“ตอนที่เขาโทรมาบอกผมว่า ลูกแร้งเกิดแล้ว เสียงเขาฟังดูเหมือนจะร้องไห้”

“ช่วงที่ไข่อยู่ในตู้ฟัก บางคนนั่งดูกล้องวงจรปิดไม่หลับไม่นอน พอเจาะมาน้ำตาไหลเลย”

“ความสำเร็จครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญมาก ไม่ใช่แค่ความหวังของประเทศไทย แต่คือความหวังของอาเซียน”

“ความสำเร็จวันนี้ เทียบเท่าการเกิดของหลินปิงนะ”

หลากหลายคำพูด หลากหลายความรู้สึกจากผู้มีส่วนร่วมในโครงการ ‘การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย’ คงยืนยันชัดเจนถึงความพิเศษสุด ๆ ของเหตุการณ์นี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเอเชียและครั้งที่ 2 ของโลก ที่เพาะพันธุ์พญาแร้งในกรงเลี้ยงจนได้ลูก

ความสำคัญของภารกิจนี้ไม่ใช่แค่การเพาะขยายพันธุ์นกชนิดหนึ่งให้กลับมาเท่านั้น แต่คือการฟื้นฟูนกซึ่งทำหน้าที่สำคัญมากในระบบนิเวศ เพราะมันคือนักกินซาก ช่วยกินซากสัตว์ก่อนที่จะเน่าและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และด้วยความที่น้ำย่อยในกระเพาะแร้งมีค่าความเป็นกรดสูงมาก ทำให้ฆ่าเชื้อได้อย่างหมดจด อย่างเช่นที่อินเดียก็มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการหายไปของแร้งเกี่ยวข้องกับโรคพิษสุนัขบ้าที่เพิ่มขึ้น 

“ลองนึกถึงว่าถ้ารถขยะไม่มาเก็บขยะหน้าบ้านทุกเช้ามืด ขยะก็จะสะสมจนเกิดกลิ่นเหม็น แร้งก็ทำหน้าที่คล้าย ๆ กัน พวกเขาคือเทศบาลของผืนป่า” อรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวไว้ในงานแถลงข่าวเปิดตัวลูกพญาแร้ง ในวันที่เจ้านกน้อยมีอายุได้ 1 เดือนเต็ม

เส้นทางกว่าที่เจ้าตัวน้อยจะลืมตาดูโลกนั้นไม่ง่าย รวมถึงเส้นทางในอนาคตที่ทีมงานต้องฝ่าฟัน กว่าจะถึงวันที่เราจะได้เห็นพญาแร้งโบยบินเหนือน่านฟ้าประเทศไทยอีกครั้ง แต่ความสำเร็จในวันนี้ก็ทำให้ทุกคนมีความหวังยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ

เบื้องหลังความสำเร็จ กว่าจะมาเป็น ‘ลูกพญาแร้ง’ จากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย

ความเดิมตอนที่แล้ว

ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2563 The Cloud เคยเล่าถึงโครงการนี้ในตอน ‘ต้านภัยแร้ง’ ที่เป็นการจับมือกันระหว่าง 4 องค์กร คือ องค์การสวนสัตว์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในปฏิบัติการเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งในกรงเลี้ยงเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

พญาแร้ง (Red-headed Vulture) เคยเป็นแร้งประจำถิ่น 1 ใน 3 ชนิดที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย จนถึงขนาดมีตำนานเรื่อง ‘แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์’ แต่ด้วยทัศนคติที่คนมองว่าคือสิ่งอัปมงคล พวกมันมักถูกทำร้ายทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด อีกทั้งการลดลงของซากสัตว์ในเมืองและในพื้นที่เกษตรจากระบบสาธารณสุขที่ดีขึ้น ก็ทำให้แร้งไม่มีอาหารและลดจำนวนลง ส่วนฝูงสุดท้ายที่เหลืออยู่ในป่าห้วยขาแข้งก็ดันโชคร้ายที่ลงไปกินซากเก้งที่มียาเบื่อจนตายยกฝูงใน พ.ศ. 2535 ทำให้พญาแร้งขึ้นแท่นเป็นสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติของประเทศไทยนับแต่นั้น

แม้องค์การสวนสัตว์ฯ จะเคยประสบความสำเร็จกับการเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนไทย แต่สำหรับพญาแร้งนั้นยากกว่ามากด้วยปัจจัยหลายข้อ นั่นคือ

หนึ่ง จำนวนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ตั้งต้นมีอยู่แค่ 5 ตัว (ต่อมาได้รับมอบจากสวนสัตว์พาต้าอีก 1 ตัว รวมเป็น 6 ตัว) สอง องค์ความรู้เกี่ยวกับพญาแร้งที่มีอยู่นั้นน้อยมาก เราแทบไม่รู้ว่าพวกมันเกี้ยวพาราสีกันอย่างไร ใช้วัสดุอะไรทำรัง ต้องการเงื่อนไขแบบไหนในการทำรังวางไข่ สาม พญาแร้งมีอัตราการผสมพันธุ์ต่ำ ในธรรมชาติจะวางไข่แค่ปีละ 1 ฟอง อีกทั้งถ้าเงื่อนไขไม่เหมาะสมก็ไม่ทำรังวางไข่ และสี่ อัตราการรอดของลูกนกอยู่แค่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์

ด้วยความยากทั้งหมดนั้น คือเหตุผลที่ทำให้กว่า 20 ปีที่ผ่านมา องค์การสวนสัตว์ฯ ไม่เคยประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์จนได้ลูกพญาแร้งเลย จนกระทั่งเมื่อโครงการระหว่าง 4 หน่วยงานเริ่มขึ้น และมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนมาสนับสนุน ทำให้มีการพัฒนาหลายอย่าง เช่น การย้ายนกไปอยู่ในโซนที่ไม่ต้องเจอนักท่องเที่ยว ฟื้นฟูสุขภาพ ปรับอาหาร รวมถึงการสร้างกรงใหม่ขนาด 20 x 40 เมตร สูง 20 เมตร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเรือนหอของพญาแร้ง 2 ตัว ชื่อ ‘หนุ่มป๊อก’ และ ‘สาวมิ่ง’ ที่ทีมงานลุ้นกันถึงขนาดบนบานศาลกล่าวขอให้ได้ลูก

เบื้องหลังความสำเร็จ กว่าจะมาเป็น ‘ลูกพญาแร้ง’ จากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย
หนุ่มป๊อกและสาวมิ่ง

ส่วนที่เหลืออีก 4 ตัวที่สวนสัตว์นครราชสีมา ก็คือ หนุ่มตาล หนุ่มแจ็ค สาวนุ้ย และป้าใบบัว ที่แม้อายุมากกว่าเพื่อน แต่ก็ยังมีความหวัง

แม้ที่ผ่านมา สาวนุ้ยจะเคยวางไข่มาหลายรอบให้ทีมงานได้มีลุ้น แต่สุดท้ายก็ต้องผิดหวัง เมื่อพบว่าไข่ไม่มีเชื้อ หรือครั้งหนึ่งที่แม่นกทำไข่แตกระหว่างกก จนกระทั่งล่าสุด เมื่อทีมพี่เลี้ยงเห็นการผสมพันธุ์ระหว่างหนุ่มแจ็คกับสาวนุ้ย ทำให้ทุกคนมีหวังอีกครั้ง

ช่วงเวลาแห่งความลุ้นระทึก

17 มกราคม พ.ศ. 2566 – สาวนุ้ยวางไข่แห่งความหวัง ที่อาจเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการอนุรักษ์ประเทศไทย

25 มกราคม พ.ศ. 2566 – หลังจากปล่อยให้แม่นุ้ยกกเองสักระยะ พอให้ตัวอ่อนแข็งแรงพอสำหรับการเคลื่อนย้าย ทีมงานก็นำไข่มาเข้าตู้ฟัก ซึ่ง น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ และฝ่ายงานวิจัยนกนักล่าและอายุรศาสตร์การอนุรักษ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า คือเทคนิคที่ทำให้แม่นกนึกว่าไข่หาย แล้วแม่นกก็อาจวางไข่อีกฟอง

เบื้องหลังความสำเร็จ กว่าจะมาเป็น ‘ลูกพญาแร้ง’ จากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย

26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 – แม่นุ้ยวางไข่ฟองที่ 2 ตามที่หวังไว้จริง ๆ ซึ่งครั้งนี้ทีมสัตวแพทย์ตัดสินใจปล่อยให้คุณแม่มือใหม่ฟักเอง เพื่อกระตุ้นสัญชาตญาณความเป็นแม่ และเพื่อให้เรามีข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างไข่ที่มนุษย์ช่วยฟักกับไข่ที่แม่ฟักเอง รวมถึงเปิดโอกาสให้ได้สังเกตพฤติกรรมการเลี้ยงลูกของแม่นกด้วย เช่น ความถี่ในการป้อนอาหาร ท่าทางการป้อน และอื่น ๆ เพราะทุกวันนี้เราไม่มีข้อมูลเหล่านี้เลย

6 มีนาคม พ.ศ. 2566 – ทีมงานได้ยินเสียงร้องจากไข่ในตู้ฟัก ซึ่งทำให้ทุกคนใจฟูสุด ๆ เพราะทำให้มั่นใจว่าไข่ฟองนี้มีตัวอ่อนอยู่แน่ ๆ

8 มีนาคม พ.ศ. 2566 – รอยเจาะแรกปรากฏให้เห็น สร้างความตื่นเต้นจนทีมงานหลายคนแทบไม่ยอมหลับยอมนอน นั่งเฝ้าหน้าจอมอนิเตอร์ แต่ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าผ่านไป ลูกนกก็ดูเหมือนเจาะไข่ไม่สำเร็จสักที จนหลายคนเริ่มกระวนกระวาย

เบื้องหลังความสำเร็จ กว่าจะมาเป็น ‘ลูกพญาแร้ง’ จากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย

“ทุกคนถามว่าช่วยแกะไหม แต่ผมก็บอกว่ารอก่อน แล้วรีบไปค้นหนังสือว่าการเจาะไข่ของนกกลุ่มนี้ใช้เวลาเท่าไหร่ พบว่าประมาณ 2 – 3 วัน ผมก็เลยบอกทุกคนว่ายังไม่ต้องช่วย เพราะถ้าเราไปแกะ อาจทำให้เขาเลือดไหล และในช่วงสุดท้าย ไข่แดงจะค่อย ๆ ยุบเข้าไปในช่องท้อง ถ้าเราไปยุ่ง รีบแกะโดยที่ไข่แดงยังเข้าท้องไม่สมบูรณ์ เราจะยัดกลับเองไม่ได้ แล้วการดูแลก็จะยากขึ้นไปอีก แต่เราก็คอยดูตลอด และพบว่าไข่มีการเคลื่อนที่ แปลว่าลูกนกยังขยับตัว” น.สพ.สุเมธ กมลนรนารถ ที่ปรึกษาโครงการฟื้นฟูพญาแร้ง เล่าถึงบรรยากาศของช่วงเวลาสำคัญ

หลังจากลูกนกใช้เวลาเจาะไข่ราว 60 ชั่วโมง วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566 ลูกพญาแร้งจากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทยก็เจาะออกจากไข่สำเร็จ ไข่แดงเข้าท้องสมบูรณ์ ท่ามกลางเสียงเฮลั่นและน้ำตาแห่งความดีใจของใครหลายคน ทีมงานบางคนพอได้ข่าวว่าลูกนกฟักก็รีบบึ่งรถกลับจากห้วยขาแข้งมาที่สวนสัตว์นครราชสีมา จนถูกแซวว่ารีบมาดูหน้าลูกนกก่อนหน้าลูกเมีย

“เราตื่นเต้นมาก โทรหาทีมงานอีกคน ต่างคนต่างร้องไห้ มันลุ้นมาก เพราะนกก็เหลือกันอยู่แค่นี้ ทุกคนบอกว่านี่คือห้องแห่งความหวัง ไข่แห่งความหวัง” วชิราดล แผลงปัญญา หนึ่งในพี่เลี้ยงพญาแร้ง ผู้ที่ทุกวันนี้กินนอนอยู่หน้าห้องลูกนก บอกเล่าถึงความตื่นเต้น

เมื่อส่งเปลือกไข่ไปตรวจที่ห้องแล็บ จึงรู้ว่าแม่นุ้ยและพ่อแจ็คได้ ‘ลูกสาว’

เบื้องหลังความสำเร็จ กว่าจะมาเป็น ‘ลูกพญาแร้ง’ จากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย

ในตู้ที่เจ้าตัวน้อยนอนอยู่ตอนนี้ คือตู้ที่ควบคุมทั้งอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งมีพนักงานสวนสัตว์ฯ คนหนึ่งบอกว่า ขออนุญาตซื้อตู้ใบนี้ให้เป็นของขวัญวันเกิดลูกนก เพราะดีใจมากที่น้องเกิดมา  

เมื่อมาถึงชั่วโมงที่ 15 ก็ได้เวลาอาหารมื้อแรก นั่นคือเนื้อหนูที่ทางสวนสัตว์ฯ เลี้ยงไว้ ซึ่งมีการถ่ายพยาธิและควบคุมความสะอาดอย่างดี โดยในมื้อแรก ๆ เจาะจงเลือกเฉพาะส่วนกล้ามเนื้อ ไม่ให้มีไขมัน เอ็น ขน หรือกระดูกติดมา เนื่องจากกระเพาะลูกนกยังอ่อนแอ “โชคดีว่าเรามีรุ่นพี่ที่ทำสำเร็จมาก่อนคือสวนสัตว์อิตาลี เราก็ได้ คุณไซมอน คอยให้คำแนะนำ ถ้าไม่ได้เขา เราก็คงมืดแปดด้าน” หมอสุเมธกล่าวถึงทีมงานจากอีกฟากโลกที่ช่วยแนะนำเทคนิคหลายอย่างในการดูแลลูกนกเกิดใหม่  

เบื้องหลังความสำเร็จ กว่าจะมาเป็น ‘ลูกพญาแร้ง’ จากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย

“อุณหภูมิอาหารก็สำคัญ มีครั้งหนึ่งน้องกินแล้วสำรอก ทุกคนวิ่งวุ่นว่าเกิดจากอะไร ซึ่งคุณไซมอนแนะนำว่าลองไปดูว่าอุณหภูมิอาหารเย็นเกินไปไหม เราก็ปรับตรงนี้” วชิราดลเสริมถึงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มิอาจมองข้าม

นอกจากเรื่องอุณหภูมิแล้ว ปริมาณก็เป็นปัจจัยสำคัญ ให้มากเกินไปก็อันตราย ให้น้อยเกินไปก็อันตราย

“เราต้องประเมินปริมาณอาหารวันต่อวันว่าควรปรับเพิ่มหรือลดยังไง โดยเราจะชั่งน้ำหนักตัวแล้วเอามาพล็อตกราฟ แล้วเทียบกับอัตราการเพิ่มน้ำหนักของลูกนกที่อิตาลี เพราะคุณไซมอนเขามีบันทึกไว้หมด แล้วเราก็พบว่าลูกนกของเราน้ำหนักเพิ่มเร็วมาก ก็ต้องปรับลด พยายามควบคุมไม่ให้กราฟชันเกินไป โดยเทียบกับลูกนกตัวที่โตเร็วที่สุดของคุณไซมอน”

หมอสุเมธอธิบายว่าหากลูกนกน้ำหนักเกินหรืออ้วนเกินไป ก็อาจทำให้ข้อต่อหลุดและกลายเป็นนกพิการได้ แต่การควบคุมน้ำหนักของลูกนกต้องไม่ใช่การลดน้ำหนัก แต่คือการควบคุมให้การเพิ่มเป็นไปอย่างช้า ๆ เพราะถ้าลูกนกวัยนี้มีน้ำหนักลดลงจะมีความเสี่ยงมากมายตามมา

เบื้องหลังความสำเร็จ กว่าจะมาเป็น ‘ลูกพญาแร้ง’ จากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย

สิ่งที่น่ารักที่สุดของการให้อาหารลูกนกก็หนีไม่พ้นถุงมือสีแดงยาวถึงศอก ซึ่งเป็นสีเดียวกับผิวหนังที่คอของพ่อนกแม่นก อีกทั้งที่คีบอาหารก็เจาะจงเลือกให้มีสีเดียวกับจะงอยปากพ่อนกแม่นก ส่วนผู้ให้อาหารก็ต้องสวมหน้ากากไอ้โม่งสีแดง

“สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุดอย่างหนึ่งของลูกนกเกิดใหม่คือพฤติกรรมฝังใจ หรือ Imprint ซึ่งจะจดจำสิ่งที่เห็นเป็นอย่างแรก เหมือนที่เราเคยเห็นภาพลูกเป็ดเดินตามคนเป็นแถว เราจึงต้องระวังไม่ให้เขาเห็นหน้าคน” อาจารย์ไชยยันต์อธิบาย

ภารกิจการเลี้ยงลูกพญาแร้งไม่ได้มีแค่การให้อาหารเท่านั้น แต่ยังมีการพาน้องมา ‘อาบแสงธรรมชาติ’ ยามเช้าและยามเย็นด้วย เพื่อรับวิตามินดีซึ่งมีส่วนสำคัญในการบำรุงขนและดูดซึมแคลเซียม โดยพี่เลี้ยงจะพาน้องไปอยู่ในกรงนอกอาคาร ซึ่งมีภาพของพ่อแจ็คและแม่นุ้ยแปะอยู่ เพื่อให้เขารู้ว่านี่คือหน้าตาของสปีชีส์เขา อีกทั้งยังมีกระจาดรองด้วยกิ่งไม้ยกสูงจากพื้น เพื่อให้ลูกนกรู้สึกว่าเหมือนอยู่บนยอดไม้

เบื้องหลังความสำเร็จ กว่าจะมาเป็น ‘ลูกพญาแร้ง’ จากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย
ลูกพญาแร้งจากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย โดยโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย

นี่คือรายละเอียดมากมายที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ จนทีมงานแซวกันว่า ‘เลี้ยงดีกว่าลูกตัวเองอีก’

ในระหว่างที่น้องอาบแดด วชิราดลก็จะมาทำความสะอาดตู้ ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ ในตะกร้าลูกนกจะมีกิ่งไม้รองอยู่ ซึ่งก็ต้องเลือกขนาดให้พอเหมาะอีก เพราะหากเล็กเกินไป ลูกนกอาจเผลอกลืนและเป็นอันตราย และก็ต้องไม่ใหญ่เกินกว่าที่นิ้วเท้าลูกนกจะเกาะ เพราะจุดประสงค์ของกิ่งไม้ คือเพื่อให้นิ้วเท้าลูกนกได้มีโอกาสฝึกเกาะกิ่งไม้ 

ส่วนในอนาคตเมื่อลูกแร้งเติบโตขึ้น ทีมงานอาจย้ายไปอยู่ในกรงข้าง ๆ พ่อแม่ และถ้าไข่ฟองที่ 2 ฟักเป็นตัวสำเร็จและเติบโตอย่างสมบูรณ์ ก็อาจมีตัวใดตัวหนึ่งในพี่น้องคู่นี้ที่ได้โอกาสโบยบินสู่ธรรมชาติ ขณะที่อีกตัวจะเก็บไว้เป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ และแน่นอนว่าการปล่อยต้องเป็นแบบ Soft Release คือการปล่อยแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ไปอยู่กรงใหญ่ในป่าห้วยขาแข้งและฝึกพฤติกรรมต่าง ๆ ที่จำเป็นก่อน จากนั้นค่อยเปิดประตูกรงให้โบยบินสู่อิสรภาพ

แม้เส้นทางนี้จะยังอีกยาวไกลและต้องใช้เวลาอีกหลายปี อีกทั้งยังไม่มีขั้นตอนไหนง่าย แต่ทีมงานทุกคนก็ไม่เคยหมดหวัง

อนาคตของพญาแร้ง

“วันที่เราปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติครั้งแรก ผมเห็นทีมงานไปนั่งตามชายทุ่งคนละมุม ก้มหน้าร้องไห้ ผมว่านอกเหนือจากความดีใจ มันคือความเป็นห่วง เพราะทีมงานกลุ่มนี้คือคนที่ดูแลนกตั้งแต่ออกจากไข่ เหมือนพ่อแม่เห็นลูกเดินจากไป ทุกคนก็กังวลว่าเขาจะอยู่รอดไหม จะกินอะไร” หมอสุเมธเล่าย้อนถึงบรรยากาศในวันที่นกกระเรียนฝูงแรกจากการเพาะเลี้ยงได้คืนสู่ธรรมชาติ

แต่ช่วงเวลาที่เรียกว่าประสบความสำเร็จจริง ๆ ได้ไม่ใช่วันเปิดประตูกรง แต่คือวันที่เราได้เห็นพวกมันขยายพันธุ์และผลิตลูกเองตามธรรมชาติ ซึ่งวันนี้โครงการฟื้นฟูนกกระเรียนไทยก็เดินไปถึงจุดนั้นแล้ว ซึ่งทีมงานทุกคนก็หวังว่าวันนั้นของพญาแร้งจะมาถึงเช่นกัน

ลูกพญาแร้งจากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย โดยโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย

“วันที่เราฝันถึงคือวันที่เราไปเปิดประตูกรงร่วมกัน แล้วให้แร้งโผบินคืนสู่บ้านเดิมของเขา แต่วันที่สุดยอดกว่านั้นก็คือวันที่เราเห็นมันทำรังวางไข่แล้วออกลูกเอง แล้วประชาชนคนไทยบอกว่าเราจะอนุรักษ์ จะปกป้องแร้งไม่ให้โดนล่าเหมือนใน พ.ศ. 2535 อีกต่อไป” น.สพ.ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ที่ปรึกษาโครงการฟื้นฟูพญาแร้งฯ เล่าถึงเป้าหมายสูงสุดของโครงการในเวทีเสวนา ‘อดีตและอนาคตความหวังของแร้งไทย’

“ผมก็ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี แต่นี่คือสิ่งที่รุ่นพี่กรมอุทยานฯ ที่อยู่ในยุคที่เห็นแร้งหายไปต่อหน้าต่อตา ฝากไว้ว่า ฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่นะ ช่วยเอาแร้งกลับมาที่ห้วยขาแข้งให้ได้ก่อนพี่เกษียณ”

ลูกพญาแร้งจากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย โดยโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูสัตว์สักชนิดให้คืนสู่ธรรมชาติไม่ได้มีเฉพาะงานด้านการเพาะเลี้ยงเท่านั้น แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการแก้ไขต้นเหตุของการหายไป

หนึ่ง คือการเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนว่าแร้งไม่ใช่สิ่งอัปมงคล แต่คือสัญลักษณ์ของระบบนิเวศที่สมบูรณ์ นี่คือบทบาทของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในการเผยแพร่ความรู้ให้คนทั่วไป รวมถึงเตรียมพร้อมชาวบ้านในพื้นที่รอบป่าห้วยขาแข้งให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อป้องกันการล่า ซึ่งที่ผ่านมาก็มีทั้งการจัดค่ายเยาวชนในพื้นที่ การจัดทำสื่อความรู้ต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดทริปพาคนไปเรียนรู้เรื่องสัตว์ป่าและแร้งที่ป่าห้วยขาแข้งปีละ 2 ครั้ง โดยมีอาจารย์ไชยยันต์เป็นวิทยากร ซึ่งครั้งต่อไปจะจัดในเดือนพฤษภาคมและสิงหาคม พ.ศ. 2566

ส่วนประเด็นแหล่งอาหารสำหรับแร้งก็ไม่น่ากังวลนัก เนื่องจากพื้นที่เป้าหมายในการปล่อยคือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมีเสือโคร่งมากพอที่จะก่อให้เกิดซากสัตว์ที่กลายเป็นอาหารของแร้งได้ อีกทั้งยังมีการลาดตระเวนอย่างเข้มข้น

ส่วนปัญหาที่หลายคนอาจกังวลเรื่องการผสมเลือดชิด (Inbreeding) เนื่องจากมีพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ตั้งต้นแค่ 6 ตัว อาจารย์ไชยยันต์กล่าวว่ายังพอมีวิธีแก้ เนื่องจากสวนสัตว์ประเทศเพื่อนบ้านยังมีพญาแร้งอยู่ รวมถึงประเทศอิตาลี และถ้าวันหนึ่งโครงการเราสำเร็จด้วยดี ก็อาจมีการร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมได้

“เรายังมีความหวัง ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างกรณีห่านฮาวาย (Hawaiian Goose) ที่เมื่อหลายสิบปีที่แล้วเหลือห่านนี้แค่ 12 ตัวในธรรมชาติบนเกาะฮาวาย รัฐบาลก็เลยบอกให้พาทั้ง 12 ตัวเข้าที่เพาะพันธุ์ จนทุกวันนี้กลายเป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไป” 

บทเรียนครั้งนี้ชัดเจนว่า การทำให้สิ่งมีชีวิตสักสปีชีส์หายไปอาจใช้เวลาแค่พริบตา แต่การทำให้กลับมาอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปี และก็ไม่ใช่ทุกชนิดที่เราจะพากลับมาได้ บางชนิดต่อให้มีเงินกี่ร้อยกี่พันล้านก็พากลับคืนมาไม่ได้

ลูกพญาแร้งจากการเพาะเลี้ยงตัวแรกของไทย โดยโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย

“สิ่งสำคัญคือเราต้องถอดบทเรียนว่าทำไมเราถึงทำให้สัตว์มากมายที่เคยมีหายไป ทำไมเราสูญเสียเนื้อสมัน ทำไมเราสูญเสียนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรี จนแทบไม่เหลืออะไรให้ท่องแล้ว… สังคมต้องเรียนรู้จากความสูญเสียเหล่านี้ สังคมไม่ควรคิดว่าช่างมันเถอะ เดี๋ยวนักวิจัยก็เพาะกลับมาใหม่ ไม่ใช่ทุกชนิดที่มีเงินแล้วเสกให้กลับมาได้ มันคือความพยายาม คือหยาดเหงื่อ คือความล้มเหลว คือน้ำตาของหลายคน” ดร.บริพัตรสรุป

ส่วนวชิราดลในฐานะพี่เลี้ยงที่ดูแลลูกพญาแร้งอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ฟักก็ฝากถึงทุกคนว่า

“พญาแร้งไม่ใช่สัญลักษณ์ของความอัปมงคล ไม่ใช่ตัวแทนความโชคร้าย แต่มันคือตัวแทนของความรัก เพราะกว่าที่เราจะทำให้เกิดมาใช้เวลาหลายปีและทีมงานมากมาย ถ้าได้เห็นหน้าตาของลูกพญาแร้งก็จะเห็นว่าไม่น่ากลัวเลย แต่มันน่ารักมาก”

สุดท้าย เราก็ขอฝาก ‘ไอ้ต้าว’ สุดน่ารักนี้ไว้ในใจของทุกคน และลุ้นกับไข่ฟองที่ 2 ไปพร้อมกัน

ภาพ : เมธิรา เกษมสันต์ และ โครงการฟื้นฟูพญาแร้งฯ และสวนสัตว์นครราชสีมา

ร่วมสนับสนุนการศึกษาวิจัยและการฟื้นฟูประชากรได้ที่ ‘โครงการพญาแร้งคืนถิ่น’ ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ เลขที่บัญชี 679-6-72119-5 (ใบเสร็จจากการบริจาคนำไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน)

ติดตามความคืบหน้าและการเติบโตของลูกพญาแร้งได้ที่ Facebook : โครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย”

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’