เป็นเรื่องง่ายมากหากวันหนึ่งเราอายุขึ้นต้นด้วยเลข 4 แล้วจะพบว่าสิ่งที่เคยประกาศไว้ในวัยหนุ่มสาวกลายเป็นเพียงลมปาก

ในวันที่ หนุ่ม-โตมร ศุขปรีชา เขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิต เขาเขียนหน้าประวัติผู้เขียนวรรคหนึ่งว่า ‘อยากตายไปกับการเขียนหนังสือ และหวังให้การเขียนหนังสือเป็นอาชีพสุดท้ายในชีวิต’

แน่นอนว่าวันสุดท้ายในชีวิตเขายังไม่มาถึง ผมจึงไม่อาจฟันธงได้ว่าถ้อยคำที่เขาประกาศจะเป็นจริงตามนั้นไหม แต่ที่บอกได้คือวันล่าสุดของชีวิต เขายังคงเขียนหนังสือ และยึดถือการเขียนเป็นอาชีพ หล่อเลี้ยงปากท้องและบางสิ่งที่อยู่ข้างในตัวเขา

หากคิดถึงชื่อนักเขียนที่มีผลงานออกมาต่อเนื่องทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ ชื่อของเขายังคงเป็นชื่อแรกๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง

นับจากหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่ชื่อ กาแแฟและชา หมาและแมว ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2543 มาจนถึงวันนี้ เขาเขียนและแปลหนังสือรวมกันผ่านหลักครึ่งร้อยมาแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด นอกจากนั้นยังมีงานเขียนในฐานะคอลัมนิสต์และโปรเจกต์ยิบย่อยอีกนับไม่ถ้วน อาทิ นิตยสาร MAD ABOUT ที่เขาเป็นบรรณาธิการร่วมกับนิ้วกลม หรือล่าสุดเขาก็เพิ่งเปิดเว็บไซต์ tomorn.co เผยแพร่ผลงานของเขาสมัยเป็นคนทำนิตยสาร

ผมเดินทางไปพบพี่หนุ่มของน้องๆ ในวงการนักเขียนที่คอนโดมิเนียมของเขาเพื่อพูดคุยถึงหนังสือเล่มแรกในชีวิต

ไม่แน่ใจนักว่าคนอื่นๆ จดจำรายละเอียดชีวิตและความคิดของตัวเองในช่วงวันต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหน แต่จากการสนทนาทำให้ผมรู้ว่าเขาจดจำได้ค่อนข้างแม่นยำ

20 เฝ้าฝันถึงสิ่งใด 30 เปลี่ยนไปไหม 40 เข้าใจอะไรใหม่ เขาบรรยายเป็นถ้อยคำได้แทบทั้งหมด

ไม่มี กาแฟ ชา และหมา มีเพียงแมวชื่อ ‘โคยะ’ ที่เขาเลี้ยงไว้เดินมานั่งเคียงข้างระหว่างที่เราสนทนากัน และนี่คือสิ่งที่แมวตัวนั้นได้ยิน

การเติบโตของ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนผู้ประกาศตัวในหนังสือเล่มแรกว่าหวังให้การเขียนหนังสือเป็นอาชีพสุดท้าย
การเติบโตของ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนผู้ประกาศตัวในหนังสือเล่มแรกว่าหวังให้การเขียนหนังสือเป็นอาชีพสุดท้าย

-20-

ในหน้าประวัตินักเขียน ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ปะทะสายตาเมื่อพลิกหนังสือ กาแฟและชา หมาและแมว ผมสนใจข้อมูล 2 วรรค

วรรคแรก-โตมร ศุขปรีชา จบชีวเคมีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความบังเอิญและความรักทำให้เขาก้าวเดินบนถนนของคนเขียนหนังสือ

วรรคสอง-ถ้าไม่ตายไปกับการเล่นดนตรี ก็อยากตายไปกับการเขียนหนังสือ และหวังให้การเขียนหนังสือเป็นอาชีพสุดท้ายในชีวิต

ทำไมกล้าประกาศในหนังสือเล่มแรกว่าจะเขียนหนังสือเป็นอาชีพสุดท้าย” ผมถามชายเจ้าของห้องและเจ้าของแมวที่นอนขี้เซาอยู่ไม่ไกล

“เราก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงกล้าเขียนอย่างนั้น เพ้อฝันไปเองหรือเปล่านะ แต่ดูเหมือนทุกวันนี้ก็น่าจะเป็นอย่างนั้นแล้วหรือเปล่า มันอาจจะไม่ใช่การประกาศ แต่อาจจะเป็นคำสาป” โตมรหัวเราะสดชื่นเมื่อตอบถึงตรงนี้ “สาปตัวเองเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถไม่เขียนได้

“ไม่รู้สิ แต่ว่าก็รู้สึกอย่างนั้นตั้งแต่ต้น เราเขียนหนังสือตั้งแต่เด็กๆ สมัยก่อนก็เขียนไปลง ลลนา หรือ สตรีสาร เราเห็นว่าการเขียนหนังสือเป็นทางหนีของเราอย่างหนึ่ง ทุกครั้งที่เขียนหนังสือ เราจะรู้สึกว่าเราไม่ได้เขียนเองมาตั้งแต่ต้น เวลาลงไปนั่งเขียนเหมือนตัวหนังสือมันไหลออกมาเองที่ปลายนิ้ว เราไม่ต้องไปบีบคั้น มันไม่เคยเป็นความทุกข์ทรมาน มันเป็นความสุขในการเขียน แล้วช่วงที่เราเรียนคณะวิทยาศาสตร์ เราต้องเรียนแคลคูลัส เรียนฟิสิกส์ ซึ่งมันโหดร้ายกับตัวเองมาก พอถึงเวลาที่ต้องอ่านเพื่อเตรียมสอบ เราก็เอาหนังสือไปนั่งในห้องสมุดแล้วก็เขียนกลอน แล้วส่งไปตามนิตยสาร ซึ่งก็ได้ตีพิมพ์ ส่วนฟิสิกส์กับแคลคูลัสได้เกรด D ทั้งสองตัว” เราหัวเราะพร้อมกันเสียงดังหลังคำตอบของเขา

การเติบโตของ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนผู้ประกาศตัวในหนังสือเล่มแรกว่าหวังให้การเขียนหนังสือเป็นอาชีพสุดท้าย

ย้อนกลับไปในวันแรกบนเส้นทางอันยาวนาน เขาเริ่มทำงานนิตยสารตั้งแต่เรียนจบ ทั้งในบทบาทของกองบรรณาธิการและบรรณาธิการ ไล่เรียงตั้งแต่นิตยสาร Trendy Man, IMAGE มาจนตำแหน่งที่ทำให้ใครหลายคนจดจำเขาได้คือบรรณาธิการบริหารนิตยสารผู้ชายอันดับ 1 ของประเทศอย่าง GM ในยุคสมัยที่นิตยสารยังรุ่งเรือง

“ตอนนั้นคิดว่าอยากเขียนหนังสือ เราก็เลยมาทำงานเป็นคนทำหนังสือ” อดีตบรรณาธิการย้อนเล่าถึงเหตุผลที่ชีวิตหันเหมาสู่เส้นทางสายนิตยสาร “แล้วก็พบว่าการเป็นคนทำหนังสือมันขัดขวางการเขียนหนังสือชิบเป๋งเลย คือการที่เราต้องเขียนทุกเดือน ทุกอาทิตย์ ทุกสัปดาห์ ในที่สุดแล้วเราแทบจะไม่เหลืออะไรให้เขียนอีก”

แม้จะออกตัวอย่างนั้น แต่หนังสือเล่มแรกในชีวิตของเขาอย่าง กาแฟและชา หมาและแมว ก็มาจากการรวมผลงานจากชีวิตการทำนิตยสาร

เมื่อพลิกอ่านทีละหน้า สิ่งที่เป็นจุดร่วมหนึ่งในหนังสือเล่มแรกคือเขาเขียนถึงคนธรรมดาที่พบเจอในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะเป็นคุณลุงคนขับแท็กซี่ คุณยายและลูกสาวบนเรือข้ามฟาก หรือชายชรานักลับมีด

แปลกดีไหม บนเส้นทางคนทำงานนิตยสาร เขาได้พบเจอผู้คนมากมายที่ชีวิตน่าสนใจ ทำสิ่งยิ่งใหญ่ มีโปรไฟล์ยาวเหยียด แต่ในหนังสือเล่มแรกเขากลับเลือกเล่าชีวิตคนธรรมดาชนิดที่ถ้ากลับไปหาอาจไม่พบ

“ตอนนั้นเราเขียนคอลัมน์ชื่อ You remind me of life ที่แปลว่า คุณเตือนให้ฉันนึกถึงชีวิต ช่วงนั้นเวลาทำนิตยสาร เราไปสัมภาษณ์คนรวยหรูหรา ใช้ก๊อกน้ำทองคำ ซื้อรถเบนซ์แบบเดินไปซื้อหน้าปากซอยแล้วขับกลับมา ซึ่งเราไม่ได้หมายความว่าชีวิตพวกเขาไม่มีคุณค่าอะไรนะ คือมันก็มีคุณค่าในแบบของเขา แต่ว่ามันไม่ได้เชื่อมโยงกับตัวเรา ไม่ได้ทำให้เรานึกถึงชีวิต ในขณะที่ชีวิตของคนที่ขาดแคลน คนที่เป็นคนธรรมดา คนที่เจอตามท้องถนน เรามองเข้าไปในตาเขาแล้วเห็นอะไรบางอย่างในนั้น บางทีมันกระทบใจเราในบางวูบมากกว่า เราจึงเขียน”

และหากการตีความของผมไม่คลาดเคลื่อนจนเกินไป ผมคิดว่าส่วนหนึ่งที่เขาชอบเฝ้ามองผู้คนในชีวิต อาจเป็นเพราะสิ่งที่เขาได้รับการปลูกฝังจากผู้เป็นแม่ อย่างที่เขาเขียนเอาไว้ใน ‘คำนำผู้เขียน’

แม่สอนผมด้วยคำสอนเก่าแก่ว่า

คนเราเหมือนนิ้วมือแต่ละนิ้ว แต่ละนิ้วไม่เหมือนนิ้วอื่น

แต่ไม่ได้หมายความว่านิ้วโป้งสำคัญกว่านิ้วชี้

นิ้วชี้สำคัญกว่านิ้วกลาง หรือนิ้วกลางสำคัญกว่านิ้วก้อย

แม่หมายความว่า มือต้องมีนิ้วที่แตกต่างกันเสมอ

ผมจึงชอบเฝ้าดูผู้คนโดยไม่ปริปากพูด

ไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้รู้จักผู้อื่น

และปล่อยให้พวกเขาสอนเราถึงวิธีมีชีวิตอยู่อีกแล้ว

การเติบโตของ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนผู้ประกาศตัวในหนังสือเล่มแรกว่าหวังให้การเขียนหนังสือเป็นอาชีพสุดท้าย

-30-

นอกจากนักเขียน อีกสถานะหนึ่งที่เขาได้รับ-ไม่ว่าเขาจะยินดีรับไว้หรือไม่ คือนักคิด

เขาใช้ตัวอักษรอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมสม่ำเสมอ ไม่ว่าประเด็นนั้นจะละเอียดอ่อนแค่ไหนหรือใครบอกว่าอย่าหยิบมาคุยกันบนโต๊ะอาหาร-เดี๋ยวทะเลาะกัน

“ทุกวันนี้หลายคนเรียกคุณว่านักคิด ย้อนกลับไปคุณเป็นคนชอบแสดงความเห็นมาแต่ไหนแต่ไรแล้วหรือเปล่า” ผมถามโดยที่โคยะยังคงนอนนิ่งไม่สนใจราวกับบทสนทนาตรงหน้าเป็นเพียงเสียงลมพัดผ่าน

“ไม่ เราไม่ค่อยได้แสดงความเห็น” นักเขียนตรงหน้าปฏิเสธทันที “หมายถึงสมมติว่าจะให้ไปเป็น activist เราก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น งานที่เราทำเป็นงานเขียนมากกว่า เป็นงานแสดงความคิดเห็นอยู่ข้างหลัง อยู่ข้างนอกวงมองดู แล้วก็เขียนถึง เรารู้ตัวเองมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้วว่าไม่ได้เป็นคนที่จะไปก่อตั้งขบวนการหรือไปอยู่ในขบวนประท้วง ชอบอยู่เงียบๆ เราไม่ชอบไปยุ่งกับคนมาก แต่อาจจะพูดคุยถกเถียงกันได้

“สมัยก่อนกินเหล้าก็อาจจะมีนั่งเถียงกันเรื่องชีวิต อย่างที่เราเคยเขียนไว้ว่า ‘เถียงกันเรื่องชีวิตทั้งที่ไม่รู้จักชีวิต’ เถียงกันถึงเช้า ตอนนั้นเราเพิ่งอายุยี่สิบกว่าเอง ก็คุยกันว่าชีวิตมันคืออะไรวะ ทำไมต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง คุยกันว่าโลกคืออะไร แล้วถ้าเกิดว่าเราขับยานอวกาศออกไปเรื่อยๆ ในที่สุดแล้วมันจะไปออกจากปากคนคนนึงมั้ย คือโลกมันอาจจะเป็นแค่เซลล์นึงของสิ่งมีชีวิตที่ใหญ่มากๆ หรือเปล่า

“คุยอะไรกันก็ไม่รู้” ถึงตรงนี้เขาก็ยิ้มกว้างให้กับโตมรและเพื่อนพ้องในวัยหนุ่มสาว

“ย้อนมองกลับไปรู้สึกยังไงที่เห็นตัวเองคุยเรื่องชีวิตทั้งที่ไม่เข้าใจมัน” ผมชวนเขาย้อนมองตัวเองในวันวาน

“ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ไม่ได้สมเพชเวทนา คิดว่าดีแล้วที่ได้คิดเรื่องพวกนี้ พูดคุยกันเรื่องพวกนี้ เพราะว่ามันก็เป็นการเปลี่ยนผ่านของชีวิตแหละ เหมือนเรารู้ว่าเดี๋ยวชีวิตจะเดินต่อไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นการคุยเรื่องพวกนี้มันก็เป็นเหมือนกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ทำให้มองเห็นว่ามันมีความเป็นไปได้ในชีวิตอะไรบ้าง ซึ่งถ้าคุยกันเยอะๆ ก็ดี คุยเรื่องที่เราไม่รู้แหละดี มันเห็นคำตอบของคำถาม

“ใครไม่รู้บอกว่าตอนเราอายุยี่สิบจะเหมือนเรารู้ทุกอย่างในโลก แต่ว่าจริงๆ แล้วมันเป็นมุมมองแบบ tunnel vision คือเราคิดว่าเราเห็นทุกอย่างในโลก แต่มันแคบ เพราะฉะนั้น การเอาความแคบนั้นไปปะทะกับคนอื่น ซึ่งอาจจะเป็นคนวัยเดียวกัน เห็นโลกแคบเหมือนกัน อย่างน้อยมันก็กระทบกันแล้วอาจจะช่วยเปิดอะไรบางอย่างให้เราได้ คุยกันเอง กระทบกันเอง กระแทกกันเอง เถียงกันเอง เถียงกันไปถึงเช้า ซึ่งเราเองจำไม่ได้แล้วว่าเถียงอะไร แต่เป็นเรื่องประมาณนี้แหละ ชีวิตคืออะไร”

การเติบโตของ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนผู้ประกาศตัวในหนังสือเล่มแรกว่าหวังให้การเขียนหนังสือเป็นอาชีพสุดท้าย

และคงไม่ใช่แค่ร่างกายที่เติบโตขึ้นตามตัวเลขนำหน้าอายุที่เปลี่ยนไป สิ่งที่ครุ่นคิดอยู่ในหัวก็เติบโตขึ้นเช่นกัน

จากที่สงสัยว่าชีวิตคืออะไร เกิดมาทำไม เขาเริ่มใคร่ครวญถึงเรื่องวันสุดท้ายของลมหายใจ

“มันจะมีขั้นตอนของชีวิตแต่ละคนที่ดูคล้ายๆ กัน ถ้าเป็นช่วง 20 ต้นๆ ก็อาจจะเป็นช่วงที่เราเห็นโลกสดใหม่ไปหมด ซึ่งถ้าเราไปเดินผ่านคุณลุงลับมีดที่เคยเขียนถึงตอนนี้ เราอาจจะไม่รู้สึกอะไรกับลุงคนนี้ก็ได้ เพราะตอนนี้ก็เห็นคนที่ยากลำบากเยอะแยะมากมาย เราอาจจะไม่มีสายตาละเอียดอ่อนมากพอที่จะเหลือเอาไว้ดูสิ่งที่เหล่านั้นอีกต่อไป

“ส่วนพวกอายุสามสิบกว่าที่เริ่ม coming of age ก็เป็นแบบเดียวกัน คือคิดว่าชีวิตจะไปยังไงต่อ ชีวิตมันจะมีอะไรใหม่ต่อไปหรือเปล่า หรือว่ามันจะย่ำอยู่กับที่อย่างเดิม ส่วนตอนอายุสามสิบปลายๆ เราคิดถึงเรื่องความตายเยอะ แล้วเพื่อนทุกคนก็คิดเหมือนกันเลย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ก็คิด ปราบดา หยุ่น ก็คิด ทำไมคนรุ่นใกล้ๆ กันถึงคิดเรื่องคล้ายๆ กัน”

“แล้วคุณเริ่มเข้าใจชีวิตตอนไหน” ผมถามนักเขียนที่วันนี้อายุของเขาขึ้นต้นด้วยเลขสี่

“โอ้ย ตอนนี้ก็ยังไม่เข้าใจเลยครับ” เขาตอบทันที

“ที่ว่ายังไม่เข้าใจชีวิต คุณมีวิธีทำความเข้าใจชีวิตยังไง”

“อยู่ไปเรื่อยๆ มีชีวิตอยู่ไปเรื่อยๆ ไม่เข้าใจมันหรอก แต่ว่าอยู่มันไป just be น่ะครับ ก็แค่อยู่เฉยๆ คือเราไม่เข้าใจหรอก แต่ว่าเราจะมองทุกอย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดาได้มากขึ้น มีอะไรประหลาดเป็นทุกข์ที่เข้ามามันก็จะเฉยๆ มากขึ้น

“เฉยๆ ไม่ได้หมายความว่าไม่รู้ร้อนรู้หนาวนะ แต่หมายถึงว่ามันไม่กระเพื่อมข้างในแล้ว”

การเติบโตของ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนผู้ประกาศตัวในหนังสือเล่มแรกว่าหวังให้การเขียนหนังสือเป็นอาชีพสุดท้าย
การเติบโตของ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนผู้ประกาศตัวในหนังสือเล่มแรกว่าหวังให้การเขียนหนังสือเป็นอาชีพสุดท้าย

-40-

ทุกวันนี้แม้เขาจะบอกลางานนิตยสารแล้ว แต่การเขียนยังคงเป็นดั่งกิจวัตร เหมือนอาบน้ำ เหมือนแปรงฟัน  เหมือนกินข้าว

วันใดที่ขาดหายไป มันคงกลายเป็นวันที่ผิดปกติ

“ความสุขก็เหมือนเดิมนะ ยังอยู่ที่การได้อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ได้คิด ได้อยู่กับเพื่อน ได้พูดคุยถกเถียงกัน”

วันที่เราพบเจอกัน โตมรเพิ่งหายจากการป่วยหนักได้ไม่นาน ซึ่งผมทราบข่าวการล้มป่วยครั้งนี้จากสเตตัสเฟซบุ๊กของเขา

เขาป่วยหนักขนาดที่เห็นบ้านหมุนรุนแรงเหมือนนั่งรถไฟเหาะตีลังกา 3 วัน 3 คืนติดกันซึ่งแน่นอนว่ามันไม่สนุกเหมือนนั่งรถไฟเหาะหรอกนะ

ณ เวลานั้นไม่ต้องพูดถึงการเขียนสิ่งใด แค่ประคองตัวลุกนั่งเขายังทำไม่ได้ และถ้าให้เดานี่น่าจะเป็นครั้งที่โตมรหยุดเขียนหนังสือนานที่สุดในรอบหลายปี

การเติบโตของ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนผู้ประกาศตัวในหนังสือเล่มแรกว่าหวังให้การเขียนหนังสือเป็นอาชีพสุดท้าย

“การป่วยครั้งล่าสุดทำให้คุณตระหนักถึงอะไรบางอย่างบ้างมั้ย” ผมถามโดยคิดเอาเองว่าเขาคงหวาดกลัวและคิดอะไรได้มากมายจากการป่วยครั้งล่าสุด แต่นั่นแหละ คนอย่างโตมร ใช่ว่าจะคาดเดาคำตอบกันได้ง่ายๆ

โห มันสนุกมากเลย” แน่นอน บนใบหน้าของผมมีเครื่องหมายคำถาม “เราได้เห็นว่าเราควบคุมร่างกายตัวเองไม่ได้ คือบ้านหมุนมันมีหลายแบบ ของเราหมุนเพราะเส้นประสาทที่หูอักเสบ ทำให้ตากับหูทำงานไม่ประสานกัน แล้วมันหมุนอย่างรุนแรงและเร็ว หมุนรุนแรงอยู่ประมาณ 3 วัน 3 คืนติดกันไม่หยุดเลย หัวต้องนอนที่พื้น ยกขึ้นมาก็ไม่ได้ ต้องอยู่อย่างนั้น เพราะมันหมุน แล้วเราก็อ้วกเต็มตัวไปหมด พอดีแม่อยู่ก็เรียกแม่ให้มาช่วยโทรศัพท์ไปหาโรงพยาบาล เขาก็มารับไป พอไปถึงหมอก็ให้ยานอนหลับขนานแรง มันได้หลับก็ดีขึ้น ตอนแรกยังเดินไม่ได้ ต้องทำกายภาพบำบัด หลังจากนั้นสักอาทิตย์นึงก็เหมือนกินไวน์ 2 แก้วตลอดเวลา

“แล้วตอนนอนกองอยู่บนพื้น 3 วัน 3 คืน คิดอะไร”

“ไม่คิดอะไรเลย คิดว่าเมื่อไหร่จะหาย มันจะเป็นอย่างนี้ไปชั่วชีวิตมั้ย แต่เราไม่ได้รู้สึกว่ามันจะเป็นทุกข์ฟูมฟายเหมือนตอนเด็กๆ มันก็จะแบบ โอเค เป็นก็เป็น ไม่กลัว ไม่ได้รู้สึกว่ากูจะตายแล้ว เพราะว่าเราก็ทดสอบตัวเองตลอดเวลา แล้วตอนนั้นถึงแม้ว่าโลกมันจะโคลงเคลง แต่โชคดีเราดูอะไรใกล้ๆ ได้ ดูซ้ายขวาได้ เพราะฉะนั้น เราสามารถทำอย่างนี้ได้”

พูดถึงตรงนี้ เขาก็หยิบไอแพดขึ้นมาวางบนขาที่ชันเข่าตั้งขึ้นในท่านอน ในขณะที่มือทำท่าพิมพ์ลงบนหน้าจอทัชสกรีน

“คือโลกมันโคลงเคลงนะ แต่เราเขียนต้นฉบับส่งได้” นักเขียนที่เพิ่งหายป่วยพูดด้วยสีหน้าภูมิใจ

“สิ่งที่คุณทำมันตรงกับที่เขียนไว้ในหน้าประวัตินักเขียนของ กาแฟและชา หมาและแมว เลยนะ ที่บอกว่า อยากตายไปกับการเขียนหนังสือ” ผมแซวเขา

“เออว่ะ เขียนแล้วตายไปเลย” โตมรตอบเคล้าเสียงหัวเราะ

แม้เขาจะพูดด้วยน้ำเสียงทีเล่น แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า ลึกๆ เขาอาจคิดเช่นนั้นจริงๆ

 
 

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ