26 พฤศจิกายน 2021
15 K

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้คุยกัน

เรามีโอกาสได้สนทนากับ อัสบีเยิร์น วาร์วิค เรอร์ทเว็ท ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์ (NSC) หรือคุณเอบี ชายชาวนอร์เวย์ที่มีความรู้เรื่องปลาดีไม่เป็นสองรองใครเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว เขาคลุกคลีอยู่กับองค์กรที่ตั้งใจเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับแหล่งที่มาของอาหารทะเลที่มาจากประเทศนอร์เวย์แก่ผู้นำเข้า ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคมาถึง 11 ปี เราคุยกันด้วยหัวข้อเกร็ดน่ารู้ของแซลมอน ปลายอดฮิตอันดับหนึ่งที่ใคร ๆ ก็รู้จัก 

ฟยอร์ดเทราต์ ฝาแฝดแซลมอนที่อยู่ในวิถีการกินปลาและเคล็ดลับสุขภาพดีของชาวนอร์เวย์

ในวันนี้ด้วยวาระโอกาสใหม่ เราได้พูดคุยกันถึงเรื่องน่าสนใจอย่างฟยอร์ดเทราต์ (Fjord Trout) หรือปลาที่นิยมเป็นอันดับสองที่น้อยคนนักจะรู้จัก ถึงความเหมือน-ความต่างจากแซลมอน วิธีการแยกแยะและเคล็ดลับการปรุง รวมไปถึงวิถีการบริโภคปลาของชาวนอร์เวย์จากอดีต มาสู่ปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนไป

ทำไมประเทศนอร์เวย์มีสภาพแวดล้อมทำประมงที่สมบูรณ์แบบ

เป็นข้อสงสัยที่เรายังไม่ได้รับการเคลียร์ให้กระจ่าง คราวนี้เราจึงถามชายชาวนอร์เวย์ที่ปลายสายทันที เอบีตอบว่าเพราะประเทศนอร์เวย์มีกระแสน้ำกัลฟ์สตรีม กระแสน้ำอุ่นที่ไหลเวียนมาจากอ่าวเม็กซิโก ซึ่งยาวมายังอ่าวของประเทศนอร์เวย์ด้วย ทำให้น้ำของที่นี่มีสารอาหารมาก

“ถ้าเราไม่มีกระแสน้ำกัลฟ์สตรีม เราก็คงไม่มีสภาพแวดล้อมที่ทำการประมงออกมาได้ดีขนาดนี้ รวมไปถึงตลอดชายฝั่ง เรามีฟยอร์ดเยอะมาก (ช่องทางน้ำที่ยาวสลับกับธารน้ำแข็ง) และถ้าลองขยายภาพของชายฝั่งนอร์เวย์ดู คุณจะพบว่าชายฝั่งทะเลของเรายาวที่สุดเป็นอันดับสองของโลก

“ดังนั้น เราเลยมีทุกองค์ประกอบที่เหมาะสมอย่างมากในการเลี้ยงปลา ด้วยการมีภูมิประเทศที่เป็นเกราะกำบังปลาได้ แม้ว่าสภาพอากาศจะเลวร้ายหรือมีพายุยังไง ก็แน่ใจได้ว่าฟยอร์ดจะปกป้องปลาที่อยู่ตรงกลางได้เป็นอย่างดี โดยไม่ถูกผลกระทบไปด้วยอย่างแน่นอน”

ฟยอร์ดเทราต์ ฝาแฝดแซลมอนที่อยู่ในวิถีการกินปลาและเคล็ดลับสุขภาพดีของชาวนอร์เวย์

ฟยอร์ดเทราต์คือปลาอะไร ทำไมต้องมาจากที่นี่

เขาปฏิเสธทันที บอกว่าไม่จำเป็น แต่ข้อดีของฟยอร์ดเทราต์นอร์เวย์ที่เหนือแหล่งอื่น คือประสบการณ์ที่มีและแร่ธาตุในน้ำที่เขาเอ่ยเมื่อตอนต้น

เอบีเล่าว่าจริง ๆ แล้วฟยอร์ดเทราต์เป็นปลาชนิดแรกที่ใช้ในการเริ่มต้นทำฟาร์มปลา เพราะการดูแลฟยอร์ดเทราต์ง่ายกว่าแซลมอน ปลาชนิดนี้ถูกเลี้ยงในหลายที่ทั่วโลก ทั้งในกระแสน้ำจืดและน้ำทะเล แต่รสชาติของปลาก็จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงไปด้วยตามแหล่งที่อยู่ เพราะมันดูดซึมแร่ธาตุจากน้ำ ดังนั้น น้ำที่เย็นจัดและใสสะอาดของนอร์เวย์ ทำให้ฟยอร์ดเทราต์เติบโตอย่างช้า ๆ (ยิ่งน้ำเย็น ปลาก็ยิ่งโตได้ช้าลงไปด้วย) แปลว่าคุณก็จะได้เนื้อปลาที่แน่นและอร่อยยิ่งขึ้น

ฝาแฝดของแซลมอนที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสอง วิถีการกินปลาและเคล็ดลับสุขภาพดีแบบฉบับชาวนอร์เวย์

ฝาแฝดของแซลมอน ทดแทนกันได้หรืออย่างไร

เราศึกษามาว่าในโลกของเชฟ บางคนอาจเรียกว่าฟยอร์ดเทราต์ในฐานะของตัวแทนของแซลมอน ในฐานะบุคคลภายนอก เราสงสัยว่าแล้วสำหรับเอบีมีมุมมองอย่างไร

ผมไม่ค่อยเห็นด้วย ปลาสองชนิดนี้ค่อนข้างคล้ายกันมาก มันดูเหมือนกันจนคนสับสนอยู่ตลอด ก็พอเข้าใจได้ครับ ขนาดคนนอร์เวย์เองยังมีสับสนอยู่เลย ว่ากันตามตรงก็คือ มันเป็นปลาคนละสปีชีส์กัน มีทั้งความคล้ายและแตกต่าง ผมแน่ใจว่าถ้าผู้บริโภคชาวไทยได้ลองทำอาหารจากฟยอร์ดเทราต์และแซลมอนด้วยวิธีการเดียวกัน ก็ต้องรู้สึกได้อย่างแน่นอน”

ความแตกต่างหลัก ๆ เลยก็คือ ฟยอร์ดเทราต์มีสีเนื้อแดงกว่าแซลมอนซึ่งสีออกไปทางส้ม รวมไปถึงชั้นไขมันของแซลมอนก็แทรกอยู่ภายในชั้นของเนื้อ สลับไปจนเห็นเป็นลายอย่างชัดเจน แต่ฟยอร์ดเทราต์มีไขมันทั้งระหว่างชั้นเนื้อน้อยกว่า ค่อนข้างลีน แต่มีไขมันมากที่ส่วนช่วงท้อง สำหรับภายนอก ฟยอร์ดเทราต์ตัวอ้วนสั้นและหนักกว่าแซลมอน แต่มีหัวเล็ก หนังของมันเป็นสีเงินมากกว่าด้วย ในขณะที่แซลมอนจะมีลำตัวยาวและบางกว่าเล็กน้อย 

ในด้านการเลี้ยงดู ฟยอร์ดเทราต์ค่อนข้างทนต่อโรคและสภาพอุณหภูมิที่เปลี่ยนได้มากกว่าแซลมอน แต่มันโตค่อนข้างช้ากว่าและกินอาหารเยอะกว่าด้วย แซลมอนหนักได้ถึง 7 – 8 กิโลกรัม แต่ฟยอร์ดเทราต์หนักสูงสุดอยู่ที่ 4 – 6 กิโลกรัมเท่านั้น แถมยังใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าประมาณ 2- 3 เดือน

“เมื่อนำไปประกอบอาหาร จะยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมว่ามันสำคัญมากที่ต้องบอกผู้บริโภคถึงข้อแตกต่างที่มี เพราะถ้าเข้าใจว่ามันเหมือนกัน วันนี้คุณกินแซลมอน แล้วพรุ่งนี้คุณกินฟยอร์ดเทราต์ เพราะเข้าใจว่ามันเหมือนกัน คุณอาจจะรู้สึกได้ว่าปลาที่ได้มาไม่ตรงตามมาตรฐาน เพราะรสชาติที่ต่าง” 

ฟาร์มปลากับปลาในธรรมชาติต่างกันแค่ไหน ยังไง ทำไมปลาในฟาร์มถึงดีกว่า

เอบีรีบแจกแจงให้เห็นถึงข้อแตกต่างทันที

“ต่างแน่นอนครับ ฟยอร์ดเทราต์และแซลมอนในธรรมชาติจะว่ายทวนน้ำมายังแม่น้ำที่เป็นน้ำจืดเพื่อวางไข่ เวลาส่วนมากมันจึงอาศัยอยู่ในทะเล ดังนั้น เลยเป็นปลาที่น่าสนใจมากเพราะอาศัยอยู่ได้ในทั้งน้ำจืดและน้ำทะเล แต่ปลาที่อยู่ในฟาร์มจะอยู่แค่ภายในทะเลอย่างเดียว ซึ่งเราอยากให้เป็นแบบนั้น เพราะจะตรวจสอบและติดตามปลาได้อยู่เสมอ หากปลาว่ายไปที่น้ำจืด จะส่งผลกระทบกับเนื้อปลาเป็นอย่างมาก ไม่ใช่ว่าถึงขั้นกินไม่ได้ แต่คุณภาพอาจจะลดลงพอสมควร”

วิธีการแปรรูปปลาที่หลากหลายของนอร์วีเจียน

ย้ายมาที่เรื่องวัฒนธรรมการกินของชาวนอร์เวย์ เอบีเริ่มเล่าให้เราฟังว่า นอร์เวย์มีประเพณีที่เก่าแก่มากทั้งการเลี้ยงและแปรรูปปลาในรูปแบบต่าง ๆ ถ้าดูจากแง่มุมประวัติศาสตร์ เมื่อก่อนนอร์เวย์มีเรือประมงเล็กมาก เมื่อเทียบกับชายฝั่งทะเลที่ยาวเป็นอันดับสองของโลก ทำให้การประมงในสมัยก่อนค่อนข้างอันตราย เพราะต้องออกเรือไปไกล ทำได้เพียงรอให้ถึงฤดูที่ปลาจะเข้ามาใกล้ชายฝั่งเองเท่านั้น 

ในช่วงหน้าหนาวอย่างเดือนมกราคม-เมษายนที่เป็น High Season ปลาคอดจะเข้ามาวางไข่ใกล้ชายฝั่ง ชาวนอร์เวย์ก็จะจับปลาให้ได้มากที่สุดในช่วงนั้น แต่ด้วยความที่เป็นเพียงประเทศเล็ก ทำให้บริโภคปลาทั้งหมดนั้นไม่ได้ การถนอมอาหารจึงเข้ามามีส่วนสำคัญอย่างมาก เพื่อเก็บรักษาผลผลิตที่ได้มาไม่ให้สูญเปล่า

“เราจะเอาปลาคอดแขวนไว้สองถึงสามเดือนจนแห้ง ทำให้เก็บต่อได้อีกหลายเดือน เพื่อบริโภคทั้งในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศได้ด้วย ปลาตากแห้งเหล่านี้ถูกใช้เป็นค่าเงินของชาวไวกิ้งในสมัยก่อน

“ผมเชื่อว่าวิวัฒนาการของอาหารในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศและอากาศของที่นั้น ๆ อย่างนอร์เวย์เป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง ทำให้การประมงเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของประเทศ จริง ๆ เราก็มีการผลิตเนื้อสัตว์อื่น ๆ แต่เมื่อเทียบแล้วก็น้อยกว่ามาก การประมงเลยเป็นเหมือนนิยามของประเทศเราเลยครับ”

มื้อพิเศษของชาวนอร์เวย์เมื่อ 50 ปีก่อน

ก่อนหน้าที่นอร์เวย์จะริเริ่มการทำฟาร์มปลาของตัวเอง ทำให้การจับปลามักทำได้แค่ในช่วงฤดูหนาวที่ปลาเข้ามาวางไข่ใกล้ชายฝั่ง เมนูพิเศษดั้งเดิมก็คือปลาคอดสด กินกับตับปลาคอด ไข่ปลาและมันฝรั่ง เพราะในช่วงเวลาอื่นของปี การกินปลาคอดจะมาในรูปแบบแปรรูปซะมากกว่า

แต่การทำฟาร์มปลาในปัจจุบันทำให้การกินปลาเปลี่ยนไป เพราะนั่นแปลว่าจะมีปลาหลายชนิดให้กินสดได้ตลอดปี เอบีเล่าว่าเมื่อก่อนการได้กินแซลมอนถือเป็นโอกาสพิเศษ มีเพียงไม่กี่อาทิตย์ในช่วงฤดูร้อน ในวัยเด็กเขาได้กินแค่ปีละครั้งเท่านั้น แต่ตอนนี้ ชาวนอร์เวย์กินแซลมอนเฉลี่ยถึงคนละ 8 กิโลกรัม ต่อปี

“พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไปครับ ชาวนอร์เวย์ได้กินปลาที่สดเท่าที่จะสดได้อยู่ตลอด เช่นเดียวกันกับผู้บริโภคชาวไทยที่ได้กินปลาสด ๆ ต้องขอบคุณนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ทุกคนทั่วโลกได้กินปลาสด ๆ เหมือนที่คนนอร์เวย์ได้กิน แต่ในขณะเดียวกัน การที่เราพาปลาเหล่านี้ไปให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักอีกมากมาย เราก็ได้รับแรงบันดาลใจจากเมนูต่าง ๆ กลับมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการกินแบบจีน ไทย เวียดนาม และแน่นอนว่าแบบญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ผมว่าทุกประเทศก็มีการประยุกต์ รวมถึงปรับเอาฟยอร์ดเทราต์และแซลมอนไปใช้ที่ต่างกัน อย่างประเทศไทยผมก็เคยเห็นในต้มยำหรือยำต่าง ๆ ที่น่าสนใจ”

 หนึ่งในอาหารจานโปรดที่ต้องทำจากฟยอร์ดเทราต์เท่านั้น

เอบีรีบตอบอย่างทันทีว่าเมนู Cold Smoke Fjord Trout หรือฟยอร์ดเทราต์รมควันเย็น คือเมนูเฉพาะที่ต้องทำจากฟยอร์ดเทราต์เท่านั้น และเป็นเมนูโปรดส่วนตัวของเขาด้วยเช่นกัน

“เมื่อคุณใช้วิธีรมควันด้วยอุณหภูมิที่ต่ำกว่าปกติมาก ซึ่งไม่เหมือนการรมควันทั่วไป ก็จะได้ปลาที่มันน้อยกว่า และรสชาติหวานกว่าด้วย เนื้อจะออกมานุ่มมาก ๆ รวมถึงสีที่ฟยอร์ดเทราต์แดงกว่าแซลมอนอยู่แล้ว ก็จะยิ่งแดงสวยขึ้นไปอีก ที่นอร์เวย์เรากินปลารมควันเยอะมาก ใส่ในแซนด์วิช สลัด หรือจานพาสต้า ก็ใช้เยอะเช่นกัน”

คนนอร์เวย์กินปลาเป็นอาหารเช้า ?

เมื่อเราถามถึงความเชื่อที่เคยได้ยินมาว่า คนนอร์เวย์กินปลาทุกมื้อ ไม่เว้นแม้กระทั้งอาหารเช้า เอบีหัวเราะและรีบยกตัวอย่างว่า ที่ประเทศไทย อาหารทุกมื้อจะมาเป็นจานร้อนและปรุงสุก แต่ที่นอร์เวย์มีอาหารจานร้อนแค่เพียง 1 มื้อต่อวันเท่านั้น โดยมื้อเช้าจะกินแซนด์วิชที่ท็อปด้วยคาเวียร์ พร้อมแซลมอนหรือปลาแมคเคอเรล มื้อกลางวันก็กินคล้ายมื้อเช้า มื้อเย็นจึงเป็นมื้อเดียวที่จะกินอาหารจานร้อนอย่างพาสต้าหรือปลาอบ และหลังจากนั้นถ้าใครนอนดึก มื้อดึกก็มักเป็นของกินเล่นที่คล้ายมื้อเช้าอีกทีหนึ่ง

“เท่ากับว่าเรากินปลาถึงสี่มื้อต่อวัน อันนี้เป็นวิถีของชาวนอร์เวย์แท้ ๆ ครับ แต่ในปัจจุบันก็มีหลายคนที่พฤติกรรมเปลี่ยนไป กินมื้ออาหารที่มีจานร้อนมากขึ้น เช่น ไข่ออมเล็ต เรากินขนมปังเยอะมากครับ ผมย้ายมาอยู่ที่นี่ก็กินขนมปังน้อยลงเยอะเลย รวมถึงแผนกในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไทยก็ต่าง ที่นอร์เวย์จะมีแผนกเครื่องทาและของที่ไว้กินกับขนมปังเยอะมาก เช่น แฮม ไก่งวง ปลารมควัน ทั้ง Hot Smoke Cold Smoke ไข่ปลา คาเวียร์ วันหนึ่งเรากินสิ่งที่เกี่ยวกับปลาเยอะมาก”

พฤติกรรมกินปลาที่เปลี่ยนไปจนอาจเกิดเป็นปัญหาตามมา

ย้อนกลับไป 50 ปีก่อน นอร์เวย์เป็นประเทศที่จนมาก และเหตุผลที่คนกินปลาเยอะแค่เพียงเพราะเป็นอาหารราคาถูก หาได้ทุกที่ ผลที่ตามมาคือประชากรมีปัญหาสุขภาพน้อยมาก อัตราของผู้ป่วยโรคหัวใจแทบไม่มีเลย เพราะพวกเขาได้รับโอเมก้า 3 และวิตามินที่เพียงพออยู่ตลอด ต่อมาเมื่อประเทศร่ำรวยจากการส่งออกปลามากขึ้น ก็ทำให้คนอยากลองอาหารชนิดอื่น ๆ จากทั่วโลกและกินปลาน้อยลง จนหน่วยงานเกี่ยวกับสาธารณสุขของนอร์เวย์เปิดเผยว่า ปัจจุบันชาวนอร์เวย์เริ่มมีปัญหาโรคอ้วน และมีไลฟ์สไตล์ที่ก่อให้เกิดโรคมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ทางการนอร์เวย์จึงรณรงค์ให้คนภายในประเทศกลับมากินปลาและอาหารทะเลให้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

เอบีเล่าติดตลกให้เราฟังว่า ตอนอยู่บ้านที่นอร์เวย์ก็กินปลาเยอะกว่าจริง

“เป็นเพราะผมชอบลองอาหารไทยมาก แต่ก็พยายามกินอาหารทะเลให้เพิ่มขึ้นอยู่เหมือนกันครับ ผมรักปูและกุ้งที่นี่มาก โดยเฉพาะกุ้งลายเสือ”

รู้ว่าอาหารไทยอร่อย หวังว่าเขาคงจะไม่มีปัญหาสุขภาพตามมาเช่นกัน

Writer

Avatar

ณิชากร เอื้อสุนทรวัฒนา

อดีตนักเรียนโฆษณาที่มาเอาดีทางด้านอาหาร แต่หลงใหลการสัมภาษณ์และงานเขียน