The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตในเมือง กินดื่มอาหารจากตู้แช่ในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยแทบไม่รู้ที่มาที่ไปของวัตถุดิบที่เลือกซื้อเลย ว่ามันผ่านขั้นตอนใดบ้างก่อนจะมาวางอยู่บนชั้นสินค้า เป็นชีวิตแสนสะดวกสบายที่ตัดขาดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เราจึงไม่รู้ว่าตอนนี้ธรรมชาติกำลังประสบกับภัยคุกคามอะไรบ้าง 

จากท้องทะเลสุดลูกหูลูกตา มาสู่จานบนโต๊ะอาหาร รู้ไหมว่าปลา 1 ตัวที่เรากิน ถูกจับมาด้วยวิธีการใด ครั้งหนึ่งท้องทะเลไทยเคยอยู่ในขั้นวิกฤติปลาหมดทะเล เพราะชาวประมงใช้อวนตาถี่กวาดจับสัตว์น้ำน้อยใหญ่แทบทุกชนิด เน้นเอาปริมาณ หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการทำลายล้างทรัพยากรทางทะเลที่มีค่าไปอย่างน่าเสียดาย

Fisherfolk

คอลัมน์ Sustainable Development Goals พาคุณลงใต้ไปจังหวัดสตูล เพื่อสนทนากับพี่ตุ๊ก–เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ตัวแทนสมาคมรักษ์ทะเลไทย ผู้ทำงานฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย ร่วมกับชุมชนและชาวประมงในพื้นที่ ตั้งแต่โครงการสร้างบ้านปลาและโครงการธนาคารปู มาจนถึงโครงการล่าสุดที่กำลังผลักดันและเริ่มเห็นผลเป็นรูปเป็นร่าง

นั่นคือ ร้านคนจับปลา หรือ Fisherfolk ธุรกิจอาหารทะเลเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กับการทำประมงพื้นบ้านที่ผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 14 Life Below Water บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงควบคุมกรจับปลา และยุติการทำประมงเกินขนาด การทำประมงผิดกฏหมาย และลงมือปฏิบัติฟื้นฟูเพื่อบรรลุมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์

ประมงพื้นบ้าน หรือประมงชายฝั่ง คือการประมงเพื่อยังชีพ ก่อให้เกิดการสร้างงานในท้องถิ่น เป็นประมงขนาดเล็กที่ใช้เรือเล็ก และเครื่องมือแบบพื้นบ้าน ซึ่งจับสัตว์น้ำเป็นชนิดๆ ไป ไม่ได้กว้านจับทุกอย่างใต้น้ำแบบอวนตาถี่

‘คนจับปลา’ ชื่อง่ายๆ ที่ประทับอยู่บนแพ็กเกจอาหารทะเลแช่แข็ง ที่ดูเผินๆ ก็เหมือนกับสินค้าประเภทเดียวกันที่วางขายทั่วไป แต่ความเป็นมาและเรื่องเล่าที่ซุกซ่อนอยู่ในสินค้าแต่ละแพ็กนั้น อัดแน่นยิ่งกว่าเนื้อปลาเน้นๆ เสียอีก

เพราะอาหารทะเลยี่ห้อนี้ คือธุรกิจเพื่อสังคมที่มีชาวประมงเป็นเจ้าของ และมีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเป็นลูกน้อง ที่พร้อมส่งมอบอาหารทะเลที่การันตีมาตรฐานความสด สะอาด ปลอดภัย ในราคารับซื้อจากชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นเครือข่ายอย่างเป็นธรรม พร้อมกับการคืนกลับไปอนุรักษ์ท้องทะเลอันเป็นแหล่งหากิน

ซึ่งนอกจากการส่งมอบอาหารทะเลคุณภาพเยี่ยมให้กับผู้บริโภคแล้ว พวกเขายังทำให้คนกินอาหารทะเลในเมืองอย่างพวกเรา ได้รับรู้และเข้าใจเรื่องราวของธรรมชาติรอบตัวมากขึ้น เพราะปลาทุกตัวของพวกเขา สามารถสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ต่อทั้งผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

01

ชาวประมง ‘กองปราบปลา’

จุดเริ่มต้นของร้านคนจับปลา เกิดขึ้นที่หมู่บ้านคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ย้อนไปเมื่อสิบกว่าปี ทะเลหน้าบ้านของชาวบ้านคั่นกระไดอยู่ในภาวะวิกฤต ไม่มีสัตว์น้ำให้ชาวประมงในพื้นที่จับหากินเหมือนก่อน ที่เป็นเช่นนี้เพราะชาวประมงใช้อวนตาถี่กวาดจับสัตว์น้ำน้อยใหญ่แทบทุกชนิด เน้นเอาปริมาณ หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการทำลายล้างทรัพยากรทางทะเลที่มีค่าไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อชาวประมงไม่อาจหาปลาหน้าบ้านของตัวเองได้ พวกเขาก็เริ่มออกเรือไปจับปลาไกลขึ้น ไม่ว่าจะเข้าไปหากินในพื้นที่ใดก็ล้วนแต่ทำลายทรัพยากรให้ร่อยหรอ จนชาวประมงหมู่บ้านคั่นกระไดได้รับสมญานามว่าเป็น ‘กองปราบปลา’ เกิดการปะทะขัดแย้งกับเจ้าของน่านน้ำอื่น จนต้องล่าถอยกลับคืนสู่บ้านที่ท้องทะเลเสื่อมโทรมอย่างหนัก ไม่สามารถยึดอาชีพหาสัตว์น้ำเป็นหลักต่อไปได้

ตุ๊ก–เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ตัวแทนสมาคมรักษ์ทะเลไทย

ในเวลานั้น พี่ตุ๊ก-เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ตัวแทนสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้เข้าไปทำงานด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลที่หมู่บ้านแห่งนี้ เธอพูดคุยให้ชาวบ้านเข้าใจปัญหาและชักชวนให้ไปดูงานในพื้นที่นำร่อง จุดประกายให้ชาวบ้านร่วมมือกันฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลหน้าบ้านให้กลับคืนมา

“เราเริ่มต้นทดลองฟื้นฟูตั้งแต่ปี 2550 ด้วยการทิ้งซั้ง หรือการสร้างบ้านปลาโดยนำทางมะพร้าวและใบไผ่มาใช้ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน แล้วทิ้งไว้ในทะเล เพื่อให้สัตว์น้ำได้อาศัยและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนให้เติบโต ถัดจากนั้นไม่ถึง 6 เดือนก็เริ่มเห็นผลว่ามีสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นจริง ชาวบ้านก็ตื่นเต้นและเริ่มเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์มากขึ้น ต่อมาจึงเกิดธนาคารปูที่เห็นผลจริงเช่นกัน จากนั้นชาวบ้านก็ดูแลทะเลกันเรื่อยมา”

เมื่อฟื้นฟูทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นได้ ชาวบ้านจึงเริ่มตระหนักในการบริหารจัดการทรัพยากรที่ตนฟูมฟักมาด้วยน้ำพักน้ำแรง และร่วมกันวางกฎเกณฑ์ในการจับสัตว์น้ำ ด้วยการเลิกใช้อวนตาถี่ที่เคยทำลายล้างทรัพยากร รวมไปถึงสัตว์น้ำวัยอ่อน ควบคู่กับการวางมาตรการสำหรับคนนอกพื้นที่ที่จะเข้ามาหากินในเขตของตน นับแต่นั้นมา ชาวบ้านคั่นกระไดก็ไม่ต้องออกไปหากินไกลเกินหน้าบ้านตัวเองอีกเลย

02

ถึงมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แต่กลับเลี้ยงชีพไม่ได้

แม้ความสำเร็จในแง่ของการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง แต่กลับไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องของชาวประมงหมู่บ้านคั่นกระไดได้ 

ถึงจับปลาได้มากขึ้นแค่ไหน แต่ปัญหาราคารับซื้อสัตว์ทะเลที่ไม่เป็นธรรมจากแพปลาที่ผูกขาดการซื้อขายในพื้นที่ยังคงอยู่เช่นเดิม

“ชาวประมงไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาเองได้ เพราะมีระบบเดิมที่ราคาขึ้นอยู่กับเถ้าแก่ของแพรับซื้อให้ ตอนนั้นปลาทูเยอะ เขารับซื้อกันที่ 20 – 25 บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาในตลาดอยู่ที่ 80 – 120 บาทต่อกิโลกรัม เราคิดว่าช่องว่างราคาตรงนี้เยอะเกินไป ชาวประมงบอกว่าถ้าเขาจัดการเรื่องนี้ต่อจากการอนุรักษ์ได้ก็จะครบวงจร ความเป็นอยู่ของเขาจะดีขึ้นได้จริง”

Fisherfolk

ในขณะที่ระบบพ่อค้าคนกลางที่ค้าขายแบบผูกขาด ส่งผลให้อาหารทะเลมีราคาสูงขึ้น แต่คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ากลับไม่ได้สูงไปตามราคา ผู้บริโภคปลายทางไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับอาหารทะเลสดใหม่ ไร้สารปนเปื้อน

สมาคมรักษ์ทะเลไทยและสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้าน แห่งประเทศไทย จึงร่วมกันขบคิดหาทางออกที่จะแก้ปัญหาทั้งสองด้านนี้ให้ได้ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ชาวประมงขายสัตว์น้ำได้ในราคาที่เป็นธรรม ส่วนผู้บริโภคก็ได้รับอาหารทะเลที่สะอาดปลอดภัย เป็นคำถามที่สุดท้ายตอบโจทย์ได้ว่า ต้องตั้งร้านค้าที่มีกติกาพิเศษกว่าใครขึ้นมาเอง 

“สิ่งที่เราทำไม่ใช่แค่เรื่องขายของ ต้องโยงกลับไปให้เห็นถึงความยั่งยืนของทรัพยากรด้วย การซื้อขายอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน ชาวประมงได้รับราคาที่เป็นธรรม และคนเมืองได้กินอาหารทะเลที่สด ปลอดภัย เวลากินก็นึกถึงที่มาของอาหารทะเล รู้ว่าชาวประมงช่วยดูแลทะเลอย่างไร มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรทะเลอย่างไร ร้านคนจับปลาตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้” 

พี่ตุ๊กเกริ่นถึงเจตนารมณ์ที่ NGO คิดก้าวกระโดดมาทำการค้าเพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน

ร้านคนจับปลาจึงเกิดขึ้นในปี 2557 ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นที่แรก โดยพี่ตุ๊กอาสารับหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านควบคู่ไปกับงานพัฒนา

04

สารพันมรสุมที่เรือเล็กต้องฟันฝ่า

ปัจจุบันร้านคนจับปลามีหน้าร้าน 4 พื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง และมีศูนย์กลางกระจายสินค้าในกรุงเทพฯ ที่ย้ายมาอยู่แถวลาดพร้าว แต่หากตัดภาพมาถึงรายละเอียดในระหว่างเส้นทาง 5 ปีของร้านคนจับปลา เรือเล็กลำนี้ต้องผ่านมรสุมหลายลูก  

พี่ตุ๊กเล่าถึงการล้มลุกคลุกคลานในการสร้างธุรกิจร่วมไปกับชาวบ้านให้ฟัง เริ่มจากประเด็นที่คิดว่าเธอน่าจะกลัวที่สุดคือ การตั้งราคา เพราะเวลานั้นทุกคนไม่มีความรู้แม้กระทั่งการคิดราคาต้นทุน โชคดีที่มีพี่เลี้ยงจากวงการธุรกิจเข้ามาช่วยเหลือ โดยมีองค์การอ็อกแฟมเป็นตัวกลางในการหาโค้ชและพี่เลี้ยงที่เชี่ยวชาญมาแนะนำดูแล

“เราไม่เคยทำธุรกิจ เลยไม่รู้ว่าการคิดต้นทุน กำไร คิดอย่างไร คิดไม่เป็น ตั้งราคาไม่ถูก เราไม่กล้าบวกทุกอย่างเข้าไปในตัวปลา เรากลัวว่าราคาจะแพง เราไม่กล้าขายของแพงเพราะรู้สึกว่ามันผิด คนยากจนจะกินได้ยังไง มีคำถามมากมายประดังเข้ามา จนได้เข้ามาเทรนด์กับโค้ชและเมนเทอร์ด้านธุรกิจ เขาบอกว่าเราเป็นธุรกิจเพื่อสังคมนะ ตอนนั้นเรายังไม่รู้เลยว่าธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร

“เราต้องเรียนรู้ใหม่ จนสุดท้ายคุยกันจนตกผลึกว่า สินค้าร้านคนจับปลาเป็นสินค้าพรีเมียม เราจัดการอย่างดี เราควรขายราคาระดับนี้ที่เทียบกับห้างสรรพสินค้าหรือตลาด อ.ต.ก. ดูแล้วว่าไม่ต่างกัน”

เมื่อชัดเจนว่าต้องเข้าบุกตลาดพรีเมียมจึงต้องคัดสินค้าคุณภาพเยี่ยม ควบคู่ไปกับการตอบแทนราคาที่สมน้ำสมเนื้อให้กับชาวประมง รากลึกความสัมพันธ์ที่เริ่มจากการทำงานด้านพัฒนาที่อยู่กันอย่างพ่อแม่พี่น้อง นักพัฒนาที่ต้องรับหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านขายปลาจึงกลายเป็นปัญหาที่นำไปสู่ภาระใหญ่ในทางธุรกิจอย่างไม่ตั้งใจ

Fisherfolk
Fisherfolk

“ช่วงแรกเมื่อมีการส่งสินค้ามาแล้วสินค้าไม่ดี เราก็ไม่ตีกลับ เพราะไม่กล้าทำอะไรแบบนั้น จึงต้องแบกรับภาระเอาไว้ แต่หลังๆ ไม่ไหว นานไปมันกลายเป็นภาระที่หนักมาก จึงแก้ปัญหาด้วยการเขียนมาตรฐานและทำการตรวจสอบคุณภาพ เลือกแต่ตัวที่ได้คุณภาพเท่านั้น โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ใจแข็งกว่าพี่เป็นคนดูแลตั้งแต่ต้นทาง” พี่ตุ๊กเล่าพลางหัวเราะ

“ส่วนราคารับซื้อ ในช่วงแรกเราให้มากกว่าแพปลาปกติถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจารย์ที่เป็นพี่เลี้ยงบอกว่าสูงมากเกินไป ต่อไปพี่ตุ๊กไปไม่ไหวแน่ เราก็ต้องถอยกลับมาอยู่ที่ 5 – 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ชนิดสินค้า”

การขายอาหารทะเลให้กับลูกค้าในเมืองมีความแตกต่างจากการขายในพื้นที่ โดยเฉพาะปริมาณสินค้าต่อแพ็ก การที่ไปขายในเลมอนฟาร์มจึงได้เรียนรู้ว่า คนกรุงเทพฯ ไม่ได้ซื้อกุ้ง ซื้อปลากันครั้งละเป็นกิโลกรัม

“เมื่อก่อนเราขายปลาแพ็กละ 1 กิโลกรัม กุ้ง 1 กิโลกรัม ซึ่งไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง คนกรุงเทพฯ เขาซื้อปลาทูกัน 2 ตัว กุ้ง 1 กิโลกรัม 1,000 บาทเยอะไปสำหรับเขา พอเราได้มาขายกับเลมอนฟาร์มที่เชี่ยวชาญตลาดในกรุงเทพฯ เขาขอให้แพ็กแต่ละอย่างไม่เกิน 3 ขีด เราก็พยายามปรับสินค้าทุกอย่างให้เป็นไปตามวิถีชีวิตคนเมือง”

Fisherfolk

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจิปาถะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการจัดจ้างในพื้นที่ การทำระบบบัญชี แต่ที่แต่ยากและซับซ้อนที่สุดน่าจะเป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครมาก่อน 

“เราพยายามทำให้ร้านคนจับปลาไม่ใช่ร้านของคนใดคนหนึ่ง เป็นร้านขององค์กรชาวบ้าน โดยมีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเป็นผู้ดูแลจัดการเรื่องกระบวนการ ส่วนร้านในแต่ละพื้นที่เป็นร้านย่อย ไม่ใช่สาขา ร้านเหล่านั้นต้องมีเอกภาพในการบริหารตัวเอง แต่เชื่อมต่อกันด้วยระบบธุรกิจภายใต้หลักการเดียวกัน แม้กรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลาง ตรงนี้จึงยากกว่าธุรกิจเพื่อสังคมทั่วไปที่มีเจ้าของคนเดียว แต่ถึงตอนนี้เราอยู่ในกระบวนการยื่นจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว”

05

GREEN – CLEAN – FAIR คือหัวใจของคนจับปลา

เมื่อมีความชัดเจนในหลักการควบคู่กับการเรียนรู้และดำเนินธุรกิจ ร้านคนหาปลาจึงชูคอนเซปต์ด้วย 3 คำจำง่าย แต่มีความหมายครอบคลุมชัดเจน นั่นคือ GREEN-CLEAN-FAIR

เริ่มต้นจาก GREEN คือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยชาวประมงที่จะขายของให้กับร้านคนจับปลาต้องลงหุ้นเป็นสมาชิก และพวกเขาต้องทำตามกติกา นั่นคือ จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือที่เหมาะสมและถูกกฎหมาย ไม่ทำลายทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อน และสิ่งแวดล้อม นับเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลไปในตัว

CLEAN คือการเน้นเรื่องความสะอาด ปลอดภัย ไร้สารเคมี ที่ผู้บริโภคไว้วางใจได้ เพราะร้านคนจับปลาวางแผนและออกแบบกระบวนการผลิตให้สั้นที่สุด เพื่อคงคุณภาพความสดใหม่ของอาหารทะเลไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งพี่ตุ๊กเล่ากระบวนการสำคัญตรงนี้ให้ฟัง ตั้งแต่ชาวประมงออกหาปลา จนส่งตรงมาถึงผู้บริโภค อย่างเป็นขั้นตอน

เริ่มจากชาวประมงออกทะเลแบบเช้าไปเย็นกลับ หรือออกเรือเพียงระยะข้ามคืน เพราะเป็นเรือเล็กที่ใช้เครื่องมือทำประมงที่เหมาะสม สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ นำน้ำแข็งลงเรือเพื่อแช่รักษาความสดใหม่ได้ทันที

ชาวประมง
  • เมื่อเข้าฝั่ง ชาวประมงนำสัตว์น้ำที่จับได้มาส่งที่ร้านคนจับปลาของพื้นที่ตัวเอง เพื่อคัดเลือกตามมาตรฐาน ก่อนส่งให้ทีมเตรียมอาหารซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง ได้ทำความสะอาด และตัดแต่งให้เรียบร้อย โดยปราศจากสารเคมีปนเปื้อนทุกขั้นตอน
Fisherfolk
  • จากนั้นจัดเก็บอาหารทะเลแบบสุญญากาศและแช่แข็งทันที โดยใช้เวลาน้อยที่สุด เพื่อรักษาคุณภาพและความสด
Fisherfolk

  • ร้านคนจับปลาในพื้นที่แบ่งปลาไว้ขายที่หน้าร้านตัวเอง พร้อมกับเตรียมสินค้าสำหรับรอรับออร์เดอร์จากส่วนกลาง เพื่อจัดส่งเข้าร้านคนจับปลาที่เป็นศูนย์กลางในกรุงเทพฯ
  • ปัจจุบันมีรถขนส่งแบบห้องเย็นไปรับสินค้าถึงหน้าร้านทั้ง 4 จังหวัด และจัดส่งเข้ากรุงเทพฯ เพื่อนำสินค้ามาไว้ที่ร้านศูนย์กลาง
  • ร้านศูนย์กลางในกรุงเทพฯ จัดส่งสินค้าสู่เลมอนฟาร์มด้วยรถขนส่งแบบห้องเย็น และขายสินค้าผ่านไลน์แอดพร้อมส่งให้แก่คนเมือง หรือบางครั้งจะมีออร์เดอร์สินค้าสดส่งให้แก่ร้านอาหารที่สั่งซื้อพิเศษ

ส่วนหัวใจสำคัญสุดท้ายคือ FAIR หรือการสร้างความเป็นธรรมตลอดเส้นทางของอาหารทะเล ร้านคนจับปลาเป็นเจ้าของโดยสมาชิกชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นผู้ถือหุ้นของร้าน โดยรับซื้อสัตว์น้ำจากชาวประมงที่เป็นสมาชิกในราคาสูงกว่าแพปลาทั่วไป 5 – 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วแต่ชนิดของสัตว์น้ำ 

นอกจากนี้ รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งจะแบ่งปันไปใช้ในกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเล ดังนั้น ผู้บริโภคที่อุดหนุนสินค้าจึงมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาท้องทะเลไปกับสมาชิกชาวประมงในเครือข่ายของร้านด้วย

06

มาตรฐานอาหารทะเลที่ไม่หวง และอยากให้ชาวประมงทุกคนได้ใช้

หากถึงตรงนี้แล้วสงสัยว่าร้านคนจับปลามีมาตรฐานในขั้นตอนการผลิตสินค้าอย่างไร พี่ตุ๊กจึงเล่าถึงมาตรฐาน Blue Brand Standard หรือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชาวประมงพื้นบ้าน ให้ฟัง แนวคิดการสร้างมาตรฐานเกิดขึ้นก่อนร้านคนจับปลาเสียอีก แต่กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างก็เมื่อมีร้านได้สักพักแล้ว โดยสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยและกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้ช่วยกันสร้างกระบวนการรับรองมาตรฐานสินค้าที่มีกลไกตรวจสอบชัดเจน 

มาตรฐานนี้ไม่เพียงเป็นตราสัญลักษณ์ที่การันตีอาหารทะเลสด สะอาด สำหรับผู้บริโภคเท่านั้น หากยังเป็นการรับประกันถึงความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเล ซึ่งหมายถึงความมั่นคงทางอาหารที่จะดำรงอยู่ถึงคนรุ่นต่อไปด้วย

“เราไม่ได้สร้างมาตรฐานนี้เพื่อร้านของเราเท่านั้น แต่เป็นงานพัฒนาที่เราอยากให้ชาวประมงพื้นบ้านคนอื่นมาใช้ด้วย” พี่ตุ๊กเล่าว่า การสร้าง Blue Brand Standard ให้เป็นรูปธรรม นับเป็นงานพัฒนาที่มุ่งส่งเสริมให้เป็นเครื่องมือของชาวประมงพื้นบ้านในการผลิตอาหารทะเลที่ปลอดภัย ซึ่งผ่านกระบวนการที่ละเอียดรอบคอบเป็นเวลาหลายปี

“มาตรฐานนี้เขียนโดยใช้หลักสากล และมี FairAgora ที่เชี่ยวชาญด้านการเขียนมาตรฐานมาดูแลให้ เราใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ลงรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านหลายพื้นที่ จากนั้นนำมาปรับเป็นภาษามาตรฐาน แล้วนำกลับไปคุยกับชาวบ้านใหม่ ดูว่าตรงไหนใช้ได้หรือไม่ได้ ขัดกับวิถีของเขาไหม จากนั้นก็นำมาปรับกันอีกรอบ ก่อนที่จะเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและองค์กรภาครัฐมาช่วยดู จากนั้นเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบสุดท้าย ก่อนประกาศใช้”

ด้วยความตั้งใจที่อยากผลักดันมาตรฐานนี้ให้ใช้กันทั่วไป พี่ตุ๊กเล่าว่าได้นำไปเสนอต่อกรมประมงมาสักระยะแล้ว และเมื่อไม่นานนี้ได้รับการตอบรับ และมีการจัดสัมมนาร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไปในอนาคต

“เราลงทุนกับการสร้างมาตรฐานนี้ไปเยอะและคิดว่าเป็นประโยชน์ เพราะเป็นกระบวนการที่ดูแลตั้งแต่ในเรือจนถึงเชลฟ์สินค้า ไม่จำเป็นต้องเป็นชาวประมงของร้านคนจับปลาก็ใช้ได้ สมมติลุงแดงอยากทำอาหารทะเลปลอดภัย ใช้ชื่อแบรนด์ลุงแดงเองได้ โดยใช้มาตรฐานนี้รับรอง เรามีเช็กลิสต์ให้ มีการจัดสอบใบอนุญาตสำหรับผู้ตรวจมาตรฐาน มีการจัดอบรมทั้งตัวชาวประมงและคนทำงานในร้าน งานนี้ถือเป็นงานพัฒนาที่อยากส่งเสริมให้เป็นเครื่องมือของชาวประมงพื้นบ้านเพื่อการผลิตอาหารปลอดภัย เพราะรู้สึกว่ามาตรฐานนี้จะยั่งยืนกว่าร้านคนจับปลา”

07

อยากให้เรื่องราวประมงพื้นบ้านอยู่ในใจคนเมือง

ที่ผ่านมา ผู้บริโภคในเมืองใหญ่อาจไม่ได้รับรู้เรื่องราวของชาวประมงผ่านข่าวการเรียกร้อง ม็อบ หรือการประท้วงต่างๆ ที่ฟังผ่านไป ไม่ได้เข้าใจความเป็นมาเป็นไปมากนัก ถึงตรงนี้ร้านคนจับปลาจึงอยากเป็นตัวแทนในการสื่อสารด้วยวิธีสมัยใหม่ โดยมีปลาเป็นสื่อกลางในการบอกเล่าเรื่องราวประมงพื้นบ้านให้ออกสู่สังคมในวงกว้าง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อไป

 “เมื่อก่อนเราอาจเข้ามาม็อบบ้าง เรียกร้องในกรุงเทพฯ บ้าง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เราก็อยากจะสื่อสารให้คนกินเข้าใจ เพราะผู้บริโภคมีส่วนอย่างมากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตลาด และคนในกรุงเทพฯ มีสิทธิ์มีเสียงในสังคมใหญ่ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ การที่จะให้เขาเข้าใจเรื่องประมงพื้นบ้าน มีทางเดียวคือ ต้องได้คุยกับเขา ซึ่งเราใช้ปลาเป็นสื่อ ให้คน 2 กลุ่มได้มาเจอกัน” 

เมื่อคนจับปลาและคนกินปลาได้ทำความรู้จักกัน เธอเชื่อว่าจะเกิดความผูกพันมากกว่าผู้ผลิตและผู้บริโภคทั่วไป

ชาวประมง

 “เมื่อเขารู้จักและเข้าใจกันแล้ว เชื่อว่าชาวประมงจะนึกถึงและตระหนักถึงคนกินมากขึ้น เหมือนกับว่าเขากำลังทำอาหารดีๆ ให้เพื่อน พี่น้องที่รู้จักได้กิน สำหรับคนกิน แม้ราคาสูงไปนิด แต่เขารู้ที่มาของปลาตัวนี้ว่าใครเป็นคนจับ มีความลำบากยังไง เขาดูแลสิ่งนี้เพื่อเรายังไง และเงินที่ได้จะย้อนกลับไปหาใครบ้าง อยากให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า การซื้อปลาจากเราเป็นทั้งการลงทุนเรื่องสุขภาพตัวเอง และลงทุนเรื่องสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับการเกื้อกูลชาวประมง”

แล้วที่ผ่านมาเป็นอย่างที่คิดไหม เราถามเพราะได้ยินว่าพี่ตุ๊กพาชาวประมงจากจังหวัดต่างๆ มาออกร้านอยู่หลายหน เธอยิ้มแทนคำตอบ พร้อมเล่าว่าชาวประมงชอบมาขายของในงานที่กรุงเทพฯ เพราะอยากเล่าให้คนซื้อฟังว่า เขาจับปลาแต่ละตัวอย่างไร ด้วยเครื่องมือแบบไหน 

“เมื่อก่อนเขาแทบไม่พูดคุยเลย แต่ตอนนี้พูดเก่งกันทุกคน เราไปเปลี่ยนเขาเหมือนกันนะ ถึงวันนี้เขาเข้าใจ เขาก็อยากทำเอง เรื่องการอนุรักษ์ก็เหมือนกัน มันกลายเป็นวิถีชีวิตของเขาแล้ว”

08

น่านน้ำใหญ่ที่ต้องไปให้ถึง

“เราต้องเป็นทางเลือกของอาหารทะเล ต้องมีส่วนแบ่งการขายในตลาดอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์” คือเป้าหมายของการทำธุรกิจที่ผู้จัดร้านคนเก่งบอกกับเรา

“อาจจะคิดใหญ่ แต่ก็เป็นเป้าหมายที่ตั้งกันไว้แต่ต้น ช่วงนี้ก็อาจมีขยับขยายได้อีก เริ่มคุยกับห้างสรรพสินค้า และพี่ที่ทำสายส่งรถห้องเย็นที่เพิ่งเข้ามาช่วยกันก็ชวนไปเปิดตลาดหัวเมืองอย่างเชียงใหม่ อุดรฯ ขอนแก่น ที่เขาวิ่งรถอยู่แล้ว มีชวนไปถึงเวียงจันทน์ด้วยนะ เราก็หาทางไป แต่ตอนนี้ทีมเราคนน้อย” เธอเล่าด้วยสายตาเปี่ยมความหวัง 

ในวันนี้ร้านคนจับปลาเข้าสู่ขวบปีที่ 5  สามารถอยู่ได้ด้วยรายได้จากการขายโดยไม่มีเงินสนับสนุนจากองค์กรใดมา 2 ปีกว่าแล้ว แต่ในทางธุรกิจบอกว่า ยังไม่อยู่ในสภาวะที่มั่นคง 

“จากที่ได้ไปพูดคุยกับพี่ๆ นักธุรกิจใหญ่ๆ เขาบอกกันว่าต้องทำสัก 8 ปี ถึงจะรู้ว่ามั่นคงไหม อยู่ได้หรือไม่ได้ พวกเมนเทอร์ที่เขามาช่วยเราก็บอกว่า ช่วงนี้เป็นจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อ แล้วร้านเราไม่ใหญ่ไม่เล็ก ถ้าไม่เร่งเปิดตลาดก็มีสิทธิ์จะไปต่อไม่ได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาร้านแบบนี้เกิดขึ้นเยอะแยะมากมาย เราต้องนำหน้าเขา 1 ก้าวให้ได้ สิ่งที่จะทำให้เราก้าวนำได้คือ เรื่องมาตรฐาน Blue Brand Standard ที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ชัดเจน”

ตลอดเส้นทางการทำธุรกิจที่พิเศษไม่เหมือนใคร หลายต่อหลายครั้งที่พี่ตุ๊กได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนเป้าหมายแรกในการจัดตั้งร้าน นั่นคือ การลดราคาซื้อสัตว์น้ำจากชาวประมง ที่วันนี้กลายเป็นต้นทุนที่หนักหนาในทางค้าขาย แต่เธอยืนยันว่า ไม่มีทางทำ

“ในทางธุรกิจ การขายสินค้าชิ้นหนึ่งควรได้กำไร 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ที่ผ่านมามีหลายคนบอกให้เราลดราคาซื้อจากชาวประมง เพราะตอนนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนอยู่ที่การรับซื้อ แต่เราไม่มีทางทำอย่างนั้น เพราะเป้าหมายของเราคืออยากให้เขาได้ราคาดี การลดราคาซื้อทำให้เสียหลักการ เสียเจตนารมณ์ เราไม่ทำ” พี่ตุ๊กย้ำหนักแน่น

“เราอยากแก้ปัญหาด้วยการทำการตลาดแทน เราเชื่อว่าถ้ามีตลาดแล้วขายได้มากขึ้น เราก็ทำกำไรได้ และเราพูดเสมอว่า เราไม่ใช่ธุรกิจปกติ เราให้ความสำคัญกับประโยชน์ของชาวประมงพื้นบ้านเป็นเป้าหมาย และยืนยันว่าเรายอมในเรื่องนี้ไม่ได้เช่นกัน” คำตอบย้ำชัดถึงความมุ่งมั่นของเธอ

09

ผลลัพธ์ที่มากกว่ากำไร

ขณะที่ร้านคนจับปลาพัฒนาและหาช่องทางขายของตัวเองไปไม่หยุด แพปลาซึ่งเป็นแหล่งขายดั้งเดิมของชาวประมงพื้นบ้านก็หันมาปรับตัวเช่นกัน 

“เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าแพปลาเป็นสิ่งเลวร้าย เราต้องไปทะเลาะกับเขา แต่ตอนนี้ไม่ใช่ พอมีช่องทางใหม่ แพปลาเองเขาก็เริ่มปรับตัว แทนที่จะรับเหมาไปทั้งปลาเน่า เขาก็ดูแลผลผลิตมากขึ้น เขาต้องการปลาที่สดแล้วเพิ่มราคาให้ชาวประมง ปลาที่ชาวประมงจับมาได้ คัดส่วนหนึ่งขายให้เรา แล้วเขาก็ไปขายแพปลาเหมือนเดิม” พี่ตุ๊กอธิบาย

“ในแง่ของการทำงานพัฒนา ถ้าช่องทางเดิมที่ชาวบ้านเคยขายเขาให้ราคาสูงขึ้น หันมาตื่นตัวในการดูแลสินค้าให้ดีขึ้น คนหันมาสนใจอาหารทะเลปลอดภัยมากขึ้น เราก็ดีใจ เพราะคนได้ประโยชน์คือ ชาวบ้านและคนกินอาหารทะเล”

ความเป็นธุรกิจเพื่อสังคมน้องใหม่ที่น่าจับตา ร้านคนจับปลาจึงยังได้รับความสนใจในวงการธุรกิจ SME และยังคงมีคนมากมายอยากยื่นมือเข้ามาช่วยอยู่เสมอ 

“เราโชคดีมากที่มีคนหลายส่วนอยากมาช่วย เหมือนเป็นเรื่องใหม่ที่มีคนอยากพิสูจน์ไปกับเราเยอะว่าจะเป็นไปได้ไหม จะเดินต่อไปยังไง มีคนถามว่าอยากได้เงินสนับสนุนไหม เราไม่ได้อยากได้นะ เราอยากได้ตลาดมากกว่า เราเชื่อว่าถ้ามีตลาดเราจะขายของได้ เรามียอดขาย มีกำไร เราจะอยู่ได้และทำให้ร้านยั่งยืน นี่คือสิ่งที่เราหวัง”

ครอบครัวคนจับปลาใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนวันนี้มีชาวบ้าน 400 ครอบครัว ซึ่งเป็นเจ้าของเรือประมงเล็กกว่า 400 ลำในน่านน้ำทะเลไทยเป็นเจ้าของร่วมในธุรกิจ ร้านค้าแห่งนี้จึงกลายเป็นความหวังและศูนย์รวมใจของชาวบ้านที่จะจับมือกันหาเลี้ยงตัวเองและดูแลทะเลต่อไป

“เรารู้สึกว่าเขามีความเป็นเจ้าของ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาเรียนรู้ไปด้วยกันกับเรา เขาอยากให้ร้านเติบโต เพราะรู้ว่านี่คือช่องทางทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และเป็นช่องทางที่ทำให้เขาดูแลทะเลได้ มาถึงวันนี้เขาตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์กันมาก และเขาก็รักร้านของเขามากเช่นกัน มาถึงวันนี้เรารู้สึกว่า ถึงร้านคนจับปลาจะไปต่อได้หรือไม่ได้ จะมีเราหรือไม่มีเราต่อไป ชาวบ้านก็ทำกันต่อไปได้แล้ว”

สำหรับพี่ตุ๊กซึ่งเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงที่ก่อร่างร้านคนจับปลามาแต่ต้น เรียกว่าร้านคนจับปลาเป็นเหมือนกับลูกแท้ๆ ที่มีพัฒนาการที่น่าชื่นใจ

“เราทุ่มเทกับงานนี้มาก เรียกว่าทุ่มลงไปทั้งชีวิต แต่สิ่งที่เห็นคือความภูมิใจที่ร้านคนจับปลามาได้ถึงวันนี้ ซึ่งพิสูจน์ได้หลายอย่าง พิสูจน์ได้ว่าชาวประมงหรือชาวบ้านทำธุรกิจได้ NGO ก็ทำธุรกิจได้ นี่คือโมเดลใหม่ของธุรกิจเพื่อสังคมที่เราได้สร้างไว้ ตอนนี้ระบบก็เริ่มลงตัวและเริ่มเดินไปตามจังหวะของมันได้ ถ้าเป็นเด็กก็คงอยู่ในวัยที่เดินไปโรงเรียนเองได้แล้ว” เธอยิ้ม

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ภารกิจของร้านคนจับปลา หรือ Fisherfolk ผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 14 Life Below Water ทั้งในแง่ผู้ผลิต ชาวประมงจับปลาด้วยความเข้าใจ รู้ว่าจะทำการประมงไปพร้อมกับการอนุรักษ์ท้องทะเลได้อย่างไร ในขณะเดียวกันผู้บริโภคที่อยู่ในเมืองอย่างพวกเรา ก็ได้รับรู้เรื่องราวของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ตัดขาดจากสิ่งแวดล้อมอย่างที่เป็นมาผ่านอาหารทะเลสดใหม่ คุณภาพดี

ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ใกล้ท้องทะเลอย่างชาวประมง หรือคนที่อยู่ไกลทะเลอย่างพวกเรา ทุกการกระทำต่างก็ส่งผลต่อธรรมชาติทั้งนั้น เมื่อทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) รู้ว่าตัวเองมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างไร และพยายามใช้ชีวิตให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เมื่อนั้นท้องทะเลก็จะกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนอีกครั้ง

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ