Little Thoughts เป็นใคร

ที่เราตั้งคำถามแบบนี้ไม่ใช่เพราะตั้งใจจะกวนคุณผู้อ่าน หรืออยากออกข้อสอบ คำถามปัญหาเชาว์ใดๆ แต่เพราะจนถึงตอนนี้ หนังสือความเรียงในหมวดสังคมและวัฒนธรรม หรือแม้แต่เรื่องโลกาภิวัตน์กว่า 10 เล่มที่ประทับตรา Little Thoughts บนปกหนังสือ ก็ยังไม่มีคำอธิบายหรือแม้แต่หน้าประวัติผู้เขียนแต่อย่างใด

แต่เธอมีตัวตนจริงๆ เราเชื่อแบบนั้น หรือจริงๆ แล้ว Little Thoughts คือกลุ่มคน?

เพราะถ้าจะมีใครที่สามารถหยิบเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ธุรกิจ กฎหมาย สถาปัตยกรรม สิ่งแวดล้อม เมือง วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภาพยนตร์ ดนตรี กีฬา ผู้คน มารวมอยู่ในหนังสือเล่มเดียวกันได้ พูดเรื่องที่เคยอยู่คนละเรื่อง ให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน หรือแม้แต่ไม่สรุปข้อสงสัยอย่างผู้รู้ดีแต่ชวนให้เราคุยกับตัวเองเพื่อสร้างคำถามข้อสงสัยในแบบเรา ผู้อยู่เบื้องหลังคนนั้นย่อมไม่ธรรมดา

กิรญา เล็กสมบูรณ์

Little Thoughts

เราเชื่อว่าแฟนหนังสือที่เคยอ่านงานของ Little Thoughts ก็คงคิดแบบเดียวกัน หลังจากที่อ่าน Cool Japan, เยอรมันซันเดย์, ความเป็นโลก x ความเป็นเรา, Dutchland แดนมหัศจรรย์ หรือ บาร์เซโลนากว้างมาก

เมื่อได้ข่าวว่าไตรมาสแรกของปีนี้เธอกำลังจะออกหนังสือใหม่ 2 เล่ม The Cloud ก็อยากคุยกับเธอจริงจังเป็นเรื่องเป็นราวสักที ทั้งเรื่องตัวตนของเธอ วิธีคิดนอกกรอบขนบประเพณีการทำสื่อสิ่งพิมพ์ เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเอง จนกลายเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่สำคัญในแผงหนังสือของประเทศเขตร้อนนี้

ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสาร ความรู้ฟรีๆ หลั่งไหลเป็นสายธาราเต็มหน้าฟีดโซเชียล (และที่คุณได้อ่านบทความนี้ ก็คงจะมาจากสายธาราที่ว่านั้น) การอ่านหนังสือสักเล่มกลายเป็นพิธีกรรมมีต้นทุน ทั้งๆ ที่ผลจากหนังสือนั้นเป็นต้นทุนชีวิตชั้นดี แต่ไม่เป็นไร ไม่ว่าคุณจะอ่านหนังสือเล่มล่าสุดเมื่อไหร่

คงจะดีไม่น้อย ถ้าเราได้ใช้เวลาจดจ่อกับสิ่งที่สนใจ ที่เราเลือกเอง ผ่านหนังสือความเรียงดีๆ สักเล่ม

Cool JapanCool Japan Vol. 1 (พ.ศ. 2555)

“คนถามเยอะว่าชื่อ Little Thoughts คืออะไร ชื่อคนเขียน ชื่อสำนักพิมพ์ หรือเป็นหนังสือต่างประเทศที่แปลมา ไม่มีใครรู้ แล้วเราเป็นคนประเภทจริงจังกับเรื่องเล่น ตอนทำหนังสือเล่มแรก ไม่ได้คิดว่าจะมีเล่มที่ 2 เล่มที่ 3 เลยคิดใช้นามแฝง ในที่สุดก็จับพลัดจับพลูใช้ชื่อนี้ต่อไป” Little Thoughts หรือ ก้อย-กิรญา เล็กสมบูรณ์ หัวเราะลั่นเมื่อเราถามที่มาของชื่อ และเบื้องหลังการทำตัวลึกลับของเธอ

“ช่วงที่ออกจากงาน เราไม่รู้จะทำอะไร สิ่งที่พอจะทำได้และชอบทำคือการเขียนหนังสือ แค่นี้เลย จุดเริ่มต้นมีเท่านี้จริงๆ” อดีตนักการเงินและบรรณาธิการนิตยสาร คิด Creative Thailand ในยุคแรกเริ่ม เล่าที่มางานเขียนความเรียงเล่มแรกของเธอ

Cool Japan Vol.1  “ความเจ๋ง” มวลรวมประชาชาติกับการเรียกคือความแข็งแกร่งของญี่ปุ่น คือชื่อเต็มๆ ของหนังสือเล่มนั้น

ก้อยเล่าว่า เวลาเธอจะเขียนหนังสือสักเล่ม เธอจะเริ่มจาก Statement หรือประโยคที่เธออยากพูด

“ช่วงที่ทำงานอยู่ที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือ TCDC เราได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้อ่านงานนโยบายของญี่ปุ่นมาบ้าง ตอนที่เขียนเรื่อง Hello Kitty หนังสือเล่มที่ 0 ก่อนจะพัฒนาต่อเป็น Cool Japan เราก็เลยจับเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์นี้มาวิเคราะห์ด้วย เล่ากระบวนการสนุกๆ ที่คิตตี้ทำร่วมกับแบรนด์ต่างๆ แล้วพัฒนาต่อโดยมีปลายทางที่อยากบอกและชวนตั้งคำถามว่าญี่ปุ่นจะไปทิศทางไหน

กิรญา เล็กสมบูรณ์

“เพราะภายใต้ความน่ารักสดใส ความเงียบสงบ หัวใจอบอุ่น แบบที่คนไทยชอบนั้นมีปัญหาอยู่ไม่น้อย ซึ่งเขาเองยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ และความเจ๋งที่เราเห็นจากญี่ปุ่นจะช่วยให้ญี่ปุ่นผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน” ก้อยเล่าถึงความตั้งใจเบื้องหลัง

ก้อยบอกว่าโดยพื้นฐาน เธอเป็นคนที่ไม่เชื่อการมองอะไรแยกส่วนกัน ถ้าจะเล่าเรื่องก็อยากจับมาอยู่ร่วมกันมากกว่า เราจึงได้เห็นหนังสือของเธอมีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ศิลปะ และวัฒนธรรม อยู่รวมเป็นเรื่องเดียวกันอย่างไม่มีใครเคอะเขิน

เป็นเป็ด

ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่อยู่ๆ ใครจะลุกขึ้นมาเล่าเรื่องอะไรก็ได้อย่างน่าสนใจ

และแม้เราจะย้ำถามซ้ำๆ ถึงวิธีการออกแบบเรื่องราว

ก้อยก็ตอบเราซ้ำๆ เช่นกันว่า เธอไม่ได้มีการออกแบบการเล่าเรียงเนื้อหา ทั้งหมดเป็นไปตามธรรมชาติ หลังจากที่เธอตั้งชุดความคิดและรู้ว่ากำลังจะเล่าเรื่องอะไร

“ความเป็ดของเราก็คือ พอเขียนถึงเรื่องนี้ก็จะนึกถึงหนังเรื่องนั้น วงดนตรีวงนี้” และอาจจะเป็นเพราะสิ่งนี้ก็ได้ ที่ทำให้งานของเธอเชื่อมโยงกับคนอ่านได้มากกว่าตำราวิชาการจริงจังศัพท์ใหญ่

“หนังสือในบ้านเราจะแบ่งชัดเจนระหว่างหนังสือสายแข็งที่เขียนโดยอาจารย์ ซึ่งเขาพูดเรื่องเดียวกับเรานี่แหละ แต่เราอาจจะรู้สึกอ่านไม่ไหว เราเป็นสายอ่อน เรารู้สึกอยากหยิบจับอะไรที่จับต้องได้ ที่เกี่ยวของหรือสนใจมันจริงๆ ถ้าให้เล่าแล้วคล่องปากแบบนั้น”

“ยิ่งเขียนหนังสือเรายิ่งพบว่าตัวเองชอบประวัติศาสตร์ ติดนิสัยว่าเวลาจะเขียนอะไรเรามักจะไปค้นหาประวัติศาสตร์และความเป็นมาของเรื่องราวนั้นๆ ว่าทำไมเขาถึงทำแบบนี้ จริงๆ ก็อาจจะไม่เกี่ยวเพราะเรื่องราวก็คงมีวิวัฒนาการณ์ในตัวเอง แต่เราก็รู้สึกว่าเวลาเล่าประวัติศาสตร์แล้วสนุก”

นั่นเป็นเหตุผลว่า นับวันทำไมหนังสือของเธอจึงพูดเรื่องวัฒนธรรม คน และเมือง ได้สนุกขึ้นเรื่อยๆ

กิรญา เล็กสมบูรณ์

ความเรียงประเภทนี้ไม่มีชื่อเล่น

แม้ดูเผินๆ ว่าข้อมูลในหนังสือของเธอจะสามารถหาอ่านได้จากแหล่งต่างๆ มากมายในอินเทอร์เน็ต แต่สิ่งที่ทำให้งานของเธอพิเศษกว่าบทความ Fact จากต่างประเทศ หรือความเรียงเชิงวิเคราะห์สังคมและวัฒนธรรมบนแผงหนังสือ คือเรื่องที่เธอจะเล่า

“เราเป็นคนชอบเถียง เราเห็นบางมุมที่มันนำเสนอได้ เราอยากตั้งคำถาม ซึ่งในที่สุดในหนังสือเราไม่ได้มีคำตอบนะ แต่จะเต็มไปด้วยคำถามเพราะว่าเราไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญเราตอบไม่ได้ แต่เราชวนคิด เช่น ในเล่มแรก เราอยากเถียงว่าญี่ปุ่นไม่ได้น่ารักอย่างเดียวนะ มันไม่มีตรงกลาง บางคนชอบความเรียบง่ายก็จะชอบเซน บางคนเป็นโอตะคุก็ชอบความแฟนตาซี เราอยากชวนมองว่าญี่ปุ่นเองก็เป็นสังคมที่ไม่มีตรงกลาง มีองค์ประกอบเรื่องราวต่างๆ มาสนับสนุนเรื่องราวหรือข้อสงสัยนั้นๆ”

หรือที่มาของ Cool Japan Vol.2 ที่เริ่มขึ้น ทันทีที่ก้อยดูภาพยนตร์แอนิเมชันของจิบลิเรื่อง The Wind Rises จบในโรงภาพยนตร์ เธอบอกว่าชอบความรู้สึกกลับตัวก็ไม่ได้ ไปต่อก็ไม่ถึง ความสับสนในความรู้สึกของคนญี่ปุ่น คล้ายกันกับมิยาซากิที่รู้สึกผิดที่ทำเครื่องบิน แต่เขาก็ชอบเครื่องบินมาก เพราะมันสวยงาม แต่สิ่งนี้กำลังจะกลายเป็นเครื่องบินรบที่คร่าชีวิต ดังจะเห็นว่ามีเรื่อง 2 เรื่องค้านกันในตัวเอง

“ถามว่าเราอยากให้หนังสือของเราสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้โลกใบนี้มั้ย ก็คงไม่ แต่เรารู้ว่าอย่างน้อยหนังสือเราก็มีการชวนคิดและตั้งคำถาม” ก้อยยิ้ม

หนังสือ

งานพิมพ์

ก้อยบอกว่าเธอเขินเล็กๆ ที่จะบอกใครๆ ว่าไม่ได้ตั้งใจทำหนังสือเป็นจริงเป็นจัง

แต่เมื่อตัดภาพมาวันนี้ Little Thoughts มีผลงานบนแผงหนังสือแล้วทั้งสิ้น 12 เล่ม ภายในเวลาเพียงแค่ 6 ปี

“ทุกวันนี้เรายังคงยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนทำหนังสือจริงจัง เราคิดเพียงเล่มต่อเล่ม ปีต่อปี อย่างที่บอกว่าหลังจากออกจากงานประจำ เรายังไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไร เพียงแต่เรามีเรื่องอยากเขียนอยากเล่า เขียนเล่มนี้เสร็จก็มีเรื่องนี้ที่อยากค้นหา เรียงเรียง เล่าเรื่องอีก เราเป็นเพียงสำนักพิมพ์อิสระที่มีกลุ่มผู้อ่านเล็ก และเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะยังอ่านหนังสือของเราถึงเมื่อไหร่” ก้อยเล่า

ตัวเลขพิมพ์ซ้ำ และจำนวนหนังสือที่ออกดอกออกผลเพิ่มขึ้นทุกปีบอกอะไรก้อยบ้าง เราถาม

เธอสารภาพว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากความรู้สึกอยากเขียนเป็นหลัก แม้บางครั้งจะมองไม่ออกว่ากลุ่มผู้อ่านเป็นใคร แต่เธอก็มีภาพกลุ่มคนเหล่านี้ในใจแม้ว่าสุดท้ายจะไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน เธอจึงสรุปให้เราฟังว่าถ้ามองสิ่งนี้เป็นธุรกิจสำนักพิมพ์ เธอคงสอบตกทุกข้อ

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีกระแสตอบรับดีๆ จากแฟนหนังสือแวะเวียนมาให้กำลังใจไม่ขาด

“ที่ชอบมากๆ คือมีคนอ่านมาบอกว่าซื้อหนังสือเราไป 2 เล่ม เล่มแรกไว้อ่านเอง อีกเล่มเก็บไว้ให้ลูก ทำให้เรากลับมานั่งคิดถึงคุณภาพกระดาษที่ใช้พิมพ์หนังสือ และรายละเอียดอื่นๆ ให้หมดจดยิ่งขึ้น จากเมื่อก่อนที่ใช้กระดาษรีไซเคิล เราก็เริ่มคิดถึงอนาคตมากขึ้น” ก้อยเล่า

CITIES ความเมืองเรื่องบ้าน Little เรื่องเล็กน้อย

CITIES ความเมืองเรื่องบ้าน (พ.ศ. 2561) และ Little เรื่องเล็กน้อย (พ.ศ. 2561)

หนังสือลำดับที่ 11 และ 12 ของ Little Thoughts ที่ว่าด้วยเรื่องเมืองและเรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ

CITIES ความเมืองเรื่องบ้าน รวมบทความจากคอลัมน์ Visionary City ที่เล่าเรื่องเมืองในนิตยสาร a day

“เราเชื่อเรื่องการมองอะไรในระดับเมือง โลกเรามีปัญหาเรื่องการแบ่งพรมแดนประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องการต่อรองทุกอย่าง เวลาจะเขียนบทความสักบทความ เขียนสั้นๆ ไม่เป็นเราชอบหาข้อมูลมา Test Check”

ขณะที่ Little เรื่องเล็กน้อย รวมบทความจากคอลัมน์ A Little Review ใน Creative Thailand

“เราคิดว่าสนุกดี เล่าเรื่องนี้นิดเรื่องนั้นหน่อย” ก้อยเล่า

เราขอให้ก้อยรีวิวหนังสือใหม่ของเธอเพียงเท่านี้ เพราะรอคอยตัวเล่มจริงที่กำลังจะออกจากโรงพิมพ์ในไม่กี่วันข้างหน้า

รวมกันเราอยู่

“หนังสือของเราอาจจะไม่ใช่หนังสือที่มีความรู้พอเป็นแหล่งอ้างอิง แต่เราหวังว่าคนอ่านจะได้คุยกับตัวเอง ไปขบคิดต่อ ได้เห็นมุมมองใหม่ในบางเรื่อง เช่น เรื่อง Dutchland แดนมหัศจรรย์ ที่แบ่งเรื่องราว 30 หมวด เราเชื่อว่ามันต้องมีสักหมวดสิที่เป็นความรู้ใหม่และคุณไม่เคยรู้มาก่อน แต่แล้วก็จุดประกายให้ลองหาข้อมูลเพิ่ม หรือเห็นภาพความเชื่อมโยงบางอย่าง เมื่อก่อนถ้าเราจะดูข่าวเศรษฐกิจ ข่าวศิลปะวัฒนธรรม จะเห็นว่ารายการมันมักจะอยู่แยกจากกันอย่างสิ้นเชิง ไม่เคยมีวันรวมกันได้ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสทำหนังสือ เราก็อยากให้หนังสือของเราเล่าเรื่องที่เชื่อมโยงกันและกัน

“ตอนทำเรื่อง Cool Japan เรารู้สึกดีมาก เพราะสามารถใส่คำว่าหนี้สาธารณะลงในหนังสือเล่มเดียวกันกับที่มีเรื่องของ SMAP วงดนตรีจากญี่ปุ่น เราก็รู้สึกว่านี่แหละเราเลย ความเป็นเป็ดของเราก็ทำให้เจอหนทาง” ก้อยเล่า

นึกย้อนกลับไปในวันที่ผู้เขียนเจอหนังสือ ชนชั้นกลางในนิยามใหม่ แล้วตัดสินใจลาออกจากงานที่มั่นคงทันทีที่อ่านจบ เพื่อไปเริ่มงานกองบรรณาธิการนิตยสารที่อยากทำ แม้ต้องกลับไปเป็นพนักงานเริ่มใหม่ เรียนรู้วิธีการพูดคุยและเล่าเรียงเรื่องราวตั้งแต่ต้น เพียงเพราะบทสัมภาษณ์เหล่าบุคคลชนชั้นกลางธรรมดาที่รวมกันอยู่ในหนังสือเล่มสีเขียวรูปปกมินิมอล

“เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เราเกิดความรู้สึกขอบคุณตัวเองที่ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือ เพราะถ้ามองย้อนกลับไป เราเป็นคนแวะเลี้ยวเยอะมาก ปริญญาตรีเรียนการตลาดระหว่างประเทศ พอเรียนการจัดการระหว่างประเทศเป็นหลักสูตรที่เรียนร่วมกับชาวต่างประเทศ ครึ่งหนึ่งเรียนรัฐศาสตร์ครั้งหนึ่งเรียนกฎหมายอีกนิดหนึ่ง เรียนการเงินอีก ก่อนจะกลับมาทำงานธนาคาร แล้วย้ายไปทำงาน TCDC ซึ่งเป็นคนละโลกอย่างสิ้นเชิง จากที่เป็นคนใส่เสื้อลายทาง ย้ายมาอยู่ท่ามกลางคนเสื้อลายขวาง เราก็คงไม่อาจเปลี่ยนได้ในทันที ในที่สุดเราจะกลายเป็นคนใส่เสื้อลายสก็อต บวกกันลงตัวพอดี”

กิรญา เล็กสมบูรณ์

ภาพ: Little Thoughts

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล