อาจเป็นเพราะพักเที่ยง เสียงเครื่องจักรในโรงงาน ‘เฟอร์นิสท์ อินดัสทรีส์’ จึงเงียบกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ของวัน มีเพียงเรื่องเล่าของการเปลี่ยนผ่าน โรงงานผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ ตู้ โต๊ะ เตียง ชุดรับแขก ขายดีตามร้านในต่างจังหวัด สู่แบรนด์ใหม่ที่ไม่เพียงสานต่องานเดิม แต่ชัดเจนในตัวตนและความสนใจ สร้างโอกาสใหม่ให้ธุรกิจครอบครัวได้ไปต่อ

ความรู้เรื่องเฟอร์นิเจอร์ตั้งแต่สมัยอากงเป็นพนักงานขายคนเก่ง ถ่ายทอดสู่พ่อผู้สร้างหน้าร้านและโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเหล็ก ไม้ และงานหุ้มบุ 

“ถ้าใครเกิดทันเคยเห็นเก้าอี้เหล็กพับได้ที่ใช้ตามงานเลี้ยงงานบุญต่างๆ ของพ่อ ซึ่งลูกค้าสั่งครั้งละจำนวนมากๆ จึงทำให้สินค้าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่เมื่อเฟอร์นิเจอร์พลาสติกเข้ามาตีตลาด พวกเราก็แทบแย่เหมือนกัน” นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักออกแบบผู้ก่อตั้ง Flo แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย ทายาทรุ่นสามโรงงาน ‘เฟอร์นิสท์ อินดัสทรีส์’ เล่าย้อนเหตุการณ์เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน

นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักออกแบบผู้ก่อตั้ง Flo แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย

วันหนึ่ง หลังจากรับสายจากพ่อที่โทรมาถามทีเล่นทีจริงว่า เขาอยากรับช่วงต่อโรงงานของครอบครัวไหม นรุตม์ซึ่งยังเป็นนักศึกษารีบรับคำพ่อ เพราะกลัวจะสูญเสียสิ่งสำคัญของครอบครัว หลังเรียนจบเขาจริงจังกับการสร้างแบรนด์ของตัวเอง

จากนักเรียนออกแบบที่ไม่เคยสนใจงานเฟอร์นิเจอร์ จนเมื่อค้นพบคุณค่าของศาสตร์นี้ เขาใช้ความสุขที่ได้จากการค้นพบมาสร้างความสุขในการทำงานให้ลูกค้าผ่าน Flo เฟอร์นิเจอร์แนว Home Office ดูสนุกลุกนั่งสบายตามคาเฟ่ และ Co-working Space ที่เราคุ้นเคย

นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักออกแบบเจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Home Office สัญชาติไทยที่ต่อยอดธุรกิจอากงและพ่อแม่ จนพาเก้าอี้ Flo ไปไกลกว่าอยู่ในร้านก๋วยเตี๋ยว

เชื่อเถอะว่า ต้องมีสักครั้งที่คุณเคยสัมผัสแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สุดเก๋นี้ ไม่ว่าจากร้านกาแฟใกล้บ้าน หรือโต๊ะ เก้าอี้ในห้องประชุมของลูกค้า

ระหว่างเดินชมจุดต่างๆ ในโรงงาน เราเห็นความต่างของสไตล์ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่นั่นก็แค่ภายนอก วิธีคิดทำเฟอร์นิเจอร์อย่างตั้งใจยังเป็นเหมือนเดิมอย่างวันแรกที่รุ่นบุกเบิกเชื่อ รุ่นพ่อสานต่อ และรุ่นลูกร่วมทำงานเพื่อปรับตัวและผสานคุณค่าที่ครอบครัวส่งต่อ 

บทสนทนาในบทความนี้จะยาวสักนิด ลองเลือกเก้าอี้ตัวที่คุณชอบและนั่งลงในท่าที่สบายๆ พร้อมฟังนรุตม์เล่าเรื่องเฟอร์นิเจอร์ของเขาและครอบครัว

นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักออกแบบผู้ก่อตั้ง Flo แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย

ธุรกิจ : บริษัท เฟอร์นิสท์ อินดัสทรีส์ จำกัด (พ.ศ. 2537)

ประเภทธุรกิจ : โรงงานผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์

อายุ : 25 ปี

เจ้าของและผู้ก่อตั้ง : อากงปึง จือ ฮวด (เข้าวงการขายเฟอร์นิเจอร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2510)

ทายาทรุ่นที่สอง : คุณพ่อไพโรจน์และคุณแม่ลัดดาวัลย์ ปิติทรงสวัสดิ์ (เริ่มเปิดร้านเฟอร์นิเจอร์ในนาม บริษัท ปิติสวัสดิ์ เฟอร์นิเจอร์ พ.ศ. 2528)

ทายาทรุ่นที่สาม : นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ (แบรนด์ Flo พ.ศ. 2558)

โรงเรียนในโรงงาน

มีบ้างที่เหล่าทายาทกิจการจะรู้สึกแปลกปลอมจากโรงงานหรือธุรกิจของครอบครัว เพราะไม่ได้คลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้แต่เด็ก หรือเพราะมองว่าคนรุ่นพ่อทำไว้ดีมากจนไม่มีอะไรให้ต่อยอดได้อีก แต่สำหรับนรุตม์นั้นตรงข้าม 

ย้อนกลับไปสมัยเป็นเด็ก ชีวิตเขาก็วนเวียนอยู่กับเฟอร์นิเจอร์มาตลอด เริ่มจากอากงเป็นเซลส์ขายเฟอร์นิเจอร์ ตามด้วยพ่อที่เดินตามรอยเปิดร้านค้าและตัดสินใจทำโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ของตัวเอง ทำให้เด็กชายนรุตม์ใช้เวลาหลังเลิกเรียนและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์วิ่งเล่นรอบโรงงาน คุยกับช่างคนนั้น เล่นกับช่างคนนี้ ความผูกพันกับโรงงานและความสนใจด้านการออกแบบทำให้นรุตม์ตัดสินใจเข้าศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีที่ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

แต่แม้จะโตมาในโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ แต่เขาไม่คิดอยากทำเฟอร์นิเจอร์เลย

นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักออกแบบผู้ก่อตั้ง Flo แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย

สองถึงสามปีแรกในชีวิตมหาวิทยาลัยหมดไปกับการเรียนและฝึกงานตามความสนใจ ทั้งถ่ายรูป ล้างฟิล์ม ทำกราฟิกหรือแอนิเมชัน แต่สุดท้ายก็พบว่าไม่ใช่ทางที่ช่ำชองจริงๆ เป็นเหตุผลที่ทำให้นรุตม์เลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการหาความเป็นไปได้ให้โรงงานเฟอร์นิเจอร์ของครอบครัว 

แค่ฟังคอนเซปต์ก็น่าสนใจแล้วใช่ไหม

นรุตม์เล่าว่า วิทยานิพนธ์ของเขาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต ทั้งทำให้เขาเปลี่ยนความเข้าใจที่มีต่องานเฟอร์นิเจอร์ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของ Flo 

แม้จะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการวิเคราะห์ข้อมูลการออกแบบอย่างละเอียด แต่เขาก็ยังไม่สามารถทำออกมาเป็นชิ้นงานได้สำเร็จ จนอาจารย์ยอมต่อเวลาให้ทำต่ออีก 2 เดือน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้นรุตม์รู้ตัวว่า เป็นเพราะเขาไม่เคยนั่งดูและลองทำเฟอร์นิเจอร์กับเหล่าช่างในโรงงานมาก่อน เขาจึงไม่รู้ว่าขั้นตอนการทำเฟอร์นิเจอร์นอกจากการออกแบบต้องทำอย่างไร

2 เดือนแห่งโอกาสจึงเป็นช่วงที่เขาไม่ได้เข้าโรงงานในฐานะเด็กชายนรุตม์ที่วิ่งเล่นกับคนงานสมัยเด็ก แต่เข้ามาในฐานะนักเรียนคนหนึ่งที่มาขอความรู้และความช่วยเหลือจากครูช่าง

นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักออกแบบเจ้าของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Home Office สัญชาติไทยที่ต่อยอดธุรกิจอากงและพ่อแม่ จนพาเก้าอี้ Flo ไปไกลกว่าอยู่ในร้านก๋วยเตี๋ยว

“ตลอดห้าปีของการเรียนออกแบบ นั่นเป็นสองเดือนที่ได้เรียนรู้มากที่สุดและคุ้มค่าที่สุด เราได้เข้าหาคนงาน นั่งดูเขาทำ ปรึกษาและทดลองกันตรงนั้นเลยว่าพี่ลองอย่างนี้ อย่างนั้น เป็นช่วงที่เริ่มเข้าใจว่าไม้มันดีอย่างนี้ เหล็กมันดีอย่างนั้น ถ้าเรายังไม่เข้าใจออกแบบยังไงก็ยังไม่เวิร์ก ถ้าไม่ไปนั่งด้วยกันตรงนั้นก็ไม่มีทางรู้” จากรอยยิ้มตาหยีของเขาที่ดูเป็นกันเองเปลี่ยนเป็นสายตาแห่งความมุ่งมั่นที่ทำให้เรารู้สึกเชื่ออย่างสนิทใจ

สิ่งสำคัญที่ได้จากการทำวิทยานิพนธ์คืออะไร เราถามต่อด้วยเสียงหนักแน่นตามสิ่งที่เห็นจากดวงตาของเขา

“เราสรุปในวิทยานิพนธ์และบอกกับตัวเองในวันที่เริ่มทำ Flo ว่า เราจะยืนอยู่ในความแข็งแกร่งของโรงงานที่มีเหล็ก ไม้ หุ้มบุ อยู่ในโรงงานเดียว ซึ่งโดยปกติจะไม่มีโรงงานไหนรวมทั้งสามศาสตร์นี้ไว้ด้วยกัน

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Home Office สัญชาติไทยที่ต่อยอดธุรกิจอากงและพ่อแม่
แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Home Office สัญชาติไทยที่ต่อยอดธุรกิจอากงและพ่อแม่

“เเรงเหวี่ยงตอนนั้นมันยังอยู่จนถึงตอนนี้ เป็นแรงเหวี่ยงของการเข้าใจ และผลงานที่เราทำตอนนั้นก็ยังใช้ได้ดีอยู่ในเวลานี้” เขาเฉลยก่อนผายมือชวนเราดูโต๊ะไม้ที่ต่อด้วยเหล็กในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหน รู้สึกแปลกใจไปพร้อมกับชื่นชมที่เห็นสองวัสดุผสมผสานกันอย่างลงตัว

ก้าวคนละก้าว

โรงงานผลิตสามวัสดุ เหล็ก ไม้ และหุ้มบุ ที่พ่อทุ่มเททั้งกายและใจ คือทรัพยากรล้ำค่าสำหรับนักออกแบบคนหนึ่งที่ไม่สามารถหาได้ง่ายๆ ที่ไหน 

เมื่อเรียนจบ นรุตม์จึงเริ่มลงมือทำงานชิ้นแรกของ Flo ด้วยการต่อยอดแบบจากวิทยานิพนธ์

นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักออกแบบผู้ก่อตั้ง Flo แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย

เด็กชายนรุตม์วัยไร้เดียงสาที่เคยวิ่งเล่นในโรงงานคือภาพจำของครูช่างที่ยากสลัดออก ช่วงแรก เขาจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้คนงานว่าเขาสามารถทำได้ เริ่มจากการสวัสดีและขอบคุณให้เป็นนิสัยเพื่อบอกว่าเด็กคนนี้ไม่ได้มาสั่งแต่มาเพื่อพัฒนา แรกๆ เหล่าช่างค้านหัวชนฝาว่าสิ่งที่เขาออกแบบมาไม่สามารถทำได้ แต่นรุตม์ใช้วิธีการพูดซ้ำๆ ว่าให้ลองทำ จนงานสุดแปลกในสายตาช่าง กลายเป็นงานที่ขายดีเทน้ำเทท่า

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Home Office สัญชาติไทยที่ต่อยอดธุรกิจอากงและพ่อแม่

“ตอนนี้เขาเชื่อว่าเราทำได้ เขาพร้อมทดลองกับเราแม้รู้ว่าประหลาด มันเป็นอะไรที่นักออกแบบไม่ได้มีกันง่ายๆ” ความเชื่อมั่นที่นรุตม์เล่าคงไม่เท่าความภูมิใจที่งานออกแบบของเขาได้สร้างงานและต่อชีวิตให้ครูมากประสบการณ์เหล่านี้ เขาเล่าต่อว่า ตอนนั้นพ่อเกือบเลิกผลิตงานเหล็ก เพราะเป็นงานที่ดูไม่มีราคาเมื่อเทียบกับเฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากวัสดุชนิดอื่น

แต่เมื่อเห็นเครื่องไม้เครื่องมือที่วางระเกะระกะและเหล่าคนงานที่เขาผูกพัน ก็รู้สึกว่าเขาจะทิ้งสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ งานเหล็กที่ดูไร้ค่าในสายตาลูกค้าจึงกลับมีค่าอีกครั้ง

‘ทำไมทรงแข็งอย่างนี้ ทำไมทำสีนี้ ราคาแพงไปมั้ย’ คือคำถามที่คุณพ่อมีต่องานลูกชาย แต่คำถามเหล่านั้นก็มลาย เมื่อยอดขายจากงานไทยแลนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เฟอร์นิเจอร์ แฟร์ ที่ Flo ไปร่วมออกงานครั้งแรกในปี 2557 นั้นเกินความคาดหมาย

นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักออกแบบผู้ก่อตั้ง Flo แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย

“ตอนนั้นเฟอร์นิเจอร์เรายังมีแค่สองคอลเลกชัน และเรายังจำลูกค้าคนแรกของเราได้เลย เขาแทบจะไม่ถาม พูดแค่ว่า สวยจัง เท่าไร ไม้อะไร แล้วก็ซื้อเลย เราก็ อ้าว ขายได้แล้วว่ะ ตอนแรกเตรียมใจว่าจะถูกถามเยอะ ไม่น่าได้ขาย

“พ่อก็เห็นว่าด้วยโรงงานเดียวกันมันสร้างมูลค่าเพิ่มได้ด้วยการออกแบบ การโฆษณาด้วยกราฟิกที่เราทำเอง นำเสนอว่าแบรนด์มีคุณค่าและประวัติศาสตร์ยังไงให้เห็นว่าเรามีราก ไม่ใช่จู่ๆ ลอยมา เรารู้สึกว่าลูกค้าเชื่อถือในแบรนด์” นรุตม์เล่า

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Home Office สัญชาติไทยที่ต่อยอดธุรกิจอากงและพ่อแม่ จนพาเก้าอี้ Flo ไปไกลกว่าอยู่ในร้านก๋วยเตี๋ยว

 จากงานแฟร์แห่งโอกาสที่มีเฟอร์นิเจอร์เพียง 2 คอลเลกชันในวันนั้น 5 ปีผ่านไป Flo ประสบความสำเร็จจนมีเฟอร์นิเจอร์กว่า 200 คอลเลกชัน ที่ไม่เพียงเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของนรุตม์เเต่ยังรวมผลงานจากนักออกแบบไทยและเทศทั้งจากฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น 

“Flo ประสบความสำเร็จเพราะพ่อไม่เข้ามาขวาง เขาให้เราทำเลย บางครอบครัวจะเข้ามาจัดการ ซึ่งทำให้คนทำหมดความตั้งใจ เราจะบอกเขาว่า ขอทำ ขอรู้ได้มั้ยว่าจะเวิร์กหรือเปล่า เดี๋ยวเรารับผิดชอบเอง เราว่าเป็นข้อดีที่พ่อให้อิสระ” ไม่เพียงทำให้เขาเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้นแต่ยังทำให้พ่อเชื่อว่าเขาทำได้ แม้จะไม่เห็นด้วยในบางครั้งแต่ไม่เคยเอ่ยปากห้ามทำเลย

นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักออกแบบผู้ก่อตั้ง Flo แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย

เขาเล่าต่อว่า “เวลาไปเดินห้างกับพ่อ เขาจะบอกว่า เมื่อก่อนร้านนี้ใช้เก้าอี้เราแต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว เราว่าเขาเศร้าเเต่ไม่แสดงอารมณ์ ตอนนี้เราทำได้แล้ว เก้าอี้เราอยู่ในร้านอาหารเต็มไปหมด มันไม่ง่ายที่จะเข้าไปแข่งในตลาดสมัยนี้ที่ทุกที่ต้องการความต่าง” 

เมื่อเราแอบถามความรู้สึกจากคุณพ่อไพโรจน์และคุณแม่ลัดดาวัลย์ ปิติทรงสวัสดิ์ พวกท่านรีบตอบทันที 

“เขากระโดดข้ามไปอีกระดับ ไม่ได้อยู่ร้านก๋วยเตี๋ยวแล้ว ไปอยู่ร้านใหญ่กว่าเรา เขาทำได้สูงกว่าที่ผมคาดไว้” คุณพ่อเล่าด้วยความภูมิใจ ส่วนเราฟังอย่างอิ่มเอมใจในความรักและการพยายามปรับตัวของผู้บริหารสองรุ่น 

Flo-working Space

ที่มาของชื่อเเบรนด์ Flo มาจากทฤษฎีจิตวิทยา Flow State ของ Mihály Csíkszentmihályi ที่กล่าวถึงสภาวะที่เรามีสมาธิกับการทำงานมากจนร่างกายทำงานเองโดยไม่ได้บังคับ นั่นหมายความว่าเรากำลังมีความสุขกับการทำงาน 

เพราะนรุตม์อยากให้ลูกค้าทำงานอย่างมีความสุขได้ทุกที่ ไม่ว่าจะคาเฟ่ ร้านอาหาร บ้าน หรือออฟฟิศจริง ‘Home Office’ จึงเป็นอีกหัวใจสำคัญที่เขายึดในการออกแบบ 

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Home Office สัญชาติไทยที่ต่อยอดธุรกิจอากงและพ่อแม่
แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Home Office สัญชาติไทยที่ต่อยอดธุรกิจอากงและพ่อแม่

เราไม่ค่อยเห็นการต่อไม้และเหล็กเข้าด้วยกันมากนัก การผสานวัสดุเหล่านั้นออกมาในรูปแบบที่ทันสมัยน่าใช้ของ Flo จึงเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจของห้างร้าน 

เราสามารถทำเป็นงานไม้ งานเหล็ก และงานบุนวมแยกได้ การเอามาผสานกันสำคัญอย่างไร เราถาม

“ห้าปีที่แล้ว co-working space กำลังมา เราเลยจะขายตลาดนี้ ต่างกับลักษณะเฟอร์นิเจอร์ในบ้านที่ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ล้วน ถ้าเอาไม้ล้วนมาวางในออฟฟิศจะรู้สึกผิดที่ผิดทาง ลูกค้าจะบอกว่านี่ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ในออฟฟิศ 

“เดี๋ยวนี้ขอบเขตมันเบลอไปแล้ว เหมือนวัสดุที่เบลอ ถ้าเราเอามาผสมกัน เก้าอี้ของเราจะอยู่ได้ทุกที่ด้วยการสลับสี สลับวัสดุ เปลี่ยนเหล็กขาวเป็นดำก็อยู่ในออฟฟิศได้แล้ว แล้วลูกค้าก็เอาไปใช้จริง สิ่งที่เราวางไว้แต่แรกยังเวิร์กจนถึงตอนนี้ แล้วรู้สึกสะใจมากที่เราเดาถูกตอนนั้นและยังถูกอยู่” เมื่อฟังนรุตม์เฉลยแนวคิดของ Flo เราก็รู้สึกเห็นด้วยว่าเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้อยู่ได้ทุกที่จริงๆ ไม่เพียงเป็นการสร้างสรรค์งานแปลกใหม่ให้ลูกค้าจับจอง แต่ถือเป็นความหลักแหลมในการสร้างเฟอร์นิเจอร์ 1 ชิ้นให้ขายได้กับคนทุกกลุ่ม

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Home Office สัญชาติไทยที่ต่อยอดธุรกิจอากงและพ่อแม่

นอกจากนรุตม์จะผสาน 3 วัสดุเข้าด้วยกันแล้ว เขายังออกแบบให้งานไม้มีเหลี่ยมมุมที่น่าสนใจ “เราเพิ่งสังเกตว่าระบบกริดมันฝังอยู่ในวิธีการออกแบบของเรา กริดที่มีอยูในเลย์เอาต์กราฟิก กลายมาอยู่ในเฟอร์นิเจอร์ด้วย เลยได้เส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์” นรุตม์เล่าต่อถึงที่มาของเหลี่ยมมุมประหลาดที่นำมาสู่เฟอร์นิเจอร์ไม้หกเหลี่ยมถอดประกอบได้อย่างคอลเลกชันดินสอที่ไม่มีเเบรนด์ไหนเหมือน ว่าได้แรงบันดาลใจจากการไปเรียนงานไม้ที่ฝรั่งเศส ทำให้เขาคิดค้นใบมีดแบบใหม่ที่สามารถทำไม้ให้ออกมาเป็นทรงอะไรก็ได้ตามชอบ 

Flo & Furnist Industry

เรามักเห็นว่าเมื่อลูกเข้ามารับช่วงต่อ รูปแบบและวิธีการบริหารงานของรุ่นพ่อจะหายไป 

แต่ไม่ใช่กับครอบครัวนี้ เฟอร์นิเจอร์รุ่นเก๋ายังคงผลิตออกสู่ตลาดโดยการบริหารของพ่อ เพราะกลุ่มลูกค้าเดิมถือเป็นกลุ่มหลักที่หล่อเลี้ยงโรงงาน ส่วน Flo ของนรุตม์เป็นแรงที่ช่วยพยุงในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง แม้ตอนนี้พ่อลูกยังแยกกันบริหาร เพราะ Flo เพิ่งเปิดตัวไม่นาน แต่ในอนาคต ทั้งคู่พยายามผสานทั้งสองแบรนด์ให้เข้ากัน

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Home Office สัญชาติไทยที่ต่อยอดธุรกิจอากงและพ่อแม่

พูดถึงความลงตัว เราขอยกให้การแบ่งงานกันระหว่างคุณพ่อผู้จบการตลาด คุณแม่ผู้จบบัญชี และคุณลูกผู้จบออกแบบ เป็นทีมเวิร์กที่ทำให้บริษัทดำเนินไปได้อย่างไม่ลำบาก แต่เมื่อพ่อและแม่มีอายุมากขึ้น ความเป็นลูกคนเดียว ไม่มีพี่น้องช่วยดูแลและจัดการเรื่องต่างๆ ทำให้นรุตม์ต้องเรียนรู้เรื่องการบริหาร การตลาด และการบัญชีให้มากขึ้น และนี่คือสิ่งที่ยากสำหรับนักออกแบบอย่างเขา 

บริหารงานคือสิ่งที่ยาก แต่บริหารความสัมพันธ์ก็เป็นอีกงานที่เขาต้องทำ นรุตม์บอกว่า เขาต้องแบ่งเส้นการเป็นลูกน้องกับลูก ว่าควรปรึกษาพ่อยังไงไม่ให้ดูเหมือนเถียง ให้พ่อเชื่อและอนุญาตให้ทำในสิ่งที่คิด มีครั้งหนึ่งที่เขาต้องขับรถไปพบลูกค้า แต่พ่อไม่อยากให้ไปเพราะกลัวอันตราย เขาจึงใช้ไม้เด็ดเล่าเหตุการณ์เปรียบเทียบสมัยพ่อเริ่มทำงาน

“ตอนแรกเราให้เขาเล่าว่าตอนเขาเป็นเซลส์เขาขับรถยังไง เขาเล่าว่า ‘ป๊าขับจากนี่ไปเพชรบูรณ์ ไปโคราช เชียงใหม่’ เราบอกว่าไม่เห็นเป็นไรเลยป๊า ผมขับน้อยกว่าป๊าอีก เขาก็โอเค ไปเลย นี่เป็นครั้งที่ประสบความสำเร็จที่สุดแล้ว เข้าใจว่า อ๋อ ต้องทำแบบนี้ พูดตรงๆ ไม่ได้ เราต้องมีวิธี” นรุตม์เล่าถึงความสำเร็จครั้งนั้นเคล้าด้วยเสียงหัวเราะที่พาเราอมยิ้มตาม

นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์ นักออกแบบผู้ก่อตั้ง Flo แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย

สิ่งที่อากงและพ่อสอนเสมอคืออะไร นรุตม์ตอบอย่างไวแทบไม่ต้องคิดว่า คือการพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ การซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และการไม่หยุดเรียนรู้ เขาขยายความว่า แม้พ่อจะจบการตลาด แต่ก็สร้างโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ได้เพราะพ่อเป็นคนใฝ่รู้อยู่เสมอ แม้ไม่มีความรู้ด้านเฟอร์นิเจอร์ พ่อก็ไปเรียนการผลิต การบริหาร และการบัญชี จนสร้างโรงงานที่บรรจุคนงานกว่า 300 ชีวิตได้ นรุตม์จึงมีนิสัยรักเรียนแต่เด็ก แม้จะจบปริญญาตรีและมี Flo ในอ้อมใจ เขาก็ยังไปเรียนงานไม้ที่ฝรั่งเศส เรียนปริญญาโทที่สวิตเซอร์เเลนด์และปัจจุบันกำลังเรียนปริญญาโทการบริหารที่มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่พอ! ขอออกตัวว่าเราพบเขาที่คอร์ส Rinen

“เราเคยสับสนว่าจบแล้วทำอะไรดี เพื่อนก็บอกว่า เราชัดจะตายอยู่แล้วจะสับสนทำไม มีโรงงานที่บ้านก็ทำสิ เป็นคำที่ง่ายแต่มาในจังหวะที่ดีมาก ถ้าเขาพูดก่อนหน้านั้นเราอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ตอนนั้นมันเปลี่ยนเลยว่าไม่เห็นต้องลังเล” จากความฝันของรุ่นพ่อที่อยากเปลี่ยนโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ขายส่งไร้แบรนด์ให้มีแบรนด์ วันนี้นรุตม์สานฝันนั้นให้พ่อได้

“พ่อชอบพูดว่า ปู่สร้าง พ่อขยาย ลูกทำลาย ถ้ามันมาเจ๊งรุ่นเราคงเสียหายไปถึงวงศ์ตระกูล” นรุตม์เล่าติดตลกถึงความกังวลเมื่อพ่อให้เลือกว่าจะรับกิจการต่อหรือให้ขายไป แต่เราคิดว่าคำขวัญนั้นคงไม่ใช่กับแบรนด์ที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยและมีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจอย่าง Flo 

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ Home Office สัญชาติไทยที่ต่อยอดธุรกิจอากงและพ่อแม่

บริษัท เฟอร์นิสท์ อินดัสทรีส์ จำกัด (พ.ศ. 2537)

กิจการครอบครัวอันเกี่ยวเนื่องกับเฟอร์นิเจอร์เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2510 เมื่ออากงปึง จือ ฮวด มีอาชีพเป็นเซลส์ขายเฟอร์นิเจอร์ให้โรงงาน ต่อมาคุณพ่อตั้งร้านขายเฟอร์นิเจอร์ในนาม บริษัท ปิติสวัสดิ์ เฟอร์นิเจอร์ ใน พ.ศ. 2528 ร่วมกับคุณแม่ลัดดาวัลย์ โดยมีอากงคอยสนับสนุน

ใน พ.ศ. 2537 นักการตลาดที่ไม่มีความรู้เรื่องวิศวกรรมอย่างคุณพ่อก่อตั้ง บริษัท เฟอร์นิสท์ อินดัสทรีส์ จำกัด โรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่มีคนงานเพียง 100 คน เริ่มจากงานเหล็ก รับผลิตเก้าอี้พับ โต๊ะพับ เเละเตียงเหล็กดัดส่งขายทั้งต่างประเทศและในประเทศ แต่เมื่อเก้าอี้พลาสติกเข้ามาแทนที่เหล็ก โรงงานจึงเริ่มมีปัญหา เพราะคนหันไปซื้อเก้าอี้พลาสติกจนคุณพ่อต้องเพิ่มส่วนงานผลิตหุ้มบุเพื่อทำโซฟา เก้าอี้เบาะ และเตียงหุ้มผ้า เข้ามา และต่อมาจึงเพิ่มส่วนการผลิตไม้เพื่อเพิ่มความหลากหลายของงาน

“ตอนนั้นคนทำเหล็กไม่ทำไม้ คนทำไม้ไม่ทำเหล็ก พอเราทำออกไปก็ดูแปลกกว่าคนอื่น ก็เลยขายได้ เราพยายามทำแบรนด์ แต่ไม่ได้โดดเด่นเลย เป็นลักษณะ OEM ให้บริษัทต่างประเทศและในประเทศเสียส่วนใหญ่”

จุดสูงสุดของเฟอร์นิสท์ อินดัสทรีส์ คือช่วงหลังวิกฤตการณ์น้ำท่วม พ.ศ. 2554 ก่อนหน้านั้นคนมักใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ผลิตจากไม้อัดเสียส่วนมาก เมื่อน้ำท่วมทำให้ต้องทิ้งของเหล่านั้นไป ขณะที่ไม้จริงเพียงขัดสีฉวีวรรณใหม่ก็ยังใช้ได้ดี ทำให้คนหันกลับมาใช้ไม้อีกครั้ง เพราะคำนวณระดับน้ำได้แม่นยำ เมื่อน้ำลดจึงผลิตขายได้ทันที ถือเป็นวิกฤตโรงงานอื่นแต่เป็นโอกาสของโรงงานนี้

แม้คุณพ่อจะเริ่มสร้างทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่ได้หวั่นเกรงว่าเมื่อลูกเข้ามารับช่วงต่อแล้วจะทำไม่ได้ สิ่งที่คุณพ่อย้ำเสมอคือการเปิดโอกาสให้รุ่นลูกได้เข้ามาสานต่อกิจการ 

“ต้องให้โอกาสเขา คลื่นลูกหลังต้องกลบคลื่นลูกเเรกถึงจะเอาตัวรอดได้ในปัจจุบันที่คู่แข่งเยอะขึ้น รุ่นพ่อต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้ครอบงำมาเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา ถอยออกมาให้เขาเเสดงฝีมือ เหมือนนักฟุตบอล ถ้าเป็นตัวสำรองไม่ได้ลงสนามก็คงเป็นอย่างนั้นตลอด ถ้ามีโอกาสได้ลงสนามบ้างก็จะได้เกิด” คุณพ่อทิ้งท้าย

Facebook : Flo

Website : www.flofurniture.com

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล