อยู่ๆ เราก็ตระหนักว่าพื้นที่แนะนำตัวนักเขียนและคอลัมนิสต์ของเราเล็กเกินไป

‘อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ คำบรรยายใต้ชื่อ เกตุวดี Marumura ว่าไว้อย่างนั้น

แต่ไม่เป็นไร พื้นที่ด้านล่างนี้มีมากพอให้เราทำความรู้จัก เกตุวดี Marumura หรือ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ

ปกติคุณบทความของคุณเกตุวดีจะสั้นๆ และกระชับ

แต่มีโอกาสพบและสนทนากันทั้งที บทความนี้จึงยาวกว่าปกติเล็กน้อย หวังว่าผู้อ่านแฟนคลับคุณเกตุวดีจะไม่ว่ากัน

ก่อนจะพบสิ่งที่น่าสนใจต่อไปนี้ เราอยากให้คุณลบภาพจำอันแสนอบอุ่นละมุนละไมของเกตุวดีให้หมดสิ้นเสียก่อน เหลือไว้แค่เพียงรับรู้ว่าเธอคือนักถ่ายทอดผู้เต็มไปด้วยพรสวรรค์

และหากเรื่องราวด้านล่างจะก๋ากั่นไปบ้าง ได้โปรดอย่าตกใจ

เกตุวดี Marumura

はじめまして (ฮาจิเมะมาชิเตะ)

“ตอนนั้นฝันใหญ่มาก ฝันว่าอยากเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย และนักการเมืองที่จบการตลาดก็คงดูไม่เก๋เท่าไหร่ เราก็เลยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์” อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เล่าย้อนความฝันเมื่อต้องเลือกสาขาวิชา เพราะหวังในใจลึกๆ ว่าจะนำสิ่งที่เรียนกลับมาช่วยพัฒนาประเทศ

“นโยบายการบริหารประเทศของเกตุวดีเป็นอย่างไร” เราถามเสียงขรึมให้ดูจริงจังสมกัน

“ไม่แน่ใจว่ามีที่มาจากไหน แต่ตอนนั้นเราอินเรื่องการศึกษามาก คิดแบบเด็กๆ ไว้ว่าหากเป็นนายก เราจะเพิ่มเงินเดือนครูทุกคน เพราะเรื่องการศึกษาเป็นพื้นฐานการพัฒนาประเทศที่สำคัญ” ได้ยินอย่างนี้ก็ทำให้เราตั้งตารอคอยการเลือกตั้งครั้งต่อไปแทบไม่ไหว

หากเป็นสมัยนี้เราคงไม่แปลกใจที่เด็กหัวกะทิจากสยามประเทศจะเลือกเรียนต่อระดับปริญญาตรี โท และเอก ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ในยุคสมัยที่ใครก็นิยมเรียนต่อในดินแดนฝั่งตะวันตก อะไรทำให้เกตุวดีเลือกญี่ปุ่นเป็นจุดหมายปลายทาง

“ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่แปลกแต่น่าสนใจมาก เป็นประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกได้ เป็นประเทศที่มีพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ก็มีคนใส่กิโมโนอยู่ มีคนยังไปไหว้ศาลเจ้าอยู่ เขาทำอย่างไร ในหัวเรามีแต่คำว่าทำไมอยู่ตลอดเวลา ทำไมเจริญจัง ทำยังไงให้ประเทศเล็ก ๆ จากเอเชีย ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้” เกตุวดีเล่าถึงแรงดึงดูดระหว่างเธอกับประเทศญี่ปุ่น

เมื่อภาคการศึกษาสุดท้ายจบลง เกตุวดีก็สารภาพกับเราว่า เธอและวิชาเศรษฐศาสตร์ ‘เราเข้ากันไม่ได้’ เพราะกรอบทฤษฎีที่มีและหลักการบางอย่างไม่อาจตอบคำถามที่สงสัย

“ทำไมต้องมีอรรถประโยชน์ ยิ่งเรียนยิ่งสงสัย ตอนนั้นคิดว่าไม่เป็นไร ไม่อยากเป็นนายกแล้วก็ได้ ช่วงเลือกสาขาปริญญาโทจึงเลือกเรียนต่อด้านการตลาดเรื่อยมาถึงปริญญาเอก” เกตุวดีเล่าเส้นทางที่สานฝันวัยเด็ก เพราะเธอรักใคร่ชอบพอเรื่องการตลาดมาตั้งแต่อ่านนิตยสาร Marketeer และ BrandAge ที่ญาติมักซื้อมาฝากอยู่เสมอ

ในวิชาการตลาด สาววินเทจอย่างเกตุวดี ท้าทายตัวเองด้วยการศึกษานวัตกรรมของผู้บริโภค ก่อนจะทำวิจัยเรื่อง User Development Innovation Policy in Denmark

“จากเดิมที่อยู่ญี่ปุ่น เราก็ประทับใจการทำงานหนักของคนญี่ปุ่นว่าเป็นสิ่งที่ดี พอไปเจอเดนมาร์กที่ Work-life balance มีประสิทธิภาพมากๆ ก็เปิดโลกของเราเหมือนกัน ว่าญี่ปุ่นไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มี successful model อย่างการเสียภาษี 40% ตอนแรกที่อ่านไปก่อนเราก็ตกใจแล้ว แต่เมื่อพูดคุยกับคนที่นั้น ทุกคนจะบอกเหมือนกันว่าภูมิใจและดีใจมากที่ได้เสียภาษี เกิดมาเราไม่เคยได้ยินใครพูดอย่างนี้มาก่อน ทุกคนยินดีที่จะจ่ายเพราะมั่นใจว่าจะมีอะไรบางอย่างกลับคืนมาให้เขาแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข” เช่นเคย ไม่ว่าเกตุวดีจะเล่าอะไร ก็ชวนให้เราตื่นเต้นตามได้อยู่เสมอ

เกตุวดีมีเรื่องเล่า

ต่อมาเกตุวดีตัดสินใจพักจากการเรียนปริญญาเอก เดินทางกลับประเทศไทยหลังจากเหตุการณ์สึนามิ ครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่น เมื่อปี 2011

ชีวิต 8 ปีที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนเกตุวดี จนเธอไม่อาจเข้าใจพฤติกรรมไร้วินัยบางอย่างของคนไทย แต่มองเป็นเรื่องขำขันในชีวิต แล้วเล่าสู่เพื่อนพ้องในเฟซบุ๊กส่วนตัว พอดีกับเพื่อนของรุ่นพี่กำลังจะเปิดเว็บไซต์ ชุมชนคนรักเรื่องราวญี่ปุ่นๆ จนกลายเป็นคอลัมนิสต์คนเก่งประจำ Marumura

maru แปลว่า กลมๆ

mura แปลว่า หมู่บ้าน

marumura แปลว่า หมู่บ้านวงกลม

maru-mura เป็นการผวนคำเล่นที่ดูจะไม่มีความหมายใดๆ

เกตุวดีอยู่ญี่ปุ่นมานานพอ จนรู้สึกอยากเม้าอยากเล่าเรื่องของคนญี่ปุ่นที่คนไทยน้อยคนจะรู้ หรือ พฤติกรรมของคนไทยที่คนญี่ปุ่นไม่เข้าใจ โดยมีแหล่งข้อมูลชั้นดีอย่างชาวญี่ปุ่นหลากหลายอายุและอาชีพที่มาเรียนภาษาไทย เธอจึงเห็นมุมมองจากทั้งสองฝั่ง

“ตอนอยู่ญี่ปุ่นเราก็เจอคนดูถูกเชื้อชาติบ้าง หรือเราเผลอไปดูถูกคนอื่นบ้าง เรารู้สึกผิดและไม่อยากให้คนอื่นเข้าใจผิดแบบนี้เลย ในเมื่อเราเป็นคนกลางที่ยืนอยู่ระหว่างวัฒนธรรมไทยและญี่ปุ่น เราอยากให้คนสองชาติที่แตกต่างกันเข้าใจกันอย่างมีความสุข ยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน

“เราว่าสาเหตุที่คนทะเลาะกันเพราะเรามักจะมองว่าเราถูก เขาผิด แต่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใครถูกหรือผิด มันเป็นเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เช่น คนไทยใช้ช้อนส้อม แล้วคนญี่ปุ่นมาบอกว่าป่าเถื่อนจัง เราก็จะรู้สึกว่า บ้าหรอ เรากินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ หรือคนไทยไปญี่ปุ่นแล้วรู้สึกรำคาญ คนญี่ปุ่นซดน้ำราเมนเสียงดังจังเลย ไร้มารยาท ญี่ปุ่นก็จะรู้สึกว่าฉันกินแบบนี้มาตลอดชีวิตแล้วผิดตรงไหนเหรอ มันเป็นความเคยชินของคน 2 กลุ่ม 2 วัฒนธรรมมากกว่า แล้วถ้าเราไม่อาจเข้าใจพฤติกรรมเหล่านั้น เราก็จะเผลอไปตัดสินคนว่าเขาผิดหรือเขาถูก เราอยากให้เข้าใจความเป็นเขาและที่มาของสิ่งนั้นมากขึ้น” เกตุวดีเล่าที่มาของคอลัมน์ Japan Gossip สุดฮิต ก่อนจะรวมเล่มกลายเป็น Japan Gossip เมาท์ญี่ปุ่นให้คุณยิ้ม หนังสือเล่มแรกในชีวิตของเธอ

เพราะสำนวนภาษาจิกกัด แซวแรง เม้ามอย ทำให้เคยมีคนคิดว่าเกตุวดีเป็นสาวประเภทสอง

หากใครมีโอกาสครอบครองหนังสือเล่มนี้ เชื่อว่าคุณจะตกหลุมรักเกตุวดีได้เลยง่ายๆ จากความช่างคิด ช่างสงสัย ช่างเล่า ยิ่งแล้วไปกว่านั้น เธอยังเขียนเม้าหนุ่มญี่ปุ่นสนุกกว่าใครที่เราเคยพบ จึงไม่แปลกใจที่ผลงานลำดับที่ 3 ของเธอจะมีชื่อว่า Japan Love Gossip กระซิบรักฉบับญี่ปุ่น

เห็นตลกเฮฮาแบบนี้ เกตุวดีก็มีมุมจริงจังเหมือนกัน ผลงานลำดับที่ 2 สุโก้ย! Marketing ทำไมใครๆ ก็ติดใจญี่ปุ่น เล่าเรื่องการตลาดญี่ปุ่นสนุกๆ ปลุกแรงบันดาลใจ

“ความเครียดและความกดดันในสังคมญี่ปุ่นทำอะไรคุณบ้างไหม” เราถาม

“ก็ทั้งเครียดทั้งฟินนะ เหมือนเราต้องพยายามทำดีที่สุดเพื่อคนอื่น เช่น เราเป็นผู้ช่วยสอนที่ต้องไปช่วยอาจารย์บรรยายนอกสถานที่ การทำงานของเราแบบที่เราคุ้นชินคือไปดูสถานที่ก่อน ดูว่าห้องน้ำอยู่ไหน ไฟอยู่ไหน เปิด-ปิดโปรเจกเตอร์เรียบร้อยดีหรือเปล่า เมื่ออาจารย์มาถึงที่แล้วดำเนินการสอนอย่างราบรื่น และเราจะช่วยอำนวยความสะดวกแค่เปิดไฟ-ปิดไฟ การเตรียมงานอาจจะเหนื่อยกว่า แต่เมื่อทุกอย่างราบรื่นเราก็รู้สึกดี เกิดความภูมิใจในตัวเอง นี่คือการทำงานสไตล์คนญี่ปุ่น

“ตัดภาพกลับมาหากเป็นเราอีกเวอร์ชันหนึ่ง เดินทางไปถึงสถานที่พร้อมอาจารย์ ลองผิดลองถูกกันเองหน้างาน แก้ปัญหาไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นคนละสไตล์” โชคดีที่เกตุวดีไม่ถามว่าเราเป็นอย่างเวอร์ชันไหน

กฤตินี พงษ์ธนเลิศ
อย่ายอมให้ใครเหยียบฝัน

เกตุวดี ดี ดี (อ่านให้เหมือน echo วิทยุ)

เห็นชอบเม้ามอยคนญี่ปุ่นเป็นประจำอย่างนี้ จริงๆ แล้ว เกตุวดียังมีอีกหลากหลายความสนใจ ที่หล่อหลอมวิธีคิดและวิธีเขียนของเธอ

ยกตัวอย่างเช่น การเป็นดีเจ

นอกจากงานเพื่อสังคม งานดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้พิการ ที่เกตุวดีทำเป็นประจำระหว่างเรียนที่นั่น เธอยังช่วยงานสถานีวิทยุในบทบาทผู้ดำเนินรายการ บอกเล่าเรื่องราวใกล้ตัวและวัฒนธรรมที่น่าสนใจส่งตรงจากประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของสถานีวิทยุนี้คืออยากให้คนญี่ปุ่นเข้าใจวัฒนธรรมที่หลากหลาย และเรื่องนี้ก็ส่งผลต่อความคิดของเกตุวดีเยอะมาก ที่นี่หล่อหลอมตัวตนของเธอผ่านการอยู่ร่วมกับคนหลายๆ วัฒนธรรม ให้เข้าใจกันและยอมรับกัน

ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมน้ำเสียงของเกตุวดีเมื่อเล่าเรื่องต่างๆ จึงพิเศษกว่าทั่วไป

“เราไม่เคยคิดจะเป็นนักเขียนมาก่อน แค่ชอบเล่าเรื่อง ตอนไปญี่ปุ่นใหม่ๆ ยุคนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊ก หรือบล็อกใดๆ ทั้งสิ้น เราก็จะเขียนอีเมลถึงเพื่อน 20 คน เช่น วันนี้ฉันกินป๊อกกี้มา 10 รส มีรูปกล่องเสร็จสรรพ เราก็จะเขียนเล่าไปเรื่อยๆ จะว่าไปคงเป็นเพราะเราไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ด้วย อยู่ประเทศไทยเราเหมือนนกในกรงทองนะ ไปบ้าน ไปโรงเรียน เท่านี้เลย ไม่ได้ออกไปไหน แต่พอต้องไปใช้ชีวิตต่างแดน แค่ซักผ้าเองเราก็รู้สึกฟินแล้ว มันเหมือนมีเรื่องที่อยากคุยให้ใครสักคนฟังอยู่ตลอดเวลา” เราพอจะเดาสีหน้าของเพื่อนๆ เกตุวดียามที่ได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่เล่าเรื่องป๊อกกี้ออก

เกตุวดีเปลี่ยนไป

หลังจากมีผลงานเขียนผ่านไปทั้งหมด 3 เล่ม เกตุวดีก็เปลี่ยนไป

จากเรื่องราวเม้ามอยญี่ปุ่นแบบชวนยิ้ม เปลี่ยนมาเป็นเรื่องราวธุรกิจที่สร้างแรงบันดาลใจอุ่นๆ อย่าง Slow Success ยิ่งใหญ่ได้ด้วยก้าวเล็กๆ หรือ อย่ายอมให้ใครเหยียบฝัน และคอลัมน์ที่ฮอตสุดๆ ของเรา Makoto Marketing และ iine

เราจึงขอเปลี่ยนวิธีการเขียนเพื่อคุณเกตุวดีบ้าง

ใช่แล้ว เปลี่ยนกันดื้อๆ อย่างนี้โดยที่คุณเกตุวดีไม่ได้ขอนั่นแหละ

ลำดับต่อไปเป็นบทสนทนา ถามคำ ตอบหลายคำ เหมาะสำหรับแฟนคลับที่สนใจวิธีคิด วิธีเขียน ของเกตุวดี the next generation ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญคุณเกตุวดีที่โพเดียมค่ะ

เกิดอะไรขึ้น ‘เกตุวดีแสนซน’ คนนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็น ‘เกตุวดีคนจริง (จัง)’

ที่ผ่านมาเราคิดว่าเราเข้าใจคนไทยว่าคนไทยชอบอ่านอะไรเบาๆ ฮาๆ เราก็พยายามเขียนให้สนุกทุกๆ บทความ แต่เมื่อเขียนทุกอาทิตย์เป็นเวลา 3 ปี มันเริ่มตันแล้วว่าฉันจะฮาไปไหนอีก นึกไม่ออกว่ามีอะไรจะสนุกขำขันได้อีก เขียนมาหมดแล้วทั้งเรื่องกิน ดื่ม เที่ยว

พอดีกับที่เราไปรับรู้เรื่องราวของคนรู้จักคนหนึ่งที่อยากรวยมากๆ อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ เราก็นึกถึงเรื่องของคนญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ช่วยสังคม เรารู้สึกอยากเขียนเรื่องนี้ออกมาทันที เพื่อหวังให้เขาเห็นและฉุกคิด แต่กลายเป็นว่ามีคนชอบบทความนั้นเยอะมาก และคนแชร์เยอะกว่าที่คิดมาก ทำให้รู้ว่าก็มีคนไทยที่ชอบอ่านเรื่องจริงจังเหมือนกัน

แล้วเราก็อินกับเรื่องนี้มากกว่า เป็นตัวเรามาตลอด อยากทำเรื่องดีๆ เพื่อสังคม แต่ที่ผ่านเราสร้างอีกคาแรกเตอร์หนึ่งขึ้นมาเพราะเราอยากให้คนชอบ เราก็พบว่าเราเป็นตัวของตัวเองได้นี่นา จากนั้นเราก็เขียนเรื่องแนวนี้ออกมาเรื่อยๆ แล้วเห็นว่าสิ่งที่เราเขียนสร้างผลกระทบต่อใคร อย่างไรบ้าง เช่น เปลี่ยนแนวคิดของผู้ประกอบการบางคน สร้างแรงบันดาลใจให้เขาสร้างสรรค์งานออกมาให้ดียิ่งขึ้น ก็ยิ่งรู้สึกถึงพลังของตัวเอง มีแรงบันดาลใจเขียนไปเรื่อยๆ

เกตุวดี Marumura

คุณเกตุวดีมีวิธีการเลือกหยิบเรื่องมาเล่าอย่างไร

เลือกเรื่องที่ทำให้หัวใจเราเต้นแรง

ยอมรับก็ได้ว่า เราเป็นมนุษย์ที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์มาก

ซึ่งสิ่งที่ทำให้หัวใจคุณเต้นแรงคือ…

อันดับแรก เราอ่านแล้วรู้สึกว่าจากเดิมที่ไม่มีใครเคยทำได้ เขาคนนั้นทำได้ หรือสองคือ ความรู้สึกที่อยากเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราบ้างจัง

เราเป็นนักคิด เราชอบคิด เราไม่ชอบทำ สิ่งที่เราทำได้คือส่งเรื่องราวต่อเพื่อให้คนนำไปทำตาม

แต่ก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ขนาดนั้น หลักๆ อยู่ที่เรื่องนี้ทำให้หัวใจของเราเต้นแรงมากพอจนอยากเล่าให้คนอื่นฟังต่อหรือเปล่า บ่อยครั้งเราเจอเรื่องราวของธุรกิจที่ดีมากๆ แต่หัวใจยังไม่เต้น มือยังไม่อยากเขียน เราก็จะพักหัวข้อนั้นไว้ก่อน

นอกจากเรื่องที่เลือกมาเล่าจะดีมากๆ แล้ว เราชอบเวลาคุณหามุมดราม่าในเรื่อง หรือมุมขยี้ที่ทำให้คนอ่านรู้สึกร่วมไปด้วย

จริงๆ เราก็ไม่รู้ตัวนะ แต่อาจจะเป็นเพราะเราดูรายการสารคดีเล่าชีวิตผู้ประกอบการเยอะ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีรูปแบบการเล่าคล้ายกัน เปิดเล่าภาพรวมเรียกน้ำจิ้ม โปรดักต์ฉันเป็นแบบนี้ เลิศหรูอลังการ เรื่องราวแนวคิดและวิธีการ แต่เรื่องราวไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มีเหตุการณ์ความยากลำบากอยู่เหมือนกันนะ แต่ก็ฝ่าฟันขึ้นมาได้ แล้วจบด้วยผลประกอบการและความสำเร็จอลังการ

เส้นเรื่องส่วนใหญ่เป็นแบบนี้

จนกระทั้งมีโอกาสเข้าเรียนวิชา Presentation ได้รู้จักการเรียงลำดับ การเล่าเรื่อง เราก็กลับมาอ่านงานเก่าๆ แล้วพบว่า อ๋อ เราเล่าเรื่องเป็นภาพยนตร์มาโดยตลอด

และคนหนึ่งที่มีอิทธิพลกับเรามากๆ คือ พี่ตุ้ม คุณหนุ่มเมืองจันท์

พอเราอ่านงานเขาเยอะๆ อ่านทุกเล่ม อ่านทุกคอลัมน์ ลำดับการเรียบเรียงเล่าเรื่องจึงคล้ายกันโดยไม่รู้ตัว น้ำเสียงในภาษา การตัดประโยค เว้นเพื่อช่วยคนคิด

คุณมักจะบอกเสมอว่า ตัวเองไม่ใช่นักเขียน แต่เป็นนักเล่าเรื่อง เป็นนักถ่ายทอด

หลายครั้งเราได้ยินจากผู้อ่านว่า อ่านแล้วน้ำตาไหล อ่านแล้วเหมือนเราเล่าเรื่องให้ฟังตรงหน้า

แต่จริงๆ มันคือเกดเล่าเรื่องให้ตัวเกดฟังเอง พอเขียนๆ ไปจะเกิดคำถามว่า เขา (เราอีกคนที่เป็นคนอ่าน) จะเข้าใจไหมนะ ก่อนจะค่อยๆ ขยายความเพิ่มลงไป เช่น ข้าวนานี้ใหญ่เท่าโตเกียวโดม 10 โดม เราก็จะมีความคิดแว้บขึ้นมาว่า แล้ว 10 โดมที่ว่ามีขนาดเท่าไหร่ เป็นต้น

ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ
เกตุวดี Marumura

งานเขียนของคุณเหมือนหรือแตกต่างจากงานสอนที่ทำเป็นประจำอย่างไรบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนหรืองานสอน สิ่งที่เราทำ เราอยากให้คนตื่นเต้นและรู้สึกสนุกไปกับสิ่งที่เราอยากเล่า ยกตัวอย่าง เวลาสอนแล้วหยิบเรื่องโกดักและฟูจิมาเล่า ถ้าเล่าแบบธรรมดาเราก็เล่าได้ โกดักไม่อาจเติบโตได้เพราะไม่ลงทุนด้าน innovation ขณะที่ฟูจิค่อยๆ ทำเรื่อง innovation มาตลอดก็เลยประสบความสำเร็จ แต่เวลาสอน เราอยากให้เรื่องมีความเซ็กซี่กว่านั้น ค่อยๆ เปิดขาโชว์ข้อมูลออกมาทีละนิด ชวนสงสัย ให้เขาคิดตามดึงให้นิสิตมีส่วนร่วม เมื่อมาถึงเฉลยทุกคนก็จะรู้สึกว้าว

นิสัยแบบนี้ด้วยมั้ง แล้วเราก็กลับมาใช้กับงานเขียนด้วยเหมือนกัน

จริงๆ ตอนอยู่ญี่ปุ่นเราทำงานสอนภาษาไทยมา 7 ปี ก็พอจะมีทักษะและกลวิธีทำให้คนสนใจอยู่บ้าง

โดยสรุปแล้ว งานเขียนไม่ได้ทำให้เราสอนดีขึ้น แต่งานสอนต่างหากที่เพิ่มทักษะการคิด การเล่าเรื่อง ทำให้เราเขียนสนุกยิ่งขึ้น

มีคำแนะนำเรื่องรับมือกับความกดดันในงานเขียนอย่างไรบ้าง

เคยได้ยินเรื่อง สภาพมุชิน (Mushin) มั้ย เป็นแนวคิดของพวกซามูไร เรื่องการทำจิตใจให้เป็นกลาง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราอยากชนะ เราจะแพ้

เรามีอาการนี้เหมือนกันช่วงที่เขียนงานปีที่ 2 อยากได้ยอดไลก์เยอะๆ อยากให้คนมาคอมเมนต์เยอะๆ กดดันและเครียด เราก็ต้องพยายามโยนทิ้งให้เหลือเพียง ฉันอยากอ่านเรื่องนี้ ฉันชอบเรื่องนี้ ดังนั้น ฉันจะเขียนเรื่องนี้ ค่อนข้างเอาแต่ใจตัวเองเหมือนกัน (หัวเราะ)

ถ้าเขียนจบแล้วเรายิ้มให้กับตัวเองได้ เท่านั้นเลย พอแล้ว

ได้ยินว่าคุณมีความฝันเล็กๆ ว่าอยากเขียนบทละคร

เคยเป็นเหมือนกันมั้ย เราสามารถเกลียดตัวร้ายในละครได้ในเวลาเพียงแค่ช่วงตอนเดียวที่นั่งดูหน้าโทรทัศน์ ขนาดเราเพิ่งดูแค่ตอนเดียวนะ เรายังรู้สึกโมโหหงุดหงิดขนาดนี้ แล้วคิดถึงคนที่ดูละครเป็นสิบๆ ปี

คนไทยขี้อิจฉากันเพราะอะไร ไม่ต้องคิดซับซ้อนเลย ละครไทยนี่เอง

เราก็คิดว่าน่าจะมีละครไทยที่ดีและสนุกด้วย ช่วงที่ซีรีส์ HORMONES วัยว้าวุ่น เปิดตัว เราประทับใจมาก เป็นไอดอลเลย เป็นซีรีส์ที่ออกมาเปลี่ยนชีวิตและวิธีคิดของคน และถือเป็นความฝันเล็กๆ ที่มองไว้ อยากทำได้บ้างสักวันหนึ่ง

ความเชื่อเรื่องความฝันและการทำธุรกิจด้วยความตั้งใจ

เมื่อมองจากห้องเรียน เราเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ชอบการประสบความสำเร็จแบบเร็วๆ กดดันความฝันนั้น ในขณะที่ญี่ปุ่นมีกิจการหรือผู้ประกอบการไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จตอนอายุ 60 ค่อยๆ ทำและมีความสุขโดยไม่ต้องประกาศบอกใคร พอเราอินกับ passion ตรงนี้มากๆ เราอยากให้คนประสบความสำเร็จในแบบตัวเอง ไม่ต้องเลียนแบบใครก็เลยกลายเป็นหนังสือเล่มที่ 4 ชื่อ Slow Success ยิ่งใหญ่ได้ด้วยก้าวเล็กๆ

ประกอบกับช่วงนี้เราสอนที่จุฬาฯ (ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มา 3 – 4 ปีแล้ว ความคิดเราก็เริ่มเปลี่ยน อยากสนับสนุน ส่งเสริม สร้างแรงบันดาลใจ อยากให้คนไปในทางที่ถูกต้อง มีแนวคิดที่ถูกต้อง วิธีทำธุรกิจที่ถูกต้อง ตอนนี้จะให้กลับไปเขียนแบบตอนเล่มแรกๆ ก็ไม่ได้ องค์กระเทยที่เคยมีไม่สามารถลงได้อีกแล้ว (หัวเราะ)

ฝันเราเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากตอนแรกที่อยากให้คนเข้าใจญี่ปุ่นมากขึ้น เรื่อยๆ ไปจนเปลี่ยนแนวคิดการทำธุรกิจ ทำให้คนอ่านมี role model เพิ่มขึ้นจากเรื่องราวที่เราเขียน

แล้วมีธุรกิจในฝันแบบไหนที่อยากลงทำเองบ้างไหม

อยากทำร้านอาหารที่กินแล้วไม่แสบคอ เป็นเรื่องปกติมากในญี่ปุ่น แต่ทำไมประเทศไทยเราหายากจัง อาหารที่ใช้น้ำมันน้อย มีผักเยอะๆ

เกตุวดี Marumura
 

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล