หากมีการบันทึกรายชื่อศิลปินที่แจ้งเกิดตั้งแต่งานชิ้นแรกปรากฏโฉม ชื่อของ ทรงศีล ทิวสมบุญ ย่อมถูกจดจารอยู่ในนั้น

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 ถั่วงอกและหัวไฟ หนังสือเล่มแรกของเขาสร้างปรากฏการณ์ให้คนไทยได้รู้จักคำว่า Graphic Novel หรือนิยายภาพ

ลายเส้นดิบและบรรยากาศมืดหม่นเป็นเอกลักษณ์บนหน้ากระดาษยังเป็นรสชาติใหม่ที่นักอ่านลองแล้วติดใจ ชนิดหนังสือพิมพ์ซ้ำแทบไม่ทัน

สิบกว่าปีผ่านไป ทรงศีลผลิตผลงานสู่สายตาผู้อ่านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 เล่ม ทั้งที่เป็นเล่มเดี่ยว และซีรีส์ เช่น Improvise  Nine Lives Once Upon Sometimes และ ฝุ่น กับ ฝนมรกต รวมถึงก้าวไปเป็นบรรณาธิการเล่มให้หนังสือรวมนิยายภาพอย่าง โรงละครเที่ยงคืน และ ACROSS

นิยายภาพไม่ใช่แค่งานอดิเรก แต่ทรงศีลเจาะจงวางมันในช่องงานหลักที่รักหนึ่งเดียวในชีวิต

นั่นย่อมหมายถึงประสบการณ์ บทเรียนเข้มข้นที่งอกเงยจากแต่ละลายเส้นและตัวอักษร

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ทรงศีลมีผลงานใหม่เป็นนิยายภาพสีชื่อ Nine Lives : The Broken Song

ก่อนหนังสือเล่มล่าสุดจะถึงมือเขา ฉันก้าวเข้าห้องทำงานของทรงศีล ชวนเขาสนทนาถึงเรื่องราวการเติบโตนับแต่หนังสือเล่มแรก

ทรงศีล ทิวสมบุญ

วรรณกรรมทันสมัย

หากพลิกสำรวจงานเขียนเรื่องแรกในชีวิตของทรงศีล จะพบคำว่า ‘วรรณกรรมทันสมัย’ ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ ตรงส่วนระบุหมวดหมู่หนังสือ เพราะคำว่านิยายภาพไม่ใช่สิ่งที่นักอ่านคุ้นเคย แม้แต่สำนักพิมพ์จึงลังเลว่าควรจัดประเภทงานนี้อย่างไร

แต่ที่น่าสนใจคือเมื่อฉันลองชวนทรงศีลเหลียวมองวันเวลานั้น ก็พบว่าสิ่งที่ชวนสับสนไม่แพ้หมวดหนังสือคือชีวิตผู้แต่ง

ทรงศีลย้อนเล่าว่าเขาในตอนนั้นเป็นบัณฑิตหนุ่มจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ฝันอยากเป็นนักดนตรี แต่เพิ่งพบสดๆ ร้อนๆ จากชีวิตจริงว่าไม่ได้อยากเป็นสิ่งที่ฝัน เมื่อชีวิตเรรวนกะทันหัน แถมการก้าวพ้นรั้วสถานศึกษายังหมายถึงการต้องพึ่งพาตัวเอง ชายหนุ่มจึงเลือกใช้สิ่งที่ถนัดนั่นคือทักษะการวาดให้เป็นประโยชน์

ทรงศีลเริ่มจากการวาดภาพประกอบให้นิตยสาร a day ก่อนได้รับโอกาสให้ออกหนังสือเล่มแรก

ถั่วงอกและหัวไฟ

ตอนนั้นเอง เขาจึงพบว่าไม่ใช่แค่การเล่นดนตรีที่ไม่เป็นอย่างที่เคยคิด

การทำหนังสือก็เช่นกัน

“เราไม่มีความรู้เรื่องการทำหนังสือเลยจริงๆ แล้วก็ไม่ได้มีใครเข้ามาประกบเราเพราะหนังสือเป็นแนวที่แปลก พอทำเสร็จก็โดนแก้ทั้งเล่มเพราะทำผิดขั้นตอน คืออัดตัวหนังสือรวมกับภาพจนแก้ไขคำผิดไม่ได้” ทรงศีลเล่าความทุลักทุเลของนักทำหนังสือมือใหม่

ไม่ใช่แค่นั้น กระทั่งเนื้อเรื่องที่ว่าด้วยการผจญภัยของ 2 ตัวละครเด็กเร่ร่อนซึ่งอยู่กับเขามาตั้งแต่มัธยมอย่าง ‘ถั่วงอก’ และ ‘หัวไฟ’ ก็ไม่ได้ไหลลื่นสู่หน้ากระดาษอย่างที่คาดไว้

“เราค้นพบว่าวาดเล่นกับวาดจริงไม่เหมือนกันเลย” ทรงศีลอธิบาย “บางคนวาดเล่นมาเรื่อยๆ แล้วคิดว่าต้องพร้อมแน่ๆ  เราจะบอกจากประสบการณ์ว่าไม่พร้อมเลย (หัวเราะ) คือพอจะเขียนจริง เราต้องเลือกนะ ต่อให้มีไอเดียมหาศาลแค่ไหนก็ต้องเลือกว่าจะเอายังไง เพราะเขียนออกไปแล้วตามกลับไปแก้ไม่ได้ ซึ่งตอนตัดสินใจนี่แหละที่ไม่ง่ายเหมือนที่เขียนเล่นมาตลอด”

หนังสือ

แต่ท่ามกลางความสับสนทั้งมวล นิยายภาพเล่มแรกในชีวิตเขาก็ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่าง ทีละหน้า ทีละหน้า

เพราะมีบางสิ่งในใจที่แจ่มกระจ่างเหลือเกิน

“ตอนที่เขียนเราไม่รู้ว่าตัวเองคิดหรือเชื่ออะไรอยู่ แต่เข้าใจว่าต้องการอะไร” ทรงศีลเอ่ยถึงนักวาดวัย 24 คนนั้น  “ไม่รู้ว่านี่คือความมั่นใจได้รึเปล่า เพราะเราไม่มีบุคลิกของคนมั่นใจนะ และมันไม่ใช่ความมั่นใจแบบที่โฆษณาพยายามทำให้วัยรุ่นยุคนี้เห็นว่า มั่นใจต้องทำหน้าตาแบบนี้ ต้องพูดแบบนี้ แต่เรารู้จริงๆ ว่าตัวเองต้องการอะไร ถึงบางทีจะหาคำอธิบายไม่ได้เลย แต่ข้างในรู้อยู่แล้วว่าจะเอาอะไร แล้วฝีมือมีแค่ไหนก็พยายามไล่ตามไปให้ดีที่สุด”

และเมื่อมองย้อนไป ทรงศีลก็ตระหนักถึงความจริงที่ศิลปินหลายคนเคยผ่านพบ

วรรณกรรมทันสมัยซึ่งเริ่มจากขนาดราว 100 หน้า ก่อนขยายเป็นราว 300 หน้าเรื่องนั้นคือผลงานที่ไม่อาจสร้างได้ในวันวัยอื่นของชีวิต

ทรงศีล ทิวสมบุญ

“ณ ตอนนั้นที่เราเป็นวัยรุ่น มันมีสิ่งที่ต้องการพูดออกมาดังๆ ซึ่งสิ่งนั้นก็มีความสดแบบที่ทำซ้ำไม่ได้แล้ว มันคือการใช้สัญชาตญาณมากกว่าความรู้ พอคนมาถามว่าทำแบบนั้นเพราะอะไร ไม่รู้ แค่รู้สึกว่า อันนี้ต้องแบบนี้ เราไม่ได้คิดถึงคนอ่านเลย แต่พยายามรวบรวมทุกอย่างที่คิดว่าสนุกที่สุดแล้วใส่เข้าไป”

แม้เต็มไปด้วยคำว่าครั้งแรกและความไม่สมบูรณ์แบบ หนังสือเล่มแรกจึงนับเป็นเดิมพันที่คุ้มค่า

“เราเคยคิด ณ ตอนนั้นว่า ทำแล้วถูกแก้มันแสดงถึงความไม่พร้อม เรายังรู้น้อยเกินกว่าจะทำหนังสือ ต้องไปเรียนไปอะไรอีกรึเปล่าวะ แต่บางทีถ้ารอให้ถึงวันที่พร้อม ความสดไม่อยู่แล้ว เราเลยรู้สึกว่าอะไรที่ปรารถนาจะทำจริงๆ ณ ช่วงเวลาหนึ่งก็พยายามทำบ้าง

“ไม่ต้องรอ เพราะมันอาจไม่มีวันนั้นจริงๆ”

หนังสือ

ทางแยกในสายหมอก

นิยายภาพสีขาวดำเรื่องนั้นปรากฏตัว และกลายเป็นปรากฏการณ์

ไม่ใช่เพียงแวดวงนักอ่าน แต่รวมถึงตัวทรงศีลที่ในตอนนั้นกำลังเรียนปริญญาโทเพราะคิดว่าต้องเป็นอาจารย์เพื่อเลี้ยงตัวเองให้ได้

หากคุณเคยอ่าน Nine Lives นิยายภาพของทรงศีลที่ดำเนินไปด้วยเหล่าแมว ตอนหนึ่งในนั้นกล่าวถึงการเผชิญหน้าของแมวตัวหนึ่งกับ ‘ทางแยกในสายหมอก’ ทางแยกลึกลับที่ยากจะเลือกได้ว่าควรไปทางไหน เพราะไม่รู้ว่าอะไรรออยู่ข้างหน้า

สิ่งที่ต้องทำคือ ‘ตอบใจ’ ตัวเองให้ชัดเจนเสียก่อน

“ตอนนั้นที่คิดคือชีวิตแบบไหน ชีวิตแบบไหนมากกว่าทำงานอะไร พอเห็นชีวิตที่เราจะต้องไปเป็นหลังเรียนจบ ไม่ใช่ว่ามันไม่ดีนะ แต่ว่าเราไม่มีความสุขแน่เลย เพราะฉะนั้น เขียนหนังสือไปดีกว่า ระหว่างวัน ระหว่างเดือน ระหว่างปี มันมีความสุข”  นักวาดตรงหน้าฉันย้อนเล่าถึงการใคร่ครวญและตัดสินใจ

Nine Lives

แล้วทรงศีลก็พบว่าทางสายที่เลือกมอบความเป็นอยู่ที่ดีให้เขาและครอบครัว ช่วยให้ทำงานที่รักต่อไปได้

ทางเส้นนั้นยังช่วยฉุดเขาขึ้นจากห้วงเวลาเลวร้าย ตัวอย่างดีที่สุดคือ Nine Lives ซึ่งถูกเขียนในช่วงเวลาที่ทรงศีลผิดหวังรุนแรงจากความรัก

“เรารอดมาได้ด้วยครอบครัวที่โอเคและการทำงานหนัก” ทรงศีลบอกฉัน “อยู่กับความจริงน่ะ ไม่ค่อยมีเวลาไปฟูมฟายเท่าไหร่ แล้วสิ่งที่เรียนรู้ก็คือช่วงที่เละมากๆ เรายังทำหนังสือที่ดีที่สุดคือ Nine Lives ออกมาได้ เพราะฉะนั้น คงไม่มีข้อแม้หรอกคนเรา เฮ้ย ชีวิตลำบากเขียนไม่ได้ มึงจะเขียนก็เขียนได้แหละ ยิ่งลำบากน่ะดี พลังงานทั้งนั้น  ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราทำงานได้ตลอด ไม่ได้ถือว่าอะไรจะเป็นข้ออ้างเท่าไหร่ แม้แต่ช่วงทำบ้านใหม่เพื่อแต่งงานหรือช่วงคุณแม่ป่วยหนักก่อนจะเสีย เราก็ทำงานไปด้วย เราบอกได้เลยว่าหนังสือเล่มไหนอยู่ในช่วงชีวิตไหน และคุณภาพมันไม่ต่างกันเลย”

Graphic novel

หนังสือ

ที่สำคัญ มากไปกว่าความช่วยเหลือชั่วครั้งคราว ทรงศีลค้นพบว่าการวาดคือสิ่งที่ช่วยฉุดรั้งให้เขายังใช้ชีวิตปกติอย่างปกติสุขได้

“ช่วงที่เราหยุดเขียน มานั่งอยู่ในรถแล้วไม่รู้จะไปไหน เราเคยพิมพ์คำว่า ‘ว่างเปล่า’ ในกูเกิล แล้วเชื่อหรือเปล่า แม่งมีคนคุยเรื่องนี้โคตรเยอะเลยในโลกนี้ รู้สึกว่างเปล่าทำยังไงดี เราก็รู้สึกว่าเหี้ยแล้ว ก็เริ่มมีสติขึ้น แล้วเคยถามเพื่อนด้วยนะว่าเป็นอย่างนี้ควรไปหาจิตแพทย์รึเปล่าวะ ถ้าป่วยแล้วไม่รู้ตัวจะไม่ดีรึเปล่าวะ เพื่อนก็บอกว่าไม่ต้องหรอก ซึ่งไม่ต้องจริงๆ แค่ทำงานนั่นแหละ สำหรับเรานะ ทำงานโดยที่ไม่จำเป็นว่าหนังสือต้องเสร็จออกมาแล้วถึงจะรู้สึกดีด้วย ไอ้ช่วงที่ทำน่ะมันจะดีขึ้น เหนื่อยหน่อยแต่ดีขึ้น คล้ายออกกำลังกาย ที่จริงวิ่งก็เหนื่อยมากใช่มั้ย แต่ก็รู้สึกสดชื่น บางทีเราก็รู้สึกว่าต้องเขียน ไม่งั้นจะป่วย”

ทางสายที่เลือกมอบอะไรให้ทรงศีลมากมาย แต่แน่นอน ย่อมมีสิ่งที่ต้องแลกไปเพื่อรักษารางวัลเหล่านี้ไว้

ถ้าเราดูแลงานได้ดี งานก็ดูแลเรา-ชีวิตที่ผ่านมาสอนเขาอย่างนั้น

หนังสือ

เบื้องหลังหนังสือคุณภาพเล่มแล้วเล่มเล่า จึงมีชายคนหนึ่งนั่งลงตั้งใจสร้างงานคุณภาพวันแล้ววันเล่า

“เราชอบดูวงดนตรีที่แก่หรือเลยจุดพีกไปแล้วว่าเขารู้สึกยังไง ใช้ชีวิตยังไงบ้าง Radiohead ยังเล่นเพลง Creep อยู่หรือเปล่า เพราะเรารู้สึกว่ามีช่วงปีที่รุ่งโรจน์อยู่จริงๆ แต่พอผ่านมาก็มีทั้งช่วงที่ง่ายและยาก งานไม่ได้ขายดีแบบนั้นตลอดหรอก แต่นั่นก็ทำให้เรามีวินัยขึ้น เหตุผลหนึ่งคือ เราอยากเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและดีขึ้นถ้าทำได้ อีกอย่างคือถ้าไม่เขียนก็ป่วยอยู่แล้ว จะไปมีคำถามทำไมว่าจะเขียนหรือไม่เขียน รู้อยู่แล้วว่าเขียนต้องเหนื่อย แต่ก็รู้อยู่แล้วว่าถ้าไม่ทำจะป่วย เพราะฉะนั้นเขียนเรื่อยๆ คงจะดีที่สุด เรารู้สึกว่ามีความสุขที่เป็นแบบนั้น

“อีกเรื่องที่เพิ่งเข้าใจคือ ตอนคิดจะเป็นนักเขียน มีบางแวบที่เราคิดว่าจะอยู่บนสรวงสวรรค์ ใส่ชุดคลุมลายหรูหรานั่งอยู่ในคฤหาสน์ เขียนอะไรวันละนิดหน่อย แล้วคนก็จะมารอคอยว่าเมื่อไหร่เราจะยอมขายรูปข้างหลังในราคารูปละ 20 ล้าน (หัวเราะ) แต่พอมาอยู่กับชีวิตจริงแล้ว เราเลยเข้าใจว่าการยืนระยะสำคัญ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่กับงานที่รักและสรวงสวรรค์ทุกวัน ถ้ารักจริงต้องทนส่วนที่ไม่ชอบให้ได้”

ทรงศีล ทิวสมบุญ

ขณะเดียวกัน ขวบปีที่ล่วงเลยก็ทำให้ทรงศีลค่อยๆ เรียนรู้ว่าการจะดูแลงานที่รักได้ดีต้องอาศัย ‘ความสมดุล’

“ตอนแรกที่มาอยู่บ้านหลังนี้ เราจะทำโต๊ะทำงานไว้สัก 3 ชุด แต่ละโต๊ะจะเขียนหนังสือ 1 เล่ม จะเขียนสัก 3 เรื่องไปพร้อมกัน แต่ทำไม่ไหว เหนื่อย แล้วก็มีช่วงหนึ่งที่อัดงานอย่างเดียว ร่างกายพังมาก ปวดหลังจนคิดว่าไม่น่าจะหายแล้ว รักษาอยู่นาน” เขาย้อนเล่าความบ้าระห่ำช่วงก่อนหน้า “ตอนนี้เลยรักษาสมดุลมากขึ้น แล้วก็พบว่าปริมาณงานมันไม่ได้ลดน้อยลงเสียหน่อย ในบางครั้งกลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ และที่จริงมันเป็นภาคบังคับของร่างกายเราด้วย เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะฉะนั้น มันบีบบังคับให้เราต้องคิดและเลือกมากขึ้น เอาทุกอย่างไม่ได้ ซึ่งพอเลือกแล้วก็สับสนน้อยลง พอสับสนน้อยลงก็มีความสุขขึ้น”

เมื่อเข้าใจเส้นทางที่เดินอยู่และยอมแลกเพื่อเดินต่อ เราจึงยังเห็นทรงศีลบนทางสายที่เลือก

ก้าวต่อจากทางแยกในสายหมอกหนาแห่งนั้น เรื่อยไปแต่ไม่หยุด

นิยายภาพ

Nine Lives : The Broken Song

จากหนังสือเล่มเล็กเล่มแรก เดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ทรงศีลประกาศว่าเขาจะมีผลงานเล่มใหม่

Nine Lives : The Broken Song เป็นนิยายภาพสีที่มีไซส์ใหญ่ยักษ์เกินหน้าเกินตาเล่มอื่น รวมถึงภาคแรกที่ห่างกันกว่า 10 ปี

หนังสือเล่มใหญ่เล่มล่าสุดของทรงศีลสะท้อนอีกบุคลิกหนึ่งของเขาชัดเจน นั่นคือการหนีจากตัวเองในงานชิ้นเก่า ทดลองสำรวจพรมแดนใหม่เสมอ

ไม่รู้สึกหรือว่าการออกจาก Comfort Zone ตลอดมันน่ากลัว-ฉันสงสัย

“ถามว่ากลัวมั้ยก็มีกลัวนะ แต่ก็นั่นแหละ วัยมันบังคับให้เราเลือก ถ้าเราตัดสินใจแล้วจะกลัวบ้างก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะถ้าไม่เจอกับเรื่องที่กลัวบ้าง บางทีจะทำอะไรไม่สำเร็จเอา” นักวาดตรงหน้าเอ่ยตอบ

ภาพประกอบ

และหากถามว่าอะไรทำให้เขาอยู่และฝ่าฝันความกลัวไปได้

คำตอบของทรงศีลคือ ‘ความปรารถนา’

“เรากลัวและกังวลอยู่บ่อยๆ แต่ความปรารถนาจะนำไป” เขาบอก “อย่างเล่มที่เพิ่งเขียน เราเขียนถึงตัวละครเดิมที่เคยเขียนเมื่อ 10 ปีก่อน แค่บรรทัดแรกขึ้นมา เราก็รู้สึกว่าอยากจะเห็นจริงๆ เหมือนไม่มีอะไรสำคัญกว่านี้แล้ว ณ เวลานี้  ถ้าไม่ได้ทำให้สำเร็จต้องคาใจมากๆ ในระดับที่คิดว่าคงทนไม่ได้ ซึ่งเรามักมีความรู้สึกอย่างนี้กับเรื่องต่างๆ ก็เลยข้ามผ่านความกลัวและกังวลในชีวิต ก่อนจะมีภรรยาก็มีเรื่องให้กลัวสารพัด เวลาที่เราตั้งใจจะอยู่กับใครสักคนจริงๆ ทุกอย่างน่ากลัวได้หมด แต่ถ้าเราอยากทำสิ่งนี้จริงๆ อยากเห็นวันคืนหลังจากนั้น อยากรู้ว่าหลังจากเจ้าหญิงเจ้าชายได้อยู่ด้วยกันแล้วเป็นยังไงต่อ ถึงกลัวก็ทนได้”

Nine Lives

อย่างไรก็ตาม การกระโดดออกจาก Comfort Zone ครั้งนี้ของทรงศีลยังมีรายจ่ายอื่น

นั่นคือการต้องลงแรงทำงานหนักที่สุดในชีวิต

“ตอนแรกรู้สึกว่าต้องเป็นการทำงานที่รื่นรมย์แน่ๆ เพราะเล่มก่อนหน้าของเราเป็นสีขาวดำและดาร์กมาก พอถึงเล่มนี้ เราก็รู้สึกว่าจะระบายสี ใช้ชีวิตอยู่กับสีสักพักเป็นการผ่อนคลาย ปรากฏ 6 เดือนนั้นหนักที่สุดเท่าที่เคยทำมาเลย (หัวเราะ) แต่ก็ทำให้เรียนรู้อีกขั้นหนึ่งว่า ตอนคิดถึงสิ่งที่น่าทำมันรื่นรมย์หมดแหละ แต่คนมหาศาลในโลกนี้ทำแล้วไม่สำเร็จเพราะไปทำจริงแล้วเหนื่อยมาก และคิดว่าไม่เห็นออกมาดีเท่าที่คิด สงสัยจะไม่รอด เราเองก็มีช่วงกลางเล่มที่รู้สึกว่า ระบายสีกากมาก เคยระบายได้แต่ไม่ได้จับมานาน ทำไมมันไม่ได้เรื่องขนาดนี้ พอนึกว่าเราเก่งแต่เราไม่เก่งเลย ตอนนั้นแหละที่เริ่มรู้สึกเหนื่อยจริงๆ

“ช่วงหลังเราเลยเข้าใจว่า ถ้าคิดจะทำอะไร อย่าไปทำเพราะคิดว่าจะสบาย พอมีโปรเจกต์ก็จะคิดว่า ในแง่ลำบากที่สุด เราโอเคกับมันหรือเปล่า ทุกอย่างกลายเป็นของยากได้เสมอนะ แต่จะไม่เป็นไรเลยถ้าอยากทำจริงๆ เดี๋ยวมันเสร็จจนได้แหละ”

ถ้วยกาแฟ

จากการสร้างงานล่วงเลยสู่เรื่องเนื้อใน แม้ไปพบเขาก่อน Nine Lives : The Broken Song เล่มจริงจะมาถึง แต่ฉันก็มีโอกาสได้อ่านงานของเขาในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลเป็นกรณีพิเศษ

นี่คือเรื่องรัก-ฉันเชื่ออย่างนั้น แต่ทรงศีลบอกว่าคนที่ได้อ่านบางคนก็ตีความไปถึงสิ่งอื่น

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่บทสนทนาของเราจบลง ฉันก็ได้ค้นพบว่ามี ‘ความรัก’ ปรากฏในนิยายภาพแสนงดงามเล่มนี้แน่นอน

เป็นความรักต่อบางสิ่งที่อยู่กับเขามาตั้งแต่ถั่วงอกและหัวไฟเพิ่งตั้งไข่ตราบจนวันนี้

โต๊ะทำงาน

“ตอนนี้เราคิดว่าเข้าใจความรักในแบบของตัวเองมากขึ้น รู้สึกแยกออกว่า อันนี้คือเรารักนะ  ซึ่งความรักแบบนั้นมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้” ผู้สร้าง Nine Lives : The Broken Song ค่อยๆ อธิบาย  “ตอนแรกเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าการวาดรูปสำคัญขนาดไหน เหมือนมีคนที่ควรรักอยู่ตลอด แต่เราไปทุ่มเทให้ดนตรี ฟูมฟายตอนวงแตก ซึ่งไม่จำเป็นเลย เมื่ออยู่กับสิ่งนี้มา 10 ปี เราถึงเรียนรู้ว่าสิ่งที่ไม่ค่อยได้นึกถึงเพราะอยู่กับมันจนชินช่วยชีวิตเราหมดเลยนะ โดยไม่มีข้อแม้มากมาย ช่วงที่ป่วยใจที่สุด ถ้าไม่ทำงานนี่ไม่รอด แล้วมันก็ช่วยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีด้วยนะ โอเค ไม่ได้หรูหราหรอก แต่เราก็มีความสุขกว่าการไปทำงานอื่นๆ จะมีสักกี่อย่างในชีวิตคนที่อยู่เคียงข้างขนาดนี้ อะไรจะพังมันก็ยังอยู่

“เราเริ่มเห็นสิ่งนี้จริงๆ แล้วก็เริ่มมองไปที่งานแล้วรู้สึกอีกแบบ จากเมื่อก่อนตอนวัยรุ่นรู้สึกว่า เฮ้ย นี่งานเรา อวดด้วยความภูมิใจปนคะนองหน่อยๆ เดี๋ยวนี้ความรู้สึกเปลี่ยนเป็นว่า นี่เพื่อนผมนะ อยู่กันมานาน เขาดีจริงนะ ลองดูเขาจริงๆ หน่อย อ่านจริงๆ หน่อยได้มั้ย และต่อให้วันหนึ่งเราเกิดตื่นมาแล้วคิดว่าจะเล่นหุ้น แล้วหลังจากนั้น 5 วันเล่นได้ 500 ล้านเลย เราก็ต้องเขียนอยู่ดีนะ

“รักจนเข้าใจแล้วว่าต้องเขียนอยู่ดี เพราะรู้ว่าจะป่วย รู้ว่าจะไม่มีความสุขเท่านี้” ทรงศีลจบประโยค กลางแสงแดดยามบ่ายแก่ที่สาดผ่านกระจกใสมายังห้องทำงาน

ห้องที่นักวาดคนหนึ่งคงมานั่งร่างภาพบนกระดาษในวันรุ่งขึ้น เฉกเช่นวันคืนที่ผ่านมา

ทรงศีล ทิวสมบุญ

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล