มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ร้องไห้แล้วมีน้ำตา

พระพุทธเจ้า พระเยซู พระมูฮัมหมัด ต่างก็น่าจะเคยร้องไห้

มิเช่นนั้นโลกเราคงไม่ถือกำเนิดศาสนา

เขาเองตกอยู่ในความเครียดมาหลายวัน จนเมื่อแบบทดสอบที่เขาหวาดหวั่น แต่ก็รวบรวมความกล้าไปเผชิญ จบลงด้วยความพ่ายแพ้อีกครั้ง น้ำตามันก็ไหลออกมาเอง ไม่ได้ไหลทันที แต่ไหลตอนที่เขาไม่ทันตั้งตัว มันไหลหลังจากที่เขายิ้มสู้วันใหม่มาแล้วหลายวัน

คนเราร้องไห้ด้วยสาเหตุอะไร

เด็กในตัวเราถูกรังแก คนแก่ในตัวเรากลัวหมดเวลา ?

เราร้องไห้ตอนเจ็บปวด เสียใจ น้อยใจ เห็นใจ สะเทือนใจ จำพราก สูญเสีย ถูกทอดทิ้ง ถูกหักหลัง ถูกปฏิเสธ อับจน หมดหวัง ไร้หนทาง อ่อนแอ ท้อแท้ ถูกบีบบังคับ ถูกกักขัง ถูกกดดัน แบกความเครียด แบกภาระ แบกชะตากรรมอันหนักอึ้ง แบกความฝัน ทิ้งความฝัน รู้สึกผิด รู้สึกด้อย อับอาย ถูกยิ้มเยาะ เหมือนคนนมพลุ้ยที่ถูกบังคับให้ขึ้นเวทีประกวดเพาะกาย 

เราร้องไห้เมื่อรู้สึกสมเพชตัวเอง รังเกียจตัวเอง น้อยเนื้อต่ำใจ ไร้ค่า ไร้ศักดิ์ศรี ไร้ที่พึ่ง โดดเดี่ยว คิดถึง โหยหา อาดูร อาวรณ์ อ้างว้าง บางครั้งเราก็ร้องไห้เพราะต้องการอ้อมกอดที่ไร้เงื่อนไขของใครสักคน และบางครั้งเราก็ร้องไห้เมื่อได้อยู่ในอ้อมกอดที่ไร้เงื่อนไขของใครสักคน 

เศร้าเราก็ร้อง ปีติเราก็ร้อง ซึ้งเราก็ร้อง เวลามีคนใจดีกับเราโดยไม่จำเป็นเราก็ร้อง เวลามีคนโหดร้ายกับเราโดยไม่จำเป็นเราก็ร้องอีก ตอนเกิดมาใหม่ๆ แค่หิวนมเราก็ร้องแล้ว ขี้เสร็จไม่มีใครล้างตูดให้เราก็ร้อง ขนาดไม่มีเรื่องอะไรให้ต้องร้อง เรายังสมมติเหตุการณ์ขึ้นมาร้อง แล้วเอาไปฉายเป็นหนังให้คนอื่นร้องตาม

มนุษย์นี่ขี้แยจริง 

จะมีสัตว์อะไรอีกไหมที่แสดงออกอารมณ์เยอะแยะซับซ้อนขนาดนี้

หรือคำถามที่อาจจะน่าสนใจกว่า สัตว์ที่ดูภายนอกไม่แสดงอารมณ์อะไรเลย จริงๆ แล้วข้างในเจ็บปวดเป็นหรือไม่

ถ้าเราเกิดมาเป็นปลา เวลาเราร้องไห้จะมีใครรู้ไหม น้ำตาเราคงกลืนไปกับน้ำ

การทดลองที่สรุปผลว่า ปลารู้สึกเจ็บ ซึมเศร้า และอกหัก ได้ไหม

แต่นั่นไม่ใช่ข้อจำกัดข้อเดียว ปลาเป็นสัตว์ที่หน้านิ่งมาก ยิ้มก็ไม่ได้ หยีตาก็ไม่ได้ ขมวดคิ้วก็ไม่ได้ ส่งเสียงกรีดร้องแบบหมาแบบแมวก็ไม่ได้ แล้วงี้เราจะอ่านความรู้สึกของมันได้อย่างไร

 จะว่าไป เคยมีนักวิทยาศาสตร์อยากรู้ให้ชัดๆ ไปเลยเหมือนกันว่า สัตว์อย่างปลารู้สึกเจ็บปวดทรมานเป็นหรือไม่ แน่นอน ถ้าเราเอาอะไรแหลมๆ ไปจิ้มมัน หรือเอามันขึ้นมาบนบก มันอาจจะดิ้นพรวดพราด หรือหายใจพะงาบๆ ซึ่งก็อาจจะสื่อถึงความทุกข์ทรมานบางอย่าง 

แต่เราจะแน่ใจได้ยังไงว่านั่นไม่ใช่แค่รีเฟล็กซ์ หรือการขยับของร่างกายโดยอัตโนมัติ

เพื่อจะสำรวจลึกถึงความรับรู้ในระดับ ‘จิต’ นักวิจัยทดลองเลี้ยงปลาเทราต์แล้วจับพวกมันวางยาสลบ โดยแบ่งชะตากรรมออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มแรกระหว่างที่สลบอยู่โดนเข็มจิ้มที่ริมฝีปากแล้วฉีดพิษผึ้งเข้าไป กลุ่มที่สองโดนเข็มจิ้มที่ปากเหมือนกัน แต่คราวนี้ฉีดกรดอะซีติกหรือน้ำส้มสายชู ซึ่งเป็นสารกระตุ้นความเจ็บแสบแบบร้อนคัน ขณะที่พิษผึ้งน่าจะกระตุ้นความเจ็บแบบปวดระบม ต่อมากลุ่มที่สามก็โดนเข็มจิ้มแต่ฉีดแค่น้ำเกลือเซลีน ซึ่งไม่ทำให้เจ็บปวดใดๆ และสุดท้ายกลุ่มที่สี่ ไม่โดนเข็มจิ้มเลยแต่แค่ถูกจับวางยาสลบเฉยๆ

ผลปรากฏว่าเมื่อเหล่าปลาเทราต์ถูกนำไปปล่อยกลับคืนแท็งก์ตัวเองแล้วรอให้ฟื้น กลุ่มที่โดนพิษผึ้งกับน้ำส้มสายชูตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการหายใจถี่ที่สูงกว่าปกติมาก ดูจากความเร็วในการกระพือเหงือกเพิ่มจาก 50 เป็น 90 ครั้งต่อนาที ในขณะที่กลุ่มควบคุมหรือกลุ่มสามกับสี่ก็ตื่นมาพร้อมกับอัตราหายใจที่ถี่ขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่สูงเท่ากับกลุ่มที่อยู่ภายใต้ความ ‘เจ็บปวด’ นอกจากนี้ การแสดงออกอีกอย่างก็คือไม่อยากอาหาร หลังพักฟื้นประมาณ 1 ชั่วโมง ปลาในกลุ่มควบคุมกลับมาสนใจกินอาหารตามปกติ แต่ปลาในกลุ่มเจ็บปวดยังคงหอบ และไม่ยอมสนใจอาหารไปอีกนานถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง 

ทั้งหมดนี้เป็นผลสังเกตเบื้องต้นว่า ปลามีพฤติกรรมบางอย่างที่อาจพอบ่งบอกได้ว่ามันกำลังเจ็บ แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ พฤติกรรมเหล่านั้นแทบจะหายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อปลาในกลุ่มเจ็บปากได้รับมอร์ฟีนเข้าไป ซึ่งแน่นอน ในมนุษย์มอร์ฟีนออกฤทธิ์เป็นยาระงับความเจ็บปวดที่ได้ผลชะงัดนัก

พูดอีกอย่าง ถ้าปลาแค่เครียดหรือแสดงออกแบบอัตโนมัติโดยไม่ได้ ‘รู้สึกเจ็บ’ มอร์ฟีนก็ไม่น่าจะมีผลอะไร

อีกการทดลอง ที่พยายามจะเจาะลึก ‘จิตวิทยาปลา’ แบบละเอียดอ่อนลงไปอีก ตั้งสมมติฐานจากข้อสังเกตว่า เวลาคนเราเจ็บ เรามักจะไม่มีสมาธิสนใจอะไรนอกเหนือจากพยายามอดทนผ่านความเจ็บปวดนั้นไปให้ได้ก่อน (นึกภาพเอาขาเตียงทับไข่ แล้วพยายามอ่านหนังสือไปด้วยในเวลาเดียวกัน) เพราะฉะนั้น ถ้าปลารู้สึกเจ็บได้เช่นเดียวกับคน ความเจ็บนั้นก็น่าจะไปดึงโหลดจากสมอง ส่วนที่เอาไว้ใช้เพ่งสติของมันเช่นกัน 

ตามปกติแล้วปลาเทราต์จะไม่ชอบเข้าใกล้ของแปลกใหม่ที่เพิ่งใส่ลงไปในแท็งก์ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมระแวงภัยตามธรรมชาติ นักวิจัยอาศัยพื้นฐานตรงนี้ทดลองหย่อนหอคอยเลโก้สีแดงสดลงไปในแท็งก์ของปลาที่ผ่านการฉีดน้ำส้มสายชูเข้าริมฝีปากมา แล้วเทียบพฤติกรรมตอบสนองกับปลาที่อยู่ในกลุ่มควบคุม ผลปรากฏว่า ปลาที่โดนน้ำส้มสายชูว่ายน้ำแบบไม่สนใจหลีกเลี่ยงหอคอยเลโก้เลย ขณะที่ปลาในกลุ่มควบคุมยังคอยรักษาระยะห่างหลีกเลี่ยงเลโก้ตลอด และแน่นอน เมื่อปลากลุ่มแสบปากได้รับมอร์ฟีนเข้าไปบรรเทา พฤติกรรมการเสียสมาธิก็หายไป ปลากลับมาสนใจสิ่งรอบตัวและว่ายน้ำเลี่ยงเลโก้ตามปกติ

ในการทดลองสุดท้าย มีการเลี้ยงปลาม้าลายในตู้ที่แบ่งออกเป็นหลายห้อง ซึ่งปกติแล้วน้องจะชอบอยู่ในห้องฝั่งที่มีพืชน้ำและวัตถุให้สำรวจเยอะๆ มากกว่าห้องที่โล่งโจ้งไม่มีอะไรเลย คำถามของงานวิจัยนี้คือ น้องจะยอมฝืนใจทำในสิ่งที่มันไม่ชอบเพื่อคลายความเจ็บปวดหรือไม่ ถ้าใช่ ก็แสดงว่าการรับรู้ความเจ็บปวดของปลามีความคล้ายคนอีกแล้ว

เช่นเคย น้องโดนฉีดน้ำส้มสายชูทำให้แสบ ซึ่งปรากฏว่าถ้าทำแค่นี้น้องก็จะเลือกอยู่แต่ห้องฝั่งที่มีต้นไม้เยอะๆ เหมือนเดิม แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีการละลายมอร์ฟีนลงไปในน้ำของห้องฝั่งที่โล่งๆ น้องที่โดนฉีดกรดจะเลือกมาอยู่ในห้องฝั่งโล่งนั้น ซึ่งปกติตัวเองไม่ชอบเลย ขณะที่น้องในกลุ่มควบคุมซึ่งโดนฉีดแค่น้ำเกลือ ยังคงเลือกอยู่ห้องฝั่งต้นไม้เยอะเหมือนเดิม แม้จะมีมอร์ฟีนมาล่อ

เปรียบเทียบกับสถานการณ์ขาเตียงทับไข่อีกครั้ง สมมติมีคนมาบอกว่าจะช่วยยกเตียงขึ้นให้หากเรายอมกินลูกอมรสชาติอุบาทว์ การที่เรารีบยอมทันทีแปลว่าเราเจ็บไข่มาก และอยากให้ความทรมานนั้นหยุดลงให้เร็วที่สุด แต่ถ้าเราไม่สนข้อเสนอนี้เลยก็แปลว่าเราไม่เจ็บ หรือไม่ลูกอมนั้นก็ต้องรสชาติอุบาทว์มากจริงๆ ผลการทดลองในปลาก็ตีความได้คล้ายๆ กัน

  ที่เล่ามา เป็นงานวิจัยที่เน้นสืบสวนว่า ‘จิต’ ของปลานั้น รับรู้ความ ‘เจ็บปวดทรมานกาย’ ได้หรือไม่ ดูเหมือนคำตอบก็จะชี้ไปในทางที่บอกว่าได้ ขณะเดียวกันก็มีคนพยายามศึกษาการรับรู้ความ ‘เจ็บปวดทรมานใจ’ ของปลาด้วย จนกระทั่งค้นพบว่าปลาก็มีอาการ ‘ซึมเศร้า’ ได้เหมือนกัน 

การทดลองที่สรุปผลว่า ปลารู้สึกเจ็บ ซึมเศร้า และอกหัก ได้ไหม

สำหรับปลา คำว่า ‘ดิ่ง’ ก็คือดิ่งจริงๆ ปลาที่ซึมเศร้ามักจะจมลงไปนอนอยู่ก้นตู้ แล้วไม่สนใจอาหารหรือสิ่งเร้าอะไรทั้งนั้น ขณะที่ปลาร่าเริงปกติจะคอยว่ายขึ้นลงสำรวจนู่นนี่นั่นอยู่ตลอด ในการทดลองที่น่าสนใจมากอันหนึ่ง นักวิจัยให้ตัวเมียของปลาหมอสีพันธุ์หนึ่งเลือกระหว่างตัวผู้สองตัว (กั้นกระจกซ้ายขวา ตัวเมียอยู่ตรงกลาง) ถ้าเป็นในธรรมชาติ เมื่อตัวเมียเลือกคู่แล้วก็จะไปอยู่กินกับตัวผู้ตัวนั้นเพื่อสร้างครอบครัวและช่วยกันเลี้ยงลูก ทั้งสองจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันไปอีกนาน เทียบกับคนก็เปรียบได้ดังการแต่งงานนั่นเอง แต่ในเซ็ตติ้งของงานวิจัยนี้ พอตัวเมียเลือกเสร็จ นักวิจัยจะแบ่งชะตากรรมตัวเมียออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่สมหวังได้ไปอยู่กับสามีที่ตัวเองเลือก กับอีกกลุ่มคือถูกบังคับให้ไปอยู่กับตัวผู้อีกตัวที่หล่อนไม่ได้เลือก

ผลที่ตามมาเป็นอย่างไร ก่อนเฉลยเราต้องแฟลชแบ็กไปดูก่อนว่า ตัวเมียเหล่านี้เคยผ่านการฝึกให้เล่นเกมจดจำสีของกล่องปริศนา กล่าวคือถ้านักวิจัยหย่อนกล่องที่มีฝาปิดสีขาวให้ แสดงว่ากล่องนั้นมีหนอนตัวอ้วนๆ อร่อยๆ รออยู่ข้างใน ซึ่งตัวเมียก็จดจำได้ และเรียนรู้ที่จะรีบว่ายเข้าไปหากล่องสีขาวและใช้ปากดุนฝาเอารางวัลในทันที 

ในทางตรงข้าม ถ้านักวิจัยหย่อนกล่องฝาสีดำให้ นั่นแปลว่าเป็นกล่องเปล่า ซึ่งตัวเมียเรียนรู้ที่จะไม่สนใจ ถ้าเห็นกล่องสีดำปุ๊บก็จะเมิน เพราะจำได้ว่าไม่มีรางวัล นี่คือสิ่งที่ปลาตัวเมียเหล่านี้ทำเป็นตั้งแต่ก่อนให้เลือกคู่ ทีนี้ตัดฉากกลับมาหลังเลือกคู่แล้ว พฤติกรรมต่อกล่องสีขาวและสีดำของตัวเมียทุกตัวยังคงเหมือนเดิม แต่คราวนี้สิ่งที่นักวิจัยทำเพิ่มก็คือหย่อนกล่องสีเทาลงไป 

กล่องสีเทาเป็นตัวแทนของกล่องที่ไม่รู้คำตอบ ผลปรากฏว่าพบความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างพฤติกรรมตัวเมียที่สมหวังในความรัก กับตัวเมียที่ต้องทนอยู่กับตัวผู้ที่ตัวเองไม่ชอบ โดยกลุ่มแรกจะรีบเข้าไปลองเปิดกล่องปริศนาสีเทาอย่างรวดเร็ว ขณะที่กลุ่มหลังไม่ค่อยสนใจกล่องสีเทา หรือถ้าสนก็ใช้เวลาลังเลอยู่นานมากกว่าจะเข้าไปลองเปิด 

นักวิจัยตีความผลการทดลองว่าปลาตัวเมียซึ่งอยู่ในความสัมพันธ์ที่สมหวังก็เหมือนกับคนที่แฮปปี้ เวลามีความท้าทายอะไรใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตก็มักจะมีมองบวก มองเห็นความเป็นไปได้แง่ดีมากกว่าแง่ลบ จึงกล้าและมั่นใจที่จะลองเผชิญสิ่งต่างๆ อย่างไม่คิดมาก ขณะที่ปลาตัวเมียซึ่งถูกบังคับให้อยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เลือก ก็เหมือนคนที่กำลังทนทุกข์ เศร้าหมอง มองโลกในแง่ลบ เห็นกล่องที่ไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใน ก็สรุปไปเลยว่าคงไม่มีอะไรดีๆ อยู่หรอก ไม่ต้องเสียเวลาไปเปิดหรอก เฮ่อ…ชีวิตมันไม่มีดีอะไร 

แน่นอน การทดลองต่างๆ ที่เล่ามายังไม่ถือว่าฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ช่วยแง้มให้เห็นความเป็นไปได้ที่สำคัญมาก

สรุปแล้ว หน้านิ่งไม่ได้แปลว่าเจ็บไม่เป็นนะ

ใต้น้ำนั่นน่าจะมีความเจ็บปวดอยู่มากมาย ที่ต่อให้ร้องไห้เท่าไหร่ก็ไม่มีใครรับรู้

ในขณะเดียวกัน เขาก้าวเดินลงทะเลไปเรื่อยๆ

ฝนตก ลมแรงพัดหยดน้ำปะทะใบหน้า เสียงคลื่นซัดเข้าหาหาดโครมๆ กลบเสียงสะอื้น

นี่เป็นที่ที่เขาปล่อยน้ำตาให้ไหลออกมาได้ โดยไม่ต้องกลัวใครจะรู้ว่าอ่อนแอ

อ้างอิงงานวิจัยเรื่องความรับรู้ของปลา

หนังสือ What a Fish Knows โดย Jonathan Balcombe

รายงานวิจัย Pair-bonding influences affective state in a monogamous fish species

ภาพ : unsplash.com

Writer

Avatar

แทนไท ประเสริฐกุล

นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาขาชีววิทยา ผู้เคยผ่านทั้งช่วงอ้วนและช่วงผอมของชีวิต ชอบเรียนรู้เรื่องราวสนุกๆ ที่แฝงอยู่ในธรรมชาติแล้วนำมาถ่ายทอดต่อ ไม่ว่าจะผ่านงานเขียน งานแปล และงานคุยในรายการพอดแคสต์ที่ชื่อว่า WiTcast