“เดิมมีแต่ทหารบก แต่เมื่อลงไปอยู่ในเรือก็จะเรียกว่าทหารเรือ เมื่อก่อนทหารเรือส่วนใหญ่อยู่กันแต่ในเรือจริงๆ นะคะ อาจขึ้นสังกัดว่าเป็นคนของใคร เช่น ทหารเรือวังหน้าสมัยรัชกาลที่ 4 ส่วนที่เป็นกรมหรือหน่วย และมีที่ประจำการอยู่บนบกเลยนั้นไม่มี พอถึงเวลาฝึก ก็แล่นเรือฝึกกันไปตามแม่น้ำ เช่นเรือทูลกระหม่อม เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เมื่อก่อนก็ไม่ได้ออกทะเลไปไกลจากชายฝั่งมาก เพราะสมรรถภาพของเรือและองค์ความรู้ยังมีจำกัด”

คำบรรยายของ พลเรือตรีหญิงอารยา อัมระปาล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือสร้างความตื่นเต้นให้กับผมในขณะที่เรากำลังสืบเท้าไปเรื่อยๆ เพื่อเข้าไปตามหาที่มั่น ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการลงหลักปักฐานบนบกเป็นครั้งแรกของกองทัพเรือไทย

“เราเพิ่งมาออกจากฝั่งไปไกลๆ ได้ก็ในระยะหลังๆ เมื่อเสด็จเตี่ย หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงสำเร็จการศึกษาด้านการทหารเรือมาจากยุโรปและเสด็จฯ กลับมารับราชการ พร้อมกับทรงนำความรู้เรื่องการเดินเรือเข้ามาพัฒนา ดังนั้น ช่วงแรกๆ ทหารเรือก็จะปฏิบัติราชการกันแต่เฉพาะบนเรือ หรืออาจจะมีหน่วยงานชายทะเลบ้าง จนต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าทหารเรือกระจัดกระจาย ไม่มีพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นหน่วยทหารอย่างจริงจัง พระองค์ท่านทรงเล็งเห็นว่าทำเลตรงนี้เหมาะสม จึงพระราชทานมา” 

 ‘ทำเลตรงนี้’ ที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกพระราชทานให้เป็นที่ทำการทหารเรือเป็นครั้งแรกนั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่อันมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็น ‘พระนิเวศน์เดิม’ อันเคยเป็นนิวาสสถานของ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ก่อนที่จะปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งพระราชวงศ์จักรี

ด้วยความอนุเคราะห์ของกองทัพเรือ The Cloud ได้รับอนุญาตให้พาท่านผู้อ่านไปสำรวจและศึกษาถึงประวัติของสถานที่อันเคยเป็นบริเวณที่ตั้ง ‘จวน’ ของรัชกาลที่ 1 แต่ก่อนที่จะออกเดินสำรวจไปพร้อมๆ กัน ผมขออนุญาตพาทุกท่านไปซึมซับกับความเป็นมาของพื้นที่สำคัญแห่งนี้ให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปกันเสียก่อน เพื่อที่ประวัติศาสตร์สำคัญหน้านี้ จะยังจารึกอยู่ในความทรงจำของเราทุกคนตลอดไป

‘จวนหลวง’ ในแผนที่ลับของพม่า

พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกองทัพเรือไทย

บนพื้นที่ขนาดใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน หากย้อนกลับไปสมัยกรุงธนบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ. 2311 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังทรงเป็นสามัญชนและดำรงยศเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจซ้าย ได้ย้ายนิวาสถานจากอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มาอาศัยในจวนใกล้กับพระราชวังเดิม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จวนหลังนี้นับว่าเป็นจวนหลวงที่ปลูกอยู่บนที่หลวง เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ (สันนิษฐานว่าจวนถูกรื้อไปถวายวัด ปัจจุบันกลายเป็นหอไตรวัดระฆังโฆษิตาราม) 

พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกองทัพเรือไทย

พระราชวรินทร์เองนั้นก็เป็นข้าราชการที่สนิทสนมคุ้นเคยกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และเป็นข้าราชการสำคัญคนหนึ่งที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย จนพระราชทานที่ดินให้ปลูกจวนไว้ใกล้ๆ ที่ประทับ เพื่อที่จะได้สนองพระบรมราโชบายโดยใกล้ชิด ต่อมาพระราชวรินทร์ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรีเมื่อท่านมีอายุ 35 ปี และเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอันเป็นตำแหน่งเสนาบดีสำคัญสูงสุดในกองทัพ เมื่อท่านมีอายุ 41 ปี

สันนิษฐานว่าในช่วงต้นกรุงธนบุรีนั้น บริเวณพระนิเวศน์เดิมไม่ได้ใหญ่โตกว้างขวางอย่างที่เป็นอยู่ แต่เมื่อพระราชวรินทร์ได้รับราชการด้วยความสามารถ จนได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องขยายอาณาบริเวณจวนออกไปให้เพียงพอต่อไพร่พลเป็นจำนวนมาก ที่ต้องใช้พื้นที่ปลูกเรือนพักอาศัยในบริเวณเดียวกัน จนมีการบันทึกไว้ว่า พื้นที่จวนหลวงของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนั้น มีขนาดใหญ่ถึง 32 ไร่เลยทีเดียว

แผนที่กรุงธนบุรีฉบับพม่าซึ่งร่างขึ้นโดยสายลับที่เข้ามาสอดแนมความเป็นมาเป็นไปภายในอาณาจักรธนบุรีระหว่าง พ.ศ. 2316 – 2325 ได้แสดงรายละเอียดของพระนิเวศน์เดิมไว้เป็นอักษรพม่า โดยมีข้อความระบุไว้ในแผนที่อย่างชัดเจนว่าบริเวณนี้เป็นเขตจวนของเจ้าพระยาจักรี พร้อมทั้งลงรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ไว้มากมาย เช่น โรงทหาร โรงเก็บอาวุธ คลังแสง ตลอดจนเรือนพักของไพร่พลใต้บังคับบัญชา โดยมีจวนของเจ้าพระยาจักรีตั้งอยู่ตรงกลางพื้นที่ สาเหตุที่สายลับพม่าลงรายละเอียดไว้มากมายเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุที่ว่าเจ้าพระยาจักรีนั้นเป็นบุคคลสำคัญ และบริเวณนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหาร ณ เวลานั้น

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช, รัชกาลที่ 1

ใน พ.ศ.2325 เมื่อเจ้าพระยาจักรีหรือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแล้ว พระองค์ได้เสด็จฯ ไปประทับที่พระราชวังเดิมอยู่ระยะหนึ่ง จนการก่อสร้างพระบรมมหาราชวังฝั่งพระนครแล้วเสร็จ จึงเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระบรมมหาราชวังเป็นการถาวร โดยยังทอดพระเนตรจวนเดิมของพระองค์ได้อยู่เสมอ 

จากจวนหลวงกลายเป็นวัง

เมื่อทรงครองราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จฯ มาประทับที่พระนิเวศน์เดิม ตามมาด้วยพระราชโอรสอีกพระองค์คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ จึงทำให้ฐานานุศักดิ์ของพื้นที่นี้ปรับเปลี่ยนจากจวนหลวงมาเป็น ‘วัง’ เพราะมีเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าเสด็จฯ มาประทับ 

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, รัชกาลที่ 2

เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แล้ว ได้ทรงย้ายไปประทับ ณ พระบรมมหาราชวังเป็นการถาวร พร้อมกับทรงอุปราชาภิเษกสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ขึ้นเป็นวังหน้า มีพระราชอิสสริยยศเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ และโปรดเกล้าฯ ให้ทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคลแทน 

ส่วนพระนิเวศน์เดิมนั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ทรงแบ่งพื้นที่พระราชทานพระราชโอรสพระองค์สำคัญที่เจริญพระชันษาพอที่จะออกวังได้จำนวนหนึ่ง พอที่จะกล่าวถึงในที่นี้ได้ เช่น พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประยงค์ กรมขุนธิเบศร์บวร (ทรงเป็นต้นบวรราชสกุลบรรยงกะเสนา) พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปาน กรมหมื่นอมรมนตรี (ไม่ปรากฏข้อมูลว่าทรงมีผู้สืบบวรราชสกุล) พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายุคันธร กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ (ทรงเป็นต้นบวรราชสกุลยุคันธร) 

หลังจากกรมหมื่นอนันตการฤทธิ์สิ้นพระชนม์ลง เจ้านายที่สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ได้ประทับในเขตพระนิเวศน์เดิมต่อมาเรื่อยๆ จนพื้นที่นี้กำลังจะเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะพระราชทานให้แก่ทหารเรือ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, รัชกาลที่ 5

Navy Office แห่งแรกของสยามประเทศ

ในอดีตทหารเรือแบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือส่วนหนึ่งขึ้นตรงต่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า กำกับดูแลกรมเรือพระที่นั่ง และอีกส่วนหนึ่งขึ้นตรงต่อสมุหพระกลาโหม อาทิ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และขุนนางในสายสกุลบุนนาค ซึ่งกำกับดูแลกรมอรสุมพล อันประกอบไปด้วยกรมเรือกลไฟ กรมทหารมะรีน (นาวิกโยธิน) และกรมทหารแคตลิงกัน (ปืนแคตลิงกัน คือปืนลูกโม่ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญที่สั่งมาจากอเมริกา เพื่อใช้ในกิจการของทหารเรือไทย) 

ในช่วง พ.ศ. 2420 – 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรวบทหารเรือทุกสังกัดตั้งขึ้นเป็นกรมทหารเรือ ภายใต้การบังคับบัญชาของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ กำหนดตำแหน่งเป็นเจ้าพนักงานใหญ่ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพื้นที่บริเวณพระนิเวศน์เดิมให้เป็นที่ว่าการกรมทหารเรือ หรือ Navy Office

เมื่อได้ทราบประวัติความเป็นมาเป็นไปแล้ว คราวนี้ผมก็ขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมออกเดินไปชมบริเวณที่ถือว่าเป็นที่ลงหลักปักฐานอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของทหารเรือไทยไปพร้อมๆ กันเลยนะครับ

พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย

กำแพงประดับใบเสมาตั้งตระหง่านปกป้องพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเป็นดั่งคอร์ตยาร์ดเอาไว้เบื้องหลัง 

“ก่อนเดินผ่านเข้าไปยังพื้นที่ภายใน สิ่งแรกที่ควรทำความรู้จักก็คือกำแพงประดับใบเสมาแห่งนี้” พลเรือตรีหญิงอารยาชวนให้ผมได้สังเกตกำแพงสีขาวตรงหน้า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พื้นที่พระนิเวศน์เดิมเป็นที่ทำการกรมทหารเรือนั้น ทรงมีพระราชกระแสให้สร้างกำแพงประดับใบเสมาขึ้นไว้ตลอดแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นที่หมายว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นเขตของพระนิเวศน์เดิมมาก่อน 

การประดับในเสมาบนกำแพงเป็นไปตามธรรมเนียมโบราณ เพื่อแสดงว่าสถานที่แห่งนี้เคยเป็นวังที่เจ้านายชั้นเจ้าฟ้าเคยประทับมาก่อน ซึ่งนั่นหมายถึงสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์นั่นเอง สำหรับกำแพงส่วนที่เหลือในปัจจุบัน เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่เคยแสดงเขตของพระนิเวศน์เดิมทั้งหมด

เมื่อก้าวพ้นกำแพงประดับใบเสมาเข้าสู่คอร์ตยาร์ด บริเวณนี้สันนิษฐานว่าเคยเป็นพื้นที่ซึ่งสมเด็จพระบวรรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ได้พระราชทานแก่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปาน กรมหมื่นอมรมนตรี พระราชโอรส เพื่อใช้สร้างตำหนักส่วนพระองค์ในเวลาต่อมา และประทับอยู่จนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2412 และกลายมาเป็นที่ว่าการกรมทหารเรืออย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2430

บริเวณประตูทางเข้ามีตุ๊กตาอับเฉาแบบจีน 2 ตัวประดับอยู่สองข้างซุ้มประตู อับเฉาหมายถึงศิลาที่บรรจุไว้ใต้ท้องเรือสำเภาเพื่อถ่วงน้ำหนักเรือไม่ให้โคลง ไทยมีการค้าสำเภากับจีนมาเนิ่นนานและรุ่งเรืองมากในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ ไม้สัก ข้าวสาร งาช้าง ดีบุก พลวง เครื่องเทศ ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้ามีน้ำหนักมาก ส่วนสินค้านำเข้าจากจีนมักจะเป็นผ้าแพร ผ้าไหม แร่ทอง แร่เงิน ไข่มุก ซึ่งมีน้ำหนักเบา ดังนั้นในสำเภาเที่ยวกลับจึงต้องมีการถ่วงน้ำหนักใต้ท้องเรือด้วยอับเฉา อันหมายรวมถึงตุ๊กตาศิลาแบบจีนด้วย ซึ่งการนำตุ๊กตาเช่นนี้มาตกแต่งในวังและวัดนั้นถือเป็นพระราชนิยมในช่วงนั้น 

เมื่อหันหลังให้กับกำแพงประดับใบเสมาตรงทางเข้า ขณะนี้เราจะอยู่ภายในคอร์ตยาร์ดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งเดิมมีอาคารล้อมทั้งสามด้าน แต่ในปัจจุบันอาคารตรงกลางที่เป็นอาคารประธานนั้นไม่ปรากฏอยู่ เหลือเพียงอาคารปีกซ้ายและขวาเท่านั้น

พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย
พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย
พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย
พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย

“เราควรไปชมอาคารทางปีกซ้ายกันก่อน เพราะถือว่าเป็นอาคารสำคัญที่สุดในพื้นที่นี้” พลเรือตรีหญิงอารยาพาผมเดินไปยังอาคารโบราณครึ่งปูนครึ่งไม้สีเทาหลังสำคัญหลังนี้

สันนิษฐานกันว่าเป็นอาคารที่สร้างขึ้นเมื่อแรกตั้งกรมทหารเรือในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อเป็นที่ทำการกรมทหารเรือ หรือ Navy Office แห่งแรกของสยาม ที่ผมมาตามหานั่นเอง แต่เดิมน่าจะเป็นอาคาร 2 ชั้นก่อนที่จะเสริมชั้นที่ 3 เข้าไปในภายหลัง และมีรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ เช่น ชายคาประดับไม้ฉลุลายแบบวิกตอเรียน บันไดทางขึ้นไม้สักหักมุมโค้งที่มักพบในวังเจ้านาย ประตูบานเกล็ดกระดกซึ่งหาชมยากยิ่ง กลอนกลมสำหรับบิดล็อกหน้าต่างที่เรียกว่ากลอนสตางค์ตามสันฐานแบบเหรียญสตางค์ที่ผมเพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก ตามทางเดินจะเห็นแก้วหล่อทรงกลมคล้ายหลอดไฟดวงใหญ่วางไว้บนห่วงรับเป็นระยะๆ เจ้าหน้าที่ได้อธิบายว่าแก้วเหล่านี้เรียกว่าลูกบอลดับไฟ (Fire Extinguisher Ball) ซึ่งบรรจุของเหลวสำหรับใช้ปาใส่กองไฟเมื่อเกิดอัคคีภัย สิ่งนี้เป็นประดิษฐกรรมที่พบได้ในอาคารที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา 

พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย
พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย
พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย
พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย

เมื่อเดินขึ้นไปยังชั้นบนสุด ก็จะพบห้องทำงานของอดีตผู้บัญชาการกรมทหารเรือซึ่งเรียกกันว่าห้องเสนาบดี อยู่สุดอาคารด้านหน้าที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และถือเป็นห้องที่สำคัญที่สุด เพราะมองข้ามแม่น้ำไปยังพระบรมมหาราชวังได้อย่างถนัดชัดเจน ความที่กรมทหารเรือมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของพระราชอาณาจักร เมื่อใดที่เกิดเหตุสำคัญหรือเหตุการณ์ร้ายแรงจนพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการให้เข้าเฝ้าฯ เป็นการด่วน ทั้งผู้บัญชาการกรมทหารเรือและผู้บัญชาการหน่วยรบก็จะวิ่งลงไปขึ้นเรือเร็วเพื่อล่องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังพระบรมมหาราชวังได้อย่างทันท่วงที ตรงท่าเรือจะมีเรือสำคัญที่เตรียมพร้อมไว้เสมอ และมีหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่ผู้บัญชากรมทหารเรือต้องพักค้างอ้างแรมที่นี่เพื่อคอยระวังภัยตลอดวันตลอดคืน

ห้องเสนาบดีแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับและทรงงานของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เช่น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร และองค์พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย นั่นคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมทั้งพระยาชลยุทธโยธินทร์ (André du Plessis de Richelieu) รองผู้บัญชาการการรบในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ผู้ออกแบบป้อมพระจุลจอมเกล้า อดีตผู้บัญชาการทหารเรือไทยคนแรกและคนเดียวที่เป็นชาวต่างประเทศ ก็เคยใช้ห้องเสนาบดีนี้เป็นออฟฟิศมาก่อน

พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย
พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย

ส่วนอาคารปีกซ้ายส่วนที่เหลือและปีกขวาทั้งหมด ในอดีตเคยเป็นที่เก็บเรือ พาหนะ และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ชั้นล่าง ส่วนชั้นบนเป็นที่ทำการฝ่ายอำนวยการ เช่นฝ่ายบัญชีและพัสดุ รวมทั้งฝ่ายปฏิบัติการของกรมทหารเรือในอดีต

“บริเวณหน้าตึกที่ทำการกรมทหารเรือนั้น ยังปรากฏเขามออยู่เลยอาคารไปไม่ไกล และเชื่อว่าเขามอนี้เป็นของดั้งเดิม ซึ่งช่วยสนับสนุนว่าบริเวณนี้เคยเป็นวังมาก่อน” พลเรือตรีหญิงอารยา ชวนให้ผมสังเกตเขามอที่ตั้งอยู่นอกอาคารที่ทำการกรมทหารเรือ

เขามอมาจากคำว่าถมอ ซึ่งเป็นภาษาเขมร แปลว่าหิน ในอดีตเขามอเปรียบเสมือน ‘ของเล่น’ ของเจ้านายและเสนาบดี โดยจะมี 2 ลักษณะ คือเขามอแบบก่อในกระถาง โดยใช้หินก้อนเล็กๆ หรือไม้ดัดอย่างบอนไซ กับเขามอแบบก่อในสวน โดยใช้หินก้อนใหญ่ๆ ก่อเลียนแบบภูมิทัศน์ในชนบท สร้างเป็นภูเขาลดหลั่นกันไป ประดับต้นไม้หลากชนิดทั้งไม้ดอกไม้ใบ มีบ่อและทางเดินน้ำ ฯลฯ

พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย
พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย

สิ่งก่อสร้างสำคัญที่ยังปรากฏอยู่ตรงกลางคอร์ตยาร์ด ก็คือกระโจมแตร คำว่ากระโจมแตรนั้นถอดความมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Music Pavilion อันหมายถึงศาลาโปร่งที่ตั้งกลางสวนหรือสนามเพื่อใช้บรรเลงดนตรีขับกล่อม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่ไทยรับมาใช้เช่นเดียวกัน สาเหตุที่ภาษาไทยไม่ได้ถ่ายทอดคำว่า Music Pavilion ว่าศาลาดนตรี สันนิษฐานว่าการบรรเลงดนตรีในสมัยนั้นจะใช้แตรวงเป็นหลัก สิ่งก่อสร้างยอดแหลมที่ตั้งกลางแจ้งนั้น โดยปกติจะเรียกกันว่ากระโจม ส่วนคำว่าศาลาถือว่าเป็นคำใหม่ที่เพิ่งมาใช้กันในสมัยหลัง กระโจมแตรมักเป็นสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏในวังของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์

“กระโจมแตรในพระนิเวศน์เดิมหลังนี้ ไม่ปรากฏชัดเจนว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าเป็นของที่สร้างขึ้นในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือก็เป็นได้ ด้วยทรงเป็นผู้ที่มีพระปรีชาสามารถในการดนตรี และตามธรรมเนียมของทหารเรือนั้น มักจะต้องมีการบรรเลงเพลงเพื่อรับหรือส่งเสด็จพระราชดำเนินเมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือหลวง หรือเมื่อเวลามีเรือสำคัญจากต่างประเทศเข้าเทียบหรือออกจากท่า” พลเรือตรีหญิงอารยาอธิบายถึงกระโจมแตรที่อยู่ตรงหน้า

พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย

ก่อนกลับ อย่าลืมเข้าไปกราบสักการะพระอนุสาวรีย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย และสังเกตต้นประดู่แดงที่ยืนต้นให้ร่มเงามานานหลายปี ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรืออีกด้วย 

ท้ายที่สุดก่อนจะเดินผ่านกำแพงประดับใบเสมากลับออกมาด้านนอก อย่าลืมสังเกตประภาคารที่ตั้งอยู่ด้านซ้ายมือ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างชึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อเป็นจุดสังเกตของเรือที่สัญจรไปมาในแม่น้ำเจ้าพระยาว่าที่นี่เป็นที่ทำการของกรมทหารเรือ

ปัจจุบันพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นพื้นที่การบริหารงานของฐานทัพเรือกรุงเทพฯ และกองเรือยุทธการ

ราชนาวิกสภา

พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย
พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย

อีกอาคารหนึ่งที่ควรแวะไปเยี่ยมชมเพราะมีความสำคัญทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และความงดงามด้านสถาปัตยกรรม ก็คืออาคารราชนาวิกสภาที่อยู่ตรงข้ามกับท่าราชวรดิษฐ์พอดี เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ได้ทรงลงพระนามให้จัดตั้งราชนาวิกสภาขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการพบปะปราศรัยแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นระหว่างกันของนายทหารเรือ รวมทั้งเป็นสถาบันส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ในเชิงวิชาการ 

อาคารราชนาวิกสภานั้นเป็นสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกแบบนีโอคลาสสิกสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีการใช้คอนกรีตเสริมเหล็กในการก่อสร้าง สังเกตจากเสาที่มีขนาดเล็กลง ตั้งห่างกัน จึงทำให้อาคารดูโปร่งขึ้น ชั้นล่างมีทางเดิน ชั้นบนมีระเบียงยาวตลอดตัวอาคาร ตรงกลางมีมุกระเบียงยื่นออกมา มุมสุดของอาคารทั้งปีกซ้ายและปีกขวามีการยกหลังคาโค้งทรงประทุนทำด้วยคอนกรีตหล่อ ทำให้อาคารดูสวยงามโดดเด่น นอกจากนี้ ยังเป็นที่กล่าวขานกันว่า บริเวณที่ตั้งของราชนาวิกสภานั้น คือจุดที่มีทัศนียภาพงดงามที่สุดของคุ้งน้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

ในเชิงประวัติศาสตร์ อาคารราชนาวิกสภานั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงแม้ว่าสงครามจะอุบัติขึ้นในทวีปยุโรป โดยเป็นข้อพิพาทระหว่าง 2 กลุ่มประเทศ คือกลุ่มประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย กับกลุ่มประเทศเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี แต่เหตุการณ์ไม่ได้หยุดยั้งอยู่ในทวีปยุโรป เนื่องด้วยกลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างมีอาณานิคมอยู่ทั่วโลก โดยไทยยืนหยัดแสดงความเป็นกลางมาโดยตลอด เพราะถือว่าเป็นมิตรต่อทุกชาติทุกภาษา

จนกระทั่งสงครามโลกดำเนินมาถึง พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณทางทหารว่า กลุ่มประเทศฝ่ายเยอรมนีจะต้องพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้เป็นแน่แล้ว ถ้าไทยรีบเข้าข้างกลุ่มประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ก็จะเป็นประโยชน์แก่ไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อสงครามสงบลงโดยกลุ่มอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้ชนะ ไทยก็จะใช้ประโยชน์จากการเป็นชาติที่ชนะสงคราม เข้าเจรจาเพื่อแก้ไขสนธิสัญญาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและแก้พิกัดภาษีศุลกากรได้

ราชนาวิกสภาเป็นสถานที่สำคัญซึ่งใช้ระดมพลทหารเรือเพื่อปฏิบัติการครั้งสำคัญ นั่นคือการเข้ายึดเรือเชลยสัญชาติเยอรมนี โดยมีการประชุม วางแผน สรุปกลยุทธ์ และเริ่มปฏิบัติภารกิจสำคัญดังกล่าวจนประสบความสำเร็จ และยังเป็นสถานที่ซึ่งกรมทหารเรือใช้ประกาศพระบรมราชโองประกาศสงครามระหว่างสยามกับประเทศเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี

พระนิเวศน์เดิม : พื้นที่จวนริมน้ำของรัชกาลที่ 1 ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ กองทัพเรือไทย

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่งผลให้ไทยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างสง่าผ่าเผย และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ไทยก็ได้รับการยอมรับจากชาติมหาอำนาจในยุโรป และได้แก้ไขสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่เอาเปรียบคนไทยมานานแสนนานให้หมดสิ้นไปในที่สุด

ตลอดบ่ายวันนั้นที่พระนิเวศน์เดิม ผมได้มีโอกาสได้ซึมซับเรื่องราวของพื้นที่ประวัติศาสตร์สำคัญ อันเคยเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่ทรงริเริ่มสถาปนาพระราชวงศ์จักรีพร้อมๆ กับกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้แผ่นดินไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ และยังเป็นผืนดินแรกที่ทหารเรือได้ลงหลักปักฐานบนแผ่นดินไทย เพื่อทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติมาเนิ่นนาน ปฐมบทของประวัติศาสตร์สำคัญของชาติไทยในครั้งนั้น ก่อกำเนิดขึ้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา… บนผืนดินเล็กๆ แห่งนี้นี่เอง

ขอขอบคุณ

พลเรือโทประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ

พลเรือโทธานี แก้วเก้า เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ 

พลเรือตรีสุวิน แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพฯ 

พลเรือตรีหญิงอารยา อัมระปาล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือ

นาวาโทหญิง รศนา สมพงษ์ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์อู่เรือหลวงเฉลิมพระเกียรติฯ 

คุณวทัญญู เทพหัตถี


ข้อมูลอ้างอิง

1. หนังสือ 100 ปี กรมอู่ทหารเรือ 

2. หนังสือ อู่เรือหลวง 123 ปี เรื่องดีๆ ที่ฝั่งธน

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย คุณวทัญญู เทพหัตถี

เอื้อเฟื้อภาพแผนที่โดย ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan