หากเป็นคนรักการบันทึกหรือขยันเสิร์ชกูเกิล เราย่อมรู้ว่าใน พ.ศ. 2547 มีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายเกิดขึ้น บ้างถูกลบเลือน บ้างยังส่งผลกระทบกระเทือนมาจนทุกวันนี้

หนึ่งในเหตุการณ์ที่อาจตกสำรวจ แต่มีความสำคัญไม่น้อยในแวดวงวรรณกรรมไทย คือการที่ผู้อ่านได้รู้จักกับนักเขียนหนุ่มหน้าใหม่ที่ชื่อ อุทิศ เหมะมูล เมื่อ ระบำเมถุน หนังสือเล่มแรกในชีวิตของเขาวางแผง

“สมัยนั้นคุณจะบอกใครว่าเป็นนักเขียนได้คุณต้องมีหนังสือเป็นเล่มนะ” นักเขียนวัยขึ้นต้นด้วยเลขสี่ว่าไว้อย่างนั้น

นับตั้งแต่แนะนำตัวด้วยนามบัตรที่ชื่อ ระบำเมถุน เป็นต้นมา อุทิศสร้างแรงสั่นสะเทือนให้วงการวรรณกรรมไทยเพียงใด ผลงานของเขาแสดงคำตอบชัดเจนดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายไตรภาคอย่าง ลับแล, แก่งคอย ที่ทำให้เขาคว้ารางวัลซีไรต์มาครอง, ลักษณ์อาลัย และ จุติ ยังไม่นับหนังสือเล่มอื่นๆ อีกหลักสิบเล่ม รวมถึงบทบาทบรรณาธิการนิตยสารที่ว่าด้วยเรื่องราวแวดวงวรรณกรรมอย่าง WRITER

ล่าสุด อุทิศเล่าผ่านสัญญาณโทรศัพท์ว่าตอนนี้ ร่างของปรารถนา นวนิยายเล่มใหม่กำลังใกล้คลอดเต็มที หากนับเวลาจากหนังสือเล่มแรกจนถึงหนังสือเล่มนี้ก็กินระยะเวลากว่า 13 ปี ซึ่งถือว่าไม่มากไม่น้อย

ไม่มากเกินจะทำให้คนอย่างเขาหมดไฟบนเส้นทางวรรณกรรม ไม่น้อยเกินจะทำให้เขาเข้าใจสัจจะบางอย่างบนเส้นทางนักเขียน

เรานัดพบเขาในบ่ายวันหนึ่งเพื่อพูดคุยถึงบางเรื่องราวเมื่อหนที่เขาเขียนหนังสือเล่มแรก ด้วยความเชื่อที่ว่า เราจะเห็นการเติบโตของคนคนหนึ่งจากผลงาน-หมายถึงหากเราเชื่อว่าชีวิตกับงานแยกกันไม่ออกน่ะนะ

อุทิศนั่งรออยู่ก่อนแล้วพร้อมหนังสือเล่มแรกในชีวิต หลังทักทายกันพอหอมปากหอมคอ เราจึงพลิก ระบำเมถุน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 แล้วชวนอุทิศในวันนี้เล่าถึงอุทิศในวันนั้น

การเติบโตของอุทิศ เหมะมูล จาก 'ระบำเมถุน' ถึง 'ร่างของปรารถนา'

ระบำเมถุน พิมพ์ครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์สเกล มีนาคม พ.ศ. 2547

ในหน้าข้อมูลทางบรรณานุกรมระบุชัดเจนว่าหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2547 ยกนิ้วบวกลบดูแล้วก็รู้ว่าตอนนั้นเขากำลังอายุ 29 ย่าง 30

“ตอนนั้นห่ามมาก จริงๆ ห่ามมาตั้งแต่อายุ 15 – 16 แล้ว ห่ามมาตลอด” อุทิศเอ่ยถึงตัวเองในวันวาน “เราเป็นพวกเรียกร้องความสนใจของโลกด้วยการห่าม ด้วยความที่เป็นวัยรุ่นแหละ วัยรุ่นต้องเป็นอย่างนี้ มีดี มีอะไรสำคัญ ก็อยากประกาศให้ทุกคนรู้ ประกาศให้โลกรู้ เป็นคนอารมณ์รุนแรง เกรี้ยวกราดมาก เป็นคนนิสัยไม่ดี เป็นคนปากร้าย ชอบจิกกัด กระแนะกระแหน ถ้าเป็นปัจจุบันก็เรียกว่าชอบแซะ เป็นหนัก”

“การเป็นคนแบบนี้ ห่าม พร้อมปะทะ มีข้อดีบ้างมั้ย” ผมถามให้ชายตรงหน้าทบทวน

“มีสิ” เขาตอบทันที “มันฝึกความกล้าหาญของเรา ทำให้เรากล้าที่จะเผชิญหน้า อย่างน้อยที่สุดคือเรารู้ว่าตอนนั้นเราต้องการอะไร และเรากำลังเรียกร้องอะไร อย่างสมัยเราเรียนอยู่ชั้น ปวช. ที่โคราช เราก็เป็นหนึ่งในคนประท้วงอธิการที่สั่งตัดต้นไม้ในสถาบัน เพราะตอนนั้นเราซีเรียสเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติ ฟังเพลงเพื่อชีวิต เรารู้สึกว่าต้นไม้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คุณทำอย่างนี้ได้ยังไง พาพรรคพวกบุกถึงห้องอธิการเลย”

“แล้วช่วงที่เขียน ระบำเมถุน คุณเป็นคนหนุ่มที่เชื่ออะไรเป็นพิเศษบ้างไหม” ผมดึงเขากลับมาที่หนังสือเล่มแรกในชีวิต

หลังได้ยินคำถาม เขาหยิบบุหรี่ขึ้นจุดก่อนตอบ

“เชื่อเรื่องศิลปะ เชื่อเรื่องการทำงานสร้างสรรค์ที่ไม่มีขอบเขต เราต้องมีอิสระ เสรี ที่จะคิดและทำตามสิ่งที่ตัวเองใฝ่หา ความจริงมันไม่ได้เป็นอุดมการณ์ขนาดนั้น แต่ในแง่พื้นฐานที่สุดคือคนคนนึงต้องได้ทำในสิ่งที่เป็นปัญหาในชีวิตของตัวเอง แล้วเขาสามารถสามารถที่จะพูดสิ่งนี้ได้ สามารถทำงานสร้างสรรค์หรือว่าคิดกับสิ่งนี้เพื่อที่จะทำออกมาเป็นงานศิลปะได้อย่างเต็มที่ ตรงไปตรงมา

“หนังสือเล่มแรกเราก็ระบายเต็มที่ บอกปัญหาความคับข้อง อึดอัดใจ ทั้งหมด ทั้งในตัวชีวิต ผ่านชีวิตของตัวละครหลัก กับพื้นเพข้างหลัง กับสถานการณ์ในชีวิตที่ต้องพบเจอ เราว่ามันก็บอกได้เต็มที่ตามความห้าวของเรา ตอนนั้นเราเขียนด้วยความห้าวจริงๆ พกความมั่นใจมาเต็มเปี่ยมว่าสามารถนำเสนอเสียงใหม่ๆ ได้ อาศัยความมั่นใจแบบนั้น ต้องการส่งเสียงว่ากูมาแล้ว” เล่าถึงตรงนี้ชายหนุ่มก็หัวเราะในความไร้เดียงสาของตัวเองในวันนั้น

แล้วตอนที่เขียน ระบำเมถุน คุณตั้งใจพูดเรื่องอะไร” ผมถามในขณะที่พลิกหน้าหนังสือทีละหน้า ทีละหน้า

ชายตรงหน้านิ่งคิดนานกว่าปกติ ต่างจากก่อนหน้าที่เขาตอบทันทีที่คำถามสิ้นสุด “พูดเรื่องของคนตัวเล็กๆ คนที่ดูเหมือนไม่ได้มีความหมาย ไม่ได้มีอะไร แต่ว่ามีชีวิตอยู่ และน่าจะมีความหมายต่อการรับรู้ ไม่ใช่ความหมายในแง่ของสถานภาพบทบาทของเขา แต่ว่าเป็นความหมายทางประสบการณ์ร่วมที่เราคิดว่าประสบการณ์นี้จะเข้าไปเชื่อมโยงกับประสบการณ์ทางชีวิตของคนอ่านได้

“ตอนนั้นคนตัวเล็กๆ ไม่ค่อยมีเสียงเท่าไหร่ ตอนนั้นหนังสือฮาวทูเต็มท้องตลาด พ่อสอนลูกรวยอะไรแบบนี้ เรารู้สึกว่า เฮ้ย วรรณกรรมควรจะทำหน้าที่ของเสียงที่ไม่ได้พูด เสียงที่ไม่ได้เล่า แต่มีความหมายไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าคนที่มีพื้นที่จะเล่า หรือเป็นอภิมหาเรื่องเล่าของสังคมตอนนั้น มันก็เลยกลายเป็นจุดหนึ่งที่ยังทำงานมาถึงปัจจุบันนี้ หมายความว่าเรื่องเล่าของเราเป็นเรื่องของคนตัวเล็กๆ เหมือนไม่มีอะไร แต่มันผูกกันไว้ด้วยประสบการณ์ทางอารมณ์ ทางความรู้สึก หรือสภาวะที่เกิดขึ้นกับชีวิต ซึ่งไม่ว่าคุณจะมีสถานะแบบไหนก็ตามในทางสังคม คุณเลี่ยงประสบการณ์ทางอารมณ์หรือทางชีวิตแบบนี้ไม่ได้เลย”

การเติบโตของอุทิศ เหมะมูล จาก 'ระบำเมถุน' ถึง 'ร่างของปรารถนา'

คำนำเสนอโดย แดนอรัญ แสงทอง

ก่อนพลิกเข้าบทที่ 1 ของนวนิยาย-หรือที่เขาใช้ว่า ‘ชิ้นส่วนที่ 1’ เราจะพบกับคำนำเสนอจากหนังเขียนรุ่นพี่แห่งกระท่อมผู้ชนะอย่าง แดนอรัญ แสงทอง

ด้วยความห่าม เขาตัดสินใจส่งต้นฉบับร่างแรกไปให้นักเขียนรุ่นพี่อ่าน

“ตอนนั้นพี่แดนอรัญเขาเริ่มมีชื่อแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้โด่งดังเป็นนักเขียนซีไรต์เหมือนในปัจจุบัน แน่นอน เขามีความน่านับถือ ความน่าเกรงขาม ซึ่งเกิดขึ้นมาจากตัวงานเขียนเขาเอง ตอนที่เราอ่าน เงาสีขาว หรืออ่าน อสรพิษ เราก็รู้สึกว่า โอ้ย อยากรู้จักนักเขียนคนนี้จังเลย อยากเรียกพี่จัง รู้สึกว่านี่พี่ชายกูนี่หว่า รู้สึกว่าเป็นคนทางเดียวกัน เป็นธาตุเดียวกัน พอเขียนเสร็จก็เลยใช้นิสัยห่ามๆ แบบที่เคยเป็นส่งต้นฉบับไปให้แกอ่าน เพราะว่าในหนังสือ อสรพิษ แกเขียนที่อยู่ไว้ เราก็เอาจากตรงนั้นแหละ แล้วเขียนจดหมายปะหน้าว่าอยากให้อาอ่าน อยากฟังคอมเมนต์”

คำตอบที่เขาได้รับกลับมาหาได้เป็นคำชมหรือให้กำลังใจอะไรเทือกนั้น ตรงกันข้าม เขาได้รับคำวิจารณ์ให้ไปแก้ไขปรับเปลี่ยนเสียใหม่ พร้อมคำแนะนำว่า อย่ามาเป็นนักเขียนเลย

รู้ไหมทำไมนักเขียนรุ่นพี่จึงแนะนำอย่างนั้น” ผมถามด้วยความสงสัย

คงเพราะการทำงานเขียนมันเป็นงานที่ลำบากลำบน บางทีความฝันที่ว่าใครสักคนอยากจะเป็นนักเขียนมันเป็นความฝันแบบ lollipop สวยงาม แต่ว่าพอมาอยู่จริงๆ แล้วมันไม่ได้สวยขนาดนั้น มันไม่ได้สวยอย่างภาพ มันมีความขมขื่น ความเสียอกเสียใจ อยู่ในทุกๆ ช่วงเวลา คนที่จะเป็นนักเขียนได้ต้องเป็นคนที่มีจิตอันสาหัส คือมีแรงเสียดทานที่สูงมากๆ กับการที่จะต้องยอมรับความเจ็บปวด ความเสียใจ ความขมขื่น อยู่บ่อยๆ ถูกฉีดเข้าไปด้วยสิ่งนี้บ่อยๆ เราคิดว่ามันคือคำเตือนด้วยความหวังดีที่บอกว่าอย่าเพิ่งเข้ามาเลย ยังหนุ่มอยู่ ยังมีชีวิตชีวา ไปใช้ชีวิตดีกว่า ถ้าอายุมากกว่านี้แล้วคิดว่าสิ่งที่อยากเขียนอยู่มันยังมีอยู่กับตัว ถึงวันนั้นค่อยเขียน”

แล้วทำไมตอนนั้นคุณไม่เชื่อคำเตือนของนักเขียนรุ่นพี่ที่อุตส่าห์หวังดีแนะนำ”

“ก็เราไม่ได้อ่านที่เขาเขียนมาแล้วคิดว่าให้เชื่อเขาไง แต่เราอ่านในความหมายที่ว่า กูถูกลองดีแล้ว” ว่าถึงตรงนี้เขาก็ระเบิดเสียงหัวเราะ “เฮ้ย ผมทำได้ ผมอยากเป็นนักเขียนจริงๆ ผมมีแรงเสียดทานที่ก่อนนี้ก็ฝึกฝนมา ถ้าเป็นจอมยุทธ์ก็ฝึกฝนมาระดับนึง มีอาวุธ อาจจะไม่ได้แหลมคม หรือว่ามีท่วงท่าการสังหารที่เร้าใจ ตรึงตา แต่ว่าเรื่องนี้มันก็ค่อยๆ ฝึกไปได้ แต่ถามว่าจิตใจที่มุ่งมั่นและตั้งมั่นมีมาก่อนแล้วมั้ย เรามี เพราะฉะนั้นเราก็มองคำพูดนี้ของพี่เขาเป็นลักษณะที่ท้าทายเรา ท้าทายว่ามึงเป็นไม่ได้หรอก อย่ามาทำเลย เราก็เลยรู้สึกว่า นี่ดูถูกกันนี่ เดี๋ยวเป็นให้ดู”

การเติบโตของอุทิศ เหมะมูล จาก 'ระบำเมถุน' ถึง 'ร่างของปรารถนา'

การเติบโตของอุทิศ เหมะมูล จาก 'ระบำเมถุน' ถึง 'ร่างของปรารถนา'

แด่…แอล

ใน ระบำเมถุน มีหน้าหนึ่งที่ซ่อนตัวเงียบเชียบ อาจไม่มีความหมายกับผู้อ่านมากนัก-บางคนอาจหนักถึงขั้นเปิดข้าม แต่สำหรับนักเขียนคนหนึ่ง ในหน้าที่ระบุชื่อของใครบางคนลงไปหลังคำว่า ‘แด่’ นั้นมีความหมายยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่

หนังสือเล่มแรกในชีวิต เขาอุทิศแด่คนรัก

“ก็อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ตั้งแต่เราเริ่มเขียนเรื่องสั้น แล้วก็พบรักกันตอนนั้น พอเขาอ่านเรื่องสั้นชื่อ ปริมาตรรำพึง ที่ได้ลงในนิตยสาร GM เขาก็ถูกดูดเลย เราก็ถูกเขาดูดเหมือนกัน ก็รักกัน พอมาอยู่ด้วยกันเขาก็ให้เราทำงานเขียนให้เต็มที่ ไม่ต้องไปทำงานอะไรที่จะดึงความสนใจจากการเขียนหนังสือไป เพราะฉะนั้น ทุกความยากลำบาก ทุกบาททุกสตางค์ ที่เขียนหนังสือเล่มนี้ออกมาถูกหล่อเลี้ยงโดยคนรักของเรา เราแทบไม่ได้หาเงินเข้าบ้านเลย เขียนอย่างเดียว”

นักเขียนซีไรต์ในวันนี้เล่าว่าตอนนั้นชีวิตแต่ละวันผ่านไปด้วยความรู้สึกผิด แทนที่นักเขียนคนหนึ่งจะยืนหยัดด้วยลำแข้งของตัวเอง มีเวลาพาคนรักไปกินอาหารที่ร้านดีๆ สักมื้อ แต่เขากลับไม่ได้ทำ-ทำไม่ได้

“มีอยู่ 10 บาทในกระเป๋า ทำยังไงล่ะ เขาเลี้ยงอีกแล้ว ทุกครั้งที่เขาซื้อข้าวกลับมาให้กิน คุณก็กินด้วยความรู้สึกว่าทำไมกูอยู่ไม่ได้ด้วยตัวเองขนาดนี้ ต้องมีคนเลี้ยงตลอดเลยเหรอ ดื้อด้านเนาะ หน้าด้านฉิบหาย มันจะมีความรู้สึกอะไรอื่นอีกล่ะ มึงก็รู้สึกผิด รู้สึกแย่ ได้แต่ถอนหายใจ คือชีวิตมันเป็นเรื่องที่ถอนหายใจบ่อยๆ” อุทิศเล่าถึงวันวานอันสาหัส

“ในขณะที่นักเขียนบางคนเรียกร้องความโดดเดี่ยวในการเขียนงาน แต่ชีวิตคุณเหมือนตรงกันข้าม มีคนรักหล่อเลี้ยงการเป็นนักเขียนเรื่อยมา” ผมตั้งข้อสังเกต

“ตอนที่เขียนหนังสือโดดเดี่ยวอยู่แล้ว แน่นอน มันเป็นอย่างนั้น แต่มีคนรักดีกว่า มีคนที่รักดีที่สุด ดีสำหรับหัวใจของนักเขียน เวลาที่คุณทำงาน คุณอยู่คนเดียว คุณเผชิญหน้ากับเรื่องที่คุณกำลังทำอยู่ มันโดดเดี่ยวอยู่แล้ว แต่พอคุณเงยหน้าออกมาจากมัน หลุดออกจากมัน คุณก็ต้องการสิ่งที่มีความหมายกับคุณใช่ไหม สิ่งที่เป็นชีวิตชีวาของคุณ มันย่อมดีกว่าอยู่แล้วที่จะมีใครอยู่ข้างๆ แล้วคุณได้พูดว่า วันนี้เขียนงานได้ดีจัง”

แล้วตอนที่เห็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตพิมพ์เสร็จ คุณเฉลิมฉลองยินดีมั้ย”

“ยินดีสิ ยินดีมาก สมัยนั้นคือคุณจะบอกใครว่าเป็นนักเขียนได้คุณต้องมีหนังสือเป็นเล่มนะ ตอนนั้นมันก็ยังเป็นสุนทรียะแบบนั้นอยู่นะ มันก็ยังเป็นกรอบเกณฑ์แบบนั้นอยู่ แล้วพอมันเป็นเล่มแล้ว คุณละเลียดดู คุณดมมันอยู่นั่น กลิ่นกระดาษเป็นยังไง

“คุณก็เป็นเหมือนกันใช่มั้ยล่ะ” เขาถาม

ผมตอบกลับด้วยรอยยิ้ม

การเติบโตของอุทิศ เหมะมูล จาก 'ระบำเมถุน' ถึง 'ร่างของปรารถนา'

การเติบโตของอุทิศ เหมะมูล จาก 'ระบำเมถุน' ถึง 'ร่างของปรารถนา'

เกี่ยวกับผู้เขียน

หลังจากนวนิยายเล่มแรก อุทิศเดินหน้าผลิตตัวอักษรอย่างต่อเนื่องจนมีผลงานหนังสือรวม 17 เล่ม ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และบทความ โดยนวนิยายเรื่อง ลับแล, แก่งคอย คว้ารางวัลซีไรต์มาครองเมื่อ พ.ศ. 2552

ทั้งปริมาณและคุณภาพ ไม่เกินเลยไปนักหากจะบอกว่าเขาคือนักเขียนที่เอาจริงเอาจังที่สุดคนหนึ่งในบรรณพิภพ และยืนหยัดได้ด้วยการเขียนล้วนๆ เหมือนที่เขาเชื่อว่า การเขียนเท่านั้นที่จะพิสูจน์นักเขียน

“จริงๆ คนที่เขียนหนังสือมันอ่านกันไม่ยากหรอก มันไม่ได้ดูที่ท่าที บุคลิกท่าทางของคนคนนั้นนะ มันดูที่เรื่อง ที่คุณเขียนออกมา แค่นั้นเอง ถ้าคุณบอกว่าเป็นนักเขียน ไหน เอาเรื่องที่คุณเขียนมาอ่านซิ เท่านั้นเอง คุณมีอะไรอยากจะพูด อยากจะแสดง มีความคับข้องอะไรอยู่ในตัวคุณ มันก็ออกมากับงานเขียนแหละ มันไม่ได้ออกมากับท่าทีของคุณ ไม่ได้ออกมากับการพูด ไม่ได้ออกมากับการโพสต์สเตตัสอะไรเลย

“เอางานมาดู จบ” อุทิศสรุปห้วนสั้นได้ความหมาย

“แล้วทุกวันนี้คุณได้กลับไปอ่านหนังสือเล่มแรกบ้างไหม” ผมถามถึงหนังสือที่นอนสงบนิ่งอยู่ตรงหน้าเราสองคน-หนังสือที่เดาว่าเขาคงไม่ได้อ่านนานแล้ว

กลับมาอ่าน เขิน เขินในความมุทะลุบ้าบอของตัวเอง ซึ่งกับหลายๆ คนที่ได้อ่าน คนที่ตามงานเราต่อเนื่องสม่ำเสมอ คนที่เป็นนักอ่านตัวยงหลายคนจะบอกว่าชอบ ระบำเมถุน เพราะสิ่งนี้แหละ เพราะความห่าม ความไม่คิดหน้าคิดหลัง เพราะความมุทะลุของมัน มันคือความสดที่ผ่านแล้วผ่านเลย คุณไม่มีสิ่งนี้อีกแล้วในงานเขียนถัดจากนั้น

“ในขณะที่เรามองมันบางครั้งเราก็อาย ขวยเขิน เฮ้ย ไอ้ตรงนั้นเขียนได้ยังไง จักจี้ว่ะ ถ้าพิมพ์ใหม่จะตัดตรงนี้ออก แต่พอคิดไปคิดมาก็คิดว่าไม่ควรทำ เพราะมันคือบันทึกช่วงวัยนั้น คุณไปตัดด้วยวัยของคุณตอนอายุ 40 แล้วจะได้อะไรขึ้นมา วัยของเราตอนอายุ 29 ก็หายไปกับฉบับ edition ใหม่ด้วยสิ ฉะนั้นก็ดีแล้วที่มันบันทึกสิ่งนี้เอาไว้ ทั้งความสดใหม่ ความห่าม ความมุทะลุ ซึ่งคนที่อ่านงานเราอย่างต่อเนื่องยืนยันว่า มันเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ในนิยายเรื่องแรกของเรา เป็นสิ่งที่ทำให้ อุทิศ เหมะมูล ต่างไปจากนักเขียนคนอื่นๆ”

“เสียดายมั้ยที่ทุกวันนี้สูญเสียความสดแบบวัยนั้นไป”

“ไม่เสียดาย จะให้ทำยังไงล่ะ รูปถ่ายตัวเองตอนอายุ 15 – 16 ตอนนั้นก็ผอม หน้ายาว จมูกยาว แล้วตอนอายุ 40 คุณอวบขึ้น โครงสร้างใหญ่ขึ้น แล้วคุณจะให้ผมทำยังไงล่ะ จะให้ผมกลับไปเป็นแบบนั้นมันไม่ได้ ตอนนั้นผิวหนังยังตึงอยู่เลย มันไม่ได้เหี่ยวย่น ไม่ได้ขยายแบบนี้ ก็มันผ่านมาแล้ว ไม่ได้เสียใจอะไร มันเรียกคืนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่คนพูดว่า ความสดแบบนั้นมันไม่มีอีกแล้ว ไม่กลับมาแล้ว มันก็จริง ถูกต้อง เรากลับไปเขียนเหมือนตอนอายุ 29 ไม่ได้อีกแล้วไง มันเลยกลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์”

การเติบโตของอุทิศ เหมะมูล จาก 'ระบำเมถุน' ถึง 'ร่างของปรารถนา'

ร่างของปรารถนา พิมพ์ครั้งที่ 1 สำนักพิมพ์จุติ มิถุนายน พ.ศ. 2560

ร่างของปรารถนา หนังสือลำดับที่ 18 ของอุทิศ เหมะมูล กำลังจะวางแผงในเดือนนี้ ห่างจากหนังสือเล่มแรกราว 13 ปี

หากเปรียบกับนุษย์ จากวัยหนุ่มในวันวานตอนนี้เขาก้าวย่างสู่ความเป็นผู้ใหญ่เต็มขั้นทั้งเนื้อตัวและหัวใจ แน่นอน บางสิ่งหล่นหายไประหว่างทางในขณะเดียวกันกับที่ค้นพบบางอย่าง

“อุทิศตอนที่เขียน ระบำเมถุน กับอุทิศตอนที่เขียน ร่างของปรารถนา มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปไหม” ผมถามในวันที่เขาเผชิญเรื่องเจ็บปวดต่างๆ มาแล้ว

“ในด้านกายภาพ ไลฟ์สไตล์ เปลี่ยนแน่นอนอยู่แล้ว ทุกวันนี้มีเงินกินเบียร์” เขาหัวเราะผ่อนคลายในอารมณ์ขันของตัวเอง “วันนั้นยังบ่นอยู่เลยว่ามีเงินติดกระเป๋าอยู่ 10 บาท วันนี้ก็จัดการชีวิตได้ ต่อรองกับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น”

“แล้วในแง่ความคิดหรือมุมมองต่อโลกเปลี่ยนไปหรือเปล่า” ผมถามต่อ

นักเขียนในวัยเริ่มต้นเกิดจากความอึดอัดคับข้องใจส่วนตัวทั้งนั้นแหละ แต่กว่าเราจะมองเห็นเป็นภาพสังคมใหญ่ได้ก็ตอนที่เราโตมากแล้ว มีวุฒิภาวะแล้ว เราเห็นโลกรอบด้านมากขึ้น สมมติตอนเป็นวัยรุ่นเราเดินอยู่บนทางเท้าแล้วเตะก้อนหิน เราก็รู้สึกเกลียดโชคชะตาของตัวเอง แม้แต่เดินอยู่เฉยๆ ยังเตะก้อนหินได้ ชีวิตรังเกียจกูขนาดนี้เลยเหรอ ตอนวัยรุ่นเราบ่นแบบนี้ แต่พอ 10 ปีผ่านไปเราก็เห็นว่า ก้อนหินก้อนนั้นมันมีอยู่ก็เพราะว่าการสร้างทางไม่เคยเรียบร้อย เทศบาลนี้มันได้งบประมาณมาก็ทำแบบขอไปที ผ่านไป 10 ปีคุณจึงเริ่มเห็นระบบโครงข่ายของมัน ในขณะที่ 10 ปีก่อนคุณเห็นว่าก้อนหินคือโชคชะตาชีวิตของคุณ เป็นความอุบาทว์ในชีวิต

“คือการเขียนเกิดจากความอึดอัดคับข้องใจของตัวนักเขียนคนนึงกับสภาพแวดล้อมเล็กๆ ของเขา แต่ถ้าดูจากความยิ่งใหญ่ของนักเขียนที่มีชื่อเสียงหรือนักเขียนที่เรารู้จักกันโดยทั่วไป เราจะเห็นว่าไม่จำเป็นหรอกที่นักเขียนจะต้องตีแผ่ให้เห็นเรื่องระบอบสังคมการเมืองเท่านั้น ตราบใดที่นักเขียนสามารถที่จะให้แง่มุมชีวิตที่เราไม่เคยฉุกคิดมาก่อน เป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนใจเหลือเกินกับเหตุการณ์เล็กๆ หรือว่าช่วงเวลาที่มันไม่มีชื่อเรียกแล้วนักเขียนทำชื่อเรียกให้กับมันได้ อย่างเช่นเดินๆ อยู่แล้วเรารู้สึกตื้นตันจนร้องไห้ออกมาเฉยๆ มันดูเหมือนไม่มีความหมายเลยในพฤติกรรมของมนุษย์ แต่คุณสามารถเขียนสิ่งนี้ออกมา แล้วมันให้ความหมายนี้กับคนอ่าน เป็นภาพภาพนึง เป็นช่วงเวลานึงที่ตราตรึงอยู่อย่างนั้น คุณก็เป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ได้”

คุณก็เป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ได้-ผมทวนประโยคนี้ในใจ

ซึ่งคุณในความหมายของผม หมายถึงเขา

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan