18 พฤศจิกายน 2019
3 K

ถ้าเรารู้จักตัวเองเมื่อไร 

คุณจะเห็นพระเจ้า

คำพูดนี้ผมไม่ได้เจอในเฟซบุ๊ก ในไลน์ หรือในหนังสือคำคมใดๆ แต่ผู้นำหมู่บ้านมุสลิมคนหนึ่งในภาคใต้ได้กล่าวกับผมเมื่อหลายเดือนก่อน คำพูดสั้นๆ ประโยคนี้ได้นำทางให้หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่กลายเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

ท่ามกลางเศรษฐกิจราคายางพาราตกต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่หมู่บ้านนี้มีภูมิคุ้มกัน ทำให้อยู่รอดได้อย่างมั่นคง

ชาวบ้านแห่งชุมชนไหนหนัง ตำบลเขาคราม อำเภอเมืองฯ จังหวัดกระบี่ เป็นชุมชนมุสลิมเก่าแก่ อาชีพส่วนใหญ่คือปลูกยางพาราและทำประมง

ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ ไหนหนัง ที่แข็งแกร่งได้ขณะราคายางตกด้วย การเลี้ยงผึ้ง ในป่าชายเลนและรักษ์ทะเล

ย้อนกลับไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2426 ชาวจีนจากเกาะไหหลำของประเทศจีนได้มีการค้าขายทางเรือกับชาวจีนจากเกาะปีนัง รวมทั้งชาวมุสลิมในหมู่เกาะลังกาวี ตลอดจนชาวจีนที่อาศัยอยู่ในอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง

มีครั้งหนึ่ง ระหว่างการเดินทางได้เกิดพายุใหญ่ ชาวจีนได้นำเรือมาหลบพายุเข้ามาพักแรมในคลองบ้านไหนหนังเป็นเวลาแรมเดือน ต่อมา สองพี่น้องชื่อโต๊ะสีตุงกา และโต๊ะสีรายา พร้อมกับสองพี่น้องชาวจีนชื่อแป๊ะรัดฮู และแป๊ะยอง 4 ครัวเรือนได้ตั้งถิ่นฐาน ณ หมู่บ้านไหนหนัง เนื่องจากเห็นว่าหมู่บ้านนี้ตั้งติดอยู่บริเวณชายทะเล ทำมาหากินได้สะดวก อีกทั้งมีพื้นดินดอนที่ทำการเกษตร ปลูกทั้งข้าวและผักได้ ส่วนทางทะเลก็หากุ้ง หอย ปู ปลา มาประกอบอาหารได้

ในช่วงแรกนั้นมีเพียง 4 ครัวเรือน มีชาวจีน 2 ครัวเรือน และชาวมุสลิม 2 ครัวเรือน ต่อมาชาวจีนได้อพยพไปทำการค้าขายในเมืองกระบี่ ส่วนชาวมุสลิมก็ได้ตั้งหลักปักฐานอยู่ในหมู่บ้านไหนหนังนี้ และต่อมาพี่น้องชาวมุสลิมก็ได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากเพิ่มขึ้นเป็นหลักพันคน โดยมีอาชีพจับปลาและทำสวนยางเป็นหลัก

วิถีชีวิตของคนหาปลาที่อยู่กันสงบสุขมาช้านาน ก็เริ่มเกิดปัญหาขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน จากการปรากฏของเรืออวนรุน อวนลากที่เข้ามาจับปลาบริเวณทะเลหน้าบ้านของพวกเขาตั้งแต่ พ.ศ. 2548

ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ ไหนหนัง ที่แข็งแกร่งได้ขณะราคายางตกด้วย การเลี้ยงผึ้ง ในป่าชายเลนและรักษ์ทะเล

อวนรุน อวนลาก คือเครื่องมือประมงที่ใช้อวนลักษณะตาข่ายคล้ายถุง ลากสัตว์น้ำตั้งแต่ผิวน้ำยันพื้นดิน เรืออวนรุน อวนลาก ได้ทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อนคิดเป็นมูลค่ามหาศาล เพราะเรือเหล่านี้มักมาหาปลาใกล้ฝั่งทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นสาเหตุสำคัญทำให้จำนวนสัตว์น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง

ชาวบ้านไหนหนังก็สังเกตมานานแล้วว่าสัตว์น้ำลดลงต่อเนื่องทุกปี หลังจากเรืออวนรุน อวนลาก เข้ามาป้วนเปี้ยนจับปลาใกล้ทะเลบ้านเขาจนเกือบหมด ชาวบ้านจึงรวมตัวกันออกไปต่อต้านเรืออวนรุน อวนลาก โดยมีแกนนำเข้มแข็งคือ กำนันก้าหรีม หลักแหล่ง พวกเขาต่อสู้กับเรืออวนจากภายนอกอย่างทรหดหลายปี แม้กระทั่งเอาชีวิตเข้าแลก

“พวกนี้ทำผิดกฎหมาย เพราะมีประกาศของทางการตั้งแต่ปี 2515 ห้ามทำการประมงภายในเขตสามพันเมตร จากชายฝั่ง เราสู้กันหลายปี ร่วมมือกับทางการด้วย กว่าจะไล่ไปได้หมด” แกนนำชาวบ้านคนหนึ่งบอกกับผม

เมื่ออวนรุน อวนลาก จากไป ไม่นานนักความสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในทะเลก็กลับมาอีกครั้ง แต่ก่อนหน้านี้ พวกเขาได้ร่วมมือกันสร้างเรื่องสำคัญกว่า ส่งผลไปถึงลูกหลานในอนาคต

ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ ไหนหนัง ที่แข็งแกร่งได้ขณะราคายางตกด้วย การเลี้ยงผึ้ง ในป่าชายเลนและรักษ์ทะเล

ใน พ.ศ. 2538 เมื่อป่าชายเลนแถวนั้นหมดสัมปทานลง ชาวบ้านพบว่าพื้นที่ป่าชายเลน ไม้โกงกาง ไม้แสม โดนตัดไปทำถ่านจนเหี้ยนเตียนเกือบหมด พวกเขาจึงได้ร่วมกันอนุรักษ์ป่าชายเลนครั้งใหญ่ ไม่ให้ใครมาทำลาย ช่วยกันดูแลป่าชายเลน จนกลายเป็นป่าชุมชนอันอุดมสมบูรณ์ขนาด 3,800 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำขนาดเล็กจำนวนมหาศาล ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา และกลายเป็นปราการสำคัญตามธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้คลื่นสึนามิเข้ามาทำลายหมู่บ้าน เมื่อครั้งเหตุการณ์สึนามิในปี 2547

ชาวไหนหนังทราบดีว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเล เป็นหนทางเดียวที่ทำให้พวกเขาจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน หลังจากป่าชายเลนกลับคืนมา ปลาที่หายไปจากคลองไหนหนังในอดีตก็กลับคืนมาด้วย เช่น ปลาหมก ปลาหมา ปลามงหลังเสี้ยน ปลาโคก ปลาหมงหลังแข็ง ปลาหม้อแตก ฯลฯ

แต่ขณะเดียวกัน การอนุรักษ์อย่างเดียวโดยชาวบ้านไม่มีรายได้นั้นไม่ยั่งยืน หากธรรมชาติอยู่ได้ ชาวบ้านก็ต้องอยู่ได้ด้วย

มีการออกระเบียบป่าชุมชนว่า

ใครตัดไม้ไป 1 ต้น ต้องปลูกชดเชย 5 ต้น

ห้ามระเบิดปลา ห้ามใช้ยาเบื่อเมาทุกชนิด

ห้ามอวนล้อม ใช้ไม้กระทุ้งน้ำ

หากผู้ใดฝ่าฝืนปรับครั้งละ 500 บาท และยึดเครื่องมือจับสัตว์น้ำ

ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ ไหนหนัง ที่แข็งแกร่งได้ขณะราคายางตกด้วย การเลี้ยงผึ้ง ในป่าชายเลนและรักษ์ทะเล

หลายปีก่อน ทางกรมประมงขอร้องไม่ให้ชาวประมงทั้งจังหวัดกระบี่ใช้โป๊ะน้ำตื้นเป็นเครื่องมือหาปลาจับสัตว์น้ำ แต่ไม่มีใครสนใจ ชาวประมงกระบี่ทราบดีว่าโป๊ะน้ำตื้น เครื่องมือจับปลาชนิดนี้ คือตัวการทำลายพันธุ์กุ้งหอยปูปลามาช้านานแล้ว เพราะมันจับสัตว์น้ำทุกชนิดหน้าชายฝั่งตั้งแต่ตัวเล็กๆ

กรมประมงมาขอร้องให้ชาวบ้านไหนหนังยกเลิกการใช้โป๊ะน้ำตื้น เพื่อนำร่องเป็นตัวอย่างให้กับพี่น้องชาวประมงหมู่บ้านอื่นในจังหวัดกระบี่ ตอนนั้นชาวไหนหนังนับร้อยรายก็ยังใช้โป๊ะน้ำตื้นเป็นเครื่องมือจับปลา แต่เมื่อทั้งหมู่บ้านไปประชุมกันที่มัสยิด ผ่านการถกเถียงกันยาวนาน สุดท้ายจึงทำสัตยาบรรณที่มัสยิด ว่าจะไม่ทำประมงด้วยเครื่องมือผิดกฎหมาย ภายใน 5 ปี โป๊ะน้ำตื้นต้องหมดไปจากทะเลหน้าบ้านพวกเขา และประกาศร่วมกันว่าจะดูแลท้องทะเลด้วยการไม่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย

คำมั่นสัญญานี้ไม่ใช่แค่คำพูด

ชาวไหนหนังที่เคยทำโป๊ะน้ำตื้น ค่อยๆ หันไปใช้เครื่องมือจับปลาแบบอื่นตามคำมั่นสัญญา จนโป๊ะน้ำตื้นหมดสิ้นภายใน 5 ปี

ชาวไหนหนังเป็นพวกพูดคำไหน คำนั้น

และได้เป็นจุดเริ่มต้นให้ชาวประมงทั้งจังหวัดกระบี่เปลี่ยนแปลง ยอมเสียสละรายได้ยกเลิกการใช้โป๊ะน้ำตื้นจนหมดทั้งจังหวัด โดยได้เงินชดเชยจากประมงจังหวัดรายละ 20,000 บาท

กระบี่กลายเป็นจังหวัดแรกที่ปลอดโป๊ะน้ำตื้นโดยสิ้นเชิง เป็นที่กล่าวขวัญของคนในวงการว่าทำได้อย่างไร 

ทุกวันนี้ชาวไหนหนังได้ประกาศจัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในป่าชายเลน ผลัดเวรกันออกเรือตรวจตราท้องทะเลหน้าบ้านว่ามีเรือใดทำผิดกฎหมาย หากพบจะมีการวิทยุติดต่อให้ทางการเข้าไปจับกุม

ชาวบ้านยังบอกผู้เขียนว่า พวกเขาช่วยกันสร้างปะการังเทียมแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ หรือบ้านปลาราคาถูก โดยไปเสาะหาท่อคอนกรีตที่ถูกทิ้งร้างจากการก่อสร้างจำนวน 300 ท่อ มาทิ้งไว้ใต้ทะเลให้เป็นที่อยู่อาศัยของกุ้งหอยปูปลา อีกทั้งยังจัดทำธนาคารปูไข่ โดยรวบรวมปูที่ไข่นอกกระดอง ให้ปูไข่ให้หมดก่อนค่อยขายแม่พันธ์ปูต่อไป โดยพ่อค้าคนกลางในหมู่บ้าน

วันนี้ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลกระบี่กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวไหนหนัง จากทรัพย์ในทะเลที่พวกเขาช่วยกันอนุรักษ์ มาทดแทนรายได้ที่ขาดหายไปจากราคาที่ตกต่ำของยางพารา

ชาวบ้านหลายครอบครัวยังคงทำนา ทำไร่ ปลูกผักอินทรีย์ ซื้อขายกันในชุมชน ไม่ต้องพึ่งพาภายนอก แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ พวกเขาเลี้ยงผึ้งโพรง โดยอาศัยดอกไม้ในป่าชายเลน สร้างรายได้เสริมจากการขายน้ำผึ้ง

ผู้เขียนเดินดูรังผึ้งที่ทำจากกล่องไม้ วางเรียงรายอยู่ในสวนยางพารารอบๆ หมู่บ้าน พวกเขาบอกว่า ผึ้งจะบินไปหาน้ำหวานจากเกสรในรัศมี 5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนและเกษตรกรรม ผึ้งชอบกินน้ำหวานจากเกสรของต้นแสมขาว ตะบูนดำ ตะบูนขาว ตาตุ่ม เป้ง ในป่าชายเลน ชาวบ้านบอกผู้เขียนว่า จะเลี้ยงผึ้งได้สำเร็จ ต้องดูแลป่าด้วย

ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ ไหนหนัง ที่แข็งแกร่งได้ขณะราคายางตกด้วย การเลี้ยงผึ้ง ในป่าชายเลนและรักษ์ทะเล

การขยายรังผึ้งจะต้องดูผลกระทบ ว่าจำนวนป่าชายเลนมีเพียงพอต่อจำนวนรังของผึ้งหรือไม่ 

ผึ้งไม่ชอบควันไฟจากการเผาป่า

ผึ้งไม่ชอบสารเคมี ยาฆ่าแมลง ตามหัวไร่ปลายนา

และไม่มีป่าก็ไม่มีผึ้ง

ชาวบ้านจึงตกลงร่วมกันช่วยกันดูแลป่าชายเลน ไม่เผา ไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลงในไร่นา เพื่อถนอมคุณภาพน้ำผึ้งและรักษาจำนวนประชากรผึ้ง ทำให้ยาฆ่าแมลง สารเคมี ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อีกด้านหนึ่ง ผึ้งช่วยผสมเกสรดอกไม้ ช่วยกระจายพันธุ์ของต้นไม้ชนิดต่างๆ ในป่าชายเลน รวมไปถึงพืชผลทางการเกษตร

และที่สำคัญคือ การเลี้ยงผึ้งในป่าชายเลนนับเป็นแนวคิดใหม่ที่เป็นประโยชน์มาก พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก

เมื่อชาวบ้านดูแลป่าชายเลน น้ำผึ้งก็ทำรายได้หลายหมื่นบาทแก่ชาวบ้านที่เลี้ยงผึ้ง และยังมีกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้ง มาแปรรูปเป็น สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ยาหม่อง ฯลฯ โดยผสมผสานภูมิปัญญาและสมุนไพรท้องถิ่น

รวมทั้งมีการผลิตแชมพูและครีมนวด บำรุงเส้นผมด้วยดอกอัญชัน ซึ่งได้จัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนและพัฒนาเป็นสินค้าประจำตำบลที่ช่วยเพิ่มรายได้ นอกเหนือจากการทำอาชีพประมงและทำสวน ที่เป็นอาชีพหลักของชุมชนบ้านไหนหนัง ซึ่งสร้างรายได้ไม่ได้ตลอดทั้งปี

แต่ชุมชนก็เล็งเห็นถึงความยั่งยืน ดังนั้น ทุกครอบครัวจึงแบ่งรายได้ 10 เปอร์เซ็นต์จากรายได้เสริมเหล่านี้ไว้เป็นกองทุนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

ผลของความสำเร็จของชุมชนหนังไหนจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในชุมชน ต้องยอมรับว่าพวกเขามีการจัดตั้งชุมชนที่เข้มแข็งมาก ชุมชนแห่งนี้เป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างคนต่างศาสนา แม้คนส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิม มีชาวพุทธอยู่ไม่มาก แต่พวกเขาก็อยู่ร่วมกันได้ดี

ตัวอย่างล่าสุดคือ เมื่อมีชาวพุทธคนหนึ่งในหมู่บ้านแห่งนี้สมัครเป็นนายก อบต. ชาวบ้านมุสลิมส่วนใหญ่ก็เลือกเขาจนได้ เพราะมีความเป็นผู้นำ ใจซื่อ มือสะอาด ชัดเจน ผมสังเกตว่าผู้นำหลายคนในชุมชน กล้าพูด กล้าตัดสินใจ และมีความจริงใจในการทำงานเพื่อส่วนรวมมาก

ทุกวันนี้ชาวไหนหนังกลายเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งของกระบี่ พวกเขาเชื่อว่าเมื่อพวกเขาดูแลทะเล ดูแลป่าอย่างดีแล้ว ป่ากับทะเลจะดูแลพวกเขาเอง พวกเขาอนุรักษ์ท้องทะเล ป่าชายเลน ควบคู่กับการเลี้ยงผึ้ง ลดการใช้สารเคมี จึงมีรายได้ อยู่รอดได้ พึ่งตัวเองได้อย่างดี และมีความสุข ท่ามกลางความตกต่ำของพืชไร่ทางภาคใต้

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ชุมชนหนังไหนเป็นตัวอย่างของคนที่รู้จักศักยภาพของตัวเอง พวกเขาลุกขึ้นทำบางสิ่งอย่างจริงจังและต่อเนื่อง กัดไม่ยอมปล่อย เหมือนดั่งที่พวกเขาเชื่อว่า

ถ้าเรารู้จักตัวเองเมื่อไร

คุณจะเห็นพระเจ้า

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว