อันที่จริง ย่อหน้าแรกนี้ควรเอ่ยแนะนำตัวนักเขียนผู้ถูกสัมภาษณ์ แต่ฉันคิดว่ามันอาจไม่จำเป็นกับ เอ๋-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ ‘นิ้วกลม’ เท่าใดนัก

คงไม่เกินเลย หากบอกว่าเขาคือหนึ่งในนักเขียนไทยร่วมสมัยที่โดดเด่นที่สุด นับแต่ โตเกียวไม่มีขา บันทึกการเดินทางเล่มแรกตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2547 และส่งให้ชื่อ ‘นิ้วกลม’ เป็นที่รู้จักของผู้อ่าน นักเขียนหนุ่มพิสูจน์ตัวเองด้วยผลงานมากมาย และยืนระยะผลิตงานสม่ำเสมอมานับ 10 ปี ไม่รวมถึงบทบาทอื่นนอกเหนืองานเขียนอย่างพิธีกรและผู้กำกับโฆษณา

ในงานหนังสือครั้งล่าสุด นิ้วกลมมีผลงานใหม่ หนังสือเล่มหนาหลายร้อยหน้าชื่อ หิมาลัยไม่มีจริง

เป็นบันทึกการเดินทางอีกครั้งหลังห่างหายหลายปี และมีชื่อชวนนึกถึง โตเกียวไม่มีขา ของเขาอย่างช่วยไม่ได้

ฉันหยิบหนังสือเล่มแรกและเล่มล่าสุดของเขามาพิจารณา ไม่มีอะไรใกล้เคียงกัน ตั้งแต่หน้าปก ขนาด ความหนา จนถึงเนื้อใน

13 ปีอาจรวดเร็ว อาจเนิ่นนาน แต่ที่แน่นอนคือ มันมากพอจะเปลี่ยนบุคคลกลางกระแสเวลา

จากนักเขียนวัย 26 ผู้แบ็กแพ็กครั้งแรกสู่เมืองจัดจ้านอย่างโตเกียว ถึงนักเขียนวัย 39 ผู้สะพายเป้สู่หิมาลัยขาวโพลน

การเติบโตของ นิ้วกลม จาก 'โตเกียวไม่มีขา' ถึง 'หิมาลัยไม่มีจริง'

ฉันชวนนิ้วกลมนั่งลง พูดคุยถึงการเติบโตระหว่างทางที่ผ่านมา

แด่ ความฝัน

คำอุทิศด้านบนมาจาก โตเกียวไม่มีขา หนังสือเล่มแรกในชีวิตของนิ้วกลม

หนังสือที่เขานิยามว่าเป็น ‘ความฝันที่จับต้องได้’

ในวันวัยนั้น ชายผู้นี้คือคนหนุ่มวัย 26 ผู้ดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมาย เห็นภาพชัดเจน และต้องการก้าวสู่ยอดเขาที่สูงขึ้น เราจึงเห็นเขาพุ่งทะยานไปข้างหน้า เป็นบัณฑิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ไปเปล่งประกายอยู่ในงานสายโฆษณา ขณะที่อีกส่วนชีวิตได้ครอบครองสถานะคอลัมน์นิสต์เจ้าของคอลัมน์  E= iq2 ในนิตยสารวัยรุ่นอย่าง a day

แต่หากถามถึงยอดเขาเปี่ยมความหมายที่สุดในช่วงชีวิตดังกล่าว

แน่นอน, คำตอบคือหนังสือที่ชื่อ โตเกียวไม่มีขา

“การออกหนังสือเล่มเป็นหมุดหมายที่ใหญ่มาก” นิ้วกลมอธิบาย“เราโตมากับการอ่าน หนังสือจึงเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ เพราะหนังสือของคนอื่นมีพลังกับเรามาก เราจินตนาการว่าถ้าวันหนึ่งสามารถเขียนแล้วได้จับถือหนังสือของตัวเองคงรู้สึกดีมาก สิ่งที่ต่างระหว่างการเขียนหนังสือเล่มกับการทำงานโฆษณา คืองานโฆษณาใช้ความคิดสร้างสรรค์ของเราไปถ่ายทอดสารของคนอื่นและมีความเป็นทีมอยู่เยอะ แต่หนังสือเล่มคือตัวเราแทบร้อยเปอร์เซนต์”

เมื่อพลิกอ่านไล่เรียงทีละหน้า บันทึกการเดินทางไปโตเกียว 9 วัน ด้วยเงิน 12,000 บาทจึงไม่ได้มีเพียงความสนุก

หากเปี่ยมด้วยพลัง ความสดใหม่ และความฝัน

โตเกียวไม่มีขา อัดแน่นด้วยความฝัน สำหรับคนหนุ่มแล้วความฝันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากคือ ฝันว่าโลกจะดีได้ ฝันถึงโลกอุดมคติบางอย่างที่ตัวเองก็เห็นไม่ชัดว่าคืออะไร แต่ว่าโลกต้องดีกว่านี้ได้แน่ๆ แล้วฉันเป็นคนหนึ่งที่จะเปลี่ยนโลกได้ ในหนังสือมีตอนที่พูดถึงวอลท์ ดิสนีย์ พูดถึงจอห์น เลนนอน มันคือการเชื่อมั่นว่าฉันอยากเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็อยากจะแสดงพลังของฉันให้โลกเห็น

“รองลงมาคือความฝันระดับส่วนตัว นั่นคือความเชื่อแบบคนหนุ่มว่า ไม่ว่าคนเราจะฝันอะไรไว้ ถ้ามีความพยายาม เราก็จะไปถึงที่นั่นจนได้ คุณต้องใช้ขาของคุณเดินไปหาความฝันนั้น แล้วมันจะเป็นจริง ตอนแรกเราไม่คิดว่าจะเขียนหนังสือเล่มหนึ่งจบได้ เป็นงานเขียนเล่มแรกที่นั่งลงเขียนเป็นเล่มจริงๆ ไม่ใช่รวมคอลัมน์ เราจมดิ่งอยู่ในนั้น จนเห็นว่าต้นฉบับมันหนาขึ้นเรื่อยๆ ถึงประมาณ 80 หน้า A4 เรารู้สึกว่า เฮ้ย เขียนมาขนาดนี้ได้ยังไง ในบทสุดท้ายก็เขียนไว้ด้วยความจริงใจมากว่า ผมไม่คิดเลยว่าจะเขียนมาจนถึงหน้านี้ได้ และถ้าหากว่าคุณได้อ่านถึงหน้านี้และถือหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ แสดงว่าฝันของผมเป็นจริงแล้ว เรารู้สึกว่าแม่งโคตรจริงใจ เราดีใจแบบนั้นจริงๆ”

และเมื่อ โตเกียวไม่มีขา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 มาอยู่ในมือ ชายหนุ่มวัย 26 ก็เห็นบางสิ่งที่ปรากฏขึ้นพร้อมหนังสือ

บางสิ่งที่หน้าตาคล้ายคลึงกับ ‘ประตู’

“เมื่อผ่านประสบการณ์หนึ่งไปมันจะเห็นประตูไปสู่ทางใหม่ๆ ถ้าเราบอกตัวเองว่าเป็นนักอยากเขียน เราก็อาจบอกตัวเองอยู่อย่างนั้นว่า เราเป็นคนที่อยากเขียนหนังสือ แต่พอเขียนหนังสือเสร็จ เรารู้สึกว่า เฮ้ย เราเป็นคนที่เขียนหนังสือได้” นิ้วกลมย้อนเล่า “ความรู้สึกนี้สำคัญ ทำให้เรามองตัวเองใหม่ว่า ถ้าอย่างนั้นเรายังเขียนได้อีก ซึ่งพอมองตัวเองในลักษณะนี้ ก็เลยทำให้ไม่ได้เห็นตัวเองแคบว่า เอ๋เท่ากับ Copywriter ไม่ได้มองตัวเองแค่นิยามในนามบัตร แต่เห็นว่าที่จริงแล้ว เราทำอย่างอื่นได้อีก นั่นแปลว่าคุณไม่จำเป็นต้องทำแค่งานประจำ คุณใช้เวลานอกงานประจำทำอย่างอื่นได้อีกเยอะ นี่คือพื้นฐานของการที่ทุกวันนี้เราเป็นแบบนี้ ซึ่งถ้าประตูบานนี้ไม่เปิด เราอาจอยู่ในกรอบของพนักงานประจำที่ทำแค่โจทย์ที่ออฟฟิศมอบให้”

การเติบโตของ นิ้วกลม จาก 'โตเกียวไม่มีขา' ถึง 'หิมาลัยไม่มีจริง'
การเติบโตของ นิ้วกลม จาก 'โตเกียวไม่มีขา' ถึง 'หิมาลัยไม่มีจริง'

นิ้วกลมและผลงาน

ในวันที่ญี่ปุ่นยังต้องขอวีซ่า และบันทึกการเดินทางน้ำเสียงกันเองเหมือนเพื่อนเล่าให้ฟังยังไม่แพร่หลาย ไม่น่าแปลกที่ โตเกียวไม่มีขา ของนิ้วกลมจะติดโผหนังสือเบสต์เซลเลอร์ กลายเป็นนามบัตรแนะนำตัวเขากับโลกภายนอก

โอกาสมากมายหลั่งไหลมา และด้วยการเปิดออกของประตูบานนั้น นิ้วกลมโอบกอดสิ่งที่ชีวิตชักนำมาอย่างเต็มใจ

“อย่างตอนที่เป็นผู้กำกับโฆษณา มีคนชวนไปทำพิธีกรรายการโทรทัศน์ แต่ก่อนคงคิดว่าแค่กำกับโฆษณาก็เหนื่อยแล้ว ทำแล้วจะล้มเหลวไหม แต่ตอนนี้เราคิดว่าก็ไปทำได้ และไม่ได้คิดเลยว่าจะต้องเป็นอะไร เราคือนักเดินทาง ก็เดินทางไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้ว เราไม่ได้เป็นอะไรหรอก ก็เปลี่ยนไป ความหยุดนิ่งมันไม่จริง ชีวิตคือการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เราก็เปลี่ยนไปสู่นิยามใหม่ สู่คุณค่าใหม่ แล้วยิ่งทำ เราก็ยิ่งเห็นว่า อ๋อ ไอ้ประตูบานหนึ่งที่เปิดออกไป มันมีประตูซ้อนอยู่ข้างในซึ่งจะเปิดเราไปสู่พื้นที่ใหม่อีก”

นับแต่ โตเกียวไม่มีขา ลืมตาดูโลก เราจึงเห็นนิ้วกลมปรากฏตัวในบทบาทหลากหลาย ขณะที่หนังสือซึ่งมีนามปากกานี้บนปกก็ทยอยออกมาให้เห็นต่อเนื่อง

“การเขียนสำหรับเราคือ บทสรุปความคิดหรือการพยายามจะขึ้นรูปความคิดซึ่งเหมือนดินจากหลากหลายแหล่งที่กองรวมๆ กันอยู่ เรามองไม่เห็นว่าสุดท้ายหน้าตามันเป็นยังไง การเขียนคือการปั้นขึ้นมาแล้ว อ๋อ ความคิดช่วงนี้หน้าตาประมาณนี้” เขาบอกฉัน

หากเป็นอย่างนั้น เมื่อย้อนมองสิ่งที่ขึ้นรูปจากกองดินตลอด 13 ปี นิ้วกลมมองเห็นสิ่งใด

“มันเหมือนมี 2 สิ่งดำเนินคู่กันมา หนึ่งคือ ความเชื่อมั่นอย่างมากในตัวเอง ในพลังของมนุษย์ กับอีกอย่างคือ ความถ่อมตัวและการเหนี่ยวรั้งตัวเองไม่ให้ทะเยอทะยานเกินไป สองสิ่งนี้มันเดินสลับขากันมาตลอดเวลา เช่น สมมติเราเขียนถึงความฝันใน โตเกียวไม่มีขา ว่าคุณต้องเดินไปหามัน แล้วมันจะสำเร็จ พอมาเขียนถึง กัมพูชาพริบตาเดียว มันพูดถึงปราสาทหินที่ยิ่งใหญ่กับการพังทลายผุกร่อน แล้วไปจบลงตรงที่ว่า ชีวิตมีแค่พริบตาเดียวเอง คุณอาจไม่ต้องสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่อาจต้องให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กๆ ที่มีความสำคัญกับคุณ จนถึงทุกวันนี้ เราก็ยังเห็นสาร 2 อันนี้ดึงกันไปมาตลอดเวลา”

แล้วความฝันอยากเปลี่ยนแปลงโลกที่เคยพูดถึงยังอยู่ไหม-ฉันสงสัย

“เราว่ายังมี แต่ก็มีช่วงเวลาที่มันลดต่ำลงไป มีช่วงเวลาที่คิดว่า จะเปลี่ยนได้เหรอวะ ไม่มั่นใจ รู้สึกหดหู่” นิ้วกลมบอก ก่อนเล่าภาวะจิตใจที่สะท้อนผ่านงานเขียน “ที่จริงเราลองมาไล่ดูหนังสือช่วงหลังแล้ว มันตลกมาก หนังสือเล่มที่เราเริ่มพูดถึงสังคมคือ ความฝันที่มั่นสุดท้าย ซึ่งพูดถึงพื้นที่ของสันติภาพและความรัก ตอนนั้นมันก็เริ่มเป็นผลผลิตจากบ้านเมืองที่ขัดแย้งแล้ว ชื่อมันสะท้อนมากเลยว่า ถ้าจะเหลือความฝันอยู่ ถ้าสันติภาพและความรักยังมีอยู่ นี่เป็นที่มั่นสุดท้ายแล้วนะ

“หลังจากนั้น ก็เริ่มมีหนังสืออย่าง หยดน้ำในกองไฟ ซึ่งมันแค่หยดน้ำเอง อยู่ในกองไฟเบ้อเร่อเลย จากนั้นก็ หากความเข้าใจยังมีอยู่จริง แล้วเราก็เริ่มหมดหวังไปเรื่อยๆ ค่อนข้างสิ้นหวังกับความเข้าใจกันและความสามารถในการแลกเปลี่ยนความคิดกันของคนในสังคม เพราะรู้สึกว่ามันขัดแย้งสูงขึ้นจนเริ่มหาทางออกไม่เจอ เราอยู่ในภาวะที่มีโอกาสปะทะกับทุกคน ทั้งนอกบ้านและในบ้าน แล้วเราก็พยายามหาทางออก จนสุดท้ายผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นหนังสือ เช่น วินาทีที่เป็นอิสระ เล่มนี้คือช่วงแสวงหาแล้วว่า ถ้าเยียวยาสังคมไม่ได้ เยียวยาตัวเองก่อน ก่อนที่จะป่วย คุณต้องมีความคิดยังไง ปฏิบัติตัวยังไง ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือในการหาคำตอบ หลังจากนั้นก็กลายเป็นหนังสือ แสง เป็นอีกช่วงเวลาที่คิดพ้นตัวเองไปแล้ว เราดีขึ้นแล้ว  ก็อยากจะหาว่า ถ้าเป็นสังคมล่ะ แต่ละคนเป็นแสงได้ในสังคมที่มีความขัดแย้งสูงได้ยังไงบ้าง เราก็เลยไปศึกษาประวัติชีวิตคนมารวบรวมว่าคนที่อยู่ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองขัดแย้งแล้วสามารถมอบปัญญาให้สังคมได้ ตอนนั้นเขาทำแบบไหน คิดแบบไหน”

ทางที่คล้ายไม่เห็นทางในตอนแรกเริ่มพบแสงสว่างปลายอุโมงค์ และหากจะถามว่าช่วงเวลาไหนที่ชายหนุ่มพ้นจากความมืดมิดสู่ความเจิดจ้า

คำตอบนั้นรออยู่บนเทือกเขาหิมะชื่อ หิมาลัย

การเติบโตของ นิ้วกลม จาก 'โตเกียวไม่มีขา' ถึง 'หิมาลัยไม่มีจริง'

แด่ แม่

คำอุทิศด้านบนมาจาก หิมาลัยไม่มีจริง หนังสือเล่มล่าสุดในชีวิตของนิ้วกลม

‘แม่’ ที่เขาเอ่ยถึงคือ พระแม่ธรณีหรือธรรมชาติ

ทริประยะเวลา 10 วันสู่ค่ายฐานเอเวอเรสต์ (EBC) บนหิมาลัยมอบอะไรแก่นักเขียนวัย 39 และเหตุใดที่แห่งนั้นจึงพิเศษ ในเมื่อนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นิ้วกลมออกเดินทางหรือปีนป่ายภูเขา

“หนึ่งคือความยิ่งใหญ่ของภูมิประเทศ หิมาลัยนี่ เวลาเราอยู่ข้างล่าง ก็เห็นมันแบบหนึ่ง เวลาขึ้นไปเรื่อยๆ ก็เห็นมันอีกแบบ ความยิ่งใหญ่แบบนี้ทรงพลังมาก สองคือ เราว่ามันคือพื้นที่ที่เราหนีห่างออกจากมนุษย์ไปเรื่อยๆ ไม่ได้หมายถึงคนที่เดินอยู่ข้างเรา แต่คือโลกมนุษย์ โลกที่มนุษย์สร้าง มนุษย์กำหนด เรามองไปมีแต่ต้นไม้ หิน เมฆ ท้องฟ้า ต้นหญ้า และเมื่อเป็นอย่างนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มากขึ้นเรื่อยๆ เลยทำให้เราเห็นความจริงในนิยามของธรรมชาติ คือมันเห็นกลไกชัดเจนมาก กลไกเหล่านี้เราเจอในหนังสือมาเยอะ แต่ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งจริงๆ  แล้วเป็นอย่างนี้ทุกวัน จากท้องฟ้าครึ้ม พระอาทิตย์ก็ส่อง หิมะบนภูเขาละลาย แล้วเราก็เห็นเลยว่ามันระเหยขึ้นเป็นไอไปก่อเป็นก้อนเมฆ พอตกสายหรือบ่ายหน่อย บางทีมันรวมตัวกันครึ้ม แล้วฝนก็ตก น้ำฝนก็ไหลไปกลายเป็นแม่น้ำ”

สภาวะการได้หลอมรวมกับธรรมชาติกระทบใจชายหนุ่มมากจนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ลอกคราบ-เขาเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนั้น

“เราไม่ได้บรรลุธรรมหรืออะไรทั้งสิ้น แต่สัมผัสได้จริงๆ ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ใช่จากการอ่าน ไม่ใช่จากการมีนักวิทยาศาสตร์มาอธิบายให้ฟัง ซึ่งทำให้เราเห็นว่า สิ่งหนึ่งประกอบด้วยอีกไม่รู้กี่สิ่ง ในตัวเราไม่รู้มีแบคทีเรียกี่ล้านตัว นั่นแปลว่ามันไม่ใช่เรา มันก็แค่สิ่งที่มาประกอบกันใช่มั้ย เพราะอย่างนั้น ในมิติอื่นของชีวิต สิ่งที่เราทำสำเร็จ มันก็ไม่ใช่เพราะเราทำแต่เพียงผู้เดียว แต่เพราะมีคนที่สร้างโอกาสเหล่านี้ให้เราได้มีชีวิตอยู่ต่อไป เราเห็นความเชื่อมโยงว่าที่เรายังนั่งคุยกันอยู่ได้ เพราะเมื่อวานมีคนทำข้าวผัดกะเพราให้เรากิน มีไก่ตัวหนึ่งยอมเป็นไก่ในจานข้าวให้เรา

“เมื่อคุณตระหนักรู้สิ่งนี้อยู่ในใจลึกๆ สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนมากที่สุดเลยคือ เราเคารพคนอื่น เคารพทุกสิ่ง เชื่อว่ามีสิ่งที่เกื้อหนุนให้เรามีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งสิ่งนี้ลึกซึ้งมากในความรู้สึกเรา แล้วก็จะส่งผลต่อการปฏิบัติตัวกับผู้คน กับโลกใบนี้ แต่ก่อนเรารู้สึกว่า อยู่บนโลกใบนี้เพื่อหาที่ยืนแล้วประกาศกับโลกว่า กูนี่แหละนิ้วกลม มึงหันมามองกูสิ กูจะบอกมึงอย่างนี้ แล้วก็อาจจะชอบเอาชนะ หมายถึงว่าถ้าเราไม่เคารพอะไรเลย รู้สึกว่าเราถูก เรายิ่งใหญ่ เวลาเราถกเถียงกับใคร ก็จะรู้สึกอยากหาความถูกต้องบางอย่าง แต่พอมีความเคารพเกิดขึ้นในใจ เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ ทุกอย่างมันน่าขอบคุณน่ะ แล้วเราก็รู้สึกว่า ชีวิตมีคุณค่ามาก คนเหล่านี้ อากาศ แดด มีคุณค่ามาก เมื่อเห็นแบบนี้ นั่นแปลว่าตัวเราเองโคตรมีคุณค่าเลย เรามีคุณค่าต่อกันและกัน แล้วในเมื่อเป็นอย่างนั้น เราก็ควรปฏิบัติต่อกันให้งดงามที่สุด ไม่มีเหตุผลอื่นใดเลยที่จะต้องทำดีแก่กัน เพราะมันไม่มีเราไง ไม่มีผมกับคุณ เราเป็นหนึ่งเดียวกัน เมื่อผมดี คุณจะงดงามด้วย นี่คือความรู้สึกที่เกิดขึ้น แต่ก่อนเรามองแค่ว่าเราอยากดี แต่ตอนนี้เราเห็นความงามของคนอื่นแล้วคิดว่าก็งามไปด้วยกัน

“และถ้าอ่าน หิมาลัยไม่มีจริง จนจบ จะพบ 2 คำตอบเรื่องการเปลี่ยนแปลงโลก คือเราเปลี่ยนแปลงได้และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หมายถึงเราเปลี่ยนแปลงได้โดยที่ไม่รู้ตัวและอาจไม่เห็นมันก็ได้ แล้วสิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้เปลี่ยนไปแบบที่เราคิด คุณสร้างภาพสังคมอุดมคติหรือโลกอุดมคติ กำหนดมันเป็นจุดมุ่งหมายเหมือนเป็นนโยบายบริษัท แล้วมุ่งหน้านำโลกไปสู่สิ่งนั้นไม่ได้หรอก ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม เพราะคุณเป็นแค่สิ่งโคตรเล็กในจักรวาลนี้ ยังมีปัจจัยอื่นอีกมาก แต่ขณะเดียวกัน การมีอยู่ของคุณ สิ่งที่คุณทำก็ค่อยๆ เปลี่ยนจักรวาลนี้ไปเรื่อยๆ เช่นกัน”

เทือกเขาหิมะมอบความเข้าใจนี้ให้นักเขียนวัย 39 เป็นความเข้าใจที่คลี่คลายภาวะหม่นหมองก่อนหน้า และเป็นความเข้าใจที่เขาบอกว่านักเขียนในวัย 26 ซึ่งมีสภาวะภายในต่างไปคงมองไม่เห็น

และเขาก็ลงมือถ่ายทอดความเข้าใจดังกล่าว กลายเป็นผลงานเขียนที่มีจุดหมายต่างกับงานเขียนเล่มแรกของนักเขียนวัย 26 คนนั้น

“เราไม่เคยรู้สึกว่าอยากนั่งเขียนหนังสือทั้งวันทั้งคืนแบบนี้นานแล้ว แล้วก็รู้สึกว่ามีอะไรอยู่ในตัวที่อยากบอกเล่ามาก นั่นคือความรู้สึกตอนเขียน โตเกียวไม่มีขา เลย” นิ้วกลมเล่า “แต่ที่ไม่เหมือนคือสิ่งที่เขียนนั่นแหละ โตเกียวไม่มีขา เขียนด้วยการอยากจะบอกว่าตัวเองเจ๋ง เขียนด้วยความรู้สึกรักตัวเอง ยิ่งเขียนยิ่งรัก เก่งฉิบหายเลย แต่ หิมาลัยไม่มีจริง เขียนด้วยความรักคนอื่น คือเราได้สัมผัสประสบการณ์นี้แล้วมันดีมากกับจิตใจเรา เราก็อยากส่งต่อ อยากบอกสิ่งนี้จริงๆ เป็นความรู้สึกอยากให้คนอ่านจริงๆ ทุกวันนี้ระหว่างขับรถ เราเปิดเพลงส่งต่อความรักของพี่บอย โกสิยพงษ์ ชิงชิงยังถามว่าทำไมต้องเปิดเพลงนี้ตลอดเวลา เราก็บอกว่าไม่รู้ว่ะ อินว่ะ คือเราอาจตีขลุมไปเองก็ได้ แต่เราคิดว่าเข้าใจความรู้สึกของพี่บอยตอนแต่งเพลงนี้ คืออยากส่งต่อความรักให้คนทุกคน เราคิดว่าเราเขียน หิมาลัยไม่มีจริง ด้วยความรู้สึกนั้น”

‘บทสรุปของความเข้าใจในวัย 39’ คือนิยามที่นิ้วกลมวัย 39 มอบให้หนังสือเล่มล่าสุด

เป็นบทสรุป เป็นการเติบโตงดงาม ที่ชวนให้เฝ้ารอดูเขาปั้นดินกองต่อไป

การเติบโตของ นิ้วกลม จาก 'โตเกียวไม่มีขา' ถึง 'หิมาลัยไม่มีจริง'
 

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan