“พระเจ้าเป็นความรัก ประจักษ์ในพระเยซู เสด็จลงมาสู่ โลกมนุษย์ช่วยปวงชน” 

เสียงเพลง พระเจ้าเป็นความรัก ดังก้องกังวาลไปทั่วโบสถ์โบราณหลังงามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนั้นผมยืนอยู่แถวหลังสุด พร้อมกับพยายามเปิดหนังสือไล่หาเนื้อเพลงดังกล่าวด้วยตั้งใจที่จะร่วมร้องคลอตามไปด้วย เจอแล้ว อยู่ในเพลงตอบสนองบทที่ 301 นี่เอง ผมแอบดีใจ

พุทธศาสนิกชนอย่างผมเคยมีโอกาสไปร่วมนมัสการพระเจ้าที่โบสถ์บ้างเป็นบางครั้ง ผมจะรู้สึกสุขสงบทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่เปล่งออกมาด้วยความตั้งใจอย่างไพเราะไปทั่วโบสถ์ 

“หลังการนมัสการพระเจ้าแล้ว เรามาคุยกันต่อนะครับ” ชีวิน มังกรพันธุ์ มัคนายกแห่งคริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ เดินมากล่าวกับผมเบาๆ โดยมี อาจารย์เพ็ญจันทร์ วัฒนมงคล ผู้ปกครองแห่งคริสตจักรเดียวกันส่งยิ้มอยู่ใกล้ ๆ วันนี้ผมได้รับโอกาสอันดีจากทั้งสองท่านที่จะเป็นผู้ให้ความรู้แก่ผม

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร
คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ได้เข้ามาในสยามตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จนหยั่งรากฝังลึกและเผยแผ่ไปทั่วแผ่นดินแดนสุวรรณภูมิ วันนี้ผมตั้งใจที่จะพาผู้อ่าน The Cloud ทุกท่านมาทำความรู้จักกับคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน อันเป็นคณะหนึ่งของนิกายโปรเตสแตนต์ ผ่านเรื่องเล่าของโบสถ์หลังงามที่ตั้งตระหง่านอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ เพื่อเป็นศูนย์รวมพลังรักและศรัทธาของทุกคนในชุมชนมานานกว่าศตวรรษ

โปรเตสแตนต์ยุคบุกเบิก

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

“เรามักเรียกมิชชันนารีว่าหมอสอนศาสนาทั้งๆ ที่บางท่านก็เป็นหมอบางท่านก็ไม่ใช่ ความจริงแล้วรากศัพท์ของคำว่ามิชชันนารีคือผู้รับใช้พระเจ้าไปยังต่างแดน มีหน้าที่ในการประกาศพระกิตติคุณการไถ่บาปของพระเยซูคริสต์ไปยังดินแดนโพ้นทะเล ถือเป็นหนึ่งในบทบาทของคริสเตียนตามพระมหาบัญชาของพระองค์ คณะมิชชันนารีเดินทางเข้ามาถึงเมืองไทยในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ขณะนั้นการประกาศพระกิตติคุณทำได้ลำบากมาก เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นของการล่าอาณานิคม รวมทั้งสนธิสัญญาการค้าที่ชาติตะวันตกทำขึ้นกับไทยนั้น ก็มักจะเอาเปรียบประเทศเราเสมอ จึงก่อให้เกิดความคลางแคลงใจ

“โดยหลักความเชื่อของคริสเตียนนั้น เมื่อคุณรักพระเจ้าแล้ว คุณก็ต้องรักเพื่อนบ้านไม่ต่างจากรักพระองค์ท่านด้วย เมื่อมิชชันนารีเข้ามาเห็นความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนไทย ก็อยากช่วยรักษาให้หาย จึงนำยาที่ติดตัวมาจากประเทศตนเข้าให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน พ่อค้า ข้าราชการ พอได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว คนไทยก็เริ่มมองชาวตะวันตกดีขึ้น เลยเรียกมิชชันนารีว่าหมอไปด้วย อย่างซอยนี้ เดิมชาวบ้านก็เรียกว่าตรอกหมอ” 

อาจารย์เพ็ญจันทร์เล่าถึงที่มาของคำว่าหมอสอนศาสนา พร้อมกับชื่อเดิมของซอยเจริญนคร 59 อันเป็นที่ตั้งของคริสตจักรที่หนึ่งจนถึงปัจจุบัน

ความจริงแล้วการเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้นเริ่มต้นขึ้นที่พม่าเมื่อ ค.ศ. 1818 เมื่อ นางแอนนา เฮเซลไทน์ จัดสัน (Ann Hazeltine Judson) ภรรยาของ ศาสนาจารย์ แอโดนิราม จัดสัน (Adoniram Judson) ได้ศึกษาภาษาไทยจนแตกฉานจากเชลยศึกที่กวาดต้อนจากเมืองไทยไปยังเมืองมะละแหม่ง และได้แปลหลักความเชื่อของคริสเตียนเป็นภาษาไทยขึ้นเป็นเล่มแรกๆ เพื่อเผยแผ่แก่เชลยศึกเหล่านี้ แต่นั่นยังไม่นับว่าเป็นพันธกิจ (Mission) ต่อประเทศไทยโดยตรง

ค.ศ. 1828 ปลายรัชกาลที่ 3 ศาสนาจารย์ คาร์ล ฟรีดริค อาวกุสตุส กุตสลาฟ และ ศาสนาจารย์จาคอบ ทอมลิน เป็นมิชชันนารีจากคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ 2 ท่านแรกที่เดินทางมายังประเทศไทย โดยลงหลักปักฐานอยู่ที่ชุมชนกุฎีจีน และถือได้ว่านั่นคือหมุดหมายแรกของการเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์บนแผ่นดินไทย 

“คณะมิชชันนารีมีหลายคณะ หมอกุตสลาฟเป็นชาวเยอรมันจากสมาคมมิชชันนารีฮอลันดา ส่วนหมอทอมลินมาจากสมาคมมิชชันนารีลอนดอน หลังจากนั้นก็มีมิชชันนารีตามเข้ามาอีกหลายท่าน เช่น A.B.C.F.M. หรือ American Board of Commissioners for Foreign Mission ก็ได้ส่งหมอโรบินสันและหมอจอห์นสันเข้ามา คณะอเมริกันแบ๊บติสต์มิชชัน (American Baptist Mission) ก็ส่งหมอโจนส์และหมอดีนเข้ามา หรืออย่างหมอบรัดเลย์ที่คนไทยรู้จักดี ก็เป็นมิชชันนารีที่เข้ามากับคณะอเมริกันบอร์ดฯ” คุณชีวินเล่าเสริม

ความจริงไทยมิได้ต้องการให้ชาวตะวันตกเข้ามาเผยแผ่ศาสนาใดๆ อีก ทั้งนี้เพราะมีความแคลงใจอย่างที่กล่าวไป แต่เนื่องจากในอดีต ไทยได้เคยยินยอมให้คณะคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิกจากโปรตุเกสและฝรั่งเศสได้เข้ามาเผยแผ่ศาสนาอยู่ก่อนแล้ว ไทยจึงไม่มีเหตุอ้างที่จะจำกัดสิทธิ์การเผยแผ่ศาสนาของนิกายโปรเตสแตนต์จากชาติตะวันตกอื่น ๆ อย่างอังกฤษหรืออเมริกา ไทยจึงเพียงแต่กำหนดเงื่อนไขว่าอนุญาตให้เผยแผ่ได้เพียงเฉพาะชาวจีนเท่านั้น

หมอบรัดเลย์ได้เคยบันทึกไว้ว่า เมื่อแรกเดินทางเข้ามายังประเทศไทยนั้น ท่านได้ตั้งใจจะเผยแผ่ศาสนากับชาวจีนเป็นอันดับแรก และได้เตรียมเอกสารเผยแผ่ศาสนามาเป็นภาษาจีน แต่หลังจากที่ท่านได้ให้การรักษาดูแลคนไข้ทั้งคนจีนและคนไทยโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ จึงก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี และเริ่มทำให้ข้าราชการและขุนนางของไทยเริ่มสนใจวิทยาการแผนใหม่จากโลกตะวันตก

“มิชชันนารีโปรเตสแตนต์ที่เข้ามาไทยช่วงแรกๆ มีหลายคณะ แต่ยังไม่ใช่คณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ส่วนมากเป็นคณะอเมริกันบอร์ดฯ คณะอเมริกันแบ๊บติสต์มิชชันบ้าง แต่พอเข้ามาอยู่เมืองไทยได้ระยะหนึ่ง ก็ล้มเลิกพันธกิจไปด้วยปัญหาด้านสุขภาพของมิชชันนารี หรือย้ายเป้าหมายไปยังดินแดนอื่นอย่าง เช่น จีน อินเดีย หรือสิงคโปร์ สำหรับคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนนั้น เริ่มเข้ามาใน ค.ศ. 1837 เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการเผยแผ่พระกิตติคุณโดยหมอออร์ หลังจากนั้นอีกไม่นานมิชชันนารีคณะนี้ก็เริ่มทยอยเข้ามาในประเทศไทยเรื่อยๆ 

“ตลอดช่วงร้อยปีแรกที่นิกายโปรเตสแตนต์ได้เข้ามายังประเทศไทย คือช่วงระหว่าง ค.ศ. 1828 – 1928 มิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไปทีเรียนนี้ได้สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าทำพันธกิจกว่าสามร้อยคน ซึ่งมากกว่ามิชชันนารีคณะใดๆ ของนิกายโปรเตสแตนต์ และคริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ ก็เป็นโบสถ์แห่งแรกของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนในประทศไทยด้วย” คุณชีวินอธิบาย

 ศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน และภรรยา

ใน ค.ศ. 1847 มิชชันนารีคนสำคัญคือ ศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน และภรรยา กับ ศาสนาจารย์ นายแพทย์ แซมมูเอล เรโนลด์ เฮาส์ ได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยและเป็นกลุ่มบุคคลที่ขับเคลื่อนงานเผยแผ่พระกิตติคุณของพระเจ้าได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสร้างคุณูปการให้กับสังคมไทยไว้มากมาย

ศาสนาจารย์ นายแพทย์ แซมมูเอล เรโนลด์ เฮาส์

“คนไทยเรียกท่านว่าหมอมะตูมกับหมอเหา” คุณชีวินเล่าพร้อมรอยยิ้ม “ในช่วง ค.ศ. 1849 มีอหิวาตกโรคระบาดรุนแรงในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียง ผู้คนล้มตายลงวันละเป็นร้อยๆ ศพ จนเรียกปีนั้นว่าปีระกาห่าลง คณะมิชชันนารีได้เข้าช่วยเหลือและรักษาชีวิตคนไว้ได้เป็นจำนวนมาก หมอเหายังเป็นแพทย์คนแรกที่ทำการผ่าตัดโดยใช้อีเทอร์เป็นยาสลบจนประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ส่วนหมอมะตูมนั้น ในเวลาต่อมาท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลอเมริกันคนแรกประจำประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 ทั้งยังทำหน้าที่เป็นล่ามและแปลเอกสารสนธิสัญญาสำคัญต่างๆ ถวายพระองค์ท่านด้วย”

สถาปนาคริสตจักรอเมริกันเพรสไบทีเรียนในไทย

ใน ค.ศ. 1849 มิชชันนารีอีก 2 ท่านได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทย คือ ศาสนาจารย์สตีเฟน บุช และภรรยา ท่านได้เดินทางมาสมทบศาสนาจารย์แมตตูนและภรรยาพร้อมกับหมอเฮาส์ ในวันที่ 29 สิงหาคมปีเดียวกันมิชชันนารีทั้งห้าท่านได้ประชุมกันเพื่อตั้งโบสถ์หรือสถาปนาคริสตจักรอเมริกันเพรสไบทีเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินไทย โดยมีศาสนาจารย์แมตตูน ดำรงตำแหน่งศิษยาภิบาล (Pastor) เป็นท่านแรก 

ศาสนาจารย์สตีเฟน บุช

ในช่วงเวลานั้นที่ทำการของมิชชันตั้งอยู่ที่บริเวณชุมชนกุฎีจีน ซึ่งเป็นชุมชนที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่มาแต่เดิม ตำแหน่งที่ตั้งนั้นคาดว่าอยู่บริเวณริมคลองวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ซึ่งปัจจุบันไม่ปรากฏหลักฐานหลงเหลือให้เห็นอีกต่อไป 

“เมื่อพูดถึงคำว่าตั้งโบสถ์หรือสถาปนาคริสตจักร ตามแนวคิดของคริสเตียน คริสตจักรหมายถึงการที่คริสเตียนกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันนมัสการพระเจ้า ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เราไม่ได้คำนึงว่าต้องสร้างศาสนสถานเป็นอาคารใหญ่โต ดังนั้นในช่วงแรกที่มิชชันนารีทั้งห้าท่านตัดสินใจสถาปนาคริสตจักรอเมริกันเพรสไบทีเรียนขึ้น จึงเป็นเพียงการรวมตัวกันนมัสการในบ้าน ส่วนการสร้างโบสถ์หรือคริสตจักรจะเกิดขึ้นตามมาภายหลังเมื่อเรามีกำลังพอจะทำได้” อาจารย์เพ็ญจันทร์กรุณาขยายความ

เมื่อสถาปนาได้เพียง 8 วัน คริสตจักรก็ได้มีโอกาสต้อนรับสมาชิกรายแรกที่มิใช่ชาวตะวันตก นั่นคือ ซินแสกีเอ็ง ก๊วยเซียน พื้นเพเป็นชาวจีนจากเมืองเอหมึง (ปัจจุบันคือเมืองเซียะเหมิน) มณฑลฮกเกี้ยน ผู้เข้ามาอาศัยอยู่ที่ราชบุรี โดยเป็นผู้ที่มีความรู้ในวิชาแพทย์แผนจีน ก่อนหน้านี้ท่านได้เดินทางขึ้นล่องกรุงเทพฯ เพื่อติดต่อค้าขายเป็นประจำจนสนิทสนมกับมิชชันนารีคณะอเมริกันบอร์ดฯ และตัดสินใจรับบัพติศมาเป็นคริสเตียนกับคณะดังกล่าว ต่อมาคณะอเมริกันบอร์ดฯ ได้ยกเลิกการเผยแผ่ศาสนาในไทย ท่านจึงได้โอนสมาชิกภาพมาร่วมเป็นสมาชิกคริสตจักรอเมริกันเพรสไบทีเรียนเป็นรายแรก

ค.ศ. 1851 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีสัมพันธภาพที่ดีและส่งเสริมงานของมิชชันนารี ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต “ให้เช่าที่ดินใกล้ๆ กับวัดอรุณราชวรารามเป็นเวลานานได้เป็นการมั่นคง” หมอเฮาส์ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญครั้งนั้นว่า “แทบไม่น่าเชื่อเลยจริง ๆ ที่พวกเราจะได้สิ่งที่พวกเราแสวงหามานานถึงสี่ปีครึ่ง คือที่ดินที่จะปลูกสร้างบ้านเรือนและเป็นที่ทำการของมิชชั่น”

สิ่งที่ตามมาหลังจากมีสถานที่ทำงานอย่างมั่นคงแล้ว ก็คือการสร้างโรงเรียน ซึ่งกลายมาเป็นจุดกำเนิดของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ซอยประมวญ ถนนสีลมนั่นเอง

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

“มิชชันนารีต้องการให้คนไทยรู้จักพระเจ้า ซึ่งจำเป็นต้องอ่านออกเขียนได้เพื่อศึกษาพระคัมภีร์ ในสมัยนั้นการศึกษาจะจำกัดอยู่เพียงวัดเฉพาะเด็กผู้ชาย คณะมิชชันนารีเห็นว่าการศึกษาคือองค์ประกอบสำคัญในการเผยแพร่พระกิตติคุณของพระเจ้า ในปีต่อมาจึงตั้งโรงเรียนขึ้นในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1852 โดยจ้างเด็กในละแวกกุฎีจีนนี้มาเรียนในอัตราวันละ 1 เฟื้อง” คุณชีวินกล่าว

“ตอนนั้นเรายังเรียกว่าบอยสกูลหรือมิชชั่นสกูล ซึ่งเป็นคำกลางๆ โดยยังไม่ได้ใช้ชื่อกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยอย่างเช่นปัจจุบัน ทางโรงเรียนได้ก็ยึดถือเอาวันนี้เป็นวันก่อตั้งโรงเรียน ถ้าเราไปดูที่หน้าประตูโรงเรียน ก็จะเห็นป้ายระบุวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1852 ไว้อย่างชัดเจน มิชชันนารีทำหน้าที่ครูสอนวิชาต่างๆ รวมทั้งพระคัมภีร์ด้วย นอกจากนี้หมอเฮาส์ยังได้ตรวจสุขภาพเด็กนักเรียนทุกคนด้วยตนเอง รวมทั้งเป็นครูใหญ่คนแรก โรงเรียนของมิชชันเน้นการพัฒนาเด็กทุกด้านทั้ง ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ” อาจารย์เพ็ญจันทร์เล่าให้ฟัง

การศึกษาของบอยสกูลแห่งนี้คืบหน้าขึ้นเรื่อยๆ มีจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นจนคณะมิชชันนารีเล็งเห็นว่าพื้นที่กุฎีจีนนั้นเล็กเกินไปสำหรับพันธกิจ จึงตัดสินใจมองหาที่ดินผืนใหม่เพื่อขยายงาน คณะมิชชันนารีจึงล่องแม่น้ำลงมาทางใต้อีก 4 ไมล์จนถึงสำเหร่ และนั่นคือที่ตั้งของคริสตจักรที่หนึ่งในปัจจุบัน

จากลานประหารสู่โบสถ์งาม

“ถึงสามเหร่นึกหวาดขยาดผี ด้วยเป็นที่ฆ่าคนริมชลไหล ล้วนป่าเตยเคยแลดูแต่ไกล พลางครรไลล่องมาไม่ช้านาน” เพื่อให้ได้บรรยากาศของพื้นที่ที่เรียกว่า ‘สำเหร่’ ในสมัยนั้น คุณชีวินท่องกลอนที่คัดจากนิราศถลาง ประพันธ์โดยหมื่นพรหมสมพัตสรศิษย์เอกของสุนทรภู่ให้ผมฟัง

“สำเหร่เดิมสะกดว่าสามเหร่ ในละแวกนี้เคยเป็นที่ประหารนักโทษ และไม่ใช่แค่ประหาร แต่ประจานด้วย ในสมัยก่อนเรายังสัญจรโดยใช้ทางน้ำเป็นหลัก พื้นที่สำเหร่นี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่ลึกเข้าไปในสวน มีคลองเล็กคลองน้อยลัดเลาะไปมาหลายสาย ทางทิศเหนือก็มีคลองสำเหร่ คลองบางไส้ไก่ ทางทิศใต้ก็มีคลองบางน้ำชน ไกลไปหน่อยก็เป็นคลองดาวคะนอง ใครพายเรือผ่านก็อาจจะเห็นศพเสียบประจานจนหวาดกลัว ไม่กล้าทำผิด” คุณชีวินเล่าให้ผมเห็นภาพ

แม้จะถือว่าเป็นพื้นที่อวมงคลสำหรับคนไทยจนไม่ค่อยมีใครกล้าเข้ามาอาศัยอยู่ ทั้งยังเป็นพื้นที่ป่ารกชัฏ อย่างไรก็ตามพื้นที่นี้มิได้เป็นปัญหาสำหรับมิชชันนารีชาวตะวันตกแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ทางมิชชันจึงค่อยๆ ทยอยย้ายสถานที่ทำการทั้งหมดจากกุฎีจีนมายังสำเหร่ใน ค.ศ. 1857 และโรงเรียนของมิชชันนารีก็ย้ายตามมา 

หลังจากย้ายมาที่สำเหร่แล้ว ก็เกิดข่าวที่น่ายินดีขึ้น นั่นคือการที่ นายชื่น ชายไทยวัย 40 ปี ชาวบ้านในละแวกสำเหร่ได้แสดงเจตจำนงที่จะรับเชื่อในพระเจ้าเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1859 นับได้ว่านายชื่นเป็นคนไทยคนแรกที่มานับถือศาสนาคริสต์ จากการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน หลังจากที่คณะมิชชันนารีคณะนี้ได้พากเพียรทุ่มเทมาตลอดเวลา 12 ปี

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

ข่าวดีที่ตามมาก็คือการก่อสร้างอาคารโบสถ์หลังแรกใน ค.ศ. 1860 โดยใช้เงินบริจาคจากพ่อค้า กะลาสีเรือ มิชชันนารี ชาวต่างชาติ รวมทั้งเงินสนับสนุนบางส่วนจากสหรัฐอเมริกาจนแล้วเสร็จ และมีพิธีมอบถวายใน ค.ศ. 1862 ปัจจุบันเรายังสามารถมองเห็นตัวเลข 1860 ระบุไว้ที่หน้าจั่วของโบสถ์ได้อย่างชัดเจน 

ส่วนตัวเลข 1910 ที่ปรากฏอยู่ด้วยกันนั้น เป็นปีที่สร้างโบสถ์หลังปัจจุบันซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนผสมไม้ สร้างขึ้นหลังจากโบสถ์หลังแรกทรุดโทรมลงจนต้องรื้อและสร้างโบสถ์หลังใหม่บนที่เดิม การสร้างโบสถ์หลังปัจจุบันก็ยังคงรักษารูปแบบของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้ให้ใกล้เคียงที่สุด

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

“โบสถ์ของนิกายโปรเตสแตนต์เน้นความเรียบง่าย ไม่มีการประดับตกแต่งด้วยนักบุญ อันเป็นวิถีปฏิบัติแบบโปรเตสแตนต์” อาจารย์เพ็ญจันทร์กล่าว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุดจิต เศวตจินดา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เคยสรุปลักษณะทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์หลังนี้ไว้ว่า

“คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ ประกอบไปด้วยพระวิหารและหอระฆังตั้งเคียงข้างกัน โดยพระวิหารมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นอาคารชั้นเดียวทาสีเหลือง หลังคามุงกระเบื้องว่าวสีแดง หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าอาคารเว้นช่องเสาเป็นระเบียงทางเข้า ระหว่างช่องเสาทำเป็นวงโค้ง ประดับด้วยคิ้วและลวดลายบัวปูนปั้นทาสีน้ำตาลเป็นลายอุบะ และเลขอารบิค 1860 และ 1910 ระบุปี ค.ศ. ที่สร้างวิหารหลังแรกและหลังปัจจุบัน ที่กลางหน้าบันอาคารประดับด้วยลวดลายบัวปูนปั้นรูปดอกห้ากลีบขนาดใหญ่ในวงกลม และดอกสี่กลีบมีไส้ในวงกลมขนาดเล็กขนาบ 2 ข้าง ที่ปลายสันหลังคาด้านทิศตะวันออกประดับด้วยกางเขนทาสีขาว โครงสร้างอาคารเป็นระบบกำแพงรับน้ำหนัก พื้นทั่วไปเป็นพื้นหินอ่อน ประตูและหน้าต่างเป็นบานเปิดคู่ 2 ชั้น ประกอบด้วยบานไม้และบานกระจก เหนือช่องเปิดเหล่านี้ทำช่องแสงด้านบนเป็นโค้งครึ่งวงกลมประดับกระจกสีต่างๆ”

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

อาคารหอระฆังข้างโบสถ์นั้นสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1912 ภายในมีกระไดไม้ขนาดเล็กและชันทอดตัวขึ้นสู่ยอดหอ ผนังอาคารทั้งสี่ด้านประดับลายปูนปั้นและทาสีเหลืองเช่นโบสถ์ หลังคาหอระฆังเป็นทรงปั้นหยายอดสูงมุงกระเบื้องว่าว ชายคาประดับไม้ฉลุ ภายในปรากฏแผ่นศิลาที่จารึกรายชื่อผู้มีจิตศรัทธาสมทบทุนสร้างหอระฆังหลังแห่งนี้ไว้

โบสถ์และหอระฆังได้รับการดูแลรักษาอย่างดีจากสมาชิกของคริสตจักรมาตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีจนคงสภาพงดงามอย่างที่เห็นได้ จน ค.ศ. 2004 คริสตจักรได้รับโล่รางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ในขณะเดียวกันสมาชิกคริสตจักรก็ได้ให้ความใส่ใจดูแลในการบูรณะทั้งโบสถ์และหอระฆังมาโดยตลอด ครั้งล่าสุดเป็นการบูรณะระหว่าง ค.ศ. 2007 – 2011 ซึ่งเป็นการบูรณะครั้งใหญ่ โบสถ์และหอระฆังจึงคงสภาพงดงามอย่างที่เห็นได้ในปัจจุบัน

สำเหร่ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการทำงานของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียน ตั้งแต่ ค.ศ. 1857 เป็นต้นมา ที่นี่มีทั้งตัวโบสถ์ โรงเรียน บ้านพักมิชชันนารี โรงพิมพ์ โกดังเก็บอุปกรณ์ต่างๆ มิชชันนารีที่เพิ่งเดินทางมาใหม่ก็มาอาศัยที่นี่เพื่อเรียนรู้ภาษาวัฒนธรรมสังคมไทย ก่อนที่จะเดินทางออกไปเผยแผ่ศาสนายังที่ห่างไกลออกไป เช่น เพชรบุรี พิษณุโลก เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

“ส่วนเรื่องของโรงเรียนนั้นต้องเล่าย้อนกลับไปในช่วง ค.ศ. 1888 ที่ ศาสนาจารย์ จอห์น เอ เอกิ้น และคณะซึ่งได้ตั้งโรงเรียนเอกชนที่กุฎีจีนชื่อว่าบางกอกคริสเตียนไฮสคูล ในขณะเดียวกันมิชชันสคูลที่สำเหร่ก็อยู่ในช่วงที่เริ่มขาดคนดูแล เพราะมิชชันนารีหลายท่านประสบปัญหาด้านสุขภาพ เจ็บป่วย บางท่านต้องเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา

“ทางมิชชันจึงขอให้อาจารย์เอกิ้นมาช่วยงานมิชชันสคูลที่สำเหร่ ต่อมาใน ค.ศ. 1890 ท่านจึงได้ย้ายโรงเรียน บางกอกคริสเตียนไฮสคูลของท่านจากกุฎีจีนมารวมกับโรงเรียนของมิชชันที่สำเหร่ และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสำเหร่ บอยส์ คริสเตียน ไฮสคูล คนในพื้นที่ใกล้เคียงก็ส่งบุตรหลานของตนเข้ามาเรียนที่โรงเรียนนี้ ใน ค.ศ. 1892 ได้มีบันทึกไว้ว่าโรงเรียนที่สำเหร่บอยส์มีนักเรียนถึงร้อยสี่สิบเอ็ดคน

“เมื่อนักเรียนมีจำนวนมากขึ้น ทางมิชชันจึงหาทางขยับขยายหาที่สร้างโรงเรียนแห่งใหม่ ใน ค.ศ. 1903 จึงย้ายโรงเรียนข้ามแม่น้ำมายังพื้นที่ใหม่ที่ถนนประมวญ และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนไฮสกูลและโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยตามลำดับ” คุณชีวินเปิดเผยถึงสาเหตุที่ย้ายโรงเรียนจากสำเหร่มายังซอยประมวญ

เดิมทีมิชชันได้ตัดสินขายที่ดินที่สำเหร่ทั้งหมดรวมทั้งตัวโบสถ์ด้วย แต่เหล่าสมาชิกซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ตามคลองสำเหร่ได้ขอให้คงพื้นที่โบสถ์ไว้เพื่อสมาชิกจะได้มานมัสการได้ต่อไป ทางมิชชันเห็นชอบด้วย จึงแบ่งขายที่ดินเฉพาะในส่วนที่อยู่ด้านหลังคริสตจักรซึ่งเป็นสวนลึกเข้ามา โดยจัดสรรที่ดินแบ่งขายเป็นแปลงๆ และสมาชิกของคริสตจักรก็ได้ช่วยกันซื้อไว้คนละแปลงสองแปลง นั่นจึงเป็นที่มาของชุมชนคริสเตียนที่สำเหร่ในเวลาต่อมา

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

“คริสตจักรได้จัดให้มีกิจกรรมค่ายอาสาอย่างต่อเนื่องมาแต่อดีตจนปัจจุบัน สมาชิกจะร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น การทำความสะอาดบริเวณคริสตจักร ทาสีโบสถ์ ปลูกต้นไม้ ผู้ใหญ่เล่าให้ฟังเสมอว่า เมื่อก่อนงานที่หนักที่สุดคือการขนเลนมาถมหน้าโบสถ์เพราะโบสถ์ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเลย น้ำจึงเซาะตลิ่งทลายลงไปเรื่อยๆ ต้องคอยขนเลนมาเสริมตลิ่งอยู่เสมอ ต่อมาช่วงทศวรรษที่ 70 ได้เริ่มสร้างแนวกันคลื่นโดยนำหินมาถม และต่อมาก็ได้นำดินมาถมเพิ่มเติมจนเป็นสนามหญ้าหน้าโบสถ์อย่างในปัจจุบัน แต่เนื่องจากตัวโบสถ์อยู่ติดกับแม่น้ำ บางปีน้ำขึ้นสูง ไหลท่วมเข้ามาในบริเวณลานซีเมนต์รอบโบสถ์ จนในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการสร้างเขื่อนซีเมนต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดแนวตลิ่ง ตั้งแต่ชุมชนกุฎีจีนมายังคลองสานมาจนถึงเจริญนคร หลังจากนั้นก็ไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมอีกเลย” คุณชีวินเล่าเสริม

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

ช่วง ค.ศ. 2007 – 2011 อันเป็นปีที่มีโครงการบูรณะครั้งใหญ่ คริสตจักรได้ตัดสินใจยกโบสถ์ขึ้นให้สูงขึ้นกว่าเดิม 2.60 เมตร และทำทางลาดโดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามานมัสการพระเจ้าได้โดยเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนชรา ผู้พิการ หรือสมาชิกที่ต้องเดินทางมาด้วยรถเข็น

โบสถ์หลังงามอายุกว่า 170 ปีหลังนี้จึงยังคงเป็นศูนย์รวมใจของคริสเตียนทุกผู้ทุกนามมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน

ของดีที่ควรชม

เมื่อเดินเข้าสู่ภายในตัวโบสถ์ ผนังสีเหลืองที่โอบล้อมผสานกับลำแสงที่ลอดผ่านกระจกหลากสีช่วยนำความสงบร่มเย็นมาให้อย่างเฉียบพลัน สิ่งที่สังเกตเห็นเป็นสิ่งแรกคือไม้กางเขนที่ปราศจากพระรูปพระเยซูคริสต์ตรึงอยู่บนนั้น

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

“กางเขนนี้มีความยาวเจ็ดสิบเจ็ดนิ้ว กว้างสามสิบสามนิ้ว เลขเจ็ดสื่อถึงความสมบูรณ์หรือความบริสุทธิ์ตามความเชื่อของคริสเตียน ส่วนเลขสามสิบสามหมายถึงพระชนมายุของพระเยซูคริสต์เมื่อสิ้นพระชนม์ลงบนไม้กางเขน หลังไม้กางเขนปรากฏแผงไม้สีขาวตีเกล็ดทางตั้งจำนวนสิบสองแถว ซึ่งเลข 12 คือจำนวนชนเผ่าในอิสราเอลอันเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของคริสตศาสนา และยังหมายถึงพระสาวกทั้งสิบสองรูปอีกด้วย” 

อาจารย์เพ็ญจันทร์ช่วยกรุณาอธิบายความหมายที่แฝงอยู่ให้ผมเข้าใจ ไม้กางเขนที่เห็นอยู่นี้ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ตั้งแต่การบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 2011

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

จากไม้กางเขน บนเวทีใกล้ๆ ธรรมาสน์ มีเก้าอี้ไม้โบราณทรงสวยแปลกตา เป็นเก้าอี้ที่มีมาแต่ดั้งเดิม เตรียมไว้สำหรับศาสนาจารย์ ผู้เทศนา และผู้ปกครองของคริสตจักรสำหรับใช้ในการนมัสการ

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

“ส่วนนาฬิกาที่เห็นด้านหลังโบสถ์เป็นเครื่องสังเค็ดที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานหลังจากงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ใน ค.ศ. 1910 เป็นปีที่ได้มีการสร้างโบสถ์หลังปัจจุบัน และเป็นปีที่ที่พระองค์ท่านสวรรคตพอดี” คุณชีวินกล่าว

“เมื่อเสร็จสิ้นงานพระบรมศพ มีธรรมเนียมที่จะสร้างเครื่องสังเค็ดถวายเป็นการบูชาไปยังหน่วยงานและศาสนสถานสำคัญทุกๆ ศาสนา ไม่ว่าศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม จะเป็นนิกายใดๆ ก็ตาม โดยทรงเลือกพระราชทานตามความเหมาะสม เช่นกระถางธูปสำหรับวัดและศาลเจ้า เชิงเทียนสำหรับโบสถ์คาธอลิก โคมไฟสำหรับมัสยิด แม้กระทั่งโรงเรียน อย่างโรงเรียนราชินีก็เคยได้รับโต๊ะเรียน ตู้หนังสือ เป็นต้น เป็นถาวรวัตถุที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสถานที่นั้นๆ” คุณชีวินเล่าถึงเครื่องสังเค็ด

สำหรับโบสถ์คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ นั้น ได้รับพระราชทานนาฬิกามา 2 เรือน และเรียกขานกันว่านาฬิกาปารีส หรือนาฬิกาคุณปู่ (Grandfather Clock) ซึ่งเป็นนาฬิกาตั้งพื้นและมีระบบการทำงานแบบตุ้มถ่วง นับเป็นวิวัฒนาการสำคัญที่สืบต่อมาจากยุคนาฬิกาแดดและนาฬิกาทราย ในตอนนั้นรัชกาลที่ 6 ได้ทรงว่าจ้างบริษัท François Désiré Odobez à Morez ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงปารีสให้เป็นผู้ผลิต โดยโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบและจัดสร้างเป็นการเฉพาะจำนวน 100 เรือนเพื่อพระราชทานโบสถ์และโรงเรียนคริสต์ต่างๆ ทั่วประเทศไทย โดยใช้เวลาสร้างนานถึง 5 ปีจึงจะแล้วเสร็จครบทั้ง 100 เรือน

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

ลักษณะเด่นของนาฬิกาปารีสคือพระราชลัญจกร จปร. ที่ปรากฏอยู่บนยอด ตัวเรือนงดงามด้วยศิลปะรูปแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) ในอดีตจะมีไหมซอถ่วงลูกตุ้มนาฬิกาเอาไว้ให้แกว่ง 1 ครั้งต่อ 1 วินาที บางครั้งก็เลยเรียกกันว่านาฬิกาไหมซอ น่าเสียดายที่ปัจจุบันไม่เหลือไหมซอและลูกตุ้มให้เห็นแล้ว

ของควรชมอีกสิ่งหนึ่งคือเก้าอี้นมัสการที่ตั้งเรียงอยู่เป็นแถวภายในโบสถ์ เก้าอี้เหล่านี้เป็นเก้าอี้ไม้โบราณซึ่งด้านหลังจะมีแผงไม้เจาะเป็นรูไว้จำนวนหนึ่ง รูเหล่านั้นมีไว้สำหรับรองรับจอกใส่น้ำองุ่นที่ใช้ในพิธีมหาสนิทที่จะประกอบขึ้นเป็นประจำ

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

“พิธีมหาสนิทมาจากคำสั่งของพระเยซูคริสต์ให้คริสตจักรกระทำเพื่อระลึกถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เพื่อคนบาป การรอคอยการเสด็จกลับมาของพระองค์ในวันสิ้นยุค และตระหนักว่าพระองค์สถิตอยู่ด้วยโดยการรับประทานขนมปัง ซึ่งเล็งถึงพระกายของพระองค์และดื่มน้ำองุ่นซึ่งเล็งถึงพระโลหิตของพระองค์” อาจารย์เพ็ญจันทร์กรุณาอธิบาย

เมื่อเสร็จจากการชมโบสถ์แล้ว ให้ลองเลี้ยวไปชมหอระฆังที่อยู่ติดๆ กัน ของดีที่ควรสังเกตก็คือระฆังซึ่งเป็นระฆังที่หล่อใหม่หลังจากระฆังเดิมสูญหายไปจากการขโมยเมื่อหลายสิบปีก่อน แม้ระฆังของมันจะเป็นระฆังใบใหม่ แต่ก็ได้รับใช้คริสตจักรแห่งนี้มาเนิ่นนานจนเป็นความผูกพันของคนในชุมชน

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

“ชุมชนละแวกนี้เป็นคริสเตียน ระฆังจึงมีไว้ตีเตือนให้ทราบว่าจะถึงเวลานมัสการพระเจ้าแล้วนะ ส่วนมากเราจะตีก่อนพิธีราวครึ่งชั่วโมง แล้วตีย้ำอีกทีก่อนเริ่มพิธี นั่นคือราวๆ เก้าโมงครึ่งกับสิบโมง เมื่อก่อนผมก็เคยตีครับ โอ้โห ไม่ง่ายเลยนะครับ ต้องกะจังหวะดีๆ ไม่เช่นนั้นเสียงจะออกมาไม่เพราะ เดี๋ยวจะอายเขา (หัวเราะ) ผู้ใหญ่หลายท่านที่เป็นสมาชิกคริสตจักรแห่งนี้ก็เคยตีกันมาแล้วทั้งนั้น สำหรับผม เสียงระฆังเป็นความผูกพันของชุมชนคริสเตียนสำเหร่” คุณชีวินเล่าด้วยรอยยิ้ม 

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

เมื่อเดินเข้าไปสำรวจในหอระฆังแล้ว ก็อย่าลืมสังเกตแผ่นศิลาที่จารึกรายชื่อผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนสร้างหอระฆังนี้เมื่อ ค.ศ. 1912 ด้วยนะครับ อีกอย่างคือบันไดไม้ที่เป็นทางเดินขึ้นสู่ยอดหอระฆัง เป็นบันไดไม้ที่ผมเห็นแล้วเกิดอาการขาสั่น ปัจจุบันบันไดนี้ได้ติดป้ายห้ามขึ้นไว้นะครับเพราะแคบและชันมาก

ของดีที่ควรชมชิ้นสุดท้ายอยู่ในอาคารใกล้ๆ กับโบสถ์ที่เรียกว่าศาลาเตียงหยกซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1963 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงศิษยาภิบาลคนไทยคนแรกของคริสตจักรแห่งนี้ นั่นคือ ศิษยาภิบาลย่วญ เตียงหยก ในอาคารหลังดังกล่าวได้เก็บแบบจำลองไม้ของโบสถ์ทั้งหลัง เป็นงานฝีมือโบราณที่สร้างขึ้นอย่างงดงามประณีตและเก็บรายละเอียดได้ดีมากๆ

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

ส่งท้ายที่สุสาน

หลังจากเดินชมโบสถ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คุณชีวินได้ชวนผมเดินไปยังต้นซอยเจริญนคร 59 เพื่อไปชมสุสานของชาวชุมชนคริสเตียนสำเหร่

“แต่เดิมศพของคริสเตียนจะฝัง ไม่ได้เผา คนในชุมชนล้วนเกิดและเติบโตในพื้นที่นี้มารุ่นแล้วรุ่นเล่า จึงจำเป็นต้องหาที่ฝังศพไว้ในบริเวณใกล้ๆ กับคริสตจักร โบสถ์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งถือว่าเป็นบริเวณหน้าบ้าน ส่วนบริเวณต้นซอยนั้นถือเป็นหลังบ้าน เพราะเมื่อก่อนเป็นบริเวณสวนลึกเข้ามาจากแม่น้ำ เงียบสงัด และไม่มีใครอาศัย จึงพัฒนามาเป็นสุสานของชุมชน” คุณชีวินกล่าวนำขณะที่เราเดินไปด้วยกัน

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

วันนี้สุสานไม่ได้ปกคลุมด้วยป่ารกชัฏอย่างแต่ก่อน พื้นที่โปร่งโล่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าปรากฏป้ายจารึกบนหลุมฝังศพจำนวนมาก โดยมีการจัดสรรที่ดินเป็นสัดส่วนไว้สำหรับสมาชิกจากตระกูลต่างๆ ของชุมชน

หลุมฝังศพสำคัญคือหลุมฝังศพของ ซินแสกีเอ็ง ก๊วยเซียน ผู้เป็นสมาชิกรายแรกของคริสตจักรอเมริกันเพรสไบทีเรียนบนแผ่นดินไทย หลุมศพของท่านตั้งอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างซ้ายขวาด้วยบุตรธิดาของท่าน ซึ่งล้วนแต่เป็นคริสเตียนรุ่นบุกเบิกและเป็นบรรพบุรุษของสมาชิกชุมชนคริสเตียนสำเหร่หลายสายสกุล อาทิ สกุลเผ็งประสิทธิ์ สกุลบุญอิต-บันสิทธิ์ สกุลอุนยะวงษ์ สกุลสาระโกเศศ สกุลกีระนันทน์ ซึ่งได้ต่อมาได้แต่งงานและก่อให้เกิดสายสัมพันธ์กับครอบครัวคริสเตียนอีกหลายสกุลที่ล้วนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนสำเหร่

อีกหลุมฝังศพที่ตั้งอยู่เคียงกันคือหลุมฝังศพของ แม่เต๋อ กับ ครูแน ประทีปะเสน แม่เต๋อเป็นสตรีไทยมีนามเดิมว่ารอด เมื่อมาอาศัยอยู่กับหมอและแหม่มแมตตูน ท่านจึงได้รับนามใหม่ว่าเอสเตอร์ เรียกอย่างไทยๆ ว่า เต๋อ กล่าวกันว่าท่านเป็นสตรีไทยคนแรกที่เดินทางไปต่างประเทศ เมื่อคราวตามแหม่มแมตตูนกลับไปเยี่ยมบ้านที่อเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1858 นอกจากนี้ท่านยังเป็นสตรีไทยคนแรกของคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนที่เข้าพิธีบัพติศมารับเชื่อในพระเจ้าใน ค.ศ. 1861 เมื่ออายุ 17 ปี สิ่งที่ติดตัวแม่เต๋อมาจากอเมริกา และจากการอาศัยอยู่กับครอบครัวหมอแมตตูนก็คือวิชาความรู้ทางด้านการพยาบาล

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกเรื่องของแม่เต๋อไว้ว่า แม่เต๋อเป็นผู้ถวายอภิบาลพระธิดาแฝดสองพระองค์ที่ประสูติพร้อมกัน แต่ทรงอ่อนพระกำลังจนไม่มีแรงแม้แต่จะเสวยนมและสิ้นพระชนม์ลงไปพระองค์หนึ่ง เหลือรอดเพียงพระองค์เดียว โดยมีแม่เต๋อเป็นผู้ถวายอภิบาลอย่างใกล้ชิด จนทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงขึ้นและรอดพระชนม์จนเจริญพระชันษา พระธิดาพระองค์นั้นจึงทรงมีพระนามลำลองว่า ท่านหญิงเหลือ นั่นคือ หม่อมเจ้าพัฒนายุคุณวรรณ ดิศกุล นั่นเอง (ต่อมาพระนามของหม่อมเจ้าพระองค์นี้ได้ทอนลงเป็นพัฒนายุ)

นอกจากนี้ยังมีบันทึกไว้ในหนังสือ 150 ปีของโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย โดยอนงค์ อิศรภักดี ที่ระบุว่าแม่เต๋อได้ทำหน้าที่พยาบาลถวายพระประสูติกาลแด่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 อีกด้วย

แม่เต๋อได้สมรสกับครูแน ชาวไทยเชื้อสายจีนผู้เป็นบุตรบุญธรรมของหมอเหาหรือศาสนาจารย์เฮาส์ที่ท่านรับมาอุปการะจากชายที่กำลังป่วยหนัก ครูแนได้เข้าพิธีบัพติศมาเป็นสมาชิกของคริสตจักรเมื่อ ค.ศ. 1867 และอุทิศกำลังกายกำลังใจทำงานเพื่อคริสตจักรมาโดยตลอดจนท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองของคริสตจักร นับได้ว่าท่านเป็นผู้ปกครองคนแรกของคริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ ด้วย

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

เราเดินดูหลุมฝังศพอื่นๆ ที่ตั้งอยู่เรียงราย คุณชีวินสามารถเล่าได้ถึงบุคคลต่างๆ ที่ล้วนแต่เป็นสมาชิกชุมชนคริสตจักรสำเหร่ที่มีความผูกพันต่อกันมาหลายรุ่น

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ รูปแบบของลายปูนปั้นที่ประดับบนป้ายจารึกชื่อผู้วายชนม์บางรายที่เสียชีวิตลงหลัง พ.ศ. 2475 อันเป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย ลายปูนปั้นบนหลุมศพดังกล่าวปรากฏเป็นลายพานเชิญรัฐธรรมนูญ ลักษณะเดียวกันกับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บางครั้งเรื่องของการเมืองก็แผ่ขยายอิทธิพลไปได้ทุกหย่อมหญ้าโดยผมคิดไม่ถึงจริง ๆ

คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ โบสถ์โปรเตสแตนต์อายุกว่าร้อยปีริมน้ำย่านเจริญนคร

“ช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเมษายนจะตรงกับเทศกาลอีสเตอร์ เป็นช่วงที่สมาชิกชุมชนคริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ จะมามาเยี่ยมเยียนสุสาน นำดอกไม้มาคารวะบรรพบุรุษและญาติๆ ที่ล่วงลับ เมื่อก่อนเราไม่ได้กำหนดวันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่คิดว่าการมารวมตัวกัน ได้พบปะกัน ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้สมาชิกชุมชนบางรายที่ได้ย้ายไปสร้างครอบครัวที่อื่น และไม่ได้อาศัยอยู่ที่นี่จะได้มีโอกาสพบกันและรู้จักกันไว้ ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของสมาชิกชุมชน และครอบครัวต่างๆ ไม่ว่ารุ่นไหนๆ ก็เป็นหัวใจสำคัญของคริสเตียนเช่นกัน” คุณชีวินกล่าว 

ผมใช้เวลาที่คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ ตั้งแต่เช้าจนบ่ายคล้อย นับตั้งแต่พิธีนมัสการพระเจ้าในโบสถ์จนมาถึงบริเวณสุสานในขณะนี้ ได้มีโอกาสใช้เวลาซักถามสนทนากับอาจารย์เพ็ญจันทร์และคุณชีวินอยู่นาน นับเป็นวันอาทิตย์ที่สร้างความกระจ่างให้ผมมากมายหลายเรื่อง

ผมเดินกลับไปมองโบสถ์หลังงามสีเหลืองอร่ามอีกครั้งด้วยความชื่นชมก่อนจะกลับบ้าน “พระเจ้าเป็นความรัก ประจักษ์ในพระเยซู เสด็จลงมาสู่ โลกมนุษย์ช่วยปวงชน” เสียงเพลง พระเจ้าเป็นความรัก ที่ผมเพิ่งได้ยินเมื่อเช้านี้ยังก้องกังวานอยู่ในโสตประสาท พร้อมกับเรื่องราวของสมาชิกชุมชนคริสเตียนอเมริกันเพรสไบทีเรียนในพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ ทำให้ผมสัมผัสได้ถึงพลังศรัทธาต่อพระเจ้ามานานกว่าศตวรรษ… และจะคงอยู่ตลอดไป

หมายเหตุ : ขอเชิญผู้สนใจทุกท่านมาร่วมนมัสการพระเจ้าที่คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ ทุกวันอาทิตย์เวลา 10.00 – 12.00 น.

การสะกดชื่อของมิชชันนารีและบุคคลต่างๆ ที่ปรากฏในคอลัมน์นี้เป็นอักษรโรมัน โดยเรียงตามลำดับที่ปรากฏในบทความ มีดังต่อไปนี้

นางแอนนา เฮเซลไทน์ จัดสัน (Mrs. Anna Hazeltine Judson)

ศาสนาจารย์ แอโดนิราม จัดสัน (Reverend Adoniram Judson)

หมอกุตสลาฟ-คาร์ล ฟรีดริค อาวกุสตุส กุตสตาฟ (Reverend Dr. Carl Friedrick Augustus Gutzlaff)

หมอทอมลิน-ศาสนาจารย์ จาคอบ ทอมลิน (Reverend Jacob Tomlin)

หมอโรบินสัน-ศาสนาจารย์ชารลส์ โรบินสัน (Reverend Charles Robinson)

หมอจอห์นสัน-ศาสนาจารย์สตีเฟน จอห์นสัน (Reverend Stephen Johnson) 

หมอโจนส์-ศาสนาจารย์จอห์น เทเลอร์ โจนส์ (Reverend John Taylor Jones)

หมอดีน-ศาสนาจารย์วิลเลียม ดีน (Reverend William Dean)

หมอบรัดเลย์-ศาสนาจารย์ นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Reverend Dr. Dan Beach Bradley)

หมอออร์-ศาสนาจารย์โรเบิร์ต ออร์ (Reverend Robert Orr)

หมอมะตูม หมอแมตตูน-ศาสนาจารย์สตีเฟน แมตตูน (Reverend Stephen Mattoon) 

แหม่มแมตตูน-มิสซิส แมรี ลอรี แมตตตูน (Mrs.Mary Lourie Mattoon)

หมอเหา หมอเฮาส์-ศาสนาจารย์ นายแพทย์ แซมมูเอล เรโนลด์ เฮาส์ (Reverend Dr. Samuel Renold House)

หมอบุช-ศาสนาจารย์สตีเฟน บุช (Reverend Stephen Bush)

ศาสนาจารย์เอกิ้น-ศาสนาจารย์จอห์น แอนเดอร์สัน เอกิ้น (Reverend John Anderson Eakin)

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์

อาจารย์เพ็ญจันทร์ วัฒนมงคล ผู้ปกครอง คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่

คุณชีวิน มังกรพันธุ์ มัคนายก คริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่

เอกสารอ้างอิง

คริสตจักรสำเหร่กับ 150 ปี แห่งความเชื่อ ค.ศ. 1849 – 1999 

นมัสการขอบคุณพระเจ้า 162 ปีและพิธีมอบถวายพระวิหารคริสตจักรที่หนึ่ง สำเหร่ วันเสาร์ที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2011

หนังสือประวัติครอบครัวชาวสำเหร่

หนึ่งศตวรรษในสยาม ค.ศ. 1828 – ค.ศ. 1928 บรรณาธิการโดยจอร์จ บรัดเลย์ แมคฟาร์แลนด์ เอ็ม ดี แปลโดยจิตราภรณ์ ตันรัตนกุล

150 ปีของโปรเตสแตนท์ในประเทศไทย โดยอนงค์ อิศรภักดี

aca.or.th/โบราณวัตถุของสะสม

cklanpratoom.wordpress.com/แรกมีในสยาม

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ