วย
ทั้งนี้ ฟาร์มลอยน้ำยังเป็นเกษตรกรรมทางเลือก เมื่อประชากรในโลกเพิ่มจำนวน เขตเมืองเริ่มหนาแน่น จนพื้นที่เกษตรกรรมแบบดั้งเดิมขาดแคลน ซึ่งฟาร์มแบบนี้ทนต่อสภาพภูมิอากาศ มั่นใจได้ว่าการผลิตอาหารจะสม่ำเสมอ
ฟาร์มนี้เป็นเหมือนโรงแรมริมน้ำของวัว 40 ตัว โดยมีหุ่นยนต์รีดนมและเข็มขัดให้อาหารอัตโนมัติคอยเป็นเหมือนพี่เลี้ยงของวัวอีกที น้ำที่วัวใช้มาจากการรวบรวมน้ำฝน แล้วนำไปทำให้เป็นน้ำบริสุทธิ์ ส่วนอาหารของวัวนั้นมาจากอาหารเหลือทิ้งในเมืองอีกที แล้วสุดท้ายมูลของวัวก็จะรวบรวมไปแปรรูปเป็นปุ๋ยสำหรับสวนสาธารณะในเมือง
ทีมงานในฟาร์มถึงกับให้สมญานามน้องวัวว่าเป็น ‘Upcycle Ladies’ กันเลย
ซึ่งเมื่อผู้ใช้งานหลักเป็นน้องวัว ผลผลิตหลักของฟาร์มแห่งนี้จึงเป็นผลิตภัณฑ์อย่างนม เนย โยเกิร์ต วางขายตามร้านค้าของฟาร์มเอง ตลาดท้องถิ่น และเว็บไซต์ออนไลน์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวดัตช์มาก ๆ
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อกังขาเอาเสียเลย
ตอนแรกที่รู้ว่ามีฟาร์มลอยน้ำแห่งแรกเกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์ เรานึกถึงแค่ภาพแปลงผักด้วยซ้ำไป พอรู้ว่าเขาถึงกับเลี้ยงวัวหลายสิบตัวในนั้นก็อดห่วงสวัสดิภาพของพวกมันไม่ได้ แต่ทางผู้ออกแบบเองก็ชี้แจงว่าวัวที่นี่มีความสุขดี เพราะมีเวลาออกไปเดินเล่น ทำกิจกรรมในทุ่งหญ้าใกล้ ๆ กัน
ค้นให้มากขึ้นหน่อย ก็จะเห็นผู้คนที่รณรงค์เกี่ยวกับสิทธิสัตว์ออกมาให้ความเห็นอยู่เรื่อย ๆ
จากข่าว วัวในฟาร์มนี้เคยพลัดตกลงไปในน้ำ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเพราะแขกที่มาเยี่ยมชมลืมปิดประตูรั้ว ส่วนครั้งที่ 2 อาสาสมัครประจำที่นี่เป็นคนลืมเสียเอง แต่ Peter van Wingerden ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Beladon เองก็บอกว่า วัวเป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้ดีมาก ทำให้อุบัติเหตุ 2 ครั้งที่ผ่านมายังไม่มีวัวตัวไหนได้รับอันตราย และยังยืนยันด้วยว่าฟาร์มลอยน้ำแห่งนี้เป็นมิตรกับสัตว์ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งในยุโรป ทำให้ตอนนี้ฟาร์มยังได้รับการยอมรับ และยังไม่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตแต่อย่างใด
นอกจากผลผลิตแล้ว ที่นี่ยังตั้งใจจะเป็นต้นแบบที่ดีด้านการเกษตรในเมือง เมืองอื่น ๆ ที่มีบริบทใกล้เคียงกันด้านความมั่นคงทางอาหารก็มาศึกษาจากที่นี่ได้ ดังที่เห็นว่าฟาร์มแห่งนี้ค่อนข้างเปิดโล่ง ชวนให้มองเข้าไปข้างใน พวกเขามีเป้าหมายจะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการผลิตอาหารที่ยั่งยืน ซึ่งหลังจากนั้นก็มีเมืองอื่น ๆ ยื่นขออนุญาตสร้างฟาร์มที่โครงสร้างคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นในดูไบ สิงคโปร์ หรือเมือง Haarlem และ Arnhem ในเนเธอร์แลนด์เอง และกลายเป็นว่านักธุรกิจทั่วโลกเริ่มทยอยกันมามุงนวัตกรรมนี้กัน
ในปี 2023 ที่ผ่านมา มีรายงานว่าตลาดฟาร์มลอยน้ำมีมูลค่าสูงถึง 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตที่ CAGR 13.7% ตั้งแต่ปี 2024 – 2033 เนื่องจากเป็นแนวคิดทางการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พึ่งพาสิ่งแวดล้อมน้อยลง และมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า ตอนนี้ทั่วโลกมีแนวโน้มขาดแคลนอาหารรุนแรงขึ้น นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา โดยต้นเหตุสำคัญก็คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น
หากว่ากันด้วยเรื่องความมั่นคงทางอาหาร สถานการณ์ของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี คืออันดับที่ 51 จาก 113 ประเทศทั่วโลก แต่ถึงอย่างไรจำนวนผู้ขาดแคลนอาหารก็สูงถึง 6.2 ล้านคน ซึ่งฟาร์มลอยน้ำอาจเป็นคำตอบหรือไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหาก็ได้ เราต้องศึกษากันอย่างจริงจังมาก ๆ ถ้าจะทำ
แต่หากในอนาคตจะมีฟาร์มลอยน้ำแบบนี้เกิดขึ้นในไทยจริง ๆ อาจต้องมีการพัฒนาไกด์ไลน์เพื่อให้ฟาร์มที่จะเกิดขึ้นมีมาตรฐานที่ดี ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และคุณภาพในการจัดการ โดยเฉพาะเมื่อเป็นฟาร์มปศุสัตว์ มีหลายชีวิตที่ต้องดูแลให้ดีเหมือนอย่างเนเธอร์แลนด์
และเราต้องพิจารณาให้รอบ รวมถึงผลประโยชน์ทางการเงินของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ฟาร์มลอยน้ำที่มีเป้าหมายไม่ต่างกันกับของเนเธอร์แลนด์ แต่ซับซ้อนน้อยกว่า และไม่มีสิ่งมีชีวิตเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มีมากมายเหมือนกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ราบต่ำของอินเดียและบังกลาเทศที่แพร่หลายจนแตะ 500 แห่งในเวลาไม่กี่ปี สิ่งที่เขาปลูกก็คือผักโขม พริก และพืชสมุนไพรต่าง ๆ
โดยส่วนตัวแล้ว จากข้อกังขาที่เกิดขึ้น เรายังไม่สนับสนุนให้ทำฟาร์มปศุสัตว์ในเร็ววันนี้ แต่ต้องยอมรับว่าฟาร์มลอยน้ำของเนเธอร์แลนด์เป็นกรณีศึกษาที่ดีให้กับเมืองทั่วโลก และชวนให้คิดต่อยอดได้ไม่สิ้นสุด
ในช่วงเวลาที่ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแบบนี้ ชาวโลกอย่างเราคงต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ กันอีกมาก